การฝึกอบรมและพัฒนาจะประสบความสำเร็จได้อย่างไร โดย ดนัย เทียนพุฒ เรื่องของการฝึกอบรมและพัฒนาหรือการพัฒนาทรัพยากรบุคคลนั้น มักจะมีปัญหาอยู่ว่าทำอย่างไร....การฝึกอบรมจึงจะประสบความสำเร็จได้ ผู้เขียนมีความเชื่อว่า ในเรื่องการพัฒนาคนแล้ว ถ้าผู้บริหารหรือบริษัทเห็นถึงคุณค่าของทรัพยากรบุคคลก็จะทุ่มเทและให้งบประมาณสนับสนุนในเรื่องนี้อย่างเต็มที่ไม่ใช่แต่เพียงพูดหรือให้เป็นนโยบายแต่ไม่ปฏิบัติ การฝึกอบรมและพัฒนาจะประสบความสำเร็จได้หรือไม่นั้น คิดว่าน่าจะขึ้นอยู่กับความรับผิดชอบของผู้ที่เกี่ยวข้อง 4 ฝ่ายด้วยกันคือ ผู้เข้าอบรม องค์การ หน่วยงานที่รับผิดชอบด้านฝึกอบรมและผู้บังคับบัญชาของผู้เข้าอบรม และผู้รับผิดชอบทั้ง 4 ฝ่ายนี้จะทำให้สำเร็จได้ดังนี้ ผู้เข้าอบรม ขอทำความเข้าใจก่อนว่า ผู้เข้าอบรม จะมีบทบาทอยู่ 3 ระยะของการฝึกอบรมด้วยกัน คือ ระยะก่อนการฝึกอบรม ผู้เข้าอบรมจะมีบทบาทท่าที ความรู้สึกต้องการฝึกอบรมต่าง ๆ กัน คือ บางคนมีความเข้าใจ มีทัศนคติที่ดีและต้องการเข้ารับการฝึกอบรมอย่างจริงจัง แต่บางคนไม่เข้าใจ ขาดความพร้อมและรู้สึกต่อต้านการฝึกอบรมเพราะไม่ทราบจุดมุ่งหมายและผลที่จะได้รับ ดังนั้น ความคิด ความรู้สึกและความคาดหวังต่าง ๆ ที่มีอยู่ก่อนฝึกอบรมจะติดกับความนึกคิดเข้าไปในการฝึกอบรมด้วย ฉะนั้นหากผู้เข้าอบรมมีความคิดที่ดีและเข้าใจการฝึกอบรมมาก่อน โอกาสที่จะประสบความสำเร็จจะมีมากกว่าผู้ที่รู้สึกต่อต้านการฝึกอบรม แต่บางครั้งก็จะมีผู้เข้าอบรมที่หวังจะได้ไปเที่ยว นอนโรงแรมดี ๆ ฯลฯ พวกนี้ก็มีส่วนทำให้การฝึกอบรมล้มเหลวได้ แต่ก้ยังดีกว่าพวกที่มีทัศนคติที่ไม่ดีต่อการฝึกอบรม ระยะก่อนการฝึกอบรมนี้สำคัญทีเดียว แต่ที่สำคัญต่อมาในระยะที่ 2 ก็คือ - ระยะระหว่างการฝึกอบรม การเรียนรู้ของผู้เข้าอบรม ถือเป็นเรื่องสำคัญที่สุด การเรียนรู้เป็นกระบวนการภายในตัวของผู้เข้าอบรม วิทยากรเป็นผู้กระตุ้นและส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ โดยใช้เทคนิคการฝึกอบรมและโสตทัศนูปกรณ์ต่าง ๆ แต่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้เข้าอบรมต้องใช้เวลานาน ซึ่งขึ้นอยู่กับภาวะแวดล้อมและความพร้อมของผู้เข้าอบรม - ระยะภายหลังการฝึกอบรม ในระยะนี้ผู้ผ่านการฝึกอบรมจะนำความรู้ที่ได้รับจากการฝึกอบรม มาปรับใช้ในการทำงาน ความสำเร็จในเรื่องนี้นอกจากจะเกิดจากความตั้งใจจริงของผู้ผ่านการฝึกอบรมแล้ว ยังมีองค์ประกอบที่สำคัญอีกอย่างเช่น การสนับสนุนของหัวหน้าเพื่อนร่วมงาน นโยบายและเครื่องมือเครื่องใช้ต่าง ๆ ในการทำงาน เป็นต้น องค์การ ฝ่ายต่อไปที่เกี่ยวข้องกับความสำเร็จของการฝึกอบรมและพัฒนานั้นก็คือ องค์การ องค์การ/บริษัท หรือกล่าวง่าย ๆ ก็คือ ผู้บริหารระดับขององค์การแห่งนั้น ๆ นั่นเอง ผู้บริหารระดับสูงสุดขององค์การ จะทำให้การฝึกอบรมและพัฒนาประสบความสำเร็จได้โดย - มีวิสัยทัศน์ขององค์การที่ชัดเจน เพื่อให้ทุกฝ่ายงานที่เกี่ยวข้อง สามารถเปลี่ยนแปลไปสู่กลยุทธ์ เป้าหมาย และดัชนีวัดผลงานที่เป็นรูปธรรม
- กำหนดนโยบายในด้านการพัฒนาทรัพยากรบุคคลที่สอดคล้องหรือรองรับกับวิสัยทัศน์ขององค์การ
- สนับสนุนทั้งด้านงบประมาณ ความสนใจและให้คุณค่าในด้านการพัฒนาทรัพยากรบุคคล
- วัดผลความสำเร็จเชิงธุรกิจด้วยปัจจัยด้านการเรียนรู้หรือการเติบโตขององค์การ ภายใต้ปรัชญา “องค์กรอัจฉริยะ” (Learning Organization)
- ระบบรางวัลและจูงใจ ให้คุณค่าของทีมงานที่สร้างการเรียนรู้มากกว่าความพยายามสร้างผลงานของแต่ละบุคคล
ทั้งหมดนี้หากผู้บริหารระดับสูงสุดขององค์การดำเนินการอย่างจริงจัง จะกลายเป็นส่วนหนึ่งของแนวทางที่แสดงให้เห็นว่า องค์การเห็นความสำคัญและจริงจังในเรื่องการฝึกอบรมและพัฒนา “คน” สูงมาก ผู้บังคับบัญชาของผู้เข้าอบรม หลายคนอาจสงสัยว่า ทำไมจึงบอกว่าผู้บังคับบัญชามีความสำคัญ และในความเป็นจริงก็มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปจากฝ่ายอื่นที่กล่าวมา (ผู้เข้าอบรม, องค์การ) การฝึกอบรมและพัฒนาทุกครั้ง ผู้บังคับบัญชาทุกระดับมีอิทธิพลต่อการเรียนรู้ของผู้เข้าอบรมเป็นอย่างมากคือ 1. ก่อนการฝึกอบรมจะต้องชี้แจงให้ผู้ที่จะเข้าอบรมเห็นว่าการฝึกอบรมครั้งนี้ มีความสำคัญอย่างไร องค์การหรือหน่วยงานมีความมุ่งหวังอย่างไร มีเหตุผลอย่างไรบ้างในการคัดเลือกตัวบุคคลที่ให้เข้ารับการฝึกอบรม 2. ในระหว่างการฝึกอบรมก็ต้องให้การเอาใจใส่ตามสมควร เช่นรับทราบความก้าวหน้าในการฝึกอบรม ให้ความอนุเคราะห์ในเรื่องส่วนตัวตามที่สามารถแจ้งความเคลื่อนไหวในองค์การและผู้ร่วมงานให้ทราบ (กรณีไปอบรมนอกสถานที่นาน ๆ) และไม่ควรมอบภาระใด ๆ ให้ในระหว่างการฝึกอบรม เป็นต้น 3. สำหรับระยะหลังการฝึกอบรม จะต้องเปิดโอกาสให้แสดงความคิดเห็นหรือทดลองใช้ความรู้ที่ได้จากการฝึกอบรมปรับปรุงงาน โดยอำนวยความสะดวกและให้ความร่วมมือในด้านต่าง ๆ ตามสมควร และไม่กระทำการใด ๆ ให้ผุ้ผ่านการฝึกอบรมเสียขวัญและกำลังใจในการนำความรู้จากการฝึกอบรมมาใช้ ฉะนั้นจะเห็นว่าผู้บังคับบัญชาจะมีความสำคัญเอามาก ๆ ต่อผลสำเร็จของการฝึกอบรม และเป็นเรื่องที่นักฝึกอบรมวิตกกันมากกว่าจะทำให้การลงทุนในการฝึกอบรมและพัฒนาอาจเกิดการสูญเสียได้ ถ้าหากไม่ได้รับการสนับสนุนจากผู้บังคับบัญชาของผู้เข้ารับการอบรม ทั้งนี้เนื่องจากช่วงนี้จะเป็นระยะที่แสดงประสิทธิภาพของการฝึกอบรมและพัฒนา หน่วยงานด้านพัฒนาคน หน่วยงานที่รับผิดชอบด้านฝึกอบรม หรือ ฝ่ายฝึกอบรมนั้น ก็มีความสำคัญต่อผลสำเร็จของการฝึกอบรมและพัฒนาเป็นฝ่ายสุดท้าย และคงอธิบายเป็นระยะ ๆ ได้เหมือนกัน คือ 1. ก่อนการอบรม จะเป็นเรื่องวิชาการและอำนวยการเสียส่วนมาก เช่น การหาความจำเป็นในการฝึกอบรม การเขียนโครงการ การกำหนดหลักสูตร คุณสมบัติของผู้เข้าอบรม การเลือกวิทยากร ตลอดจนการติดต่อสถานที่ แจ้งรายชื่อผู้เข้าร่วมอบรม เป็นต้น 2. ในระหว่างการอบรม วิทยากรมีความสำคัญมาก พฤติกรรมต่าง ๆ ของวิทยากรจะต้องสอดคล้องกับเนื้อหาสาระที่สอน มีสื่อการอบรมและอุปกรณ์ช่วยในการฝึกอบรม จัดให้มีบรรยากาศที่เอื้ออำนวยต่อการบรรลุวัตถุประสงค์ของการอบรมรวมทั้งการส่งเสริมให้มีกิจกรรมกลุ่มเพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดีในระหว่างผู้เข้าอบรมตลอดจนสัมพันธภาพกับวิทยากรและผู้ดำเนินการฝึกอบรม 3. ในระยะเวลาภายหลังการฝึกอบรม เป็นหน้าที่ของหน่วยงานฝึกอบรมในการที่จะติดตามและประเมินผลการฝึกอบรมเพื่อทราบผลที่เกิดขึ้นและนำข้อมูลมาใช้ในการปรับปรุงพัฒนาหลักสูตรและดำเนินงานต่าง ๆ รวมทั้งการให้คำปรึกษา แนะนำแก่องค์การ หรือผู้บังคับบัญชาในการสร้างบรรยากาศสนับสนุนการปรับปรุงงานของผู้ผ่านการฝึกอบรม โดยสรุปแล้วจะเห็นว่าฝ่ายต่าง ๆ ทั้ง 4 ฝ่ายที่เกี่ยวข้องต่อความสำเร็จนั้นจะต้อง - องค์การจะต้องเห็นความสำคัญและให้การสนับสนุน - ผู้บังคับบัญชาของผู้ผ่านการอบรม ต้องเป็นพี่เลี่ยงคอยแนะนำไม่เบื่อที่จะสอนหรือพูดง่ายๆ ว่าเป็น “ครู” นั่นเอง - หน่วยงานด้านฝึกอบรมต้องจัดให้ดี หาวิทยากรดี และคัดคนดีเข้าอบรม - ผู้เข้ารับการอบรมต้องมีทัศนคติที่ดี ตั้งใจดี
|