กฎกระทรวง ประกันสังคม กฎกระทรวง กำหนดหลักเกณฑ์และอัตราการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงาน พ.ศ. ๒๕๔๗ อังคาร ที่ 18 เดือน มีนาคม พ.ศ.2551 |
กฎกระทรวง กำหนดหลักเกณฑ์และอัตราการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงาน พ.ศ. ๒๕๔๗
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๗ และมาตรา ๗๙ แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. ๒๕๓๓ อันเป็นพระราชบัญญัติที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลซึ่งมาตรา ๒๙ ประกอบกับมาตรา ๓๕ และมาตรา ๔๘ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยบัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ ให้ลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตนที่มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานตามมาตรา ๗๘ มีสิทธิได้รับเงินทดแทนในกรณีว่างงานในอัตราดังต่อไปนี้ (๑) ร้อยละห้าสิบของค่าจ้างรายวันสำหรับการว่างงานเพราะเหตุถูกเลิกจ้างโดยให้ได้รับครั้งละไม่เกินหนึ่งร้อยแปดสิบวัน (๒) ร้อยละสามสิบของค่าจ้างรายวันสำหรับการว่างงานเพราะเหตุลาออกจากงานหรือเหตุสิ้นสุดสัญญาจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอนและเลิกจ้างตามกำหนดระยะเวลานั้น โดยให้ได้รับครั้งละไม่เกินเก้าสิบวัน ในกรณีที่ผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเพราะเหตุตาม (๑) หรือเหตุตาม (๑) และ (๒) เกินกว่าหนึ่งครั้งภายในระยะเวลาหนึ่งปีปฏิทินให้มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานทุกครั้งรวมกันได้ไม่เกินหนึ่งร้อยแปดสิบวัน แต่ในกรณีที่ผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเพราะเหตุตาม (๒) เกินกว่าหนึ่งครั้งภายในระยะเวลาหนึ่งปีปฏิทิน ให้มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานทุกครั้งรวมกันได้ไม่เกินเก้าสิบวัน ในกรณีที่ผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานในระยะเวลาหนึ่งปีปฏิทินใดไม่ครบกำหนดเวลาตามวรรคสอง ให้มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนโดยการนับระยะเวลาต่อเนื่องไปยังปีปฏิทินถัดไปได้ การจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานให้จ่ายเป็นรายเดือน สำหรับเศษของเดือนให้คำนวณจ่ายเป็นรายวัน ให้นำบทบัญญัติมาตรา ๕๗ มาใช้บังคับกับการคำนวณค่าจ้างรายวันเพื่อการจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงาน โดยอนุโลม ข้อ ๒ ให้ลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตนที่มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานตามมาตรา ๗๘ ได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานตามข้อ ๑ ตั้งแต่วันที่แปดนับแต่วันว่างงานจาการทำงานกับนายจ้างรายสุดท้าย เว้นแต่ลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตนผู้ใดไม่ได้ขึ้นทะเบียนไว้ที่สำนักจัดหางานของรัฐภายในสามสิบวันนับแต่วันว่างงาน ให้มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานนับตั้งแต่วันที่ลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตนผู้นั้นได้ขึ้นทะเบียนไว้ที่สำนักจัดหางานของรัฐ ข้อ ๓ ให้สำนักงานงดการจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานแก่ผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนเมื่อ (๑) ผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนกลับเข้าทำงานเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา ๓๓ อีก โดยให้สิ้นสุดการรับประโยชน์ทดแทนตั้งแต่วันที่กลับเข้าทำงานเป็นผู้ประกันตน (๒) ผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนได้ปฏิเสธการทำงานหรือปฏิเสธการฝึกงานที่เหมาะสมตามที่จัดหาให้โดยไม่มีเหตุอันสมควร ให้งดการจ่ายประโยชน์ทดแทนตั้งแต่วันที่ปฏิเสธ (๓) ผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนไม่ไปรายงานตัวที่สำนักจัดหางานของรัฐโดยไม่มีเหตุอันสมควรให้งดการจ่ายประโยชน์ทดแทนในเดือนที่ไม่ไปรายงานตัวนั้น ข้อ ๔[๑] กฎกระทรวงนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๗ เป็นต้นไป ให้ไว้ ณ วันที่ ๓๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๗ อุไรวรรณ เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ เนื่องจากได้มีการกำหนดให้ดำเนินการจัดเก็บเงินสมทบเพื่อการจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๗ ประกอบกับมาตรา ๗๙ แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. ๒๕๓๓ บัญญัติให้ผู้ประกันตนมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานตามหลักเกณฑ์และอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวง จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้ พรพิมล/พิมพ์ ๔ สิงหาคม ๒๕๔๗ อมราลักษณ์/ศุภสรณ์/ตรวจ ๒๕ สิงหาคม ๒๕๔๗ A+B ปาจรีย์/ปรับปรุง ๒ พฤศจิกายน ๒๕๔๙
[๑] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๑/ตอนพิเศษ ๒๘ ก/หน้า ๕/๓๐ มิถุนายน ๒๕๔๗ ที่มา : กฎกระทรวง กำหนดหลักเกณฑ์และอัตราการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงาน พ.ศ. ๒๕๔๗ |