การดำเนินงานเพื่อพัฒนาอาชีพโดยองค์การ
การดำเนินงานเพื่อพัฒนาอาชีพโดยองค์การ
การพัฒนาอาชีพ คือ การพัฒนาและฝึกอบรมบุคลากรขององค์การเพี่อให้มีความก้าวหน้าในอาชีพ ดังนั้น การดำเนินงานจึงต้องกระทำอย่างมีแผนการและเป็นระบบ โดยทั่วไปแล้ว การดำเนินงานจะประกอบด้วยขั้นตอนต่างๆ หลายขั้นตอนดังนี้
ค้นหาและระบุความต้องการขององค์การ ในขั้นตอนแรกนี้ องค์การจะต้องค้นหาและระบุความต้องการและเป้าหมายของโครงการพัฒนาอาชีพเด่นชัด โดยพิจารณาจากเป้าหมายในการขยายงาน ไม่ว่าจะเป็นในด้านการเพิ่มส่วนแบ่งการตลาด ขยายสาขา หรือขยายขอบเขตการดำเนินงานไปสู่กิจกรรมประเภทใหม่ๆ จำเป็นต้องอาศัยบุคลากรด้านต่างๆ เพิ่มขึ้นทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพ ดังนั้น องค์การต่างๆ จึงต้องมีการวางแผนกำลังคนและการพัฒนาบุคลากรเพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายและการดำเนินงานในอนาคต แผนกำลังคนจะทำให้องค์การทราบว่าในระยะเวลาข้างหน้า ไม่ว่าจะเป็นหนึ่งปี ห้าปี หรือ สิบปี บุคลากรด้านต่างๆ ควรจะมีปริมาณและคุณภาพอย่างไร ข้อมูลเหล่านี้จะช่วยให้ทราบว่าโครงการการพัฒนาอาชีพจะดำเนินไปในทิศทางใด
พัฒนากลยุทธ์และวิธีการพัฒนาอาชีพ เมื่อองค์การทราบเป้าหมายและทิศทางของการพัฒนาอาชีพแล้ว ขั้นตอนต่อมาคือการสร้างและพัฒนากลยุทธ์ และวิธีการพัฒนาอาชีพ เพื่อนำไปสู่เป้าหมายที่กำหนดไว้ กลยุทธ์และวิธีการต่างๆ เหล่านี้จะได้กล่าวโดยละเอียดต่อไป
ตระเตรียมสิ่งต่างๆ ที่จำเป็นสำหรับการจัดโครงการพัฒนาอาชีพ ซึ่งอาจจะครอบคลุมสิ่งต่างๆ เช่น คณะดำเนินการ งบประมาณ อุปกรณ์ และวัสดุเครื่องมือหรือแบบประเมินต่างๆ ที่ใช้ในการประเมินบุคคล เป็นต้น
ประชาสัมพันธ์และดำเนินงานตามโครงการ เพื่อให้โครงการพัฒนาอาชีพเป็นที่ยอมรับและได้รับความร่วมมือจากบุคลากรทุกระดับชั้น องค์การจะต้องมีการประชาสัมพันธ์โครงการ เพื่อให้เกิดความเข้าใจรวมกันเกี่ยวกับเป้าหมาย นโยบาย และวิธีการดำเนินงานของโครงการ จากนั้น จึงเริ่มดำเนินงานตามแผนการที่ได้กำหนดไว้
ประเมินผลและติดตามผล หลังจากที่ได้จัดกิจกรรมการพัฒนาอาชีพหนึ่งๆ เสร็จสิ้นไป ควรจะได้มีการประเมินและติดตามผลทุกครั้ง เพื่อตรวจสอบว่ากิจกรรมเหล่นั้นได้ก่อให้เกิดประโยชน์ตามวัตถุประสงค์หรือไม่ นอกจากนั้นยังควรที่จะได้ประเมินและติดตามผลโครงการพัฒนาอาชีพโดยรวมทั้งโครงการอีกด้วย
การพัฒนาอาชีพที่ประสบความสำเร็จ จะช่วยลดความไม่สอดคล้องกันระหว่างความคาดหวังของบุคลากรกับนโยบายและการปฏิบัติขององค์การ อันเป็นผลทำให้บุคลากรขององค์การมีความพึงพอใจในงานเพิ่มขึ้น มีความผูกพันและความจงรักภักดีต่อองค์การสูงขึ้น มีผลการปฏิบัติงานดีขึ้น และมีความก้าวหน้าในอาชีพดีขึ้น
การฝึกอบรมบุคลากรในองค์การ
โดย : รองศาสตราจารย์ ดร.ชูชัย สมิทธิไกร