ห้างหุ้นส่วนสามัญ


1,786 ผู้ชม


ห้างหุ้นส่วนสามัญ


ห้างหุ้นส่วนสามัญ คือ สัญญาซึ่งบุคคลตั้งแต่ ๒ คนขึ้นไป ตกลงนำหุ้นมาลงทุนในห้างไม่ว่าจะเป็นเงินหรือทรัพย์สินสิ่งอื่นหรือลงแรงงานก็ได้ โดยกระทำกิจการร่วมกันด้วยประสงค์จะแบ่งปันกำไรอันจะพึงได้แต่กิจการที่ทำนั้น และบุคคลผู้เป็นหุ้นส่วนหมดทุกคนต้องรับผิดร่วมกันเพื่อหนี้ทั้งปวงของหุ้นส่วนโดยไม่มีจำกัด (มาตรา ๑๐๑๒ , ๑๐๒๕ , ๑๐๒๖)
๑. สัญญาซึ่งบุคคลตั้งแต่ ๒ คนขึ้นไป ตกลงนำหุ้นมาลงทุนร่วมกัน
ข้อสังเกต
(๑.๑) สัญญาหุ้นส่วนนั้นไม่มีแบบ ไม่จำเป็นต้องทำหลักฐานเป็นหนังสือ
(๑.๒) บุคคลที่จะลงหุ้นจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลก็ได้
๒. สัญญาเพื่อกระทำกิจการร่วมกัน
๓. ด้วยประสงค์จะแบ่งกำไรอันจะได้จากกิจการที่ทำนั้น
ข้อสังเกต
(๓.๑) เป็นเรื่องของการแบ่งกำไรไม่ใช่ทรัพย์สิน เช่น ชายหญิงอยู่กินกันโดยไม่จดทะเบียนสมรส ทรัพย์สินที่ได้มาในระหว่างอยู่กินด้วยกันจึงเป็นกรรมสิทธิ์รวมของทั้งสองฝ่าย ชายและหญิงจึงมีส่วนแบ่งในทรัพย์สินที่ทำมาหาได้ร่วมกันนั้น ไม่ถือว่าเป็นหุ้นส่วนกัน
(๓.๒) เพื่อประสงค์จะแบ่งกำไรไม่ได้แบ่งรายได้ เช่น ขายทรัพย์สินมาแล้วนำมาแบ่งกันโดยไม่ได้หักต้นทุนเพื่อคิดคำนวณกำไรมาแบ่งปัน ไม่ถือว่าเป็นหุ้นส่วนกัน
(๓.๓) ต้องเพื่อประสงค์แบ่งกำไรจากกิจการที่ทำถ้าแบ่งกำไรอื่นนอกจากกิจการที่ทำก็ไม่ถือว่าเป็นหุ้นส่วนกัน
๔. หุ้นส่วนหมดทุกคนต้องรับผิดร่วมกันเพื่อหนี้ทั้งปวงของหุ้นส่วนโดยไม่มีจำกัด
การที่จะวินิจฉัยว่าบุคคลใดเป็นหุ้นส่วนหรือไม่ มีหลักเกณฑ์พิจารณาอยู่ ๒ ประการ คือ
(๑) บุคคลนั้นต้องกระทำกิจการร่วมกัน และ
(๒) มีสิทธิจะได้รับส่วนกำไรอันเกิดจากกิจการนั้น
ข้อสังเกต
(๑) ถ้าไม่มีข้อเท็จจริงที่แสดงว่ามีการดำเนินกิจการร่วมกันไม่ถือว่าเป็นหุ้นส่วน เช่น กิจการหนึ่งมีการตกลงกันโดยชัดแจ้งว่าไม่ให้ผู้ที่นำเงินมาร่วมลงหุ้นเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับกิจการของห้าง คอยรับส่วนแบ่งผลกำไรเพียงอย่างเดียวเท่านั้น เช่นนี้เจ้าของเงินไม่ใช่หุ้นส่วนในกิจการนั้น
(๒) ถ้าผู้เข้ามาร่วมในกิจการไม่ได้เข้ามาร่วมในฐานะหุ้นส่วนแต่อยู่ในฐานะอื่น เช่น ฐานะลูกจ้าง ฐานะที่ปรึกษาหรือผู้มีประสบการณ์ ไม่ใช่หุ้นส่วน
(๓) ให้กู้ยืมเงินไปทำการค้าแล้วผู้กู้ตกลงแบ่งผลกำไรให้ ผู้ให้กู้ไม่ถือว่าเป็นหุ้นส่วนกัน
(๔) ถ้าหุ้นส่วนได้มีการตกลงกันให้บุคคลใดในหุ้นส่วนไม่ต้องรับผิดชอบเมื่อมีการขาดทุน การตกลงดังกล่าวผูกพันใช้บังคับเฉพาะกับหุ้นส่วนด้วยกัน แต่จะใช้บังคับกับบุคคลภายนอกผู้สุจริตไม่ได้
การลงหุ้นด้วยทรัพย์สิน
ทรัพย์สินที่จะนำเข้ามาเป็นทุนในห้างหุ้นส่วนแยกวิธีการให้เป็น ๒ วิธี คือ
๑. โอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินนั้นให้เป็นของห้าง
๒. ไม่โอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินนั้นให้ห้าง แต่ให้ทรัพย์สินนั้นเพื่อให้ห้างยืมใช้ประโยชน์เท่านั้น
การลงหุ้นด้วยแรงงาน
ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดได้ลงแต่แรงงานของตนเข้าเป็นหุ้น และในสัญญาเข้าหุ้นส่วนมิได้ตีราคาค่าแรงไว้ ให้คำนวณส่วนกำไรของผู้ที่เป็นหุ้นส่วนด้วยลงแรงงานเช่นนั้น เสมอด้วยส่วนถัวเฉลี่ยของผู้เป็นหุ้นส่วนซึ่งได้ลงเงินหรือลงทรัพย์สิเข้าหุ้นในการนั้น (มาตรา ๑๐๒๘)
ข้อสังเกต ถ้าเป็นหุ้นส่วนจำกัดความรับผิด จะลงหุ้นเป็นแรงงานตามมาตรา ๑๐๒๘ ไม่ได้ ต้องลงเป็นเงินหรือทรัพย์สินเท่านั้นตามมาตรา ๑๐๘๓
หุ้นส่วนมีสิทธิบังคับให้ผู้เป็นหุ้นส่วนปฏิบัติตามสัญญา
ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดละเลยไม่ส่งมอบส่วนลงหุ้นของตนเสียเลย ต้องส่งคำบอกกล่าวเป็นจดหมายจดทะเบียนไปรษณีย์ไปยังผู้เป็นหุ้นส่วนคนนั้น ให้ส่งมอบส่วนลงหุ้นของตนมาภายในเวลาอันสมควร มิฉะนั้นผู้เป็นหุ้นส่วนคนอื่น ๆ จะลงเนื้อเห็นพร้อมกัน หรือโดยเสียงข้างมากด้วยกันสุดแต่ข้อสัญญา ให้เอาผู้เป็นหุ้นส่วนคนนั้นออกเสียได้ (มาตรา ๑๐๓๑)
ข้อสังเกต
(๑) กรณีลงหุ้นด้วยทรัพย์สินโดยไม่ได้ตีราคาค่าหุ้นไว้ หากมีข้อสงสัยให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าสิ่งซึ่งนำมาลงหุ้นด้วยกันนั้นมีค่าเท่ากัน (มาตรา ๑๐๒๗)
(๒) กรณีผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดลงแรงงานของตนเข้าเป็นหุ้น และในสัญญาเข้าหุ้นส่วนมิได้ตีราคาค่าแรงไว้ ให้คำนวณส่วนกำไรของผู้ที่เป็นหุ้นส่วนด้วยลงแรงงานเช่นนั้น เสมอด้วยส่วนถัวเฉลี่ยของผู้เป็นหุ้นส่วนซึ่งได้ลงเงินหรือลงทรัพย์สินเข้าหุ้นในการนั้น (มาตรา ๑๐๒๘)
ความเกี่ยวพันระหว่างหุ้นส่วนเกี่ยวกับกำไรขาดทุน
โดยปกติถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนกันได้ตกลงในการคิดกำไรขาดทุนไว้อย่างไรก็ย่อมเป็นไปตามนั้น แต่ทั้งนี้ใช้บังคับได้เฉพาะกับหุ้นส่วนได้กันเท่านั้น แต่จะใช้บังคับกับบุคคลภายนอกผู้กระทำโดยสุจริตไม่ได้ แต่ถ้าไม่ได้มีการตกลงกันไว้ในเรื่องกำไรขาดทุน กฎหมายกำหนดไว้ว่าอันส่วนกำไรก็ดี ส่วนขาดทุนก็ดี ของผู้เป็นหุ้นส่วนทุก ๆ คนนั้น ย่อมเป็นไปตามส่วนที่ลงหุ้นตามมาตรา ๑๐๔๔ และถ้าหุ้นส่วนของผู้ใดได้กำหนดไว้แต่เพียงข้างฝ่ายกำไรว่าจะแบ่งเอาเท่าไร หรือกำหนดแต่เพียงข้างขาดทุนว่าจะยอมขาดเท่าไรฉะนี้ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าหุ้นส่วนของผู้นั้นมีส่วนกำไรและส่วนขาดทุนเป็นอย่างเดียวกันตามมาตรา ๑๐๔๕
ความเกี่ยวพันของหุ้นส่วนเกี่ยวกับการจัดการงานของห้าง
สิทธิของหุ้นส่วน
๑. หุ้นส่วนทุกคนมีสิทธิร่วมกันในทรัพย์สินของห้าง
๒. หุ้นส่วนทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับส่วนแบ่งผลกำไรและทรัพย์สินของห้างเมื่อห้างเลิก
๓. ห้างหุ้นส่วนทุกคนมีสิทธิในการจัดการงานและควบคุมดูแลกิจการของห้าง
ข้อสังเกต การโอนหุ้นให้หุ้นส่วนด้วยกันเอง เป็นสิทธิเฉพาะตัว หุ้นส่วนอื่นไม่มีสิทธิจะมาคัดค้าน เว้นแต่จะมีข้อตกลงไว้เป็นอย่างอื่น
๔. ถ้าชื่อของผู้เป็นหุ้นส่วนซึ่งออกจากหุ้นส่วนไปแล้วยังคงใช้เรียกเป็นชื่อห้างอยู่ ผู้เป็นหุ้นส่วนนั้นชอบที่จะเรียกให้งดใช้ชื่อของตนเสียได้ (มาตรา ๑๐๔๗)
๕. ผู้เป็นหุ้นส่วนคนหนึ่งจะเรียกเอาส่วนของตนจากหุ้นส่วนอื่น ๆ แม้ในกิจการค้าขายอันใดซึ่งไม่ปรากฏชื่อของตนก็ได้ (มาตรา ๑๐๔๘)
ข้อสังเกต
(๑) คล้ายกับเรื่องตัวการซึ่งไม่เปิดเผยชื่อเข้าแสดงตนให้ปรากฏเข้ารับเอาสัญญาใดๆ ซึ่งตัวแทนได้ทำไว้แทนตนตามมาตรา ๘๐๖
(๒) มาตรา ๑๐๔๘ ใช้กับเรื่องห้างหุ้นส่วนสามัญที่ไม่ได้จดทะเบียนเท่านั้น
ข้อห้ามและหน้าที่ของหุ้นส่วน
๑. ห้ามมิให้ชักนำเอาบุคคลผู้อื่นเข้ามาเป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วน โดยมิได้รับความยินยอมของผู้เป็นหุ้นส่วนหมดด้วยกันทุกคน เว้นแต่จะได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น(มาตรา ๑๐๔๐)
๒. ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดคนหนึ่งโอนส่วนกำไรของตนในห้างหุ้นส่วนทั้งหมดก็ดี หรือแต่บางส่วนก็ดีให้แก่บุคคลภายนอกโดยมิได้รับความยินยอมของผู้เป็นหุ้นส่วนที่เหลือบุคคลภายนอกนั้นจะเข้าเป็นหุ้นส่วนไม่ได้ (มาตรา ๑๐๔๑)
๓. ห้ามมิให้เปลี่ยนแปลงข้อสัญญาเดิมแห่งห้างหุ้นส่วนหรือประเภทแห่งกิจการ นอกจากด้วยความยินยอมของผู้เป็นหุ้นส่วนหมดด้วยกันทุกคน เว้นแต่จะมีข้อตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น (มาตรา ๑๐๓๒)
๔. ห้ามมิให้ผู้เป็นหุ้นส่วนประกอบกิจการอย่างหนึ่งอย่างใดซึ่งมีสภาพเช่นเดียวกัน และเป็นการแข่งขันกับกิจการของห้างหุ้นส่วนนั้นไม่ว่าทำเพื่อประโยชน์ตนหรือประโยชน์ผู้อื่น โดยมิได้รับความยินยอมของผู้เป็นหุ้นส่วนคนอื่น ๆ ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดทำการฝ่าฝืนผู้เป็นหุ้นส่วนคนอื่น ๆ ชอบที่จะเรียกเอาผลกำไรซึ่งผู้นั้นหาได้ทั้งหมด หรือเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเพื่อการที่ห้างหุ้นส่วนได้รับความเสียหายเพราะเหตุนั้น แต่ห้ามมิให้ฟ้องเรียกเมื่อพ้นเวลา ๑ ปี นับแต่วันทำการฝ่าฝืน (มาตรา ๑๐๓๘)
๕. ถ้าชื่อของผู้เป็นหุ้นส่วนซึ่งออกจากหุ้นส่วนไปแล้วยังคงใช้เรียกเป็นชื่อห้างอยู่ ผู้เป็นหุ้นส่วนนั้นชอบที่จะเรียกให้งดใช้ชื่อของตนเสียได้ (มาตรา ๑๐๔๗)
ความเกี่ยวพันระหว่างหุ้นส่วนกับบุคคลภายนอก
๑. ความเกี่ยวพันในเรื่องสัญญา
๑.๑ หุ้นส่วนคนหนึ่งไปทำสัญญากับบุคคลภายนอก หุ้นส่วนคนอื่นแม้ไม่ได้ทำสัญญาด้วยก็ต้องรับผิดด้วย (ตามหลักตัวแทน)
๑.๒ หุ้นส่วนที่ไปทำสัญญาตาม ๑.๑ นั้น จะต้องทำสัญญาภายในขอบวัตถุประสงค์ของห้างหรือได้จัดทำไปในทางที่เป็นธรรมดาการค้าขายของห้างนั้น หุ้นส่วนทุกคนจึงจะต้องรับผิดในหนี้นั้นทั้งหมด
มาตรา ๑๐๕๐ การใด ๆ อันผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดคนหนึ่งได้จัดทำไปในทางที่เป็นธรรมดาการค้าขายของห้างหุ้นส่วนนั้น ท่านว่าผู้เป็นหุ้นส่วนหมดทุกคนย่อมมีความผูกพันในการนั้น ๆ ด้วย และจะต้องรับผิดร่วมกันโดยไม่จำกัดจำนวนในการชำระหนี้ อันได้ก่อให้เกิดขึ้นเพราะจัดการไปเช่นนั้น
หลักเกณฑ์ตามมาตรา ๑๐๕๐
๑. การกระทำนั้นเป็นทางธรรมดาการค้าขายของห้าง
๒. หุ้นส่วนผู้กระทำต้องกระทำในฐานะหุ้นส่วนไม่ใช่ในฐานะส่วนตัว
ข้อสังเกต
(๑) หุ้นส่วนทำสัญญาภายในขอบวัตถุประสงค์หรือไม่ ต้องดูวัตถุประสงค์ของห้างที่ตั้งขึ้นมา ถ้าทำภายในกรอบก็ผูกพันหุ้นส่วนทุกคน แต่ถ้าได้กระทำไปนอกกรอบวัตถุประสงค์ของห้างแต่ปรากฏพฤติการณ์ว่าห้างได้มีการถือเอาประโยชน์จากสัญญานั้นหรือได้มีการให้สัตยาบันในสัญญานั้น เช่นนี้สัญญาแม้ทำนอกขอบวัตถุประสงค์ก็ผูกพันห้างได้เช่นกัน
(๒) การจัดทำไปในทางที่เป็นธรรมดาการค้าขายของห้าง คือ การกระทำซึ่งเกี่ยวเนื่องกับวัตถุประสงค์ของห้างหรือมีความจำเป็นในการดำเนินกิจการของห้าง โดยพิจารณาจากสภาพแห่งธุรกิจของห้างนั้นและประเพณีโดยทั่วไปที่ห้างซึ่งมีลักษณะเดียวกันเข้าปฏิบัติกัน
(๓) มาตรา ๑๐๕๐ เป็นกฎหมายปิดปากหุ้นส่วนไม่ให้ยกขึ้นต่อสู้บุคคลภายนอกผู้สุจริตว่าตนไม่ต้องรับผิดในสัญญานั้น ดังนั้น แม้จะเป็นการจัดทำไปในทางที่เป็นธรรมดาการค้าขายของห้างแต่บุคคลภายนอกไม่สุจริต หุ้นส่วนสามารถยกข้อต่อสู้ได้ว่าตนไม่ต้องรับผิดเพราะไม่เข้ามาตรา ๑๐๕๐
ความรับผิดของผู้แสดงออกว่าเป็นหุ้นส่วน
บุคคลใดแสดงตนว่าเป็นหุ้นส่วนด้วยวาจาก็ดี ด้วยลายลักษณ์อักษรก็ดี ด้วยกิริยาก็ดี ด้วยยินยอมให้เขาใช้ชื่อตนเป็นชื่อห้างก็ดี หรือรู้แล้วไม่คัดค้านปล่อยให้เขาแสดงว่าตนเป็นหุ้นส่วนก็ดี บุคคลนั้นย่อมต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกในบรรดาหนี้ของห้างหุ้นส่วนเสมือนเป็นหุ้นส่วน (ผู้ที่ไม่ใช่หุ้นส่วนแสดงตน) (มาตรา ๑๐๕๔ วรรคแรก)
หุ้นส่วนตายแล้วยังใช้ชื่อหุ้นส่วนนั้นอยู่
ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนคนหนึ่งคนใดตายไปแล้ว และห้างนั้นยังคงค้าต่อไปในชื่อเดิมของห้าง หรือใช้ชื่อของหุ้นส่วนผู้ตายควบอยู่ด้วยก็ดี ไม่ทำให้กองมรดกของผู้ตายต้องรับผิดในหนี้ใด ๆ อันห้างหุ้นส่วนได้ก่อให้เกิดขึ้นภายหลังมรณะนั้น (มาตรา ๑๐๕๔ วรรคสอง)
๒. ความเกี่ยวพันในเรื่องละเมิด
ผู้เป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียน จะต้องรับผิดในผลของละเมิดต่อบุคคลภายนอกเช่นเดียวกับตัวการตัวแทน ซึ่งโยงไปใช้ในเรื่องนายจ้างลูกจ้าง ดังนั้น หากหุ้นส่วนที่มีอำนาจจัดการไปทำละเมิดกับบุคคลภายนอก หุ้นส่วนอื่นถึงแม้ไม่ได้ทำละเมิดก็จำต้องร่วมรับผิดในผลแห่งหนี้ละเมิดที่เกิดขึ้นนั้นด้วย แต่การกระทำละเมิดดังกล่าวจะต้องกระทำภายในขอบวัตถุประสงค์หรือขอบแห่งกิจการงานของห้างหรือเป็นการกระทำในทางธรรมดาการค้าของห้าง
ขอบเขตของสิทธิและความรับผิดของหุ้นส่วนที่มีต่อบุคคลภายนอก
๑. สิทธิของผู้เป็นหุ้นส่วนต่อบุคคลภายนอก
กรณีห้างหุ้นส่วนสามัญที่ยังไม่จดทะเบียน หุ้นส่วนคนหนึ่งที่ไม่มีชื่อเป็นคู่สัญญาในสัญญาที่หุ้นส่วนคนหนึ่งไปทำต่อบุคคลภายนอกกฎหมายกำหนดให้หุ้นส่วนที่ไม่ได้ทำสัญญาหรือไม่มีชื่อในสัญญาสามารถจะเรียกเอาประโยชน์จากสัญญานั้นกับหุ้นส่วนด้วยกันเองได้ตามมาตรา ๑๐๔๘ แต่จะไปเรียกร้องให้บุคคลภายนอกเขารับผิดตามสัญญาโดยอ้างสิทธิว่าตนเองเป็นหุ้นส่วนโดยที่ไม่ได้มีชื่อในสัญญานั้นเรียกไม่ได้ตามมาตรา ๑๐๔๙ แต่หากเป็นกรณีห้างที่เป็นนิติบุคคล หุ้นส่วนอ้างสิทธิเอาแก่บุคคลภายนอกได้ด้วย แม้สัญญานั้นจะไม่ปรากฏชื่อของหุ้นส่วนอยู่ก็ตาม (มมาตรา ๑๐๖๕)
ข้อสังเกต ถ้าหุ้นส่วนผู้ไม่มีชื่อในสัญญามาเรียกร้องตามสัญญาเอาจากบุคคลภายนอกโดยอ้างว่าเป็นตัวการไม่เปิดเผยชื่อตามมาตรา ๘๐๖ จะทำได้หรือไม่ ตรงนี้มีความเห็นอยู่ ๒ ความเห็นคือ
(๑) อ้างได้
(๒) อ้างไม่ได้ (ความเห็นอาจารย์สุประดิษฐ์ บุตะสิงห์) เพราะหลักในเรื่องตัวการตัวแทนจะนำมาใช้ในเรื่องห้างหุ้นส่วนต้องเป็นกรณีที่กฎหมายหุ้นส่วนไม่ได้กำหนดไว้ แต่เมื่อในกฎหมายหุ้นส่วนมีมาตรา ๑๐๔๙ บัญญัติไว้ชัดแจ้งแล้วว่าจะถือประโยชน์จากบุคคลภานอกไม่ได้ จึงไม่นำเอากฎหมายเรื่องตัวการตัวแทนมาใช้ให้ขัดแย้งกับมาตรา ๑๐๔๙ ได้
ความรับผิดของหุ้นส่วนต่อบุคคลภายนอกจะรับผิดไม่จำกัดในหนี้ของห้างที่เกิดขึ้นภายในวัตถุประสงค์หรือทางธรรมดาการค้าของห้าง ลักษณะของการไม่จำกัดความรับผิดนั้นหุ้นส่วนทุกคนจะต้องรับผิดในหนี้ที่เกิดขึ้นทุกประเภทไม่ว่าจะเป็นหนี้ที่เกิดจากสัญญา ละเมิดหรือเหตุอื่น โดยเจ้าหนี้จะฟ้องลูกหนี้คนใดคนหนึ่งหรือทั้งหมดให้รับผิดก็ได้ หุ้นส่วนที่ถูกฟ้องให้ชำระหนี้จะเกี่ยงให้เจ้าหนี้บังคับเอาจากคนอื่นก่อนไม่ได้
ความรับผิดของผู้เป็นหุ้นส่วนที่ได้ออกไปจากหุ้นส่วนไปแล้ว
“มาตรา ๑๐๕๑ ผู้เป็นหุ้นส่วนซึ่งออกจากหุ้นส่วนไปแล้วยังคงต้องรับผิดในหนี้ ซึ่งห้างหุ้นส่วนได้ก่อให้เกิดขึ้นที่ตนได้ออกจากหุ้นส่วนไป”
ดังนั้น เมื่อหุ้นส่วนได้ออกจากหุ้นส่วนไปแล้ว หนี้ที่ก่อให้เกิดขึ้นหลังจากนั้น หุ้นส่วนที่ออกย่อมไม่ต้องรับผิดไม่ว่าจะเป็นหนี้จากสัญญา หนี้จากละเมิดก็ตาม เว้นแต่ หุ้นส่วนที่ออกไปนั้นได้ยอมให้ห้างใช้ชื่อตนเป็นชื่อของห้างอยู่ ทำให้บุคคลภายนอกเข้าใจผิด ก็อาจจะต้องรับผิดในหนี้ของห้างได้ตามมาตรา ๑๐๕๔
ความรับผิดของผู้เป็นหุ้นส่วนใหม่
บุคคลผู้เข้าเป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนย่อมต้องรับผิดในหนี้ใดๆ ซึ่งห้างหุ้นส่วนได้ก่อให้เกิดขึ้นก่อนที่ตนเข้ามาเป็นหุ้นส่วนด้วย (มาตรา ๑๐๕๒) กล่าคือ หุ้นส่วนใหม่ต้องรับผิดไปในหนี้ของห้างทั้งหนี้ที่เกิดขึ้นก่อนและที่เกิดขึ้นภายหลังที่ตนได้เข้ามาเป็นหุ้นส่วน
ข้อจำกัดอำนาจของผู้เป็นหุ้นส่วนไม่ผูกพันบุคคลภายนอก
หุ้นส่วนจะมีการตกลงกันจำกัดอำนาจหรือจำกัดความรับผิดต่างๆ ไว้อย่างไรก็ได้ เป็นไปตามสัญญาในการจัดตั้งห้างหุ้นส่วนนั้น แต่ทั้งนี้ก็มีผลเพียงเฉพาะกับหุ้นส่วนด้วยกันเท่านั้น จะอ้างขอตกลงนั้นขึ้นยันบุคคลภายนอกผู้กระทำโดยสุจริตไม่ได้ตามมาตรา ๑๐๕๓ ดังนั้น หากบุคคลภายนอกรู้ข้อจำกัดของหุ้นส่วนนั้นแล้วยังไปทำสัญญาก็ถือว่าบุคคลภายนอกนั้นไม่สุจริต จะยกเอามาตรา ๑๐๕๓ ขึ้นอ้างไม่ได้
การเลิกและชำระบัญชีห้างหุ้นส่วนสามัญ
การเลิกห้างหุ้นส่วนสามัญ กฎหมายไม่ยอมให้มีการเลิกห้างได้โดยง่ายเหมือนสัญญาโดยทั่วไป โดยจะต้องมีเหตุแห่งการเลิกอย่างใดอย่างหนึ่งก่อนตามกฎหมายจึงจะเลิกห้างกันได้ แต่อย่างไรเสียห้างหุ้นส่วนก็เป็นเรื่องของสัญญาดังนั้นหากว่าได้มีการตกลงกันไว้เกี่ยวกับการเลิกห้างชัดเจนตั้งแต่เริ่มต้นว่าจะเลิกห้างกันเมื่อใดหรือจะเลิกกันอย่างใด การเลิกห้างก็ต้องเป็นไปตามที่ได้ตกลงกันไว้
หลักเกณฑ์การเลิกห้างตามมาตรา ๑๐๕๕
๑. การเลิกห้างโดยข้อสัญญา
(๑.๑) ถ้าในสัญญาทำไว้มีกำหนดกรณีอันใดเป็นเหตุที่จะเลิกกัน เมื่อมีกรณีนั้น
(๑.๒) ถ้าสัญญาทำไว้เฉพาะกำหนดกาลใด เมื่อสิ้นกำหนดกาลนั้น
(๑.๓) ถ้าสัญญาทำไว้เฉพาะเพื่อทำกิจการอย่างหนึ่งอย่างใดแต่อย่างเดียว เมื่อเสร็จการนั้น
ข้อสังเกต ถ้าในตอนเริ่มต้นห้างไม่ได้มีการตกลงกันไว้ หุ้นส่วนทุกคนอาจตกลงกันให้มีการเปลี่ยนแปลงข้อสัญญาเดิมแห่งห้างหุ้นส่วนหรือประเภทแห่งกิจการได้ เว้นแต่จะมีข้อตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่นตามมาตรา ๑๐๓๒ ดังนั้น ภายหลังจากมีห้างหุ้นส่วนแล้วแม้จะไม่มีข้อตกลงในเรื่องดังกล่าวไว้เลย ก็สามารถมีการตกลงกันได้ แต่ต้องเป็นหุ้นส่วนทุกคนให้ความเห็นชอบตามมาตรา ๑๐๓๒
๒. การเลิกห้างหุ้นส่วนโดยบทบัญญัติของกฎหมาย
(๒.๑) เมื่อผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดคนหนึ่งให้คำบอกกล่าวแก่ผู้เป็นหุ้นส่วนคนอื่น ๆ
เมื่อสิ้นรอบปีในทางบัญชีเงินของห้างหุ้นส่วนนั้น และผู้เป็นหุ้นส่วนนั้นได้บอกกล่าวความจำนงจะเลิกล่วงหน้าไม่น้อยกว่า ๖ เดือน ตามมาตรา ๑๐๕๖
(๒.๒) เมื่อผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดคนหนึ่งตาย หรือล้มละลาย หรือตกเป็นผู้ไร้ความสามารถ
ข้อสังเกต
ก. ความเป็นหุ้นส่วนนั้นเป็นสิทธิเฉพาะตัว ดังนั้นเมื่อผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดคนหนึ่งตาย หรือล้มละลาย หรือตกเป็นผู้ไร้ความสามารถ โดยหลักแล้วจึงไม่สามารถถ่ายโอนกันได้ กฎหมายจึงกำหนดให้ห้างต้องเลิกกัน
ข. ข้อยกเว้นที่ห้างหุ้นส่วนไม่เลิกกันเป็นไปตามมาตรา ๑๐๖๐ กล่าวคือ ในกรณีอย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งกล่าวไว้ใน (๒.๑) หรือ (๒.๒) นั้น ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนที่ยังอยู่รับซื้อหุ้นของผู้ที่ออกจากหุ้นส่วนไป สัญญาหุ้นส่วนนั้นก็ยังคงใช้ได้ต่อไปในระหว่างผู้เป็นหุ้นส่วนที่ยังอยู่ด้วยกัน
หลักเกณฑ์การเลิกห้างโดยคำสั่งศาล (มาตรา ๑๐๕๗)
ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดร้องขอเมื่อมีกรณีอย่างใดอย่างหนึ่งดังจะกล่าวต่อไปนี้ ศาลอาจสั่งให้ห้างหุ้นส่วนสามัญเลิกกันเสียก็ได้ คือ
๑. เมื่อผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดคนหนึ่งนอกจากผู้ร้องฟ้องนั้น ล่วงละเมิดบทบังคับใด ๆ อันเป็นข้อสาระสำคัญซึ่งสัญญาหุ้นส่วนกำหนดไว้แก่ตน โดยจงใจหรือเลินเล่ออย่างร้ายแรง
๒. เมื่อกิจการของห้างหุ้นส่วนนั้นจะทำไปก็มีแต่ขาดทุนอย่างเดียวและไม่มีหวังจะกลับฟื้นตัวได้อีก
๓. เมื่อมีเหตุอื่นใด ๆ ทำให้ห้างหุ้นส่วนนั้นเหลือวิสัยที่จะดำรงคงอยู่ต่อไปได้
ข้อสังเกต
(๑) ตัวอย่างตามแนวคำพิพากษาของศาลฎีกาที่มองว่าเป็นเหตุอื่นใดๆ ที่ทำให้ห้างหุ้นส่วนนั้นเหลือวิสัยที่จะดำรงคงอยู่ต่อไปได้
(๑.๑) หุ้นส่วนทะเลาะเบาะแว้งกัน ทำร้ายร่างกายกัน ฆ่ากัน แตกแยกกัน พูดกันไม่รู้เรื่อง ไม่มีทางปรองดองกันเลย
(๑.๒) ผู้เป็นหุ้นส่วนเข้ามาแย่งกันจัดการงานของห้างก่อให้เกิดการทะเลาะวิวาท การบังคับบัญชาในห้างไม่มี ลูกจ้างไม่รู้จะฟังคำสั่งใคร หรือเข้าขัดขวางไม่ให้หุ้นส่วนอีกคนเข้ามาจัดการในห้าง
(๑.๓) เกิดพการทุจริตยักยอกทรัพย์ของห้างหุ้นส่วน
(๑.๔) การที่หุ้นส่วนบางคนไปประกอบกิจการค้าขายแข่งกับห้างจนห้างขาดทุน เอาความลับห้างไปขาย หรือตั้งห้างอื่นขึ้นมาแข่งกับห้าง เอาประโยชน์ของตัวเองเข้ากระเป๋าทำให้ห้างหุ้นส่วนขาดทุนเสียหายมาก
(๒) การเลิกห้างตามคำพิพากษาของศาลนี้ ไม่จำเป็นต้องบอกกล่าวล่วงหน้า เมื่อเกิดเหตุการณ์ใดขึ้นสามารถฟ้องได้เลย
การกำจัดผู้เป็นหุ้นส่วนออกจากห้าง
เมื่อเหตุอันใดอันหนึ่งเกิดขึ้นเกี่ยวด้วยผู้เป็นหุ้นส่วนคนหนึ่ง ซึ่งตามความในมาตรา ๑๐๕๗ หรือมาตรา ๑๐๖๗ เป็นเหตุให้ผู้เป็นหุ้นส่วนทั้งหลายนอกนั้นมีสิทธิจะเรียกให้เลิกห้างหุ้นส่วนได้ ในเมื่อผู้เป็นหุ้นส่วนเหล่านั้นยื่นคำร้อง ศาลจะสั่งให้กำจัดหุ้นส่วนผู้ต้นเหตุคนนั้นออกเสียจากห้างหุ้นส่วนแทนสั่งให้เลิกห้างหุ้นส่วนก็ได้ ในการแบ่งทรัพย์สินระหว่างห้างหุ้นส่วนกับผู้เป็นหุ้นส่วนซึ่งถูกกำจัดนั้น ให้ตีราคาทรัพย์สินของห้างหุ้นส่วนตามราคาที่เป็นอยู่ในเวลาแรกยื่นคำร้องขอให้กำจัด (มาตรา ๑๐๕๘)
การชำระบัญชีห้างหุ้นส่วนสามัญ (มาตรา ๑๐๖๑)
๑. เมื่อห้างหุ้นส่วนเลิกกันแล้วก็ให้จัดการชำระบัญชี เว้นแต่จะได้ตกลงกันให้จัดการทรัพย์สินโดยวิธีอื่นในระหว่างผู้เป็นหุ้นส่วนด้วยกัน หรือว่าห้างหุ้นส่วนนั้นศาลได้พิพากษาให้ล้มละลาย
๒. ถ้าการเลิกห้างหุ้นส่วนนั้นเกิดจากเจ้าหนี้เฉพาะตัวของผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดคนหนึ่งได้ให้คำบอกกล่าวก็ดี หรือโดยที่ผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดคนหนึ่งล้มละลายก็ดี จะงดการชำระบัญชีก็ได้เมื่อเจ้าหนี้คนนั้น หรือเจ้าพนักงานรักษาทรัพย์ยินยอมด้วย
๓. การชำระบัญชีนั้น ให้ผู้เป็นหุ้นส่วนทั้งหมดด้วยกันจัดทำหรือให้บุคคลอื่นซึ่งผู้
เป็นหุ้นส่วนได้ตั้งแต่งขึ้นนั้นเป็นผู้จัดทำ
๔. การแต่งตั้งผู้ชำระบัญชี ให้วินิจฉัยชี้ขาดโดยคะแนนเสียงข้างมากของผู้เป็นหุ้นส่วน
ดังนั้น เมื่อมีการบอกเลิกห้างหุ้นส่วนแล้ว ต้องมีการดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้ (วิธีใดวิธีหนึ่งก็ได้) มิฉะนั้น หุ้นส่วนจะฟ้องเกี่ยวกับเงินต่างๆ ของห้างไม่ได้ เช่น เงินปันผลหรือเงินค่าหุ้น
วิธีที่ ๑ ให้มีการชำระบัญชี การชำระบัญชี เป็นการรวบรวมทรัพย์สินทั้งหมดของห้างหุ้นส่วนมาเพื่อชำระหนี้คืนค่าหุ้นให้แก่หุ้นส่วน ถ้ามีเงินเหลือก็แบ่งเป็นกำไรแก่ผู้เป็นหุ้นส่วน หากรวบรวมทรัพย์สินได้ไม่พอชำระหนี้หรือไม่พอใช้คืนค่าหุ้นก็ให้ผู้เป็นหุ้นส่วนช่วยกันออกส่วนที่ขาดทุนตามส่วน
วิธีที่ ๒ ตกลงให้จัดการทรัพย์สินโดยวิธีอื่น
ข้อสังเกต
(๑) กรณีหุ้นส่วนนั้นถูกฟ้องล้มละลายก็จะเข้าตามมาตรา ๑๐๖๑ ตอนท้าย ซึ่งจะทำให้หุ้นส่วนทั้งหลายจะมาตกลงกันจัดการทรัพย์สินโดยวิธีอื่นไม่ได้แล้ว เพราะกฎหมายล้มละลายกำหนดให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีหน้าที่ในการชำระบัญชี ต้องได้รับความยินยอมจากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ก่อน
(๒) กรณีเลิกห้างเนื่องจากเจ้าหนี้เฉพาะตัวของผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดคนหนึ่งมาบังคับชำระหนี้เอาจากทรัพย์สินของห้างซึ่งหุ้นส่วนคนนั้นมีส่วนร่วมอยู่ด้วย ผู้เป็นหุ้นส่วนในห้างนั้นจะตกลงแบ่งทรัพย์สินกันโดยวิธีอื่นนอกจากการชำระบัญชีไม่ได้ จนกว่าเจ้าหนี้นั้นจะให้ความยินยอม
ผู้ชำระบัญชีห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียน
๑. ผู้ชำระบัญชี คือ ผู้แทนของหุ้นส่วนทุกคนที่มีหน้าที่ในการชำระบัญชีแทนหุ้นส่วนทุกคน เนื่องจากหุ้นส่วนทุกคนไม่สามารถจะชำระบัญชีได้
๒. ผู้ชำระบัญชีมีอำนาจในการรวบรวมทรัพย์สินของห้างมาจำหน่ายและชดใช้หนี้สิน และเรียกร้องหนี้สินของห้าง
๓. ผู้ชำระบัญชีทำงานไม่ดี หุ้นส่วนจะถอดถอนเสียเมื่อไหร่ก็ได้ เว้นแต่ผู้ชำระบัญชีที่ศาลตั้ง
๔. ผู้ชำระบัญชีทำบัญชีทรัพย์สินต่างๆ ขึ้นมา หากหุ้นส่วนไม่เห็นชอบจะบอกปัดให้ไปทำใหม่หรือแก้ไขเพิ่มเติมก็ได้ โดยไม่จำเป็นต้องมาฟ้องศาลขอให้ทำลายรายงานของผู้ชำระบัญชีแต่อย่างใด
๕. บัญชีที่ผู้ชำระบัญชีทำขึ้นและหุ้นส่วนรับรองแล้ว ศาลต้องถือตาม จะสั่งให้คิดใหม่โดยไม่มีเหตุผลอะไรไม่ได้
๖. การฟ้องคดีของผู้ชำระบัญชี จะต้องได้รับมอบอำนาจจากผู้เป็นหุ้นส่วนทั้งหลายด้วย จะฟ้องในนามตนเองไม่ได้ (เฉพาะหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียนเท่านั้น)
คำพิพากษาฎีกาที่ ๒๐๖๑/๒๔๙๒ การชำระบัญชีห้างหุ้นส่วนสามัญที่มิได้จดทะเบียนนั้นกฎหมายมิได้ให้อำนาจผู้ชำระบัญชีมีอำนาจฟ้องคดีดังเช่นผู้ชำระบัญชีห้างหุ้นส่วนสามัญจดทะเบียน ผู้ชำระบัญชีห้างหุ้นส่วนสามัญที่มิได้จดทะเบียนจะฟ้องคดีโดยลำพังไม่ได้ นอกจากผู้เป็นหุ้นส่วนจะมอบอำนาจให้ฟ้อง
กรณีที่ผู้ชำระบัญชีห้างหุ้นส่วนสามัญที่มิได้จดทะเบียนฟ้องคดี จะต้องกล่าวมาพร้อมกับฟ้องว่า มีอำนาจฟ้องคดีอย่างใด จะมากล่าวอ้างขึ้นในภายหลังไม่ได้
รายงานการประชุมของผู้เป็นหุ้นส่วนที่มอบให้ผู้ชำระบัญชีมีอำนาจฟ้องนั้น ไม่ใช่ใบมอบอำนาจ
ลำดับของการชำระบัญชี (มาตรา ๑๐๖๒)
(๑) ให้ชำระหนี้ทั้งหลายซึ่งค้างชำระแก่บุคคลภายนอก
(๒) ให้ชดใช้เงินทดรองและค่าใช้จ่ายซึ่งผู้เป็นหุ้นส่วนได้ออกของตนไปเพื่อจัดการค้าของห้าง
(๓) ให้คืนทุนทรัพย์ซึ่งผู้เป็นหุ้นส่วนแต่ละคนได้ลงเป็นหุ้น
ถ้ายังมีทรัพย์เหลืออยู่อีกเท่าไร ก็ให้เฉลี่ยแจกเป็นกำไรในระหว่างผู้เป็นหุ้นส่วน
ข้อสังเกต หุ้นส่วนที่ลงแต่เฉพาะแรงงาน ตามปกติจะไม่มีการคืนเงินลงทุนให้ เพราะไม่ได้มีอะไรมาลงทุน เว้นแต่หุ้นส่วนจะตกลงกันไว้แล้วว่าให้คืนได้
การฟ้องคดีระหว่างผู้เป็นหุ้นส่วนด้วยกัน
๑. หุ้นส่วนทุกคนร่วมกันฟ้องบุคคลภายนอกแทนห้างได้ (ไม่ใช่กรณีฟ้องหุ้นส่วนด้วยกันเอง)
๒. หุ้นส่วนคนใดคนหนึ่งฟ้องคดีแทนห้างเมื่อมีผู้มาทำละเมิดกับห้างได้
๓. หุ้นส่วนซึ่งเป็นคู่สัญญากับบุคคลภายนอกฟ้องแทนห้างได้ (หุ้นส่วนที่ไม่ใช่เป็นคู่สัญญาฟ้องไม่ได้)
๔. ในกรณีที่หุ้นส่วนเพียงบางคนฟ้องคดี คำฟ้องต้องระบุชัดเจนว่าเป็นการฟ้องแทน หรือฟ้องในนามของห้าง หรือในนามของผู้แทนหุ้นส่วนทุกคน มิใช่เป็นการฟ้องโดยส่วนตัว
๕. มื่อเลิกห้างแล้ว หุ้นส่วนคนเดียวจะมาฟ้องเรียกหนี้สินในฐานะส่วนตัวหรือในฐานะผู้ชำระบัญชีจะต้องได้รับมอบอำนาจจากหุ้นส่วนอื่นทุกคนจึงจะฟ้องได้
๖. ถ้าห้างยังไม่เลิกหุ้นส่วนจะฟ้องขอแบ่งทรัพย์สินของห้างหรือขอคืนค่าทุนหาได้ไม่
แนวคำวินิจฉัยของศาลฎีกาที่ยกเว้นไม่ต้องมีการชำระบัญชี (เฉพาะกรณีห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียนเท่านั้น)
๑. ไม่มีความจำเป็นต้องชำระบัญชีเพราะไม่มีบุคคลภายนอกเข้ามาเกี่ยวข้อง ไม่มีความยุ่งยากเกี่ยวกับทรัพย์สิน
๒. การชำระบัญชีไม่มีความจำเป็นแต่อย่างใด จึงให้แบ่งทรัพย์สินระหว่างหุ้นส่วนกันไปได้
ข้อสังเกต กรณีหุ้นส่วนด้วยกันเองฟ้องหุ้นส่วนอีกคนหนึ่งว่าผิดสัญญาโดยไม่ได้มีการฟ้องเลิกห้าง ดังนี้ ไม่จำเป็นต้องมีการชำระบัญชีเข้ามาเกี่ยวข้อง
ห้างหุ้นส่วนสามัญจดทะเบียน
เมื่อห้างหุ้นส่วนสามัญได้มีการจดทะเบียนแล้ว ห้างนั้นก็จะกลายเป็นนิติบุคคล กล่าวคือ เป็นบุคคลอีกคนหนึ่งต่างหากจากผู้เป็นหุ้นส่วน สามารถจะถือกรรมสิทธิ์ ฟ้องคดี หรือต่อสู้คดีเองได้
หลักเกณฑ์การจดทะเบียนนั้น ห้างหุ้นส่วนสามัญที่จะจดทะเบียนจะต้องมีคำขอที่ระบุรายการครบถ้วนตามมาตรา ๑๐๖๔ โดยการลงทะเบียนจะต้องลงลายมือชื่อของผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคนและต้องประทับตราของห้างด้วย จากนั้นพนักงานทะเบียนจะทำใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนส่งมอบให้แก่ห้างหุ้นส่วนไว้ ๑ ฉบับ นอกจากนี้เมื่อได้พิมพ์โฆษณาแล้ว ก็ถือว่าเอกสารและข้อความซึ่งลงทะเบียนในย่อรายการนั้น เป็นอันรู้แก่บุคคลทั่วไปตามมาตรา ๑๐๒๒
ผู้เป็นหุ้นส่วนก็ดี ห้างหุ้นส่วนก็ดี หรือบริษัทก็ดี จะถือเอาประโยชน์แก่บุคคลภายนอกเพราะเหตุที่มีสัญญาหรือเอกสาร หรือข้อความอันบังคับให้จดทะเบียนตามลักษณะนี้ยังไม่ได้ จนกว่าจะได้จดทะเบียนแล้ว แต่ฝ่ายบุคคลภายนอกจะถือเอาประโยชน์เช่นว่านั้นได้ แต่ถึงกระนั้นก็ดี ผู้เป็นหุ้นส่วน ผู้ถือหุ้น ห้างหุ้นส่วน หรือบริษัทซึ่งได้รับชำระหนี้ก่อนจดทะเบียนนั้นย่อมไม่จำต้องคืน (มาตรา ๑๐๒๓)
ห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทจะยกมาตรา ๑๐๒๓ ขึ้นต่อสู้บุคคลภายนอกผู้สุจริตเพื่อไม่ให้ต้องรับผิดโดยอ้างว่าผู้เป็นหุ้นส่วน ห้างหุ้นส่วน บริษัทหรือกรรมการไม่มีอำนาจกระทำการมิได้ (มาตรา ๑๐๒๓/๑)
ผลของการจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนสามัญ
๑. ห้างหุ้นส่วนและตัวผ็เป็นหุ้นส่วนต้องผูกพันตามข้อที่จดทะเบียนไว้ ถ้าโฆษณาในราชกิจจานุเบกษาแล้ว บุคคลภายนอกก็ถูกปิดปากเกี่ยวกับข้อที่จดทะเบียนไว้ตามมาตรา ๑๐๒๒ และ ๑๐๒๓
๒. การควบคุมการดำเนินกิจการและมาตรฐานการสอบบัญชีเข้มงวดมากกว่ากรณีเป็นห้างหุ้นส่วนไม่จดทะเบียน
๓. เมื่อห้างจดทะเบียนก็จะมีฐานะเป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากผู้เป็นหุ้นส่วนไม่จดทะเบียน เมื่อห้างหุ้นส่วนไม่จดทะเบียนก็ไม่มีฐานะเป็นนิติบุคคลตามมาตรา ๑๐๑๕
๔. ห้างหุ้นส่วนที่จดทะเบียนต้องรับผิดในการกระทำของผู้เป็นหุ้นส่วนต่างหากจากผู้เป็นหุ้นส่วนด้วย
๕. ถ้าห้างหุ้นส่วนซึ่งจดทะเบียนยังมิได้เลิกกัน เจ้าหนี้ของผู้เป็นหุ้นส่วนเฉพาะตัวย่อมใช้สิทธิได้แต่เพียงในผลกำไรหรือเงินซึ่งห้างหุ้นส่วนค้างชำระแก่ผู้เป็นหุ้นส่วนคนนั้นเท่านั้น เมื่อห้างหุ้นส่วนนั้นเลิกกันแล้วเจ้าหนี้ย่อมใช้สิทธิได้ตลอดจนถึงหุ้นของผู้เป็นหุ้นส่วนคนนั้นอันมีในสินทรัพย์ของห้างหุ้นส่วน (มาตรา ๑๐๗๒)
๖. ถ้าผู้จัดการห้างได้กระทำไปนอกเหนือวัตถุประสงค์ของห้างย่อมไม่ผูกพันห้างและห้างสามารถที่จะอ้างยันต่อบุคคลภายนอกว่าไม่ผูกพันห้างได้ แต่ถ้าห้างได้ให้สัตยาบันหรือถือเอาประโยชน์จากการกระทำนั้นก็จะยกขึ้นอ้างต่อบุคคลภายนอกไม่ได้
๗. ผู้เป็นหุ้นส่วนอาจถือเอาประโยชน์แก่บุคคลภายนอกในบรรดาสิทธิอันห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนนั้นได้มา แม้ในกิจการซึ่งไม่ปรากฏชื่อของตน (มาตรา ๑๐๖๕)
๘. ห้ามมิให้ผู้เป็นหุ้นส่วนคนหนึ่งคนใดในห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนประกอบกิจการอย่างหนึ่งอย่างใดอันมีสภาพเป็นอย่างเดียวกัน และเป็นการแข่งขันกับกิจการของห้างหุ้นส่วนนั้น ไม่ว่าทำเพื่อประโยชน์ตนหรือเพื่อประโยชน์ผู้อื่น หรือไปเข้าเป็นหุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิดในห้างหุ้นส่วนอื่น ซึ่งประกอบกิจการอันมีสภาพเป็นอย่างเดียวกัน และแข่งขันกับกิจการของห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนนั้น เว้นไว้แต่จะได้รับคำยินยอมของผู้เป็นหุ้นส่วนอื่นทั้งหมด แต่ข้อห้ามนี้ไม่นำมาใช้ได้ ถ้าหากผู้เป็นหุ้นส่วนทั้งหลายได้รู้อยู่แล้วในเวลาเมื่อลงทะเบียนห้างหุ้นส่วนนั้นว่า ผู้เป็นหุ้นส่วนคนหนึ่งได้ทำกิจการ หรือเข้าเป็นหุ้นส่วนอยู่ในห้างหุ้นส่วนอื่นอันมีวัตถุที่ประสงค์อย่างเดียวกัน และในสัญญาเข้าหุ้นส่วนที่ทำไว้ต่อกันนั้นก็ไม่ได้บังคับให้ถอนตัวออก (มาตรา ๑๐๖๖)
๙. ความรับผิดของผู้เป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนอันเกี่ยวแก่หนี้ซึ่งห้างหุ้นส่วนได้ก่อให้เกิดขึ้นก่อนที่ตนออกจากหุ้นส่วนนั้น ย่อมมีจำกัดเพียง ๒ ปีนับแต่เมื่อออกจากหุ้นส่วน (มาตรา ๑๐๖๘)
๑๐. ห้างหุ้นส่วนสามัญซึ่งจดทะเบียนผิดนัดชำระหนี้ หุ้นส่วนมีความรับผิดในลักษณะเดียวกับผู้ค้ำประกัน
ห้างหุ้นส่วน ค้ำประกัน
มาตรา ๑๐๗๐ เมื่อใดห้างหุ้นส่วนซึ่งจดทะเบียนผิดนัดชำระหนี้ เมื่อนั้นเจ้าหนี้ของห้างหุ้นส่วนนั้นชอบที่จะเรียกให้ชำระหนี้เอาแต่ผู้เป็นหุ้นส่วนคนใดคนหนึ่งก็ได้ มาตรา ๖๘๖ ลูกหนี้ผิดนัดลงเมื่อใด ท่านว่าเจ้าหนี้ชอบที่จะเรียกให้ผู้ค้ำประกัน
ชำระหนี้ได้แต่นั้น
มาตรา ๑๐๗๑ ในกรณีที่กล่าวไว้ในมาตรา๑๐๗๐ นั้น ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนนำพิสูจน์ได้ว่า
(๑) สินทรัพย์ของห้างหุ้นส่วนยังมีพอที่จะชำระหนี้ได้ทั้งหมดหรือบางส่วน และ
(๒) การที่จะบังคับเอาแก่ห้างหุ้นส่วนนั้นไม่เป็นการยากฉะนี้ไซร้
ศาลจะบังคับให้เอาสินทรัพย์ของห้างหุ้นส่วนนั้นชำระหนี้ก่อนก็ได้ สุดแต่ศาลจะ
เห็นสมควร มาตรา ๖๘๙ ถึงแม้จะได้เรียกให้ลูกหนี้ชำระหนี้ดั่งกล่าวมาในมาตราก่อนนั้นแล้วก็ตาม ถ้าผู้ค้ำประกันพิสูจน์ได้ว่าลูกหนี้นั้นมีทางที่จะชำระหนี้ได้ และการที่จะบังคับให้ลูกหนี้
ชำระหนี้นั้นจะไม่เป็นการยากไซร้ ท่านว่าเจ้าหนี้จะต้องบังคับการชำระหนี้รายนั้นเอาจากทรัพย์สิน
ของลูกหนี้ก่อน
ข้อสังเกต ห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนแม้จะพิสูจน์ได้ตามมาตรา ๑๐๗๑ ศาลจะมีดุลพินิจในการที่จะบังคับเอาจากใครก็ได้ แต่ในเรื่องค้ำประกันตามมาตรา ๖๘๙ ศาลไม่มีดุลพินิจ ถ้าผู้ค้ำประกันพิสูจน์ได้ว่าลูกหนี้ชั้นต้นยังมีทรัพย์อยู่และการบังคับเอาทรัพย์นั้นไม่ยาก ต้องไปไปบังคับเอากับลูกหนี้ชั้นต้นก่อน แต่ในห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนนั้นให้ศาลใช้ดุลพินิจได้
สิทธิของผู้เป็นหุ้นส่วนในทรัพย์สินของห้าง
เมื่อมีการจดทะเบียนแล้ว หุ้นส่วนกับห้างซึ่งเป็นคนละคนกัน ทรัพย์สินจึงเป็นของห้างไม่ใช่ของหุ้นส่วน ดังนั้น หุ้นส่วนมีเพียงสิทธิที่จะได้รับแบ่งกำไรตามสัญญาจัดตั้งห้างหุ้นส่วน หรือได้รับทุนหรือค่าหุ้นคืนเมื่อเลิกห้าง ก่อนที่จะมีสิทธิได้รับทุนหรือหุ้นคืนต้องมีการชำระบัญชีก่อน เพราะฉะนั้นเจ้าหนี้ส่วนตัวของผู้เป็นหุ้นส่วนย่อมไม่มีสิทธิในทรัพย์สินของห้าง
ความรับผิดของห้างหรือผู้เป็นหุ้นส่วนในการกระทำของหุ้นส่วนต่อบุคคลภายนอก
ห้างที่จดทะเบียนนั้นต้องจดทะเบียนวัตถุประสงค์ไว้ด้วย เพราะฉะนั้นถ้าหุ้นส่วนหรือผู้จัดการกระทำการนอกวัตถุประสงค์หรือกระทำการที่ไม่ได้เกี่ยวกับวัตถุประสงค์อย่างนี้ ห้างไม่ต้องรับผิด แต่ถ้าจดทะเบียนแล้วใช้คำว่าวัตถุประสงค์ของห้าง ศาลฎีกาวินิจฉัยขยายออกไปว่าเป็นกิจการที่เกี่ยวเนื่องกับวัตถุประสงค์ของห้างก็ต้องรับผิดด้วย เช่น เล่นแชร์เปียหวยเพื่อหาเงินเข้ามาใช้ในกิจการของห้าง หรือกู้เงินมาใช้จ่ายในห้าง เป็นต้น
การควบห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน (มาตรา ๑๐๗๓-๑๐๗๕)
การควบห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนมีหลักคือ ต้องเป็นห้างหุ้นส่วนที่จดทะเบียนหรือห้างหุ้นส่วนจำกัดจึงจะควบเข้ากันได้ และการควบเข้ากันนี้จะต้องได้รับความยินยอมของหุ้นส่วนทุกคนของทั้ง ๒ ห้าง จึงจะควบได้ และถ้ามีเจ้าหนี้ของห้าง การควบห้างหุ้นส่วนด้วยกันเจ้าหนี้จะต้องไม่คัดค้าน และเมื่อควบกันแล้วต้องจดทะเบียนเป็นห้างใหม่
เมื่อมีการควบห้างหุ้นส่วนกันแล้ว หุ้นส่วนที่ควบกันใหม่รับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ของห้างเดิม
ข้อสังเกต กรณีการควบห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนนี้ไม่ได้เป็นการเลิกห้างจึงไม่จำเป็นต้องมีการชำระบัญชี ผลของการควบห้างคือต้องรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ของห้างทั้งสองนั้น

อัพเดทล่าสุด