ข่าวกฎหมาย ขรก.งง มท.ล่าชื่อแก้กม.ยาเสพติดเพิ่มโทษหนักประหารชีวิต เจอหนังสือเวียนร่วมลงชื่อ


774 ผู้ชม


ข่าวกฎหมาย
ขรก.งง มท.ล่าชื่อแก้กม.ยาเสพติดเพิ่มโทษหนักประหารชีวิต เจอหนังสือเวียนร่วมลงชื่อ
จันทร์ ที่ 18 เดือน มกราคม พ.ศ.2553

 
 
มหาดไทยล่าชื่อแก้กฎหมายยาเสพติด ลดปริมาณถือครอง เพิ่มโทษหนักถึงขั้นประหารชีวิต ตั้งเป้า 10 ล้านชื่อกดดันรัฐบาล ขรก.มึนเจอหนังสือเวียนร่วมลงชื่อ สงสัยไม่เสนอเข้า ครม.


เมื่อวันที่ 13 มกราคม ที่กระทรวงมหาดไทย นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานลงนามเข้าชื่อเสนอแก้ไขกฎหมายเพื่อป้องกันและปราบปรามยาเสพติด จำนวน 3 ฉบับ คือ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามยาเสพติด พ.ศ.2519 พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 และ พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545


นายชวรัตน์แถลงว่า จากปฏิบัติการ "มหาดไทย คลีนแอนด์ซีล ทำความดีเพื่อแผ่นดิน กวาดล้างให้สิ้นยาเสพติด" โดยมีเป้าหมายลดจำนวนหมู่บ้านที่มีปัญหายาเสพติด ลงเดือนละอย่างน้อยร้อยละ 10 โดยการใช้การประชาคม การใช้เครื่องมือตรวจสารเสพติด และที่สำคัญที่สุดคือการใช้มาตรการทางกฎหมายเป็นด่านสุดท้าย ด้วยการปรับปรุงกฎหมายให้มีอัตราโทษสูงขึ้น มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด และเด็ดขาด มีขั้นตอนการตัดสินลงโทษที่รวดเร็วขึ้น โดยแก้ไขใน 3 พ.ร.บ. คือ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามยาเสพติด แก้ไขในมาตรา 17 ให้เพิ่มอัตราโทษสำหรับเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีหน้าที่ปราบปรามยาเสพติด แต่ได้กระทำการจำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายยาเสพติดประเภท 1 จากเดิมให้รับโทษเป็น 3 เท่า เป็นให้มีความผิดระวางโทษประหารชีวิต


นายชวรัตน์กล่าวอีกว่า สำหรับ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ในมาตรา 15 ปรับปริมาณยาเสพติดจากเดิมแอมเฟตามีนปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ 375 มิลลิกรัมขึ้นไป เป็น 125 มิลลิกรัมขึ้นไป หรือยาเสพติดที่มีสารดังกล่าวผสมจากเดิม 15 หน่วยการใช้ เป็น 5 หน่วยการใช้ หรือจากเดิมน้ำหนักตั้งแต่ 1.5 กรัม เป็น 0.5 กรัม


ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แอมเฟตามีนคือสารประกอบยาบ้า โดยปริมาณ 375 มิลลิกรัม เท่ากับยาบ้าประมาณ 15-18 เม็ด ขึ้นกับส่วนผสม ส่วนปริมาณ 125 มิลลิกรัม เท่ากับยาบ้าประมาณ 6-8 เม็ด


นายชวรัตน์กล่าวว่า นอกจากนี้ได้เพิ่มโทษตามมาตรา 65 ที่เดิมมีโทษจำคุกตลอดชีวิตและปรับตั้งแต่ 1-5 ล้านบาท เป็นจำคุกตลอดชีวิต ปรับ 1-5 ล้านบาท หรือประหารชีวิต มาตรา 66 จากเดิมผู้ที่มีสารเสพติดเกิน 20 กรัม ต้องโทษจำคุก 4 ปี ถึงตลอดชีวิต เป็นผู้มีสารเสพติดเกิน 10 กรัม ต้องโทษจำคุกตลอดชีวิต ปรับตั้งแต่ 1-5 ล้านบาท หรือประหารชีวิต มาตรา 91 เพิ่มโทษจากเดิม จำคุก 6 เดือน ถึง 3 ปี หรือปรับตั้งแต่ 2-6 หมื่นบาท เป็นจำคุกตั้งแต่ 3–5 ปี หรือปรับตั้งแต่ 6 หมื่นถึง 1 แสนบาท และมาตรา 93 เกี่ยวกับการบังคับขู่เข็ญให้ผู้อื่นเสพยาเสพติดให้โทษ หากเป็นเฮโรอีน ให้เพิ่มโทษเป็น 2 เท่า และหากกระทำต่อหญิงหรือผู้ยังไม่บรรลุนิติภาวะให้มีระวางโทษประหารชีวิต โดยให้เพิ่มสารแอมเฟตามีนเข้าไปด้วย


นายชวรัตน์กล่าวว่า ส่วน พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 แก้ไขในมาตรา 22 โดยกำหนดให้ผู้เสพ ผู้ติดยาเสพติดมีสิทธิเข้ารับการรักษาฟื้นฟูได้ไม่เกิน 2 ครั้ง หากไม่เลิกยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด ต้องถูกดำเนินคดีในข้อหาเสพยาเสพติดและไม่มีสิทธิเข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพ เพื่อแก้ปัญหาผู้ค้าแอบอ้างเป็นผู้เสพ และหลีกเลี่ยงไม่ต้องรับโทษในข้อหาจำหน่ายยาเสพติด


เมื่อถามว่า จะมีการคาดโทษจังหวัดที่รวบรวมรายชื่อได้น้อยหรือไม่ นายชวรัตน์กล่าวว่า ก็คิดอยู่เหมือนกันว่าจะคาดโทษอย่างไร แต่เป็นผู้หลักผู้ใหญ่กันแล้ว คงไม่ต้องตั้งไม้บรรทัดให้ แค่พูดก็คงอายแล้ว


จากนั้นนายชวรัตน์ได้ประชุมกระทรวงมหาดไทยประจำเดือนมกราคม ผ่านระบบวีดิทัศน์ทางไกลถึงผู้ว่าราชการทั่วประเทศ โดยระบุตอนหนึ่งว่า เป้าหมายการปฏิบัติการคลีนแอนด์ซีลต้องการให้ยาเสพติดลดลงร้อยละ 10 ในทุกพื้นที่ ปรากฏว่าขณะนี้มีเพียง 10 จังหวัดที่ทำได้ตามเป้าหมาย คือ แพร่ ตรัง พะเยา ฉะเชิงเทรา หนองคาย สมุทรสาคร สุราษฎร์ธานี สมุทรสงคราม นครนายก และอุดรธานี และมี 31 จังหวัดยังทำไม่ได้ตามเป้าหมาย อีก 34 จังหวัดยังไม่ได้รับรายงานจึงขอให้เร่งดำเนินการและรายงานเข้ามา และหวังว่าจะช่วยกันแก้ปัญหาเรื่องยาเสพติดอย่างเป็นรูปธรรม อย่าทำแบบในอดีต คือ วิ่งไล่จับกันไปวิ่งไล่จับกันมา แบบหนังการ์ตูนเรื่องทอมแอนด์เจอรี่


ด้านนายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ตอบคำถามผู้สื่อข่าวถึงสาเหตุที่กระทรวงมหาดไทยไม่ใช้ช่องทางการเสนอแก้ไขกฎหมาย โดยเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อเสนอต่อสภา ตามแนวทางของฝ่ายบริหาร ว่า การแก้ไขกฎหมายทำได้หลายวิธี การเสนอ ครม.เพื่อให้เสนอต่อสภาก็เป็นวิธีหนึ่ง การรวบรวมรายชื่อประชาชนให้ครบ 1 หมื่นรายชื่อ ก็สามารถทำได้ โดยนายชวรัตน์ได้ลงนามเป็นคนแรกไปแล้ว และในฐานะที่นายชวรัตน์เป็นหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ต่อจากนี้ ส.ส.ของพรรคภูมิใจไทยก็จะลงชื่อเสนอกฎหมายในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนฯอีกทางหนึ่ง ทั้งนี้ สาเหตุที่ต้องให้ประชาชนเป็นผู้ลงชื่อ เพราะเป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับประชาชน ต้องการให้ประชาชนมีส่วนร่วมให้มากที่สุด ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นช่องทางการแก้ไขกฎหมายเหล่านี้ทำได้เร็วที่สุด


ส่วนกรณีที่นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เคยระบุว่าไม่เห็นด้วยกับการเพิ่มโทษให้กับผู้เสพ ที่ถือว่าเป็นผู้ป่วย แต่การแก้ไขกฎหมายครั้งนี้ให้ผู้ป่วยบำบัดได้เพียง 2 ครั้ง จะทำให้เกิดความขัดแย้งหรือไม่ นายบุญจงกล่าวว่า ได้พูดคุยกับนายถาวร และตกลงในหลักการร่วมกันแล้ว เพราะการกำหนดให้ผู้เสพเข้าบำบัดได้ 2 ครั้ง เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ค้าสวมรอยเป็นผู้เสพ แล้วก่อความผิดและปัญหาซ้ำซาก


นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ประธานคณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า การเพิ่มโทษเกี่ยวกับยาเสพติด เป็นการเอาแนวทางของประเทศมาเลเซียและสิงคโปร์ที่แก้ไขปัญหายาเสพติดได้ผลมาปรับใช้ เพื่อให้เกิดความเข้มข้นในการบังคับใช้กฎหมาย ส่วนที่เปิดโอกาสให้ประชาชนลงชื่อเสนอกฎหมาย ก็เพื่อแสดงออกให้เห็นว่ามีคนจำนวนมากเห็นด้วย โดยตนคาดการณ์ว่าจะมีคนร่วมลงชื่อมากกว่า 10 ล้านคนทั่วประเทศ เมื่อมีคนจำนวนมากเช่นนี้ รัฐบาลก็จำเป็นต้องหยิบยกขึ้นมาดำเนินการโดยเร็ว หากไม่ดำเนินการ ก็ต้องไปตอบคำถามคน 10 ล้านคนที่ร่วมลงชื่อว่าเป็นเพราะอะไรกันเอาเอง


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้กระทรวงมหาดไทยได้ส่งหนังสือเวียนถึงหน่วยราชการในสังกัด เพื่อขอให้ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชน ข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้างที่เห็นด้วยกับร่างแก้ไข พ.ร.บ.ทั้ง 3 ฉบับ ร่วมลงชื่อในแบบเข้าชื่อเสนอกฎหมาย ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 163 บริเวณลานอเนกประสงค์ กระทรวงมหาดไทย โดยให้ผู้ที่มาร่วมลงชื่อแนบสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนมาด้วย ขณะเดียวกัน ได้ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดประชาสัมพันธ์และเชิญชวนประชาชนที่เห็นด้วย ร่วมกรอกแบบและลงชื่อตามสถานที่ที่จังหวัดและอำเภอกำหนด


รายงานข่าวแจ้งว่า การส่งหนังสือเวียนเพื่อขอให้ข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้างของกระทรวงมหาดไทย มาร่วมลงชื่อเสนอแก้ไขกฎหมาย ทำให้เกิดข้อวิพากษ์วิจารณ์ในหมู่ข้าราชการว่า เหตุใดรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะฝ่ายบริหาร ไม่เสนอ ครม.ขอแก้ไขกฎหมายเพื่อเสนอต่อสภา กลับเลือกใช้ช่องทางให้ประชาชนลงชื่อเสนอกฎหมายแทน โดยคาดว่าจะมีการใช้รายชื่อที่รวบรวมได้จากเครือข่ายของมหาดไทยมาเป็นเครื่องต่อรอง เพราะที่ผ่านมาการเพิ่มโทษยาเสพติดยังมีข้อถกเถียงถึงโทษที่เหมาะสม และคำจำกัดความเรื่องผู้เสพ หรือผู้ป่วยอยู่

ที่มา : matichon.co.th/
 
 

อัพเดทล่าสุด