นายพนัส ไทยล้วน ประธานสภาองค์การลูกจ้างแรงงานแห่งประเทศไทย กล่าวถึงการเรียกร้องของผู้ใช้แรงงานให้ปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มอีก 9 บาท เป็น 203 บาท หรือปรับเป็น 233 บาทว่า การปรับขึ้นอยู่กับการพิจารณาปัจจัยต่างๆ นอกเหนือความเดือดร้อนจากภาวะค่าครองชีพ เชื่อว่าจะมีการปรับให้เพิ่ม โดยจะมีผลในราว มิ.ย.นี้ ส่วนจะเป็นเท่าใดขึ้นอยู่กับฐานข้อมูลต่างๆที่ใช้ประกอบการพิจารณา
นายพนัส กล่าวอีกว่า ในการพิจารณาปรับค่าจ้างขั้นต่ำที่มีคณะกรรมการค่าจ้างมีมติปรับเพิ่ม 3 บาทในเขตกรุงเทพ ปริมณฑลนั้น ครั้งนั้นที่ประชุม นายจ้างได้เอ่ยปากขอให้ฝ่ายลูกจ้างยอมรับมติที่จะปรับเพิ่ม 3 บาทไปก่อน แต่หากลูกจ้างเดือดร้อนก็จะสนับสนุน จึงคิดว่า 6 เดือนหลังของปี 2551 ลูกจ้างจะได้รับค่าจ้างขั้นต่ำในอัตราใหม่ ทั้งนี้ตนจะเสนอให้กรรมการฝ่ายลูกจ้างสนับสนุนเนื่องจากขณะนี้ลูกจ้างเดือดร้อนกันมาก และจะขอให้นายจ้างเห็นใจทำตามที่รับปากไว้
“ตัวเลขที่ปรับขึ้นจะเป็นเท่าใดขึ้นอยู่กับฐานข้อมูลในด้านต่างๆ เช่นราคาสินค้าอุปโภค บริโภค ซึ่งเรื่องนี้ รมว.พาณิชย์ มีท่าที่ที่จะควบคุมราคาสินค้า เป็นปัจจัยหนึ่งเช่นกัน ซึ่งต้องติดตามดูผลการควบคุมไม่ให้สูง นอกจากนี้ยังต้องดูถึงกำลังจ่ายของนายจ้างด้วย “นายพนัส กล่าวและว่าการประชุมบอร์ดค่าจ้างในวันที่ 21 มี.ค.นี้ คงจะมีการหารือในเรื่องต่างๆ รวมถึงการปรับค่าจ้างรอบ2 ด้วย ที่มีการเสนอของผู้ใช้แรงงานกลุ่มต่างๆ แต่เราคงต้องคำนึงถึงความเป็นไปได้ ที่ทุกฝ่ายจะไม่เดือดร้อนต่อผลกระทบ
ด้านนายบัณฑิตย์ ธนชัยเศรษฐวุฒิ นักวิจัยมูลนิธิอารมณ์ พงศ์พงัน กล่าวว่าการปรับค่าจ้างขั้นต่ำในแต่ละครั้งมีความหมายต่อผู้ใช้แรงงานจำนวนมาก ไม่ใช่เฉพาะเพียงคนงานแรกเข้า ไร้ประสบการณ์ แต่คนงานที่ทำงานมาหลายปี ยังคงรับค่าจ้างในอัตราขั้นต่ำ ลูกจ้างที่กินอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจึงกระจุกตัวจำนวนมาก และบ้างที่ทำงานนับสิบปียังคงได้ค่าจ้างที่สูงกว่าขั้นต่ำเพียงไม่กี่บาท เนื่องจากสถานประการส่วนใหญ่มักใช้การปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็นตัวแปรสำคัญที่สุดในการปรับอัตราค่าจ้าง ทำให้ค่าจ้าง
“อดีตมีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำในรอบปีหนึ่ง 2 ครั้งอยู่บ้าง ซึ่งล่าสุดในปี 2548 สมัยนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.แรงงาน สมัยนั้น ที่มีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำจาก 170 บาท ในปี 2547 เป็น 175 บาท ในปี 2548 และในปี 2548 ได้มีการพิจารณาปรับค่าจ้างขั้นต่ำกลางปีอีกรอบโดยเพิ่มอีก 6 บาท เป็น 181 บาท”นายบัณฑิตย์ กล่าว