แนวคิดในเรื่อง วิธีจัดลำดับ (Ranking Method)
วิธีจัดลำดับ (Ranking Method)
วิธีจัดลำดับ (Ranking Method) ซึ่งบางครั้งเราอาจจะพบในชื่อภาษาอังกฤษที่แตกต่างกันออกไป เช่น Grading Method, Comparative Ranking Method, หรือ Ranking Techniques และหลักของชื่อเหล่านี้ไม่ค่อยต่างกันเท่าไร จึงถือว่าอยู่ในประเภทเดียวกัน
วิธีนี้เป็นการนำเอาพนักงานมาเปรียบเทียบและเรียงลำดับว่าใครถูกจัดอยู่ในอันดับอะไร ดังนั้นวิธีนี้จะได้ผลก็ต่อเมื่อพนักงานเหล่นั้นมีจำนวนไม่มาก ลักษณะงานเหมือนกัน มีผู้บังคับบัญชาคนเดียวกัน และผู้บังคับบัญชารู้จักพนักงานทุกคนดีว่าใครมีผลงานอย่างไร ในการประเมินผลโดยวิธีนี้อาจจะแบ่งย่อยลงไปได้อีก คือ
วิธีจัดอันดับแบบต่างๆ (Straight Ranking) วิธีนี้ทำโดยนำเอาพนักงานทั้งหมดในกลุ่มมาให้หัวหน้างานพิจารณาในเรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยเรื่องดังกล่าวมักจะเป็นเรื่องกว้างๆ และพิจารณาแบบรวมๆ โดยไม่สนใจในรายละเอียดมากนัก เช่น พิจารณาในเรื่องความมีประสิทธิภาพในการปฏิบัติงาน หรือพิจารณาในเรื่องความขยันขันแข็งของการปฏิบัติงาน เป็นต้น หัวหน้างานซึ่งรู้จักลูกน้องทุกคนดีก็จะประเมินได้เลยว่าในหัวข้อดังกล่าวพนักงานคนใดจัดอยู่ในอันดับเหนือกว่าคนใด หรือใครอ่อนกว่าใครในกลุ่มเดียวกัน สมมุติว่ามีพนักงานทั้งหมด 15 คน ก็จะจัดอันดับได้เลยว่าใครได้อันดับ 1 , 2 , 3 , ....... , สุดท้าย
วิธีนี้เป็นวิธีที่ง่ายและสะดวกแต่เงื่อนไขของความถูกต้องอยู่ที่หัวหน้างานจะต้องสามารถเปรียบเทียบได้ว่าลูกน้องคนใดอยู่ในอันดับใด ดังนั้นจึงมักจะใช้วิธีนี้กับพนักงานกลุ่มเล็กๆ ที่พอจะแยกแยะความแตกต่างของคนหนึ่งจากอีกคนหนึ่งได้ และหัวข้อที่ใช้วัดจะต้องไม่สลับซับซ้อนจนทำให้หัวหน้างานเกิดความสับสนหรือไม่แน่ใจในการจัดอันดับของตน
ข้อจำกัดของวิธีการจัดอันดับแบบตรงๆ ก็คือว่าหน่วยงานขนาดใหญ่ที่มีพนักงานมากอาจจะไม่เหมาะสมที่จะใช้วิธีนี้ในการประเมินผลการปฏิบัติงานของพนักงาน เพราะถ้าหากหัวหน้างานมีพนักงานในความรับผิดชอบมากก็ยากที่จะรู้ได้ว่าพนักงานคนใดเหนือกว่าพนักงานคนใดในเรื่องหนึ่งๆ แต่ถ้าหากจะใช้วิธีแบ่งกลุ่มเล็กๆ หลายกลุ่มย่อมจะเกิดปัญหาว่าคนที่ได้อันดับที่ 1 ของกลุ่มหนึ่งอาจจะอ่อนกว่าคนที่ได้อันดับ 5 ของอีกกลุ่มหนึ่งก็ได้
นอกจากวิธีจัดอันดับแบบตรงๆ นี้มีแนวโน้มจะก่อให้เกิดความแตกแยกของพนักงานหลังจากการประเมิน เพราะพนักงานแต่ละคนจะถูกจัดอันดับจากสูงลงมาต่ำ ทุกคนมีอันดับต่างกันย่อมก่อให้เกิดการเปรียบเทียบและไม่พอใจซึ่งกันและกัน ผลเสียอาจจะมีมากขึ้นก็ได้