'สุขภาพจิตดี ทำงานมีความสุข' กลยุทธ์เพิ่มประสิทธิภาพคน


632 ผู้ชม


'สุขภาพจิตดี ทำงานมีความสุข' กลยุทธ์เพิ่มประสิทธิภาพคน




ท่ามกลางสถานการณ์การแข่งขันทางธุรกิจ และการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบทั้งจากปัจจัยภายในประเทศ และภายนอกประเทศ หนึ่งในความสำคัญที่องค์กรธุรกิจต่างกำลังพยายามผลักดันกันอย่างเต็มที่และต่อเนื่องคือ การพัฒนาศักยภาพและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของบุคลากร ซึ่งภารกิจที่ท้าทายนี้ตกอยู่กับฝ่ายพัฒนาทรัพยากรบุคคล(Human Resource Development) ที่ถือเป็นหนึ่งในส่วนยุทธศาสตร์ที่ไม่เพียงต้องทำหน้าที่นี้ แต่ยังต้องดูแลให้พนักงานทำงานกันอย่างมีความสุขด้วย


"การทำงานของเอชอาร์ วันนี้ จะดูแลแต่การสรรหาอุปกรณ์ เครื่องไม้เครื่องมือมาช่วยเพิ่มทักษะ และพัฒนาหลักสูตรให้บุคลากรอย่างเดียวไม่ได้ แต่ ต้องดูแลไปถึงการรักษา สภาพจิตใจของพนักงานในองค์กรด้วย "
ดร.มิชิตา จำปาเทศ รอดสุทธิ ผู้บริหาร สถาบันการบริหารและจิตวิทยา ซึ่งเชี่ยวชาญด้านการจัดอบรมผู้นำขององค์กร ที่ดำเนินงานมากว่า 20 ปี กล่าว

และขยายความว่า จากสถานการณ์เศรษฐกิจตกต่ำในสหรัฐอเมริกา ทำให้หลายบริษัทเริ่มปลดพนักงานออก คล้ายกับช่วงที่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจไทยปี 2540 ที่บริษัทต่างๆพยายามเอาตัวรอดด้วยการปลดคนออก หนึ่งในกลุ่มที่ถูกเพ็งเล็งพิเศษคือกลุ่มคนที่เงินเดือนสูงเพื่อจ้างคนใหม่เงินเดือนต่ำกว่ามากมาทดแทน ซึ่งแนวโน้มนี้กำลังเกิดขึ้นในประเทศไทย ซึ่งหากจะมองในมุมการเงิน วิธีนี้อาจดีสำหรับองค์กร แต่ในระยะยาวจะก่อให้เกิดปัญหาตามมา

มิชิตา แนะให้นำมาใช้ คือ ฝ่ายเอชอาร์จะต้องดึงศิลปะหรือศาสตร์ที่เกี่ยวกับจิตใจมาใช้ให้มากที่สุด และทำเป็นประจำอย่างต่อเนื่อง อันดับแรกต้องตระหนักก่อนว่า การดูแลจิตใจเป็นสิ่งสำคัญเทียบเท่ากับการดูแลความสุขทางกาย "วิธีการดูแลจิตใจที่ดีต้องทำควบคู่ไปกับการดูแลสภาพร่างกายให้แข็งแรง เพราะทั้งสองส่วนเชื่อมโยงและมีผลกระทบถึงกัน"

ซึ่งสามารถทำได้หลายวิธี เช่น รับฟังปัญหาอย่างเข้าอกเข้าใจและพยายามใส่ไว้ในระบบการทำงาน
เพื่อให้พนักงานเกิดความคุ้นเคย หรือจะสร้างเป็นวัฒนธรรมองค์กรเพื่อให้พนักงานเห็นความสำคัญเรื่องการดูแลจิตใจที่ทำควบคู่ไปกับการมีสุขภาพกายที่ดี

เธอเล่าว่า หลายองค์กรกำหนดเป้าหมายสูงเกินไป จนทำให้พนักงานทำงานด้วยความเครียด ซึ่งไม่ได้นำไปสู่การพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน หรือการจัดระบบและโครงสร้างที่ไม่เหมาะสม จะทำให้เกิดปัญหาต่อสภาพจิตใจของพนักงานได้ ซึ่งมีองค์กรขนาดใหญ่จำนวนไม่น้อยที่ระบบทำให้คนในองค์กรเกิดความเครียด ซึ่งเอชอาร์ต้องเข้าไปแก้ที่ต้นตอของปัญหาที่เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดความเครียดนี้ อีกวิธีที่พนักงานทำได้ด้วยตัวเองคือการออกกำลังกาย ซึ่งไม่จำกัดว่าต้องเข้าฟิตเนสเสมอ แต่ใช้วิธีง่ายๆเช่นเดินขึ้นบันไดแทนการใช้ลิฟต์ การเข้าหาธรรมชาติ หรือบางครั้งอาจใช้วิธีถอยห่างออกมา ปรับวิธีคิด และให้เวลากับตัวเองมากขึ้น เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ก่อนจะไปแก้ปัญหาให้คนอื่นฝ่ายเอชอาร์จำเป็นต้องเพิ่มศักยภาพให้กับตัวเอง เริ่มจากการทำความเข้าใจคนอื่นให้มากขึ้นแม้จะมั่นใจว่ามีความสามารถและทักษะ แต่บางครั้งการรู้มากเกินไปอาจทำให้ด่วนสรุปและตัดสินใจผิดพลาดได้จึงต้องเก็บข้อมูลให้มากที่สุด เพื่อนำไปวางแผนทำงานอย่างเป็นระบบ และลงมือทำอย่างต่อเนื่อง "ปัญหาเหล่านี้ไมได้เพิ่งจะเกิดขึ้น เพียงแต่วันนี้ปัญหามีความซับซ้อนมากขึ้น ฝ่ายเอชอาร์จึงต้องมีกลยุทธ์ที่เหมาะสม ซึ่งหัวใจของการแก้ปัญหา คือ ต้องเข้าใจและนำเทคนิคที่มีอยู่ไปใช้อย่างถูกต้องและเหมาะสมเท่านั้นเอง"

ที่มา : thannews.th.com

อัพเดทล่าสุด