บทบาทศาลในการคุ้มครอง “เหยื่ออาชญากรรม” คำว่า “เหยื่อ” (Victim) เป็นคำที่มีความหมายค่อนข้างกว้าง แต่หากพิจารณาในแง่ของกฎหมายโดยเฉพาะมักจะมีความหมายถึง “เหยื่ออาชญากรรม” (Victim of Crime) ที่เป็นผู้ประสบผลร้ายหรือความเสียหาย ทั้งด้านชีวิต ร่างกาย จิตใจ และทรัพย์สิน อันเนื่องมาจากการละเมิดกฎหมาย ไม่ว่าเหยื่ออาชญากรรมนั้นจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล ซึ่งมีความหมายคล้ายคำนิยามที่ให้ไว้โดย องค์การสหประชาชาติที่กล่าวว่าหมายถึง บุคคลไม่ว่าจะโดยเฉพาะตนเอง หรือบุคคลเป็นกลุ่ม ได้รับทุกข์ทรมานจากการทำร้ายไม่ว่าจะถูกกระทำต่อร่างกายหรือจิตใจ ได้รับทุกข์ทรมานทางจิตใจ สูญเสียทางเศรษฐกิจ หรือ ก่อให้เกิดการเสียสิทธิประการใดประการหนึ่ง ไม่ว่าจะโดยการกระทำการหรือละเว้นกระทำการ อันเกิดจากฝ่าฝืนกฎหมายอาญาที่บังคับใช้อยู่ในรัฐสมาชิก รวมถึงกฎหมายที่ห้ามการใช้อำนาจในทางที่มิชอบ และคำว่า “เหยื่อ” นี้ให้รวมถึงสมาชิกครอบครัว หรือผู้ที่ต้องพึ่งพาผู้เสียหายโดยตรง และผู้ที่ต้องทุกข์ทรมานจากการเข้าช่วยเหลือผู้เสียหายที่อยู่ในภาวะคับขัน หรือเข้าป้องกันผู้อื่นไม่ให้ตกเป็นผู้เสียหาย อย่างไรก็ดีคำว่า “เหยื่ออาชญากรรม” นี้ไม่มีบัญญัติให้ความหมายไว้โดยตรงในกฎหมายของไทย แต่ได้มีบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับผู้เสียหายในคดีอาญาที่ถือว่าเป็น ผู้ได้รับผลกระทบจากการกระทำความผิดทางอาญาโดยบุคคลอื่น ซึ่งพระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหายและค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ. 2544 กำหนดนิยามของคำว่า ผู้เสียหายว่าเป็นบุคคลซึ่งได้รับความเสียหายถึงแก่ชีวิตหรือร่างกาย หรือจิตใจเนื่องจากการกระทำความผิดอาญาของผู้อื่น โดยตนมิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำ ความผิดนั้น มาตรการในการคุ้มครอง ในอดีตมาตรการในการคุ้มครอง “เหยื่ออาชญากรรม” จะกระทำได้โดยบทบัญญัติของกฎหมายที่ให้ผู้เสียหายฟ้องคดีแพ่งเรียกเอาค่าเสียหายจากจำเลยได้โดยตรง แต่การกระทำเช่นว่านี้มีข้อเสียหลายประการ เช่น ในกรณีที่ผู้เสียหายเป็นโจทก์ฟ้องคดีเองผู้เสียหายจะต้องชำระค่าธรรมเนียมและค่าจ้างทนายความเอง ใช้ระยะเวลานานในการได้รับการชดใช้ค่าเสียหายเนื่องจากศาลแพ่งจะพิจารณาค่าเสียหายได้จะต้องรอผลการพิจารณาคดีของศาลในคดีอาญาก่อน ดังนั้นผู้เสียหายอาจยื่นคำร้องต่อศาลในคดีอาญาที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้จำเลยชำระค่าเสียหายไปพร้อมกับคำพิพากษาในคดีอาญาแทน ปัจจุบันรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ได้บัญญัติรับรองสิทธิในการได้รับความช่วยเหลือที่จำเป็นและเหมาะสมจากรัฐของผู้เสียหาย ซึ่งค่าตอบแทน ค่าทดแทน และค่าใช้จ่ายที่จำเป็นนั้นให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ นอกจากนี้พระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหายและค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ. 2544 ได้กำหนดฐานความผิดที่ผู้เสียหายอาจขอรับค่าตอบแทนได้ดังนี้ คือ ความผิดเกี่ยวกับเพศ ชีวิตและร่างกาย ความผิดฐานทำให้แท้งลูก และความผิดฐานทอดทิ้งเด็กคนป่วยเจ็บ หรือคนชรา ค่าตอบแทนที่ผู้เสียหายอาจได้รับนั้น ได้แก่ ค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการรักษาพยาบาล รวมทั้งค่าฟื้นฟูสมรรถภาพทางร่างกายและจิตใจ ค่าตอบแทนในกรณีที่ผู้เสียหายถึงแก่ความตาย ค่าขาดประโยชน์ ทำมาหาได้ในระหว่างที่ไม่สามารถประกอบการงานได้ตามปกติ และค่าตอบแทนความเสียหายอื่นตามที่คณะกรรมการพิจารณาค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญาเห็นสมควร โดยการพิจารณาค่าเสียหายนั้นคณะกรรมการจะพิจารณาจากพฤติการณ์และความร้ายแรงของการกระทำความผิดและสภาพความเสียหายที่ผู้เสียหายได้รับ รวมทั้งโอกาสที่ผู้เสียหายจะได้รับการบรรเทาความเสียหายโดยทางอื่นด้วย บทบาทของศาลยุติธรรม เนื่องจาก “เหยื่ออาชญากรรม” เป็นบุคคลที่ต้องรับเคราะห์จากการกระทำความผิดของจำเลยจึงสมควรที่จะได้รับการปกป้องคุ้มครองจากรัฐ ไม่ว่าในขั้นตอนใดๆของกระบวนการยุติธรรม เริ่มตั้งแต่ขั้นตอนการสืบสวนสอบสวนโดยเจ้าพนักงานตำรวจ การฟ้องร้องโดยพนักงานอัยการ การพิจารณาพิพากษาคดีโดยศาล ไปจนถึงการบังคับลงโทษโดยกรมราชทัณฑ์ ศาลยุติธรรมเป็นหนึ่งในกระบวนการยุติธรรมมีหน้าที่ดำเนินการดูแล คุ้มครอง สิทธิ เสรีภาพของประชาชน ในปัจจุบันศาลได้ใช้ความพยายามอย่างยิ่งที่จะให้ความคุ้มครองผู้เสียหาย เช่น กรณีผู้เสียหายที่ถูกข่มขืน ศาลจะให้พิจารณาเป็นการลับหากผู้เสียหายร้องขอ หรือในกรณีของผู้เสียหายที่เป็นเด็ก ศาลจะให้ความคุ้มครองเป็นพิเศษที่ไม่ต้องมาเผชิญหน้ากับจำเลยในขั้นตอนการสืบพยาน เป็นต้น สำหรับการชดใช้ค่าตอบแทนให้แก่ผู้เสียหายนั้น ศาลยุติธรรมจะเข้าไปมีบทบาท ดังนั้น 1. ตามบทบัญญัติในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ในส่วนของคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาที่ศาลมีอำนาจกำหนดค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เสียหายที่ได้รับอันตรายแก่ชีวิต ร่างกาย จิตใจ หรือได้รับความเสื่อมเสียต่อเสรีภาพในร่างกายชื่อเสียงหรือได้รับความเสียหายในทางทรัพย์สินอันเนื่องมาจากการกระทำความผิดของจำเลยได้ในคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ โดยให้ผู้เสียหายที่ประสงค์จะได้รับค่าสินไหมทดแทน ยื่นคำร้องต่อศาลที่พิจารณาคดีอาญาขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ตนได้ 2. พระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหายและค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ. 2544 ซึ่งกำหนดให้คณะกรรมการพิจารณาค่าตอบแทนผู้เสียหายและค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญามีหน้าที่พิจารณาค่าตอบแทนให้ผู้เสียหาย โดยศาลมีอำนาจในการพิจารณาอุทธรณ์คำวินิจฉัยของคณะกรรมการฯ เมื่อผู้ยื่นคำขอไม่เห็นด้วย และต้องยื่นคำขอต่อศาลอุทธรณ์ภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัย โดยคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์นั้นให้เป็นที่สุด การคุ้มครองสิทธิของผู้เสียหายในคดีอาญา จึงเป็นขั้นตอนประการหนึ่งที่ศาลได้ให้ความสำคัญ เพราะบุคคลเหล่านี้ถือเป็นบุคคลที่ต้องรับความเดือดร้อนจากการกระทำของบุคคลอื่นทั้งทางร่างกายและจิตใจ และผลกระทบนี้ไม่ได้เกิดเฉพาะผู้เสียหายเท่านั้น แต่อาจกระทบถึงสภาพจิตใจหรือความเป็นอยู่ ของบุคคลในครอบครัวผู้เสียหายด้วย เช่น เมื่อผู้เสียหายถูกทำร้ายถึงแก่ชีวิต ครอบครัวผู้เสียหายอาจขาดหัวหน้าครอบครัว ดังนั้นบทบาทของศาลตามที่กล่าวมาข้างต้น จึงเป็นการให้ความคุ้มครอง บรรเทา และเยียวยาความเดือดร้อนของผู้เสียหายในคดีอาญาผู้ซึ่งเป็น “เหยื่ออาชญากรรม” สราวุธ เบญจกุล รองเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม โดย สราวุธ เบญจกุล : จาก manager.co.th |