ขั้นตอน การสร้างหลักสูตรการฝึกอบรม


613 ผู้ชม


ขั้นตอน การสร้างหลักสูตรการฝึกอบรม




   หากต้องการจะสร้างหลักสูตรฝึกอบรมอย่างถูกต้องตามหลักการฝึกอบรม สำหรับการพัฒนากลุ่มบุคลากร ในตำแหน่งใด ตำแหน่งหนึ่งซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมาย หรือสำหรับบุคลากรซึ่งจะต้องปฏิบัติงานใดงานหนึ่งเหมือน ๆ กัน ถึงแม้ว่าบุคลากรนั้น จะต้อง อยู่ในต่าง ๆ หน่วยงานกันก็ตาม ควรจะต้องปฏิบัติตามขั้นตอนดังนี้ :-


ขั้นที่ 1 ทบทวนความจำเป็นในการฝึกอบรม
               กริช อัมโภชน์ เห็นว่า ถึงแม้ว่าจะได้มีการวิเคราะห์หาความจำเป็นในการฝึกอบรมมาแล้วก็ตาม ก่อนจะสร้างหลักสูตรฝึกอบรม จำเป็นต้องมีการทบทวนปัญหาที่ได้กำหนดไว้ว่าเป็นความจำเป็นในการฝึกอบรมนั้นว่า มีปัญหาอะไรบ้าง และเกี่ยวข้องกับบุคลากร ในตำแหน่งงานใด ระดับใดบ้างมีจำนวนเท่าใด เหมาะสมสำหรับการส่งไปเข้ารับการฝึกอบรมภายนอก หรือมีจำนวนมาก เพียงพอ ที่จะจัดการฝึกอบรมในองค์การหรือหน่วยงานให้โดยเฉพาะ (ดังที่เรียกกันว่า In-house training) เมื่อคิดว่ามีบุคลากรที่เกี่ยวข้อง จำเป็นต้องเข้ารับการฝึกอบรม ซึ่งเห็นว่าควรจะจัดขึ้นในจำนวนที่เหมาะสมแล้ว จึงเตรียมการในขั้นตอนต่อไป


ขั้นที่ 2 ระบุ "ภารกิจ" ที่เป็นปัญหาหรือต้องการพัฒนา
               หากต้องการสร้างหลักสูตรฝึกอบรมให้สอดคล้องตรงกันกับความจำเป็นในการฝึกอบรมของบุคลากรซึ่งดำรงตำแหน่งหนึ่ง ตำแหน่งใด เช่น ตำแหน่งพนักงานขับรถยนต์ หรือตำแหน่งเจ้าหน้าที่บันทึกข้อมูลโดยเฉพาะ ผู้สร้างหลักสูตรจำเป็นจะต้องเข้าใจ ถึงความแตกต่างในความหมายของคำว่า งาน หน้าที่ และ ภารกิจ เสียก่อน 
               "งาน" (Job) หมายถึง หน่วยการปฏิบัติงานที่บุคลากรในตำแหน่งหนึ่งตำแหน่งใดคือครอบอยู่ในสายการปฏิบัติงาน เป็นสิ่งกำหนดไว้อย่างเป็นทางการและเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปในองค์การ งานแต่ละตำแหน่ง จะประกอบไปด้วย"หน้าที่" ตั้งแต่ 1 หน้าที่ขึ้นไป
               "หน้าที่" (Duty) หมายถึง สิ่งที่ผู้ครอบครองงานจะต้องรับผิดชอบปฏิบัติ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดผลงานซึ่งตรงกับ ตำแหน่งงาน ของตน ทั้งนี้ ในหน้าที่แต่ละหน้าที่จะประกอบไปด้วย "ภารกิจ" หลาย ๆ ภารกิจด้วยกัน
               ส่วน "ภารกิจ" (Task) หมายถึง หน่วยการปฏิบัติที่สำคัญที่สุดที่จะก่อให้เกิดผลงาน และเป็นส่วนของการปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้อง โดยตรงกับใช้วิธีการ เทคนิค หรือระเบียบต่าง ๆ ดังนั้น การปฏิบัติตามภารกิจนั้นจึงจะต้องใช้ความรู้ ความชำนาญ และความสามารถด้วย โดยการปฏิบัติงานตามภารกิจนั้น จะประกอบไปด้วย รายละเอียดในการปฏิบัติงาน ตั้งแต่หนึ่งอย่างขึ้นไป ดังแผนภูมิต่อไปนี้

ขั้นตอน การสร้างหลักสูตรการฝึกอบรม
 แผนภูมิ แสดงความสัมพันธ์ระหว่าง งาน หน้าที่ ภารกิจ และรายละเอียดในการปฏิบัติ
 
              

 ประเด็นสำคัญในการสร้างหลักสูตร คือ เราพยายามที่จะฝึกอบรมในระดับของภารกิจ (Task) เนื่องจากเป็นหน่วยของงาน ในระดับที่ไม่ใหญ่หรือเล็กจนเกินไป กล่าวคือ หากฝึกอบรมในระดับของงานหรือหน้าที่ก็มักจะกว้างจนเกินไป แต่ถ้าฝึกอบรมในระดับ รายละเอียดของงานก็จะแคบจนเกินไป ดังตัวอย่างความสัมพันธ์ ของงาน หน้าที่ และภารกิจ ต่อไปนี้

งาน : หัวหน้างานฝึกอบรม

หน้าที่ 01

การวางแผน

 

ภารกิจ 0101

รวบรวมนโยบายด้านการฝึกอบรม

ภารกิจ 0102

เสนอแผนการจัดโครงการฝึกอบรมประจำปี

ภารกิจ 0103

กำหนดคำขอตั้งงบประมาณ

ภารกิจ 0104

วางแผนการใช้งบประมาณ

ภารกิจ 0105

วางแผนการจัดโครงการฝึกอบรมแต่ละโครงการ

หน้าที่ 02

การบุคคล

 

ภารกิจ 0201

มอบหมายงาน

ภารกิจ 0202

ให้คำปรึกษาแนะนำ

ภารกิจ 0203

ติดตามผลการปฏิบัติงาน

ภารกิจ 0204

ดูแลและส่งเสริมให้มีการพัฒนาผู้ใต้บังคับบัญชา

หน้าที่ 04

การควบคุมงาน

 

ภารกิจ 0401

กำหนดแนวทาง/มาตรฐานการปฏิบัติงาน

ภารกิจ 0402

ตรวจร่างหนังสือ เอกสารการดำเนินงาน

ภารกิจ 0403

เสนอแนะวิธีการแก้ปัญหา

ภารกิจ 0404

ประเมินผลงานของผู้ใต้บังคับบัญชา

หน้าที่ 05

การประสานงาน

 
 

ภารกิจ 0501

ประสานงานกับหน่วยงานที่ร่วมรับผิดชอบจัดโครงการฝึกอบรม

ภารกิจ 0502

ประสานงานกับหน่วยงานอื่น ๆ ใน มธ. เพื่อขอความร่วมมือ

ภารกิจ 0503

ประสานงานกับวิทยากรฝึกอบรม

เมื่อวิเคราะห์ทราบถึงภารกิจต่าง ๆ ของตำแหน่งงานที่มีความจำเป็นในการฝึกอบรมแล้ว จะต้องหาข้อมูล หรือวิเคราะห์ ให้ได้ว่า ภารกิจใดที่เบี่ยงเบนไปจากมาตรฐานหรือสิ่งที่มุ่งหวัง จนทำให้เกิดปัญหาขึ้น จะได้กำหนดหลักสูตร เพื่อทำการฝึกอบรม ให้บุคคลในตำแหน่งงานนั้นสามารถปฏิบัติภารกิจได้ถูกต้องตรงกับมาตรฐาน ซึ่งจะเป็นการแก้ปัญหา อันเป็นความจำเป็น ในการฝึกอบรมต่อไป


ขั้นที่ 3 การกำหนดวัตถุประสงค์ในการฝึกอบรม
              ก่อนที่จะสามารถกำหนดหลักสูตรฝึกอบรมได้ เราจำเป็นต้องกำหนดวัตถุประสงค์ในการฝึกอบรมเสียก่อน ทั้งนี้ เนื่องมาจากวัตถุประสงค์ในการฝึกอบรมมีความสำคัญ คือ
              1. วัตถุประสงค์ในการฝึกอบรมจะช่วยให้สามารถประสานทรัพยากรในการฝึกอบรม (ได้แก่ กำลังคน เงิน วัสดุ และอุปกรณ์) ได้อย่างมีประสิทธิภาพและดำเนินไปในแนวทางเดียวกัน
              2. วัตถุประสงค์ในการฝึกอบรมจะช่วยทำให้วิทยากร และเจ้าหน้าที่ผู้บริหารโครงการ
ฝึกอบรมจะมีความเข้าใจตรงกันและปฏิบัติงานอย่างสอดคล้องกัน ตลอดจน ผู้เข้ารับการอบรมมีความเข้าใจการปฏิบัติงานของวิทยากรและเจ้าหน้าที่
              3. วัตถุประสงค์ในการฝึกอบรมจะช่วยทำให้สามารถกำหนดหัวข้อวิชา และเนื้อหา
สาระในการฝึกอบรมได้อย่างเหมาะสม ทั้งนี้ เพราะวัตถุประสงค์ในการฝึกอบรมจะช่วยชี้ชัดว่าต้องการจะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้เข้าอบรมไปในลักษณะใด รวมทั้งช่วยให้สามารถเลือกเทคนิคหรือวิธีการฝึกอบรมที่เหมาะสม และช่วยในการกำหนดระยะเวลาของหลักสูตรและระยะเวลาของหัวข้อวิชาในการฝึกอบรมอีกด้วย
               4. เราสามารถใช้วัตถุประสงค์ในการฝึกอบรมใช้เป็นมาตรฐาน ในการประเมินผลและ
ติดตามผลโครงการฝึกอบรม ประเมินผลการให้การฝึกอบรมของวิทยากร ตลอดจนการประเมินสัมฤทธิ์ผลของการอบรม


อัพเดทล่าสุด