แนวปฏิบัติ เพื่อส่งเสริม แรงงานสัมพันธ์ ในประเทศไทย


936 ผู้ชม


แนวปฏิบัติ เพื่อส่งเสริม แรงงานสัมพันธ์ ในประเทศไทย




การพัฒนาและเสริมสร้างระบบแรงงานสัมพันธ์ให้เหมาะสมที่สุดสำหรับประเทศไทย   เพื่อสอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมไทย   ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นระบบที่ให้ความยุติธรรมแก่ทุกฝ่าย และเพื่อผดุงไว้    ซึ่งความสัมพันธ์อันดีระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง  ตลอดจนเพื่อประคับประคองเศรษฐกิจและสังคมของประเทศให้สามารถผ่านพ้นสภาวะปัญหาวิกฤตทางเศรษฐกิจของประเทศไปได้ด้วยความร่วมมือร่วมใจจากทุกๆฝ่าย   จึงมีแนวปฏิบัติเพื่อ ส่งเสริมแรงงานสัมพันธ์ในประเทศไทยดังนี้

1.   เคารพยึดถือและปฏิบัติตามบทบัญญัติกฎหมายแรงงาน   ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง  รวมทั้ง คำตัดสินในเรื่องอัตราค่าจ้าง สภาพการจ้าง สภาพการทำงาน และ ข้อปฏิบัติเพื่อความเป็นธรรมด้านแรงงาน

2.    ระงับข้อขัดแย้ง ข้อร้องทุกข์ และข้อพิพาทแรงงานตามกระบวนการซึ่งได้มีข้อตกลงกันไว้  หากไม่มีกระบวนการดังกล่าวก็จะใช้วิธีการเจรจาต่อรอง  การไกล่เกลี่ย และการชี้ขาดแทน

3.   ส่งเสริมสนับสนุนเสรีภาพในการจัดตั้ง และการพัฒนาองค์การลูกจ้าง และองค์การนายจ้าง  เพื่อให้มีประสิทธิภาพ มีอิสระ และมีความรับผิดชอบต่อสังคม

4.   เสริมสร้างและเพิ่มพูนประสิทธิภาพของการร่วมเจรจาต่อรอง  เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในด้านสภาพการจ้าง สภาพการทำงาน  รวมทั้งการสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง

5.   ส่งเสริมให้นายจ้างและลูกจ้าง  ใช้วิธีร่วมปรึกษาหารือในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสิทธิหน้าที่และผลประโยชน์ของทั้งสองฝ่าย  อันจะเป็นวิถีทางที่จะพัฒนาไปสู่การพึ่งพาอาศัย    กันและกันอย่างทัดเทียม และเสมอภาคตามหลักระบบประชาธิปไตยในวงการแรงงาน

6.   กำหนดนโยบายและลักปฏิบัติด้านการบริหารงานบุคคลที่เหมาะสม  เพื่อให้การแรงงานสัมพันธ์ภายในสถานประกอบการเอื้ออำนวยต่อประสิทธิภาพในการทำงานและสร้างความพึงพอใจแก่ผู้ปฏิบัติงาน

7.   ละเว้นการกระทำ หรือสนับสนุนการกระทำที่เป็นการละเมิดสิทธิซึ่งกันและกัน และการขัดขวางการดำเนินงานอันชอบด้วยกฎหมายเกี่ยวกับเสรีภาพในการสมาคม  สิทธิในการเจรจาต่อรอง การรักษาระเบียบวินัย และธรรมเนียมปฏิบัติในสถานประกอบการ

8.   ส่งเสริมความรู้แก่นายจ้างและลูกจ้าง  เกี่ยวกับสิทธิหน้าที่อันพึงมี พึงปฏิบัติต่อกัน  ตลอดจนความรับผิดชอบต่อสังคมของทั้งสองฝ่าย

9.   ส่งเสริมและพัฒนาแรงงานสัมพันธ์แนวทางระบบแรงงานสัมพันธ์ บนพื้นฐานของขนบธรรมเนียมประเพณี และวัฒนธรรมของชาติ เพื่อสร้างระบบแรงงานสัมพันธ์ที่ดี   ซึ่งให้ความยุติธรรมแก่ทุกฝ่าย และสนองความต้องการทางสังคมและเศรษฐกิจของประเทศ

10.  ส่งเสริมและพัฒนาการปรึกษาหารือและการร่วมมือกันในระดับชาติระหว่างหน่วยงานของรัฐบาล  องค์กรนายจ้าง และองค์กรลูกจ้าง ในเรื่องเกี่ยวกับการกำหนดการแก้ไขปรับปรุงและการประเมินผลนโยบายการพัฒนาของชาติในด้านต่าง ๆ

11. ส่งเสริมระบบประชาธิปไตย อันเป็นเงื่อนไขที่จะทำให้แนวปฏิบัติดังกล่าวบรรลุผล  โดยรัฐบาลควรบังคับใช้กฎหมายอย่างไม่เลือกปฏิบัติให้เกิดความเป็นกลางและเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย

12. ส่งเสริมการแรงงานสัมพันธ์ในระดับนโยบายของประเทศ อันเป็นเงื่อนไขที่จะทำให้แนวทางปฏิบัติดังกล่าวบรรลุผล และสามารถแก้ไขปัญหาแรงงาน   ในอนาคตรัฐบาลควรบรรจุหลักสูตรการแรงงานสัมพันธ์เข้าไว้ในแผนการศึกษาของชาติ

13.  รัฐบาล นายจ้าง และลูกจ้างจะยึดและปฏิบัติตามแนวปฏิบัติด้านแรงงานสัมพันธ์โดยทั่วหน้ากัน

อัพเดทล่าสุด