ใคร ?? ที่ทำหน้าที่ประเมินผลการปฏิบัติงาน
ใคร ?? ที่ทำหน้าที่ประเมินผลการปฏิบัติงาน
ในส่วนของผู้ที่จะทำหน้าที่ประเมินผลการปฏิบัติงานจะมีใครบ้างนั้น Richard I. Handerson ได้ระบุว่าอาจจะมีถึง 7 ฝ่าย ที่เกี่ยวข้องในลักษณะต่างๆ
หัวหน้าโดยตรงของผู้ถูกประเมิน (Immediate Supervisor) ทั้งนี้เพราะบุคคลดังกล่าวเป็นผู้ใกล้ชิดและรับผิดชอบโดยตรง เขาย่อมและรู้ถึงลักษณะงานและผลงานของผู้ใต้บังคับบัญชาโดยตรงของเขา
หัวหน้างานโดยตรงของผู้ประเมิน (Appraiser’s Immediate Supervisor) เมื่อหัวหน้างานโดยตรงทำหน้าที่ประเมินแล้ว เป็นไปได้ว่าหัวหน้างานดังกล่าวอาจมีอคติกับผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาของตน ดังนั้นจึงควรให้หัวหน้าอีกระดับหนึ่งที่สูงขึ้นเป็นผู้ตรวจสอบผลของการประเมินว่าเที่ยงตรงถูกต้องเพียงไร การตรวจสอบในระดับนี้มักจะไม่เข้าไปประเมินในรายละเอียด แต่จะดูว่าวิธีการประเมินที่ใช้นั้นเหมาะสมเพียงไรมากกว่า
มิตรสหายและเพื่อนร่วมงาน (Peers and Co – Workers) แม้ว่าคนกลุ่มนี้จะไม่ค่อยมีหน่วยงานไหนใช้เป็นผู้ทำหน้าที่ประเมินผลการปฏิบัติงานของผู้อื่น แต่ในเรื่องบางเรื่อง บุคคลกลุ่มนี้คือผู้ที่รู้เรื่องดีที่สุดของผู้ถูกประเมินซึ่งเป็นเพื่อนกัน เช่นเรื่องความเป็นผู้นำหรือเรื่องความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แก่เพื่อนร่วมงาน เป็นต้น แต่ในเรื่องบางเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการแข่งขันแล้ว ความเห็นของบุคคลกลุ่มนี้อาจจะใช้เป็นหลักในการพิจารณาไม่ได้เพราะอาจจะให้ความเห็นเป็นอคติเพื่อให้อีกฝ่ายเสียหายและตนเองอาจจะได้ประโยชน์
ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาโดยตรง ( Immediate Subordinates) บุคคลกลุ่มนี้ก็ไม่ค่อยนิยมให้เป็นผู้ประเมินผลผู้ใต้บังคับบัญชาหรือเจ้านายของตน เพราะอาจจะไม่กล้าพูดความจริงหรือาจจะเสแสร้งยกยอปอปั้นเจ้านายของตนเกินความเป็นจริง แต่ในบางเรื่องเช่นกันที่คนกลุ่มนี้มีความรู้ดีที่สุดในการปฏิบัติงานของเจ้านายของตน เช่น เรื่องความสามารถในการถ่ายทอดความรู้ในงาน ความสนใจดูแลผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา หรือความสามารถในการประสานงาน เป็นต้น
ประเมินผลของตนเอง (Self) ในช่วงปัจจุบันนี้หน่วยงานต่างๆเปิดโอกาสให้พนักงานมีส่วนร่วมในการกำหนดวัตถุประสงค์และนโยบายในการปฏิบัติงาน ดังนั้นพนักงานต่างๆในทุกระดับจะต้องพัฒนาตนเองให้สูงขึ้น เหตุนี้พนักงานแต่ละคนย่อมรู้ดีว่าตนเองมีการพัฒนามากขึ้นเพียงไร ตนเองจึงควรเป็นผู้ประเมินตนเองในส่วนนี้ อย่างไรก็ตามข้อมูลที่ได้จากการประเมินในส่วนนี้อาจจะมีอคติก็ได้เพราะความเป็นปุถุชนย่อมประเมินตนเองสูงกว่าความเป็นจริง ดังนั้นผู้ที่จะใช้ผลของการประเมินโดยวิธีนี้จึงต้องพิจารณาข้อมูลอย่างระมัดระวัง
คณะกรรมการ (Committee) ในการป้องกันผลของอคติอันเกิดจากบุคคลหนึ่ง บุคคลใด วิธีการประเมินผลการปฏิบัติงานอาจให้คณะกรรมการเป็นผู้ประเมินก็ได้ คณะกรรมการมักจะเป็นผู้บังคับบัญชาของพนักงานที่จะถูกประเมินรวมทั้งผู้บังคับบัญชาอื่นที่งานเกี่ยวข้องกัน การใช้คณะกรรมการยังช่วยในการพิจารณารอบคอบและมีทัศนคติต่างๆกัน แต่อุปสรรคของการใช้คณะกรรมการคือการที่กรรมการบางท่านอาจไม่มีเวลาให้แก่การประเมินเพราะมิใช่พนักงานของตนจึงไม่เอาใจใส่ นอกจากนั้นความเห็นของกรรมการอาจแตกแยกและถกเถียงกันนานกว่าจะตัดสินใจได้ในเรื่องหนึ่ง นอกจากนั้นเมื่อเกิดการผิดพลาดในการประเมินผลคณะกรรมการก็มีโอกาสปฏิเสธความรับผิดชอบได้
ผู้เชี่ยวชาญการบริหารงานบุคคล (Staff Personnel Specialists) ผู้เชี่ยวชาญดังกล่าว จะทำหน้าที่ช่วยรับผิดชอบในการประเมินผลการปฏิบัติงานอีกทีหนึ่ง เพื่อช่วยให้การประเมินผลดังกล่าวมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น แต่จะไม่นิยมให้ผู้เชี่ยวชาญนี้เป็นผู้ประเมินผลโดยตรงเพราะผู้เชี่ยวชาญนั้นไม่มีข้อมูลหรือมิได้อยู่ใกล้ชิดกับผู้ปฏิบัติงานที่ถูกประเมิน จึงไม่อาจทราบข้อเท็จจริงได้
ดูตัวอย่างผลการสำรวจ [ คลิกที่นี่ ]