การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ กับ .. ความสามารถในการแข่งขันยุคโลกาภิวัตน์


723 ผู้ชม


การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ กับ .. ความสามารถในการแข่งขันยุคโลกาภิวัตน์




ท่ามกลางการแข่งขันเสรีทางการค้าของกระแสโลก ที่ทุกอย่างสามารถเชื่อมโยงกันได้ด้วยระบบดิจิตอลในเวลาไม่กี่วินาที ส่งผลให้ประเทศที่ต้องการมีบทบาทและไม่เสียเปรียบในเวทีโลก ต้องแข่งขันในการเพิ่มศักยภาพและผลิตภาพของประเทศตน

ประเทศไทยก็เป็นอีกประเทศหนึ่งที่หลีกหนีไม่พ้นกระแสโลกยุคโลกาภิวัฒน์ เพราะฉะนั้น หากเราไม่เร่งเสริมศักยภาพในการแข่งขันของประเทศ โอกาสทางการค้าในเวทีโลกของเราก็จะก้าวไปสู่จุดเสี่ยง ปัจจัยสำคัญยิ่งซึ่งจะเป็นตัวตัดสินว่าประเทศเราจะเดินออกมาจากจุดเสี่ยงดังที่กล่าวมาแล้วได้หรือไม่นั้นก็คือ “ ทรัพยากรมนุษย์ ”

เป็นที่ทราบกันดีว่า “ ทุนมนุษย์ ” นั้น เป็นทุนที่สำคัญ ที่สุดในการพัฒนา เพราะทุนมนุษย์เป็นจุดเริ่มต้น เป็นทุนพื้นฐาน ที่จะนำไปสู่การพัฒนาในทุกๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นทุนเศรษฐกิจ ทุนสังคม หรือแม้แต่ทุนทางด้านเทคโนโลยีและโครงสร้างพื้นฐานทั่วไป

เมื่อ “ ทุนมนุษย์ ” มีความสำคัญมากต่อการพัฒนาของประเทศ จึงปฏิเสธไม่ได้ว่า “ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ” จะเป็นสิ่งจำเป็นและมีความสำคัญยิ่งตามมา

โดยทั่วไปนั้นองค์ประกอบในการดำเนินกิจกรรมพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ จะประกอบไปด้วย 3 ส่วนหลักๆ ที่ควรจะส่งเสริมให้มีการพัฒนาไปควบคู่กัน ได้แก่ ด้านการศึกษา ด้านการฝึกอบรม และด้านสุขภาพ

จากองค์ประกอบข้างต้น เราจะเห็นได้ว่าในด้านการศึกษาและด้านสุขภาพถือว่าเป็นปัจจัยพื้นฐานที่ต้องมีการวางแผนพัฒนากันอย่างเป็นระบบและหวังผลในระยะยาว ส่วนในด้านการฝึกอบรมนั้นมีความยืดหยุ่นกว่า เนื่องจากเราสามารถวิเคราะห์จากสภาพปัญหาและความต้องการในปัจจุบันและเริ่มลงมือได้ในทันที กล่าวคือสามารถแก้ไขปัญหาและเสริมสร้างศักยภาพได้ในเฉพาะจุดที่มีความต้องการเร่งด่วน

ตรงจุดนี้เองที่ ‘กระทรวงแรงงาน’ และ ‘ผลิตภาพแรงงาน’ จึงเข้ามาเกี่ยวข้องกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ จุดที่การพัฒนาผลิตภาพแรงงานมีความสัมพันธ์สอดคล้องกับบริบทในการแข่งขันของประเทศอย่างมีนัยสำคัญ โจทย์ที่ท้าทายของกระทรวงแรงงานก็คือ จะทำอย่างไรจึงจะดึงศักยภาพที่มีอยู่ มาสนับสนุนการฝึกอบรมบุคลากรวัยแรงงานของประเทศได้อย่างเหมาะสม

จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติระบุว่า มีประชากรที่อยู่ในวัยกำลังแรงงานมากกว่า 37 ล้านคน หากกระทรวงแรงงานสามารถตอบโจทย์ในการพัฒนากำลังคนของประเทศได้ ศักยภาพในการแข่งขันของประเทศในเวทีการค้าโลกก็จะไม่อยู่ในจุดที่เสียเปรียบ จึงเป็นที่มาของการกำหนดยุทธศาสตร์ในการเพิ่มผลิตภาพแรงงานอย่างครอบคลุม โดยกระทรวงแรงงานได้เป็นเจ้าภาพในการประสานความ ไม่สอดคล้องระหว่างอุปสงค์และอุปทานของตลาดแรงงาน ด้วยการทำเป็นข้อตกลงร่วมกันระหว่างกระทรวงแรงงาน กับ กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงอุตสาหกรรม ในการเร่งผลิตบุคลากรให้ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน

เริ่มต้นจากการสำรวจความต้องการจากตลาดแรงงานเสียก่อนว่า ตัวเลขความต้องการ ตลอดจนทักษะฝีมือที่สถานประกอบกิจการต้องการแรงงานจริงๆ คืออะไร ซึ่งจากการสำรวจก็พบว่า มีผู้จบการศึกษาในระดับ ปวช. เข้าสู่ตลาดแรงงานเพียงราวๆ 34,000 คน จากที่จบการศึกษาประมาณ 2 แสนคน ในขณะที่ความต้องการในตลาดมีถึง 372,320 คน ขณะเดียวกันกลับพบว่า ผู้ที่จบการศึกษาในระดับ ปวส. อยู่ที่ประมาณ 6 หมื่นคน แต่มีความต้องการจ้างอยู่ราวๆ 13,000 คน เท่านั้น ส่วนในระดับปริญญาตรีนั้นแม้จะพบว่ามีทางเลือกในการประกอบอาชีพสูงกว่า แต่ก็ยังพบปัญหาการจบการศึกษาในสาขาที่ไม่ตรงกับความต้องการในภาคอุตสาหกรรมเช่นกัน

จากข้อมูลดังกล่าวจึงเป็นที่มาของการกำหนดยุทธศาสตร์เพื่อเพิ่มศักยภาพและผลิตภาพแรงงานในทุกระดับอย่างเป็นระบบ เริ่มตั้งแต่การผลักดัน พระราชบัญญัติส่งเสริมการประกอบอาชีพ พ.ศ. .... ซึ่งให้ความสำคัญกับประสบการณ์ในการทำงาน เปิดโอกาสให้สามารถนำประสบการณ์ในสายอาชีพมาเทียบตำแหน่งและใช้ในการสมัครงานได้ และยังครอบคลุมไปถึงการกำหนดอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือด้วย

ต่อมาก็ทำการส่งเสริมการใช้ พ.ร.บ. ส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ. 2545 ซึ่งส่งเสริมโดยตรงให้สถานประกอบกิจการ เข้ามามีส่วนในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของประเทศ ด้วยการฝึกอบรมพนักงานของสถานประกอบกิจการ และสามารถนำค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นไปลดหย่อนภาษีได้ 200 % ซึ่งก็ต้องเร่งทำความเข้าใจกับสถานประกอบกิจการ ชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นในการพัฒนาทุนมนุษย์เพื่อส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรมในสายการผลิตของภาคอุตสาหกรรม

สุดท้ายกระทรวงแรงงานยังพร้อมที่จะเข้าไปเป็นตัวเสริมในการพัฒนากำลังคนระยะยาว ด้วยการร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการยกระดับมาตรฐานหลักสูตรการเรียนการสอน ตลอดจนการผลิตบุคลากรทางการศึกษา และพัฒนาอุปกรณ์การเรียนการสอนให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน

จะเห็นได้ว่าทั้งหมดที่กล่าวมาจำเป็นที่จะต้องมีการสร้างเครือข่าย บูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ – เอกชน ตลอดจนเสริมสร้างความเข้มแข็งของภาคอุตสาหกรรมด้วยการส่งเสริมและการพัฒนารูปแบบการฝึกอบรม เปิดโอกาสในการพัฒนางานวิจัยและค้นคว้าเกี่ยวกับเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ ซึ่งกระทรวงแรงงานจะต้องเป็นหน่วยงานหลักในการประสานทุกฝ่ายเข้าด้วยกัน จึงจะเกิดเป็นคำตอบที่ชัดเจนว่า เมื่อเรายึดหลักความสอดรับระหว่างอุปสงค์และอุปทานในเวทีการผลิตโลกแล้ว การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของประเทศ ก็จะสามารถตอบสนองต่อตลาดการค้าเสรีในเวทีโลกยุคโลกาภิวัตน์ได้อย่างไม่ยากเย็น

ถ้าเราจะเปิดใจและมองไปให้กว้างโดยไม่คำนึงถึงเรื่องประโยชน์ส่วนตัวมากนัก... มุ่งเรื่องของประเทศชาติ... ทรัพยากรมนุษย์ของชาติต้องได้รับการดูแลและพัฒนาอย่างจริงจัง... ด้วยความตั้งใจ...ด้วยความร่วมมือของทุกหน่วยงาน ตั้งแต่วัยเริ่มต้นจนถึงวัยสูงอายุ ...ทรัพยากรมนุษย์นั้นแม้จะสูงอายุก็ยังมีประโยชน์สำหรับประเทศชาติ


ผู้เขียน
จุฑาธวัช อินทรสุขศรี


อัพเดทล่าสุด