ข่าวทั่วไป ที่น่าสนใจ กรรมการสิทธิฯ จี้รัฐบาลนำเอฟทีเออาเซียน-ญี่ปุ่นเข้าสภา ตาม ม.190


632 ผู้ชม


ข่าวทั่วไป ที่น่าสนใจ
กรรมการสิทธิฯ จี้รัฐบาลนำเอฟทีเออาเซียน-ญี่ปุ่นเข้าสภา ตาม ม.190

จันทร์ ที่ 28 เดือน เมษายน พ.ศ.2551
 

24 มิ.ย.51  คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ออกแถลงการณ์เกี่ยวกับการลงนามความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่น (เอฟทีเออาเซียน-ญี่ปุ่น) ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นผู้ลงนามความตกลงนี้เมื่อ 11 เม.ย.ที่ผ่านมา

 

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติระบุว่า แม้ว่าโดยสาระส่วนใหญ่ของความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่น จะไม่ได้มีผลกระทบต่อประเทศไทยมาก เนื่องจากประเทศไทยได้ลงนามความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) ไปก่อนหน้านี้แล้ว แต่ประเด็นสำคัญที่ต้องพิจารณาในขณะนี้ คือ การดำเนินการความตกลงนี้เป็นไปตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญโดยเฉพาะมาตรา 190 หรือไม่ ในประเด็นต่างๆ ดังนี้

 

(1) รัฐบาลจะมีกระบวนการดำเนินงานในขั้นตอนต่อไปอย่างไรภายหลังการลงนามเมื่อวันที่ 11 เมษายน เพื่อให้เป็นไปตามบทบัญญัติของมาตรา 190 วรรคสอง ทั้งนี้ ตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ รัฐบาลต้องส่งเรื่องให้รัฐสภาเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบก่อนที่จะมีผลผูกพัน

 

(2) การเปิดเผยความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่นที่ได้ลงนามไปแล้วทั้งฉบับต่อสาธารณชนตามที่กำหนดไว้ในมาตรา ๑๙๐ วรรคสี่ ซึ่งนับตั้งแต่ที่มีการลงนามไปเมื่อวันที่ 11 เมษายน จนถึงบัดนี้ รัฐบาลยังไม่ได้มีการเปิดเผยความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่นแต่อย่างใด

 

นอกจากนี้ แถลงการณ์ยังระบุว่า ภายในสัปดาห์นี้ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจะได้มีหนังสือด่วนไปถึงนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เพื่อขอคำชี้แจงเกี่ยวกับความชัดเจนในประเด็นดังกล่าว สำหรับในกรณีนี้ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมีความเห็นว่า สิ่งที่รัฐบาลพึงดำเนินการโดยเร็วเพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์และบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ คือ

 

(1) การเปิดเผยความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่นที่ได้ลงนามไปแล้วต่อสาธารณชน อันจะเป็นประโยชน์ต่อการที่ทุกฝ่ายจะได้มีโอกาสพิจารณาและให้ความเห็นต่อเนื้อหาสาระของความตกลงอย่างรอบคอบก่อนที่รัฐสภาจะพิจารณาในขั้นต่อไป

 

(2) การประกาศถึงความชัดเจนในการนำ เรื่องความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่น เสนอต่อรัฐสภาเพื่อขอความเห็นชอบตามมาตรา 190 วรรคสอง

 

(3) ให้มีการจัดทำกฎหมายการเจรจาความตกลงระหว่างประเทศรองรับมาตรา 190 โดยกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน และให้เปิดเผยร่างกฎหมายการเจรจาความตกลง ระหว่างประเทศที่กระทรวงการต่างประเทศได้เสนอผ่านความเห็นชอบคณะรัฐมนตรีไปแล้ว และขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา

 

สำหรับเรื่องปัญหาการแก้ไขรัฐธรรมนูญซึ่งกำลังเป็นประเด็นทางการเมืองที่มีข้อถกเถียงจากหลายฝ่ายอยู่ในขณะนี้ คณะกรรมการสิทธิฯ เห็นว่า มาตรา 190 นั้นเป็นมาตราที่แก้ไขเพิ่มเติมมาจากมาตรา 224 ในรัฐธรรมนูญ 2540 หลักการสำคัญในมาตรา 190 คือ การสร้างกระบวนการและกลไกในการรับมือกับ โลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจให้เกิดความรอบคอบ มีธรรมาภิบาลมากขึ้น จึงมีความเหมาะสมสอดคล้องกับสภาพการณ์ทางเศรษฐกิจและการเมืองระหว่างประเทศมากกว่าบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ 2540 โดยเปรียบเทียบ

 

นอกจากนี้ ภายหลังรัฐธรรมนูญ 2550 มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2550 ได้มีการปฏิบัติตามมาตรา 190 ไปแล้วในหลายกรณี เช่น การเสนอกรอบเจรจาความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน-สหภาพยุโรป ต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2551 เพื่อขอความเห็นชอบก่อนการเจรจา ซึ่งแสดงให้เห็นว่า รัฐบาลสามารถปฏิบัติตามข้อกำหนดในรัฐธรรมนูญได้โดยยังมิได้พบปัญหาในการดำเนินการใดๆ ที่จำเป็นต้องแก้ไข อย่างไรก็ตาม หากจะมีการปรับปรุงแก้ไขมาตรา 190 ต้องเป็นไปเพื่อทำ ให้กระบวนการเจรจาและจัดทำความตกลงระหว่างประเทศมีธรรมาภิบาลมากขึ้น มิใช่การปรับแก้เพื่อย้อนกลับไปใช้กระบวนการเจรจาและตัดสินใจแบบปิดลับ ซ่อนเร้น อยู่ในวงจำกัดของเจ้าหน้าที่รัฐและฝ่ายรัฐบาลเหมือนดังเช่นที่เกิดเป็นปัญหาในกรณีเอฟทีเอไทย-ออสเตรเลีย หรือเอฟทีเอไทย-ญี่ปุ่น

โดย : ประชาไท  


อัพเดทล่าสุด