พระราชบัญญัติ (ใหม่) สรุปพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงานพ.ศ. ๒๕๕๐


1,022 ผู้ชม


พระราชบัญญัติ (ใหม่)
สรุปพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงานพ.ศ. ๒๕๕๐

พฤหัสบดี ที่ 5 เดือน มิถุนายน พ.ศ.2551
 

สรุปพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงานพ.ศ. ๒๕๕๐

มาตรา ๑  พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. ๒๕๕๐”

มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

มาตรา ๓  พระราชบัญญัตินี้ไม่ใช้บังคับแก่กรณี ดังต่อไปนี้

(๑) กิจการปิโตรเลียมตามกฎหมายว่าด้วยปิโตรเลียมเฉพาะที่อยู่ในแปลงสำรวจหรือระหว่างแปลงสำรวจที่เกี่ยวเนื่องกัน

(๒) กิจการปิโตรเลียมตามกฎหมายว่าด้วยองค์กรร่วมไทย – มาเลเซีย และกฎหมายว่าด้วยองค์กรร่วมอื่นที่มีลักษณะเดียวกันเฉพาะในพื้นที่พัฒนาร่วม หรือพื้นที่ที่มีความหมายอย่างเดียวกัน

(๓) มาตรฐานความปลอดภัยของการขนส่งและการเก็บรักษาน้ำมันเชื้อเพลิงตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิง

(๔) การขออนุญาตเป็นผู้ค้าน้ำมันเชื้อเพลิง การแจ้งปริมาณการค้า การสำรอง และคุณภาพน้ำมันเชื้อเพลิงตามกฎหมายว่าด้วยการค้าน้ำมันเชื้อเพลิง

 มาตรา ๔  พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับแก่การประกอบกิจการพลังงานทั่วราชอาณาจักร

 มาตรา ๕  ในพระราชบัญญัตินี้

“พลังงาน” หมายความว่า ไฟฟ้าหรือก๊าซธรรมชาติ

“พลังงานหมุนเวียน” หมายความว่า พลังงานหมุนเวียนตามกฎหมายว่าด้วยคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ

“ก๊าซธรรมชาติ” หมายความว่า สารประกอบไฮโดรคาร์บอนที่ประกอบด้วยมีเทนเป็นส่วนใหญ่ที่มีสภาพเป็นก๊าซหรือของเหลว

“กิจการพลังงาน” หมายความว่า กิจการไฟฟ้า กิจการก๊าซธรรมชาติ หรือกิจการระบบโครงข่ายพลังงาน

“กิจการไฟฟ้า” หมายความว่า การผลิต การจัดให้ได้มา การจัดส่ง การจำหน่ายไฟฟ้าหรือการควบคุมระบบไฟฟ้า

“กิจการก๊าซธรรมชาติ” หมายความว่า การขนส่งก๊าซธรรมชาติทางท่อผ่านระบบส่งก๊าซธรรมชาติ การเก็บรักษาและแปรสภาพก๊าซธรรมชาติจากของเหลวเป็นก๊าซ การจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ หรือการค้าปลีกก๊าซธรรมชาติผ่านระบบจำหน่ายก๊าซธรรมชาติ แต่ไม่รวมถึงการประกอบกิจการก๊าซธรรมชาติในภาคขนส่ง

“ระบบโครงข่ายพลังงาน” หมายความว่า ระบบโครงข่ายไฟฟ้า หรือระบบโครงข่ายก๊าซธรรมชาติ

“ระบบโครงข่ายไฟฟ้า” หมายความว่า ระบบส่งไฟฟ้าหรือระบบจำหน่ายไฟฟ้า

“ระบบไฟฟ้า” หมายความว่า ระบบผลิตไฟฟ้า ระบบส่งไฟฟ้า และระบบจำหน่ายไฟฟ้าที่อยู่ภายใต้การปฏิบัติการและควบคุมของผู้รับใบอนุญาต

“ระบบผลิตไฟฟ้า” หมายความว่า ระบบการผลิตไฟฟ้าของผู้รับใบอนุญาตจากโรงไฟฟ้าไปถึงจุดเชื่อมต่อกับระบบโครงข่ายไฟฟ้า และให้หมายความรวมถึงระบบจัดส่งเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าด้วย

“ระบบส่งไฟฟ้า” หมายความว่า ระบบการนำไฟฟ้าจากระบบผลิตไฟฟ้าไปยังระบบจำหน่ายไฟฟ้า และให้หมายความรวมถึงศูนย์ควบคุมระบบไฟฟ้าที่ใช้ในการควบคุมระบบส่งไฟฟ้านั้นด้วย

“ระบบจำหน่ายไฟฟ้า” หมายความว่า ระบบการนำไฟฟ้าจากระบบส่งไฟฟ้า หรือระบบผลิตไฟฟ้าไปยังผู้ใช้ไฟฟ้าซึ่งมิใช่ผู้รับใบอนุญาต และให้หมายความรวมถึงศูนย์ควบคุมระบบไฟฟ้าที่ใช้ในการควบคุมระบบจำหน่ายไฟฟ้านั้นด้วย

“ระบบโครงข่ายก๊าซธรรมชาติ” หมายความว่า ระบบส่งก๊าซธรรมชาติหรือระบบจำหน่ายก๊าซธรรมชาติ

“ระบบส่งก๊าซธรรมชาติ” หมายความว่า ระบบท่อที่ใช้ในการรับก๊าซธรรมชาติจากจุดซื้อขายก๊าซธรรมชาติ และส่งถึงจุดจ่ายก๊าซธรรมชาติ หรือระบบจำหน่ายก๊าซธรรมชาติหรือโรงไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือโรงไฟฟ้าผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน รวมถึงอุปกรณ์หรือสิ่งอื่นอันเป็นสิ่งจำเป็นในการรับและส่งก๊าซธรรมชาติ

“ระบบจำหน่ายก๊าซธรรมชาติ” หมายความว่า ระบบท่อที่ต่อจากระบบส่งก๊าซธรรมชาติรวมถึงอุปกรณ์หรือสิ่งอื่นอันเป็นสิ่งจำเป็นในการจำหน่ายก๊าซธรรมชาติ

“ศูนย์ควบคุมระบบโครงข่ายพลังงาน” หมายความว่า ศูนย์ควบคุมระบบไฟฟ้า หรือศูนย์ควบคุมการส่งก๊าซธรรมชาติ

“ศูนย์ควบคุมระบบไฟฟ้า” หมายความว่า หน่วยงานที่ทำหน้าที่ในการควบคุมระบบไฟฟ้า

“สถานประกอบกิจการพลังงาน” หมายความว่า อาคาร สถานที่ เครื่องจักร ระบบโครงข่ายพลังงาน และอุปกรณ์อื่นใดที่ใช้ในการประกอบกิจการพลังงาน

“อัตราค่าบริการ” หมายความว่า ราคาพลังงานต่อหน่วย ค่าตอบแทน หรือเงื่อนไขสำหรับการให้บริการ ค่าธรรมเนียมอื่นๆ ที่ผู้รับใบอนุญาตเรียกเก็บจากผู้ใช้พลังงาน

“ราชอาณาจักร” หมายความรวมถึงเขตไหล่ทวีปที่เป็นสิทธิของประเทศไทยตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศหรือตามความตกลงที่ได้ทำกับต่างประเทศด้วย

“กองทุน” หมายความว่า กองทุนพัฒนาไฟฟ้า

“ใบอนุญาต” หมายความว่า ใบอนุญาตการประกอบกิจการพลังงาน

“ผู้รับใบอนุญาต” หมายความว่า ผู้ได้รับใบอนุญาตการประกอบกิจการพลังงาน

“คณะกรรมการ” หมายความว่า คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน

“สำนักงาน” หมายความว่า สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน

“เลขาธิการ” หมายความว่า เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน

“พนักงานเจ้าหน้าที่” หมายความว่า ผู้ซึ่งคณะกรรมการแต่งตั้งให้มีอำนาจหน้าที่ปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้

“รัฐมนตรี” หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

มาตรา ๖  ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจออกกฎกระทรวงเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้

กฎกระทรวงนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้

                                             หมวด ๑

                                            บททั่วไป

มาตรา ๗  พระราชบัญญัตินี้มีวัตถุประสงค์ ดังต่อไปนี้

(๑) ส่งเสริมให้มีบริการด้านพลังงานอย่างเพียงพอ มีความมั่นคง และมีความเป็นธรรมต่อผู้ใช้พลังงานและผู้รับใบอนุญาต

(๒) ปกป้องผลประโยชน์ของผู้ใช้พลังงานทั้งทางด้านอัตราค่าบริการและคุณภาพการให้บริการ

(๓) ส่งเสริมการแข่งขันในกิจการพลังงาน และป้องกันการใช้อำนาจในทางมิชอบในการประกอบกิจการพลังงาน

(๔) ส่งเสริมให้การบริการของระบบโครงข่ายพลังงานเป็นไปด้วยความเป็นธรรม โปร่งใสและไม่มีการเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม

(๕) ส่งเสริมให้การประกอบกิจการพลังงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นธรรมต่อผู้รับใบอนุญาตและผู้ใช้พลังงาน

(๖) ปกป้องสิทธิเสรีภาพของผู้ใช้พลังงาน ชุมชนท้องถิ่น ประชาชน และผู้รับใบอนุญาตในการมีส่วนร่วม เข้าถึง ใช้ และจัดการด้านพลังงาน ภายใต้หลักเกณฑ์ที่ให้ความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย

(๗) ส่งเสริมการใช้พลังงานและการใช้ทรัพยากรในการประกอบกิจการพลังงานอย่างประหยัดและมีประสิทธิภาพโดยคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และความสมดุลของทรัพยากรธรรมชาติ

(๘) ส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนในการประกอบกิจการไฟฟ้าที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อย

มาตรา ๘  รัฐพึงมีแนวนโยบายพื้นฐานว่าด้วยกิจการพลังงาน ดังต่อไปนี้

(๑) จัดหาพลังงานให้เพียงพอกับความต้องการ มีคุณภาพ มีความมั่นคง และมีระดับราคาที่เหมาะสมและเป็นธรรม โดยเน้นการใช้ประโยชน์และพัฒนาแหล่งพลังงานหมุนเวียนและพลังงานที่มีอยู่ภายในประเทศ เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน ทั้งในด้านสังคม เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งลดการพึ่งพาพลังงานนำเข้าจากต่างประเทศ

(๒) ส่งเสริมให้มีการใช้พลังงานอย่างประหยัด มีประสิทธิภาพ และคุ้มค่า รวมถึงส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพและระบบกระจายศูนย์ในการผลิตไฟฟ้าเพื่อลดการลงทุนในการใช้พลังงาน ลดต้นทุนทางด้านเชื้อเพลิงในกิจกรรมการผลิต และลดผลกระทบด้านสุขภาพและผลกระทบข้างเคียงอื่นๆ จากการผลิตและใช้พลังงาน รวมทั้งเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของประเทศ

(๓) ส่งเสริมให้ชุมชนท้องถิ่นและประชาชนมีส่วนร่วมในการจัดการและตรวจสอบการดำเนินงานด้านพลังงาน เพื่อให้มั่นใจว่าการจัดการและกำหนดอัตราค่าบริการเป็นไปด้วยความโปร่งใสโดยมีองค์กรกำกับดูแลการประกอบกิจการพลังงานทำหน้าที่คุ้มครองผู้ใช้พลังงาน และให้ความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย

(๔) ส่งเสริมสังคมให้มีความรู้ ความตระหนัก และพฤติกรรมที่ถูกต้องต่อการใช้พลังงานอย่างประหยัด มีประสิทธิภาพ และคุ้มค่า

(๕) สนับสนุนกิจการไฟฟ้าเพื่อสาธารณูปโภคพื้นฐาน การรักษาความมั่นคงและเชื่อถือได้ของระบบไฟฟ้า โดยรัฐจะเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการในกิจการระบบโครงข่ายไฟฟ้า ศูนย์ควบคุมระบบไฟฟ้า โรงไฟฟ้าพลังน้ำ ซึ่งการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยเป็นผู้ประกอบกิจการระบบส่งไฟฟ้า การไฟฟ้านครหลวงและการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเป็นผู้ประกอบกิจการระบบจำหน่ายไฟฟ้ารวมทั้งการรักษาสัดส่วนกำลังผลิตไฟฟ้าที่เหมาะสมของกิจการไฟฟ้าของรัฐ

มาตรา ๙  เพื่อประโยชน์ในการกำกับดูแลการประกอบกิจการพลังงานตามพระราชบัญญัตินี้ให้รัฐมนตรีมีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้

(๑) เสนอนโยบายเกี่ยวกับโครงสร้างกิจการพลังงานต่อคณะรัฐมนตรี

(๒) เสนอนโยบายการจัดหาพลังงาน และนโยบายการกระจายแหล่งและชนิดของเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า เพื่อให้กิจการไฟฟ้ามีประสิทธิภาพและมีความมั่นคงต่อคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ

(๓) พิจารณาแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า แผนการลงทุนในกิจการไฟฟ้า แผนการจัดหาก๊าซธรรมชาติ และแผนการขยายระบบโครงข่ายพลังงานซึ่งคณะกรรมการได้ให้ความเห็นตามมาตรา ๑๑ (๕) เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ

(๔) เสนอนโยบายในการป้องกันและแก้ไขการขาดแคลนพลังงานต่อคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ

(๕) เสนอนโยบาย เป้าหมาย และแนวทางทั่วไปในการประกอบกิจการพลังงานต่อคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ

(๖) กำหนดนโยบายมาตรฐานคุณภาพบริการและมาตรฐานในการประกอบกิจการพลังงาน

(๗) กำหนดนโยบายในการจัดให้มีบริการพลังงานอย่างทั่วถึง และให้มีบริการพลังงานสำหรับผู้ด้อยโอกาส รวมทั้งนโยบายเกี่ยวกับการร้องเรียนของผู้ใช้พลังงาน

(๘) เสนอนโยบายในการนำส่งเงินเข้ากองทุนและการใช้จ่ายเงินกองทุนต่อคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ

(๙) พิจารณาแผนการดำเนินงานของคณะกรรมการและงบประมาณรายจ่ายของสำนักงาน เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ

(๑๐) ให้ความเห็นชอบข้อบังคับและจรรยาบรรณในการปฏิบัติงานของกรรมการและพนักงานเจ้าหน้าที่ตามที่คณะกรรมการเสนอตามมาตรา ๑๑ (๘)

(๑๑) ปฏิบัติการอื่นใดตามที่กำหนดในพระราชบัญญัตินี้

บรรดาระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ หรือข้อกำหนดใดๆ ที่ใช้บังคับเป็นการทั่วไป เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้

                                                      หมวด ๒

                                     องค์กรกำกับดูแลการประกอบกิจการพลังงาน

                                                     ส่วนที่ ๑

                                     คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน

มาตรา ๑๐  ให้มีคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ประกอบด้วย ประธานกรรมการคนหนึ่งและกรรมการอื่นอีกหกคน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง

ให้เลขาธิการเป็นเลขานุการคณะกรรมการ

มาตรา ๑๑  ให้คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้

(๑) กำกับดูแลการประกอบกิจการพลังงานเพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของพระราชบัญญัตินี้ภายใต้กรอบนโยบายของรัฐ

(๒) ออกประกาศกำหนดประเภทใบอนุญาตการประกอบกิจการพลังงาน และเสนอการตราพระราชกฤษฎีกาเพื่อกำหนดประเภท ขนาด และลักษณะของกิจการพลังงานที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องขอรับใบอนุญาต

(๓) กำหนดมาตรการเพื่อให้เกิดความมั่นคงและเชื่อถือได้ของระบบไฟฟ้า

(๔) กำหนดระเบียบและหลักเกณฑ์ในการจัดหาไฟฟ้า และการออกประกาศเชิญชวนการรับซื้อไฟฟ้า รวมทั้งกำกับดูแลขั้นตอนการคัดเลือกให้เกิดความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย

(๕) เสนอความเห็นต่อแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า แผนการลงทุนในกิจการไฟฟ้า แผนการจัดหาก๊าซธรรมชาติ และแผนการขยายระบบโครงข่ายพลังงานเพื่อนำเสนอรัฐมนตรีตามมาตรา ๙ (๓)

(๖) ตรวจสอบการประกอบกิจการพลังงานของผู้รับใบอนุญาตให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและโปร่งใส

(๗) ออกระเบียบหรือประกาศและกำกับดูแลมาตรฐานและคุณภาพในการให้บริการ รวมทั้งมาตรการในการคุ้มครองผู้ใช้พลังงานจากการประกอบกิจการพลังงาน

(๘) เสนอข้อบังคับและจรรยาบรรณในการปฏิบัติงานของกรรมการและพนักงานเจ้าหน้าที่ต่อรัฐมนตรีตามมาตรา ๙ (๑๐)

(๙) ออกระเบียบหรือประกาศกำหนดนโยบายและแนวทางในการปฏิบัติเกี่ยวกับการมีส่วนได้เสียหรือผลประโยชน์ทับซ้อนของกรรมการและพนักงานเจ้าหน้าที่

(๑๐) ออกระเบียบหรือประกาศกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการนำส่งเงินเข้ากองทุนและการใช้จ่ายเงินกองทุนให้สอดคล้องกับนโยบายของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติตามมาตรา ๙ (๘)

(๑๑) ออกคำสั่งและกำหนดค่าปรับทางปกครองตามหมวด ๘ การบังคับทางปกครอง

(๑๒) เสนอความเห็นหรือให้คำแนะนำต่อรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับการประกอบกิจการพลังงาน

(๑๓) ส่งเสริมสนับสนุนการศึกษาวิจัยด้านการประกอบกิจการพลังงาน

(๑๔) ส่งเสริมสังคมและประชาชนให้มีความรู้และความตระหนักทางด้านพลังงาน

(๑๕) ส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนาบุคลากรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการประกอบกิจการพลังงาน

(๑๖) ส่งเสริมการใช้พลังงานอย่างประหยัดและมีประสิทธิภาพ พลังงานหมุนเวียนและพลังงานที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อย โดยคำนึงถึงประสิทธิภาพในการประกอบกิจการไฟฟ้าและความสมดุลของทรัพยากรธรรมชาติ

(๑๗) ประสานงานกับหน่วยงานอื่นในส่วนที่เกี่ยวเนื่องกับการปฏิบัติการตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัตินี้

(๑๘) ปฏิบัติการอื่นใดตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัตินี้หรือที่กฎหมายอื่นกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ

บรรดาระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ หรือข้อกำหนดใดๆ ที่ใช้บังคับเป็นการทั่วไป เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้

บรรดาคำสั่งที่ใช้บังคับเป็นการเฉพาะราย ให้มีผลเมื่อได้แจ้งตามหลักเกณฑ์และวิธีการแจ้งคำสั่งทางปกครองตามกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง

มาตรา ๑๒  กรรมการต้องเป็นผู้ที่มีผลงานหรือเคยปฏิบัติงานที่แสดงให้เห็นถึงการเป็นผู้มีความรู้ความเข้าใจ และมีความเชี่ยวชาญหรือมีประสบการณ์ไม่น้อยกว่าสิบปี ในสาขาพลังงาน คณิตศาสตร์ นิติศาสตร์ วิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ การเงิน การบัญชี ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การคุ้มครองผู้บริโภค หรือในสาขาอื่นอันจะเป็นประโยชน์ต่อกิจการพลังงาน ทั้งนี้ การนับระยะเวลาในแต่ละสาขาต่างๆ ข้างต้นให้สามารถนำมารวมกันได้

คณะกรรมการต้องประกอบด้วยกรรมการที่มาจากสาขาพลังงานด้านกิจการไฟฟ้าและด้านกิจการก๊าซธรรมชาติอย่างน้อยด้านละหนึ่งคน

มาตรา ๑๓  กรรมการต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้

(๑) มีสัญชาติไทย

(๒) มีอายุไม่ต่ำกว่าสี่สิบปีบริบูรณ์

(๓) ไม่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ข้าราชการการเมือง สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น

(๔) ไม่เป็นผู้ดำรงตำแหน่งใดๆ ในพรรคการเมือง

(๕) ไม่เป็นบุคคลวิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ

(๖) ไม่ติดยาเสพติดให้โทษ

(๗) ไม่เป็นบุคคลล้มละลายหรือไม่เคยเป็นบุคคลล้มละลายทุจริต

(๘) ไม่เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ

(๙) ไม่เป็นบุคคลที่ต้องคำพิพากษาให้จำคุกและถูกคุมขังอยู่โดยหมายของศาล

(๑๐) ไม่เป็นบุคคลที่เคยต้องคำพิพากษาให้จำคุกตั้งแต่สองปีขึ้นไป โดยได้พ้นโทษมายังไม่ถึงห้าปีในวันได้รับการเสนอชื่อ เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ

(๑๑) ไม่เป็นบุคคลที่เคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินเพราะร่ำรวยผิดปกติหรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติ

(๑๒) ไม่เคยถูกไล่ออก ปลดออก หรือให้ออกจากราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือหน่วยงานของเอกชน เพราะทุจริตต่อหน้าที่ หรือประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง หรือถือว่ากระทำการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ

(๑๓) ไม่เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กรรมการการเลือกตั้ง ผู้ตรวจการแผ่นดิน กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ กรรมการตรวจเงินแผ่นดิน กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หรือสมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

(๑๔) ไม่เคยถูกวุฒิสภามีมติให้ถอดถอนออกจากตำแหน่ง

มาตรา ๑๔  ในการแต่งตั้งกรรมการ ให้รัฐมนตรีเสนอชื่อคณะกรรมการสรรหาคณะหนึ่งมีจำนวนเก้าคนต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อแต่งตั้งให้ทำหน้าที่คัดเลือกบุคคลที่สมควรได้รับการเสนอชื่อเป็นกรรมการ ประกอบด้วยบุคคลดังต่อไปนี้

(๑) ผู้ที่เคยดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงพลังงาน ปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม หรือเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จำนวนสี่คน

(๒) ผู้แทนสภาอุตสาหกรรมที่ไม่เป็นผู้ประกอบกิจการพลังงาน จำนวนหนึ่งคน

(๓) ผู้แทนสภาวิศวกร จำนวนหนึ่งคน

(๔) ผู้แทนของอธิการบดีของสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ จำนวนหนึ่งคน

(๕) ผู้แทนสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จำนวนหนึ่งคน

(๖) ผู้แทนองค์กรเอกชนที่ไม่แสวงหากำไรในทางธุรกิจ ซึ่งมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ไม่น้อยกว่าห้าปี ด้านคุ้มครองผู้บริโภค หรือด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือด้านพลังงานจำนวนหนึ่งคน

ในกรณีที่ไม่สามารถหาผู้ที่เคยดำรงตำแหน่งตาม (๑) ได้ครบจำนวนให้แต่งตั้งจากผู้ที่เคยดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงหรือตำแหน่งที่เทียบเท่าในส่วนราชการอื่นที่เห็นสมควรแทนจำนวนที่ขาด

กรรมการสรรหาจะต้องเปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับการมีส่วนได้เสียเชิงธุรกิจกับผู้ประกอบกิจการพลังงานของตน คู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะในช่วงสองปีที่ผ่านมาให้สาธารณชนทราบและต้องไม่เป็นผู้มีคดีความเป็นส่วนตัวกับผู้ประกอบกิจการพลังงานในช่วงเวลาดังกล่าว

กรรมการสรรหาไม่มีสิทธิได้รับการเสนอชื่อเป็นกรรมการ

ให้คณะกรรมการสรรหาเลือกกรรมการสรรหาคนหนึ่งเป็นประธานกรรมการสรรหา

การคัดเลือกผู้แทนตาม (๔) และ (๖) ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด

ให้สำนักงานทำหน้าที่เป็นหน่วยงานธุรการในการดำเนินการคัดเลือกกรรมการ

ให้กรรมการสรรหาได้รับค่าตอบแทนและค่าใช้จ่ายอื่นในการปฏิบัติงานตามที่คณะรัฐมนตรีกำหนด

กรรมการสรรหาต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๑๓

มาตรา ๑๕  การคัดเลือกและแต่งตั้งกรรมการให้ดำเนินการ ดังต่อไปนี้

(๑) ให้คณะกรรมการสรรหาพิจารณาคัดเลือกบุคคลผู้มีความรู้ความเข้าใจ และมีความเชี่ยวชาญหรือมีประสบการณ์ตามมาตรา ๑๒ รวมทั้งมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๑๓ จำนวนเจ็ดคนเสนอต่อรัฐมนตรี พร้อมทั้งรายละเอียดของบุคคลดังกล่าวซึ่งต้องระบุชัดเจนหรือมีหลักฐานแสดงให้เห็นได้ว่าเป็นบุคคลที่มีความเหมาะสมในด้านหนึ่งด้านใดตามมาตรา ๑๒ และความยินยอมเป็นหนังสือของผู้ได้รับการเสนอชื่อนั้น รวมทั้งต้องเปิดเผยข้อมูลรายละเอียดของบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อต่อสาธารณชน

(๒) ให้รัฐมนตรีเสนอชื่อผู้ได้รับคัดเลือกพร้อมทั้งรายละเอียดตาม (๑) ต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติ

(๓) ในกรณีที่มีผู้ได้รับอนุมัติไม่ครบจำนวนกรรมการที่จะได้รับแต่งตั้ง ให้คณะกรรมการสรรหาพิจารณาคัดเลือกบุคคลตาม (๑) เสนอรัฐมนตรีเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติต่อไป

(๔) ในการแต่งตั้งกรรมการครั้งแรก เมื่อคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติบุคคลเป็นกรรมการครบจำนวนแล้ว ให้บุคคลดังกล่าวประชุมร่วมกันเพื่อเลือกกันเองให้คนหนึ่งเป็นประธานกรรมการแล้วแจ้งให้นายกรัฐมนตรีทราบเพื่อนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงแต่งตั้งเป็นประธานกรรมการและกรรมการ

ในการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรานี้ให้กรรมการสรรหาเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา

กำหนดระยะเวลา หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการคัดเลือกกรรมการให้เป็นไปตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด

มาตรา ๑๖  นอกจากคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๑๓ แล้ว กรรมการต้อง

(๑) ไม่เป็นข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ

(๒) ไม่เป็นพนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยงานของรัฐ หรือราชการส่วนท้องถิ่น หรือไม่เป็นกรรมการหรือที่ปรึกษาของหน่วยงานของรัฐที่ดำเนินธุรกิจหรือดำเนินการในกิจการพลังงาน และคู่สมรสของบุคคลดังกล่าวต้องไม่เป็นกรรมการหรือที่ปรึกษาของหน่วยงานของรัฐที่ดำเนินธุรกิจหรือดำเนินการในกิจการพลังงาน

(๓) ไม่ดำรงตำแหน่งใดๆ หรือเป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในบริษัท หรือองค์การที่ดำเนินธุรกิจหรือดำเนินการในกิจการพลังงาน และให้รวมถึงคู่สมรสและบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะของกรรมการนั้นด้วย

(๔) ไม่ประกอบอาชีพหรือวิชาชีพอื่นใดที่มีส่วนได้เสียหรือมีผลประโยชน์ขัดแย้งไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อมกับการปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งกรรมการ

ในการเสนอชื่อต่อคณะรัฐมนตรีตามมาตรา ๑๕ (๒) ให้นำลักษณะต้องห้ามของกรรมการตามวรรคหนึ่งเสนอไปในคราวเดียวกัน เมื่อคณะรัฐมนตรีได้พิจารณาอนุมัติบุคคลซึ่งเป็นบุคคลตาม (๑) (๒) (๓) หรือ (๔) นายกรัฐมนตรีจะนำความขึ้นกราบบังคมทูลเพื่อทรงแต่งตั้งได้ต่อเมื่อผู้นั้นได้ลาออกจากการเป็นบุคคลตาม (๑) (๒) หรือ (๓) หรือแสดงหลักฐานให้เป็นที่เชื่อถือได้ว่าตนได้เลิกประกอบอาชีพหรือวิชาชีพตาม (๔) แล้ว ซึ่งต้องกระทำภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติ แต่ถ้าผู้นั้นมิได้ลาออกหรือเลิกประกอบอาชีพหรือวิชาชีพภายในเวลาที่กำหนดให้ถือว่าผู้นั้นไม่เคยได้รับเลือกให้เป็นกรรมการ และให้ดำเนินการคัดเลือกกรรมการแทนบุคคลดังกล่าว

มาตรา ๑๗  กรรมการมีวาระการดำรงตำแหน่งหกปีนับแต่วันที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งและให้ดำรงตำแหน่งได้เพียงวาระเดียว

ในวาระเริ่มแรก เมื่อครบกำหนดสามปี ให้กรรมการออกจากตำแหน่งจำนวนสามคนโดยวิธีจับสลาก และให้ถือว่าการออกจากตำแหน่งโดยการจับสลากดังกล่าวเป็นการพ้นจากตำแหน่งตามวาระ

ให้กรรมการซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระหรือโดยการจับสลากออกอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะได้มีการแต่งตั้งกรรมการขึ้นใหม่

เพื่อให้ได้มาซึ่งกรรมการชุดใหม่เข้ามาปฏิบัติหน้าที่เมื่อสิ้นสุดวาระของกรรมการชุดเดิมให้ดำเนินการคัดเลือกกรรมการชุดใหม่ตามมาตรา ๑๕ เป็นการล่วงหน้าตามสมควรและให้นายกรัฐมนตรีนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงแต่งตั้ง

มาตรา ๑๘  เมื่อพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งคณะกรรมการแล้ว ให้คณะกรรมการสรรหาสิ้นสุดหน้าที่

มาตรา ๑๙  นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระ กรรมการพ้นจากตำแหน่งเมื่อ

(๑) ตาย

(๒) มีอายุครบเจ็ดสิบปีบริบูรณ์

(๓) ลาออก

(๔) ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๑๓

(๕) กระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา ๑๖

(๖) คณะรัฐมนตรีมีมติให้ออกจากตำแหน่งเพราะมีความประพฤติเสื่อมเสียบกพร่องหรือไม่สุจริตต่อหน้าที่ หรือหย่อนความสามารถ

เมื่อกรรมการพ้นจากตำแหน่งก่อนครบวาระ ให้ดำเนินการคัดเลือกและแต่งตั้งกรรมการแทนตำแหน่งที่ว่างตามมาตรา ๑๕ และให้กรรมการเท่าที่เหลืออยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้ โดยให้ถือว่าคณะกรรมการประกอบด้วยกรรมการเท่าที่มีอยู่ เว้นแต่มีกรรมการเหลืออยู่ไม่ถึงสี่คน

ในกรณีที่ประธานกรรมการพ้นจากตำแหน่งตามวรรคหนึ่ง ให้คณะกรรมการประชุมกัน เพื่อเลือกกรรมการคนหนึ่งเป็นประธานกรรมการ แล้วแจ้งให้นายกรัฐมนตรีทราบและให้นายกรัฐมนตรีนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงแต่งตั้งเป็นประธานกรรมการ

มาตรา ๒๐  ภายในเวลาสองปีนับแต่พ้นจากตำแหน่ง กรรมการจะประกอบอาชีพหรือวิชาชีพที่เป็นผลให้ได้รับเงินหรือสิทธิประโยชน์อื่นใดจากนิติบุคคลซึ่งประกอบกิจการพลังงานมิได้ความในวรรคหนึ่งให้ใช้กับนิติบุคคลที่มีลักษณะดังนี้ด้วย คือ

(๑) นิติบุคคลอื่นที่ถือหุ้นหรือเป็นหุ้นส่วนไม่น้อยกว่าร้อยละยี่สิบห้าในนิติบุคคลตามวรรคหนึ่ง

(๒) นิติบุคคลอื่นที่ถือหุ้นหรือเป็นหุ้นส่วนไม่น้อยกว่าร้อยละยี่สิบห้าในนิติบุคคลตาม (๑)

(๓) นิติบุคคลอื่นที่ถือหุ้นหรือเป็นหุ้นส่วนไม่น้อยกว่าร้อยละยี่สิบห้าในนิติบุคคลตาม (๒)

ให้นำความในวรรคหนึ่งและวรรคสอง มาใช้บังคับกับการเป็นกรรมการหรือที่ปรึกษาของนิติบุคคลดังกล่าวด้วย

มาตรา ๒๑  ภายในกำหนดระยะเวลาตามมาตรา ๒๐ กรรมการจะถือหุ้นของนิติบุคคลตามมาตรา ๒๐ ไม่ได้ เว้นแต่เป็นการถือหุ้นของนิติบุคคลโดยการซื้อในตลาดหลักทรัพย์ ตามจำนวนที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติกำหนด

มาตรา ๒๒  การประชุมของคณะกรรมการต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการที่มีอยู่ จึงจะเป็นองค์ประชุม

ให้ประธานกรรมการเป็นประธานในที่ประชุม ถ้าไม่มีประธานกรรมการหรือประธานกรรมการไม่มาประชุมหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้กรรมการที่มาประชุมเลือกกรรมการคนหนึ่งเป็นประธานในที่ประชุม

ในการวินิจฉัยชี้ขาดให้ถือเสียงข้างมาก กรรมการคนหนึ่งมีเสียงหนึ่งในการลงคะแนนถ้ามีคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด

มาตรา ๒๓  ให้ประธานกรรมการและกรรมการเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งดำรงตำแหน่งระดับสูงตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต

มาตรา ๒๔  ให้คณะกรรมการมีอำนาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการหรือบุคคลหนึ่งบุคคลใดเพื่อพิจารณาหรือกระทำการอย่างใดตามที่คณะกรรมการมอบหมายได้

วิธีการปฏิบัติหน้าที่ของคณะอนุกรรมการหรือบุคคลที่ได้รับมอบหมายให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการกำหนด

มาตรา ๒๕  ในการปฏิบัติหน้าที่ ให้คณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ และบุคคลซึ่งคณะกรรมการแต่งตั้งตามมาตรา ๒๔ มีอำนาจขอให้หน่วยงานของรัฐหรือบุคคลใดมีหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริง มาให้ถ้อยคำ หรือส่งเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องเพื่อประกอบการพิจารณาได้

ในการปฏิบัติหน้าที่ตามวรรคหนึ่ง ให้ประธานกรรมการ กรรมการ อนุกรรมการและบุคคลซึ่งคณะกรรมการแต่งตั้งตามมาตรา ๒๔ เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา ๒๖  ก่อนการออกระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ หรือข้อกำหนดใดของคณะกรรมการซึ่งจะมีผลกระทบต่อบุคคล กลุ่มบุคคล หรือผู้รับใบอนุญาต ให้คณะกรรมการเปิดเผยสาระสำคัญของระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ หรือข้อกำหนดนั้น และเปิดโอกาสให้บุคคล กลุ่มบุคคล หรือผู้รับใบอนุญาตที่จะได้รับผลกระทบนั้นแสดงความคิดเห็นหรือให้ข้อมูลต่อคณะกรรมการ ทั้งนี้ตามกระบวนการในการรับฟังความเห็นที่คณะกรรมการกำหนด

ในกรณีมีเหตุฉุกเฉินหรือมีความจำเป็นเร่งด่วนเพื่อรักษาความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศหรือเหตุอื่นใดตามที่กำหนดในกฎกระทรวง คณะกรรมการจะไม่ดำเนินการตามวรรคหนึ่งก็ได้แต่ต้องรายงานให้คณะรัฐมนตรีทราบ

มาตรา ๒๗  การออกคำสั่งทางปกครองของคณะกรรมการ ให้นำกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองมาใช้บังคับโดยอนุโลม

มาตรา ๒๘  ในการออกระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ ข้อกำ หนด หรือคำ สั่งใดของคณะกรรมการ ให้มีการบันทึกมติที่ประชุม พร้อมข้อเท็จจริงและเหตุผลซึ่งประกอบด้วยรายละเอียดเกี่ยวกับระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ ข้อกำหนด หรือคำสั่งนั้นไว้ในรายงานการประชุมของคณะกรรมการ

ให้สำนักงานสรุปรายงานการประชุมของคณะกรรมการไว้ในรายงานประจำปีของสำนักงานซึ่งต้องมีรายละเอียดเกี่ยวกับจำนวนครั้งที่กรรมการเข้าประชุมและขาดประชุม และต้องมีการตีพิมพ์ เพื่อเผยแพร่แก่ผู้สนใจหรือลงในระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ของสำนักงานด้วย

ให้คณะกรรมการชี้แจงเหตุผลในการออกระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ ข้อกำหนด หรือคำสั่งใดที่มีผลกระทบต่อบุคคล กลุ่มบุคคล หรือผู้รับใบอนุญาตเป็นหนังสือภายในหกสิบวัน หากบุคคล กลุ่มบุคคล หรือผู้รับใบอนุญาตที่ได้รับผลกระทบนั้นร้องขอ และหากการดำ เนินการของคณะกรรมการดังกล่าวมีผลกระทบต่อสาธารณชนให้ชี้แจงเหตุผลในการดำเนินการดังกล่าวในระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ของสำนักงานด้วย

ในรายงานประจำปีของสำนักงานตามวรรคสอง ให้สรุปผลการประชุมของคณะอนุกรรมการและจำนวนครั้งที่อนุกรรมการเข้าประชุมและขาดประชุม และการดำเนินงานของบุคคลตามมาตรา ๒๔ ไว้ด้วย

มาตรา ๒๙  ให้ประธานกรรมการและกรรมการเป็นผู้ปฏิบัติงานประจำเต็มเวลา โดยได้รับค่าตอบแทน ค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติหน้าที่ และสิทธิประโยชน์อื่นตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา

ค่าตอบแทนและค่าใช้จ่ายอื่นในการปฏิบัติหน้าที่ของประธานอนุกรรมการ อนุกรรมการและบุคคลตามมาตรา ๒๔ ให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนดและลงเผยแพร่ในระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ของสำนักงานด้วย

ค่าตอบแทน ค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติหน้าที่ และสิทธิประโยชน์อื่นของกรรมการอนุกรรมการ และบุคคลตามมาตรา ๒๔ ให้ถือว่าเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของสำนักงาน

                                                        ส่วนที่ ๒

                                         สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน

มาตรา ๓๐  ให้มีสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานเป็นหน่วยงานของรัฐซึ่งมิได้เป็นส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ มีฐานะเป็นนิติบุคคลและอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการ

มาตรา ๓๑  ให้สำนักงานมีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับกิจการทั่วไปของสำนักงานและให้มีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้

(๑) รับผิดชอบงานธุรการของคณะกรรมการ

(๒) รับค่าธรรมเนียมตามที่กำหนดในกฎหมายหรือตามที่คณะกรรมการกำหนด

(๓) รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการประกอบกิจการพลังงาน

(๔) ศึกษารวบรวม วิเคราะห์ และเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับการประกอบกิจการพลังงานสภาพการแข่งขันในการประกอบกิจการพลังงาน การพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้า และข้อมูลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

(๕) จัดทำประมาณการรายรับและรายจ่ายของสำนักงานเพื่อเสนอคณะกรรมการให้ความเห็นชอบ

(๖) ปฏิบัติการอื่นใดตามที่คณะกรรมการมอบหมาย หรือตามที่พระราชบัญญัตินี้หรือกฎหมายอื่นกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของสำนักงาน

มาตรา ๓๒  กิจการของสำนักงานไม่อยู่ภายใต้บังคับกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานกฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์ และกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทน ทั้งนี้ เลขาธิการ พนักงาน และลูกจ้างของสำนักงานต้องได้รับสิทธิประโยชน์ไม่น้อยกว่าที่กำหนดไว้ในกฎหมายดังกล่าว

มาตรา ๓๓  ให้คณะกรรมการมีอำนาจออกระเบียบ ข้อบังคับ หรือประกาศเกี่ยวกับการบริหารงานทั่วไป การบริหารงานบุคคล การงบประมาณ การเงินและทรัพย์สิน และการดำเนินการอื่นของสำนักงาน โดยเฉพาะในเรื่องดังต่อไปนี้

(๑) การแบ่งส่วนงานภายในของสำนักงานและขอบเขตหน้าที่ของส่วนงานดังกล่าว

(๒) การกำหนดตำแหน่ง อัตราเงินเดือน และค่าตอบแทนอื่นของเลขาธิการ พนักงานและลูกจ้างของสำนักงาน รวมทั้งการให้ได้รับเงินเดือนและค่าตอบแทนอื่น

(๓) การกำหนดคุณสมบัติ การคัดเลือก การบรรจุ การแต่งตั้ง การทดลอง ปฏิบัติงาน การย้าย การเลื่อนตำแหน่ง การเลื่อนขั้นเงินเดือน การออกจากตำแหน่ง การถอดถอน การให้ออก การสั่งพักงาน วินัย การสอบสวนและการลงโทษทางวินัย การร้องทุกข์ การอุทธรณ์ และการลงโทษสำหรับเลขาธิการและพนักงานของสำนักงาน รวมทั้งวิธีการและเงื่อนไขในการจ้างลูกจ้างของสำนักงาน

(๔) การรักษาการแทนและการปฏิบัติการแทนในตำแหน่งของเลขาธิการและพนักงานของสำนักงาน

(๕) การกำหนดเครื่องแบบและการแต่งกายของพนักงานและลูกจ้างของสำนักงาน

(๖) การจ้างและการแต่งตั้งบุคคลเพื่อเป็นผู้เชี่ยวชาญหรือเป็นผู้ชำนาญการเฉพาะด้านอันจะเป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการ รวมทั้งอัตราค่าตอบแทนการจ้าง

(๗) การบริหารและจัดการงบประมาณ ทรัพย์สิน และการพัสดุของสำนักงาน

(๘) การจัดสวัสดิการหรือการสงเคราะห์อื่นแก่พนักงานและลูกจ้างของสำนักงาน

ระเบียบ ข้อบังคับ หรือประกาศตามวรรคหนึ่ง ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา

มาตรา ๓๔  ให้สำนักงานมีเลขาธิการคนหนึ่งเป็นผู้รับผิดชอบการปฏิบัติงานของสำนักงานขึ้นตรงต่อประธานกรรมการ และเป็นผู้บังคับบัญชาพนักงานและลูกจ้างของสำนักงาน

ในกิจการของสำนักงานที่เกี่ยวกับบุคคลภายนอก ให้เลขาธิการเป็นผู้แทนของสำนักงานเพื่อการนี้เลขาธิการจะมอบอำนาจให้บุคคลใดปฏิบัติงานเฉพาะอย่างแทนก็ได้ ทั้งนี้ ต้องเป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด

มาตรา ๓๕  ให้คณะกรรมการเป็นผู้คัดเลือกและแต่งตั้งเลขาธิการ

เลขาธิการต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๑๓ และมาตรา ๑๖ วรรคหนึ่งและสามารถปฏิบัติงานให้แก่สำนักงานได้เต็มเวลา

มาตรา ๓๖  เลขาธิการมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละห้าปีนับแต่วันที่ได้รับแต่งตั้งและอาจได้รับแต่งตั้งใหม่อีกได้ แต่จะดำรงตำแหน่งเกินสองวาระติดต่อกันไม่ได้

มาตรา ๓๗  นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระตามมาตรา ๓๖ หรือตามสัญญาจ้างเลขาธิการพ้นจากตำแหน่งเมื่อ

(๑) ตาย

(๒) มีอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์

(๓) ลาออก

(๔) ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๑๓ หรือมาตรา ๑๖ วรรคหนึ่ง

(๕) คณะกรรมการมีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนกรรมการที่มีอยู่ให้ออก เพราะมีความประพฤติเสื่อมเสียอย่างร้ายแรง บกพร่องในหน้าที่อย่างร้ายแรง หรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้

มาตรา ๓๘  ให้นำบทบัญญัติในมาตรา ๒๐ และมาตรา ๒๑ มาใช้บังคับกับเลขาธิการและพนักงานในตำแหน่งที่คณะกรรมการกำหนดด้วย

มาตรา ๓๙  ให้เลขาธิการและพนักงานของสำนักงานเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต

ให้เลขาธิการเป็นผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต

มาตรา ๔๐  สำนักงานอาจมีรายได้และทรัพย์สิน ดังต่อไปนี้

(๑) รายได้หรือผลประโยชน์อันได้มาจากการดำเนินงานตามอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการและสำนักงานตามพระราชบัญญัตินี้

(๒) เงินอุดหนุนทั่วไปที่รัฐบาลจัดสรรให้

(๓) เงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้บริจาคให้

(๔) ดอกผลหรือผลประโยชน์ใดๆ ที่เกิดจากเงินหรือทรัพย์สินของสำนักงาน

รายได้ของสำนักงานตามวรรคหนึ่ง โดยไม่รวมถึงรายได้ตาม (๓) เมื่อได้หักรายจ่ายสำหรับการดำเนินงานของสำนักงาน และค่าภาระต่างๆ ที่เหมาะสม เหลือเท่าใดให้นำส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดิน ในกรณีรายได้ของสำนักงานมีจำนวนไม่พอสำหรับค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน และไม่สามารถหาเงินจากแหล่งอื่นได้ รัฐพึงจัดสรรเงินงบประมาณแผ่นดินให้แก่สำนักงานเท่าจำนวนที่จำเป็น เพื่อเป็นเงินอุดหนุนทั่วไปตาม (๒)

มาตรา ๔๑  ให้คณะกรรมการเสนอแผนการดำ เนินงาน งบประมาณรายจ่าย และประมาณการรายได้ประจำปีงบประมาณของสำนักงาน รวมทั้งแผนการกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมและผลประโยชน์อื่นๆ ตามมาตรา ๔๐ (๑) เพื่อขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี

เมื่อได้รับความเห็นชอบแผนการกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมและผลประโยชน์อื่นๆ ตามวรรคหนึ่งแล้ว ให้คณะกรรมการกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมและผลประโยชน์อื่นๆ ให้สอดคล้องกับแผนดังกล่าว เพื่อให้สำนักงานมีรายได้ตามแผนการดำเนินงานที่คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบแล้ว

สำหรับเงินอุดหนุนที่จะขอจัดสรรจากเงินงบประมาณแผ่นดิน ให้รัฐมนตรีเสนองบประมาณรายจ่ายของปีงบประมาณที่ขอรับการสนับสนุนต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อจัดสรรเงินอุดหนุนทั่วไปของสำนักงานไว้ในร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีหรือร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม แล้วแต่กรณี

มาตรา ๔๒  ให้สำนักงานมีอำนาจครอบครอง ดูแล บำรุงรักษา ใช้ และจัดหาผลประโยชน์จากทรัพย์สินของสำนักงาน ตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด

สำหรับทรัพย์สินที่เป็นที่ราชพัสดุตามกฎหมายว่าด้วยที่ราชพัสดุ ให้นำหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการปกครองดูแล บำรุงรักษา ใช้ และจัดหาประโยชน์เกี่ยวกับที่ราชพัสดุตามกฎหมายว่าด้วยที่ราชพัสดุมาใช้บังคับโดยอนุโลม และให้นำส่งรายได้จากการดำเนินการเป็นรายได้แผ่นดิน

มาตรา ๔๓  บรรดาอสังหาริมทรัพย์ที่สำนักงานได้มาโดยการซื้อหรือแลกเปลี่ยนจากรายได้หรือทรัพย์สินของสำนักงานหรือมีผู้บริจาคให้ตามมาตรา ๔๐ (๓) ให้เป็นกรรมสิทธิ์ของสำนักงาน

มาตรา ๔๔  การบัญชีของสำนักงานและกองทุนให้จัดทำตามหลักสากล ตามแบบหลักเกณฑ์วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด และให้มีการแยกบัญชีอย่างชัดเจน รวมทั้งต้องจัดให้มีการตรวจสอบภายในเกี่ยวกับการเงิน การบัญชี และการพัสดุของสำนักงานและของกองทุน ตลอดจนรายงานผลการตรวจสอบให้คณะกรรมการทราบอย่างน้อยปีละครั้ง

ให้มีผู้ปฏิบัติงานของสำนักงานทำหน้าที่เป็นผู้ตรวจสอบภายในโดยเฉพาะและให้รับผิดชอบขึ้นตรงต่อคณะกรรมการตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด

มาตรา ๔๕  ให้สำนักงานจัดทำงบการเงิน และบัญชีทำการของสำนักงานและกองทุนส่งผู้สอบบัญชีภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันสิ้นปีงบประมาณ

ในทุกรอบปีงบประมาณ ให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินหรือบุคคลภายนอก ตามที่คณะกรรมการแต่งตั้งด้วยความเห็นชอบของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินเป็นผู้สอบบัญชีและประเมินผลการใช้จ่ายเงินและทรัพย์สินของสำนักงานและกองทุน โดยให้แสดงความคิดเห็นเป็นข้อวิเคราะห์ว่าการใช้จ่ายดังกล่าวเป็นไปตามวัตถุประสงค์ ประหยัด คุ้มค่า มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลเพียงใด

ให้สำนักงานเป็นหน่วยรับตรวจตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน

มาตรา ๔๖  ให้คณะกรรมการจัดทำรายงานประจำปี เสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ รัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาทุกสิ้นปีงบประมาณ และเปิดเผยต่อสาธารณชน รายงานนี้ให้กล่าวถึงการรับและการใช้จ่ายเงินที่ไม่ต้องนำส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดินผลการดำเนินงานของคณะกรรมการ สำนักงานและกองทุนในปีที่ล่วงมา รวมทั้งเหตุผลในการตัดสินใจในเรื่องต่างๆ งบการเงิน และบัญชีทำการพร้อมทั้งรายงานของผู้สอบบัญชี รวมทั้งแผนงานที่จะดำเนินการในภายหน้าของคณะกรรมการ สำนักงานและกองทุน

                                                       หมวด ๓

                                       การกำกับดูแลการประกอบกิจการพลังงาน

                                                         ส่วนที่ ๑

                                       การอนุญาตการประกอบกิจการพลังงาน

                       

มาตรา ๔๗  การประกอบกิจการพลังงานไม่ว่าจะมีค่าตอบแทนหรือไม่ ต้องได้รับใบอนุญาตจากคณะกรรมการ

ในการออกใบอนุญาต ให้คณะกรรมการประกาศกำหนดประเภทและอายุใบอนุญาตให้สอดคล้องกับขนาดและลักษณะของกิจการพลังงานประเภทต่างๆ โดยให้คำนึงถึงผลกระทบต่อประชาชน ความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ สังคม และการลงทุน รวมถึงลักษณะการแข่งขันของกิจการแต่ละประเภท และอาจกำหนดเงื่อนไขเป็นการเฉพาะรายด้วยก็ได้

การกำหนดประเภท ขนาด และลักษณะของกิจการพลังงานที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องขอรับใบอนุญาตให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกา

เพื่อประโยชน์ในการรวบรวมข้อมูลสถิติ คณะกรรมการอาจประกาศกำหนดให้กิจการพลังงานที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องขอรับใบอนุญาตตามวรรคสาม เป็นกิจการที่ต้องมาแจ้งต่อสำนักงานก็ได้

มาตรา ๔๘  ในกรณีที่การปลูกสร้างอาคาร หรือการตั้งโรงงานเพื่อประกอบกิจการพลังงานต้องปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน กฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร กฎหมายว่าด้วยการผังเมืองหรือกฎหมายว่าด้วยการพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน ให้การอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยการนั้นเป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการตามพระราชบัญญัตินี้ โดยคณะกรรมการต้องขอความเห็นจากหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายต่างๆ ดังกล่าวและหน่วยงานดังกล่าวต้องแจ้งความเห็นพร้อมทั้งจำนวนค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บตามกฎหมายนั้นๆ ให้คณะกรรมการทราบด้วย

ให้สำนักงานจัดส่งค่าธรรมเนียมที่คณะกรรมการเรียกเก็บตามวรรคหนึ่ง ให้หน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายต่างๆ เพื่อดำเนินการต่อไป

มาตรา ๔๙  ให้คณะกรรมการมีอำนาจสั่งให้ผู้ประกอบกิจการที่เข้าข่ายเป็นผู้ประกอบกิจการพลังงานที่ต้องได้รับใบอนุญาตแต่ยังไม่ได้รับใบอนุญาต หยุด หรือระงับการประกอบกิจการพลังงานหรือปลดการเชื่อมต่อออกจากระบบโครงข่ายพลังงาน

เมื่อคณะกรรมการมีคำสั่งตามวรรคหนึ่งแล้ว หากผู้ประกอบกิจการมิได้ดำเนินการตามคำสั่งให้คณะกรรมการมีอำนาจสั่งให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการใดๆ ที่จำเป็นเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของคำสั่งตามวรรคหนึ่งได้

ในกรณีนี้ให้ผู้ประกอบกิจการชำระค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริงให้แก่สำนักงาน

มาตรา ๕๐  คุณสมบัติของผู้ขอรับใบอนุญาต หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขอรับใบอนุญาตและการออกใบอนุญาต รวมทั้งอัตราค่าธรรมเนียมใบอนุญาต และอัตราค่าธรรมเนียมการประกอบกิจการพลังงาน ให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการประกาศกำหนด ซึ่งต้องสอดคล้องกับแผนตามมาตรา ๙ (๓) หรือนโยบายด้านพลังงานที่คณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติ

มาตรา ๕๑  หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการออกใบอนุญาตที่คณะกรรมการกำหนดตามมาตรา ๕๐ ต้องคำนึงถึงความแตกต่างของประเภท ขนาด และลักษณะของกิจการพลังงาน และต้องไม่ทำให้เกิดภาระเกินสมควรแก่การประกอบกิจการพลังงานของผู้รับใบอนุญาต และไม่เป็นผลให้เกิดการจำกัดการแข่งขัน รวมทั้งต้องให้มีการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกันในระหว่างผู้รับใบอนุญาตที่ประกอบกิจการพลังงานในประเภท ขนาด และลักษณะเดียวกัน

หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตามวรรคหนึ่ง ให้รวมถึงเรื่องใดเรื่องหนึ่งหรือหลายเรื่อง ดังต่อไปนี้ด้วย

(๑) สถานที่ตั้งและสภาพแวดล้อมของสถานประกอบกิจการพลังงาน

(๒) มาตรฐานทางวิชาการ วิศวกรรม และความปลอดภัย

(๓) มาตรฐานและคุณภาพการให้บริการ

(๔) อัตราค่าบริการ

(๕) ประสิทธิภาพในการใช้พลังงานและทรัพยากร

(๖) ประสิทธิภาพในการประกอบกิจการพลังงานและการให้บริการ

(๗) ประเภทและชนิดของเชื้อเพลิง รวมถึงข้อกำหนดเกี่ยวกับการใช้พลังงานหมุนเวียน

(๘) กระบวนการและเทคโนโลยีในการประกอบกิจการพลังงาน

(๙) การป้องกันและแก้ไขการขาดแคลนพลังงาน

(๑๐) การแข่งขันในการประกอบกิจการพลังงาน และการป้องกันการใช้อำนาจผูกขาดในทางมิชอบ

(๑๑) โครงสร้างการถือหุ้นและความสัมพันธ์กับผู้ประกอบกิจการพลังงานรายอื่น

(๑๒) กระบวนการในการรับฟังความเห็นและทำความเข้าใจกับประชาชนและผู้มีส่วนได้เสีย

(๑๓) มาตรฐานทางด้านสิ่งแวดล้อม

(๑๔) มาตรการในการบรรเทาผลกระทบต่อชุมชนและสภาพแวดล้อมในพื้นที่ใกล้เคียงกับสถานประกอบกิจการพลังงาน

(๑๕) ความสมบูรณ์และครบถ้วนของการรายงานข้อมูลต่อคณะกรรมการ

มาตรา ๕๒  เมื่อผู้ขอรับใบอนุญาตชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตและค่าธรรมเนียมการประกอบกิจการพลังงานให้แก่สำนักงานแล้ว ให้คณะกรรมการออกใบอนุญาตให้แก่ผู้ขอรับใบอนุญาต

เมื่อคณะกรรมการได้ออกใบอนุญาตแล้ว ให้เปิดเผยรายชื่อผู้รับใบอนุญาตในระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ของสำนักงาน

มาตรา ๕๓  เมื่อผู้รับใบอนุญาตประสงค์จะเริ่มประกอบกิจการไฟฟ้าในส่วนหนึ่งส่วนใดต้องแจ้งให้สำนักงานทราบก่อนวันเริ่มประกอบกิจการไฟฟ้า ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด

ในกรณีที่ผู้รับใบอนุญาตประสงค์จะทดลองเดินเครื่องจักรหรืออุปกรณ์ก่อนการเริ่มประกอบกิจการไฟฟ้าตามวรรคหนึ่ง ผู้รับใบอนุญาตต้องแจ้งวัน เวลา และระยะเวลาการทดลองเดินเครื่องจักรหรืออุปกรณ์ให้ศูนย์ควบคุมระบบไฟฟ้าทราบ และศูนย์ควบคุมระบบไฟฟ้าต้องแจ้งตอบกำหนดวันและเวลาในการเดินเครื่องที่แน่นอนให้ผู้รับใบอนุญาตทราบโดยพลัน

มาตรา ๕๔  การประกอบกิจการพลังงานให้มีอายุตามที่กำหนดไว้ในใบอนุญาต

การขอต่ออายุใบอนุญาต ให้ผู้รับใบอนุญาตยื่นคำขอก่อนวันที่ใบอนุญาตสิ้นอายุเมื่อได้ยื่นคำขอแล้ว ให้ถือว่าผู้ยื่นคำขอยังคงอยู่ในฐานะผู้รับใบอนุญาตจนกว่าจะได้รับแจ้งคำสั่งไม่อนุญาตให้ต่ออายุใบอนุญาต

การขอต่ออายุใบอนุญาตและการอนุญาต รวมทั้งอัตราค่าธรรมเนียมการให้ต่ออายุใบอนุญาตให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการประกาศกำหนด โดยหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขนั้นต้องมีลักษณะเช่นเดียวกันกับหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตามมาตรา ๕๐ และมาตรา ๕๑ ด้วย

มาตรา ๕๕  ห้ามมิให้ผู้รับใบอนุญาตโอนสิทธิตามใบอนุญาตให้บุคคลอื่นไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน เว้นแต่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการประกาศกำหนด

มาตรา ๕๖  ในกรณีที่ผู้รับใบอนุญาตขาดคุณสมบัติหรือไม่ปฏิบัติตามระเบียบที่คณะกรรมการประกาศกำหนดตามมาตรา ๕๐ คณะกรรมการอาจสั่งพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาตได้ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการประกาศกำหนด

มาตรา ๕๗  ในกรณีที่อาจเกิดการขาดแคลนไฟฟ้าเป็นครั้งคราว หรือกรณีจำเป็นที่ต้องสำรองเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าเพื่อความมั่นคงหรือประโยชน์ในทางเศรษฐกิจของประเทศคณะกรรมการโดยความเห็นชอบของรัฐมนตรีมีอำนาจออกคำสั่งให้ผู้รับใบอนุญาตเพิ่มหรือลดการผลิตหรือการจำหน่ายไฟฟ้าได้

ในกรณีเกิดการขาดแคลนก๊าซธรรมชาติเป็นครั้งคราว และเพื่อประโยชน์แห่งความมั่นคงของประเทศ ให้คณะกรรมการมีอำนาจออกคำสั่งให้ผู้รับใบอนุญาตซึ่งเป็นผู้จัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติดำเนินการเจรจากับผู้ขายก๊าซธรรมชาติ เพื่อหาแนวทางเพิ่มปริมาณการผลิตและจัดหาก๊าซธรรมชาติและให้รายงานผลการดำเนินการต่อคณะกรรมการ

มาตรา ๕๘  ห้ามมิให้ผู้รับใบอนุญาตพักหรือหยุดให้บริการพลังงาน เว้นแต่จะได้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการประกาศกำหนด

มาตรา ๕๙  ผู้รับใบอนุญาตที่ประสงค์จะเลิกประกอบกิจการพลังงาน ต้องแจ้งเป็นหนังสือให้สำนักงานทราบล่วงหน้า ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และระยะเวลาที่คณะกรรมการประกาศกำหนด

ในกรณีที่การเลิกประกอบกิจการพลังงานตามประเภท ขนาด และสถานที่ตั้งตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนด จะกระทบต่อความมั่นคงของระบบพลังงาน และยังไม่มีผู้รับใบอนุญาตรายอื่นเข้าดำเนินการแทน คณะกรรมการมีอำนาจสั่งให้หน่วยงานของรัฐหรือเอกชนที่มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญด้านการประกอบกิจการพลังงานเข้าดำเนินการแทนจนกว่าจะมีผู้รับใบอนุญาตรายอื่นเข้าดำเนินการแทนหรือคณะกรรมการเห็นว่าควรสั่งเลิกประกอบกิจการพลังงานนั้น

ให้ถือว่าหน่วยงานของรัฐหรือเอกชนที่เข้าดำเนินการแทนเป็นผู้รับใบอนุญาตซึ่งมีสิทธิและหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้

ให้หน่วยงานของรัฐหรือเอกชนที่เข้าดำเนินการแทนผู้รับใบอนุญาตมีสิทธิเข้าไปและใช้สถานประกอบกิจการพลังงานของผู้รับใบอนุญาตที่เลิกประกอบกิจการพลังงานตามวรรคหนึ่งได้เท่าที่จำเป็น เพื่อให้การให้บริการพลังงานดำเนินต่อไปได้ โดยหน่วยงานของรัฐหรือเอกชนจะต้องใช้ความระมัดระวังเพื่อสงวนรักษาทรัพย์ของผู้รับใบอนุญาตเหมือนเช่นผู้ประกอบกิจการพลังงานหรือผู้มีวิชาชีพเช่นนั้นจะพึงปฏิบัติ และหากเกิดความเสียหายแก่ผู้รับใบอนุญาตให้ผู้รับใบอนุญาตมีสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนสำหรับความเสียหายนั้นจากสำนักงานได้ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด

การแบ่งรายได้และค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาของการดำเนินการแทนระหว่างผู้เข้าดำเนินการแทนและผู้รับใบอนุญาตที่เลิกประกอบกิจการพลังงาน ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่คณะกรรมการประกาศกำหนด

มาตรา ๖๐  ให้คณะกรรมการมีอำนาจออกระเบียบกำหนดหลักเกณฑ์เพื่อมิให้มีการกระทำการใด  อันเป็นการผูกขาด ลดการแข่งขัน หรือจำกัดการแข่งขันในการให้บริการพลังงาน

มาตรา ๖๑  ในกรณีที่ผู้รับใบอนุญาตไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ตามมาตรา ๖๐ ให้คณะกรรมการมีอำนาจ ดังต่อไปนี้

(๑) มีคำสั่งให้ผู้รับใบอนุญาตหยุดหรือปรับปรุงการกระทำอันเป็นการผูกขาดลดการแข่งขันหรือจำกัดการแข่งขัน

(๒) เปลี่ยนแปลงเงื่อนไขใบอนุญาต

มาตรา ๖๒  ในกรณีที่คณะกรรมการเห็นว่าการให้บริการของผู้รับใบอนุญาตอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่ระบบ เครื่องจักร และอุปกรณ์ของผู้ใช้พลังงานหรือผู้ประกอบกิจการพลังงานรายอื่น คณะกรรมการมีอำนาจสั่งให้ผู้รับใบอนุญาตปรับปรุงการให้บริการภายในระยะเวลาที่คณะกรรมการกำหนดได้

มาตรา ๖๓  ให้ผู้รับใบอนุญาตจัดทำและส่งข้อมูลเกี่ยวกับการประกอบกิจการพลังงานซึ่งอาจรวมถึงบัญชีแสดงฐานะการเงินและงบการเงินให้แก่คณะกรรมการ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด

ในกรณีที่ผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการระบบโครงข่ายไฟฟ้ามีศูนย์ควบคุมระบบไฟฟ้าด้วย ให้แยกบัญชีและงบดุลการประกอบกิจการระบบโครงข่ายไฟฟ้า และศูนย์ควบคุมระบบไฟฟ้าออกจากการประกอบกิจการประเภทอื่นอย่างชัดเจน

                                                     ส่วนที่ ๒

                                    อัตราค่าบริการในการประกอบกิจการพลังงาน

                       

มาตรา ๖๔  ให้รัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติกำหนดนโยบายและแนวทางการกำหนดอัตราค่าบริการในการประกอบกิจการพลังงาน

มาตรา ๖๕  ภายใต้นโยบายและแนวทางที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติให้ความเห็นชอบ ให้คณะกรรมการกำหนดหลักเกณฑ์การกำหนดอัตราค่าบริการของผู้รับใบอนุญาตแต่ละประเภท โดยมีแนวทางดังต่อไปนี้

(๑) ควรสะท้อนถึงต้นทุนที่แท้จริงและคำนึงถึงผลตอบแทนที่เหมาะสมของการลงทุนของการประกอบกิจการพลังงานที่มีประสิทธิภาพ

(๒) ควรอยู่ในระดับที่ทำให้มีการจัดหาพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและเพียงพอที่จะตอบสนองความต้องการใช้พลังงานในประเทศ

(๓) ควรจูงใจให้มีการปรับปรุงประสิทธิภาพในการประกอบกิจการพลังงาน

(๔) คำนึงถึงความเป็นธรรมแก่ทั้งผู้ใช้พลังงานและผู้รับใบอนุญาต

(๕) คำนึงถึงการช่วยเหลือผู้ใช้ไฟฟ้าที่ด้อยโอกาสหรือการจัดหาไฟฟ้าเพื่อกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาค

(๖) การคำนวณอัตราค่าบริการต้องชัดเจน โปร่งใส และต้องประกาศเผยแพร่อัตราค่าบริการ

(๗) ไม่มีการเลือกปฏิบัติต่อผู้ใช้พลังงานหรือผู้ประสงค์จะใช้พลังงานอย่างไม่เป็นธรรม

มาตรา ๖๖  ให้คณะกรรมการกำกับดูแลอัตราค่าบริการที่ผู้รับใบอนุญาตกำหนดให้เป็นไปตามนโยบายและแนวทางที่ได้รับความเห็นชอบตามมาตรา ๖๔ และตามหลักเกณฑ์ตามมาตรา ๖๕

ในกรณีที่อัตราค่าบริการเป็นอัตราที่ใช้บังคับเป็นการทั่วไป ให้คณะกรรมการเปิดเผยสูตรหรือวิธีการที่ใช้ในการคำนวณอัตราค่าบริการ รวมทั้งข้อมูลค่าตัวแปรที่ใช้ในการคำนวณอัตราค่าบริการ ยกเว้นในกรณีที่คณะกรรมการเห็นว่าตัวแปรดังกล่าวเป็นข้อมูลลับทางการค้าของผู้รับใบอนุญาต

มาตรา ๖๗  ในการกำกับดูแลอัตราค่าบริการตามมาตรา ๖๖ วรรคหนึ่ง ให้ผู้รับใบอนุญาตเสนออัตราค่าบริการเพื่อให้คณะกรรมการพิจารณาให้ความเห็นชอบ โดยกระบวนการพิจารณาต้องมีขั้นตอนที่โปร่งใส และต้องรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้เสีย

มาตรา ๖๘  ในกรณีที่คณะกรรมการเห็นว่าอัตราค่าบริการไม่เหมาะสม อันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพเศรษฐกิจ สังคม การลงทุนหรือเทคโนโลยี คณะกรรมการมีอำนาจดังต่อไปนี้

(๑) ปรับอัตราค่าบริการ หรือ

(๒) สั่งให้ผู้รับใบอนุญาตปรับอัตราค่าบริการเพื่อเสนอให้คณะกรรมการให้ความเห็นชอบซึ่งคณะกรรมการต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับเอกสารหลักฐานครบถ้วน

การปรับอัตราค่าบริการตามวรรคหนึ่งต้องกระทำภายใต้กรอบนโยบายและแนวทางที่ได้รับความเห็นชอบตามมาตรา ๖๔ ด้วย

มาตรา ๖๙  ในกรณีที่ผู้รับใบอนุญาตเห็นว่าอัตราค่าบริการที่คณะกรรมการปรับหรือให้ความเห็นชอบไปแล้วนั้นไม่เหมาะสมอันเนื่องมาจากมีการเปลี่ยนแปลงสภาพเศรษฐกิจ สังคมการลงทุน เทคโนโลยี หรือเหตุอื่น ผู้รับใบอนุญาตอาจยื่นคำร้องขอปรับอัตราค่าบริการต่อคณะกรรมการเพื่อให้ความเห็นชอบได้ และคณะกรรมการต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับเอกสารหลักฐานครบถ้วน

การปรับอัตราค่าบริการตามวรรคหนึ่งต้องกระทำภายใต้กรอบนโยบายและแนวทางที่ได้รับความเห็นชอบตามมาตรา ๖๔ ด้วย

มาตรา ๗๐  ผู้รับใบอนุญาตต้องประกาศเผยแพร่อัตราค่าบริการที่คณะกรรมการให้ความเห็นชอบตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการประกาศกำหนด

มาตรา ๗๑  ห้ามมิให้ผู้รับใบอนุญาตเรียกเก็บค่าบริการเกินกว่าอัตราค่าบริการที่คณะกรรมการให้ความเห็นชอบ

ส่วนที่ ๓

การกำหนดมาตรฐานและความปลอดภัยในการประกอบกิจการพลังงาน

                       

มาตรา ๗๒  การประกอบกิจการพลังงาน ต้องเป็นไปตามมาตรฐานทางวิศวกรรมและมีความปลอดภัยตามระเบียบที่คณะกรรมการประกาศกำหนด โดยระเบียบที่กำหนดจะต้อง

(๑) ไม่สร้างภาระให้แก่ผู้รับใบอนุญาตเกินความจำเป็น

(๒) ไม่เข้มงวดเกินไปในลักษณะที่เป็นการจำกัดหรือกีดกันการแข่งขัน

(๓) ไม่เป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้รับใบอนุญาตรายหนึ่งรายใด

(๔) มีความโปร่งใส

ในกรณีที่การประกอบกิจการพลังงานของผู้รับใบอนุญาตไม่เป็นไปตามระเบียบตามวรรคหนึ่ง ให้คณะกรรมการมีอำนาจสั่งให้ผู้รับใบอนุญาตปรับปรุงหรือแก้ไขให้ถูกต้องได้

มาตรา ๗๓  มาตรฐานของอุปกรณ์ที่ใช้เชื่อมต่อกับระบบโครงข่ายพลังงานของผู้รับใบอนุญาตที่มีระบบโครงข่ายพลังงาน รวมถึงวิธีการตรวจสอบและการรับรองผลการตรวจสอบต้องเป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการประกาศกำหนด

ระเบียบตามวรรคหนึ่ง อาจกำหนดให้อุปกรณ์ที่ใช้เชื่อมต่อกับระบบโครงข่ายพลังงานบางประเภทต้องได้รับการตรวจสอบและรับรองมาตรฐานก่อนนำมาใช้ในการประกอบกิจการพลังงานก็ได้

ในการจัดทำระเบียบตามวรรคหนึ่งนั้น ให้ผู้รับใบอนุญาตที่มีระบบโครงข่ายพลังงานจัดทำรายละเอียดเสนอคณะกรรมการเพื่อพิจารณา

มาตรา ๗๔  ผู้รับใบอนุญาตต้องบำรุงรักษา ซ่อมแซม และแก้ไขปรับปรุงระบบโครงข่ายพลังงานอุปกรณ์ หรือเครื่องมือต่างๆ ที่ใช้ในการประกอบกิจการพลังงานให้ใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีมาตรฐานตามระเบียบที่ออกตามมาตรา ๗๒ วรรคหนึ่ง ในกรณีที่เกิดความชำรุดเสียหายจะต้องดำเนินการแก้ไขให้สามารถใช้งานได้โดยเร็ว

มาตรา ๗๕  ในการกำหนดมาตรฐานตามมาตรา ๗๒ วรรคหนึ่ง และมาตรา ๗๓ วรรคหนึ่งคณะกรรมการอาจอ้างอิงมาตรฐานที่กำหนดโดยหน่วยงานอื่นที่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยการนั้นก็ได้

มาตรา ๗๖  ผู้ใดประสงค์จะเป็นหน่วยตรวจสอบและรับรองมาตรฐานของอุปกรณ์ที่ใช้เชื่อมต่อกับระบบโครงข่ายพลังงาน ต้องได้รับใบอนุญาตเป็นหน่วยตรวจสอบและรับรองมาตรฐานจากคณะกรรมการ

คุณสมบัติของผู้ขอรับใบอนุญาตเป็นหน่วยตรวจสอบและรับรองมาตรฐานการยื่นคำขอรับใบอนุญาต การออกใบอนุญาต การต่ออายุใบอนุญาต อายุใบอนุญาต ค่าธรรมเนียมการออกใบอนุญาตและการต่ออายุใบอนุญาต รวมทั้งค่าธรรมเนียมการตรวจสอบและรับรอง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการประกาศกำหนด

มาตรา ๗๗  ให้คณะกรรมการมีอำนาจเพิกถอนใบอนุญาตให้เป็นหน่วยตรวจสอบและรับรองมาตรฐานของอุปกรณ์ที่ใช้เชื่อมต่อกับระบบโครงข่ายพลังงานในกรณีดังต่อไปนี้

(๑) ขาดคุณสมบัติตามที่กำหนดไว้ในประกาศตามมาตรา ๗๖ วรรคสอง

(๒) ดำเนินการตรวจสอบ รายงานผลการตรวจสอบ หรือรับรองผลการตรวจสอบโดยไม่สุจริต

(๓) ทำการตรวจสอบ รายงานผลการตรวจสอบ หรือรับรองผลการตรวจสอบอย่างล่าช้าโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร จนเป็นเหตุให้ผู้ขอรับการตรวจสอบได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง

(๔) มีผู้ตรวจสอบซึ่งมีคุณสมบัติไม่ได้มาตรฐาน หรือมีจำนวนผู้ตรวจสอบไม่ครบตามที่กำหนดไว้ในประกาศตามมาตรา ๗๖ วรรคสอง

มาตรา ๗๘  การเพิกถอนใบอนุญาตเป็นหน่วยตรวจสอบและรับรองมาตรฐานตามมาตรา ๗๗ ไม่เป็นเหตุกระทบกระเทือนการรับรองมาตรฐานที่หน่วยตรวจสอบและรับรองมาตรฐานได้ดำเนินการไปแล้วก่อนที่จะถูกเพิกถอนใบอนุญาต เว้นแต่การรับรองไม่เป็นไปตามมาตรฐานที่คณะกรรมการกำหนด คณะกรรมการอาจพิจารณาสั่งเพิกถอนการรับรองมาตรฐานนั้นได้

ในกรณีที่ผู้ใดได้รับความเสียหายจากการรับรองมาตรฐานที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานและถูกเพิกถอนตามวรรคหนึ่ง ให้หน่วยตรวจสอบและรับรองมาตรฐานที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาตมีหน้าที่ชดใช้ความเสียหายที่เกิดขึ้นด้วย

                                                         ส่วนที่ ๔

                        ระบบโครงข่ายพลังงานและศูนย์ควบคุมระบบโครงข่ายพลังงาน

                       

มาตรา ๗๙  ผู้รับใบอนุญาตที่มีระบบโครงข่ายพลังงานต้องดำเนินการตามที่กำหนดในแผนการขยายระบบโครงข่ายพลังงาน

ให้ผู้รับใบอนุญาตที่มีระบบโครงข่ายพลังงานซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐตามที่คณะกรรมการกำหนดจัดทำแผนการขยายระบบโครงข่ายพลังงานเสนอต่อรัฐมนตรีเพื่อขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี

ในการพิจารณาแผนการขยายระบบโครงข่ายพลังงานตามวรรคสอง ให้คณะกรรมการให้ความเห็นประกอบด้วย ในการนี้หากแผนดังกล่าวมีผลกระทบต่อส่วนได้เสียสำคัญของประชาชนให้คณะกรรมการจัดให้มีกระบวนการรับฟังความเห็นตามมาตรา ๒๖ ด้วย

ให้ผู้รับใบอนุญาตที่มีระบบโครงข่ายพลังงานซึ่งมิใช่หน่วยงานของรัฐตามวรรคสองจัดทำแผนการขยายระบบโครงข่ายพลังงานเพื่อนำเสนอคณะกรรมการพิจารณาให้ความเห็นชอบตามขอบเขตและหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการกำหนด

มาตรา ๘๐  ผู้รับใบอนุญาตที่มีระบบโครงข่ายพลังงานต้องประกอบกิจการพลังงานอย่างเป็นธรรมและจะเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมมิได้

มาตรา ๘๑  ผู้รับใบอนุญาตที่มีระบบโครงข่ายพลังงานต้องยินยอมให้ผู้รับใบอนุญาตหรือผู้ประกอบกิจการพลังงานรายอื่นใช้หรือเชื่อมต่อระบบโครงข่ายพลังงานของตน ทั้งนี้ ตามข้อกำหนดที่ผู้รับใบอนุญาตที่มีระบบโครงข่ายพลังงานประกาศกำหนด

ข้อกำหนดตามวรรคหนึ่งต้องประกอบด้วยข้อกำหนดเกี่ยวกับการเชื่อมต่อระบบโครงข่ายพลังงานข้อกำหนดเกี่ยวกับการใช้บริการระบบโครงข่ายพลังงาน และข้อกำหนดเกี่ยวกับการปฏิบัติการระบบโครงข่ายพลังงาน โดยข้อกำหนดต้องยึดถือหลักการ ดังต่อไปนี้

(๑) ไม่กระทบต่อความมั่นคง ความปลอดภัย และคุณภาพของระบบพลังงาน

(๒) ไม่ทำให้ผู้ใช้พลังงานและส่วนรวมเสียประโยชน์

(๓) ไม่เป็นการเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม หรือกีดกันผู้รับใบอนุญาตหรือผู้ประกอบกิจการพลังงานรายอื่น

(๔) ข้อกำหนดทางเทคนิค ณ จุดที่มีการใช้หรือเชื่อมต่อระบบโครงข่ายพลังงานต้องชัดเจนมีความเป็นไปได้ในทางเทคนิค และไม่ก่อให้เกิดภาระแก่ผู้ขอใช้หรือเชื่อมต่อระบบโครงข่ายพลังงานเกินสมควร

(๕) มีการกำหนดหน้าที่และความรับผิดชอบของผู้ขอใช้หรือเชื่อมต่อระบบโครงข่ายพลังงานและผู้ให้ใช้หรือเชื่อมต่อระบบโครงข่ายพลังงานที่ชัดเจน

(๖) ลักษณะอื่นตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนด

ข้อกำหนดตามวรรคหนึ่งและวรรคสองต้องไม่ทำให้ผู้รับใบอนุญาตที่มีระบบโครงข่ายพลังงานเสียประโยชน์หรือเกิดความเสียเปรียบในการแข่งขันกับผู้รับใบอนุญาตหรือผู้ประกอบกิจการพลังงานรายอื่น

มาตรา ๘๒  ในกรณีที่คณะกรรมการเห็นว่าข้อกำหนดเกี่ยวกับการเชื่อมต่อระบบโครงข่ายพลังงาน ข้อกำหนดเกี่ยวกับการใช้บริการระบบโครงข่ายพลังงาน และข้อกำหนดเกี่ยวกับการปฏิบัติการระบบโครงข่ายพลังงานไม่เป็นไปตามหลักการตามมาตรา ๘๑ ให้คณะกรรมการมีอำนาจสั่งให้ผู้รับใบอนุญาตที่ออกข้อกำหนดดังกล่าวแก้ไขหรือปรับปรุงข้อกำหนดให้เป็นไปตามหลักการตามมาตรา ๘๑ ได้

มาตรา ๘๓  ในกรณีที่ผู้รับใบอนุญาตหรือผู้ประกอบกิจการพลังงานที่ประสงค์จะใช้หรือเชื่อมต่อระบบโครงข่ายพลังงานเห็นว่าข้อกำหนดเกี่ยวกับการเชื่อมต่อระบบโครงข่ายพลังงานข้อกำหนดเกี่ยวกับการใช้บริการระบบโครงข่ายพลังงาน และข้อกำหนดเกี่ยวกับการปฏิบัติการระบบโครงข่ายพลังงานไม่เป็นไปตามหลักการตามมาตรา ๘๑ ให้ผู้รับใบอนุญาตหรือผู้ประกอบกิจการพลังงานยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการเพื่อพิจารณาได้

กรณีที่คณะกรรมการเห็นว่าข้อกำหนดดังกล่าวไม่เป็นไปตามหลักการตามมาตรา ๘๑ ให้คณะกรรมการมีอำนาจสั่งให้ผู้รับใบอนุญาตที่ออกข้อกำหนดแก้ไขหรือปรับปรุงข้อกำหนดให้เป็นไปตามหลักการตามมาตรา ๘๑ ได้

มาตรา ๘๔  ในกรณีที่ผู้รับใบอนุญาตที่มีระบบโครงข่ายพลังงานปฏิเสธไม่ให้ใช้หรือเชื่อมต่อระบบโครงข่ายพลังงาน ผู้ที่ได้รับการปฏิเสธมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้คณะกรรมการพิจารณาวินิจฉัยได้

เมื่อคณะกรรมการวินิจฉัยคำร้องตามวรรคหนึ่งเป็นประการใด ให้ผู้เกี่ยวข้องปฏิบัติตามคำวินิจฉัยนั้น

มาตรา ๘๕  ผู้รับใบอนุญาตที่มีระบบโครงข่ายพลังงานต้องแจ้งข้อมูลที่ถูกต้องและจำเป็นสำหรับการใช้หรือเชื่อมต่อระบบโครงข่ายพลังงานให้ผู้ขอใช้หรือเชื่อมต่อระบบโครงข่ายพลังงานทราบและต้องไม่กระทำการใดๆ อันเป็นเหตุให้การใช้หรือเชื่อมต่อระบบโครงข่ายพลังงานของผู้รับใบอนุญาตหรือผู้ประกอบกิจการพลังงานรายอื่นไม่สามารถใช้งานได้ตามปกติ

มาตรา ๘๖  ผู้รับใบอนุญาตที่มีระบบโครงข่ายพลังงานต้องเปิดเผยสัญญาความตกลงเงื่อนไข และอัตราค่าบริการในการใช้หรือการเชื่อมต่อระบบโครงข่ายพลังงานตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่คณะกรรมการประกาศกำหนด

มาตรา ๘๗  ให้ผู้รับใบอนุญาตที่มีศูนย์ควบคุมระบบโครงข่ายพลังงานมีหน้าที่ควบคุมบริหาร และกำกับดูแลให้ระบบพลังงานมีความสมดุล มั่นคง มีเสถียรภาพ ประสิทธิภาพ และความน่าเชื่อถือ รวมทั้งให้มีอำนาจหน้าที่ดำเนินการอื่นตามที่คณะกรรมการกำหนดในเงื่อนไขการออกใบอนุญาต

ให้ผู้รับใบอนุญาตที่มีศูนย์ควบคุมระบบไฟฟ้าสั่งให้ผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการไฟฟ้าดำเนินการผลิตไฟฟ้าอย่างเป็นธรรมและจะเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมมิได้

มาตรา ๘๘  ในกรณีที่มีผู้ร้องเรียนต่อคณะกรรมการว่าผู้รับใบอนุญาตที่มีศูนย์ควบคุมระบบไฟฟ้าดำเนินการฝ่าฝืนมาตรา ๘๗ วรรคสอง ให้คณะกรรมการวินิจฉัยคำร้องให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือร้องเรียน

ในกรณีที่คณะกรรมการเห็นว่าผู้รับใบอนุญาตที่มีศูนย์ควบคุมระบบไฟฟ้ากระทำการฝ่าฝืนมาตรา ๘๗  วรรคสอง และเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ร้องเรียนในเบื้องต้นให้คณะกรรมการกำหนดค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายนั้นด้วย

                                                    หมวด ๔

                                         การคุ้มครองผู้ใช้พลังงาน

                                                     ส่วนที่ ๑

                              มาตรฐานการให้บริการและการให้บริการอย่างทั่วถึง

มาตรา ๘๙  ผู้รับใบอนุญาตต้องจัดให้มีการให้บริการพลังงานตามมาตรฐานที่คณะกรรมการกำหนด โดยให้รวมถึงมาตรฐานทางวิชาการและวิศวกรรม และมาตรฐานคุณภาพการให้บริการ

ให้ผู้รับใบอนุญาตที่ไม่สามารถให้บริการได้ตามมาตรฐานที่กำหนดตามวรรคหนึ่ง จ่ายเงินชดเชยแก่ผู้ใช้พลังงาน ตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด

ให้ผู้รับใบอนุญาตรายงานคุณภาพการให้บริการต่อคณะกรรมการ ตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด

มาตรา ๙๐  คณะกรรมการอาจกำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตต้องจัดให้มีบริการด้านพลังงานในท้องที่หนึ่งท้องที่ใดที่ยังไม่มีผู้ให้บริการ หรือมีแต่ไม่ทั่วถึง หรือไม่เพียงพอแก่ความต้องการของผู้ใช้พลังงานในท้องที่นั้น

การกำหนดตามวรรคหนึ่งให้เป็นไปตามนโยบายที่รัฐมนตรีกำหนดตามมาตรา ๙ (๗)

มาตรา ๙๑  ให้คณะกรรมการมีอำนาจออกประกาศกำหนดแบบมาตรฐานของสัญญาเกี่ยวกับการให้บริการพลังงานได้ และจะกำหนดยกเว้นให้สัญญาใดไม่ต้องเป็นไปตามแบบมาตรฐานของสัญญาก็ได้

แบบมาตรฐานของสัญญาเกี่ยวกับการให้บริการพลังงานอย่างน้อยจะต้อง

(๑) มีข้อกำหนดเกี่ยวกับหน้าที่และความรับผิดชอบของผู้รับใบอนุญาตและผู้ใช้พลังงานที่ชัดเจน

(๒) ไม่มีข้อกำหนดที่เป็นการจำกัดการใช้ประโยชน์ของผู้ใช้พลังงานโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร

(๓) ไม่มีข้อกำหนดที่มีลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติหรือกีดกันผู้ใช้พลังงานอย่างไม่เป็นธรรม

มาตรา ๙๒  ผู้รับใบอนุญาตต้องจัดให้มีการเผยแพร่แบบสัญญาการให้บริการพลังงานของตนแก่ผู้ใช้พลังงานตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการกำหนด และต้องแสดงไว้ในที่เปิดเผยเห็นได้ง่าย ณ ที่ทำการของผู้รับใบอนุญาตเพื่อให้ประชาชนทั่วไปสามารถตรวจสอบได้

                                                          ส่วนที่ ๒

                                                    กองทุนพัฒนาไฟฟ้า

                       

 มาตรา ๙๓  ให้จัดตั้งกองทุนขึ้นกองทุนหนึ่งในสำนักงาน เรียกว่า “กองทุนพัฒนาไฟฟ้า” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นทุนสนับสนุนให้มีการให้บริการไฟฟ้าไปยังท้องที่ต่างๆ อย่างทั่วถึง เพื่อกระจายความเจริญไปสู่ท้องถิ่น พัฒนาชุมชนในท้องถิ่นที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินงานของโรงไฟฟ้า ส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนและเทคโนโลยีในการประกอบกิจการไฟฟ้าที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อย โดยคำนึงถึงความสมดุลของทรัพยากรธรรมชาติและสร้างความเป็นธรรมให้กับผู้ใช้ไฟฟ้า

มาตรา ๙๔  กองทุนประกอบด้วย

(๑) เงินที่ได้รับตามมาตรา ๙๖

(๒) เงินค่าปรับจากผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการไฟฟ้าตามมาตรา ๑๒๘ และมาตรา ๑๔๐

(๓) เงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้บริจาคให้

(๔) ดอกผลหรือผลประโยชน์ใดๆ ที่เกิดจากเงินหรือทรัพย์สินของกองทุน

เงินและทรัพย์สินที่เป็นของกองทุนไม่ต้องนำส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดินตามกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลังและกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ

มาตรา ๙๕  ให้สำนักงานเป็นผู้รับเงิน จ่ายเงิน เก็บรักษา และบริหารจัดการเงินกองทุนแยกออกจากงบประมาณของสำนักงาน

การรับเงิน การจ่ายเงิน การเก็บรักษา และการบริหารจัดการเงินกองทุนให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด

มาตรา ๙๖  ให้ผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการไฟฟ้านำส่งเงินเข้ากองทุน ทั้งนี้ ตามระเบียบที่คณะกรรมการประกาศกำหนดภายใต้กรอบนโยบายของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติตามมาตรา ๑๑ (๑๐) โดยเงินที่นำส่งเข้ากองทุนเพื่อใช้จ่ายตามมาตรา ๙๗ (๑) ให้หักจากอัตราค่าบริการ

การกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการนำส่งเงินเข้ากองทุนตามวรรคหนึ่ง ให้จัดให้มีการแยกบัญชีตามกิจการที่กำหนดไว้ในมาตรา ๙๗ (๑) (๒) (๓) (๔) และ (๕) อย่างชัดเจน โดยคำนึงถึงผลกระทบต่อผู้ใช้ไฟฟ้าที่จะต้องรับภาระในการที่ผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการไฟฟ้านำส่งเงินเข้ากองทุนด้วย

มาตรา ๙๗  เงินกองทุนให้ใช้จ่ายเพื่อกิจการ ดังต่อไปนี้

(๑) เพื่อการชดเชยและอุดหนุนผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการไฟฟ้าซึ่งได้ให้บริการแก่ผู้ใช้ไฟฟ้าที่ด้อยโอกาส หรือเพื่อให้มีการให้บริการไฟฟ้าอย่างทั่วถึง หรือเพื่อส่งเสริมนโยบายในการกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาค

(๒) เพื่อการชดเชยผู้ใช้ไฟฟ้าซึ่งต้องจ่ายอัตราค่าไฟฟ้าแพงขึ้นจากการที่ผู้รับใบอนุญาตที่มีศูนย์ควบคุมระบบไฟฟ้ากระทำการฝ่าฝืนมาตรา ๘๗ วรรคสอง

(๓) เพื่อการพัฒนาหรือฟื้นฟูท้องถิ่นที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินงานของโรงไฟฟ้า

(๔) เพื่อการส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียน และเทคโนโลยีที่ใช้ในการประกอบกิจการไฟฟ้าที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อย

(๕) เพื่อการส่งเสริมสังคมและประชาชนให้มีความรู้ ความตระหนัก และมีส่วนร่วมทางด้านไฟฟ้า

(๖) เป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารกองทุน

การใช้จ่ายเงินกองทุนตาม (๑) (๒) (๓) (๔) และ (๕) ให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนดภายใต้กรอบนโยบายของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติตามมาตรา ๑๑ (๑๐) และต้องจัดให้มีการแยกบัญชีตามกิจการที่ใช้จ่ายอย่างชัดเจน

                                                     ส่วนที่ ๓

                                   คณะกรรมการผู้ใช้พลังงานประจำเขต

                       

มาตรา ๙๘  เพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองผู้ใช้พลังงาน ให้คณะกรรมการแต่งตั้งคณะกรรมการผู้ใช้พลังงานประจำเขตประกอบด้วยประธานกรรมการคนหนึ่งและกรรมการอีกไม่เกินสิบคนซึ่งเป็นผู้แทนของผู้ใช้พลังงานในแต่ละเขต

คุณสมบัติ วาระการดำรงตำแหน่ง การพ้นจากตำแหน่ง วิธีการปฏิบัติงานค่าตอบแทน และค่าใช้จ่ายอื่นในการปฏิบัติงานของคณะกรรมการผู้ใช้พลังงานประจำเขต ให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการกำหนด และให้ถือว่าค่าตอบแทนและค่าใช้จ่ายอื่นนั้นเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของสำนักงาน

การแบ่งเขตตามวรรคหนึ่งให้แบ่งตามพื้นที่ที่คณะกรรมการกำหนด

มาตรา ๙๙  ให้คณะกรรมการผู้ใช้พลังงานประจำเขตมีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้

(๑) ดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องร้องเรียนของผู้ใช้พลังงานและให้คำแนะนำแก่ผู้ใช้พลังงานตามที่คณะกรรมการกำหนด

(๒) ให้คำปรึกษาแก่คณะกรรมการในด้านการคุ้มครองผู้ใช้พลังงาน

(๓) เสนอมาตรการแก้ไขและปรับปรุงการให้บริการพลังงาน

(๔) ประสานงานกับผู้ประกอบกิจการพลังงานเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลเกี่ยวกับการร้องเรียนของผู้ใช้พลังงานเพื่อปรับปรุงคุณภาพบริการและแก้ไขเรื่องร้องเรียน

(๕) ปฏิบัติการอื่นใดตามที่คณะกรรมการกำหนด

มาตรา ๑๐๐  ในกรณีที่ผู้ใช้พลังงานได้รับความเดือดร้อนเสียหายอันเนื่องมาจากการให้บริการของผู้รับใบอนุญาต ผู้ใช้พลังงานมีสิทธิยื่นหนังสือร้องเรียนต่อคณะกรรมการผู้ใช้พลังงานประจำเขตได้

หนังสือร้องเรียนต้องระบุข้อเท็จจริงที่ชัดเจนพร้อมจัดส่งเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับกรณีดังกล่าวไปด้วย

หลักเกณฑ์และวิธีพิจารณาเรื่องร้องเรียนให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนดในการนี้ให้กำหนดระยะเวลาพิจารณาเรื่องร้องเรียนให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือร้องเรียน และต้องให้โอกาสคู่กรณีชี้แจงข้อเท็จจริงและแสดงหลักฐานของตนด้วย

มาตรา ๑๐๑  ในกรณีที่ผู้ใช้พลังงานไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของคณะกรรมการผู้ใช้พลังงานประจำเขต ให้มีสิทธิอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการได้ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด

คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการให้เป็นที่สุด

มาตรา ๑๐๒  ในกรณีที่ผู้ใช้พลังงานเห็นว่าผู้รับใบอนุญาตเรียกเก็บค่าบริการในอัตราที่สูงกว่าอัตราที่คณะกรรมการให้ความเห็นชอบ หรือเห็นว่าผู้รับใบอนุญาตให้บริการอย่างไม่เป็นธรรมผู้ใช้พลังงานมีสิทธิร้องขอข้อมูลเกี่ยวกับการใช้บริการของตนจากผู้รับใบอนุญาตได้ และผู้รับใบอนุญาตต้องแจ้งข้อมูลตามคำร้องขอให้ผู้ใช้พลังงานทราบภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือร้องขอ

ในกรณีที่ผู้ใช้พลังงานประสงค์จะได้รับข้อมูลตามวรรคหนึ่งในรูปของเอกสารที่มีคำรับรองถูกต้องของข้อมูล ผู้รับใบอนุญาตต้องจัดทำให้แก่ผู้ใช้พลังงานด้วย โดยจะคิดค่าตอบแทนเพื่อการนั้นจากผู้ใช้พลังงานก็ได้ แต่ค่าตอบแทนจะต้องไม่สูงกว่าความเป็นจริง ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด

มาตรา ๑๐๓  ในกรณีมีเหตุอันควรสงสัยว่าผู้รับใบอนุญาตเรียกเก็บค่าบริการไม่ถูกต้องหรือไม่เป็นธรรม ผู้ใช้พลังงานมีสิทธิยื่นหนังสือร้องเรียนต่อคณะกรรมการผู้ใช้พลังงานประจำเขตได้ และให้นำบทบัญญัติในมาตรา ๑๐๐ มาใช้บังคับโดยอนุโลม

                                                   หมวด ๕

                                            การใช้อสังหาริมทรัพย์

                       

 มาตรา ๑๐๔  เมื่อมีความจำเป็นที่ผู้รับใบอนุญาตซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐจะต้องใช้อสังหาริมทรัพย์ เพื่อสร้างระบบโครงข่ายพลังงาน หรือสิ่งปลูกสร้างอื่นอันจำเป็นและเกี่ยวเนื่องกับกิจการดังกล่าวรวมถึงแหล่งน้ำเพื่อการผลิตไฟฟ้าและการสร้างเขื่อนกั้นน้ำ เขื่อนระบายน้ำ เขื่อนกักเก็บน้ำ อ่างเก็บน้ำ หรือสิ่งอื่นอันเป็นอุปกรณ์ของเขื่อนหรืออ่างเก็บน้ำนั้น เพื่อการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ เพื่อการพัฒนาไฟฟ้าพลังน้ำหรือเพื่อประโยชน์เกี่ยวกับการสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำ รวมทั้งลานไกไฟฟ้าและสิ่งอื่นอันเป็นอุปกรณ์ของโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ถ้ามิได้ตกลงเรื่องการโอนไว้เป็นอย่างอื่น ให้ดำเนินการเวนคืนตามกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ โดยให้สำนักงานเป็นเจ้าหน้าที่เวนคืน และให้กรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ที่ได้มาจากการเวนคืนตกเป็นของแผ่นดิน

ให้สำนักงานมีหน้าที่ปกครองดูแล บำรุงรักษา ใช้ และจัดหาประโยชน์เกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ที่ตกเป็นของแผ่นดินตามวรรคหนึ่ง ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด

มาตรา ๑๐๕  เพื่อประโยชน์ในการสำรวจหรือเพื่อหาสถานที่ตั้งระบบโครงข่ายพลังงานให้ผู้รับใบอนุญาตโดยอนุมัติของคณะกรรมการมีอำนาจเข้าไปใช้สอยหรือครอบครองอสังหาริมทรัพย์ซึ่งมิใช่ที่อยู่อาศัยของบุคคลใดเป็นการชั่วคราวได้ โดยให้ผู้รับใบอนุญาตซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐหรือสำนักงานสำหรับผู้รับใบอนุญาตรายอื่น ดำเนินการประกาศกำหนดเขตสำรวจไว้ ณ สำนักงานเขตหรือที่ว่าการอำเภอ หรือกิ่งอำเภอ ที่ทำการกำนัน และที่ทำการผู้ใหญ่บ้านแห่งท้องที่ที่อสังหาริมทรัพย์นั้นตั้งอยู่เป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน รวมทั้งให้ผู้รับใบอนุญาตประกาศในหนังสือพิมพ์ซึ่งแพร่หลายในท้องถิ่นอย่างน้อยหนึ่งฉบับเป็นเวลาไม่น้อยกว่าสามวัน ทั้งนี้ ให้แจ้งกำหนดวัน เวลาและระยะเวลาที่จะกระทำการนั้นไว้ด้วย หรือตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการประกาศกำหนด

การปิดประกาศและการประกาศในหนังสือพิมพ์จะต้องกระทำก่อนเข้าไปใช้สอยหรือครอบครองอสังหาริมทรัพย์ไม่น้อยกว่าสามสิบวัน

เมื่อได้เข้าไปในอสังหาริมทรัพย์ของบุคคลใดแล้ว หากเกิดความเสียหายหรือเสื่อมประโยชน์ต่ออสังหาริมทรัพย์หรือทรัพย์สิน ให้ผู้รับใบอนุญาตแจ้งจำนวนเงินค่าทดแทนความเสียหายนั้นต่อเจ้าของหรือผู้ครอบครองอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพย์สิน หรือผู้ทรงสิทธิอื่นเป็นหนังสือ และจ่ายค่าทดแทนความเสียหายนั้นแก่บุคคลดังกล่าวตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการประกาศกำหนดทั้งนี้ เงินค่าทดแทนให้คำนวณจากความเสียหายอย่างเป็นธรรม รวมทั้งค่าขาดประโยชน์จากการใช้สอยสิ่งต่างๆ ดังกล่าวนั้นด้วย

เจ้าของหรือผู้ครอบครองอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพย์สิน หรือผู้ทรงสิทธิอื่นอาจอุทธรณ์จำนวนเงินค่าทดแทนต่อคณะกรรมการภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งจำนวนเงินค่าทดแทน

คณะกรรมการต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ให้แล้วเสร็จภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับอุทธรณ์

คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการให้เป็นที่สุด

มาตรา ๑๐๖  เมื่อผู้รับใบอนุญาตเลือกแนวหรือที่ตั้งระบบโครงข่ายพลังงานได้แล้ว ให้จัดทำแผนผังแสดงรายละเอียดของลักษณะทิศทางและแนวเขตในการวางระบบโครงข่ายพลังงานเสนอต่อคณะกรรมการเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ และให้คณะกรรมการพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวัน

เมื่อคณะกรรมการให้ความเห็นชอบแผนผังตามวรรคหนึ่งแล้ว ให้สำนักงานประกาศกำหนดเขตระบบโครงข่ายพลังงานโดยปิดประกาศไว้ ณ สำนักงานเขตหรือที่ว่าการอำเภอ หรือกิ่งอำเภอ ที่ทำการกำนัน ที่ทำการผู้ใหญ่บ้านแห่งท้องที่ที่เขตระบบโครงข่ายพลังงานนั้นตั้งอยู่ หรือดำเนินการอื่นใดตามที่คณะกรรมการเห็นสมควร ทั้งนี้ ให้ผู้รับใบอนุญาตจัดทำเครื่องหมายแสดงบริเวณเขตโครงข่ายพลังงานบนพื้นที่จริงและมีหนังสือแจ้งเจ้าของหรือผู้ครอบครองอสังหาริมทรัพย์ หรือผู้ทรงสิทธิอื่นซึ่งมีอสังหาริมทรัพย์อยู่ในเขตหรือที่ตั้งระบบโครงข่ายพลังงานที่เกี่ยวข้องตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่คณะกรรมการประกาศกำหนด

เจ้าของหรือผู้ครอบครองอสังหาริมทรัพย์ หรือผู้ทรงสิทธิอื่นอาจอุทธรณ์เหตุที่ไม่สมควรทำเช่นนั้นต่อคณะกรรมการภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งเป็นหนังสือจากผู้รับใบอนุญาต

คณะกรรมการต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ให้แล้วเสร็จภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับอุทธรณ์

คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการให้เป็นที่สุด

มาตรา ๑๐๗  เมื่อได้มีการประกาศกำหนดเขตระบบโครงข่ายพลังงานตามมาตรา ๑๐๖ แล้วให้ผู้รับใบอนุญาตมีอำนาจดำเนินการ ดังต่อไปนี้

(๑) วางระบบโครงข่ายพลังงานไปใต้ เหนือ ตามหรือข้ามระบบโครงข่ายพลังงานของผู้รับใบอนุญาตรายอื่น โดยผู้รับใบอนุญาตรายอื่นนั้นจะปฏิเสธมิให้ดำเนินการมิได้ เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าการดำเนินการดังกล่าวจะมีปัญหาทางเทคนิคที่อาจก่อให้เกิดการรบกวนต่อการวางระบบโครงข่ายพลังงานของตน ทั้งนี้ ผู้รับใบอนุญาตรายอื่นอาจเรียกค่าใช้ประโยชน์ได้ตามสมควรและเป็นธรรม

(๒) วางระบบโครงข่ายพลังงานไปใต้ เหนือ ตามหรือข้ามที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน โดยผู้รับใบอนุญาตต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบแห่งบทบัญญัติกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

(๓) วางระบบโครงข่ายพลังงานไปใต้ เหนือ ตามหรือข้ามพื้นดินของบุคคลใดปักหรือตั้งเสาหรืออุปกรณ์อื่นลงในหรือบนพื้นดินของบุคคลใดซึ่งมิใช่เป็นที่ตั้งโรงเรือน

(๔) รื้อถอนอาคารหรือโรงเรือนของบุคคลอื่น หรือทำลายสิ่งอื่นที่สร้าง หรือทำขึ้น หรือทำลายหรือตัดฟันต้น กิ่ง หรือรากของต้นไม้ของบุคคลอื่น หรือพืชผลในเขตระบบโครงข่ายพลังงาน

มาตรา ๑๐๘  ก่อนที่จะดำเนินการตามมาตรา ๑๐๗ ให้ผู้รับใบอนุญาตดำเนินการ ดังต่อไปนี้

(๑) แจ้งเป็นหนังสือให้ผู้รับใบอนุญาตรายอื่นตามมาตรา ๑๐๗ (๑) เจ้าของหรือผู้ครอบครองทรัพย์สิน หรือผู้ทรงสิทธิอื่นตามมาตรา ๑๐๗ (๒) (๓) หรือ (๔) ทราบ โดยผู้รับใบอนุญาตรายอื่นเจ้าของหรือผู้ครอบครองทรัพย์สิน หรือผู้ทรงสิทธิอื่นอาจยื่นคำร้องคัดค้านแสดงเหตุที่ไม่สมควรทำเช่นนั้นไปยังคณะกรรมการเพื่อวินิจฉัยภายในกำหนดสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้ง คำวินิจฉัยของคณะกรรมการให้เป็นที่สุด

(๒) จ่ายค่าใช้ประโยชน์หรือดำเนินการอื่นใดตามมาตรา ๑๐๗ (๑) หรือจ่ายค่าทดแทนให้แก่เจ้าของหรือผู้ครอบครองทรัพย์สิน หรือผู้ทรงสิทธิอื่นตามมาตรา ๑๐๗ (๒) (๓) หรือ (๔) ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการประกาศกำหนด และให้มีหนังสือแจ้งจำนวนเงินค่าใช้ประโยชน์หรือค่าทดแทนให้ผู้มีสิทธิดังกล่าวทราบ สำหรับที่ดินที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ให้คณะกรรมการประสานกับหน่วยงานที่ปกครองดูแลที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินนั้นด้วย

(๓) ในกรณีที่ผู้รับใบอนุญาตรายอื่น เจ้าของหรือผู้ครอบครองทรัพย์สินหรือผู้ทรงสิทธิอื่นไม่ยินยอมตกลงในจำนวนเงินค่าใช้ประโยชน์หรือค่าทดแทนตาม (๒) ให้ผู้รับใบอนุญาตวางเงินค่าใช้ประโยชน์หรือค่าทดแทนตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด และให้ผู้รับใบอนุญาตมีสิทธิดำเนินการตามมาตรา ๑๐๗ ได้ ซึ่งต้องไม่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญหรือไม่ส่งผลกระทบต่อสภาพธรรมชาติและไม่ทำให้การใช้ประโยชน์ในทรัพย์สินนั้นลดลง ทั้งนี้ จะต้องกระทำการนั้นโดยไม่เกินสมควรแก่เหตุด้วย

(๔) ในกรณีที่ผู้รับใบอนุญาตรายอื่น เจ้าของหรือผู้ครอบครองทรัพย์สินหรือผู้ทรงสิทธิอื่นไม่พอใจจำนวนเงินค่าใช้ประโยชน์หรือค่าทดแทน ให้มีสิทธิอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการได้ คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการให้เป็นที่สุด ทั้งนี้ หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการอุทธรณ์และการพิจารณาอุทธรณ์ให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการประกาศกำหนด

มาตรา ๑๐๙  เพื่อประโยชน์ในการซ่อมหรือบำรุงรักษาระบบโครงข่ายพลังงาน ให้ผู้รับใบอนุญาตมีอำนาจเข้าไปใช้สอยหรือครอบครองอสังหาริมทรัพย์ซึ่งมิใช่ที่อยู่อาศัยของบุคคลใดเท่าที่จำเป็นเป็นการชั่วคราวได้ภายใต้เงื่อนไขดังต่อไปนี้

(๑) การใช้สอยหรือเข้าครอบครองนั้นเป็นการจำเป็นสำหรับการสำรวจ หรือซ่อมบำรุงรักษาระบบโครงข่ายพลังงาน หรือเป็นการจำเป็นสำหรับการป้องกันอันตราย หรือความเสียหายที่จะเกิดแก่ระบบโครงข่ายพลังงาน

(๒) ผู้รับใบอนุญาตต้องแจ้งเป็นหนังสือให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองอสังหาริมทรัพย์ หรือผู้ทรงสิทธิอื่นทราบล่วงหน้าเป็นเวลาไม่น้อยกว่าสามวัน

ถ้าเกิดความเสียหายใดๆ แก่เจ้าของหรือผู้ครอบครองอสังหาริมทรัพย์ หรือผู้ทรงสิทธิอื่นอันเนื่องมาจากการดำเนินการตามวรรคหนึ่ง ให้ผู้รับใบอนุญาตจ่ายค่าทดแทนความเสียหายตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด และถ้าไม่สามารถตกลงกันได้ในจำนวนเงินค่าทดแทนให้อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการ คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการให้เป็นที่สุด

หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการอุทธรณ์และการพิจารณาอุทธรณ์ให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการประกาศกำหนด

มาตรา ๑๑๐  ในกรณีที่อุปกรณ์ของผู้ใช้พลังงานก่อให้เกิดการรบกวนจนอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อสถานประกอบกิจการพลังงาน ให้ผู้รับใบอนุญาตมีหนังสือแจ้งให้ผู้ใช้พลังงานนั้นเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขปรับปรุงอุปกรณ์ดังกล่าวได้ภายในเวลาอันสมควร

ในกรณีที่ผู้ใช้พลังงานไม่ดำเนินการตามหนังสือแจ้ง และการใช้อุปกรณ์นั้นยังก่อให้เกิดการรบกวน ผู้รับใบอนุญาตจะระงับการให้บริการแก่ผู้ใช้พลังงานรายนั้นไว้เป็นการชั่วคราวจนกว่าผู้ใช้พลังงานจะดำเนินการให้เป็นไปตามหนังสือแจ้งก็ได้ โดยให้ผู้รับใบอนุญาตรายงานเหตุแห่งการระงับการให้บริการให้คณะกรรมการทราบทันที เมื่อคณะกรรมการได้รับทราบการระงับการให้บริการแล้วให้มีคำสั่งยืนยันหรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงการระงับการให้บริการนั้นโดยให้ผู้รับใบอนุญาตปฏิบัติตามภายในสามสิบวันนับแต่วันที่คณะกรรมการมีคำสั่ง

ในกรณีที่มีเหตุจำเป็นเร่งด่วน ผู้รับใบอนุญาตจะระงับการให้บริการนั้นได้โดยทันที โดยไม่ต้องมีหนังสือแจ้งให้ผู้ใช้พลังงานเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขปรับปรุงอุปกรณ์ที่ก่อให้เกิดการรบกวนได้แต่ต้องแจ้งให้ผู้ใช้พลังงานและคณะกรรมการทราบโดยไม่ชักช้าและเมื่อคณะกรรมการได้รับแจ้งแล้วให้ดำเนินการตามวรรคสองต่อไป

มาตรา ๑๑๑  ในกรณีที่ระบบโครงข่ายพลังงานตามมาตรา ๑๐๗ หรืออุปกรณ์ที่ใช้ในการประกอบกิจการระบบโครงข่ายพลังงานก่อให้เกิดการรบกวนหรือเป็นอุปสรรคอย่างร้ายแรงต่อการใช้ประโยชน์จากอสังหาริมทรัพย์ของเจ้าของ ผู้มีสิทธิครอบครอง หรือผู้ทรงสิทธิอื่น อันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงในวัตถุประสงค์ หรือวิธีการใช้ประโยชน์จากอสังหาริมทรัพย์นั้น เมื่อเจ้าของ ผู้มีสิทธิครอบครอง หรือผู้ทรงสิทธิอื่นร้องขอ ผู้รับใบอนุญาตต้องดำเนินการเพื่อขจัดการรบกวนหรืออุปสรรคดังกล่าว เว้นแต่การดำเนินการนั้นจะกระทบกระเทือนอย่างร้ายแรงต่อการดำเนินการของผู้รับใบอนุญาตหรือดำเนินการได้อย่างยากยิ่งทางวิศวกรรม ในกรณีนี้ให้ผู้รับใบอนุญาตและเจ้าของผู้มีสิทธิครอบครอง หรือผู้ทรงสิทธิอื่น ทำการตกลงกันเกี่ยวกับการดำเนินการเพื่อขจัดการรบกวนหรืออุปสรรคดังกล่าว โดยกำหนดเวลาซึ่งต้องดำเนินการ ผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ และวิธีการชำระค่าใช้จ่ายนั้น

ในกรณีที่ไม่สามารถตกลงกันได้หรือในกรณีที่ได้ตกลงกันแล้วแต่ไม่สามารถดำเนินการตามข้อตกลงได้ ให้ผู้รับใบอนุญาต เจ้าของ ผู้มีสิทธิครอบครอง หรือผู้ทรงสิทธิอื่น ยื่นคำร้องขอต่อคณะกรรมการเพื่อวินิจฉัยชี้ขาด

เมื่อคณะกรรมการได้รับคำร้องขอ ให้ส่งสำเนาคำร้องขอดังกล่าวให้ผู้รับใบอนุญาตและเจ้าของ ผู้มีสิทธิครอบครอง หรือผู้ทรงสิทธิอื่นนั้น แล้วแต่กรณี ทราบภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับคำร้องขอ ผู้รับสำเนาคำร้องขออาจแสดงความเห็นเป็นหนังสือต่อคณะกรรมการภายในสิบห้าวันนับแต่วันได้รับสำเนาคำร้องขอ เมื่อพ้นระยะเวลาดังกล่าวให้คณะกรรมการชี้ขาดและแจ้งคำวินิจฉัยชี้ขาดให้ผู้รับใบอนุญาตและเจ้าของ ผู้มีสิทธิครอบครอง หรือผู้ทรงสิทธิอื่นทราบโดยไม่ชักช้าคำวินิจฉัยต้องระบุการดำเนินการเพื่อขจัดการรบกวนหรืออุปสรรคดังกล่าว กำหนดเวลาซึ่งต้องดำเนินการ ผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ และวิธีการชำระค่าใช้จ่ายนั้น

เมื่อคณะกรรมการมีคำวินิจฉัยชี้ขาดแล้ว ให้ผู้รับใบอนุญาตหรือผู้มีส่วนได้เสียมีสิทธิอุทธรณ์คำวินิจฉัยชี้ขาดต่อคณะกรรมการภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ทราบคำวินิจฉัยชี้ขาด

คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการให้เป็นที่สุด

หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการอุทธรณ์และการพิจารณาอุทธรณ์ ให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการประกาศกำหนด

มาตรา ๑๑๒  ภายในเขตระบบโครงข่ายพลังงานที่ประกาศตามมาตรา ๑๐๖ ห้ามมิให้ผู้ใดปลูกสร้างอาคาร โรงเรือน ต้นไม้หรือสิ่งอื่นใด ติดตั้งสิ่งใด เจาะหรือขุดพื้นดิน ถมดิน ทิ้งสิ่งของหรือกระทำด้วยประการใดๆ ที่อาจทำให้เกิดอันตรายหรือเป็นอุปสรรคแก่ระบบโครงข่ายพลังงานเว้นแต่จะได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด

ในการพิจารณาอนุญาตการดำเนินการตามวรรคหนึ่ง ให้พนักงานเจ้าหน้าที่รับฟังความคิดเห็นของผู้รับใบอนุญาตด้วย และหากเห็นว่าการกระทำดังกล่าวจะไม่มีผลกระทบต่อระบบโครงข่ายพลังงานบุคคล สัตว์ พืช ทรัพย์ หรือสิ่งแวดล้อม ให้พนักงานเจ้าหน้าที่อนุญาตตามคำขอ ซึ่งจะกำหนดเงื่อนไขอย่างใดด้วยก็ได้

ในกรณีที่มีการดำเนินการตามวรรคหนึ่งโดยไม่ได้รับอนุญาต หรือได้รับอนุญาตแต่มีการฝ่าฝืนการอนุญาตหรือเงื่อนไขประกอบการอนุญาต ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจใช้มาตรการบังคับทางปกครองตามกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองได้

มาตรา ๑๑๓  เพื่อประโยชน์แห่งความปลอดภัย ให้ผู้รับใบอนุญาตมีอำนาจรื้อถอน หรือตัดฟันต้น กิ่ง รากของต้นไม้ หรือสิ่งอื่นใดที่อยู่ใกล้หรือปิด หุ้ม คลุม หรือทับเขตระบบโครงข่ายพลังงานแต่ต้องแจ้งเป็นหนังสือให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองต้นไม้ หรือสิ่งนั้นทราบล่วงหน้าภายในเวลาอันสมควรถ้าไม่อาจติดต่อกับเจ้าของหรือผู้ครอบครองได้ ให้ผู้รับใบอนุญาตมีอำนาจดำเนินการได้ตามความจำเป็นและแจ้งให้คณะกรรมการทราบ

ในการดำเนินการตามวรรคหนึ่ง หากต้นไม้หรือสิ่งอื่นใดมีอยู่ก่อนการสร้างระบบโครงข่ายพลังงาน ให้ผู้รับใบอนุญาตจ่ายค่าทดแทนแก่เจ้าของหรือผู้ครอบครองต้นไม้หรือสิ่งนั้น และถ้าไม่สามารถตกลงกันได้ในจำนวนเงินค่าทดแทน ให้อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด

คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการให้เป็นที่สุด

มาตรา ๑๑๔  ในกรณีที่จำเป็นและเร่งด่วน ให้ผู้รับใบอนุญาตมีอำนาจเข้าไปในที่ดินหรือสถานที่ที่มิใช่ที่อยู่อาศัยของบุคคลในเวลาใดๆ เพื่อตรวจ ซ่อมแซม หรือแก้ไขระบบโครงข่ายพลังงานได้ทันที แต่ถ้าเจ้าของ ผู้ครอบครอง หรือผู้ทรงสิทธิอื่นอยู่ ณ ที่นั้นด้วย ก็ให้แจ้งให้เจ้าของผู้ครอบครอง หรือผู้ทรงสิทธิอื่นทราบก่อน

เมื่อได้ดำเนินการตามวรรคหนึ่งแล้ว ให้ผู้รับใบอนุญาตรายงานให้คณะกรรมการทราบโดยไม่ชักช้า

มาตรา ๑๑๕  การกระทำการตามมาตรา ๑๑๓ หรือมาตรา ๑๑๔ ผู้รับใบอนุญาตต้องระมัดระวังมิให้เกิดความเสียหายต่อสิ่งอื่น แต่ถ้าเกิดความเสียหายขึ้นผู้รับใบอนุญาตต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายนั้น

มาตรา ๑๑๖  เมื่อได้รับการร้องขอจากผู้รับใบอนุญาต หากคณะกรรมการเห็นว่าเป็นความจำเป็น เพื่อการป้องกันระบบโครงข่ายพลังงาน อาจกำหนดบริเวณป้องกันระบบโครงข่ายพลังงานและข้อห้ามมิให้กระทำการภายในบริเวณดังกล่าวตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด

การก่อสร้างหรือกระทำการใดๆ ภายในบริเวณป้องกันระบบโครงข่ายพลังงานต้องได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการ และในการอนุญาตให้คณะกรรมการคำนึงถึงการป้องกันระบบโครงข่ายพลังงานที่เกี่ยวข้องด้วย

ในกรณีที่การก่อสร้างหรือการกระทำใดๆ ที่ได้รับอนุญาตตามวรรคสองก่อให้เกิดความเสียหายผู้รับผิดชอบในการก่อสร้างหรือการกระทำนั้นต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายอันเกิดจากการนั้น

มาตรา ๑๑๗  ห้ามมิให้ผู้ใดทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่า ทำให้ไร้ประโยชน์หรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดอันอาจเป็นอันตรายแก่สถานประกอบกิจการพลังงาน หรือศูนย์ควบคุมระบบโครงข่ายพลังงาน

เพื่อประโยชน์แห่งมาตรานี้ คณะกรรมการอาจประกาศกำหนดมาตรการคุ้มครองสิ่งต่างๆ ตามวรรคหนึ่งได้ตามความจำเป็น

มาตรา ๑๑๘  ในเขตระบบโครงข่ายพลังงานและในบริเวณป้องกันระบบโครงข่ายพลังงานที่อยู่ในแม่น้ำ ลำคลอง ทะเล หรือทางสัญจรทางน้ำแห่งใด ห้ามมิให้ผู้ใดทอดสมอเรือ หรือเกาสมอหรือลากแห อวน หรือเครื่องจับสัตว์น้ำอย่างใดๆ ในเขตเหล่านั้น

เมื่อเรือใดแล่นข้ามเขตระบบโครงข่ายพลังงาน ถ้ามิได้ชักสมอขึ้นพ้นจากน้ำจนแลเห็นได้ให้ถือว่าการกระทำนั้นมีผลเป็นการเกาสมอแล้ว

                                                  หมวด ๖

                              การพิจารณาข้อพิพาทและการอุทธรณ์

                       

 มาตรา ๑๑๙  เว้นแต่ในสัญญาจะมีข้อกำหนดว่าด้วยการระงับข้อพิพาทหรือการอุทธรณ์เป็นอย่างอื่น การดำเนินการระงับข้อพิพาทหรือการอุทธรณ์ให้เป็นไปตามบทบัญญัติในหมวดนี้

มาตรา ๑๒๐  เมื่อเกิดข้อพิพาทขึ้นระหว่างผู้ใช้พลังงานและผู้รับใบอนุญาต หรือผู้รับใบอนุญาตด้วยกัน ให้พิจารณาวินิจฉัยข้อพิพาทหรือยุติข้อโต้แย้งด้วยวิธีการ ดังต่อไปนี้

(๑) กรณีที่เป็นข้อพิพาทระหว่างผู้ใช้พลังงานกับผู้รับใบอนุญาต ให้ดำเนินการระงับข้อพิพาทตามมาตรา ๑๐๐

(๒) กรณีที่เป็นข้อพิพาทระหว่างผู้รับใบอนุญาตด้วยกัน ให้ดำเนินการระงับข้อพิพาทตามระเบียบที่คณะกรรมการประกาศกำหนด

มาตรา ๑๒๑  ในกรณีที่ผู้ใช้พลังงาน ผู้รับใบอนุญาต หรือบุคคลผู้มีส่วนได้เสียใดไม่พอใจคำสั่ง ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ หรือข้อกำหนดใดๆ ของคณะกรรมการ ให้มีสิทธิอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการได้

การอุทธรณ์ตามวรรคหนึ่งให้ยื่นต่อคณะกรรมการภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่งจากคณะกรรมการ หรือนับแต่วันที่คณะกรรมการได้ออกระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ หรือข้อกำหนด

หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการยื่นอุทธรณ์และวิธีพิจารณาอุทธรณ์ ให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการประกาศกำหนด

การอุทธรณ์ตามวรรคสอง ย่อมไม่เป็นการทุเลาการบังคับตามคำสั่งของคณะกรรมการเว้นแต่คณะกรรมการจะสั่งเป็นอย่างอื่นเป็นการชั่วคราวก่อนมีคำวินิจฉัยอุทธรณ์

คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการให้เป็นที่สุด

                                                  หมวด ๗

                                           พนักงานเจ้าหน้าที่

                       

มาตรา ๑๒๒  เพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้

(๑) เข้าไปในอาคารหรือสถานประกอบกิจการพลังงานของผู้รับใบอนุญาตในระหว่างเวลาพระอาทิตย์ขึ้นจนถึงพระอาทิตย์ตก หรือในเวลาทำการของสถานที่นั้น เพื่อตรวจสอบกิจการสมุดบัญชี เอกสารหลักฐาน หรือข้อมูลที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งการกระทำใดของผู้รับใบอนุญาตที่อาจเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ หรือเงื่อนไขที่กำหนดในใบอนุญาต

(๒) มีหนังสือเรียกบุคคลใดมาให้ถ้อยคำ หรือให้ส่งเอกสารหรือวัตถุใดมาเพื่อประกอบการพิจารณา

(๓) ตรวจสอบและรวบรวมข้อเท็จจริงแล้วรายงานต่อคณะกรรมการในกรณีที่ผู้รับใบอนุญาตได้กระทำผิดหรือทำให้เกิดความเสียหายเนื่องจากการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ หรือเงื่อนไขที่กำหนดในใบอนุญาต

(๔) เข้าไปใช้สอยหรือครอบครองอสังหาริมทรัพย์ซึ่งมิใช่ที่อยู่อาศัยของบุคคลเป็นการชั่วคราว เพื่อประโยชน์ในการสำรวจ หรือเพื่อหาสถานที่ตั้งระบบโครงข่ายพลังงานตามที่กำหนดในมาตรา ๑๐๕ โดยอนุมัติของคณะกรรมการ

(๕) เข้าไปดำเนินการในที่ดินหรือทรัพย์สินของบุคคลอื่นตามที่กำหนดในมาตรา ๑๐๗ มาตรา ๑๐๙ มาตรา ๑๑๓ มาตรา ๑๑๔ และมาตรา ๑๑๖ โดยอนุมัติของคณะกรรมการ

เมื่อได้เข้าไปและลงมือตรวจสอบตาม (๑) แล้วยังดำเนินการไม่เสร็จ จะกระทำต่อไปในเวลาหลังพระอาทิตย์ตกหรือนอกเวลาทำการของสถานที่นั้นได้ตามความจำเป็นและเหมาะสม

ในการปฏิบัติหน้าที่ตาม (๑) พนักงานเจ้าหน้าที่ต้องไม่กระทำการอันมีลักษณะเป็นการข่มขู่หรือเป็นการค้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

มาตรา ๑๒๓  ในการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ ให้บุคคลที่เกี่ยวข้องอำนวยความสะดวกตามสมควร

มาตรา ๑๒๔  ในการปฏิบัติหน้าที่ พนักงานเจ้าหน้าที่จะต้องแสดงบัตรประจำตัวแก่บุคคลที่เกี่ยวข้อง

บัตรประจำตัวพนักงานเจ้าหน้าที่ให้เป็นไปตามแบบที่คณะกรรมการประกาศกำหนด

มาตรา ๑๒๕  ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ ให้เลขาธิการ พนักงานของสำนักงาน และพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา ๑๒๖  ในกรณีที่มีเหตุฉุกเฉินหรือมีความจำเป็น เพื่อความมั่นคงของประเทศ หรือเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ หรือเพื่อป้องกันประโยชน์สาธารณะ หรือเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชน คณะกรรมการอาจมอบหมายหรือสั่งให้หน่วยงานของรัฐที่มีประสบการณ์และเชี่ยวชาญด้านการประกอบกิจการพลังงานหรือพนักงานเจ้าหน้าที่เข้าครอบครองหรือใช้อุปกรณ์และเครื่องมือต่างๆ ของผู้รับใบอนุญาตเพื่อดำเนินการ หรือสั่งให้ผู้รับใบอนุญาตหรือพนักงานของผู้รับใบอนุญาตกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดได้จนกว่าเหตุฉุกเฉินหรือจำเป็นนั้นจะสิ้นสุดลง

ในการดำเนินการตามวรรคหนึ่ง หน่วยงานของรัฐหรือพนักงานเจ้าหน้าที่จะต้องใช้ความระมัดระวังเพื่อสงวนทรัพย์สินของผู้รับใบอนุญาตเหมือนเช่นผู้ประกอบกิจการพลังงานหรือผู้มีวิชาชีพเช่นนั้นจะพึงปฏิบัติ

ในการดำเนินการตามวรรคหนึ่ง หากเกิดความเสียหายแก่ผู้รับใบอนุญาต ให้ผู้รับใบอนุญาตมีสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนสำหรับความเสียหายนั้นจากสำนักงานได้ตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด

                                               หมวด ๘

                                       การบังคับทางปกครอง

                         

มาตรา ๑๒๗ ในกรณีที่ปรากฏแก่คณะกรรมการว่ามีการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๕๓ มาตรา ๕๕ มาตรา ๕๘ มาตรา ๖๓ มาตรา ๗๐ มาตรา ๗๑ มาตรา ๗๓ มาตรา ๗๔ มาตรา ๗๙ มาตรา ๘๐ มาตรา ๘๕ มาตรา ๘๖ มาตรา ๘๗ มาตรา ๘๙ มาตรา ๙๒ มาตรา ๙๖ วรรคหนึ่ง หรือมาตรา ๑๐๒ ให้คณะกรรมการมีอำนาจสั่งให้ผู้รับใบอนุญาตกระทำการ หรืองดเว้นกระทำการหรือแก้ไขปรับปรุง หรือปฏิบัติให้ถูกต้องหรือเหมาะสมภายในระยะเวลาที่กำหนดได้

มาตรา ๑๒๘  ในกรณีที่ผู้รับใบอนุญาตฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของคณะกรรมการตามมาตรา ๕๖ มาตรา ๕๗ มาตรา ๖๑ มาตรา ๖๒ มาตรา ๖๘ (๒) มาตรา ๗๒ วรรคสองมาตรา ๘๒ มาตรา ๘๓ วรรคสอง มาตรา ๘๔ วรรคสอง หรือมาตรา ๑๒๗ และพ้นกำหนดระยะเวลาอุทธรณ์ตามมาตรา ๑๒๑ หรือกรณีที่มีการอุทธรณ์ตามมาตรา ๑๒๑ แต่คณะกรรมการมีมติไม่เห็นด้วยกับคำอุทธรณ์ และคณะกรรมการได้มีหนังสือเตือนแล้วยังไม่มีการปฏิบัติตามคำสั่งนั้นให้คณะกรรมการพิจารณากำหนดค่าปรับทางปกครองซึ่งต้องไม่เกินห้าแสนบาทต่อวัน ทั้งนี้ให้คำนึงถึงความร้ายแรงในการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งประกอบด้วย

ในกรณีที่ไม่มีการชำระค่าปรับทางปกครองให้ดำเนินการบังคับทางปกครองตามส่วนที่ ๘ การบังคับทางปกครอง หมวด ๒ คำสั่งทางปกครอง แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙

ในกรณีที่ผู้รับใบอนุญาตยังเพิกเฉยไม่ปฏิบัติการให้ถูกต้อง หรือฝ่าฝืนคำสั่งพักใช้ใบอนุญาตหรือกรณีที่มีความเสียหายร้ายแรงต่อประโยชน์สาธารณะ ให้คณะกรรมการมีอำนาจพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาตได้ แล้วแต่กรณี

                                              หมวด ๙

                                         บทกำหนดโทษ

                         

มาตรา ๑๒๙  ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๒๐ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา ๑๓๐  ผู้ใดขัดขวางหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการหรือบุคคลซึ่งคณะกรรมการแต่งตั้งตามมาตรา ๒๔ ที่สั่งการตามมาตรา ๒๕ หรือของพนักงานเจ้าหน้าที่ที่สั่งการตามมาตรา ๑๒๒ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งล้านบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา ๑๓๑  ผู้ใดไม่อำนวยความสะดวกแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา ๑๒๒ หรือมาตรา ๑๒๓ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา ๑๓๒  ผู้ใดให้ข้อมูลอันเป็นเท็จหรือบิดเบือนแก่คณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ และบุคคลซึ่งคณะกรรมการแต่งตั้งตามมาตรา ๒๔ ซึ่งการกระทำนั้นก่อให้เกิดความเสียหายแก่สำนักงานผู้ใช้พลังงาน ผู้รับใบอนุญาต หรือบุคคลอื่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา ๑๓๓  ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๔๗ วรรคหนึ่ง หรือมาตรา ๕๙ วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสิบล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

นอกจากต้องระวางโทษตามวรรคหนึ่งแล้ว ผู้ฝ่าฝืนมาตรา ๔๗ วรรคหนึ่ง ยังต้องระวางโทษปรับอีกวันละไม่เกินสองหมื่นบาทตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืน

มาตรา ๑๓๔  ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของคณะกรรมการที่สั่งการตามมาตรา ๑๒๗ อันเนื่องมาจากการฝ่าฝืนมาตรา ๙๖ วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับวันละไม่เกินสองหมื่นบาทตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืน

มาตรา ๑๓๕  ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๖๑ (๑) มาตรา ๗๖ วรรคหนึ่ง หรือมาตรา ๘๔ วรรคสองต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา ๑๓๖  ผู้รับใบอนุญาตเป็นหน่วยตรวจสอบและรับรองมาตรฐานใดดำเนินการตามมาตรา ๗๗ (๒) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา ๑๓๗  ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๑๑๖ วรรคสอง หรือมาตรา ๑๑๗ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี หรือปรับไม่เกินสิบล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา ๑๓๘  ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๑๑๘ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ถ้าการกระทำนั้นเป็นเหตุให้ระบบโครงข่ายพลังงานดังกล่าวถูกทำลาย เสียหาย เสื่อมค่าหรือไร้ประโยชน์ ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา ๑๓๙  ผู้ใดลักลอบใช้บริการของผู้รับใบอนุญาตโดยไม่มีสิทธิ และก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้รับใบอนุญาต ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินสามแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา ๑๔๐  บรรดาความผิดตามมาตรา ๑๓๑ มาตรา ๑๓๒ มาตรา ๑๓๔ หรือมาตรา ๑๓๘ วรรคหนึ่ง ให้คณะกรรมการมีอำนาจเปรียบเทียบได้ และในการนี้คณะกรรมการอาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อดำเนินการเปรียบเทียบแทนได้ โดยจะกำหนดหลักเกณฑ์ในการเปรียบเทียบหรือกำหนดเงื่อนไขประการใดในการปฏิบัติหน้าที่ของคณะอนุกรรมการก็ได้

ในกรณีที่การกระทำความผิดปรากฏต่อพนักงานสอบสวน และผู้กระทำความผิดยินยอมให้เปรียบเทียบ ให้พนักงานสอบสวนส่งเรื่องให้คณะกรรมการเพื่อดำเนินการพิจารณาเปรียบเทียบโดยเร็ว

เมื่อผู้กระทำความผิดได้เสียค่าปรับตามที่ได้เปรียบเทียบแล้ว ให้ถือว่าคดีเลิกกันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

มาตรา ๑๔๑  ในกรณีที่ผู้กระทำความผิดซึ่งต้องรับโทษตามพระราชบัญญัตินี้เป็นนิติบุคคลให้กรรมการผู้จัดการ ผู้จัดการ หรือบุคคลใดซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคลนั้นต้องระวางโทษตามที่บัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้นๆ เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนไม่ได้รู้เห็นหรือยินยอมในการกระทำความผิดของนิติบุคคลนั้น

                                                           บทเฉพาะกาล

                       

 มาตรา ๑๔๒  ในวาระเริ่มแรก ให้ดำเนินการคัดเลือกคณะกรรมการให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

ให้คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการไปพลางก่อนจนกว่าพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งคณะกรรมการตามพระราชบัญญัตินี้

มาตรา ๑๔๓  ให้ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงานปฏิบัติหน้าที่ของเลขาธิการและให้สำนักงานนโยบายและแผนพลังงานปฏิบัติหน้าที่ของสำนักงานจนกว่าจะได้มีการแต่งตั้งเลขาธิการและจัดตั้งสำนักงานตามพระราชบัญญัตินี้

มาตรา ๑๔๔  เพื่อให้การปฏิบัติงานของสำนักงานดำเนินการไปได้อย่างมีประสิทธิภาพรัฐมนตรีโดยอนุมัติของคณะรัฐมนตรีอาจกำหนดให้ส่วนราชการ ราชการส่วนท้องถิ่นหรือหน่วยงานอื่นของรัฐ สนับสนุนข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างมาช่วยปฏิบัติงานในสำนักงานไปพลางก่อนเป็นการชั่วคราว โดยให้ได้รับเงินเดือนทางสังกัดเดิม แต่อยู่ในบังคับบัญชาของเลขาธิการ

มาตรา ๑๔๕  ข้าราชการ พนักงาน และลูกจ้างของสำนักงานปลัดกระทรวงพลังงานกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กรมธุรกิจพลังงาน กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงานและสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน ซึ่งสมัครใจเปลี่ยนไปเป็นพนักงานหรือลูกจ้างของสำนักงานให้ใช้สิทธิแจ้งความจำนงเป็นหนังสือต่อผู้บังคับบัญชาภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

การบรรจุและแต่งตั้งพนักงานและลูกจ้างของสำนักงานตามวรรคหนึ่งให้ดำรงตำแหน่งใดในสำนักงาน ให้เป็นไปตามอัตรากำลัง คุณสมบัติ และอัตราเงินเดือนหรือค่าจ้างตามที่คณะกรรมการกำหนด

การบรรจุและแต่งตั้งข้าราชการตามมาตรานี้ ให้ถือว่าเป็นการให้ออกจากราชการเพราะทางราชการเลิกหรือยุบตำแหน่งตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการ หรือกฎหมายว่าด้วยกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ แล้วแต่กรณี

การบรรจุและแต่งตั้งลูกจ้างตามมาตรานี้ ให้ถือว่าเป็นการให้ออกจากงานเพราะทางราชการยุบตำแหน่งหรือทางราชการเลิกจ้างโดยไม่มีความผิด และให้มีสิทธิได้รับบำเหน็จตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยบำเหน็จลูกจ้าง

มาตรา ๑๔๖  นับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้มีผลใช้บังคับ ให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยการไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ประกอบกิจการพลังงานได้ต่อไปจนกว่าจะได้รับใบอนุญาตตามพระราชบัญญัตินี้

ในระหว่างการประกอบกิจการพลังงานตามวรรคหนึ่ง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยการไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ต้องปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กฎหมายว่าด้วยการไฟฟ้านครหลวง กฎหมายว่าด้วยการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการกำหนดอำนาจ สิทธิ และประโยชน์ของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) แล้วแต่กรณี

มาตรา ๑๔๗  บรรดาอำนาจ สิทธิ และประโยชน์ที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยการไฟฟ้านครหลวง และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค มีอยู่ตามกฎหมายว่าด้วยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กฎหมายว่าด้วยการไฟฟ้านครหลวง และกฎหมายว่าด้วยการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคให้ยังคงมีอยู่ต่อไปเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งต่อพระราชบัญญัตินี้

มาตรา ๑๔๘  บทบัญญัติเกี่ยวกับการดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ โดยการเวนคืนที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย การไฟฟ้านครหลวง และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคมีอยู่ตามกฎหมายว่าด้วยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กฎหมายว่าด้วยการไฟฟ้านครหลวง และกฎหมายว่าด้วยการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ให้ยังคงใช้บังคับได้ต่อไป

มาตรา ๑๔๙  เพื่อให้การประกอบกิจการพลังงานของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) สามารถดำเนินงานได้ต่อไปตามมาตรา ๑๔๖ มิให้นำมาตรา ๒๖ วรรคสี่ แห่งพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. ๒๕๔๒ มาใช้บังคับกับบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) จนกว่าบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) จะได้รับใบอนุญาตตามพระราชบัญญัตินี้ และในช่วงเวลาดังกล่าวให้พระราชกฤษฎีกากำหนดอำนาจ สิทธิ และประโยชน์ของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) พ.ศ. ๒๕๔๔ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกากำหนดอำนาจ สิทธิ และประโยชน์ของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๐ มีผลใช้บังคับต่อไป

มาตรา ๑๕๐  ภายในระยะเวลาหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่ระเบียบของคณะกรรมการตามมาตรา ๕๐ มีผลใช้บังคับ ให้คณะกรรมการดำเนินการออกใบอนุญาตประกอบกิจการพลังงานตามพระราชบัญญัตินี้ให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย การไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคและบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ตามลักษณะและประเภทของการประกอบกิจการ ขอบเขตการให้บริการ รวมทั้งสิทธิต่างๆ ในการให้บริการไฟฟ้าหรือก๊าซธรรมชาติเท่าที่อยู่ในความรับผิดชอบดำเนินการของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย การไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ตามที่มีอยู่ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

ในการออกใบอนุญาตตามวรรคหนึ่ง ให้คณะกรรมการกำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับการประกอบกิจการของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย การไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) โดยคำนึงถึงสิทธิและข้อผูกพันที่มีอยู่เดิมของผู้ประกอบกิจการพลังงานประโยชน์ของผู้ใช้พลังงานที่ได้รับบริการอยู่เดิม รวมทั้งการพัฒนาเพื่อให้มีการบริการที่มีคุณภาพและประสิทธิภาพเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์แห่งพระราชบัญญัตินี้

มาตรา ๑๕๑  ภายในระยะเวลาหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่ระเบียบของคณะกรรมการตามมาตรา ๕๐ มีผลใช้บังคับ ให้คณะกรรมการดำเนินการออกใบอนุญาตประกอบกิจการพลังงานตามพระราชบัญญัตินี้ให้แก่ผู้ประกอบกิจการพลังงานที่เกี่ยวเนื่องกับการพัฒนาแหล่งก๊าซธรรมชาติในพื้นที่พัฒนาร่วม ตามกฎหมายว่าด้วยองค์กรร่วมไทย - มาเลเซีย ที่ให้บริการขนส่งก๊าซธรรมชาติทางท่อผ่านระบบส่งก๊าซธรรมชาติไปยังประเทศมาเลเซีย ซึ่งประกอบกิจการอยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ และเข้าข่ายเป็นผู้ประกอบกิจการพลังงานที่ต้องขออนุญาตตามพระราชบัญญัตินี้ โดยการออกใบอนุญาตดังกล่าวต้องคำนึงถึงข้อตกลงและเงื่อนไขตามสัญญาที่ผู้ประกอบกิจการพลังงานมีอยู่ในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับและต้องไม่กระทบต่อสิทธิ หรือประโยชน์ของคู่สัญญาตามสัญญาดังกล่าว

มาตรา ๑๕๒  สำหรับการประกอบกิจการพลังงานของหน่วยงานของรัฐแห่งอื่นนอกจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย การไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ให้นำบทบัญญัติในมาตรา ๑๔๖ และมาตรา ๑๕๐ มาใช้บังคับโดยอนุโลม

มาตรา ๑๕๓  การเชื่อมโยงระบบไฟฟ้าหรือการเชื่อมต่อระบบโครงข่ายไฟฟ้าที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย การไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคได้ให้ความเห็นชอบไว้ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ดำเนินการได้ต่อไป และให้ถือว่าเป็นการเชื่อมต่อระบบโครงข่ายพลังงานที่ต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้

ให้เขตระบบการขนส่งปิโตรเลียมทางท่อที่ได้มีการประกาศก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้มีผลใช้บังคับ ถือเป็นเขตระบบโครงข่ายพลังงานตามพระราชบัญญัตินี้

มาตรา ๑๕๔  ให้ผู้ประกอบกิจการพลังงานที่ประกอบกิจการอยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับและเข้าข่ายเป็นผู้ประกอบกิจการพลังงานที่ต้องขออนุญาตตามพระราชบัญญัตินี้ นอกจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย การไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และหน่วยงานของรัฐแห่งอื่นตามมาตรา ๑๕๒ ประกอบกิจการพลังงานได้ต่อไปและให้มายื่นคำขอรับใบอนุญาตตามวรรคสอง

ให้ผู้ประกอบกิจการพลังงานตามวรรคหนึ่งยื่นขอรับใบอนุญาตตามพระราชบัญญัตินี้ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ระเบียบของคณะกรรมการตามมาตรา ๕๐ มีผลใช้บังคับ และเมื่อยื่นคำขอรับใบอนุญาตแล้ว ให้ประกอบกิจการได้ต่อไปจนกว่าจะได้รับแจ้งคำสั่งไม่ออกใบอนุญาตจากคณะกรรมการ

ในกรณีที่ผู้ประกอบกิจการพลังงานดังกล่าวได้รับใบอนุญาตจากหน่วยงานอื่นของรัฐก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้มีผลใช้บังคับ ในการออกใบอนุญาตตามวรรคสองให้คณะกรรมการคำนึงถึงสิทธิและข้อผูกพันที่มีอยู่เดิม ประโยชน์ของผู้ใช้พลังงานที่ได้รับบริการอยู่เดิม รวมทั้งการพัฒนาเพื่อให้มีการบริการที่มีคุณภาพและประสิทธิภาพเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์แห่งพระราชบัญญัตินี้

การประกอบกิจการพลังงานของผู้ประกอบกิจการพลังงานตามวรรคหนึ่ง และวรรคสองจะต้องปฏิบัติตามการอนุญาตใดๆ ที่ได้ให้ไว้ตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๕๘ ลงวันที่ ๒๖ มกราคม พ.ศ. ๒๕๑๕ กฎหมายว่าด้วยการพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน กฎหมายว่าด้วยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กฎหมายว่าด้วยโรงงาน หรือกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องกับการประกอบกิจการพลังงาน จนกว่าจะได้รับใบอนุญาตตามวรรคสอง

มาตรา ๑๕๕  ให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย การไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กรมธุรกิจพลังงาน กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน และหน่วยงานของรัฐแห่งอื่นที่มีหน้าที่ในการอนุญาตและการกำกับดูแล หรือการควบคุมการประกอบกิจการพลังงาน จัดส่งข้อมูลเกี่ยวกับการประกอบกิจการพลังงาน ให้แก่คณะกรรมการตามหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และระยะเวลาที่คณะกรรมการประกาศกำหนด

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์

นายกรัฐมนตรี


อัพเดทล่าสุด