ข่าวกฎหมาย
มูลนิธิผู้บริโภคเร่ง รบ.ออก กม.ตั้งกองทุนอิสระเยียวยาผู้ป่วย ยกกรณีผ่าต้อกระจกตาบอดเป็นตัวอย่าง
จันทร์ ที่ 18 เดือน มกราคม พ.ศ.2553
มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เรียกร้องให้รัฐบาลเร่งผลักดันออกกฎหมายกองทุนคุ้มครองผู้เสียหายจากบริการสาธารณสุข ให้สำนักงานกองทุนเป็นอิสระจาก สธ. ค้านขึ้นกับกรมสนับสนุนบริการสาธารณสุข
มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2553 เรียกร้องให้รัฐบาลเร่งผลักดันออกกฎหมายกองทุนคุ้มครองผู้เสียหายจากบริการสาธารณสุข เป็นหน่วยงานอิสระจากกระทรวงสาธาณณสุขเพื่อให้สามารถเยียวยาผู้เสียหายให้กับผู้ป่วยได้อย่างครอบคลุมและมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้การเรียกร้องดังกล่าวได้หยิบยกเรื่องที่โรงพยาบาลศูนย์ขอนแก่นผ่าตัดตาต้อกระจกให้ผู้ป่วยจำนวน 28 ราย ระหว่างวันที่ 14-16 ธันวาคม 2552 และหลังผ่าตัดพบผู้ป่วยติดเชื้อจำนวน 11 ราย และตาบอด 4 ราย ในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยในสิทธิหลักประกันสุขภาพ 7 ราย และสิทธิข้าราชการ 4 รายมาเป็นกรณีตัวอย่างซึ่งสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้ช่วยเหลือเยียวยาความเสียหายผู้ป่วยตาต้อกระจกที่ขอนแก่นเบื้องต้น ตามมาตรา 41 ของกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งเป็นการให้ความช่วยเหลือเฉพาะผู้ในสิทธิหลักประกันสุขภาพ (บัตรทอง) จำนวน 7 ราย ๆ โดยกรณีทุพพลภาพถาวรนั้นจะได้รับการช่วยเหลือได้ไม่เกิน 200,000 บาทต่อราย
อย่างไรก็ตามเนื่องจาก พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 มาตรา 41 ให้มีการกันเงินไว้ไม่เกินร้อยละ 1 ในการช่วยเหลือเบื้องต้นเมื่อได้รับความเสียหายจากบริการสาธารณสุข โดยไม่ต้องพิสูจน์ถูกผิด และปัจจุบันมีกลไกการพิจารณาอนุมัติในทุกจังหวัดโดยคณะอนุกรรมการจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้น ที่มีองค์ประกอบของผู้รับบริการ ผู้ให้บริการในสัดส่วนที่เท่ากัน และผู้ทรงคุณวุฒิ โดยมีหลักเกณฑ์การจ่ายดังนี้
เสียชีวิตหรือทุพพลภาพอย่างถาวร จ่ายเงินไม่เกิน 200,000 บาท
สูญเสียอวัยวะ หรือพิการ จ่ายเงินไม่เกิน 120,000 บาท
บาดเจ็บหรือ เจ็บป่วยต่อเนื่อง จ่ายเงินไม่เกิน 50,000 บาท
แต่กองทุนตามกฎหมายฉบับนี้ยังไม่ครอบคลุมระบบหลักประกันในรูปแบบอื่น ๆ เช่น ระบบสวัสดิการข้าราชการ ประกันสังคม นอกจากนี้การช่วยเหลือเบื้องต้นยังมีความจำกัดในเรื่องวงเงินงบประมาณ ทำให้ไม่สามารถเยียวยาความเสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขที่เกิดขึ้นได้จริง
ปัจจุบันร่างพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากบริการสาธารณสุข ได้ถูกนำเสนอโดยประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 10,000 รายชื่อ ต่อประธานรัฐสภา เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2552 และรัฐบาลโดยกระทรวงสาธารณสุขได้เสนอกฎหมายนี้เช่นเดียวกัน แต่กระทรวงสาธารณสุขได้ให้กองทุนคุ้มครองผู้เสียหายมีสำนักงานภายใต้กรมสนับสนุนบริการสาธารณสุข
แต่จากข้อเท็จจริงในปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขมีฐานะเป็นผู้ให้บริการและเป็นผู้ก่อให้เกิดความเสียหายในหลายกรณี เช่นกรณีโรงพยาบาลขอนแก่น จึงไม่อยู่ในฐานะที่เป็นกลาง และไม่ได้รับการยอมรับจากเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ และองค์กรผู้บริโภค
จึงเรียกร้องให้ร่างกฎหมายฉบับนี้มีสำนักงานที่มีความเป็นกลาง เป็นอิสระ และเข้าถึงได้ง่าย เพื่อประสิทธิภาพในการให้การช่วยเหลือ ชดเชย และเยียวยาความเสียหายตลอดตนลดความขัดแย้ง
ที่มา : matichon.co.th