ข่าวทั่วไป ที่น่าสนใจ เขาพระวิหาร ผ่านมุมมองกฎหมายระหว่างประเทศ


716 ผู้ชม


ข่าวทั่วไป ที่น่าสนใจ
เขาพระวิหาร ผ่านมุมมองกฎหมายระหว่างประเทศ

พุธ ที่ 2 เดือน กรกฏาคม พ.ศ.2551
 
โดย สมิดา หมวดทอง MA.International Boundaries, University of Durham, UK MA. Speech Communication, Portland State University,US
ข่าวทั่วไป ที่น่าสนใจ เขาพระวิหาร ผ่านมุมมองกฎหมายระหว่างประเทศ

ประเด็นที่ถกเถียงในเรื่องเขาพระวิหาร ต้องแยกการพิจารณาออกเป็นสองกรณี คือ
อำนาจอธิปไตยเหนือปราสาทพระวิหาร
กับพื้นที่ทับซ้อนซึ่งอยู่นอกเหนือตัวปราสาท
อำนาจอธิปไตยเหนือปราสาทพระวิหาร
หากมองในกรณีแรก คงจะต้องยอมรับว่าอำนาจอธิปไตยเหนือปราสาทพระวิหารเป็นของประเทศกัมพูชาโดยสมบูรณ์ตามคำตัดสินของศาลโลก (International Court of Justice) ในปี 1962 เนื่องจากการนิ่งเฉย (acquiescence) และการยอมรับ (recognition) ของฝ่ายไทย
ซึ่งการได้มาและการสูญเสียดินแดนของสองประเทศในลักษณะนี้เกิดขึ้นมาจากการที่ประเทศหนึ่ง
เช่น รัฐ A สร้างเงื่อนไขที่จะทำให้อีกฝ่ายหนึ่งหรือรัฐ B เกิดความเสี่ยงอันจะนำไปสู่การเสียกรรมสิทธิ์เหนือดินแดน (risks of prejudice) ความเสี่ยงดังกล่าวอาจจะเป็นไปด้วยความตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ และอาจพัฒนาขึ้นโดยการที่รัฐ A รุกเข้าไปบริหารพื้นที่ส่วนนั้นโดยการเก็บภาษี ตั้งสถาบันทางราชการ หรือเป็นความเสี่ยงทางด้านเอกสาร เช่น สนธิสัญญา แผนที่ และจดหมายเหตุของทางราชการ โดยตามกฎหมายระหว่างประเทศ รัฐ B จะต้องตอบโต้หรือประท้วงต่อความเสี่ยงดังกล่าวเพื่อแสดงการปฏิเสธข้ออ้างของรัฐ A ที่หวังจะได้กรรมสิทธิ์เหนือดินแดน
ในกรณีของไทยและกัมพูชา ความเสี่ยงที่ยังผลให้เกิดการสูญเสียดินแดนของฝ่ายไทยคือ แผนที่ในปี 1907 (Annex I map) ซึ่งเบี่ยงเบนไม่เป็นไปตามสนธิสัญญาพรมแดนปี 1904 ที่กำหนดให้สันปันน้ำเป็นแนวเขตแดน
โดยแผนที่ในปี 1907 รวมปราสาทเขาพระวิหารไว้เป็นส่วนหนึ่งของดินแดนกัมพูชา (ซึ่งในขณะนั้นอยู่ภายใต้การปกครองของประเทศอาณานิคม คือ ฝรั่งเศส) ประเทศไทยกลับนิ่งเฉย ทั้งที่มีโอกาสประท้วงหลายปี เช่น ในการสำรวจภาคพื้นดินในปี 1934-1935 Franco-Siamese Settlement Agreement 17 ตุลาคม 1946 และการที่สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสด็จเยี่ยมเขาพระวิหารในฐานะเป็นนายกราชบัณฑิตยสถานแห่งประเทศสยาม โดยได้รับพระบรมราชานุญาต ทรงได้รับการต้อนรับอย่างเป็นทางการจากข้าหลวงใหญ่ฝรั่งเศส โดยมีธงชาติฝรั่งเศสชักไว้อันแสดงถึงอำนาจอธิปไตยของฝรั่งเศสเหนือดินแดน และพระองค์ยังทรงส่งรูปถ่ายดังกล่าวไปให้แก่ข้าหลวงใหญ่ฝรั่งเศส
ยิ่งไปกว่านั้นการที่ประเทศไทยขอสำเนาแผนที่ข้างต้นเพิ่มยังถือเป็นการยอมรับความถูกต้องของแผนที่ อันทำให้เชื่อได้ว่าประเทศไทยยอมรับแผนที่ที่ระบุให้ปราสาทพระวิหารอยู่ในดินแดนของกัมพูชา มิได้ให้ความสำคัญกับแนวสันปันน้ำ
ซึ่งเมื่อกัมพูชาเป็นเอกราช แนวพรมแดนข้างต้นที่ฝรั่งเศสวาดไว้ในแผนที่จึงมีผลต่อการตีความสนธิสัญญาในปี 1904 และได้กลายเป็นเส้นเขตแดนของไทยกับกัมพูชา อันเป็นไปตามกฎหมายจารีตที่ให้ยอมรับเขตแดนอย่างที่เป็นอยู่ในขณะที่ประเทศที่เคยเป็นอาณานิยมนั้นๆ ได้รับเอกราช (Uti Possidetis Juris)
เมื่อการเพิกเฉยและการยอมรับนำไปสู่กฎหมายปิดปาก (estoppel) ที่ทำให้ประเทศไทยไม่สามารถเรียกร้องกรรมสิทธิ์เหนือปราสาทพระวิหาร ในประเด็นนี้อาจมีผู้ถกเถียงว่าเจตนาทุจริต เช่นการโกง ตั้งใจทำแผนที่ผิดๆ ทำให้เราเสียดินแดนอย่างนี้ก็หมายความว่ากฎหมายกลับเรื่องผิดให้เป็นถูกได้ และขัดกับข้อที่ว่าไม่มีผลทางกฎหมายอันใดที่ตั้งอยู่บนการกระทำที่ผิดกฎหมาย (exinjuria ius non oritur)
เช่น อินโดนีเซียไม่สามารถใช้กำลังทางทหารบุกรุกพื้นที่และประกาศอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนติมอร์ตะวันออกได้ แต่ว่าในกรณีพรมแดน หลักการที่รัฐต่างต้องเคารพคือ หากสิ่งใดที่คงอยู่จริงและคงอยู่มาเป็นระยะนานจะต้องถูกเปลี่ยนเป็นให้น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ (a state of things which aetually existed and has existed for a long tirne should be changed as little as possible) หรือ quieta non movere กล่าวอีกนัยหนึ่ง คือการยอมรับการคงอยู่และเป็นที่สิ้นสุดของพรมแดน (continuity and finality)
ดังเช่น ในกรณีปราสาทพระวิหาร ประเทศไทยไม่สามารถกลับมาเรียกร้องหรือเปลี่ยนท่าทีในสิ่งที่ตนเองเคยยอมรับหรือนิ่งเฉยได้ ในคำตัดสินเมื่อปี 1962 Sir Fitzmaurice กล่าวไว้ว่า "it (estoppel) might prevent what in fact be true" (กฎหมายปิดปากอาจทำให้สิ่งที่ถูกต้องไร้ผล)
ซึ่งตรงนี้ไม่ควรมองว่ากฎหมายปิดปากนำไปสู่การกลับผิดเป็นถูก หากแต่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการกระทำโดยสุจริต (good faith) รัฐไม่สามารถเปลี่ยนจุดยืนจากอย่างหนึ่งเป็นอย่างหนึ่งได้ เมื่อมีการยอมรับทั้งโดยตรงและยอมรับจากการเพิกเฉย หลักการคงอยู่และเป็นที่สิ้นสุดป้องกันข้อขัดแย้งระหว่างประเทศที่รัฐอาจอ้างมูลเหตุต่างๆ เพื่อเปลี่ยนแปลงเส้นเขตแดนจนนำไปสู่การใช้กำลังหรือสงครามในที่สุด
ปราสาทพระวิหารจึงอยู่ภายใต้อธิปไตยของกัมพูชาตามเหตุผลที่อธิบายในข้างต้น ไม่ใช่ตามที่มีผู้กล่าวอ้างว่า เขานั้นมีปราสาทหินจากยุคอาณาจักรเขมร
และเมื่อฝ่ายไทยแสดงความยินยอมให้ศาลโลกตัดสิน คำตัดสินจึงมีผลผูกพันตาม Article 60 และ 61 ใน International Court of Justice Statute ที่ว่าคำตัดสินของศาลถือเป็นที่สิ้นสุดและไม่มีการอุทธรณ์
แต่ประเทศสมาชิกอาจยื่นขอให้มีการทบทวนคำตัดสินได้ภายใน 10 ปี หากพบข้อมูลหรือพฤติการณ์ใหม่ซึ่งทั้งประเทศคู่กรณีและศาลไม่ทราบมาก่อน
พื้นที่ทับซ้อนซึ่งอยู่นอกเหนือตัวปราสาท
ในกรณีข้อพิพาท Gulf of Main ระหว่างสหรัฐอเมริกาและแคนาดา คำตัดสินของศาลระบุว่า การตกลงหรือเจรจาใดๆ ของเจ้าหน้าที่ระดับล่างไม่สามารถอ้างเป็นมูลเหตุอันนำไปสู่การได้มาซึ่งดินแดน แต่หากเป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงจะมีผลผูกพันต่อรัฐ ดังเช่นในข้อพิพาท Eastern Greenland ระหว่างประเทศนอร์เวย์และเดนมาร์ก แม้ศาลจะไม่ได้รับว่าคำประกาศ Ihlen Declaration ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของนอร์เวย์ยืนยันอธิปไตยของเดนมาร์กเหนือกรีนแลนด์ แต่ก็ถือเป็นการแสดงเจตจำนงของทางฝ่ายนอร์เวย์ที่จะไม่อ้างสิทธิเหนือดินแดนดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม การลงนามในแถลงการณ์ร่วมระหว่างไทยกัมพูชาจะเป็น risks of prejudice ที่จะทำให้ประเทศไทยเสียดินแดนหรือไม่จะต้องดุที่เจตนาด้วย
ตัวอย่างเช่น ในกรณีข้อพิพาทระหว่างประเทศเบอคินาฟาโซและมาลี คำประกาศของผู้นำประเทศมาลีเกี่ยวกับการกำหนดเขตแดนไม่ถือว่ามีผลทางกฎหมาย เพราะคำประกาศดังกล่าวอยู่ในบริบทของการเจรจาทางการทูต อันเป็นไปเพื่อสร้างความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศโดยไม่หวังสร้างข้อผูกพันทางกฎหมาย
อีกประเด็นหนึ่งคือ เส้นพรมแดนมีอยู่ 2 ประเภท ได้แก่ เส้นที่เป็นเขตแดนระหว่างประเทศตามกฎหมาย (de jure line) และเส้นปฏิบัติการ (de faeto line) ซึ่งพัฒนาขึ้นเพื่อความสะดวกในการจัดการทางการเมืองและเศรษฐกิจเท่านั้น หากมีความชัดเจนว่าข้อตกลงและแผนที่หมายถึงเส้นปฏิบัติการก็จะไม่มีผลต่อเขตแดนและการสูยเสียดินแดน
ซึ่งหากเป็นไปดังนี้ ฝ่ายไทยอาจป้องกันตนเองจากการถูกกฎหมายปิดปากด้วยการสื่อสารให้ฝ่ายกัมพูชารับรู้ในเจตนาดังกล่าว อันแสดงถึงการไม่ยอมรับว่าแถลงการณ์ร่วมมีผลต่อการกำหนดเขตแดน
อนึ่ง การประท้วงใดๆ ที่จะมีผลในทางกฎหมายระหว่างประเทศเกี่ยวกับพรมแดนจะต้องกระทำโดยผู้แทนระดับสูงของรัฐซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบต่อกรณีนั้นๆ
การประท้วงที่มาจากบุคคลธรรมดา เจ้าหน้าที่ระดับล่างที่ไม่ได้กระทำในนามของรัฐจะไม่มีน้ำหนักในแง่กฎหมายดังที่ปรากฏในคำตัดสินข้อพิพาท Alaskan Boundary Dispute ระหว่างประเทศอังกฤษและสหรัฐอเมริกา
ยิ่งไปกว่านั้นหากมีสนธิสัญญาระหว่างประเทศขึ้นแล้ว รัฐจำต้องยินยอมดำเนินการตามข้อผูกพันระหว่างประเทศนั้น และไม่สามารถอ้างกฎหมายภายในเพื่อจะไม่ปฏิบัติตามสนธิสัญญาระหว่างประเทศได้ดังที่ระบุไว้ Article 27 ของ Vienna Convention on the Law of Treaties ที่ไทยเป็นประเทศสมาชิกและมีสถานะเป็นกฎหมายจารีตระหว่างประเทศ
ในบทกลอน Manding Wall กวี Robert Frost ได้กล่าวไว้ว่า "Good Fences Make Good Neighbors" (รั้วที่ดีสร้างเพื่อนบ้านที่ดี) ดังนั้น ในยามที่ไม่มีรั้วหรือรั้วได้รับการสร้างขึ้นมาอย่างไม่ระมัดระวัง ท้ายที่สุดอาจต้องจบลงด้วยความขัดแย้งและความสูญเสียที่ตามมา

by Matichon


อัพเดทล่าสุด