ข่าวกฎหมาย เมื่อโจรแก้กฎหมายให้ตัวเองพ้นผิด


721 ผู้ชม


ข่าวกฎหมาย
เมื่อโจรแก้กฎหมายให้ตัวเองพ้นผิด

เสาร์ ที่ 5 เดือน เมษายน พ.ศ.2551
 

 ความจริงแล้วสัปดาห์นี้ ผมควรจะพูดถึง ดร.เป็ดเหลิม เพื่อชี้ให้เห็นว่า คนที่ชอบคุยว่า รู้เรื่องรัฐธรรมนูญดีที่สุดนั้น พูดหรือทำเรื่องไหนบ้างที่ขัดกับบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ หรือเข้าใจเนื้อหาและสารัตถะของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ดีแค่ไหน
       
       พูดง่ายๆ ก็คือ ตรวจข้อสอบวิชารัฐธรรมนูญของ ดร.เป็ดเหลิม
       
       เช่น เป็ดเหลิม ถามว่า ขณะนี้ไม่รู้ว่า พันธมิตรฯ เคลื่อนไหวในฐานะอะไร ก็แสดงว่า เป็ดเหลิมไม่เข้าใจรัฐธรรมนูญ มาตรา 64 บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการรวมกันเป็นสมาคม สหภาพ สหพันธ์ สหกรณ์กลุ่มเกษตรกร องค์การเอกชน องค์การพัฒนาเอกชน หรือหมู่คณะอื่น
       
       และ มาตรา 63 บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธการจำกัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่งจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เฉพาะในกรณีการชุมนุมสาธารณะ และเพื่อคุ้มครองความสะดวกของประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะ หรือเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยในระหว่างเวลาที่ประเทศอยู่ในภาวะสงครามหรือในระหว่างเวลาที่มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินหรือประกาศใช้กฎอัยการศึก
       
       คะแนนวิชารัฐธรรมนูญข้อนี้ของ ดร.เป็ดเหลิม ดุษฎีบัณฑิตทางด้านกฎหมายจึงเป็นศูนย์ เป็นต้น
       
       แต่ผมต้องเก็บการตรวจข้อสอบรัฐธรรมนูญของเป็ดเหลิมไว้ก่อน เพราะขณะนี้พรรคพลังประชาชนกำลังเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อประโยชน์ของตัวเอง ซึ่งรับประกันซ่อมฟรีว่า พรรคร่วมรัฐบาลนำญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้าสู่สภาเมื่อไหร่ ก็ให้จองเมรุได้เลย และไม่ใช่สอบตกแค่คนเดียวอย่าง ดร.เป็ดเหลิม แต่จะถูกไล่ออกจากห้องสอบทั้งคณะ
       
       เพราะเป็นที่ประจักษ์แล้วว่า เป้าหมายสำคัญของการแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐบาลก็คือ การแก้ไขมาตรา 237 เพื่อหนีคดียุบพรรค และแก้ไขมาตรา 309 เพื่อให้คำสั่งของ คมช.เป็นโมฆะ และส่งให้คตส.ที่กำลังตรวจสอบการทุจริตของรัฐบาลทักษิณต้องล้มเลิกไป และทำให้อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยทั้ง 111 คน ใช้เป็นช่องทางในการกลับเข้าสู่การเมือง
       
       อย่างไรก็ตาม ผมเชื่อว่า การที่พรรคพลังประชาชนมีมติเร่งแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2 มาตรานี้ให้เสร็จเร็วที่สุด ไม่ใช่เหตุผลเรื่องการหนีคดียุบพรรคหรือมาตรา 237 เป็นหลัก เพราะคดีดังกล่าวยังต้องสู้กันอีกนาน และแม้ว่าจะถูกยุบพรรคจริงๆก็ไม่ใช่ปัญหาที่พรรคพลังประชาชนและเจ้าของพรรคตัวจริงต้องกังวล เพราะพรรคถูกยุบก็สามารถตั้งพรรคใหม่ได้ และสามารถจัดตั้งกรรมการบริหารชุด C เข้ามาเป็นกรรมการบริหารพรรคใหม่ได้ไม่ยาก เพียงแต่อาศัยมาตรา 237 มาเพื่อสร้างแนวร่วมในพรรคร่วมรัฐบาลที่กำลังประสบชะตากรรมเดียวกัน
       
       ดังนั้นจึงฟันธงได้เลยว่า การพยายามอ้างเสียงข้างมากลากไปครั้งนี้นั้น เป้าหมายสำคัญที่สุด คือ แก้ไขมาตรา 309 ล้มล้างคำสั่ง คมช.ทำให้การตรวจสอบคดีของทักษิณโดย คตส.ที่มาจากคำสั่งของ คมช.เป็นโมฆะ
       
       เพื่อช่วยทักษิณให้พ้นคุก
       
       เพราะทักษิณรู้แล้วว่า คดีความต่างๆที่จ่อคิวขึ้นศาลอยู่ และหลายคดีไม่มีทางสู้ในเชิงกฎหมายได้เลย นอกจากทางออกเดียว คือ การล้มกระดานเสีย และนำเงินที่ถูกแช่แข็งอยู่ที่คตส.ออกมาใช้ให้ได้โดยเร็ว เพราะแม้ว่าจะหาเงินจากช่องทางอื่นมาใช้ก่อนได้ ก็ไม่สะดวกเหมือนกับใช้เงินของตัวเอง
       
       นี่ต่างหากที่ทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ไม่ชอบธรรม และแม้ว่า แกนนำพรรคพลังประชาชนจะพยายามออกมาแก้เกมว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะเป็นการพิจารณาแก้ไขทั้งฉบับไม่ใช่การแก้ไขเฉพาะ 3-4 มาตราที่เป็นข่าว ไม่ใช่การแก้ไขเพื่อตัวเองหรือเพื่อหนีคดียุบพรรค แต่สังคมก็รู้ทันแล้วว่า ไม่ว่าจะเสนอแก้ไขมาตราไหนพ่วงมาด้วยหรือแก้ไขทั้งฉบับด้วยข้ออ้างว่า รัฐธรรมนูญมีที่มาจากเผด็จการ แต่เป้าหมายที่ต้องการให้บรรลุผลก็คือ การล้มกระบวนการตรวจสอบของ คตส.นั่นเอง
       
       ไม่มีใครปฏิเสธหรอกครับ ว่า รัฐธรรมนูญสามารถแก้ไขได้ ตามวาระ โอกาส และเหตุผลที่แตกต่างกันไป แต่ประเด็นก็คือ ว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นเพื่อผลประโยชน์ของประเทศชาติ ประชาชน หรือเหตุผลส่วนตัว รัฐธรรมนูญที่ผ่านประชามติมาจากคนในประเทศ 14 ล้านเสียง และเพิ่งใช้ไปไม่ถึงครึ่งปีนั้น ไม่มีเหตุผลอะไรเลยที่พรรครัฐบาลจะมาเร่งแก้ไขรัฐธรรมนูญในตอนนี้
       
       รัฐธรรมนูญแก้ไขได้แน่นอนครับ เพราะบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญก็เปิดช่องทางแก้ไขไว้หลายช่องทาง แต่ย่อมไม่ใช่เพราะเหตุผลว่า ตัวเองทำผิดกฎหมายแล้ว ก็แก้ไขกฎหมายเพื่อให้ตัวเองหลุดพ้นจากความรับผิด
       
       ไม่เช่นนั้นก็คงไม่ต่างอะไรกับที่สนธิ ลิ้มทองกุล พูดว่า โจรติดคุกเพราะแก้กฎหมายให้ตัวเองพ้นผิดไม่ได้
       
       เพราะหากเป็นเช่นนั้นแล้ว เราจะมีกฎหมายไว้ทำไม เพราะหลังจากทำลายหลักการป้องกันการใช้เงินเข้าสู่อำนาจของมาตรา 237 แล้ว เราก็สามารถใช้อำนาจที่ได้มาจากการซื้อเสียง แก้กฎหมายเพื่อล้มล้างความผิดของตัวเองได้อย่างง่ายดาย
       
       การที่พรรครัฐบาลอ้างเหตุผลที่จะต้องแก้ไขว่า เป็นเพราะรัฐธรรมนูญที่มีที่มาจากเผด็จการ หรืออ้างว่า มีคนไม่รับร่างรัฐธรรมนูญถึง 10 ล้านเสียงเป็นการเล่นลิ้นแบบศรีธนญชัย เพราะถ้า ผมจะอ้างว่า พรรคพลังประชาชนไม่มีความชอบธรรมที่จะเป็นรัฐบาลเพราะมีคนไม่เลือก 20 ล้านคน แต่มีคนเลือกแค่ 12 ล้านคนบ้างจะเป็นอย่างไร
       
       เป้าหมายที่ซ่อนเร้นอีกอย่างก็คือ ที่เพ็ญ จักรภพ อ้างว่า การที่ต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญก็เนื่องจากขณะนี้บางกลุ่มใช้ช่องว่างของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันเอื้อประโยชน์กับตนเองในการเคลื่อนไหวทางการเมือง
       
       ทั้งนี้ก็เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้ทำให้การเมืองภาคประชาชนเข้มแข็ง และทำให้รัฐบาลที่ฉ้อฉลอ่อนแอ
       
       รัฐธรรมนูญชุดนี้ทำให้รัฐบาลที่ลุแก่อำนาจจะต้องถูกตรวจสอบอย่างเข้มแข็งด้วยบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ จึงเป็นอันตรายสำหรับคนอย่างเพ็ญ จักรภพ หรือเป็ดเหลิม ซึ่งล้วนแล้วแต่กำลังใช้อำนาจอย่างเกินขอบเขต มุ่งเน้นอยู่ที่การล้างแค้นและกำจัดคู่แข่งทางการเมือง
       
       เราจึงเห็นว่า พรรคพลังประชาชนยังมีจุดมุ่งหมายในการใช้เสียงข้างมากลากไปเพื่อทำลายบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญที่ทำให้การเมืองภาคประชาชนเข้มแข็งออกไป
       
       นอกจากมาตรา 309 ที่เป็นเป้าจริง และมาตรา 237 ที่เป็นเป้าหลอกแล้ว พรรคพลังประชาชนยังมีเป้าที่ซ่อนเร้นก็คือ การแก้ไขมาตรา 163 วรรคหนึ่ง ที่กำหนดให้ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 1 หมื่นคน สามารถเสนอร่างพระราชบัญญัติต่อรัฐสภาได้ทุกประเภทโดยไม่มีข้อจำกัด จากเดิมที่ให้แก้ไขได้เฉพาะหมวด 3 และหมวด 5 คือ สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย และแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐเท่านั้น
       
       แล้วจะมีหลักประกันอะไรว่า หากมาตรานี้ถูกแก้ไขแล้ว จะไม่ถูกพรรคพลังประชาชนใช้เป็นช่องทางล่ารายชื่อเพียง 1 หมื่นชื่อ เพื่อออกพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมให้กับทักษิณหากไม่สามารถตัดตอนกระบวนการยุติธรรมให้ตัวเองพ้นผิดได้
       
       การออกมาเคลื่อนไหวของพันธมิตรและคณาจารย์นิติศาสตร์ เพื่อคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จึงเป็นด่านทดสอบจริยธรรมของคนในสังคม ว่า จะนิ่งเฉยยอมให้คนที่กระทำผิดแล้วแก้ไขกฎหมายเพื่อให้ตัวเองพ้นผิดหรือไม่

โดย สุรวิชช์ วีรวรรณ


อัพเดทล่าสุด