ลักษณะแรงงานสัมพันธ์ของญี่ปุ่น
ลักษณะแรงงานสัมพันธ์ของญี่ปุ่น
ญี่ปุ่นเป็นประเทศแรกในตะวันออกที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาประเทศอย่างสูงสุดและรวดเร็วภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ในขณะเดียวกันญี่ปุ่นก็ยังได้พัฒนาคุณลักษณะพิเศษด้านแรงงานสัมพันธ์ซึ่งอยู่บนพื้นฐานแห่งทฤษฎีการบริหารของตะวันออกผสมผสานกับแนวคิดทฤษฎีตลอดจนขนบธรรมเนียมประเพณีและสภาพการณ์ของญี่ปุ่นเอง ซึ่งคุณลักษณะพิเศษที่เด่นๆ มีดังนี้ (Rue & Byars ,2000 : 35- 36; Price, 1997 : 165 , 379 -380
ระบบการจ้างงานตลอดชีวิต (Life – Time Employment System) เพื่อสร้างความรู้สึกมั่นคงปลอดภัยในชีวิตและการทำงานในองค์การและการกระตุ้นให้เกิดสมรรถนะในการทำงานอย่างเต็มที่
ระบบลูกจ้างชั่วคราว (Temporary Employees) เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการบริหารงาน และทรัพยากรบุคคลในลักษณะต่างๆ
ระบบค่าจ้างตามอาวุโส (Seniority – Based Wage System) เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจของพนักงานผู้จงรักภักดี และมีประสบการณ์ในการทำงานสูง
สหภาพแรงงานของบริษัท (Enterprise Unionism) เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง เพื่อให้เกิดการประสานงานและการร่วมมือกันในการทำงานเพื่อให้บรรลุเป้าหมายหรือวัตถุประสงค์ขององค์การซึ่งทำได้ในหลายลักษณะอาทิ การจัดตั้งสภาคนงาน (Work Council) ซึ่งการจัดตั้งในสถานประกอบการเพื่อเสนอข้อคิดเห็นตลอดจนข้อเรียกร้องต่างๆ ของลูกจ้างต่อฝ่ายนายจ้างการจัดตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษาร่วม (Joint Consultation Committee) เพื่อให้ตัวแทนแต่ละฝ่ายได้มาประชุมปรึกษาหารือเกี่ยวกับทัศนะหรือความต้องการต่างๆโดยหลีกเลี่ยงการจัดตั้งสหภาพแรงงานของฝ่ายลูกจ้าง รวมทั้งการให้มีผู้แทนลูกจ้างในคณะกรรมการบริหารของบริษัทเพื่อให้มีการทำงานหรือการบริหารแบบมีส่วนร่วม
การฝึกงานและสวัสดิการในบริษัท (Apprenticeship and Fringe Benefits) เพื่อให้ลูกจ้าง หรือพนักงาน ได้รับการพัฒนาและการเรียนรู้งานอย่างเป็นระบบ ซึ่งเมื่อพิจารณาไปถึงระบบการจ้างงานและระบบการจ่ายค่าตอบแทนแล้ว ลูกจ้างหรือพนักงานได้รับผลประโยชน์ทั้งทางตรง (ค่าจ้างเงินเดือน) และทางอ้อม (ผลประโยชน์เกื้อกูล) ต่างๆ อย่างเต็มที่ และเป็นไปในลักษณะก่อให้เกิดแรงจูงใจในการทำงานของลูกจ้าง และพนักงานทั่วทั้งบริษัท ซึ่งลักษณะเหล่านี้ย่อมทำให้ตลาดแรงงาน (Labour Market) ของญี่ปุ่นถูกจำกัดอยู่เฉพาะภายในบริษัท ทั้งนี้เพราะคนงานจะไม่เคลื่อนย้าย ถ่ายโอน หมุนเวียน หรือเปลี่ยนงานไปตามบริษัทอื่นๆ ยกเว้นภายในบริษัทของตนเท่านั้น
ที่มา ผศ.ดร.นพ ศรีบุญนาค