เทคนิคการฝึกอบรม - ความหมาย และ ประเภท


1,575 ผู้ชม


เทคนิคการฝึกอบรม - ความหมาย และ ประเภท




ขั้นที่ 8 : การกำหนดเทคนิคการฝึกอบรม


ความหมายของเทคนิคการฝึกอบรม
                  อาจารย์ กริช อัมโภชน์ อธิบายว่า เทคนิคการฝึกอบรม หมายถึง "วิธีการที่จะทำให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมเกิดความรู้ ความเข้าใจ ทัศนคติ และความสามารถอย่างมีประสิทธิภาพ" [15]
                  ส่วน อาจารย์ ขจรศักดิ์ หาญณรงค์ ได้ให้คำจำกัดความว่า เทคนิคการฝึกอบรม คือ "วิธีการต่าง ๆ ที่จะทำให้ผู้เข้ารับ การฝึกอบรม เกิดความรู้ ความเข้าใจ มีทัศนคติที่ถูกต้องเหมาะสม และ/หรือเกิดความชำนาญในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง จนเกิดการ เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมไปตามวัตถุประสงค์ของการฝึกอบรมนั้น ๆ"[16]
                  ดังความหมายข้างต้น เทคนิคการฝึกอบรม จึงเป็นเสมือนเครื่องมือไปสู่ความสำเร็จเท่านั้น แต่ก็ถือว่ามีความสำคัญ เพราะถ้าผู้จัดการฝึกอบรม หรือวิทยากรเลือกใช้ได้อย่างเหมาะสม จะทำให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรม เกิดความรู้ ความเข้าใจ ทัศนคติ และความสามารถหรือทักษะได้อย่างรวดเร็ว อันเป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายและเวลาได้เป็นอย่างมาก จึงมีผู้พยายาม คิดเทคนิค การฝึกอบรมใหม่ ๆ ที่มีประสิทธิภาพอยู่เสมอ
ประเภทของเทคนิคการฝึกอบรม
                  โดยทั่วไปแล้ว อาจแบ่งเทคนิคการฝึกอบรมออกเป็น 4 ประเภทใหญ่ ๆ คือ
                  1. เทคนิคการฝึกอบรม ประเภทที่เน้นวิทยากรเป็นศูนย์กลางของการเรียนรู้(Leader-centered techniques) ซึ่งเกิดจากแนวคิดว่าวิทยากรเป็นผู้มีความรู้ ความสามารถ ในเรื่องที่อบรมมากกว่าผู้อื่น ได้แก่ การบรรยาย(Lecture) การอภิปรายเป็นคณะ (Panel Discussion) และการบรรยายเป็นชุด (Symposium) เป็นต้น 
                  2. เทคนิคการฝึกอบรม ประเภทที่เน้นกลุ่มของผู้เข้ารับการฝึกอบรมเป็นศูนย์กลางของการเรียนรู้ (Group-centered techniques) เทคนิคเหล่านี้จะมาจากแนวคิดว่าผู้เข้ารับการฝึกอบรมต่างก็มีความรู้ ความสามารถ และจะต้องช่วยให้ผู้เข้ารับ การฝึกอบรมได้แลกเปลี่ยนความรู้ และความคิดเห็นระหว่างกันเอง หรือเรียนรู้จากประสบการณ์ของตนเอง มากกว่าที่จะได้ มาจาก วิทยากรเท่านั้น ได้แก่ การสัมมนากลุ่ม(Group Seminar) การประชุมเชิงปฏิบัติการ(Workshop) กิจกรรม Walk-Rally การระดมสมอง(Brainstorming) การฝึกปฏิบัติงานในเวลาจำกัด(In Basket Training) เกมการบริหาร(Management Games) การแสดงบทบาทสมมติ(Role-playing) กรณีศึกษา (Case Study) การสาธิต(Demonstration) การอภิปรายกลุ่ม(Buzz Group) Sensitivity Training ฯลฯ
                  3. เทคนิคการฝึกอบรม ประเภทที่เน้นการเรียนรู้เป็นรายบุคคล อาจโดยการใช้สื่อต่างๆ เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ผู้เข้าอบรม เกิดการเรียนรู้ขึ้น เทคนิคการฝึกอบรมแบบนี้ไม่ได้ใช้กับการฝึกอบรมในชั้นเรียน(Classroom Training) เหมือนกับเทคนิคฝึกอบรม 2 ประเภทแรก หากจุดเน้นที่สำคัญของเทคนิคการฝึกอบรมแบบนี้ คือ การที่ผู้เข้าอบรมสามารถเรียนรู้ได้ด้วยจังหวะเวลา(Speed) ของตนเอง ได้แก่ การสอนแนะ(Coaching) การใช้แบบเรียนสำเร็จรูป(Programmed Instruction) และการศึกษาทาง ไปรษณีย์(Correspondence Study) ซึ่งเป็นการฝึกอบรมทางไกล (Long Distance Training) แบบหนึ่ง เป็นต้น 
                  4. เทคนิคการฝึกอบรมประเภทที่เน้นการใช้โสตทัศนูปกรณ์เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ ได้แก่ การนำเสนอโดย ใช้สไลด์ หรือเทป(Slide/Tape Presentation) โทรทัศน์การสอน(Instructional television) การใช้คอมพิวเตอร์ ช่วยสอน (Computer-Aided Instruction) เป็นต้น
ความเข้าใจพื้นฐานเกี่ยวกับเทคนิคการฝึกอบรม[ 17]
                  1. ผู้รับผิดชอบจัดการฝึกอบรมพึงระลึกไว้เสมอว่า เทคนิคการฝึกอบรมเป็นเพียง
เครื่องมือที่จะทำให้ผู้เข้าอบรมเกิดความรู้ความเข้าใจ ทัศนคติ และทักษะเกี่ยวกับเนื้อหาวิชาที่อบรมเท่านั้น
                  2. เทคนิคการฝึกอบรมเกือบทุกเทคนิคมีข้อดีหรือจุดเด่นอยู่ในตัวของมันเอง หากผู้ดำเนินการฝึกอบรมหรือวิทยากร
สามารถเลือกใช้ให้เหมาะสมกับวิชา และกลุ่มผู้เข้าอบรมย่อมจะเกิดประโยชน์ทั้งสิ้น หากมีปัญหาหรือข้อขัดข้องเกิดขึ้น ในการใช้เทคนิค ใด อาจเกิดจากการใช้เทคนิคไม่เป็น หรือเลือกใช้เทคนิคไม่เหมาะสม ไม่ใช่เพราะเทคนิคไม่ดี
                  3. ในการฝึกอบรมแต่ละโครงการ หรือแต่ละวิชานั้น วิทยากรอาจเลือกใช้เทคนิคฝึก
อบรมหลาย ๆ เทคนิคประกอบกัน ไม่ว่าจะเป็นแบบวิทยากรหรือกลุ่มผู้เข้าอบรมเป็นศูนย์กลางก็ตาม หากคิดว่าจะทำให้การเรียนรู้ดีขึ้น
หลักการเลือกใช้เทคนิคในการฝึกอบรม
                  อาจารย์ กริช อัมโภชน์ กล่าวถึงหลักการเลือกใช้เทคนิคการฝึกอบรมไว้พอสรุปได้ดังนี้
                  1. ถ้าผู้เข้าอบรมมีความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับเรื่องที่อบรมมาบ้างแล้ว ควรจะใช้เทคนิคแบบกลุ่ม ผู้เข้าอบรม เป็นศูนย์กลาง แต่ถ้าหากผู้เข้าอบรมยังไม่มีความรู้ หรือประสบการณ์ในเรื่องที่อบรมมาก่อนเลยควรจะใช้เทคนิคแบบวิทยากร
เป็นจุดศูนย์กลาง (โดยอาจใช้ในช่วงแรก แล้วจึงใช้เทคนิคอื่นๆ ประกอบในช่วงอื่นๆ -ผู้เขียน)
                  2. หากวัตถุประสงค์ของหัวข้อวิชาต้องการให้ผู้เข้าอบรมเกิดความรู้ ความเข้าใจ ควรจะใช้เทคนิคฝึกอบรม แบบ วิทยากรเป็นศูนย์กลาง แต่หากวัตถุประสงค์ต้องการให้ผู้เข้าอบรมเกิดการเปลี่ยนแปลงทัศนคติ และความสามารถหรือทักษะ ควรจะใช้เทคนิคฝึกอบรมแบบกลุ่มผู้เข้าอบรมเป็นศูนย์กลาง (ทั้งนี้ เพราะเทคนิคฝึกอบรมแบบยึดกลุ่ม ผู้เข้าอบรมเป็นศูนย์กลาง จะเอื้ออำนวยให้ผู้เข้าอบรมได้เรียนรู้จากประสบการณ์ของตนเอง ผลงานวิจัยชี้ชัดว่า กากรเปลี่ยนแปลงทัศนคติมัก จะเกิดจากการ เรียนรู้ด้วยประสบการณ์ของตนเองมากกว่าเพียงคำบอกเล่าเท่านั้น การสร้างทักษะก็เช่นเดียวกัน จะเกิดขึ้นได้จากการ ทดลอง ปฏิบัติด้วยตนเอง ไม่ใช่เพียงจากการฟังหรือมองเห็นแต่เพียงอย่างเดียว - ผู้เขียน)
                  3. หากระยะเวลาในการฝึกอบรมมีน้อย ควรจะใช้เทคนิคฝึกอบรมแบบมีวิทยากรเป็นศูนย์กลาง หากมีระยะเวลามาก ควรจะใช้เทคนิคแบบกลุ่มเป็นศูนย์กลาง
                  4. หากสถานที่ในการฝึกอบรมมีจำกัด จนไม่อาจจะจัดให้เป็นอย่างอื่นได้ นอกจากแบบห้องเรียน ควรใช้เทคนิคฝึกอบรม แบบวิทยากรเป็นศูนย์กลาง แต่ถ้าหากสามารถจัดแบ่งเป็นกลุ่มได้ หรือจัดให้ทุกคนมองเห็นหน้ากันได้ ย่อมจะเป็นการ สะดวกที่จะใช้ เทคนิคฝึกอบรมแบบกลุ่มเป็นศูนย์กลาง
                  เมื่อพิจารณาจากหลักในการเลือกเทคนิคการฝึกอบรมดังระบุข้างต้นแล้ว จะเห็นได้ว่าแท้ที่จริงแล้วนั้น ปัจจัยหรือองค์ประกอบ ในการเลือกใช้เทคนิคฝึกอบรม 5 ประการด้วยกัน คือ
                  1) วัตถุประสงค์ของหัวข้อวิชา ว่าต้องการจะให้เกิดการเรียนรู้ด้านใดเป็นหลัก ความรู้ ความเข้าใจ ความสามารถ
หรือทัศนคติ
                  2) เนื้อหาวิชา ว่ามีแนวการอบรมอะไรบ้าง เกี่ยวข้องกับประเด็นใดบ้าง และแต่ละประเด็นจะเหมาะสมกับเทคนิค
ฝึกอบรมใด
                  3) วิทยากรผู้ดำเนินการฝึกอบรม ว่ามีความถนัดในการใช้เทคนิคฝึกอบรมใด
                  4) ผู้เข้ารับการฝึกอบรม ว่ามีความรู้พื้นฐานอะไร มีคุณสมบัติอย่างใด
                  5) ความพร้อมด้านทรัพยากร ได้แก่
                       - ระยะเวลา : ต้องคำนึงถึงทั้งระยะเวลาฝึกอบรม และระยะเวลาในการจัดเตรียม
                       - วัสดุอุปกรณ์ซึ่งจะใช้ในเทคนิคฝึกอบรมแต่ละเทคนิค
                       - ค่าใช้จ่าย : ทั้งค่าใช้จ่ายในการเตรียมการและค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นขณะที่ใช้เทคนิคการฝึกอบรมนั้น ๆ
                       - ความพร้อมของสถานที่ โสตทัศนูปกรณ์ ตลอดจนสิ่งอำนวยความสะดวก
                       นอกจากองค์ประกอบทั้ง 5 ประการดังกล่าวข้างต้นแล้ว ในคู่มือการเขียนโครงการฝึกอบรม/สัมมนา ของสถาบัน พัฒนาข้าราชการพลเรือน สำนักงาน ก.พ. [18] ยังได้เตือนให้ผู้จัดโครงการฝึกอบรมต้องคำนึง ไว้เสมอว่าองค์ประกอบ ที่สำคัญ อีกประการหนึ่งในการเลือกใช้เทคนิคการฝึกอบรมก็คือ หลักการเรียนรู้ของผู้ใหญ่ ทั้งนี้ เพราะเทคนิคการฝึกอบรมที่เลือกใช้นั้น ควรจะมีลักษณะที่เอื้ออำนวยต่อลักษณะการเรียนรู้ของผู้ใหญ่ให้มากที่สุด คือ ควรเป็นเทคนิค ซึ่ง
                       - ช่วยกระตุ้นความสนใจ และก่อให้เกิดความต้องการเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา
                       - เปิดโอกาสให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมมีส่วนร่วมในการคิด อภิปราย หรือกระทำกิจกรรม
                       - คำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล ทั้งในด้านความถนัด แนวคิด ประสบการณ์ และความสนใจ และเป็นหน้าที่ เหมาะสมกับลักษณะของกลุ่มผู้เข้าอบรม
                       - เปิดโอกาสให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมได้ทดลองปรับใช้หลักการ/ทฤษฎี และมีการให้ผลย้อนกลับ (Feedback) ก็จะทำให้เรียนรู้ได้เร็วขึ้น และมั่นใจในสิ่งที่เรียนรู้มากขึ้น


อัพเดทล่าสุด