'Perfomance Management' พัฒนาคนอย่างมีกระบวนยุทธ์
จากสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ทั้งภายในประเทศและภายนอกประเทศ อย่างราคาน้ำมัน และเขตการค้าเสรี ฯลฯ ที่เข้ามามีผล ทางตรงและทางอ้อมต่อองค์กรธุรกิจประเภทต่างๆ
ผลกระทบดังกล่าวล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่เข้ามาผลักดันให้องค์กรจากที่เคยดำเนินอยู่เป็นปกติ ต้องตื่นตัวแบบก้าวกระโดดยิ่งขึ้น ซึ่งทุกๆ การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในองค์กร หรือองค์กรคาดหวังให้เกิดขึ้น ย่อมมีการตั้งเป้าและคาดหวังในผลสัมฤทธิ์อย่างใดอย่างหนึ่ง และเพื่อที่จะให้การเปลี่ยนแปลงดังกล่าว เป็นไปในแนวทางที่ต้อง การ เพื่อบรรลุผลสัมฤทธิ์ที่ตั้งไว้ได้ องค์กรเหล่านี้จำเป็นที่จะต้องมี "กระบวนการบริหารผลงาน" (Performance Management) ที่จะต้องฝังอยู่ในแทบทุกส่วนของกระบวนการธุรกิจ
การบริหารผลงานคือ "กระบวนการที่จะทำให้คน ในองค์กรทุกคนเกิดความเข้าใจร่วมกันในสิ่งที่องค์กรต้องการ และร่วมกันกำหนดวิธีการที่จะให้ได้มาซึ่งสิ่งเหล่านั้น รวมไปถึงกระบวนการบริหารคนและทรัพยากร เพื่อเสริมสร้างให้คนมีศักยภาพสู่ความสำเร็จในการบรรลุเป้าหมายของตน"
กระบวนการบริหารผลงานที่ดีนั้น ประกอบด้วยกระบวนการตั้งเป้าและวัดผล และยังรวมถึงการสร้างและปรับความเข้าใจในวัตถุประสงค์ขององค์กรในภาพกว้างอยู่เสมอ และการที่จะเสริมสร้างบรรยากาศและศักยภาพ ในอันที่จะดำเนินงานไปตามแนวทางได้มาซึ่งผลงานที่ต้องการตลอดทั้งปี
นั่นก็หมายความว่า กระบวนการบริหารผลงานจำเป็นที่จะต้องทำกันเพื่อการกระตุ้น ปรับปรุงแก้ไข และเยียวยาอยู่เสมอ ซึ่งนอกจากจะเป็นการพูดคุยกันระหว่างผู้บังคับบัญชาและผู้ใต้บังคับบัญชาแล้ว ผู้ที่ทำหน้าที่ของการบริหารทรัพยากรบุคคลจำเป็นที่จะต้องเข้ามามีบทบาทสำคัญในกระบวนการนี้
เหตุผลหลักก็คือ องค์กรไม่จำเป็นต้องรอให้ถึงปลายปีเพื่อที่จะวัดผลงานแต่จะต้องพยายามช่วยสร้างบรรยากาศเพื่อให้พนักงานเกิดศักยภาพ โดยมีความรู้ความสามารถ มีพฤติกรรมที่พึงประสงค์ และทรัพยากรเพียงพอในอันที่จะบรรลุเป้าหมายของแต่ละคนได้
ทั้งนี้ผู้บริหารบางองค์กรอาจจะเคยคิดว่า การตั้งเป้าต้นปีและการวัดผลปลายปี คือการบริหารผลงาน แต่อาจจะลืมนึกไปว่าการวัดผลงานปลายปีเพียงอย่างเดียวนั้น เป็นเพียงแค่การวัดผลสัมฤทธิ์ของสิ่งที่ได้เกิดขึ้นแล้วในอดีต ซึ่งผลสัมฤทธิ์ที่วัดนั้น ได้ส่งผลสู่องค์กรไปเรียบร้อย แล้ว ไม่อาจที่จะปรับปรุงแก้ไขและเยียวยาได้
การวัดผลงานเหล่านี้ก็จะเป็นเพียงการวัดผลเพื่อให้รางวัลหรือลงโทษผู้ที่เป็นเจ้าของงาน แต่ยังไม่ได้คำนึงถึงการที่จะทำให้ผลงานนั้น เป็นไปตามที่ต้องการตลอดทั้งปีที่ผ่านมา กล่าวโดยสรุปคือ ทุกองค์กรจำเป็นที่จะต้องมีกระบวนการบริหารผลงานดังกล่าวเพื่อที่จะสามารถพัฒนาองค์กรไปในรูปแบบที่ต้องการได้ ซึ่งจะต้องจัดไว้ให้เป็นกระบวนทางธุรกิจการหลัก (Core Business Process) ที่ซีอีโอจะต้องให้ความสำคัญควบคู่ไปกับกระบวนการทางธุรกิจอื่นๆ
รวมถึงออกแบบกระบวนการที่เหมาะสมที่สุดกับสภาพแวดล้อม และยุทธศาสตร์ขององค์กรของตน รวมถึงจะต้องให้ความสำคัญกับการสร้างสัมพันธภาพในทุกส่วนขององค์กร
เพราะผลที่จะติดตามมาพร้อมๆ กับการบริหารผลงานนั้นคือ กระบวนการที่ให้เกิดการสื่อสารในทุกส่วนขององค์กรนั่นเอง
แหล่งข้อมูล : ผู้จัดการรายสัปดาห์