20 คำถามกับทุนต่างประเทศ


1,321 ผู้ชม


20 คำถามกับทุนต่างประเทศ


1. ทุนมีกี่ประเภท
ถ้าหมายถึงทุนสนับสนุนค่าใช้จ่ายทางการศึกษา มีทั้งประเภททุนเต็มจำนวน (Full Scholarship) และทุนสนับสนุนค่าใช้จ่ายบางส่วน มีทั้งทุนที่มีเงื่อนไขว่าต้องรายงานผลการเรียนและทุนที่ไม่มีข้อผูกมัดใด ๆ ทั้งสิ้น
2. ควรเริ่มต้นในการขอทุนยังไง
ก่อนอื่นต้องถามตัวเองว่าตัวเรามีความสนใจในการเรียนในด้านใด และจะกลับมาทำอะไร วางเป้าหมายไว้ให้ดี ต่อจากนั้นมองหาประเทศที่ต้องการเข้าเรียนและศึกษารายละเอียดทุนต่าง ๆ ว่ารัฐบาลของประเทศนั้น ๆ ให้ทุนอะไรบ้าง ไม่ว่าจากทางมหาวิทยาลัย เว็บไซต์ นิตยสารการศึกษา เป็นต้น ที่สำคัญต้องปฏิบัติตามขั้นตอนและกฎเกณฑ์ที่ทุนตั้งไว้ให้เรียบร้อย
3. ขั้นตอนการคัดเลือกมีอะไรบ้าง
ในการสมัครขอรับทุน ขั้นแรกเมื่อส่งใบสมัครจะถูกพิจารณาก่อนว่าคุณสมบัติตรงตามที่ตั้งไว้หรือไม่ หลังจากนั้นจะมีการจัดสอบข้อเขียนและสัมภาษณ์ แล้วจะมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการดูแลทุนการศึกษานั้น ๆ โดยจะตั้งคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพิจารณาคุณสมบัติผู้รับทุนจากผลการสอบและประวัติการศึกษา รวมถึงผลงานทางวิชาการอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม ขั้นตอนการพิจารณาคัดเลือกอาจแตกต่างกันไปตามเงื่อนไข
4. อยากสมัครทุน DAAD ต้องเตรียมเอกสารอะไรบ้าง
เอกสารที่ต้องเตรียมสำหรับการสมัครทุนนี้ คือ ใบสมัครพร้อมรูปถ่าย (ดาวน์โหลดใบสมัครได้จาก www.bankgkok.diplo.de) ประวัติส่วนตัวเขียนด้วยลายมือ เป็นเรียงความ ประวัติส่วนตัว (พิมพ์) แผนการศึกษาหรือแผนการวิจัย ใบระเบียนแสดงผลการศึกษา (Transcript) ใบรับรองการเรียนภาษาเยอรมัน จดหมายรับรอง 2 ฉบับจดหมายรับรองการจ้างงาน จดหมายตอบรับจากทางมหาวิทยาลัยในเยอรมนี ถ้าด้านแพทยศาสตร์ต้องมีใบประกอบโรคศิลปะ เอกสารทั้งหมดเตรียมไว้ 4 ชุด เป็นภาษาอังกฤษหรือเยอรมัน ยกเว้นประวัติส่วนตัวเขียนด้วยลายมือเป็นเรียงความ 1 ชุด ย้ำหากเตรียมเอกสารได้ไม่ครบถ้วนอาจถูกคัดออก และถ้าจะให้ดี ควรหมั่นเช็กข้อมูลในเว็บไซต์


5. การจะสมัครทุนต่างประเทศ ควรมีผลสอบอะไรบ้าง
ที่สำคัญเลยควรจะต้องมีผลสอบ IELTS และ TOEFLเพื่อรับรองว่าเรามีทักษะการใช้ภาษาอังกฤษในระดับใดทั้งนี้ขึ้นอยู่กับมหาวิทยาลัยหรือเกณฑ์รับสมัครทุนต่าง ๆ ด้วยว่าต้องการผลสอบในระดับคะแนนเท่าไหร่ สำหรับIELTS ส่วนมากรับ 6.5 ขึ้นไป และปัจจุบันนี้บางมหาวิทยาลัยในอังกฤษเปิดรับผล TOEFL ด้วยแล้ว บางทุนที่มาจากประเทศอื่น ๆ เช่น ทุนรัฐบาลญี่ปุ่น จะต้องมีผลการสอบวัดระดับภาษาญี่ปุ่น (JLPT) ด้วย
6. ถ้ารับทุนการศึกษาจากต่างประเทศจะต้องชดใช้ทุนไหม
ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขการให้ทุน แต่ส่วนมากทุนรัฐบาลต่างประเทศจะมีลักษณะเป็นทุนให้เปล่า ซึ่งอาจจะเป็นทุนเต็มจำนวนหรือทุนบางส่วน เพื่อสนับสนุนความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ทั้งนี้ยังมีความคาดหวังว่าผู้ที่ได้รับทุนจะกลับไปทำประโยชน์ให้กับประเทศด้วย
7. มีทุนอื่น ๆ ที่ไม่ได้มาจากรัฐบาลต่างประเทศไหม
นอกเหนือจากทุนรัฐบาลต่างประเทศแล้ว ยังมีทุนต่าง ๆ ที่มาจากองค์กร หรือบริษัทเอกชน สำหรับจากทุนองค์กร หรือทุนมูลนิธิต้องตามด้วยว่าองค์กรนั้น ๆ ให้ความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยที่เราต้องการเข้าศึกษาหรือเปล่า
8. ถ้าได้ทุนแล้ว แต่ไม่สามารถผ่านการคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยในต่างประเทศได้ จะทำยังไง
ในกรณีที่แหล่งทุนอนุมัติให้ทุนเรียบร้อยแล้ว แต่ผู้สมัครไม่สามารถผ่านเกณฑ์การรับเข้าของมหาวิทยาลัยใด ๆ ได้ เท่ากับว่าต้องสละสิทธิ์ทุนนั้นไปโดยปริยาย
9. ต้องเก่งแค่ไหนถึงขอทุนได้
ทุนส่วนมากมักให้กับผู้ที่มีผลการเรียนดี-ดีมาก โดยทั่วไปแล้วคุณสมบัติ คือ เกรดเฉลี่ย 3.00 ขึ้นไป บางทุนรับเฉพาะเกียรตินิยม เช่น ทุนรัฐบาลญี่ปุ่น ทุนรัฐบาลนิวซีแลนด์ เป็นต้น ผลการสอบ IELTS 6.5 ขึ้นไป หรือ TOEFL 550 ขึ้นไป นอกจากผลการเรียนดีแล้วต้องรู้จักการปรับตัวให้เข้ากับวัฒนธรรมที่แตกต่าง พร้อมเปิดโลกทัศน์การเรียนรู้ใหม่ ๆ ได้


10. ถ้าอยากไปเรียนในประเทศยุโรป มีทุนไหนน่าสนใจบ้าง
นี่เลย ทุนอีราสมุส มุนดุส เป็นทุนสหภาพยุโรป ให้เพื่อไปเรียนต่อปริญญาโทในประเทศต่าง ๆ ที่เป็นประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป นักเรียนทุนจะได้เรียนในประเทศต่าง ๆ อย่างน้อย 2 ประเทศในยุโรป แล้วแต่หลักสูตร ทุนนี้น่าสนใจมากเพราะผู้ที่ได้รับทุนจะได้เรียนรู้วัฒนธรรมต่าง ๆ อย่างมากมาย
11. letter of recommendation คืออะไรจำเป็นต้องมีไหมletter of recommendation คือ จดหมายรับรอง เรียกง่าย ๆ ว่า เป็นจดหมายรับรองว่าผู้สมัครรับทุนมีความรู้ความสามารถ แสดงว่าเรามีความสามารถอย่างไร เคยทำผลงานอะไรมาก่อน และมีพฤติกรรมเป็นอย่างไร เพื่อทำให้ผู้พิจารณาเห็นภาพว่าเรามีคุณสมบัติอย่างไร โดยการเขียนรับรองจากอาจารย์ที่ปรึกษา หรืออาจารย์ที่ดูแลการสอนให้กับผู้สมัครสมัยเรียน รวมถึงอาจจะเป็นหัวหน้างานด้วยก็ได้ส่วนมากนิยมให้อาจารย์เขียนรับรองให้ ขอบอกทิ้งท้ายไว้
ว่า ควรจะมีจดหมายรับรองด้วย

12. ตอนนี้เทรนด์เกาหลีกำลังแรง มีทุนไปเกาหลีบ้างไหม

รัฐบาลเกาหลีใต้มีทุนศึกษาต่อปริญญาโท-เอก และทุนวิจัยระยะเวลา 1 ปี และ 6 เดือน รวมทั้งมีทุนจากสถาบันการศึกษาให้แก่ชาวไทยด้วย ทุนรัฐบาลประกอบด้วย ทุนในสาขาสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ ทุนวิจัย เช่น ทุนจาก KFAS หรือThe Korea Foundation for Advanced Studies เป็นหน่วยงานที่มีเป้าหมายในการสนับสนุนความร่วมมือในด้านการเรียนในระดับนานาชาติ เพื่อสนับสนุนความก้าวหน้าทางด้านวิชาการ และความเข้าใจอันดีระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องที่มาจากต่างภาษาและวัฒนธรรม สามารถสอบถามเรื่องทุนรัฐบาลเกาหลีได้ที่ สถานทูตเกาหลีใต้ประจำประเทศไทย โทร. 0-2247-7537
13. ถ้าอยากขอทุนเพื่อเรียนเกี่ยวกับดนตรีโดยเฉพาะเลยมีไหม
มีทุนฝึกอบรมดุริยางคศิลป์ (คลาสสิก) ประเทศออสเตรีย คุณสมบัติคือ เป็นอาจารย์ในสถาบันอุดมศึกษาสังกัดคณะกรรมการการอุดมศึกษา หรือเป็นนิสิตชั้นปีที่ 4 สาขาดุริยางคศิลป์ (คลาสสิก) หรือเรียนจบปริญญาตรีในสาขานี้หรือเทียบเท่า อายุไม่เกิน 30 ปี ประเภท Voiceและอายุไม่เกิน 35 ปี ประเภท Instrument สามารถติดตามรายละเอียดในเว็บ www.inter.mua.go.th
14. อยากสมัครทุนชีฟนิ่ง มีวิธีการสมัครอย่างไร
ปัจจุบันทุนนี้ไม่เปิดรับบุคคลทั่วไปแล้ว รับเฉพาะผู้ที่สังกัดในองค์กรที่ได้รับหนังสือเชิญจากสถานทูตอังกฤษและได้รับการเสนอชื่อเท่านั้น
15. ถ้าบางทุนมีเงื่อนไขว่าต้องมีจดหมายตอบรับจากมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ เราควรทำอย่างไร
นั่นหมายความว่า ผู้สมัครต้องได้จดหมายตอบรับจากมหาวิทยาลัยทางนั้นมาก่อน จึงมีสิทธิ์ยื่นพร้อมใบสมัครและหลักฐานอื่น ๆ ให้กับหน่วยงานที่ดูแลทุนได้ภายหลัง ถ้าไม่มีจดหมายตอบรับก็ไม่สามารถสมัครได้ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขอีกเช่นกัน แต่ก่อนที่จะเข้าถึงขั้นตอนการรับจดมายจะต้องติดต่อกับมหาวิทยาลัยทางต่างประเทศเอง โดยผ่านทางอินเทอร์เน็ตเป็นหลัก
16. ทุนอบรมระยะสั้นมีระยะเวลานานเท่าไร
ทุนอบรมอยู่ในช่วงระยะเวลา 1-3 เดือน บางโปรแกรมจัดให้มีการสัมมนาในสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ด้วย


17. ทุนการศึกษาต่างประเทศ ครอบคลุมค่าใช้จ่ายทั้งหมดหรือไม่
ขึ้นอยู่กับว่าเป็นทุนเต็มจำนวนหรือไม่ ถ้าเต็มจำนวนก็ครอบคลุมทั้งหมด ทั้งค่าที่พัก ค่าใช้จ่ายส่วนตัวรายเดือนค่าเล่าเรียน ค่าบำรุงห้องสมุด ค่าเดินทาง แต่ถ้าเป็นทุนสนับสนุนบางส่วน ผู้สมัครต้องออกค่าใช้จ่ายเอง เช่น ค่าเล่าเรียนบางส่วน ค่าเดินทาง เป็นต้น
18. ไม่เก่งภาษาขอทุนได้ไหม
มีโอกาสน้อยมากเลย เพราะการพิจารณาให้ทุนนั้นเรื่องภาษาเป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะอย่างน้อยการสัมภาษณ์ก็เป็นภาษาอังกฤษ และต้องเรียนในหลักสูตรภาษาอังกฤษด้วย
19. ถ้าจะขอทุนวิจัยต้องทำอย่างไร
เช่นเคยเริ่มต้นด้วยการศึกษาข้อมูล รายละเอียดทุนต่าง ๆ ก่อน และทุนวิจัยนั้นจะต้องมีโครงร่างวิจัย (Research Proposal) ไปนำเสนอก่อนด้วย
20. จะขอทุนการศึกษา เริ่มขอได้ตั้งแต่เรียนอยู่ในระดับไหน
ทุนการศึกษามีให้ตั้งแต่น้อง ๆ ที่เรียนอยู่ระดับมัธยมฯ เช่น ทุนอียิปต์ที่ให้นักเรียนมัธยมต้น แต่ทุนส่วนมากจะเป็นทุนในระดับอุดมศึกษาขึ้นไป เน้นทุนศึกษาระดับปริญญาโท ปริญญาเอกและทุนวิจัย

 


20 คำถามเกี่ยวกับทุนในเมืองไทย

 

1. ทุน ก.พ. เปิดรับสมัครช่วงไหน
ทุนรัฐบาลที่ทางสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ได้ประกาศเปิดรับสมัครแบ่งออกเป็น 2 ระดับ คือ ระดับมัธยมศึกษา เพื่อรับทุนในการศึกษาต่อระดับปริญญาตรี จะเปิดรับสมัครในช่วงเดือนพฤศจิกายน เช่น ทุนเล่าเรียนหลวง, ทุนไทยพัฒน์, ทุนกลาง, ทุน ODOS เป็นต้น ส่วนทุนรัฐบาลที่มอบให้สำหรับที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรีเพื่อรับทุนศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น จะเปิดรับสมัครรับทุนช่วงเดือนมีนาคมของทุกปี สามารถตรวจสอบรายละเอียดได้ที่ www.ocsc.go.th และ www.scholar.ocsc.go.th
2. เรียนไม่เก่งมีสิทธิ์ขอทุนไหม
สำหรับผู้ที่เรียนไม่เก่งมากนัก แต่ต้องการทุนการศึกษา ถ้าเป็นทุนรัฐบาลรับสมัครเป็นประจำทุกปี คิดว่าคงหมดสิทธิ์เนื่องจากทางรัฐบาลได้กำหนดเกรดเฉลี่ยสะสมไว้เกือบทุกทุนว่าต้องได้ 3.00 ขึ้นไป หรือบางทุนต้องไม่ต่ำกว่า 3.50 แต่ถ้าเป็นคนที่มีความสามารถทางด้านกีฬาดนตรีหรืออื่น ๆ ในระดับยอดเยี่ยมก็สามารถสมัครรับทุนได้ในบางมหาวิทยาลัยที่มีทุนสนับสนุนทางการศึกษาในส่วนนี้อยู่บ้าง
3. ทุน ODOS คืออะไร
ทุน One Dicstrict One Scholarship หรือ ODOS เป็นทุนการศึกษาของรัฐบาลที่เปิดโอกาสให้แก่นักเรียนในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายที่ได้รับคัดเลือกจากทุกอำเภอ และกิ่งอำเภอที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ทางการศึกษา แต่มีผลการเรียนและมีความประพฤติดี ได้มีโอกาสศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีทั้งในและต่างประเทศ สำหรับการศึกษาในต่างประเทศต้องเป็นประเทศกลุ่มที่ไม่ใช้ภาษาอังกฤษ อาทิ เยอรมนี, ฝรั่งเศส, เนเธอร์แลนด์, จีน, ญี่ปุ่น, อิตาลี เป็นต้น ปัจจุบันมีนักเรียนทุน ODOS จำนวน 2 รุ่นแล้ว
4. นักเรียนทุน ODOS มีการฝึกอบรมกันก่อนเดินทางไปเรียนต่างประเทศบ้างหรือเปล่า
ปัจจุบันทาง ก.พ. มีการจัดอบรมทางภาษาและมีการเรียนรู้วัฒนธรรมของประเทศที่นักเรียนทุนได้เลือกไปกันก่อนเป็นเวลา 3 เดือน ที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒองครักษ์ ยกเว้นผู้ที่เดินทางไปประเทศจีนจะได้ไปฝึกอบรมที่มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย ซึ่งการฝึกอบรมนี้จะช่วยลดปัญหาทางด้านภาษาเมื่อไปถึงในประเทศนั้น ๆ ได้
5. ตอนนี้มีศูนย์ที่ดูแลนักเรียนไทยในต่างประเทศที่ไหนบ้าง
สำหรับศูนย์ดูแลนักเรียนไทยในต่างประเทศของรัฐบาล (ก.พ.) มีอยู่ในประเทศต่าง ๆ ดังนี้ ประเทศอังกฤษ (ลอนดอน), ประเทศสหรัฐอเมริกา (วอชิงตัน ดี.ซี.), ประเทศออสเตรเลีย (แคนเบอร์รา), ประเทศญี่ปุ่น (โตเกียว), ประเทศฝรั่งเศส (ปารีส) นักเรียนไทยสามารถเข้าไปปรึกษาและให้ความช่วยเหลือเรื่องราวต่าง ๆ ในขณะที่เรียนอยู่ในประเทศนั้น ๆ ได้
6. ทุนเล่าเรียนหลวงกับทุนรัฐบาลต่างกันอย่างไร
ทุนเล่าเรียนหลวงกับทุนรัฐบาล (ก.พ.) เป็นทุนที่ได้รับการจัดสรรจากรัฐบาลเช่นเดียวกัน แต่แตกต่างกันตรงที่วัตถุประสงค์ของการจัดตั้งทุนนี้ขึ้น ทุนเล่าเรียนหลวงเป็นทุนที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าได้จัดตั้งขึ้นเพื่อพระราชทานแก่ผู้ที่มีผลการเรียนยอดเยี่ยมเพื่อไปศึกษาต่อในต่างประเทศ ซึ่งต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งเป็นทุนที่มอบให้ผู้สมัครทุนที่มีผลการเรียนยอดเยี่ยมเช่นเดียวกันเพื่อศึกษาต่อในต่างประเทศระดับปริญญาตรี โดยต้องกลับมาทำงานที่เมืองไทยในระยะเวลาที่ทุนได้กำหนดไว้ แต่ไม่จำเป็นต้องทำงานในสังกัดในหน่วยงานของราชการเหมือนกับทุนรัฐบาลอื่น ๆ ที่มีสังกัดการทำงานไว้ในข้อผูกพัน
7. ทุนไทยพัฒน์คืออะไร
ทุนนี้เป็นทุนการศึกษาที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช มหาราชพระราชทานชื่อทุน “ไทยพัฒน์” ซึ่งเป็นทุนที่ได้จัดสรรเพื่อนักเรียนที่กำลังศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายกระจายทั่วทุกภาคของประเทศ เพื่อให้มีโอกาสไปศึกษาต่อในต่างประเทศ เพื่อเตรียมกำลังคนในการกลับมาพัฒนาประเทศในสาขาวิชาต่าง ๆ
8. อย่างนี้แล้วทุนไทยพัฒน์กับทุนเล่าเรียนหลวงแตกต่างกันอย่างไร
แตกต่างกันตรงที่การจัดสรรทุน เนื่องจากที่ผ่านมาตั้งแต่เริ่มมีการให้ทุนเล่าเรียนหลวง ผู้ที่ได้รับทุนส่วนใหญ่เป็นผู้ที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ แทบทั้งสิ้น ดังนั้น ผู้ที่อาศัยอยู่ในต่างจังหวัด และเรียนในต่างจังหวัดจึงมีโอกาสได้รับทุนเล่าเรียนน้อยกว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของเราพระองค์ทรงเล็งเห็นว่านักเรียนทั่วทุกภาคของประเทศควรได้รับสิทธิ์ในการรับทุนไปศึกษาต่อต่างประเทศเช่นกันพระองค์จึงทรงพระราชทานชื่อทุนนี้ขึ้น โดยทุนนี้มีการกำหนดจำนวนนักเรียนผู้มีสิทธิ์รับทุนไว้อย่างเท่าเทียมทั่วทุกภาคของประเทศ
9. มีทุนสำหรับนักศึกษาแพทย์และพยาบาลบ้างไหม
ทุนกองทัพ, ทุนวิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า,วิทยาลัยพยาบาลกองทัพบก, วิทยาลัยพยาบาลทหารอากาศ รวมถึงทุนไฟเชอร์ (Pfizer) ที่มีข้อแม้ว่าต้องเป็นนักศึกษาหรือนิสิตในคณะแพทยศาสตร์ สาธารณสุขศาสตร์เภสัชศาสตร์ หรือวิทยาศาสตร์ ที่เรียนอยู่ในมหาวิทยาลัยมหิดล ขอนแก่น เชียงใหม่ และสงขลานครินทร์ และทุน GSK (เพื่อพยาบาลโดยเฉพาะ) เป็นทุนที่ต้องการสนับสนุนทางด้านการศึกษาในสาขาพยาบาลศาสตร์และกลับมาทำงานเป็นพยาบาลชุมชน ทั้งสองทุนหลังนี้เป็นทุนเอกชนที่มอบให้สำหรับนักเรียนแพทย์และพยาบาล เพื่อการเรียนระดับปริญญาภายในประเทศ
10. ทุนรัฐบาลมีข้อผูกพันกับผู้ขอทุนบ้างหรือเปล่า
สำหรับทุนรัฐบาลทุกประเภทมีข้อผูกพันในเรื่องของการกลับมาทำงานใช้ทุนในประเทศไทย ส่วนมากแล้วต้องกลับมาทำงานรับราชการเพื่อชดใช้ทุนเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 2 เท่าของระยะเวลาที่ไปศึกษาต่อ เช่น ขอทุนจาก ก.พ. ไปศึกษาต่อในระดับปริญญาโทที่สหรัฐอเมริกา เป็นเวลา 2 ปี เราต้องกลับมาทำงานในหน่วยงานราชการที่ให้ทุนในเมืองไทยเป็นเวลา 4 ปี เป็นต้น
11. ได้รับทุนรัฐบาลไปเรียนจนจบแล้ว ไม่กลับมาทำงานใช้ทุนที่เมืองไทยได้ไหม
ได้ แต่ถ้าผู้ที่ได้รับทุนไปแล้วไม่สามารถปฏิบัติตามข้อผูกพันของทุนรัฐบาลได้นั้น ต้องชำระค่าปรับเต็มจำนวนกับทุนที่ได้รับแล้วและต้องจ่ายเพิ่มค่าปรับเพิ่มอีก 2 เท่าของทุนที่ได้รับไป แต่ทางที่ดีก่อนสมัครรับทุนควรคิดอย่างรอบคอบเสียก่อนว่าต้องการกลับมาทำงานรับราชการ หรือต้องการกลับมาช่วยทำงานพัฒนาประเทศไทยหรือไม่ ซึ่งถ้าตอบว่าไม่ ก็ไม่ควรสมัครขอรับทุนรัฐบาลตั้งแต่ต้น
12. ทุนการศึกษาในเมืองไทยแบ่งออกเป็นประเภทใดบ้าง
ทุนที่ให้โดยองค์กรในประเทศไทยนั้นแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทด้วยกันคือ ทุนรัฐบาลและเอกชน โดยทุนทั้ง 2 ประเภทนี้มีทุนที่เป็นแบบมีข้อผูกพัน และเป็นทุนให้เปล่ากล่าวคือ ผู้ที่ขอทุนนั้น ๆ ไม่ต้องกลับมาทำงานชดใช้ทุนหรือปฏิบัติตามข้อกำหนดหลังจากได้รับทุนจนจบการศึกษาแล้ว
13. อยากสอบถามข้อมูลเรื่องทุนสามารถสอบถามได้ที่ไหนบ้าง
ถ้าเป็นทุนรัฐบาลสามารถสอบถามข้อมูลโดยละเอียดได้ที่ สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ถนนพิษณุโลก (ตรงข้ามทำเนียบรัฐบาล) โทร. 0-2281-3333 และศูนย์แนะแนวการศึกษาต่างประเทศ สำนักงานก.พ. ที่ สยามสแควร์ ซอย 7 โทร. 0-2252-9737-8 หรือสายด่วน 1786 หรือที่เว็บไซต์ www.ocsc.go.th, www.studyabroad.ocsc.go.th
14. เราจะหาข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับทุนได้ที่ไหนบ้าง
นอกจากสำนักงาน ก.พ. หรือตามเว็บไซต์ขององค์กรต่าง ๆ ที่เราต้องการขอทุนแล้ว ก็ยังมีวิธีทางอื่นในการเข้าถึงข้อมูลทุนการศึกษาอีก เช่น เว็บไซต์วิชาการดอทคอม (www.vchakarn.com), นิตยสารการศึกษาวันนี้, หนังสือทุนเรียนฟรีมีทั่วโลก เป็นต้น


15. ศูนย์แนะแนวของ ก.พ. กับศูนย์แนะแนวการศึกษาของเอกชนต่างกันอย่างไร
แตกต่างกันตรงที่ศูนย์แนะแนวการศึกษาต่อต่างประเทศของ ก.พ. ไม่ได้ดูแลนักเรียนที่ไปเรียนต่อต่างประเทศโดยทุนส่วนตัวโดยตรง และการไปขอคำปรึกษาเกี่ยวกับการเรียนต่อ ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น และไม่ได้เป็นตัวแทนของสถาบันการศึกษาใด ๆ โดย ก.พ. จะให้ข้อมูลทั่วไป ในขณะที่เอกชนเป็นตัวแทนของสถาบันการศึกษาต่าง ๆ
16. ก.พ. มีหน้าที่อะไรบ้าง
สำนักงาน ก.พ. เป็นหน่วยงานของรัฐแห่งเดียวที่มีหน้าที่ดูแลจัดการการศึกษาแก่นักเรียนที่ไปเรียนต่อยังต่างประเทศตามกฎหมาย และโดยหลักการแล้ว ก.พ. มีหน้าที่จัดการการศึกษาให้ความช่วยเหลือแก่นักเรียนที่เรียนต่อในต่างประเทศ และมีบทบาทสำคัญในการจัดสรรทุนต่าง ๆ ของรัฐบาลด้วย
17. สามารถดูมาตรฐานของแต่ละสถาบันของประเทศต่าง ๆ ได้ที่ไหน
การตรวจสอบมาตรฐานสถาบันต่าง ๆ ที่เราต้องการไปเรียนต่อนั้น มีความสำคัญในเรื่องของการกลับมาใช้วิทยฐานะในการทำงาน ดังนั้นก่อนไปควรตรวจสอบให้ดีกว่าสถาบันเหล่านั้นได้รับการรับรองจากทาง ก.พ. หรือไม่สามารถตรวจสอบได้ที่ www.ocsc.go.th/structure/structure_assure_inter.asp
18. นอกจากสำนักงาน ก.พ. ที่ถนนพิษณุโลกแล้ว ยังมีที่อื่น ๆ อีกไหมที่ให้คำปรึกษาเกี่ยวกับเรื่องทุนและการศึกษาต่อต่างประเทศ
เกี่ยวกับทุนต่าง ๆ สามารถสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับทุนรัฐบาลได้ที่ ศูนย์แนะแนวการศึกษาต่อต่างประเทศของสำนักงาน ก.พ. ได้ที่สยามสแควร์ ซอย 7 โทร. 0-2252-9737
19. นอกจากทุนระยะยาวแล้ว มีทุนระยะสั้นบ้างหรือเปล่า
นอกเหนือไปจากทุนเพื่อไปศึกษาต่อในระดับปริญญาตรี-เอกแล้ว ยังมีการให้ทุนประเภทฝึกอบรมดูงานอีก เช่น ทุนสำหรับผู้บริหาร, ทุนพัฒนาอาจารย์ เป็นต้น โดยทุนเหล่านี้ผู้ที่ขอรับทุนจะได้ศึกษาเพียงระดับประกาศนียบัตรเท่านั้น แต่จำนวนของทุนก็มีมากกว่าทุนที่ไปศึกษาต่อในระดับปริญญา
20. ทางรัฐบาลมีทุนสำหรับผู้พิการบ้างหรือเปล่า
ปัจจุบันทางรัฐบาลมีการจัดสรรทุนเพื่อผู้พิการไว้ด้วย เพื่อเปิดโอกาสให้ไปศึกษาต่อในต่างประเทศ โดยใน ปี พ.ศ. 2550 ได้มีการจัดสรรทุนดังนี้ ทุนสำหรับผู้พิการทางการเห็น ในสาขาวิชา Linguistic จำนวน 2 ทุน ระดับปริญญาโทที่ประเทศสหรัฐอเมริกา และทุนสำหรับผู้พิการทางการได้ยิน ในสาขา ICT in Education ระดับปริญญาโท จำนวน 2 ทุน ที่ประเทศอังกฤษและสหรัฐอเมริกา



ทุนการศึกษาอื่นๆ

International Training Program (ITPs)

องค์กร: De Vlaamse Interuniversitaire Raad (University Development Cooperation)

ประเทศ: เบลเยี่ยม

Website: https://www.vliruos.be/index.php?navid=425&direct_to=Scholarships

โครงการแลกเปลี่ยนศึกษาภาษาและวัฒนธรรม Aupair

องค์กร: US Department of State

ประเทศ: สหรัฐอเมริกา

Website: https://www.yesthailand.org/prog_aupair.html

 

The Netherlands Fellowship Programs for Short Courses (2 อาทิตย์ - 1 ปี)

องค์กร: The Netherlands Ministry of Foreign Affairs

ประเทศ: เนเธอร์แลนด์

Website: https://www.nuffic.nl/nfp/

 

The Fujitsu Asia Pacific Scholarship (Fujitsu Scholarship) Program

องค์กร: Fujitsu Limited

ประเทศ: สหรัฐอเมริกา

Website: https://www.fujitsu.com/global/about/responsibility/community/scholarship/

 

Australian Leadership Awards (ALA)

องค์กร: Australian Government

ประเทศ: ออสเตรเลีย

Website: https://www.ausaid.gov.au/scholar/ala.cfm

 

Ernst Mach Grant

สำหรับสาขา: Natural Sciences, Technical Sciences, Medicine, Veterinary Medicine, Agriculture and Forestry, Social Sciences, Law and Economics, Humanities and Theology, Fine Arts

องค์กร: กระทรวงศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมออสเตรีย

ประเทศ: ออสเตรีย

Website: https://www.grants.at

 

Franz Werfel Grant

สำหรับสาขา: Humanities and Theology, Linguistics และ Literature Sciences

องค์กร: กระทรวงศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมออสเตรีย

ประเทศ: ออสเตรีย

Website: https://www.grants.at

 

โครงการนักศึกษาวิทยาลัยวิชาชีพ

องค์กร: รัฐบาลญี่ปุ่น (Monbukagakusho: MEXT Scholarship)

ประเทศ: ญี่ปุ่น

Website: https://www.mext.go.jp/a_menu/koutou/ryugaku/06022321/002.pdf

 

โครงการพัฒนาครู

องค์กร: รัฐบาลญี่ปุ่น (Monbukagakusho: MEXT Scholarship)

ประเทศ: ญี่ปุ่น

Website: https://www.mext.go.jp/a_menu/koutou/ryugaku/06022321/002.pdf

 

โครงการนักศึกษาวิจัย

องค์กร: รัฐบาลญี่ปุ่น (Monbukagakusho: MEXT Scholarship)

ประเทศ: ญี่ปุ่น

Website: https://www.mext.go.jp/a_menu/koutou/ryugaku/06022321/002.pdf

 

International Course Training the Trainer

องค์กร: Radio Nederland Training Center

ประเทศ: เนเธอร์แลนด์

Website: https://www.rntc.nl

International Course Broadcast Journalism "Sport and Society"

องค์กร: Radio Nederland Training Center

ประเทศ: เนเธอร์แลนด์

Website: https://www.rntc.nl

 

International Course Facts ad Formats Creative Ways of Informine People

องค์กร: Radio Nederland Training Center

ประเทศ: เนเธอร์แลนด์

Website: https://www.rntc.nl

 

International Course Interest for Journalist

องค์กร: Radio Nederland Training Center

ประเทศ: เนเธอร์แลนด์

Website: https://www.rntc.nl

 

อัพเดทล่าสุด