กรณีฟ้องคดีแพ่ง
การทำคำฟ้อง และคำขอท้ายฟ้อง ควรจะมีหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
ส่วนที่1 บรรยายสถานะของโจทก์รวมทั้งการมอบอำนาจให้ฟ้องคดี (ถ้ามี)
กรณีเป็นนิติบุคคลต้องบรรยาย ว่าจะจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลประเภทอะไร ที่ไหน มีใครเป็นผู้มีอำนาจ อำนาจกรรมการมีอย่างไร วัตถุประสงค์ทำอะไร โดยต้องต้องอ้างเอกสารทางทะเบียนเป็นเอกสารท้ายคำฟ้องด้วย
แต่ถ้าเป็นบุคคลธรรมดา ไม่ต้องบรรยาย เว้นแต่เป็นการกระทำแทนในกรณีที่คู่ความบกพร่องเรื่องความสามารถ หรือมีการมอบอำนาจ ก็ต้องบรรยายไว้ด้วยว่า ใครกระทำการแทนใคร เพราะอะไร หรือรับมอบอำนาจจากใคร โดยต้องอ้างเอกสารที่มานั้นๆ เป็นเอกสารท้ายคำฟ้องด้วย
บรรยายสถานะของจำเลย (นิติบุคคลต้องบรรยาย ถ้าเป็นบุคคลธรรมดาไม่ต้องบรรยาย เช่นเดียวกับที่กล่าวข้างต้นแล้ว)
ส่วนที่ 2 บรรยายความเกี่ยวพัน หรือ นิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับจำเลย เมื่อไร
ที่ไหน ทำอะไร อย่างไร มีข้อตกลงไว้ อย่างไร หรือมูลเหตุแห่งคดีในกรณีละเมิด ว่าจำเลยทำอะไร หรือละเว้นอะไร
ส่วนที่ 3 เกิดการโต้แย้งสิทธิอย่างไร และผิดเงื่อนไขหรือข้อตกลงอย่างไร
ส่วนที่ 4 การกระทำของจำเลยนั้น ทำให้โจทก์เสียหายอย่างไร จำเลยต้องรับผิดชอบอย่างไร เท่าไร มีการบอกกล่าวทวงถามหรือไม่ อย่างไร
(กรณีให้ชำระหนี้ จะมีจำนวนเงิน 3 จำนวน คือ เงินต้น(A) ดอกเบี้ยก่อนฟ้อง (B) และยอดเงินที่ต้องชำระตามคำฟ้อง (C) คือ ยอดเงินรวมระหว่าง A+B เราเรียกว่าทุนทรัพย์)
และคำฟ้องแพ่ง นิยมลงท้ายด้วยข้อความว่า
โจทก์ไม่มีทางอื่นใดที่จะบังคับจำเลยได้ จึงต้องนำคดีมาฟ้องเพื่อขอบารมีศาลเป็นที่พึ่งบังคับจำเลยต่อไป
ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด
***** ไม่มีการลงชื่อโจทก์ หรือชื่อทนายโจทก์ และผู้เรียง/ พิมพ์ เนื่องจากมีคำขอท้ายฟ้อง *****
คำขอท้ายคำฟ้องแพ่ง
ส่วนที่ 1 กรณีเป็นคดีที่ฟ้องเรียกค่าเสียหายเป็นตัวเงิน จะทำได้ 2 ลักษณะ คือ
ลักษณะที่ 1 มีการคิดดอกเบี้ยก่อนฟ้อง (B) คือ คิดจากวันที่มีสิทธิ หรือ วันที่ผิดนัด จนถึงวันที่ฟ้อง การเขียนคำขอท้ายคำฟ้องแพ่ง นิยมเขียนดังนี้
ข้อ 1 ให้จำเลยชำระเงินจำนวน C บาท (……………) ให้แก่โจทก์
ข้อ 2 ให้จำเลยชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ…… ต่อปี ของต้นเงินจำนวน A บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไป จนกว่าจำเลยจะชำระเสร็จสิ้นให้แก่โจทก์
ข้อ 3 ให้จำเลยชดใช้ค่าฤชาธรรมเนียม และค่าทนายความแทนโจทก์
ลักษณะที่ 2 ไม่มีการคิดดอกเบี้ยก่อนฟ้อง การเขียนคำขอท้ายฟ้องแพ่ง นิยมเขียนว่า
ข้อ 1. ให้จำเลยชำระเงินจำนวน A บาท (……………..) ให้แก่โจทก์
ข้อ 2. ให้จำเลยชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ….. ต่อปี ของต้นเงินจำนวน A บาท นับจั้งแต่วันฟ้องเป็นต้นไป จนกว่าจำเลยจะชำระเงินเสร็จสิ้นให้แก่โจทก์
ข้อ 3. ให้จำเลยชดใช้ค่าฤชาธรรมเนียม และค่าทนายความแทนโจทก์
แต่ถ้าคดีที่ฟ้องเป็นกรณีที่สภาพแห่งหนี้ไม่เปิดช่องให้บังคับชำระหนี้ได้ ตาม ปพพ. ม.213 กำหนดว่า ถ้าวัตถุแห่งหนี้เป็นอันให้กระทำการอันหนึ่งอันใด เจ้าหนี้จะร้องขอต่อศาลให้สั่งบังคับให้บุคคลภายนอกกระทำการนั้นโดยให้ลูกหนี้เสียค่าใช้จ่ายให้ก็ได้ แต่ถ้าวัตถุแห่งหนี้เป็นอันให้กระทำนิติกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งไซร้ ศาลจะสั่งให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของลูกหนี้ได้ นั้นในคำขอท้ายฟ้องก็ต้องระบุด้วยว่า ให้จำเลยกระทำการอะไร อย่างไร ที่ไหน ภายในกำหนดเวลาเท่าใด หากจำเลยไม่ทำให้ถือเอาตามคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลยด้วย
ตอนท้ายของคำขอท้ายฟ้อง จะมีช่องว่างให้เติมจำนวนสำนวนคำฟ้อง จำนวนสำนวนนี้ขึ้นอยู่กับจำนวนจำเลยที่ถูกฟ้องในคดีนั้นๆ ว่ามีจำเลยกี่คน เช่น ฟ้องจำเลย 3 คน หรือ สาม ฉบับ
บรรทัดสุดท้ายของคำขอท้ายฟ้องที่ให้ลงลายมือชื่อโจทก์ จะลงลายมือชื่อโจทก์เอง หรือทนายความโจทก์ก็ได้
ด้านหลังคำขอท้ายคำฟ้องแพ่ง มี 2 ส่วน คือ ส่วนที่ 1 ให้ระบุรายละเอียดของผู้เรียง
ส่วนที่ 2 ให้ระบุรายละเอียดของผู้เขียนหรือพิมพ์
ให้ระบุรายละเอียดของทนายความในส่วนที่ 1 เป็นผู้เรียง หากทนายความเป็นผู้พิมพ์หรือเขียน เอง ให้ระบุรายละเอียดเพียงส่วนที่ 1 ส่วนเดียวแล้วเติมคำว่า พิมพ์ หรือ เขียน ไว้หลังคำว่าผู้เรียง
จึงเป็นดังนี้ “เป็นผู้เรียง/พิมพ์” หรือ “ เป็นผู้เรียง/เขียน” ไม่จำเป็นต้องระบุรายละเอียดของทนายความในส่วน ที่ 2 ที่ให้ใส่รายละเอียดของผู้เขียนหรือพิมพิ์อีก เป็นการซ้ำซ้อน เสียเวลา เพราะเป็นข้อความเดียวกัน
หากทนายความไม่ได้เป็นผู้เขียน หรือ พิมพ์เอง จึงใส่รายละเอียดของผู้เขียน หรือพิมพ์ ไว้ในส่วนที่ 2 นี้ให้ผู้นั้นลงลายมือชื่อไว้ด้วย