ข่าวกฎหมาย แก้รัฐธรรมนูญ 1..2..3?4


812 ผู้ชม


ข่าวกฎหมาย
แก้รัฐธรรมนูญ 1..2..3?4

อังคาร ที่ 8 เดือน เมษายน พ.ศ.2551
 

ชูวัส ฤกษ์ศิริสุข

 

การแก้ไขรัฐธรรมนูญ กลายเป็นเกมการเมืองไปจนได้ ฝ่ายหนึ่งยืนหยัดหลักการบนฐานคติที่เชื่อมั่นว่า พรรคการเมืองของตนเองมาจากการเลือกตั้ง และผลประโยชน์ของพรรคการเมืองคือผลประโยชน์ของประชาชน การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่จะมีผลให้ไม่เกิดการยุบพรรคการเมืองจึงเป็นเรื่องประโยชน์ของประชาชนด้วย

ขณะที่อีกฝ่ายแยกผลประโยชน์ของ ส.ส. และพรรคการเมืองออกจากประโยชน์ของประชาชนที่จะได้รับจากนโยบายและการดำเนินกิจกรรมของพรรค และจำกัดมันไว้ว่าเป็นประโยชน์ของนักการเมืองเท่านั้น เมื่อบวกกับอคติที่ว่านักการเมืองนั้นเลว การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่แม้จะส่งผลต่อประชาธิปไตยเพียงใด แต่หากเป็นไปเพื่อให้กรรมการบริหารพรรคบางคนทุจริตการเลือกตั้งที่มีโทษรุนแรงถึงกับยุบพรรคก็กลายเป็นเรื่องที่น่ารังเกียจ ยอมรับไม่ได้

พูดจาประสา ศ.นพ.ประเวศ วะสี (ที่ท่านไม่ได้พูดไว้ในกรณีนี้อย่างนี้หรอก แต่เคยพูดในกรณีอื่นๆ) ก็อาจจะเรียกได้ว่า นี่เป็นวิกฤติที่เกิดจากไก่ในเข่งตีกัน อันเนื่องมาจากรัฐธรรมนูญที่กำหนดโครงสร้างการเมืองบกพร่อง ไม่ได้ยืนอยู่บนฐานวิชาการ หลักนิติธรรม และหลักอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย ที่แม้แต่คุณธรรมความดีในทัศนะของคนบางชนชั้นที่สร้างกระแสผ่านสื่อก็ละเมิดไม่ได้

แต่เราจะทำอย่างไรที่จะออกจากการเผชิญหน้ารอบใหม่จากขั้วอำนาจเดิมๆ ผมคิดว่าในกรณีที่อาจจะนำไปสู่วิกฤติ นี้ เราจำเป็นต้องกลับไปหามติมหาชนอีกครั้ง

แม้รัฐบาลจะแสดงออกถึงความห่วงใยเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายที่จะต้องใช้กับการทำประชามติซึ่งคาดว่าจะมากถึง 2,000 ล้านบาท แต่เงินจำนวนนี้อาจจะไม่มากไปเลยหากมันนำมาซึ่งฐานประชาธิปไตยอันแน่นหนา และหากว่ามันแก้ไขความขัดแย้งได้  

2,000 ล้านบาทเราจะใช้มันเพื่อรณรงค์และให้การศึกษาประชาธิปไตยร่วมกัน (ร่วมกันหมายความ ประชาชนรากหญ้าก็ต้องให้การศึกษาปัญญาชนและผู้ใหญ่ในบ้านเมืองด้วย) ข้อดีข้อเสียของรัฐธรรมนูญ 2550 ตั้งแต่ที่มา กระบวนการได้มา และกระบวนการผ่านและให้ความเห็นชอบ จะถูกนำมาวิพากษ์วิจารณ์ ซึ่งจะส่งผลปลายทางที่จะนำมาซึ่งความแข็งแรงของระบอบรัฐธรรมนูญ

ในทางเศรษฐกิจ จะห่วงไปใยกับเงิน 2,000 ล้านบาท เมื่อมันเป็นเงินที่จะหมุนไปอีกหลายรอบ เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายให้กับประชาชนซึ่งเป็นนโยบายของรัฐบาลอยู่แล้ว

ทั้งนี้กระบวนการประชามติจะต้องเป็นไปอย่างโปร่งใส เป็นธรรม และเปิดโอกาสให้กับทุกภาคส่วนทำการรณรงค์อย่างเท่าเทียมกัน เพราะประชาธิปไตยไม่ใช่ของพรรคการเมืองในรัฐบาล เช่นเดียวกับที่ไม่ใช่ของประเวศ วะสี อานันทร์ ปันยารชุน ธีรยุทธ บุญมี พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย นักวิชาการบางกลุ่มบางเหล่าแต่เพียงเท่านั้น

แต่อะไรล่ะที่ควรจะเป็นโจทย์เพื่อขอประชามติ

รัฐธรรมนูญ 2550 เป็นรัฐธรรมนูญที่มีปัญหาอย่างไม่ต้องสงสัย นอกเหนือจากที่มาที่มีปัญหา องค์ประกอบของคณะยกร่างก็มีปัญหา โจทย์ที่ตั้งเพื่อใช้ในการร่างรัฐธรรมนูญก็มีปัญหา เพราะตั้งขึ้นเพื่ออุทิศความศํกดิ์สิทธิ์ของรัฐธรรมนูญ กติกาการอยู่นร่วมกันของคนทั้งสังคม ครอบคลุมทุกองคาพยพทุกมิติให้กับการป้องกันคนๆ เดียว คือ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ฐานคิดของมันแย่เสียยิ่งกว่าสมัยที่รัฐไทยกลัวภัยคุกคามจากลัทธิคอมมิวนิสต์เสียอีก

กระบวนการออกแบบรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ยังไม่ได้คิดแบบสอดคล้องต้องกัน สิทธิเสรีภาพของประชาชนขาดกลไกการสร้างหลักประกัน และทำได้อย่างมากก็ลอยหน้าลอยตาอยู่ในกระดาษ

ประสิทธิภาพในการบริหารงานรัฐจงใจถูกทำให้อ่อนเปลี้ยเพลียแรงอย่างไม่น่าเชื่อ พูดกันตามตรง รัฐธรรมนูญฉบับนี้ทำให้รัฐไทยทำได้แค่เดินหน้าไปกับทุนนิยมสุดโต่ง เพราะมีกลไกระบบราชการหนุนและคิดอย่างนั้นอยู่แล้ว ครั้นจะทำให้มีประสิทธิภาพขึ้นและทำให้ประโยชน์ตกอยู่กับประชาชนผู้เลือกตัวแทนมาเป็นรัฐบาลก็ทำไม่ได้ ยกตัวอย่าง เช่น หากโครงการแบบ สุขภาพถ้วนหน้าจะเกิดขึ้นในยุคนี้จะทำได้หรือไม่ ผมเชื่อว่า ไม่มีทาง เพราะรัฐบาลไม่กล้าที่จะยืนหยัดกับพลังอนุรักษ์นิยมและข้าราชการที่จะต้องยุ่งยากมากขึ้น งานหนักขึ้น และต้องแบกรับภาระความรับผิดชอบที่เพิ่มขึ้น

ที่สำคัญหลักเรื่องการตรวจสอบถ่วงดุล ซึ่งเคยเป็นหนึ่งในสามหลักของรัฐธรรมนูญ 2540 ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงในรัฐธรรมนูญ 2550 และร้ายแรงถึงขั้นนำเอาอำนาจตุลาการเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมือง กระทั่งบางคนจะเรียกรัฐไทยว่าเป็นรัฐตุลาการเสียด้วยซ้ำ รัฐธรรมนูญ 2550 ทำราวกับว่า ตุลาการแต่ละท่านเป็นอรหันต์ เงินซื้อไม่ได้ และเป็นคนดี เป็นเปาบุ้นจิ้นได้ตลอดทุกยุคทุกสมัย

ตัวอย่างเกี่ยวกับเรื่องนี้มีมากมายในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งเกือบทุกกรณีนับตั้งแต่การทำให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ การตัดสินคดียุบพรรคไทยรักไทย ล้วนแต่เต็มไปด้วยข้อกังขาว่า ตุลาการไม่เป็นธรรม (แต่ถูกทำให้เงียบ) และการเลือกตั้งที่พรรคพลังประชาชนได้ชัยชนะอย่างท่วมท้นก็น่าจะเป็นสัญญาณที่บ่งชัดแล้ว เพราะไม่เพียงแต่ตบหน้าแนวร่วมรัฐประหารทั้งหลาย ยังตบหน้าอำนาจตุลาการด้วย

แต่การดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ผ่านมา ก็เป็นความห่วยแตกในงานการเมืองของพรรคการเมืองร่วมรัฐบาลที่ได้ขับเคลื่อนการแก้ไขรัฐธรรมนูญออกมาจากเจตจำนงด้วยกลัวว่าตัวเองจะถูกยุบพรรค กระนั้นพึงเข้าใจว่า หากไม่แก้ปมเรื่องการยุบพรรค ด้วยระยะเวลาที่มีอยู่ พรรคอาจจะต้องถูกยุบไปก่อนที่การแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับซึ่งกินเวลานานกว่าจะสำเร็จ

ทว่า ไม่มีวิกฤติไหนจะแก้ได้หากไม่ถอยคนละก้าว

ฝ่ายกลัวทักษิณพึงต้องคิด และลดค่าของทักษิณลงมา เลิกให้ความกลัวมาครอบงำ สิทธิ เสรีภาพ เศรษฐกิจ สังคมและการเมืองของประชาชนอีกต่อไป ไม่ว่าท่านจะเกลียดนักการเมืองขนาดไหน และเชื่อมั่นในคุณธรรมของตนเองเพียงใด

พึงต้องเชื่ออย่างจริงๆด้วยว่า นักการเมืองเหล่านี้จะอย่างไรได้ผ่านวิจารณญาณของผู้เลือกตั้งหลายหมื่นหลายแสนคนมาแล้ว ทั้งยังพิสูจน์จับต้องได้ การปรามาสด่าทอนักการเมืองเหล่านี้มากไป แม้ท่านจะเป็นข่าวในหน้าสื่อให้ท่านโด่งดังมีพลังต่อรอง แต่ประชาชนก็สะสมการรับรู้ว่า ท่านนั้นดูถูกประชาชนที่หย่อนบัตรเลือกนักการเมืองเหล่านี้เพิ่มขึ้นด้วย

ฝ่ายนักการเมืองในรัฐบาล รวมถึงฝ่ายรักทักษิณ ก็พึงต้องเข้าใจถึงเหตุและปัจจัยของความเกลียดที่เกิดขึ้น และคิดถึงอนาคตของการเมืองไทยมากกว่าอนาคตของท่านหรือพรรคการเมืองของท่าน

มีแต่การยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยใช้มาตรฐานเดิม ที่พอจะเป็นที่ยอมรับร่วมกันได้ นั่นคือมาตรการและกระบวนการที่เคยเกิดในการยกร่างรัฐธรรมนูญ 2540 มาใช้ ซึ่งหมายความในรูปธรรมว่า ต้องดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 เพียงหมวดเดียวหรือมาตราเดียว นั่นคือหมวดว่าด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยให้มีเนื้อหาคือ

หนึ่ง ให้มีคณะยกร่างมาจากการเลือกตั้งที่ปลอดพ้นจากอิทธิพลของนักการเมือง เพื่อดำเนินการยกร่างหรือแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ โดยต่อยอดจากรัฐธรรมนูญ 2540 และให้มีผู้เชี่ยวชาญด้านนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ ประวัติศาสตร์ จากทุกฝ่ายทุกขั้ว ทำหน้าที่ในการให้คำปรึกษา โดยยกร่างให้เสร็จสิ้นภายใน 180 วัน

สองให้กระบวนการยกร่างเป็นไปอย่างมีส่วนร่วมกว้างขวาง เอื้ออำนวยและเสริมโอกาสให้กับชนชั้นล่างที่เสียเปรียบทางสังคมเป็นพิเศษ

สาม ให้การใดๆ ในทางการเมืองที่จะเกิดขึ้นและมีผลกระทบต่อกระบวนการยกร่างหรือในระหว่างการยกร่างกระทำไม่ได้ อาทิ การยุบสภา การยุบพรรค แต่มิให้รวมถึงคดีอาญา เพื่อให้การยกร่างเป็นไปได้อย่างต่อเนื่อง

สี่ให้ทำการประชามติเพื่อรับรองร่างรัฐธรรมนูญ

การแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 ในหมวดและในมาตราว่าด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ คือโจทย์ที่ควรจะนำไปขอประชามติของประชาชน

ย้ำอีกครั้งต้องเป็นประชามติที่มีกระบวนการถูกต้องเป็นธรรม ไม่หลอก ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจ เหตุผลทางการเมือง

เพื่อให้ทุกฝ่ายยอมรับ และก้าวพ้นจากวิกฤติที่เกิดขึ้น

โดย : ประชาไท  

อัพเดทล่าสุด