องค์การแห่งการพัฒนา
ในตอนที่แล้วเราได้พูดถึงปัจจัยผลักดันการเปลี่ยนแปลง (Change Driver) และระบบที่เกื้อหนุน หรือ ปัจจัยสนับสนุน (Change Lever) ที่ส่งเสริม สนับสนุนต่อการเปลี่ยนแปลงสู่เป้าหมายที่คาดหวัง
หากเราพยายามเชื่อมโยงความสัมพันธ์ที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงองค์การของภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นนโยบายหรือทิศทางที่เกิดขึ้น โดยพิจารณาจากความแตกต่างของวิธีการเรียนรู้ พัฒนาองค์การ ทำให้เราสามารถแบ่งระดับของการเปลี่ยนผ่านของการปฏิรูปที่เกิดขึ้นได้เป็นสามระดับคือ ระดับที่หนึ่งเป็นองค์กรในรูปแบบเดิมๆ (Traditional Organization) ที่เราคุ้นเคยเป็นระบบราชการในรูปแบบเดิมๆ มีลำดับชั้นการบริหารและขั้นตอนการทำงานที่ไม่ก่อให้เกิดคุณค่า
ระดับที่สองคือ องค์การแห่งการเรียนรู้ (Learning Organization) และ ระดับที่สามคือ องค์การแห่งการพัฒนา (Developmental Organization) ซึ่งมีวิธีการเรียนรู้และพัฒนาขีดความสามารถที่แตกต่างกันพอสรุปได้ดังนี้
องค์การในรูปแบบเดิมๆ (Traditional Organization) : เมื่อพิจารณาในมุมมองของการเรียนรู้ การพัฒนา องค์การในระดับนี้จะมุ่งเน้นที่การเรียน การศึกษา (Knowledge Acquisition) โดยการส่งบุคลากรเข้าหลักสูตรการฝึกอบรมเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นหลักสูตรที่จัดภายใน ภายนอกองค์การ หรือแม้การฝึกอบรม ศึกษาต่อในต่างประเทศ ซึ่งผลที่เกิดขึ้นจากการเรียนรู้นี้ มักไม่ได้นำไปสู่การปฏิบัติก่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ที่สร้างสรรค์ให้กับองค์การแต่อย่างใด หรือพูดแบบง่ายๆ คือไม่ได้แปลงจาก "Knowing" หรือ "Comprehension" จากสิ่งที่เรียนรู้มา มาเป็น " Doing" นั่นเอง
องค์การแห่งการเรียนรู้ (Learning Organization) : องค์การแห่งการเรียนรู้นี้จะมีพฤติกรรมที่มุ่งเน้นการนำสิ่งที่เรียนรู้มาลงมือสู่การปฏิบัติ (Application) นำมาประยุกต์ใช้งาน ก่อให้เกิดเป็นผลงาน ผลสัมฤทธิ์ให้กับองค์การ เป็นการแปลงจาก Knowing มาเป็น Doing นั่นเอง เมื่อได้ลงมือปฏิบัติแล้วเราจะรู้ได้ทันทีว่ารู้หรือไม่รู้ ทำได้หรือไม่ได้ จะเกิดเป็นประสบการณ์ เป็นปัญญาที่เกิดขึ้นจากลงมือปฏิบัติจริง (Mastery)
และจากผลการปฏิบัติที่เกิดขึ้น เมื่อนำการสังเคราะห์ในภาพรวมและนำมาวิเคราะห์ในภาพย่อย (Reflection) นำมาสู่การเรียนรู้และการปรับปรุง พัฒนาวิธีการดำเนินการให้ดีขึ้น บรรยากาศเช่นนี้จะเกิดขึ้นจริงในองค์การได้เราต้องมองโลกว่า ไม่มีคำว่า "ดีที่สุด" มีแต่คำว่า "ดีกว่า" เท่านั้น หรือให้คิดอยู่เสมอว่า "พรุ่งนี้จะทำให้ดีกว่าวันนี้ได้อย่างไร?"
เราทราบกันดีแล้วว่าระดับการเรียนรู้ในองค์การมีอยู่สามระดับคือ การเรียนรู้เป็นบุคคล เป็นทีม และเป็นทีมที่เกิดจากหลายฟังก์ชั่นงาน เป็นการเรียนรู้ในระดับองค์การนั่นเอง แต่สิ่งที่เหมือนกันคือ "คน" เป็นผู้เรียนรู้และนำมาสู่การปฏิบัติให้สอดคล้องกับทิศทางและกลยุทธ์ขององค์การ
เรามักจะเห็นแนวทางความคิดเชิงกลยุทธ์ ดังเช่นใน พ.ร.ฎ. ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี ในมาตรา 8 ว่า "ในการบริหารราชการเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน ส่วนราชการจะต้องดำเนินการโดยถือว่า ประชาชนเป็นศูนย์กลางที่จะได้รับการบริการจากรัฐ" หรือในภาคเอกชนที่ "มุ่งเน้นลูกค้าเป็นศูนย์กลาง" แล้วทำไมไม่มุ่งเน้น "คน" ที่เป็นผู้ปฏิบัติทำให้ประชาชน หรือลูกค้ามีความผาสุก พึงพอใจ?
โดยความเป็นจริงในเชิงปฏิบัติแล้วองค์การชั้นนำหลายองค์การไม่ได้มองข้ามเรื่อง "คน" เพราะทราบดีว่า "คนเป็นผู้ทำสิ่งนั้นให้เป็นจริง" ในบางองค์การถึงกับกล่าวอย่างจริงจังว่า "Employee Come First"
ดังนั้นรูปแบบการพัฒนาพนักงานเราจะยึดแนวความคิดว่า พนักงานเป็นศูนย์กลาง (Employee Champion) เช่นเดียวกับระบบการศึกษาที่ก็กำลังมุ่งเน้น Child Center หรือ Student Center โดยการใช้หลักจัดการแบบการเอื้ออำนาจ (Empowerment) ให้พนักงานสามารถคิดและใช้ศักยภาพของตนเองได้อย่างเติมที่
องค์การแห่งการพัฒนา (Developmental Organization) : ในบางครั้งกระบวนการ สินค้า หรือ บริการได้ถูกพัฒนา ปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง ดังเช่น การพัฒนาเครื่องบินใบพัด ให้สามารถบินเร็วขึ้น ให้สามารถบินด้วยความเร็วเหนือเสียง คงเป็นสิ่งที่ยากและอาจเป็นไปไม่ได้ เราจึงต้องมีความตื่นตัว (Self-Awareness) ว่าสิ่งที่ทำอยู่นั้นอาจไม่ใช่หนทางสู่ความสำเร็จได้
ดังนั้นเราจำเป็นต้องคิดใหม่ จึงเกิดการเปลี่ยนแปลง (Change) ไปสู่เทคโนโลยีใหม่เป็นเครื่องบินไอพ่นในที่สุด ซึ่งผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจะก่อให้เกิดเป็นสิ่งประดิษฐ์ใหม่ที่ไม่มีมาก่อน (New meaning) และใช้เป็นฐานในการพัฒนาต่อเนื่องไปสู่สิ่งประดิษฐ์อื่นได้ (Growth and Development) เช่น เครื่องบินรบ เครื่องบินโดยสาร (Renewal and Performance Capacity)
ระดับของการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเราสามารถมองได้อีกอย่างหนึ่งคือนวัตกรรม ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบของสินค้า บริการ หรือกระบวนการ และเราสามารถแบ่งระดับนวัตกรรมตาม impact ที่เกิดขึ้นได้สามระดับคือ ระดับที่หนึ่งเป็นนวัตกรรมที่เกิดจากการต่อยอดจากสิ่งเดิม "Improvement Innovation"
ระดับที่สองเป็นการพัฒนาโดยการเชื่อมโยงต่อยอด (Adoption) จากองค์ความรู้ที่มีอยู่หรือองค์ความรู้ที่ได้มา "Incremental Innovation" เป็นการสร้างสินค้า บริการ หรือกระบวนการ ที่มีการปรับปรุงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด และระดับที่สามเป็นการสร้างเป็นนวัตกรรมที่ไม่มีมาก่อนเป็นสิ่งใหม่ "Break Through Innovation" ที่สร้างคุณค่าแบบก้าวกระโดดให้กับลูกค้า และสามารถสร้างตลาดใหม่ได้
เราคงคุ้นเคยกับเป้าหมายสูงสุดของประเทศที่จะพัฒนาประเทศให้มีความมั่งคั่ง มั่นคง อย่างยั่งยืน ซึ่งจะเกิดขึ้นได้เราต้องเพิ่มคุณค่า(Value Added) ให้กับสินค้าหรือบริการซึ่งเราดำเนินการอยู่ในช่วงแรกนี้ และเมื่อเราพร้อมเราจะก้าวสู่การสร้างมูลค่า (Value Creation) ที่ส่งผลอย่างชัดเจนต่อความสำเร็จของสินค้าหรือบริการ และตลาด
ในระดับขององค์การแห่งการพัฒนานี้ ผู้นำองค์การจะมีบทบาทเป็นที่ปรึกษาด้านการพัฒนาผลดำเนินการ (Performance Consultant) และเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง (Organizational Development Change Agent)
แหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ