หลักการ กำหนดโครงการฝึกอบรม


1,130 ผู้ชม


หลักการ กำหนดโครงการฝึกอบรม




    
เมื่อมีหลักสูตรการฝึกอบรมที่ครบถ้วนสมบูรณ์แล้ว เพื่อให้การบริหารฝึกอบรมสามารถดำเนินไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ เราจำเป็นต้องเขียนโครงการฝึกอบรมขึ้น เพื่อประโยชน์ดังต่อไปนี้
                  1. เพื่อนำเสนอผู้บังคับบัญชาระดับสูง เพื่อขออนุมัติให้ดำเนินการตามโครงการเนื่องจากการดำเนินการฝึกอบรมนั้น จะต้องกระทบหรือเกี่ยวข้องกับบุคคลและหน่วยงานต่าง ๆ ซึ่งอยู่นอกเหนือจากการควบคุมบังคับบัญชาของหน่วยงานที่จัดการฝึกอบรม ดังนั้น จึงจำเป็นที่จะต้องให้ผู้บังคับบัญชาในระดับสูงให้ความเห็นชอบเสียก่อน
                  2. เพื่อเป็นการอนุมัติงบประมาณสำหรับการฝึกอบรมจากผู้บังคับบัญชาระดับสูงในการจัดและดำเนินโครงการ
                  3. เพื่อใช้แจ้งให้บุคคลและหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทราบถึงรายละเอียดต่าง ๆ อัน
จะเป็นประโยชน์ในการร่วมมือประสานงานกันต่อไป
                  4. เพื่อใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ผู้บริหารงานฝึกอบรม
ความหมายของโครงการฝึกอบรม
                  ผู้เขียนเข้าใจว่า คำว่า "โครงการ" เป็นคำศัพท์ที่เดิมอยู่ในวิชาการเกี่ยวกับการวางแผน ซึ่งหมายถึง ขั้นตอนที่ลงสู่ รายละเอียด มากที่สุดในกระบวนการวางแผน ส่วนคำว่า"โครงการฝึกอบรม" นั้น ในคู่มือการเขียนโครงการฝึกอบรม /สัมมนาของ สถาบันพัฒนาข้าราชการพลเรือน สำนักงาน ก.พ. ให้คำจำกัดความว่า คือ "กิจกรรมที่ระบุรายละเอียดถึง การปฏิบัติงาน อย่างมีขั้นตอน ของการดำเนินงานต่างๆ (ในที่นี้ก็คือ การจัดฝึกอบรม - ผู้เขียน) ตลอดจนการใช้ทรัพยากรที่ประสานสอดคล้องกัน เพื่อให้บรรลุวัตถุ ประสงค์และเป้าหมายที่ต้องการ ภายในระยะเวลาที่กำหนด" หรือ "เป็นแผนงานของการปฏิบัติงาน (เพื่อจัดการฝึกอบรม - ผู้เขียน) ให้เป็นไปตามขั้นตอนและวัตถุประสงค์ที่วางไว้" [1]
รูปแบบ/โครงสร้างในการเขียนโครงการฝึกอบรม
                  จากข้อเขียนต่าง ๆ ของนักวิชาการด้านการบริหารงานฝึกอบรม สรุปได้ว่า การเขียนโครงการฝึกอบรม ควรจะ ประกอบด้วยหัวข้อดังต่อไปนี้
1. ชื่อโครงการ
                  โดยทั่วไป ชื่อโครงการมีองค์ประกอบ 2 ส่วน คือ
                  ส่วนที่ 1 เป็น ประเภทของโครงการ โดยทั่วไปมักใช้ชื่อโครงการ 3 ประเภท คือ
                  1. โครงการฝึกอบรม มักจะหมายถึง โครงการที่เน้นถึงการจัดประสบการณ์ให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมได้มีความรู้ ความเข้าใจ ทักษะ และทัศนคติในสิ่งที่บกพร่องเป็นปัญหา หรือเพื่อเพิ่มพูนประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานที่จำเป็น โดยเทคนิค วิธีการฝึกอบรม อาจมีหลายชนิดประกอบกัน แต่มักจะเน้นการบรรยายเป็นส่วนประกอบสำคัญ
                  2. โครงการสัมมนา มักจะหมายถึง โครงการที่มีลักษณะเป็นการประชุมโดยเชิญผู้เชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ในงาน หรือเรื่องที่กำหนด มาอภิปรายแลกเปลี่ยนความรู้ ความคิดเห็น และประสบการณ์ซึ่งกันและกัน เทคนิควิธีการ ที่ใช้มักจะเป็นเทคนิค ที่เน้นกลุ่มผู้เข้าอบรมเป็น ศูนย์กลาง
                  3. โครงการประชุมเชิงปฏิบัติการ หมายถึง การฝึกอบรมที่เน้นให้ผู้เข้าอบรมเกิดความสามารถหรือทักษะในการปฏิบัติงาน ซึ่งเป็นวัตถุประสงค์ของการฝึกอบรม โดยเน้นการฝึกปฏิบัติของผู้เข้าอบรมเป็นสำคัญ
                  ส่วนที่ 2 เป็นลักษณะหรือความเกี่ยวข้องของโครงการ ว่าเกี่ยวกับเรื่องอะไร หรือเกี่ยวกับใคร ส่วนใหญ่มักจะกำหนด ชื่อโครงการใน 3 ลักษณะ คือ
                  1. กำหนดตามตำแหน่งงานของผู้เข้ารับการฝึกอบรม เช่น การฝึกอบรมเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย การฝึกอบรม เจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการยุคใหม่ การฝึกอบรมนักบริหารงานมหาวิทยาลัย การฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ธุรการ ฯลฯ
                  2. กำหนดตามลักษณะของเนื้อหาวิชาหลักของหลักสูตร เช่น การฝึกอบรมเทคนิคการนำเสนองานอย่างมีประสิทธิภาพ การฝึกอบรมหลักสูตรการบริหารงานฝึกอบรม การประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่อง การวางแผนการปฏิบัติงาน การฝึกอบรมหลักสูตร การใช้งานโปรแกรม Microsoft Excel for Windows การประชุมเชิงปฏิบัติการ เพื่อรื้อปรับกระบวนการทำงาน ในสำนักงาน อธิการบดี ฯลฯ
                  3. กำหนดตามลักษณะของเนื้อหาวิชาหลักของหลักสูตรและตำแหน่งของผู้เข้าอบรมประกอบกัน เช่น การฝึกอบรม ปฐมนิเทศ ข้าราชการฝ่ายบริการทางวิชาการและธุรการ การฝึกอบรมการพัฒนาเจ้าหน้าที่ระดับบริหาร การสัมมนาการบริหาร สำหรับ ผู้บังคับบัญชา การฝึกอบรมหลักสูตรสุขศึกษาสำหรับผู้ช่วยทันตแพทย์ ฯลฯ
2. หลักการและเหตุผล หรือ เหตุผลและความจำเป็น
                  กริช อัมโภชน์ ได้อธิบายถึงแนวการเขียนหลักการและเหตุผล ไว้พอสรุปได้ดังนี้
                  1) หลักการที่ควรเป็นหรือควรยึดถือปฏิบัติ
                  2) สภาพหรือสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง (โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พฤติกรรมของผู้ที่ควรจะต้องมาเข้ารับการฝึกอบรม) ซึ่งเบี่ยงเบนไปจากหลักการที่ควรจะเป็น และเป็นสถานการณ์อันไม่พึงปรารถนา
                  3) ระบุถึงความเสียหายที่เกิดขึ้นจากความเบี่ยงเบนระหว่างหลักการกับสิ่งที่เกิดขึ้นจริงว่าเสียหายเพียงใด หรือมีความรุนแรงแค่ไหน หากปล่อยทิ้งไว้จะเสียหายมากน้อยอีกสักเท่าใด
                  4) ระบุว่าความเบี่ยงเบนจากหลักการหรือสภาพที่ควรจะเป็นหรือปัญหาตามข้อ 2) นั้นเป็นความจำเป็นในการฝึกอบรม อย่างไร และเพียงใด
                  5) สรุปว่า เพื่อที่จะแก้ไขปัญหาดังกล่าว จำเป็นที่จะต้องฝึกอบรมใคร ในเรื่องอะไร
                  ส่วนคู่มือการเขียนโครงการฝึกอบรม/สัมมนาของสถาบันพัฒนาข้าราชการพลเรือน สรุปถึงวิธีการเขียนหลักการ และเหตุผลว่า ควรจะเขียนดังนี้
                  1. เขียนในลักษณะบรรยายความ ไม่นิยมเขียนเป็นข้อ ๆ
                  2. จะต้องเขียนให้ชัดเจน อ่านเข้าใจง่าย และมีเหตุผลสนับสนุนเพียงพอ
                  3. ย่อหน้าแรก เป็นการบรรยายถึงเหตุผลและความจำเป็นในการจัดโครงการฝึกอบรมครั้งนี้ โดยบอกที่มา และความ สำคัญ ของโครงการฝึกอบรมนั้น ๆ
                  4. ย่อหน้าที่สอง เป็นการอธิบายถึงปัญหาข้อขัดข้อง หรือพฤติกรรมที่เบี่ยงเบนจากหลักการที่ควรจะเป็น ซึ่งทำให้เกิด ความ เสียหายในการปฏิบัติงาน (หรืออาจเขียนรวมไว้ในย่อหน้าที่ 1 ก็ได้)
                  5. ย่อหน้าสุดท้าย เป็นการสรุปว่าจากสภาพปัญหาที่เกิดขึ้น ผู้รับผิดชอบในการพัฒนาบุคคล จึงเห็นความจำเป็น ที่จะต้อง จัดโครงการฝึกอบรมขึ้นในเรื่องอะไร และสำหรับใคร เพื่อให้เกิดผลอย่างไร
                  แนวทางในการเขียนหลักการและเหตุผลดังกล่าวข้างต้น โดยสรุปแล้วมีแนวการเขียนคล้ายคลึงกัน ดังตัวอย่าง การเขียนหลักการและเหตุผลต่อไปนี้
 

ตัวอย่าง การเขียนหลักการและเหตุผล

หลักการและเหตุผล
                  ในปัจจุบันการฝึกอบรมเป็นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่สำคัญวิธีหนึ่ง ซึ่งมุ่งเน้นการพัฒนาขีดความ สามารถในการปฏิบัติงาน การที่จะทราบได้ว่า เมื่อจัดการฝึกอบรมไปแล้วจะคุ้มค่า บรรลุวัตถุประสงค์ มีปัญหาอุปสรรค อะไรบ้าง เพื่อนำมาเป็นแนวทางในการปรับปรุงแก้ไข หรือพัฒนาคุณภาพของการฝึกอบรมได้นั้นขึ้น อยู่กับการประเมินผล การฝึกอบรมที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ
                  จากนโยบายพัฒนาข้าราชการและสภาวะการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน ทำให้หน่วยงาน ต่างๆมีการจัดฝึกอบรมเพื่อพัฒนาผู้ปฏิบัติงานของตนอย่างกว้างขวาง แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า การประเมินผล การฝึกอบรม ยังมีทำกันน้อยมาก ทั้งนี้ เนื่องจากเหตุผลหลายประการ ซึ่งสาเหตุที่เด่นชัดที่สุดก็คือ การที่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน ด้านการฝึกอบรมส่วนใหญ่ยังมีข้อจำกัดด้านวิชาการและทักษะเกี่ยวกับการประเมินผลการฝึกอบรม
                  จากเหตุผลความจำเป็นดังกล่าว สถาบันพัฒนาข้าราชการพลเรือน สำนักงาน ก.พ. จึงได้จัดโครงการประชุมเชิง ปฏิบัติการเรื่อง เทคนิคการประเมินผลการฝึกอบรมให้แก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานด้านการฝึกอบรมของหน่วยงานต่างๆ ซึ่งรับผิดชอบงานประเมินผลการฝึกอบรมขึ้น
 
ที่มา โครงการประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง เทคนิคการประเมินผลการฝึกอบรม จัดโดย สถาบันพัฒนาข้าราชการพลเรือน สำนักงาน ก.พ.
                  แนวทางในการเขียนหลักการและเหตุผล ทั้งสองแนวทางดังกล่าวข้างต้น นับว่าเป็นการเขียนที่สมบูรณ์ครบถ้วนดี อย่างไรก็ตาม หากผู้รับผิดชอบจัดการฝึกอบรมต้องการเขียนแบบหลักการและเหตุผลแบบสั้น ก็อาจเขียนในแนวนี้ได้ คือ
                  1. เขียนถึงความเป็นมาหรือความสำคัญของเรื่องที่ประสงค์จะจัดโครงการฝึกอบรม และอาจรวมไปถึงสภาพการณ์ หรือหลักการที่ควรจะเป็นในเรื่องดังกล่าว
                  2. เขียนถึงสภาพปัญหาหรือความเบี่ยงเบนที่เกิดขึ้นจริงในเรื่องนั้นๆ โดยอาจระบุถึงความรุนแรงของปัญหา และความ เสียหาย ที่เกิดขึ้นด้วยหรือไม่ก็ได้ หรือ เขียนถึงแนวโน้มของปัญหาที่อาจเกิดขึ้น หากไม่มีการเตรียมป้องกัน ไม่ให้เกิดขึ้นด้วย การ พัฒนาบุคลากรกลุ่มดังกล่าวด้วยการฝึกอบรมที่เห็นควรจะจัดให้มีขึ้น
                  3. สรุปว่า เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหา หรือ เพื่อเป็นการป้องกันปัญหาดังกล่าว จึงจำเป็นต้องจัดฝึกอบรมขึ้นสำหรับใคร ในเรื่องอะไร
                  ทั้งนี้ ในการเขียนไม่จำเป็นต้องแบ่งแยกแต่ละขั้นตอนออกเป็นย่อหน้า อาจเขียนรวมกันเป็นเพียงย่อหน้าเดียว สองหรือ สามย่อหน้าก็ได้ แล้วแต่เนื้อความว่ายาวมากน้อยเพียงใด ดังตัวอย่างการเขียนหลักการและเหตุผลข้างล่างนี้
 

ตัวอย่าง การเขียนหลักการและเหตุผลอย่างง่าย

หลักการและเหตุผล
                  เนื่องจากในปัจจุบันซึ่งสภาพเศรษฐกิจ สังคม และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ระบบและ ลักษณะการบริหารงานของหน่วยงานต่างๆในมหาวิทยาลัยจำเป็น ต้องมีการพัฒนาและเปลี่ยนแปลง ไปอย่างต่อเนื่องไม่หยุดยั้ง บุคลากรสำคัญกลุ่มหนึ่งในหน่วยงานระดับคณะ สำนัก สถาบัน ซึ่งเป็นทั้งผู้มีส่วนร่วม ในการกำหนดนโยบายในการบริหาร และในขณะเดียวกันต้องทำหน้าที่เป็นปรึกษาในการวางแผน เพื่อนำนโยบาย มาสู่การปฏิบัติ และควบคุมการบริหาร ตลอดจนการปฏิบัติงานให้เป็นไปตามนโยบาย นั่นคือ ผู้บริหารระดับรองคณบดี รองผู้อำนวยการสำนัก/สถาบัน ซึ่งล้วนแต่เป็นนักวิชาการผู้ทรงคุณวุฒิ และมีความสามารถในเชิงวิชาการ แต่ต้องมาทำ หน้าที่ที่แตกต่างออกไป ผู้บริหารระดับนี้จึงจัดเป็นกลุ่มผู้บริหารซึ่งมหาวิทยาลัยให้ความสำคัญ และประสงค์จะเสริม สร้างความรู้ความเข้าใจและพัฒนาบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบในด้านการบริหาร ให้เหมาะสม และสอดคล้อง กับความจำเป็นในปัจจุบันและอนาคต มหาวิทยาลัยจึงมีนโยบายเห็นสมควรให้ งานฝึกอบรม จัดการฝึกอบรมหลักสูตร นักบริหารงานมหาวิทยาลัย รุ่นที่ 1 ขึ้น
 
ที่มา : โครงการฝึกอบรม หลักสูตร นักบริหารงานมหาวิทยาลัย รุ่นที่ 1 จัดโดย งานฝึกอบรมกองการเจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัย
ธรรมศาสตร์
3. วัตถุประสงค์ของโครงการฝึกอบรม [2]
               นักวิชาการด้านการฝึกอบรมกล่าวว่า วัตถุประสงค์ของการฝึกอบรมที่ดีควรเป็นวัตถุประสงค์เชิงพฤติกรรม กล่าวคือ ระบุไว้ล่วงหน้าว่า เมื่อผ่านการฝึกอบรมแล้ว ผู้เข้าอบรมควรจะมีพฤติกรรมอย่างไรบ้าง โดยเป็นพฤติกรรม ซึ่งสามารถสังเกตได้และ วัดได้ เพื่อจะไม่ก่อให้เกิดปัญหาต่อการประเมินผลและติดตามผล
               ดังนั้น เมื่อจะเขียนวัตถุประสงค์ของโครงการฝึกอบรม เราอาจยกวัตถุประสงค์ในการฝึกอบรม ซึ่งได้กำหนดขึ้น โดยการเขียน ในขั้นตอนของการกำหนดหลักสูตร มาทบทวนว่ามีองค์ประกอบของวัตถุประสงค์ที่ดี ดังนี้ หรือไม่
               1. สามารถเข้าใจง่าย ชัดเจน ไม่คลุมเครือ
               2. เฉพาะเจาะจง ไม่กว้างจนเกินไป - มิฉะนั้นจะทำได้ยากและวัดยาก
               3. ระบุถึงผลลัพธ์ที่ต้องการ ว่าสิ่งที่ต้องการให้เกิดขึ้นคืออะไร
               4. จะต้องสามารถวัดได้ ทั้งในแง่ของปริมาณและคุณภาพ
               5. มีความเป็นไปได้ ไม่เลื่อนลอย หรือทำได้ยากเกินความเป็นจริง
               นอกจากนั้น วรภา ชัยเลิศวนิชกุล [3] ได้เสนอแนะถึงคำกริยาที่ควรหลีกเลี่ยง ในการเขียนวัตถุประสงค์เชิงพฤติกรรม เนื่องจากทำให้วัดและประเมินการฝึกอบรมได้ยาก ได้แก่ คำว่าเพื่อให้...
               - เข้าใจถึง
               - ทราบถึง
               - คุ้นเคยกัน
               - รู้ซึ้งถึง
               - สนใจใน
               - เคยชินกับ
               - ยอมรับใน
               - เชื่อถือใน
               - สำนึกใน
               - ซาบซึ้งใน
               ฯลฯ
               ส่วนคำที่อาจใช้ในการเขียนวัตถุประสงค์ของโครงการ แล้วทำให้สามารถวัดและประเมินผลการฝึกอบรมได้ ได้แก่ คำว่าเพื่อให้
               - แสดง
               - กระทำ
               - ดำเนินการ
               - วัด
               - เลือก
               - แก้ไข
               - สาธิต
               - ตัดสินใจ
               - วิเคราะห์
               - วางแผน
               - มอบหมาย
               - จำแนก
               - จัดลำดับ
               - ระบุ
               - อธิบาย
               - แก้ปัญหา
               - ปรับปรุง
                พัฒนา
               - ตรวจสอบ

ดังตัวอย่างการเขียนวัตถุประสงค์ของโครงการฝึกอบรม ดังต่อไปนี้

วัตถุประสงค์
เพื่อให้ผู้เข้าอบรมสามารถที่จะ
1. อธิบายแนวคิด หลักการ ขั้นตอน วิธีการ เทคนิค และกระบวนการฝึกอบรมต่างๆ ได้อย่างถูกต้อง
2. ระบุบทบาท และหน้าที่ความรับผิดชอบของเจ้าหน้าที่ฝึกอบรมได้อย่างเหมาะสม
3. วางแผนดำเนินการฝึกอบรม และนำไปปรับใช้ในการปฏิบัติงานได้อย่างถูกต้องตามหลักเกณฑ์
4. แลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับงานฝึกอบรม ตลอดจนสร้างความร่วมมือและประสานงาน ด้านการฝึกอบรมระหว่างกัน

ที่มา โครงการฝึกอบรมความรู้พื้นฐานด้านการฝึกอบรม จัดโดย สถาบันพัฒนาข้าราชการพลเรือน สำนักงาน ก.พ.

4. คุณสมบัติของผู้เข้ารับการฝึกอบรม
               เป็นการระบุว่า ผู้เข้ารับการฝึกอบรม/ผู้เข้าร่วมสัมมนา/ผู้เข้าร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการนั้นมีคุณสมบัติอย่างไร ดังนี้
              4.1 เป็นบุคลากรฝ่ายใด หรือดำรงตำแหน่งใด ระดับใด และสังกัดหน่วยงานใดบ้าง
              4.2 ระบุระดับความรู้พื้นฐาน ว่าจะต้องได้ผ่านการฝึกอบรมใดมาก่อน หรือต้องมีความรู้พื้นฐาน หรือประสบการณ์ใด อยู่แล้วบ้าง หรือ ในบางหลักสูตรอาจจำเป็นต้องระบุวุฒิการศึกษาก็ได้
              4.3 ต้องเป็นผู้ที่ปฏิบัติงานเกี่ยวกับด้านใดด้านหนึ่งโดยเฉพาะ หรือกำลังจะได้รับมอบหมายงานใด แล้วแต่ความจำเป็น ของแต่ละโครงการ
              4.4 อาจระบุคุณสมบัติเกี่ยวกับความสามารถในการมาเข้ารับการฝึกอบรมได้ตลอดหลักสูตร หรือเกี่ยวกับการยินยอมอนุญาต ของผู้บังคับบัญชาด้วยก็ได้ (ในกรณี หลักสูตรฝึกอบรมระยะยาว)
              4.5 อาจระบุว่าเป็นผู้เข้ารับการฝึกอบรมจากหน่วยงานใดบ้าง จำนวนกี่คน คิดเป็นจำนวนรวมเท่าไร และหากจะมีการจัดแบ่ง เป็นรุ่น คาดว่าจะมีกี่รุ่น และรุ่นละเท่าใดด้วยก็ได้ดังตัวอย่างต่อไปนี้
 

ตัวอย่างที่ 1 : การระบุคุณสมบัติของผู้เข้ารับการอบรม

คุณสมบัติของผู้เข้ารับการฝึกอบรม
1) เป็นข้าราชการ หรือ พนักงาน ฝ่ายบริการทางวิชาการและธุรการ จากหน่วยงานต่างๆของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
2) ดำรงตำแหน่งระดับ 6 ขึ้นไป หรือทำหน้าที่บริหารงานระดับหัวหน้างาน
3) มีประสบการณ์การทำงานไม่น้อยกว่า 5 ปี
4) หน่วยงานต้นสังกัดส่งเข้ารับการฝึกอบรม และให้การรับรองว่าสามารถเข้ารับการฝึกอบรม ได้อย่างสม่ำเสมอตลอดหลักสูตร

ที่มา : โครงการฝึกอบรม การพัฒนาเจ้าหน้าที่ระดับบริหาร จัดโดย งานฝึกอบรมกองการเจ้าหน้าที่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

และ ตัวอย่างที่ 2: การระบุคุณสมบัติของผู้เข้ารับการฝึกอบรมแบบระบุจำนวน

คุณสมบัติของผู้เข้ารับการฝึกอบรม
1) หัวหน้าสำนักงานอธิการบดี                                                                    จำนวน    1 คน
2) ผู้อำนวยการกองต่างๆ และหัวหน้างานตรวจสอบภายใน                           จำนวน    8 คน
3) หัวหน้างานต่างๆ ในสำนักงานอธิการบดี กองละ 3 คน                              จำนวน 21 คน
                                                                  รวมจำนวน                                           30 คน

ที่มา : โครงการประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่องการพัฒนาและปรับปรุงโครงสร้างสำนักงานอธิการบดี มธ.

5. หลักสูตรฝึกอบรม
                           เจ้าหน้าที่ผู้เขียนโครงการฝึกอบรม จะต้องนำหลักสูตรและรายละเอียดหัวข้อวิชาที่ได้รับการสร้างหรือพัฒนา ไว้แล้วตามขั้นตอนในบทที่ 4 มาบรรจุลงในโครงการฝึกอบรม โดยมีแนวทาง ดังนี้
                           5.1 ระบุหลักสูตรฝึกอบรมและหัวข้อวิชาทั้งหมดที่จะทำการฝึกอบรม โดยเรียงตามลำดับหมวดวิชาและหัวข้อวิชา ที่อยู่ในแต่ละหมวด (ถ้าเป็นหลักสูตรฝึกอบรมระยะยาว และมีหลายหมวด) พร้อมทั้งระบุจำนวนชั่วโมงที่กำหนดไว้ด้วย ดังตัวอย่าง ต่อไปนี้
1. หมวดกลยุทธ์การบริหาร
1.1 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ : บทบาทในสังคมไทย                                                                    1.5     ชั่วโมง
1.2 จากปรัชญาอุดมศึกษาสู่การบริหารงานมหาวิทยาลัย : ปัจจุบันและอนาคต                                  1.5     ชั่วโมง
1.3 การบริหารวิชาการสมัยใหม่ : ข้อคิดการผลิตบัณฑิต วิจัย และ บริการสังคม                              1.5     ชั่วโมง
1.4 คุณธรรมและจรรยาบรรณของผู้บริหาร                                                                                  1.5     ชั่วโมง
1.5 แนวคิดการบริหารสมัยใหม่ : มุมมองจากภาครัฐ                                                                     1.5     ชั่วโมง
1.6 สู่ความเป็นเลิศในการบริหารงานมหาวิทยาลัย : ทัศนะของภาคเอกชน                                      1.5     ชั่วโมง
1.7 การวางแผนกลยุทธ์ในการบริหารอุดมศึกษา                                                                            3        ชั่วโมง
1.8 การใช้งบประมาณเพื่อการบริหาร                                                                                           3        ชั่วโมง
1.9 การวางแผนและการบริหารงบประมาณเพื่อพัฒนาคณะ สำนัก สถาบัน                                      3        ชั่วโมง
1.10 การบริหารงานบุคคลในมหาวิทยาลัย                                                                                   3        ชั่วโมง
1.11 เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับวินัยข้าราชการ                                                                                           1.5     ชั่วโมง
1.12 ผู้นำกับการบริหารสมัยใหม่                                                                                                 3        ชั่วโมง
1.13 การบริหารการเงินในมหาวิทยาลัย                                                                                       1.5     ชั่วโมง
1.14 ระเบียบและแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการเงินของมหาวิทยาลัย                                                        1.5     ชั่วโมง
1.15 ทัศนะและประสบการณ์ของผู้บริหาร                                                                                   1.5     ชั่วโมง
                                                                   รวม                                                                      30    ชั่วโมง
 
2. หมวดเทคโนโลยีสารสนเทศสำหรับนักบริหาร
     2.1 ระบบคอมพิวเตอร์ของ มธ. และการวางแผนพัฒนาระบบ
คอมพิวเตอร์ของคณะ สำนัก สถาบัน                                                                               2 ชั่วโมง
     2.2 การใช้คอมพิวเตอร์ในงานบริหาร
            -โปรแกรมด้านการจัดการฐานข้อมูล
            -โปรแกรมสำหรับงานวิเคราะห์
            -โปรแกรมช่วยในการตัดสินใจ                                                                           4 ชั่วโมง
     2.3 การใช้คอมพิวเตอร์ในการติดต่อสื่อสารภายในและระหว่างองค์กร                        5 ชั่วโมง
     2.4 การใช้คอมพิวเตอร์เพื่อการบริหาร และการบริหารทรัพยากรสาร
            สนเทศ                                                                                                             2 ชั่วโมง
            รวม                                                                                                           13 ชั่วโมง

3. หมวดดูงาน

               เป็นการจัดให้ผู้ผ่านการอบรมในภาคทฤษฎี (สองหมวดแรก) ไปดูงานด้านการบริหารงานมหาวิทยาลัย ณ มหาวิทยาลัยในรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นเวลา ประมาณ 10 วัน โดยแบ่งผู้เข้าอบรมออกเป็น 2 รุ่นๆ ละไม่เกิน 20 คน
ที่มา : โครงการฝึกอบรม หลักสูตร นักบริหารงานมหาวิทยาลัย รุ่นที่ 1 จัดโดย งานฝึกอบรมกองการเจ้าหน้าที่ มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์
               5.2 ระบุรายละเอียดของหัวข้อวิชาทุกหัวข้อวิชา โดยเรียงตามลำดับตามที่ระบุไว้ในหลักสูตร โดยในรายละเอียดของ แต่ละหัวข้อวิชา จะประกอบด้วย ชื่อหัวข้อวิชา วัตถุประสงค์ แนวการอบรม/ประเด็นสำคัญ วิธีการ/เทคนิคฝึกอบรม และระยะเวลา ฝึกอบรม ดังตัวอย่างต่อไปนี้
 

ตัวอย่าง : รายละเอียดหัวข้อวิชา

ชื่อหัวข้อวิชา เทคนิคการระดมสมอง (Brainstorming)
วัตถุประสงค์ เพื่อให้ผู้เข้าอบรมสามารถใช้งานเทคนิคการระดมสมองในการประชุมกลุ่มได้อย่างมีประสิทธิภาพ
แนวการอบรม - ความหมายของการระดมสมอง
- จุดมุ่งหมายในการใช้เทคนิคการระดมสมอง
- ขั้นตอนในการระดมสมอง
- ข้อดีและข้อจำกัด
วิธีการฝึกอบรม การบรรยาย และสาธิตการใช้เทคนิคการระดมสมอง
ระยะเวลา 1.5 ชั่วโมง
               รายละเอียดหัวข้อวิชานี้ หากเป็นหลักสูตรระยะยาว และมีหัวข้อวิชาจำนวนมาก ผู้เขียนโครงการอาจนำไปแนบท้าย โครงการฝึกอบรมก็ได้ (โปรดดูตัวอย่างหลักสูตรและรายละเอียดหัวข้อวิชาเพิ่มเติมในภาคผนวก หมายเลข 5)
               หลักการสร้างหลักสูตร กำหนดหัวข้อวิชา และการจัดทำรายละเอียดหัวข้อวิชา อธิบายไว้อย่างละเอียดแล้วในบทที่ 4
6. ระยะเวลาในการฝึกอบรม
               การเขียนระยะเวลาฝึกอบรม หมายถึงการระบุว่า
               6.1 การฝึกอบรมจะใช้ระยะเวลาตั้งแต่วันที่ใด ถึงเมื่อใด ตรงกับวันอะไรบ้าง และรวมกันแล้วเป็นระยะเวลาเท่าใด จำนวนกี่วันทำการหรือกี่ชั่วโมง
               6.2 ระบุด้วยว่าวันฝึกอบรมตรงกับวันอะไรบ้าง( เช่น วันจันทร์-ศุกร์) ทั้งนี้ เนื่องจากการฝึกอบรมบางโครงการ อาจใช้เวลาฝึกอบรมเป็นระยะๆ ไม่ติดต่อกัน เช่น อาจเป็นทุกวันจันทร์และพุธ ของแต่ละสัปดาห์ โดยเริ่มตั้งแต่วันที่เท่านี้ จนถึงอีกวันที่หนึ่งก็ได้ ผู้เขียนโครงการจำเป็นต้องระบุให้ชัดเจนเพื่อป้องกันความเข้าใจผิดด้วยว่า รวมแล้วเป็นวันฝึกอบรมกี่วัน
               นอกจากนั้น การกำหนดวันที่จะฝึกอบรมเป็นสิ่งสำคัญ เพราะถ้าหากไม่รอบคอบพออาจก่อให้เกิดปัญหาว่าผู้ที่ควรจะมา เข้ารับการฝึกอบรมอาจไม่สามารถมาเข้ารับการฝึกอบรมได้ มีปัจจัยที่ควรคำนึงในการกำหนดวันฝึกอบรม คือ
               1) ลักษณะการปฏิบัติงาน ผู้จัดโครงการควรคำนึงถึงลักษณะการปฏิบัติงานของผู้เข้าอบรมว่าจะต้องมีช่วงใด ของปีหนึ่ง ๆ ที่สามารถจะมาเข้ารับการฝึกอบรมได้สะดวกกว่าช่วงเวลาอื่น ๆ หรือช่วงใดที่จะไม่สามารถเข้ารับการฝึกอบรมได้อย่างแน่นอน เช่น หากผู้ที่จะต้องเข้ารับการฝึกอบรมปฏิบัติงานด้านการเงินการบัญชี ก็จะต้องมีปริมาณงานมากและเร่งด่วน ในช่วงใกล้จะสิ้นปี งบประมาณและสิ้นปีการศึกษา ย่อมไม่สามารถมาเข้าฝึกอบรมในช่วงดังกล่าวได้
               2) เทศกาลและวันที่ควรยกเว้น ในช่วงใกล้เทศกาลที่สำคัญๆ เช่น ปีใหม่ สงกรานต์ และตรุษจีน เป็นช่วงที่ควร งดเว้น ไม่กำหนดวันฝึกอบรม เพราะเป็นช่วงที่ทุกคนจะสงวนไว้สำหรับการรื่นเริงหรือพักผ่อนกับครอบครัว แม้กระทั่งช่วงวัน ที่อยู่ระหว่าง วันหยุดประจำปีต่าง ๆ ก็ควรหลีกเลี่ยงการกำหนดวันฝึกอบรม เพราะผู้เข้าอบรมอาจถือว่าเป็นความจำเป็น และยอมขาดฝึกอบรม ในวันดังกล่าว ทำให้การเข้าฝึกอบรมไม่สมบูรณ์ไปอย่างน่าเสียดาย
               3) ระยะทางและการเดินทางของผู้เข้าอบรม หากผู้เข้าอบรมต้องเดินทางไป-กลับมายังสถานที่อบรมเป็นระยะทางไกล เช่น สถานที่ฝึกอบรมจัดอยู่ ณ มธ.ท่าพระจันทร์ โดยมีผู้เข้าอบรมส่วนหนึ่งปฏิบัติงาน ณ มธ.ศูนย์รังสิต การกำหนดระยะเวลา ฝึกอบรม เพียงครึ่งวันย่อมควรหลีกเลี่ยง เพราะจะทำให้ผู้เข้าอบรมเสียเวลาเดินทางไปปฏิบัติงานต่อได้เพียงไม่กี่ชั่วโมง การเดินทางมาเข้ารับ การฝึกอบรมย่อมจะไม่คุ้มค่า นอกจากนั้น การฝึกอบรมนอกสถานที่ย่อมจะต้องคำนึงถึง ระยะเวลาเดินทาง ไปยังสถานที่ฝึกอบรม ด้วยในทำนองเดียวกัน
 

ตัวอย่าง การเขียนระยะเวลาฝึกอบรม

ระยะเวลาฝึกอบรม
               หลักสูตรที่ 1 : ฝึกอบรมภาคทฤษฎีทุกวันจันทร์และพฤหัสบดี โดยเริ่มตั้งแต่วันจันทร์ ที่ 11 สิงหาคม - วันพฤหัสบดี ที่ 28 กันยายน 2543 เว้นวันหยุดราชการ ซึ่งตรงกับวันที่ 10, 17, 21, 24, 28, 31 สิงหาคม และ 4, 7, 11, 14, 18, 21, 25, 28 กันยายน 2543 รวม 13 วันทำการ
 
ที่มา : โครงการฝึกอบรม การพัฒนาเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการยุคใหม่ หลักสูตรที่ 1 จัดโดย
          งานฝึกอบรม กองการเจ้าหน้าที่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
7. สถานที่ในการฝึกอบรม
          เป็นการระบุว่า จะใช้สถานที่ใดบ้างเป็นสถานที่ฝึกอบรม หากมีหลายแห่งควรจะต้องระบุด้วยว่า วันเวลาใด ใช้สถานที่ใดในการฝึกอบรม ดังตัวอย่างต่อไปนี้
สถานที่ฝึกอบรม
               ภาคทฤษฎี (หมวดการบริหาร หมวดทั่วไป และหมวดมนุษยพฤติกรรม) ณ ห้องประชุมชั้น 4 อาคาร เอนกประสงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
               หมวดเทคโนโลยีสารสนเทศ ณ ห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ประยุกต์ อาคารคณะ ศิลปศาสตร์ ชั้น 2 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ และ ณ ห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ อาคารโดมบริหาร ชั้น 2 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิตหมวดสหวิทยาการ ณ สถานที่นอกมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ต่างจังหวัด)

ที่มา : โครงการฝึกอบรมการพัฒนาเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการยุคใหม่ จัดโดย งานฝึกอบรม มธ.

8. วิทยากรในการฝึกอบรม
               เป็นการระบุชื่อวิทยากร ตำแหน่ง และส่วนราชการที่สังกัด หากยังไม่ทราบแน่นอนว่าวิทยากรจะเป็นใคร หรือยังไม่สามารถ ระบุได้ อาจระบุเพียงว่าวิทยากรมาจากหน่วยงานหรือองค์กรใดเท่านั้นก็ได้ ดังตัวอย่างนี้
วิทยากร
วิทยากร และวิทยากรผู้ช่วยจากสถาบันประมวลข้อมูลเพื่อการศึกษาและการพัฒนา
โดยจะมีผู้ทำหน้าที่วิทยากรจำนวน 1 คน และวิทยากรผู้ช่วย จำนวน 3 คน ต่อชั่วโมง

               ที่มา : โครงการฝึกอบรม การวิเคราะห์ข้อมูลด้วยโปรแกรม Microsoft Excel for Windows จัดโดย

งานฝึกอบรม ร่วมกับ สถาบันประมวลข้อมูลเพื่อการศึกษาและการพัฒนา มธ.
9. เทคนิค/วิธีการฝึกอบรม
               เป็นการระบุถึงเทคนิคหรือวิธีการฝึกอบรมที่คาดว่าจะใช้ในการฝึกอบรมหัวข้อวิชาต่างๆ นำมารวบรวมไว้ภายใต้หัวข้อนี้ ซึ่งจะทำให้พอเข้าใจได้ว่า จะมีการใช้เทคนิคอะไรบ้างระหว่างการฝึกอบรม ดังตัวอย่างข้างล่างนี้
เทคนิคการฝึกอบรม การบรรยาย การอภิปราย การสัมมนากลุ่ม เกม และกิจกรรมกลุ่มสัมพันธ์ต่างๆ
               ที่มา : การประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อประมวลวิชา ในโครงการฝึกอบรมการพัฒนาเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการ
จัดโดย งานฝึกอบรม กองการเจ้าหน้าที่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
10. การประเมินผล
               เป็นการระบุว่า จะมีการประเมินผลหรือติดตามผลโครงการฝึกอบรมนั้น ๆ ด้วยวิธีใด โดยใช้เครื่องมืออะไร เช่น
               - ประเมินผลด้วยการให้ผู้เข้าอบรมทำแบบทดสอบก่อน-หลังการฝึกอบรม
               - สังเกตการณ์การมีส่วนร่วม และการเรียนรู้ของผู้เข้าอบรมระหว่างการฝึกอบรม
               - ให้ผู้เข้าอบรมกรอกแบบประเมินรายวิชา เพื่อประเมินเนื้อหา วิธีการฝึกอบรม และวิทยากรเมื่อเสร็จสิ้นการอบรมทุกวิชา
               - ให้ผู้เข้าอบรมกรอกแบบประเมินโครงการ เมื่อเสร็จสิ้นการอบรมแล้ว
               - ให้ผู้เข้าอบรมแบ่งกลุ่มทำแบบฝึกปฏิบัติ (Assignment) ในช่วงท้ายของการอบรม ฯลฯ
               นั่นคือ ในขั้นตอนของการเขียนโครงการฝึกอบรมนั้น เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบโครงการจะต้องมีการดำเนินการ ตามกระบวนการ ประเมินผลโครงการฝึกอบรมไปบ้างแล้ว คือ อย่างน้อยจะต้องได้มีการกำหนดแล้วว่า แผนการรวบรวมข้อมูล ในการประเมินผล และติดตามผลการฝึกอบรมจะเป็นอย่างไร จะดำเนินการประเมินผลด้วยวิธีการใด และใช้เครื่องมืออะไร จึงจะสามารถ นำมาระบุไว้ ในโครงการฝึกอบรมดังกล่าวข้างต้นได้ ดังตัวอย่างต่อไปนี้
การประเมินผล
1. ทำการทดสอบก่อน-หลังการอบรมด้วย "แบบทดสอบก่อน - หลังการอบรม"
2. ให้ผู้เข้าอบรมกรอกแบบประเมินโครงการอบรม และประเมินผลการอบรมด้วยวาจาหลังจากสิ้นสุดการอบรมแล้ว
3. เจ้าหน้าที่สังเกตการณ์การฝึกอบรม เพื่อประเมินการเรียนรู้และการมีส่วนร่วมของผู้เข้าอบรม
               ที่มา : โครงการฝึกอบรมปฐมนิเทศบุคลากรฝ่ายบริการทางวิชาการและธุรการ จัดโดย งานฝึกอบรม กองการเจ้าหน้าที่
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
11. การรับรองผลการฝึกอบรม/การผ่านการฝึกอบรม
               เป็นการระบุถึงเงื่อนไขในการที่จะรับรองว่าผู้เข้าอบรมแต่ละรายได้ผ่านการฝึกอบรมหรือไม่ ซึ่งมักจะแบ่งออกเป็นเงื่อนไข เกี่ยวกับ
               1. ระยะเวลาการเข้ารับการฝึกอบรม และ
               2. การผ่านการทดสอบ/การส่งผลงาน/ผลการฝึกปฏิบัติตามที่ได้รับมอบหมาย หรือดังตัวอย่างข้างล่างนี้
การผ่านการฝึกอบรม :
               ผู้เข้าอบรมที่มีระยะเวลาเข้าอบรมไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 และได้ส่งผลงานการฝึกปฏิบัติ (Assignment) ตามที่วิทยากรกำหนด จึงจะได้รับการรับรองการผ่านการฝึกอบรม จากกองการเจ้าหน้าที่ มธ.
               ที่มา : โครงการฝึกอบรม การใช้โปรแกรม Microsoft Excel for Windows จัดโดย งานฝึกอบรมกองการเจ้าหน้าที่
ร่วมกับ สถาบันประมวลข้อมูลเพื่อการศึกษาและการพัฒนา มธ.
12. จำนวนผู้เข้าร่วมโครงการ
               ในโครงการฝึกอบรมของหน่วยงานต่าง ๆ ซึ่งจะขออนุมัติโครงการจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ผ่านกองคลังนั้น ในประมาณการค่าใช้จ่ายที่จะตั้งของบประมาณจะต้องมีข้อมูลประกอบอย่างครบถ้วน นั่นคือ มีการระบุว่าบุคคลที่จะเข้าร่วมโครงการ หรือผู้เกี่ยวข้อง ซึ่งจะต้องนำมาคำนวณค่าใช้จ่ายด้วยนั้น มีกี่ประเภทๆ ละ กี่คน รวมเป็นกี่คน ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ในการคิด คำนวนค่าใช้จ่ายของโครงการดังตัวอย่างข้างล่างนี้
ผู้เข้าร่วมโครงการ  
1. ผู้เข้าร่วมประชุมฯ  36         คน
2. วิทยากรและที่ปรึกษาประจำกลุ่ม    5         คน
3. คณะกรรมการรื้อปรับกระบวนการทำงานในสำนักงานอธิการบดี    4         คน
4. เจ้าหน้าที่และพนักงานขับรถ     6        คน

รวม

  51     คน
          ที่มา : โครงการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อรื้อปรับกระบวนการทำงานในสำนักงานอธิการบดี ครั้งที่ 1จัดโดย งานฝึกอบรม กองการเจ้าหน้าที่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
13. ประมาณการค่าใช้จ่ายของโครงการฝึกอบรม
          ในการจัดทำประมาณการค่าใช้จ่ายของโครงการฝึกอบรม ก่อนอื่นผู้รับผิดชอบจะต้อง ตระหนักว่าค่าใช้จ่าย ที่แท้จริง ทั้งหมด ในการจัดโครงการฝึกอบรม แบ่งออกได้เป็น 2 ส่วน คือ
          ก. ค่าใช้จ่ายของโครงการ หรืองบประมาณส่วนที่จ่ายจริง ได้แก่ ค่าใช้จ่ายที่ขออนุมัติจ่ายไว้ในโครงการฝึกอบรม โดยสามารถ ระบุ ได้อย่างชัดเจนเป็นรายการต่าง ๆ ตามความจำเป็น (ไม่ว่าจะขอเบิกจ่ายจากงบประมาณส่วนใดก็ตาม)
          ข. ค่าใช้จ่ายแฝง ได้แก่ ค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นจริง หรือมีการใช้จ่ายอยู่จริง แต่ไม่สามารถระบุรายการค่าใช้จ่ายนั้นๆ เป็นจำนวนเงินได้อย่างชัดเจน เช่น ค่าสาธารณูปโภค(น้ำ ไฟ โทรศัพท์) ค่าใช้สถานที่ในการจัดฝึกอบรม ค่าวัสดุอุปกรณ์และเครื่องเขียน เช่น กระดาษ แผ่นใส ปากกาไวท์บอร์ด ฯลฯ ซึ่งไม่ได้จัดซื้อเพื่อการฝึกอบรมนั้นๆโดยเฉพาะ(ไม่ได้ใช้เงินของโครงการฝึกอบรมนั้น) ค่าใช้ครุภัณฑ์ต่างๆ เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ หรือโสตทัศนูปกรณ์ในการฝึกอบรม ตลอดจนเงินเดือนค่าจ้างของเจ้าหน้าที่ และผู้เข้า อบรมตลอดระยะเวลาที่มาเข้ารับการฝึกอบรม
          อย่างไรก็ตาม ในการประมาณการค่าใช้จ่ายในการจัดโครงการฝึกอบรม เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบจะคิดเฉพาะเพียงค่าใช้จ่าย ของโครงการ หรืองบประมาณที่จ่ายจริงเท่านั้น หลักการประมาณการค่าใช้จ่ายนั้น ผู้คิดประมาณการจะต้องศึกษา และทำความเข้าใจ สิ่งต่อไปนี้ :
          1) รายละเอียดโครงการฝึกอบรม แผนการดำเนินการฝึกอบรม ตลอดจน กำหนดการฝึกอบรมอย่างละเอียด
          2) หลักเกณฑ์และอัตราการเบิกจ่ายเงินงบประมาณตามระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมของ ส่วนราชการ พ.ศ. 2545 (ดังแนบไว้ในภาคผนวก หมายเลข6) รวมทั้งหนังสือเวียนที่เกี่ยวข้องด้วย เนื่องจากค่าใช้จ่ายรายการ พื้นฐานในการจัดโครงการฝึกอบรมของส่วนราชการนั้น หากมีวงเงินงบประมาณได้รับจัดสรรไว้ จะสามารถเบิกจ่าย จากงบประมาณ แผ่นดินได้ และถึงแม้จะเบิกจ่ายจากงบประมาณรายจ่ายจากรายได้พิเศษของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หรืองบประมาณของหน่วยงาน ก็ยังคงต้องยึดถือหลักเกณฑ์ของงบประมาณแผ่นดินเป็นหลักเช่นเดียวกัน และ
          3) หลักเกณฑ์และอัตราการเบิกจ่ายเงินงบประมาณของมหาวิทยาลัยหรือของหน่วยงาน ในกรณีที่ต้องการเบิกจ่ายเงินค่าใช้จ่าย จากงบประมาณของมหาวิทยาลัยหรือของหน่วยงาน โดยอาจเป็นการเบิกค่าใช้จ่ายสมทบ ในรายการที่สามารถเบิกจ่ายจากงบประมาณ แผ่นดินได้อยู่แล้ว หรือเป็นการเบิกจ่ายค่าใช้จ่ายบางรายการเพิ่มเติมสำหรับรายการซึ่งไม่สามารถเบิกจ่ายจากงบประมาณแผ่นดินได้ก็ตาม ทั้งนี้ เพื่อทำให้การประมาณการค่าใช้จ่ายมีความถูกต้องตรงกับความจำเป็นในการใช้จ่าย และไม่เป็นอุปสรรคในการดำเนินงาน ตลอดจนไม่ก่อให้เกิดปัญหาในการเบิกจ่ายเงินในระยะเวลาต่อไป
          โดยทั่วไป การประมาณการค่าใช้จ่าย มักจะมีรายการดังต่อไปนี้

การประมาณค่าใช้จ่ายโครงการฝึกอบรม

1. กรณีการฝึกอบรมในสถานที่ทำงาน
   1.1 ค่าสมนาคุณวิทยากร

ตามระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมของส่วนราชการ พ.ศ.2545 หลักเกณฑ์ในการเบิกจ่ายเงินค่าสมนาคุณวิทยากร ขึ้นอยู่กับลักษณะของการฝึกอบรม คือ

               1. ชั่วโมงการฝึกอบรมที่มีลักษณะเป็นการบรรยาย ให้จ่ายค่าสมนาคุณวิทยากรไม่เกิน 1 คน
               2. ชั่วโมงการฝึกอบรมที่มีลักษณะเป็นการอภิปรายเป็นคณะ หรือสัมมนา ให้จ่ายค่าสมนาคุณวิทยากรได้ไม่เกิน 5 คน โดยรวมถึงผู้ดำเนินการอภิปรายหรือสัมมนาด้วย
               3. ชั่วโมงการฝึกอบรมที่มีลักษณะเป็นการแบ่งกลุ่มฝึกภาคปฏิบัติ แบ่งกลุ่มอภิปราย หรือแบ่งกลุ่มทำกิจกรรม ซึ่งได้ กำหนดไว้ในหลักสูตรหรือโครงการแล้วและจำเป็นต้องมีวิทยากรประจำกลุ่ม ให้จ่ายค่าสมนาคุณวิทยากรได้ไม่เกินกลุ่มละ 2 คน
               4. ชั่วโมงการฝึกอบรมใดมีวิทยากรเกินกว่าจำนวนที่กำหนดไว้ข้างต้นให้เฉลี่ยจ่ายค่าสมนาคุณภายใน จำนวนเงิน ที่จ่ายได้ ตามหลักเกณฑ์
               ทั้งนี้ การฝึกอบรม 1 ชั่วโมง ต้องมีเวลาไม่น้อยกว่า 50 นาที หากการฝึกอบรมมีเวลาไม่เต็มชั่วโมง แต่ไม่น้อยกว่า 25 นาที ให้เบิกจ่ายเงินค่าสมนาคุณได้กึ่งหนึ่ง
               ส่วนอัตราการจ่ายเงินค่าสมนาคุณวิทยากรนั้น ตามระเบียบฯ ดังกล่าวขึ้นอยู่กับ :
               ก. ระดับของการฝึกอบรม ซึ่งมี 3 ระดับ คือ
               - การฝึกอบรม ระดับต้น ซึ่งผู้เข้าอบรมส่วนใหญ่เป็นข้าราชการระดับ 1 - 2
               - การฝึกอบรม ระดับกลาง ซึ่งผู้เข้าอบรมส่วนใหญ่เป็นข้าราชการระดับ 3 - 8
               - การฝึกอบรม ระดับสูง ซึ่งผู้เข้าอบรมส่วนใหญ่เป็นข้าราชการระดับ 9 ขึ้นไป
               ทั้งนี้ ในปัจจุบัน อัตราค่าสมนาคุณวิทยากร คือ
               - ค่าสมนาคุณวิทยากรในการฝึกอบรมระดับต้นและระดับกลาง ไม่เกินชั่วโมงละ 600 บาท
               - ค่าสมนาคุณวิทยากรในการฝึกอบรมระดับสูง ไม่เกินชั่วโมงละ 800 บาท
               ข. สังกัดของวิทยากร ว่ามาจากภาคราชการ หรือมิใช่ภาคราชการ (วิทยากรภาคราชการ หมายถึง วิทยากรที่เป็นข้าราชการ พนักงานและลูกจ้างของส่วนราชการ หน่วยงานอิสระตามรัฐธรรมนูญ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรมหาชน รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นของรัฐ ) กล่าวคือ หากเป็นวิทยากรซึ่งมิได้มาจากภาคราชการ ให้จ่ายค่าสมนาคุณวิทยากรเพิ่มได้อีกไม่เกินหนึ่งเท่า ของอัตราดังระบุในข้อ ก.
   1.2 ค่าอาหารว่างและเครื่องดื่ม
            อัตราค่าอาหารว่างและเครื่องดื่มในสถานที่ของทางราชการและรัฐวิสาหกิจ ตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ ไม่เกิน มื้อละ(ครึ่งวัน) 25 บาท/คน หากต้องการเบิกจ่ายเฉพาะค่าเครื่องดื่มอย่างเดียว อัตราค่าเครื่องดื่มไม่เกิน มื้อละ 10 บาท/คน
   1.3 ค่าอาหารกลางวัน
            อัตราค่าอาหารกลางวันโดยตรงนั้นไม่มีปรากฏในระเบียบกระทรวงการคลัง หากมีการกำหนดค่าอาหารในกรณีจัด ไม่ครบทุกมื้อ (ใน 1 วัน) และจัดฝึกอบรมในสถานที่ของทางราชการ ระเบียบฯได้กำหนดอัตราค่าอาหารในการฝึกอบรม ไว้ดังนี้
            - การฝึกอบรม ระดับต้น ไม่เกิน 200 บาท/วัน/คน
            - การฝึกอบรม ระดับกลาง ไม่เกิน 300 บาท/วัน/คน
            - การฝึกอบรม ระดับสูง ไม่เกิน 400 บาท/วัน/คน
            ในกรณีของ มธ. หากห้องประชุมที่ใช้เป็นสถานที่จัดฝึกอบรมไม่สะดวกที่จะจัดเลี้ยงอาหารกลางวัน แต่ผู้จัดการ ฝึกอบรม ประสงค์จะอำนวยความสะดวกแก่ผู้เข้าอบรม เพื่อประหยัดเวลา หรือในกรณีที่ต้องการประหยัดงบประมาณ อาจใช้อาหารกล่องแทนก็ได้
   1.4 ค่าใช้จ่ายในการใช้และการตกแต่งสถานที่ฝึกอบรม
            ตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ สามารถเบิกจ่ายค่าใช้จ่ายในการใช้และตกแต่งสถานที่ฝึกอบรมได้เท่าที่จ่ายจริง ค่าใช้จ่าย ในรายการนี้ ได้แก่ ค่าแจกันดอกไม้ ค่าจัดทำป้ายชื่อโครงการฝึกอบรม เป็นต้น
   1.5 ค่าใช้จ่ายในพิธีเปิด-ปิดการฝึกอบรม
            สำหรับการฝึกอบรมที่เน้นพิธีการ ก็อาจตั้งขอค่าใช้จ่ายในพิธีเปิด-ปิดการฝึกอบรม ซึ่งระเบียบกระทรวงการคลังฯ ได้กำหนด ไว้ให้เบิกจ่ายได้เท่าที่จ่ายจริง ไม่เกินราคามาตรฐานที่กระทรวงการคลังกำหนด(ถ้ามี) ซึ่งแต่เดิมได้เคยมีอัตรากำหนดไว้พอสรุปได้ ดังนี้
            - การฝึกอบรมที่มีระยะเวลาฝึกอบรมไม่เกิน 2 วัน ให้เบิกจ่ายสำหรับพิธีเปิดและพิธีปิดการฝึกอบรม ในวงเงิน 400 บาท
            - การฝึกอบรมที่มีระยะเวลาฝึกอบรมเกินกว่า 2 วันขึ้นไป ให้เบิกจ่ายสำหรับพิธี เปิดและพิธีปิด ได้ครั้งละ 400 บาท
   1.6 ค่าวัสดุ เครื่องเขียน และอุปกรณ์
            โดยปกติแล้วค่าวัสดุต่าง ๆ ในการจัดทำเอกสารประกอบการอบรม ตลอดจน ค่าเครื่องเขียนและอุปกรณ์ต่าง ๆ จะเป็นค่าใช้จ่าย แอบแฝงที่รวมอยู่ในค่าใช้จ่าย และค่าวัสดุของหน่วยงานที่รับผิดชอบในการจัดโครงการฝึกอบรม ดังนั้น หากจะมีการขอเบิกจ่าย ค่าวัสดุในโครงการฝึกอบรมอีก มักจะเป็นค่าวัสดุซึ่งจำเป็นต้องใช้ในการ จัดโครงการฝึกอบรม ดังกล่าวเป็นการเฉพาะเท่านั้น
            ค่าใช้จ่ายรายการนี้ โดยทั่วไปแล้ว สามารถเบิกจ่ายตามระเบียบกระทรวงการคลังได้เท่าที่จ่ายจริง แต่อาจมีบางรายการ ที่มีราคามาตรฐานที่กระทรวงการคลังกำหนด ก็จะเบิกจ่ายได้เท่ากับราคามาตรฐานเท่านั้น อย่างไรก็ตาม การจัดทำเอกสารประกอบ การอบรม ในปัจจุบันอาจจะมีวิธีผลิตเอกสารได้หลายวิธี เช่น การถ่ายเอกสาร การผลิตสำเนาด้วยเครื่องถ่ายสำเนาแบบดิจิตอล (Copy
Printer) ซึ่งสามารถผลิตสำเนาเอกสารได้อย่างมีคุณภาพและราคาประหยัดกว่าเดิม ผู้รับผิดชอบโครงการอาจ ประมาณการ ค่าใช้จ่ายเป็นรายการ ค่าถ่ายเอกสารประกอบการอบรม หรือ ค่าผลิตเอกสารด้วยเครื่องถ่ายสำเนาแบบดิจิตอลโดยตรง ตามจำนวน ที่คาดว่าจะจ่ายจริงก็ได้
   1.7 ค่าพาหนะรับจ้างสำหรับวิทยากรภายนอก
            ตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ การจัดรถรับ-ส่งวิทยากรภายนอก (ทั้งภาคราชการ และภาคเอกชน) อาจทำได้โดยต้องรับส่ง จากสำนักงานของวิทยากรดังกล่าว ไป-กลับยังหน่วยงานผู้จัดการฝึกอบรม (ไม่ใช่จากที่พักอาศัย) โดยเบิกจ่ายค่าน้ำมันเชื้อเพลิงได้ เท่าที่จ่ายจริง หากใช้รถราชการ แต่ในทางปฏิบัติบางกรณีอาจไม่สะดวก จำเป็นต้องขอให้วิทยากรใช้บริการพาหนะรับจ้าง (รถแท็กซี่) ในการเดินทาง โดยผู้จัดดำเนินการเบิกจ่ายค่าใช้จ่ายดังกล่าวให้ กรณีเบิกจ่ายค่าพาหนะรับจ้างนี้ ต้องประมาณการเป็น รายการค่าพาหนะ รับจ้างไว้เป็นเงินจำนวนหนึ่ง เมื่อจ่ายเงินค่าพาหนะรับจ้างให้วิทยากร ต้องคำนวณค่าใช้จ่ายตามระยะทาง จากสำนักงาน ของวิทยากร มายัง มธ. ซึ่งเป็นสถานที่ฝึกอบรม โดยคำนึงถึงสภาพการจราจรโดยปกติของเส้นทางดังกล่าวด้วย หากการจราจรติดขัด เป็นประจำ อาจต้องประมาณการเพิ่มด้วย (รายการนี้จะไม่สามารถเบิกจ่ายจากงบประมาณแผ่นดินได้)
   1.8 ค่าใช้จ่ายอื่นที่จำเป็นในการจัดฝึกอบรม
            เป็นรายการค่าใช้จ่ายที่ขอตั้งงบประมาณสำรองไว้ เผื่อจะมีรายการค่าใช้จ่ายจำเป็นที่ไม่ได้คาดหมายไว้เกิดขึ้น จะสามารถ มีวงเงิน สำหรับใช้จ่ายได้
2. กรณีการฝึกอบรมนอกสถานที่ทำงาน (ต่างจังหวัด) รวมทั้งกรณีการจัดไปดูงานนอกสถานที่
               เนื่องจากระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมของส่วนราชการได้กำหนดอนุญาตเอาไว้ว่า การพิจารณา หาสถานที่เพื่อจัดฝึกอบรมให้อยู่ในดุลยพินิจของหัวหน้าส่วนราชการเจ้าของงบประมาณ ดังนั้น ในการจัดฝึกอบรม บางโครงการ ซึ่งหวังจะได้รับประโยชน์จากข้อดีของการจัดฝึกอบรมนอกสถานที่ทำงาน ซึ่งได้แก่ 1) การดึงดูดผู้เข้าร่วมโครงการ ให้สนใจมาเข้าร่วม มากขึ้น เนื่องจากได้มีการเปลี่ยนสถานที่ 2) ตัดขาดผู้เข้าร่วมโครงการจากการรบกวนของงานประจำ 3) ส่งเสริมให้สามารถดำเนิน กิจกรรม ระหว่างการฝึกอบรมได้สะดวกขึ้น เช่น การสัมมนากลุ่ม การแบ่งกลุ่มฝึกปฏิบัติ กิจกรรมกลุ่มสัมพันธ์ต่างๆ และกิจกรรมนอก ห้องประชุม เช่น กิจกรรม Walk Rally 4) เป็นการสร้างบรรยากาศในการฝึกอบรม และ 5) เป็นการสร้างความสัมพันธ์ ระหว่าง ผู้เข้าร่วมโครงการได้มากขึ้น
               ในกรณีนี้จะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นจากกรณีจัดฝึกอบรมในสถานที่ทำงานอีกหลายด้าน จำเป็นที่ผู้จัดโครงการฝึกอบรม ต้อง วางแผน และเตรียมการอย่างรอบคอบ รายการค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น ได้แก่
   2.1 ค่าที่พัก
               ตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมของส่วนราชการ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2541 กำหนดให้ใช้อัตรา ค่าเช่าที่พักในการฝึกอบรมในประเทศ (ทั้งในกรณีเช่าที่พักของหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ และเอกชน) ตามบัญชีหมายเลข 4 ดังนี้

บาท : คน

   

ระดับการฝึกอบรม

อัตราค่าเช่าที่พักคนเดียว

อัตราค่าเช่าที่พัก 2 คน

  1. การฝึกอบรมระดับต้น

ไม่เกิน 600 บาท

ไม่เกิน 450 บาท

  2. การฝึกอบรมระดับกลาง

ไม่เกิน 800 บาท

ไม่เกิน 550 บาท

  3. การฝึกอบรมระดับสูง

ไม่เกิน 1,600 บาท

ไม่เกิน 1,100 บาท

   2.2 ค่าอาหาร
               โดยปกติแล้ว ผู้จัดโครงการฝึกอบรมจะต้องจัดเตรียมอาหารให้ผู้เข้าร่วมโครงการทั้งหมด โดยประมาณการค่าอาหาร ตามข้อมูลที่ได้สอบถามจากสถานที่ซึ่งจะไปจัดการฝึกอบรม ว่าอาหารมื้อใด ราคาเท่าใดบ้าง และจะต้องกำหนดราคาค่าอาหารต่อวัน รวมแล้วไม่เกินอัตราค่าอาหารในการฝึกอบรมตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ ดังนี้

อัตราค่าอาหารในการฝึกอบรม

(บาท : คน : วัน)

ระดับการฝึกอบรม

การฝึกอบรมในสถานที่ของ
ทางราชการหรือรัฐวิสาหกิจ

การฝึกอบรมในสถานที่ของเอกชน

      จัดครบทุกมื้อ      

จัดไม่ครบทุกมื้อ  

   จัดครบทุกมื้อ 

จัดไม่ครบทุกมื้อ 

   1. การฝึกอบรม
ระดับต้น

ไม่เกิน 300

ไม่เกิน 200

ไม่เกิน500

ไม่เกิน 250

   2. การฝึกอบรม
ระดับกลาง

ไม่เกิน 500

ไม่เกิน 300

ไม่เกิน 800

ไม่เกิน 400

   3. การฝึกอบรม
ระดับสูง

ไม่เกิน 700

ไม่เกิน 400

ไม่เกิน 1,000

ไม่เกิน 500

               จากอัตราดังกล่าวข้างต้น ผู้ประมาณการค่าอาหารจะต้องคำนึงไว้ว่า ไม่ว่าจะต้องเบิกจ่ายค่าอาหาร 1 มื้อ หรือ 2 มื้อ ภายในวันเดียวกัน จะต้องเบิกค่าใช้จ่ายในอัตราไม่เกินวงเงินเท่ากัน เช่น เมื่อจัดฝึกอบรมระดับกลาง ในโรงแรมของเอกชน โดยจัดอาหารเย็น จำนวน 1 มื้อ ในวันแรกที่เข้าพัก จะขอตั้งงบประมาณเป็นเงินจำนวน 250 บาทต่อคน (ไม่เกินอัตรา 400 บาท/คน/วัน) ในวันดังกล่าว แต่หากจำเป็นต้องจัดทั้งอาหารกลางวัน และอาหารเย็นในวันดังกล่าว ก็จะสามารถตั้งงบประมาณ รวมกันทั้ง 2 มื้อได้ไม่เกิน 400 บาทต่อคน เช่นเดียวกัน
   2.3 ค่าอาหารว่างและเครื่องดื่ม
               อัตราค่าอาหารว่างและเครื่องดื่มตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ ขึ้นอยู่กับสถานที่จัดการฝึกอบรมว่าเป็น ของทางราชการ หรือเอกชน ดังตารางข้างล่างนี้

ระดับการฝึกอบรม

การฝึกอบรมในสถานที่ของ
ทางราชการหรือรัฐวิสาหกิจ

การฝึกอบรมในสถานที่ของเอกชน

อาหารว่างและเครื่องดื่ม

เครื่องดื่ม

อาหารว่างและเครื่องดื่ม

เครื่องดื่ม

ทุกระดับ

ไม่เกิน 25 บาท

ไม่เกิน 10 บาท

ไม่เกิน 50 บาท

ไม่เกิน 20 บาท

 
 
               ดังนั้น ก่อนที่จะประมาณการค่าอาหารว่างและเครื่องดื่มในการฝึกอบรมนอกสถานที่ ผู้ประมาณการจึงต้องทราบว่า จะใช้สถานที่ประเภทใดในการฝึกอบรม เพื่อจะได้ประมาณการตรงตามที่ผู้จัดเรียกเก็บและไม่เกินอัตราดังระบุข้างต้น
   2.4 ค่ายานพาหนะ
              โดยปกติผู้จัดการฝึกอบรมจะต้องเป็นผู้ดำเนินการจัดยานพาหนะสำหรับการเดินทางไปฝึกอบรมนอกสถานที่ การประมาณ การค่าใช้จ่ายขึ้นอยู่กับประเภทของยานพาหนะที่จะใช้
              หากใช้รถของส่วนราชการ ตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ สามารถเบิกจ่ายค่าน้ำมันเชื้อเพลิงได้เท่าที่จ่ายจริง จึงควร ประมาณการค่าน้ำมันเชื้อเพลิง โดยคำนวณตามระยะทางไป-กลับ ประเภทของรถและราคาของน้ำมันเชื้อเพลิงที่ใช้ เช่น ถ้าเป็นน้ำมัน เบนซินจะต้องประมาณการราคาสูงกว่าน้ำมันดีเซล รถบัสจะใช้น้ำมันสิ้นเปลืองกว่ารถยนต์ เป็นต้น
 

 
              สำหรับในกรณีที่ไม่สามารถใช้รถยนต์ของส่วนราชการได้ และผู้จัดโครงการพิจารณาเห็นว่าเป็นการเหมาะสม ที่จะใช้ รถยนต์เช่าเหมาทั้งคันนั้น เนื่องจากไม่มีระเบียบกระทรวงการคลังฯ กำหนดรายละเอียดการเบิกจ่ายเอาไว้ จำเป็นต้องขอเบิกจ่าย จาก งบประมาณของหน่วยงาน และหากประสงค์จ่ายจากงบประมาณแผ่นดิน ก็จะต้องขอทำความตกลงกับกระทรวงการคลังเป็นกรณี ๆ ไป
   2.5 ค่าเช่าหรือค่าใช้สถานที่ฝึกอบรม
              ค่าใช้จ่ายรายการนี้ หมายถึง ค่าใช้ห้องประชุม ค่าใช้ห้องประชุมสัมมนากลุ่มย่อย หรือสถานที่ในการจัด กิจกรรมต่าง ๆ ในการฝึกอบรม รวมทั้งกิจกรรมของผู้เข้าอบรม ซึ่งเจ้าของสถานที่พัก อาจเรียกเก็บแยกต่างหากจากค่าเช่าที่พักของผู้เข้าอบรม ค่าใช้จ่ายรายการนี้มักจะไม่ใคร่เกิดขึ้นในกรณีใช้สถานที่พักของเอกชน เนื่องจากได้มีการคิดค่าบริการ และค่าใช้สถานที่ ดังกล่าว รวมไว้กับค่าเช่าที่พักและอาหารอยู่แล้ว แต่ในกรณีค่าเช่าสถานที่พักของหน่วยราชการหรือรัฐวิสาหกิจ อาจมีการแยกคิดต่างหากได้ ค่าใช้จ่ายดังกล่าวสามารถเบิกจ่ายจากงบประมาณแผ่นดินได้ตามที่จ่ายจริง ตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ
   2.6 ค่าใช้จ่ายในการติดต่อสื่อสาร
              ค่าใช้จ่ายรายการนี้ ผู้ประมาณการอาจกำหนดประมาณการไว้เป็นเงินจำนวนเล็กน้อย เพื่อใช้เป็นค่าโทรศัพท์ และค่าส่งโทรสาร สำหรับในกรณีที่มีเหตุจำเป็นในการติดต่อประสานงานระหว่างการเดินทางไปฝึกอบรมนอกสถานที่ และสามารถเบิกจ่ายได้เท่าที่จ่ายจริง ตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ
   2.7 ค่าสมนาคุณพนักงานขับรถยนต์ และค่าสมนาคุณเจ้าหน้าที่ช่วยงาน
              โดยปกติผู้จัดโครงการฝึกอบรมควรจัดที่พักและอาหารให้แก่พนักงานขับรถยนต์และเจ้าหน้าที่ช่วยงาน ในการจัดฝึกอบรม นอกสถานที่เช่นเดียวกับวิทยากร และผู้เข้าอบรมอยู่แล้ว ทั้งนี้ เพื่อความสะดวกในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ดังกล่าว จึงไม่สามารถ ขอเบิกค่าเบี้ยเลี้ยงหรือเงินอื่นใด ตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ ให้แก่เจ้าหน้าที่ทั้งสองประเภทดังกล่าวได้อีก แต่ในกรณีของ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งต้องการสร้างขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พนักงานขับรถยนต์ จึงได้มีการกำหนดอัตราเงินค่าสมนาคุณพนักงานขับรถยนต์และเจ้าหน้าที่ในการฝึกอบรมในการจัดฝึกอบรมนอกสถานที่ ให้สามารถ เบิกจ่ายจากงบประมาณของหน่วยงานได้ คือ
 

ตำแหน่ง

พนักงานขับรถยนต์

เจ้าหน้าที่จัดฝึกอบรม

อัตรา

คนละ/วันละ 200 บาท

คนละ/วันละ 80 บาท

 
              ทั้งนี้ เมื่อเจ้าหน้าที่ดังกล่าวปฏิบัติงานครบ 24 ชั่วโมงแล้ว มีระยะเวลาปฏิบัติงานต่อเนื่องอีกครบ 12 ชั่วโมง ให้นับเพิ่ม เป็นอีก 1 วัน
   2.8 ค่าใช้จ่ายอื่นที่จำเป็นในการฝึกอบรม

              ในการเดินทางไปจัดการฝึกอบรมนอกสถานที่ อาจมีค่าใช้จ่ายจำเป็น ซึ่งไม่สามารถประมาณการได้ หรือไม่คาดคิดมาก่อน เกิดขึ้นได้ เช่น ค่าผ่านทางด่วน หรือทางพิเศษต่าง ๆ จึงจำเป็นต้องขอประมาณการค่าใช้จ่ายจำเป็นสำรองไว้จำนวนหนึ่งด้วย

              นอกจากนั้น ในการประมาณการค่าใช้จ่ายทั้งหมด จะต้องระบุด้วยว่าจะขอเบิกจ่ายจากงบประมาณใดบ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากแต่ละรายการขอเบิกจ่ายจากงบประมาณต่างกัน และต้องสรุปยอดรวมที่จะขอเบิกจ่ายจากงบประมาณแต่ละประเภทไว้ด้วย ดังตัวอย่างการประมาณการค่าใช้จ่ายข้างล่างนี้

              ที่มา : การประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อประมวลวิชา ตามโครงการฝึกอบรมการพัฒนาเจ้าหน้าที่ระดับ
                       ปฏิบัติการยุคใหม่ รุ่นที่ 3 จัดโดย งานฝึกอบรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

14. ที่ปรึกษาโครงการฝึกอบรม
              สำหรับบางหน่วยงาน เช่น โครงการฝึกอบรมของสถาบันพัฒนาข้าราชการพลเรือน สำนักงาน ก.พ. จะต้องมีหัวข้อ "ที่ปรึกษาโครงการฝึกอบรม" ไว้เพื่อเป็นการสร้างศรัทธาและความเชื่อถือให้กับผู้ที่สนใจจะมาเข้ารับการฝึกอบรมหลักสูตรนั้น ๆ ทั้งนี้ เพราะผู้ซึ่งมีชื่อเป็นที่ปรึกษาของโครงการมักจะเป็นผู้บังคับบัญชาระดับสูงของหน่วยงานที่รับผิดชอบจัดโครงการฝึกอบรม หรือเป็นผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จัก และยอมรับในด้านความรู้ความสามารถและประสบการณ์ อาจช่วยทำให้โครงการ ฝึกอบรมซึ่งมีท่านเหล่านั้นเป็นที่ปรึกษา ดูมีคุณค่าขึ้น
              ดังนั้น หากโครงการฝึกอบรมใดมีผู้บังคับบัญชาหรือผู้บริหารระดับสูง ตลอดจน ผู้ทรงคุณวุฒิช่วยให้คำแนะนำปรึกษาอยู่จริง ก็น่าจะมีหัวข้อนี้เพื่อใส่รายชื่อของท่านที่ได้ช่วยให้การปรึกษาแนะนำไว้ด้วย ทั้งนี้ ในความคิดเห็นของผู้เขียน มิใช่เพื่อเป็นการสร้าง ความศรัทธาเชื่อถือที่ผู้เข้าอบรมจะมีต่อโครงการฝึกอบรมเป็นประการสำคัญ หากเพื่อเป็นการให้เกียรติ และแสดงถึงการตระหนัก ในคุณค่าของการให้คำแนะนำปรึกษาของท่านเหล่านั้นเสียมากกว่า
              การใส่รายชื่อของที่ปรึกษา ควรระบุชื่อ - สกุล ตำแหน่งหน้าที่เฉพาะที่สำคัญและหน่วยงานที่สังกัดไว้ด้วย
15. ผู้รับผิดชอบโครงการฝึกอบรม
              ในกรณีที่โครงการฝึกอบรมมีเจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบจัดและดำเนินโครงการเป็นการเฉพาะ ย่อมจำเป็นที่จะต้องระบุ ชื่อ - สกุล ตำแหน่ง หน่วยงานที่สังกัด หมายเลขโทรศัพท์ โทร-สาร ของเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบไว้อย่างชัดเจนในรายละเอียดของโครงการ แต่ในบางกรณีที่โครงการฝึกอบรมใหญ่มาก มีระยะฝึกอบรมยาวนาน เจ้าหน้าที่หลายคนต้องร่วมรับผิดชอบดำเนินงานแต่ละด้าน หรือมีหลายหน่วยงานร่วมกันรับผิดชอบดำเนินงานในด้านต่าง ๆ อาจระบุเฉพาะชื่อหน่วยงาน งานด้านที่รับผิดชอบดำเนินการ และหมายเลขโทรศัพท์ โทรสารก็ได้ ดังตัวอย่างข้างล่างนี้
 

              หน่วยงานผู้รับผิดชอบโครงการ

                งานฝึกอบรม กองการเจ้าหน้าที่ - เจ้าของโครงการ
                    โทร 6235080, 6132060-1
                    โทรสาร 2233754
                 สถาบันภาษา - ดำเนินงานด้านวิชาการของโครงการ
                    โทร 6133101-2
                งานการเจ้าหน้าที่ กองงานศูนย์รังสิต - ร่วมประสานงานโครงการ ณ    มธ.ศูนย์รังสิต          
                     โทร 5644440 ต่อ 1107, 1108
 

ที่มา : โครงการฝึกอบรมภาษาอังกฤษสำหรับบุคลากร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประจำภาค 2/2542

 
15. ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ
              เป็นการระบุถึงประโยชน์หรือผลที่คาดว่าจะได้รับจากความสำเร็จของการจัดโครงการฝึกอบรม ทั้งผลทางตรง และผลทางอ้อมที่ดีต่าง ๆ และมีใครบ้าง (ส่วนใหญ่จะเป็นผู้เข้าอบรม) จะได้รับประโยชน์อะไรทั้งในเชิงคุณภาพและปริมาณ นั่นคือ จะต้องตรงตามวัตถุประสงค์ของโครงการฝึกอบรมที่ได้กำหนดไว้นั่นเอง[22]
             วิธีการเขียน มักใช้การเขียนแบบบรรยายความ แต่เขียนเพียงย่อหน้าสั้น ๆ เนื้อหากระชับได้ใจความเท่านั้น หรืออาจเขียนเป็น
ข้อ ๆ ก็ได้
             อย่างไรก็ตาม เท่าที่ผู้เขียนสังเกตจากการเขียน "ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ" ในโครงการต่าง ๆ แล้วเชื่อว่า เป็นการเขียน ถึง "วัตถุประสงค์สูงสุด" หรือ "วัตถุประสงค์ในอุดมคติ" ดังที่ อาจารย์กริช อัมโภชน์ ได้อธิบายเอาไว้ (อธิบายไว้ในบทที่ 4: การสร้าง หลักสูตรฝึกอบรม)นั่นเอง
 

ตัวอย่าง : โครงการฝึกอบรมการบริหารสำหรับผู้บังคับบัญชา

      ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ

             คาดว่า จะทำให้ผู้ผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรการบริหารสำหรับผู้บังคับบัญชา สามารถนำความรู้ด้าน การบริหารงาน บริหารคน และบริหารตนเองไปใช้ และปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง รวมทั้งนำไปปรับใช้ ในการ ปกครองบังคับบัญชา ผู้ใต้บังคับบัญชา ด้วย  กุศโลบายอย่างมีประสิทธิภาพ

โดยสรุปแล้ว โครงสร้างหรือรูปแบบของโครงการฝึกอบรม ควรจะเป็นดังนี้ :

 
[22] หมายเหตุ เท่าที่ผู้เขียนสังเกตจากการเขียน "ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ" ในโครงการต่าง ๆ แล้ว เชื่อว่า เป็นการเขียนถึง "วัตถุประสงค์สูงสุด" หรือ "วัตถุประสงค์ในอุดมคติ" ดังที่อาจารย์กริช อัมโภชน์ ได้อธิบายเอาไว้ (ในบทที่ 4 : การสร้าง หลักสูตร ฝึกอบรม) นั่นเอง
[1] สายสอางค์ แกล้วเกษตรกรณ์ , อ้างแล้ว , หน้า 3.
[2] โปรดดูรายละเอียดเรื่อง การกำหนดวัตถุประสงค์ในการฝึกอบรม ในบทที่ 4 หน้า36-38
[3] วรภา ชัยเลิศวนิชกุล, การแก้ปัญหาและการตัดสินใจ, ชุดฝึกอบรมเรื่องการบริหารสำหรับผู้บังคับบัญชา, สถาบันพัฒนาข้าราชการ
พลเรือน, สำนักงาน ก.พ. หน้า 103

ที่มา : https://www.tu.ac.th/org/ofrector/person/train/handbook/fix.html


อัพเดทล่าสุด