การวิเคราะห์งานเพื่อ จัดทำคำบรรยายลักษณะงาน
การวิเคราะห์งานเพื่อ จัดทำคำบรรยายลักษณะงาน
กระบวนการในการประเมินค่างาน ซึ่งเป็นที่ยอมรับใช้กันมากกว่า 50 ปี ในประเทศสหรัฐอเมริกาจะมีลักษณะดังรูป8.1
สำหรับรายละเอียดเกี่ยวกับกระบวนการ ซึ่งจะเป็นลำดับเป็นขั้นตอนของการประเมินค่างาน ซิลซัน(Sibson 1981 : 73)ได้ดังนี้
1. การวิเคราะห์งานเพื่อจัดทำคำบรรยายลักษณะงาน
คำบรรยายลักษณะงานถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นหรือเป็นพื้นฐานของการประเมินค่างาน ซึ่งได้กล่าวมาแล้ว จะเห็นได้ว่าจะต้องมีการวิเคราะห์งานเพื่อทราบองค์ประกอบและข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับงานมาก่อนจึงจะสามารถเขียนคำบรรยายลักษณะงานออกมาได้ จากคำบรรยายลักษณะงานนี้จะทำให้ทราบถึงหน้าที่ความรับผิดชอบ วิธีการทำงาน และสภาพการทำงานซึ่งจะนำมาเปรียบเทียบกัน
2. การเลือกมาตรวัด หรือเกณฑ์ที่จะนำมาใช้ในการประเมินค่างาน
การเลือกมาตรวัดหรือเกณฑ์ที่จะนำมาใช้เปรียบเทียบนี้มีความสำคัญยิ่งเพราะหากไม่มีมาตรวัดหรือเกณฑ์แล้วก็จะไม่สามารถเปรียบเทียบงานหรือองค์ประกอบของงานลักษณะต่างๆได้ และจะไม่สามารถบอกได้ว่างานใดจะมีค่าของงานสูงกว่างานใด ด้วยเหตุผลอะไร การเลือกมาตรวัดหรือเกณฑ์ที่จะนำมาใช้ในการเปรียบเทียบนี้เป็นเรื่องที่ยุ่งยากพอสมควร ทั้งนี้เพราะมาตรวัดนี้จะแตกต่างกันไปตามลักษณะของงาน ขนาดและลักษณะการดำเนินงานขององค์การ และแตกต่างกันตามวิธีการประเมินค่างานที่นำมาใช้ด้วย ดังนั้นจึงไม่สามารถกำหนดขึ้นใช้ได้เป็นมาตรฐาน อย่างไรก็ดีพอจะกล่าวถึงมาตรวัดซึ่งเป็นที่นิยมใช้กันโดยทั่วไป คือ
2.1. ความรับผิดชอบ
2.2. ทักษะ
2.3. ความพยายาม
2.4. สภาพการทำงาน
2.1. ความรับผิดชอบประกอบด้วย
2.1.1. ความรับผิดชอบเกี่ยวกับเครื่องจักรและเครื่องใช้ไม้สอย
2.1.2. ความรับผิดชอบเกี่ยวกับวัตถุดิบและสินค้า
2.1.3. ความรับผิดชอบเกี่ยวกับความปลอดภัยของผู้อื่น
2.1.4. ความรับผิดชอบเกี่ยวกับงานของผู้อื่น
2.2. ทักษะประกอบด้วย
2.2.1. ระดับการศึกษา และ/หรือความรู้เกี่ยวกับงาน
2.2.2. ประสบการณ์และการฝึกอบรม
2.2.3. การใช้ความคิดริเริ่มและการใช้ดุลยพินิจ
2.3. ความพยายามประกอบด้วย
2.3.1. กำลังกาย
2.3.2. กำลังสมอง
2.4. สภาพการทำงานประกอบด้วย
2.4.1. สภาพแวดล้อมของงาน
2.4.2. อันตรายที่ไม่อาจจะหลีกเลี่ยงได้
3. การเลือกวิธีการประเมินค่างาน
เป็นเรื่องราวของการเลือกวิธีการประเมินค่างานเพื่อให้เหมาะกับองค์การของตน วิธีการประเมินค่างานนั้นมีหลายวิธีด้วยกันและแต่ละวิธีจะมีความยุ่งยาก สลับซับซ้อน และใช้มาตรวัดแตกต่างกัน แต่ทุกวิธีจะมีเป้าหมายอย่างเดียวกัน คือ มุ่งที่จะจัดลำดับค่าของงานต่างๆ ในองค์การ เพื่อให้สามารถมีระบบจ่ายค่าตอบแทนที่ให้ความเป็นธรรมกับผู้ปฏิบัติงานแต่ละงาน
4. การจัดกลุ่มงาน
มาถึงขั้นนี้จะเป็นการนำผลสรุปจากการประเมินค่างานมาจัดเรียงลำดับจากต่ำไปหาสูง ซึ่งจะทำให้ทราบได้ว่างานต่างๆ ในองค์การนั้น งานใดได้รับการประเมินค่างานที่สูงกว่างานใด และงานใดได้รับการประเมินค่างานที่ต่ำกว่างานใด ซึ่งผลที่ได้นี้ก็สามารถนำไปใช้ในการกำหนดระดับตำแหน่งงาน ระดับค่าจ้าง หรือโครงสร้างของเงินเดือนในองค์การนั้นต่อไป อย่างไรก็ดี การจะพิจารณากำหนดโครงสร้างของเงินเดือนนั้นยังไม่สามารถจะดำเนินได้ทันทีจากการประเมินค่างานแล้ว แต่จะต้องพิจารณาปัจจัยอื่นๆควบคู่ไปด้วย อาทิ ความสามารถขององค์การในการจะจ่ายได้ ราคาค่าจ้างในตลาดแรงงาน ค่าครองชีพ อุปสงค์และอุปทานของแรงงานที่ต้องการในตลาดแรงงาน และประสิทธิภาพการผลิต เป็นต้น
ที่มาจาก : การวิเคราะห์งาน โดย สุภาพร พิศาลบุตร