ฝึกอบรมพนักงานอย่างได้ผล???
ในยุคของ "สังคมฐานความรู้" อย่างทุกวันนี้ ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้องค์กรอยู่รอดอย่างยั่งยืน ก็คือ "คน" หรือบุคลากรขององค์กรนั้น ๆ
โดยเฉพาะความรู้ความสามารถและคุณภาพของคนที่จะสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันให้แก่องค์กรนั้น ๆ
องค์กรใดมีบุคลากรที่มีคุณภาพมากกว่า องค์กรนั้นก็ได้เปรียบกว่า
การพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ความสามารถ เพื่อจะได้ใช้ศักยภาพของตนเองอย่างเต็มที่ในการทำงานหรือสร้าง "ผลงาน" จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง
วิธีหนึ่งในการพัฒนาบุคลากรก็คือ "การฝึกอบรม" เพื่อยกระดับความรู้ความสามารถและเพิ่มทักษะของพนักงาน เพื่อให้ทำงานได้อย่างถูกต้อง มีทั้งประสิทธิภาพและประสิทธิผล
ในหลักการแล้ว ผลงานของพนักงานผู้ปฏิบัติงาน จะเกิดจากปัจจัยสำคัญ 3 ประการ คือ 1. ทัศนคติ 2. ความตั้งใจ และ 3. ความสามารถ
นักวิชาการด้านการพัฒนาบุคลากร (ทรัพยากรมนุษย์) จึงเขียนเป็นสูตรสำเร็จว่า ผลงาน = ทัศนคติ x ความตั้งใจ x ความสามารถ
ดังนั้น ถ้าเราต้องการได้ผลงานที่ดีและมีคุณภาพสูง ก็ต้องให้ปัจจัยทั้ง 3 ตัวนี้ มีค่าสูงด้วย ถ้าปัจจัยหนึ่งปัจจัยใดมีค่าลดลง ย่อมทำให้ผลงานของพนักงานนั้นมีค่าลดลงตามไปด้วย
จุดเริ่มต้นที่สำคัญที่สุด ก็คือ การทำให้พนักงานมีทัศนคติหรือความรู้สึกที่ดีต่อองค์กร และต่อเพื่อนร่วมงาน ซึ่งทำให้แนวความคิดในเรื่องของการสร้าง "องค์กรที่มีสุขภาพดี" (Healthy Organization) มีความสำคัญมากขึ้นเรื่อย ๆ ในปัจจุบัน
การที่จะทำให้พนักงานเกิดทัศนคติและความรู้สึกที่ดี ๆ ต่อตนเองและองค์กรได้นั้น เราจำเป็นต้อง "สร้าง" ต้อง "สอน" ต้องพัฒนาให้เกิดขึ้น เมื่อรวมกับ "ความสามารถ" ที่พนักงานแต่ละคนมีอยู่ประจำตัว บวกกับ "ความตั้งใจ" ในการทำงาน ก็จะทำให้พนักงานสามารถสร้าง "ผลงาน" ที่ดีได้
ปัจจัยด้านของ "ความสามารถ" และ "ความตั้งใจ" ที่ว่านี้ Smart SMEs จะต้องเป็นผู้สร้างแรงจูงใจเพื่อกระตุ้นให้พนักงานนำสิ่งเหล่านั้นออกมาใช้อย่างเต็มที่
การปฏิบัติงานตามปกติในโรงงานนั้น ผู้บังคับบัญชาจะเป็นผู้มอบหมายงานให้แก่พนักงานที่เป็นผู้ใต้บังคับบัญชา
ดังนั้น เราจึงต้องระลึกไว้เสมอว่า นอกจากการต้องฝึกให้พนักงานสามารถทำงานได้แล้ว ผู้บังคับบัญชายังมีหน้าที่ที่จะต้องจูงใจและผลักดันให้ผู้ใต้บังคับบัญชาสามารถนำเอา 3 ปัจจัยดังกล่าวข้างต้นออกมาใช้อย่างมีประสิทธิภาพด้วย
โดยทั่วไปแล้ว การฝึกอบรมบุคลากรหรือพนักงานในองค์กร จะแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ การฝึกอบรมในสถานที่ (OJT) และการฝึกอบรมนอกสถานที่ (Off-JT)
การฝึกอบรมภายในโรงงานหรือภายในสำนักงานที่ได้ผลที่สุด มักจะเป็นการสอนหรือฝึกอบรมที่หน้างานเลย (On the Job Training : OJT) ซึ่งเป็นการฝึกอบรมด้วยการสอนให้ทำตามหรือชี้แนะในวิธีการปฏิบัติงานอย่างมีแบบแผน โดยผู้บังคับบัญชาจะต้องถ่ายทอดความรู้ เทคนิควิธีการทำ ทัศนคติ และแนวคิดเกี่ยวกับงานให้แก่ผู้ใต้บังคับบัญชา โดยมีขั้นตอนในการสอนและให้ฝึกปฏิบัติจริง ที่หน้างานในสถานที่ทำงานจริง
ในทางปฏิบัติแล้ว OJT จะเป็นการฝึกอบรมพนักงานในรูปแบบที่เป็นการสอนงานหรือถ่ายทอดแบบ "ตัวต่อตัว" เลย โดยผู้บังคับบัญชาจะชี้แนะ สั่งสอน ถ่ายทอดความรู้และเทคนิคต่าง ๆ ให้แก่ผู้ใต้บังคับบัญชาอย่างละเอียดโดยตรง และคอยกำกับดูแลอย่างใกล้ชิดด้วย ซึ่งนอกจากจะทำให้ผู้ใต้บังคับบัญชาสามารถทำงานอย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพแล้ว ยังทำให้หัวหน้าและลูกน้องมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ตลอดจนมีความไว้วางใจซึ่งกันและกัน พร้อมทั้งเป็นการสร้างบรรยากาศในการทำงานที่ดีได้อีกด้วย
ส่วนการฝึกอบรมนอกสถานที่นั้น จะเป็นการฝึกอบรมชี้แนะ ถ่ายทอดความรู้ เทคนิควิธีทำ ทัศนคติ และแนวคิดเกี่ยวกับงาน โดยจัดฝึกอบรมนอกสถานที่ทำงานหรือส่งไปฝึกอบรมภายนอก โดยรวมถึงการที่ต้องเชิญวิทยากรผู้เชี่ยวชาญจากภายนอกมาบรรยายหรือจัดอบรมสัมมนาภายในบริษัทด้วย ซึ่งการจัดฝึกอบรมแบบนี้จะไม่สามารถลงลึกในรายละเอียดของการปฏิบัติงานที่ต้องการได้
การฝึกอบรมทั้ง 2 ประเภท จะมีความสำคัญด้วยกันทั้งคู่ แต่ OJT มักจะมีประสิทธิภาพโดยตรงมากกว่า และสิ้นเปลืองน้อยกว่าด้วย
ปัญหาของ Smart SMEs ก็คือ หัวหน้าผู้ที่จะทำหน้าที่สอนงานแบบ OJT นั้น เจ๋งจริงหรือเปล่า ครับผม !
ที่มา : หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ