บทความกฎหมาย สัมภาษณ์ ?ชำนาญ จันทร์เรือง? ว่าด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ


747 ผู้ชม


บทความกฎหมาย
สัมภาษณ์ ?ชำนาญ จันทร์เรือง? ว่าด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

อังคาร ที่ 8 เดือน เมษายน พ.ศ.2551
 

ชำนาญ จันทร์เรือง นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ให้สัมภาษณ์ในรายการ มองคนละมุมสถานีวิทยุเสียงสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ถึงประเด็นทางการเมืองที่ร้อนแรงอยู่ในขณะนี้ว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพื่อส่วนรวมหรือเพื่อใคร โดยย้ำว่า เห็นด้วยที่มีการริเริ่มที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 เพราะไม่เห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ตั้งแต่ต้น เพราะมีที่มาจากการรัฐประหาร ไม่มีความชอบธรรม เป็นการแก้ไขวิกฤตการณ์ทางการเมืองด้วยวิธีการมักง่าย ด้วยการใช้กำลังและล้มล้างประชาธิปไตย แต่ว่าประเด็นที่นักการเมืองยกขึ้นมาเป็นข้ออ้างในการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ ก็ไม่ได้เป็นไปเพื่อส่วนรวมเลย 

 

0 0 0 0

 

มองความเหมาะสมของนักการเมืองที่มีความพยายามต้องการจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 ในขณะนี้อย่างไรบ้าง ?

ผมอยู่ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ตั้งแต่ต้น ซึ่งที่มาของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่มีความชอบธรรม  เพราะจากการรัฐประหาร เป็นการแก้ไขวิกฤตการณ์ทางการเมืองด้วยวิธีการมักง่าย ด้วยการใช้กำลังและล้มล้างประชาธิปไตย อีกทั้งที่มาของผู้ยกร่างรัฐธรรมนูญก็ไม่ชอบธรรม และโดยเนื้อหาต่างๆ ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เห็นได้ชัดว่ามีเจตนาทำลายความเข้มแข็งของภาคประชาชน ตั้งอยู่บนพื้นฐานที่ไม่เชื่อในความเท่าเทียมกันของมนุษย์ เขาเชื่อว่าประชาธิปไตยของประเทศไทยแบบไทยๆ นี้จะต้องมีผู้นำโดยชนชั้นนำ ชนชั้นมันสมองหรืออะไรก็แล้วแต่ โดยไม่เชื่อในความเท่าเทียมกันของมนุษย์ทุกคนที่มีอะไรที่เหมือนๆ กัน นี่เป็นหลักการในการแสดงความไม่เห็นด้วยตั้งแต่แรก

 

แต่เมื่อมีการประกาศใช้แล้วนั้น เมื่อถามว่าเห็นด้วยกับการแก้ไขหรือไม่ ก็ขอตอบเลยว่าเห็นด้วยแน่นอน  ซึ่งจะต้องมีกระบวนการแก้ไขต่อไป สังคมไทยเป็นสังคมนิติรัฐ เมื่อรัฐธรรมนูญประกาศใช้แล้ว เราก็ต้องใช้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันแก้ไข ซึ่งเราไม่มักง่ายด้วยการใช้วิธีล้มกระดาน แล้วร่างขึ้นมาใหม่  โดยมีช่องทางตามมาตรา 291 ว่าจะแก้ไขอย่างไร

 

ประสบการณ์ในอดีตเราก็มีมาแล้วเมื่อรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2534 ที่มีการแก้ไขทั้งฉบับจนเกิดเป็นรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2540  โดยผ่านการประมวลความคิดเห็น  ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ดีที่สุดของประเทศไทยเท่าที่เคยมีมา เมื่อเทียบกับฉบับอื่นๆ แต่ก็มีข้อเสียบ้าง บางอย่างอาจจะไม่มีการควบคุมตรวจสอบที่รัดกุมเพียงพอซึ่งทำการแก้ไขได้ ควรมีการสอบถามประชาชนว่าต้องการแก้ไขในส่วนไหนบ้าง

 

ในความคิดเห็นส่วนตัวนั้น เห็นว่าสมควรจะแก้ประเด็นต่างๆ ซึ่งไม่มีข้อยุติได้ง่ายเท่าไหร่ แต่แน่นอนว่าในสังคมประชาธิปไตยก็ต้องฟังเสียงส่วนใหญ่ว่าความต้องการที่แท้จริงของประชาชนทั้งหมด ไม่ว่าในระดับชนชั้นไหน เขามีความต้องการอย่างไร และมีความเหมาะสมกับประเทศอย่างไรบ้าง เปรียบเสมือนการตัดเสื้อผ้าหรือรองเท้า ซึ่งก็ต้องมีการวัดตัววัดร่างกาย ที่ผ่านมาเราไม่ได้กระทำแบบนั้น แต่กลับกลายเป็นการตัดเสื้อผ้าหรือรองเท้าก่อนที่จะให้คนได้สวมใส่

 

รัฐธรรมนูญ2550 เราสามารถใช้วิธีการเดียวกับที่มาของรัฐธรรมนูญ 2540  โดยอาศัยมาตรา 291 ซึ่งสามารถออกรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนตั้งคณะกรรมการยกร่างฯ ซึ่งไม่ควรมีการเร่งรีบที่จะทำให้รัฐธรรมนูญประกาศใช้อย่างรวดเร็ว อย่างที่ฝ่ายการเมืองที่กระทำอยู่ในปัจจุบันนั้นก็คือ การแก้ประเด็นเรื่องยุบพรรค และประเด็นต่างๆ ซึ่งผมมองว่าเป็นการแก้ไขเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัวมากกว่าส่วนรวม

 

ผมเห็นด้วยที่มีการริเริ่มที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ประเด็นที่นักการเมืองยกขึ้นมาเป็นข้ออ้างในการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็ไม่ได้เป็นไปเพื่อส่วนรวมเลย 

 

อย่างมาตรา 309 นั้น ถือว่าเป็นมาตราที่อัปลักษณ์ที่สุด ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ที่รองรับการกระทำของคณะรัฐประหารทั้งหมดตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว ฉบับ พ.ศ.2549 ทั้งหมดโดยมีรายละเอียด คือ บัญญัติว่า บรรดาการใดๆ ที่ได้รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549 ว่าเป็นการชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญ รวมทั้งการกระทำที่เกี่ยวเนื่องกับกรณีดังกล่าวไม่ว่าก่อนหรือหลังวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ ให้ถือว่าการนั้นและการกระทำนั้นชอบด้วยรัฐธรรมนูญนี้

 

รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2550 ก็ไปรับรองฉบับชั่วคราวปี พ.ศ.2549 อีก ซึ่งหมายความว่า ฉบับ ปี 2550 ทั้งฉบับเป็นการรองรับการกระทำที่ผิดกฎหมายให้ถูกกฎหมาย ซึ่งไม่ถูกต้องด้วยหลักนิติรัฐใดๆ ทั้งปวง

 

ล่าสุดเมื่อวันที่ 3 เมษายนที่ผ่านมา มีการแถลงข่าวว่า ม.309 จะไม่มีการแตะต้องแล้ว แต่จะไปเพิ่มข้อความว่าจะต้องเป็นไปตามหลักนิติรัฐ นิติธรรม ซึ่งผมคิดว่ามันไม่มีประโยชน์อะไรเลย  เพราะถึงอย่างไรก็ชอบด้วยหลักนิติรัฐ นิติธรรมอยู่แล้ว  แล้วใครจะเป็นคนตีความว่าชอบธรรมหรือไม่ชอบ หลักที่ว่านี้มันไม่มีประโยชน์

 

แต่บางคนก็มีความกังวลว่า ถ้าเลิกมาตรานี้ไปแล้วจะทำให้ คตส. (คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อรัฐ) หรือองค์กรอื่นๆ หายไป  ซึ่งอันนี้ไม่จริงหรอกครับ ก็ว่ากันไป เพราะสมัยเกิดองค์กรเหล่านี้นั้นเกิดเมื่อ พ.ศ. 2549  ซึ่งรัฐธรรมนูญชั่วคราว ปี 2549 ก็รับรองอยู่  รวมถึงรัฐธรรมนูญปี 2550 ด้วย เพียงแต่ว่าถ้ายังมีมาตรา309 อยู่นั้น เมื่อคดีไปถึงศาลแล้ว เมื่อเห็นว่าชอบด้วยรัฐธรรมนูญก็จะไปตัดสินอะไรอีก  แต่ถ้าไม่มีตัวนี้แล้ว ประชาชนที่ถูกลิดลอนสิทธิหรืออะไรก็ตามแต่ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายก็สามารถยกเป็นคดีชั้นต่อสู้ในศาลได้  ซึ่งจะแพ้หรือชนะก็อีกเรื่องหนึ่ง

 

มองในแง่สังคมนิติรัฐ ถ้ายังมีมาตรา 309 อยู่ สังคมจะเป็นอย่างไร ?

คือสังคมนิติรัฐ เป็นสังคมที่ปกครองด้วยกฎหมาย หลักนิติรัฐ คือ การกระทำของฝ่ายบริหารต้องชอบด้วยกฎหมาย และกฎหมายที่ออกมาต้องชอบด้วยรัฐธรรมนูญ  และการวินิจฉัยว่าการกระทำใดชอบหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นของฝ่ายบริหาร หรือนิติบัญญัติจะชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ก็ต้องเป็นอำนาจหน้าที่ของฝ่ายตุลาการ 

 

อย่างมาตรา 28 นี้ที่บอกไว้ว่า บุคคลย่อมใช้สิทธิของศาลเพื่อบังคับให้รัฐต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติโดยตรง สามารถใช้สิทธิของศาลได้  คือพูดง่ายๆ ว่า ถ้าเราถูกลิดลอนสิทธิ หรือถูกละเมิดสิทธิ เราสามารถใช้สิทธิของศาลได้ แต่อันนี้(ม.309)มันปิดทางไปหมด ในเมื่อชอบด้วยกฎหมายรัฐธรรมนูญก็จะไม่ใช้สิทธิของศาลอะไรได้อีก

 

ยกตัวอย่างง่ายๆ ก็คือว่า  อย่างกรณีคาร์บ๊องค์ ว่านี้เป็นการกระทำที่เกี่ยวข้องต่อเนื่องจากการทำรัฐประหาร ถ้าอ้างแบบนี้กฎหมายก็ไม่สามารถเอาผิดผู้ที่ก่อการได้เลย เพราะมีมาตรา 309 รองรับไว้อยู่  เพื่ออ้างที่จะเป็นส่วนหนึ่งของการก่อรัฐประหาร  ซึ่งนี้เป็นเพียงตัวอย่างที่ทำให้เห็นชัดเจนขึ้นเท่านั้น

 

ในแง่ของกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในส่วนของนักวิชาการตามมหาวิทยาลัยต่างๆ จะทำอย่างไรกันต่อไป

ในส่วนของนักวิชาการนั้น ผมไม่สามารถพูดแทนได้ทั้งหมด  เพราะนักวิชาการก็มีหลายแนวความคิด ทั้งรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์  เพราะว่ารัฐธรรมนูญก็เป็นกฎหมายมหาชน ซึ่งอยู่กึ่งๆ ระหว่างนิติศาสตร์กับรัฐศาสตร์  คือเป็นทั้ง 2 อย่าง เพราะเกี่ยวกับการจัดระเบียบโครงสร้างของรัฐในเรื่องการเมืองการปกครอง  แนวความคิดก็หลากหลาย นักวิชาการก็เช่นเดียวกันกับประชาชนทั่วไปที่มีแนวความคิดที่แตกต่างกันไป แล้วแต่ละพื้นฐานที่มา บางคนก็มีความเลื่อมใสในลัทธิคอมมิวนิสต์ หรือทุนนิยม  ซึ่งก็แล้วแต่ความคิดเห็นของแต่ละบุคคล

 

เมื่อวันที่ 3 เม.ย.ที่ผ่านมา ก็มีการออกมาแถลงของอาจารย์คณะนิติศาสตร์จากหลายสถาบัน ซึ่งผมเองก็เห็นด้วยบ้างในบางประเด็น และเห็นต่างบ้างในบางประเด็นก็เป็นอิสระของแต่ละบุคคล  อย่างประเด็นที่ไม่เห็นด้วยนั้นคือ ส่วนใหญ่ของนักวิชาการที่แถลงนั้นก็ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขมาตรา 237  ซึ่งเกี่ยวกับเรื่องยุบพรรค  แต่ว่าเขาเห็นด้วยกับมาตรา 309 แต่นักการเมืองเขาเห็นด้วยกับการแก้ไขทั้ง 2 มาตรา ทั้ง 309 และ 237

 

ในความคิดเห็นส่วนตัวเรื่องการแก้ไข ม.237กรณียุบพรรคในฐานะที่สอนทั้งนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์นั้น ผมคิดว่า พรรคการเมืองนั้นเป็นตัวแทนของแนวคิดของประชาชนเป็นสถาบันของการเมืองที่ต้องการพัฒนาการ เราต้องแยกให้เห็นชัดว่าความคิดที่ตัวบุคคลกระทำหรือพรรคกระทำนั้น  ต้องแยกออกจากกันไม่ใช่ว่าเมื่อคนหนึ่งทำผิดแล้ว อีกหลายๆ คนไม่รู้เรื่องด้วยก็ต้องรับผิดชอบร่วมด้วยนั้น มันไม่ใช่เป็นลักษณะตัวตายตัวแทนที่ต้องล้มไปทั้งพรรค เพราะพรรคการเมืองจะต้องเป็นวิวัฒนาการที่ต้องแสดงให้เห็นถึงความเข้มแข็งของประชาธิปไตย

 

ยกตัวอย่าง คดีวอเตอร์เกต คดีวอเตอร์เกตเริ่มต้นขึ้น เมื่อตำรวจจับคนร้ายจำนวนหนึ่งที่พยายามบุกเข้าไปในโรงแรมวอเตอร์เกต ในกรุงวอชิงตัน อันเป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่ระดับชาติของพรรคเดโมแครต ซึ่งต่อมาพวกเขาพบว่า บรรดาคนที่ถูกจับเหล่านี้ต่างทำงานให้แก่สำนักงานข่าวกรองกลางสหรัฐฯ จากการสอบสวนพบว่า ในสมุดโน้ตของแม็คคอร์ด หนึ่งในคนร้าย มีหมายเลขโทรศัพท์ของโฮเวิร์ด ฮันต์ อดีตเจ้าหน้าที่ทำเนียบขาวคนหนึ่ง ซึ่งทำให้สันนิษฐานได้ว่า คดีนี้น่าจะมีเงื่อนงำทางการเมือง นอกจากนี้แม็ค คอร์ดยังสารภาพกับศาลด้วยว่า เขาเป็นอดีตเจ้าหน้าที่ซีไอเอปลดเกษียณ  ด้วยการขุดคุ้ยเจาะข่าวของสื่อมวลชน ทำให้มีการเปิดโปงสาวลึกเข้าไปเรื่อยๆ จนมีการระบุว่า ทำเนียบขาวของประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน ผู้นำสหรัฐฯ และหัวหน้าพรรครีพับลิกันในขณะนั้น เป็นผู้สั่งการให้บุคคลเหล่านี้แอบเข้าไปติดตั้งอุปกรณ์ดักฟังในสำนักงานพรรคฝ่ายตรงข้าม เมื่อเรื่องราวฉาวๆ แดงขึ้นมาจนรู้ตัวผู้บงการ ประธานาธิบดีนิกสันจึงยอมประกาศลาออกถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ในช่วงค่ำของวันที่ 8 สิงหาคม 1974 ก่อนที่รัฐสภาอเมริกันจะถอดถอนเขาออกจากตำแหน่งประธานาธิบดี ซึ่งนี้ถือว่าเป็นความผิดที่ร้ายแรง  แต่ก็ไม่มีการยุบพรรค  ซึ่งเราก็เช่นเดียวกันซึ่งจะหาความต่อเนื่องไม่ได้ 

 

จริงอยู่ อาจมีคนบอกว่า ใช่สิ เพราะประเทศเขาเจริญแล้ว แต่บ้านเราคนโกงมีเยอะ ผมเห็นว่ามันเป็นคนละเรื่องกัน เราพูดกันตรงๆ ว่าไม่มีวงการไหนที่มีคนดี 100% ผมก็ไม่เชื่อ  ซึ่งเรื่องของระบบก็เป็นเรื่องของระบบ จะไปเหมารวมกันนั้นไม่ได้ 

 

การจะลงโทษคนผิด จะลงโทษรุนแรงขนาดไหนก็ว่ากันไป ขอให้สภาพบังคับใช้กฎหมายให้มันได้ผลจะดีกว่าการโละกระดานใหม่ ต้องแยกระหว่างเรื่องของบุคคลกับพรรค  นักการเมืองเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายมหาชน ไม่ใช่นิติบุคคลตามกฎหมายแพ่งหรือกฎหมายอื่นๆ ทั่วไป ซึ่งจะต้องพิจารณากันให้ดี การยุบพรรคจะทำให้วิวัฒนาการทางการเมืองล้าหลัง

 

ผมมองว่าทุกพรรคก็มีคนไม่ดีไปอยู่ ไม่มีพรรคไหนดีไปทั้งหมด  ผมใช้คำว่ามีความพยายามจัดคู่แข่งทางการเมือง กำจัดคู่แข่งที่มีแนวความคิดไม่ตรงกับตนเอง กำจัดคู่อำนาจฝ่ายตรงข้าม ระหว่างผู้ที่ศรัทธาเลื่อมใสในศาสนาทุนนิยมกับศรัทธาเลื่อมใสในระบบอำมาตยาธิปไตย ที่จะต้องมีผู้นำจากชนชั้นนำ  ซึ่งมีการแย่งชิงอำนาจกันอยู่ตลอด

 

ผลของการปฏิวัติ ตลอดเวลา 1 ปี กับ 6 เดือน ที่ผ่านมา ผลที่ได้ก็อย่างที่เราเห็น มันเป็นเรื่องของการแย้งชิงอำนาจกัน และกำจัดฝ่ายที่มีความคิดเห็นกันคนละข้าง ซึ่งผมก็ไม่ได้ยอมรับว่าฝ่ายที่ถูกกำจัดออกไปนั้นเป็นฝ่ายที่ดี  ผมก็ไม่เห็นด้วยกับการที่เขาอาศัยช่องทางในการเอาเปรียบฉ้อฉลทางนโยบาย อีกฝ่ายก็เช่นเดียวกันที่ใช้วิธีการมักง่าย ใช้เครื่องไม้เครื่องมือที่มาจากภาษีอากรมาล้มกระดาน

 

การที่จะเป็นคนดีหรือไม่ดีนั้น ถ้าเราดูแบบผ่านๆ อาจจะเป็นคนดี แต่ถ้าเขามีโอกาสอยู่ในสภาวะหรือตำแหน่งที่เสี่ยงต่อการอ่อนไหวในการที่จะทุจริต  ถ้าเขายังเป็นคนดีได้  เขาถึงจะเรียกว่าดีจริง  แต่คนที่ด่าเขาอยู่ปาวๆ ว่าทุจริตนั้น  ถ้าตัวเองเข้ามามีโอกาส  ตัวเองจะทำหรือไม่ อันนี้ก็ต้องดูอีกที

 

กระแสการแก้รัฐธรรมนูญของฝ่ายการเมืองทุกวันนี้ ยังเป็นการแย่งชิงอำนาจของทั้ง 2 ฝ่ายอยู่หรือไม่

ถูกต้องครับ ตอนนี้เขาพยายามจะออกมาแก้ไข พูดง่ายๆว่า วัวสันหลังหวะก็แล้วกัน กลัวกลไกตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้ หรือ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญจะทำร้ายเขา เช่น กรณียุบพรรค การเซ็นสัญญากับต่างประเทศ ซึ่งทุกที่ในโลกเขาก็ต้องมีการแถลงต่อรัฐสภาถึงรายละเอียดที่จะเซ็นสัญญาต่างๆ เป็นต้น  เหล่านี้เป็นการแก้ไขเพื่อตนเองอย่างชัดเจน ไม่ได้กระทำเพื่อส่วนรวมเลย

 

แล้วประชาชนควรจะกระทำอย่างไรท่ามกลางสถานการณ์เช่นนี้ ?

ประชาชนต้องช่วยกันแสดงความคิดเห็นของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบใดก็ตาม ไม่ควรนิ่งเฉยเพราะว่าสิทธิของประชาชนหรือสิทธิตามรัฐธรรมนูญเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานมาตั้งแต่กำเนิด อย่าให้ใครมากล่าวอ้างว่าทำสิ่งนี้เพื่อประชาชน แล้วไปอ้างเหตุผลให้เข้ากับฝ่ายตัวเอง อย่างเช่น มีการถามว่าต้องมีการทำประชาพิจารณ์หรือไม่ เขาบอกว่า  ไม่ต้องแล้ว พวกผมมาจากการเลือกตั้ง ประชาชนเลือกผมมาแล้วไม่ต้องถามแล้ว ซึ่งไม่ไม่ถูกต้อง มันคนละเรื่องกัน 

 

การออกประชามติรับรองรัฐธรรมนูญก็เช่นเดียวกัน ที่อ้างว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านประชามติมาแล้วห้ามแก้ไข เราก็รู้ๆ กันว่าบางคนอาจจะไม่ได้อ่านรายละเอียดในรัฐธรรมนูญ เล่มสีเหลืองด้วยซ้ำ  โดยเขาอยากเพียงแค่ให้เกิดการเลือกตั้งขึ้นโดยเร็วเท่านั้น เพราะหากรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติก็จะนำรัฐธรรมนูญฉบับใดก็ไม่ทราบมาประกาศใช้เพื่อให้เกิดการเลือกตั้ง  ทีนี้ฝ่ายออกเสียงรับร่างฯ เขากลัวในจุดนั้น ซึ่งการมีส่วนร่วมของประชาธิปไตยบางคนก็ไม่สนใจ 

 

ในส่วนของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน  มองการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ควรจะเป็นไปทิศทางไหน ?

ควรจะมีการแก้ไขทั้งฉบับ แต่จะนำรัฐธรรมนูญปี 2540 มาเป็นฐาน หรือนำมาเป็นแนวที่เริ่มวิธีการที่มาที่ไปเท่านั้นเอง ซึ่งรัฐธรรมนูญ ปี 2540 ก็มีจุดอ่อนอยู่เยอะ แต่ถ้าเทียบกับฉบับปี 2550 แล้ว ฉบับปี 2540 นั้นดีกว่าเยอะ แต่จะให้กลับไปใช้ฉบับปี 2540 ทั้งหมดผมก็ไม่เห็นด้วย  เอาเฉพาะแนวทางซึ่งถ้าไหนๆ ก็จะแก้ไขแล้วก็ควรแก้ไขทั้งฉบับไปเลย ให้สอดคล้องกัน เพราะบางมาตราก็มีการขัดแย้งกันเอง อย่างเช่น มาตรา 82และ 83 ที่อีกมาตราหนึ่งบอกว่าใช้เศรษฐกิจพอเพียง อีกมาตราหนึ่งบอกว่าใช้เศรษฐกิจแบบเสรีนิยม ซึ่งผมก็ไม่รู้เจตนาว่าเขียนเพื่ออะไร เพราะเขียนติดกันทั้ง 2 มาตรา ก็ยังขัดแย้งกันเอง

 

กฎหมายมี 2 อย่าง คือ กฎหมายที่เป็นไปตามธรรมชาติและกฎหมายที่มนุษย์เป็นคนกำหนดขึ้น เช่น เรื่องการพนันหรืออะไรก็แล้วแต่นั้น บางที่ก็บอกว่าเป็นความผิด บางที่ก็บอกว่าไม่ผิด แต่การฆ่าคนตายก็ถือว่ายังไงก็ต้องผิด รัฐธรรมนูญก็เช่นกัน ในส่วนที่เราจะบัญญัติขึ้นว่าสิ่งไหนจะถูกหรือไม่ถูก ก็อยู่ที่ความต้องการหรือพื้นฐานของสังคมว่าต้องการอะไร

โดย : ประชาไท  


อัพเดทล่าสุด