นายจุฑาธวัช อินทรสุขศรี ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการค่าจ้างกลาง เปิดเผยถึงผลการประชุมคณะกรรมการค่าจ้างกลาง (บอร์ด) วาระเร่งด่วน ว่า ที่ประชุมค่อนข้างเห็นด้วยให้มีการปรับขึ้นค่าจ้าง แต่ยังไม่สามารถบอกได้ว่าเป็นตัวเลขเท่าไหร่ ทั้งนี้ คาดว่าภายในสิ้นเดือนมิถุนายนจะได้คำตอบว่าจะปรับตามข้อเรียกร้องสภาองค์การลูกจ้าง 7 แห่ง ที่ขอให้มีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 9 บาททั่วประเทศหรือข้อเรียกร้องของกลุ่มพันธมิตรสหภาพแรงงานประชาธิปไตยที่ขอให้ปรับค่าจ้างวันละ 233 บาท ทั่วประเทศ เพราะหากให้ปรับขึ้นเท่ากันทุกจังหวัดก็ต้องไปพิจารณาถึงกรณีคนงานพื้นที่ที่ไม่ต้องเสียค่าที่พัก ขณะที่คนงานต่างจังหวัดที่ทำงานใน กทม.มีค่าใช้จ่ายในส่วนนี้มากกว่า จึงอาจเกิดการได้เปรียบเสียเปรียบกัน อย่างไรก็ตาม ตนได้มอบหมายให้นางเพชรรัตน์ สินอวย ผอ.กลุ่มงานพัฒนาระบบนายได้และค่าจ้างขั้นต่ำ ในฐานะฝ่ายเลขานุการบอร์ดค่าจ้างไปดำเนินการหาข้อสรุป เพื่อให้เกิดความชัดเจน
วันเดียวกัน ที่กระทรวงแรงงาน นายมนัส โกศล ประธานสภาองค์การพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย พร้อมด้วยประธานสภาองค์กรลูกจ้างอีก 6 องค์กร ประกอบด้วย สภาองค์การลูกจ้างสภาศูนย์กลางแรงงงานแห่งประเทศไทย สภาองค์การลูกจ้างแรงงานสตรีแห่งชาติ สภาองค์การลูกจ้างองค์การแรงงานแห่งประเทศไทย สภาองค์การลูกจ้างสภาลูกจ้างแห่งชาติ สภาองค์การลูกจ้างสภาแรงงานอุตสาหกรรมเอกชน และสภาองค์การลูกจ้างแรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า สภาองค์กรลูกจ้างทั้ง 7 แห่ง รู้สึกไม่พอใจกับผลการประชุมของบอร์ดค่าจ้างที่ขอเลื่อนข้อสรุปการปรับขึ้นค่าขั้นต่ำไปเป็นเดือนมิถุนายน ซึ่งถือเป็นข้ออ้างมากกว่า เพราะทุกวันนี้ลูกจ้างเดือดร้อนมาก สินค้าทุกอย่างแพงขึ้น ค่าครองชีพสูงมาก และการที่อ้างถึงข้อเรียกร้องของลูกจ้างที่ไม่เท่ากันที่ฝ่ายหนึ่งเรียกร้องให้ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 9 บาท ส่วนอีกฝ่ายให้ปรับขึ้นเป็น 233 บาท ทั่วประเทศนั้น ไม่ใช่คำตอบที่เหมาะสม ทั้งนี้ การที่เรายังยืนยันเรียกร้องให้มีการปรับขึ้นอีก 9 บาท เพราะเป็นตัวเลขที่เหมาะสมไม่มากเกินไป อยู่ในอัตราที่นายจ้างน่าจะรับได้
“ยืนยันว่าเราเรียกร้อง เพราะผู้ใช้แรงงานเดือดร้อนจริงไม่มีอะไรแอบแฝงทั้งสิ้น วันนี้มารอฟังคำตอบหลังจากที่เคยยื่นให้ปรับขึ้นค่าจ้างกับ รมว.แรงงาน ไปเมื่อวันที่ 12 มีนาคม แต่ก็ยังไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจน ฉะนั้นพวกเราพี่น้องผู้ใช้แรงงาน 7 สภาไม่ต่ำกว่า 1,000 คน ตกลงกันแล้วว่าในวันที่ 27 มีนาคม เวลา 17.00 น.จะเดินทางมาประท้วงเรียกร้องที่หน้ากระทรวงแรงงานให้ปรับขึ้นค่าจ้างอีก 9 บาท ถ้าไม่เช่นนั้นเราไม่ยอม หากยังไม่สนใจดำเนินการตามที่เรียกร้องจะเดินทางไปชุมนุมและยื่นข้อเรียกร้องต่อนายกรัฐมนตรีต่อไป”นายมนัส กล่าว
ด้านนายบรรจง บุญรัตน์ ประธานสภาองค์การลูกจ้างสภาศูนย์กลางแรงงานแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เสียใจและสังเวชใจกับการทำหน้าที่ของบอร์ดค่าจ้างฝ่ายลูกจ้าง ไม่พิจารณาให้ทั้งที่รู้ว่าลูกจ้างเดือดร้อนกันหมด เพราะแม้แต่ข้าวสารก็ยังแย่งกันซื้อ ลูกจ้างจะอยู่ได้อย่างไร จะยืดเวลาไปถึงเดือนมิ.ย.อีกถามว่าจะเตะถ่วงเวลาไปทำไม รัฐบาลเองก็พูดถึงแค่เพียงสินค่าแพง แต่ไม่ใส่ใจความเป็นอยู่ของคนว่าจะอยู่อย่างไรเมื่อสินค้าแพง