ข่าวกฎหมาย สำนักข่าวประชาธรรม : มองให้รอบก่อนตัดตอนรัฐธรรมนูญ ม. 190


632 ผู้ชม


ข่าวกฎหมาย
สำนักข่าวประชาธรรม : มองให้รอบก่อนตัดตอนรัฐธรรมนูญ ม. 190

อังคาร ที่ 8 เดือน เมษายน พ.ศ.2551
 
ธีรมล บัวงาม

สำนักข่าวประชาธรรม

 

 

 

กรณีที่วิปรัฐบาลเริ่มกระบวนการ “ตัดตอน - โล๊ะทิ้ง” รัฐธรรมนูญ 2550 จำนวน 5 มาตรา โดยหนึ่งในรายการที่ต้องมีการแก้ไข คือ มาตรา 190 ว่าด้วยทางด้วยหนังสือสัญญา หรือความตกลงระหว่างประเทศ ที่มุ่งหวังให้กระบวนการเจรจาจัดทำความตกลงระหว่างประเทศของไทยอยู่บนพื้นฐานการมีส่วนร่วมของประชาชน มีความโปร่งใส มีการถ่วงดุลการตัดสินใจระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหารและภาคประชาชน คำนึงถึงผลกระทบอย่างรอบด้านทั้งในเชิงเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม โดยประเด็นสำคัญที่สุดคือ กระบวนการทุกขั้นตอนของการเจรจาต้องเปิดเผย โปร่งใส และต้องผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาทั้งสิ้น ต่างไปจากการเจรจาทำความตกลงระหว่างประเทศที่ผ่านมาในอดีตที่ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของคณะเจรจาและรัฐบาล “สุมหัว” ดำเนินการกันเอง


ทั้งนี้ คำอธิบายที่ถูกชี้แจงผ่านนายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และรองประธานวิปรัฐบาล อ้างว่า “การทำสนธิสัญญาใดๆ ก็เหมือนเดิม ถ้ามีผลในเรื่องสำคัญต้องขอความเห็นชอบจากรัฐสภาก่อน เมื่อขอความเห็นชอบแล้วกฎหมายรัฐธรรมนูญเดิมบอกว่า ต้องเปิดเผยหลักการสาระบางสิ่งบางอย่างของการไปตกลงเจรจาให้ไปรับฟังความคิดเห็นต่างๆ ซึ่งข้อความตรงนี้จะทำให้รัฐหรือประเทศทำอะไรลำบาก และอาจจะเสียเปรียบต่างประเทศ เขาก็จะรู้ล่วงหน้าว่าเราจะเจรจากับเขาอย่างไร แต่ยังคงหลักการเดิมไว้ว่า ถ้าสัญญาต่างๆ ทำให้ประชาชนเสียหาย เสียเปรียบ หรือได้รับความเดือดร้อน รัฐก็ต้องแก้ไขเยียวยาโดยไม่ทิ้งหลักการนี้”


เนื้อความดังกล่าวสอดประสานกลมกลืนกับสิ่งที่ข้าราชการ ผู้แทนคณะเจรจา และกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ นักธุรกิจบางราย พร่ำบอกมาทุกยุคทุกสมัยว่า มาตรา 190 จะเป็นอุปสรรคทางการค้าการเจรจาระหว่างประเทศ


จนกระทั่งถูกนำมาย้ำอีกที เมื่อนายฉัตรชัย เลื่อมประเสริฐ ผอ.สำนักบริหารกลาง กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ และนายรัชวิชญ์ ปิยะปราโมชย์ นักวิชาการพาณิชย์  ผู้แทนอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ได้ร่วมกันชี้แจงระหว่างการบรรยายในหัวข้อ “ความคิดเห็นเกี่ยวกับการจัดทำข้อตกลงเขตการค้าเสรี (Free Trade Area – FTA) ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2550” ณ สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ


ทางกรมมีความกังวลในการจัดทำเอฟทีเอในอนาคต โดยตัวกฎหมายลูกจะต้องมีความสมดุลระหว่างการเปิดเผย ความโปร่งใสกับการรักษาความลับกับท่าทีการเจรจา เพื่อให้การเจรจารักษาผลประโยชน์สูงสุดของประเทศได้ นอกจากนั้นในประเด็นการสร้างความน่าเชื่อให้กับฝ่ายรัฐบาล และผู้แทนเจรจา ถ้าหากมีการกำหนดว่าเมื่อสรุปผลการเจรจาแล้วนำมาเสนอรัฐสภา ถ้ากำหนดให้รัฐสภามีอำนาจแก้ไขผลการเจรจาที่สรุปได้ ความน่าเชื่อถือของฝ่ายบริหาร และผู้เจรจาจะหมดไป และจะไม่มีใครมาเจรจากับไทย”


อย่างไรก็ตาม หากได้ติดตามปรากฏการณ์ ทั้งในมิติเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม วิถีการผลิต วิถีชีวิตของผู้คนอันเนื่องมาจากผลกระทบของทำเอฟทีเอกับประเทศต่างๆ รวมถึงความเคลื่อนไหว และข้อเรียกร้องจากสังคมที่ผ่านมา ไม่มีใครต้องการให้ไทยปิดประเทศ ไม่เปิดเจรจาการค้าเสรีกับนานาประเทศ หากแต่ต้องการกระบวนการเจรจาที่เปิดเผย โปร่งใส และมีส่วนร่วม ตามครรลองแห่งระบอบประชาธิปไตย จนนำไปสู่การบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ 2550 ในที่สุด


ดังเห็นได้ว่ามาตรา 190 ได้เพิ่มประเภทของหนังสือสัญญาหรือว่าความตกลงระหว่างประเทศ ที่จะต้องขอความเห็นชอบจากรัฐสภาถ้าจะทำเพิ่มเติมจากรัฐธรรมนูญ 2540 ดังนี้ ประเด็นแรก คือ หนังสือสัญญาเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทยหรือว่าพื้นที่ ก็เป็นเรื่องที่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญฉบับเดิม ประเภทที่สอง คือหนังสือสัญญาที่มีการเปลี่ยนแปลงเขตพื้นที่นอกอาณาเขตซึ่งประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตย หรือมีเขตอำนาจตามหนังสือสัญญา หรือตามกฎหมายระหว่างประเทศ ประเภทที่สามคือ หนังสือสัญญาประเภทที่ต้องออกพระราชบัญญัติมารองรับ ในส่วนนี้เป็นเหมือนกับรัฐธรรมนูญฉบับเดิม (มาตรา 224) ประเภทที่สี่เป็นหนังสือสัญญาประเทศใหม่ คือหนังสือสัญญาที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือสังคมของประเทศอย่างกว้างขวาง ประเภทที่ห้า ต้องขอความเห็นชอบต่อรัฐสภาด้วยถ้าต้องทำ คือหนังสือที่มีผลผูกพันด้านการค้าการลงทุนหรืองบประมาณของประเทศอย่างมีนัยยะสำคัญ หนังสือสัญญาทั้ง 5 ประเภทนี้ รัฐธรรมนูญฯ ฉบับปัจจุบันกำหนดว่าถ้ารัฐบาลจะทำกับต่างประเทศก็จะต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาก่อนที่จะให้สัตยาบันเพื่อผูกพันประเทศไทย


นายฉัตรชัย เลื่อมประเสริฐ ผอ.สำนักบริหารกลาง กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศรัฐธรรมนูญฯ ขยายความว่า มาตรา 190 นอกจากจะกำหนดเพิ่มประเภทของหนังสือสัญญาที่จะต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาก่อนที่จะให้สัตยาบันผูกพันประเทศไทยแล้ว ก็ยังกำหนดขั้นตอนต่างๆ ไว้ในการเจรจาจัดทำความตกลงก็คือมีการกำหนดขั้นตอนตั้งแต่เริ่มต้นก่อนที่จะมีการเจรจาขั้นตอนระหว่างการเจรจาและขั้นตอนเมื่อสามารถที่จะสรุปผลการเจรจาแล้ว ก่อนที่จะไปให้สัตยาบันผูกพันก็จะต้องดำเนินการตามขั้นตอนที่รัฐธรรมนูญกำหนดก่อน นอกจากนี้เมื่อให้สัตยาบันผูกพันไปแล้ว ถ้าการดำเนินการตามหนังสือสัญญาที่ประเทศไทยไปทำกับต่างประเทศส่งผลกระทบกับประชาชน รัฐบาลก็จะต้องมีมาตรการเยียวยาออกมา รองรับด้วย


ขั้นตอนก่อนที่จะเริ่มเจรจารัฐธรรมนูญฯ มาตรา 190 ได้กำหนดว่า ฝ่ายรัฐบาลหรือว่าคณะรัฐมนตรีก็จะต้องดำเนินการ คือ จะต้องให้ข้อมูลและจัดให้มีการรับฟังข้อคิดเห็นของประชาชนก่อนที่จะเริ่มการเจรจา และคณะรัฐมนตรีก็จะต้องจัดทำเอกสารที่เป็นกรอบการเจรจาเสนอต่อรัฐสภาเพื่อขอความเห็นชอบ เมื่อเสนอให้รัฐสภาเพื่อขอความเห็นชอบ เมื่อรัฐสภาให้ความเห็นชอบแล้ว ก็จะสามารถเริ่มต้นการเจรจาได้ เมื่อสรุปผลการเจรจาได้แล้วรัฐบาลนำผลการเจรจาที่สรุปผลแล้วเสนอต่อรัฐสภา รัฐสภาก็อาจจะพิจารณาให้ความเห็นชอบ ฝ่ายบริหารก็สามารถที่จะดำเนินการต่อ คือการแสดงเจตนาผูกพัน ในการให้สัตยาบันความตกลงกับประเทศเจรจา เมื่อให้สัตยาบันแล้ว ประเทศไทยก็จะมีพันธกรณีที่จะต้องดำเนินการตามข้อตกลงที่ไปตกลงไว้


โดยสรุป มาตรา 190  ได้กำหนดกติกาและกระบวนการเจรจาความตกลงระหว่างประเทศของไทยไว้รัดกุมขึ้น ในมาตรา 190 วรรคสอง กำหนดให้มีการขยายบทบาทของรัฐสภาเพื่อให้สามารถตรวจสอบและถ่วงดุลฝ่ายบริหารได้มากขึ้น มาตรา 190 วรรคสามเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น ซึ่งจะเป็นผลดีต่อประชาชนและผู้เกี่ยวข้องในทุกภาคส่วน เนื่องจากสามารถเสนอความเห็นให้แก่ภาครัฐได้ก่อนที่ตัวแทนภาครัฐจะดำเนินการทำหนังสือสัญญา ทำให้ภาครัฐมีโอกาสรับทราบข้อเท็จจริงมากขึ้นสามารถเข้าใจถึงปัญหา คัดเลือก กลั่นกรอง และสรุปประเด็นต่างๆ ทั้งด้านบวกและด้านลบเพื่อนำไปกำหนดกรอบในการเจรจาเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศ และเป็นข้อมูลให้กับผู้แทนการค้าของไทยในการเจรจา


มาตรา 190 วรรคสี่ ของรัฐธรรมนูญ เปิดโอกาสให้ประชาชน และผู้เกี่ยวข้องในทุกภาคส่วนเข้าถึงรายละเอียดของหนังสือสัญญาได้ก่อนที่สัญญานั้นๆ จะมีผลผูกพัน ซึ่งจะเกิดประโยชน์มากกว่านี้หากประชาชนสามารถเข้าถึงรายละเอียดของหนังสือสัญญาได้ก่อนการลงนาม  เพราะปกติแล้วการลงนามในเรื่องการเจรจาความตกลงทางการค้ากับประเทศใดๆ ก็ตามจะต้องมีทั้งผู้ที่ได้ประโยชน์และเสียประโยชน์  หากสัญญาก่อให้เกิดผลกระทบในทางลบผู้ที่เสียประโยชน์จะสามารถปรับตัวหรือหาทางแก้ไขได้ทันท่วงที ทั้งนี้ในวรรคสี่ของมาตรา 190 ยังได้กำหนดให้มีการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบอย่างรวดเร็ว เหมาะสม และเป็นธรรม ซึ่งจะก่อให้เกิดผลดีแก่ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก


จึงอาจกล่าวได้ว่าเดิมมาตรา 190 ในรัฐธรรมนูญ 2550 คือ กลไก และหลักประกันในการสร้างเป็นธรรมให้เกิดขึ้นกับทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล คณะผู้แทนเจรจาการค้าระหว่างประเทศ รวมถึงประชาชนกลุ่มต่างๆ แต่ความคิดในการตัด “ข้อรำคาญในการเจรจาการค้า” ด้วยการลบหลักการของการเปิดเผย และการมีส่วนร่วมของประชาชนออกไป ได้ทำให้มาตรา 190 เปลี่ยนเป็นตัวชี้วัดว่ากลุ่มบุคคลที่อ้างตนเป็นตัวแทนประชาชนนั้นได้ทำหน้าที่อย่างเหมาะสมถูกต้องหรือไม่ ที่สำคัญคือบทพิสูจน์ว่ารัฐบาลนี้จะเลือกระหว่าง “ความช้าแต่ชัวร์” หรือ “ความเร็วที่ชั่วร้าย” กันแน่.

โดย : ประชาไท  


อัพเดทล่าสุด