บริษัทจำกัด คือ


860 ผู้ชม


มาตรา ๑๐๙๗ บุคคลใด ๆ ตั้งแต่สามคนขึ้นไปจะเริ่มก่อการและตั้งเป็นบริษัทจำกัดก็ได้ โดยเข้าชื่อกันทำหนังสือบริคณห์สนธิ และกระทำการอย่างอื่นตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้
ลักษณะสำคัญของบริษัทจำกัด มี ๖ ประการ คือ
๑. มีการร่วมกัน
๒. มีวัตถุประสงค์ประกอบธุรกิจแบ่งกำไร
๓. คงอยู่ตลอดไป (ไม่มีอายุความ)
๔. มีการรวมการจัดการไว้ที่ส่วนกลาง
๕. ความรับผิดของบริษัทอยู่เฉพาะทรัพย์สินที่บริษัทมีอยู่
๖. การโอนหุ้นหรือโอนผลประโยชน์ทำกันได้โดยง่าย
บริษัทต้องจดทะเบียน ถ้านังไม่มีการจดทะเบียนบริษัทจำกัดกับนายทะเบียนกระทรวงพาณิชย์ บริษัทนั้นยังไม่เป็นบริษัทจำกัดจนกว่าจะได้มีการจดทะเบียน
การจัดตั้งบริษัทจะต้องมีการจัดทำหนังสือบริคณห์สนธิและนำหนังสือบริคณห์สนธิไปจดทะเบียน โดยต้องมีผู้ก่อการ ๓ คน เป็นผู้จัดทำ โดยร่างขั้นตอนตามความมุ่งหมายแห่งวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งบริษัทดังกล่าว
หนังสือบริคณห์สนธิจะต้องกำหนดกรอบวัตถุประสงค์ของบริษัท ทุนเรือนหุ้น ผู้เริ่มก่อการมีใครบ้าง สำนักงานใหญ่ตั้งขึ้นที่ไหน
นอกจากจะต้องไปจดทะเบียนหนังสือบริคณห์สนธิแล้ว จะต้องมีการร่างข้อบังคับขึ้นมาแล้วนำไปจดทะเบียนต่อนายทะเบียนเหมือนกัน
รายการของหนังสือบริคณห์สินธิมีบัญญัติอยู่ในมาตรา ๑๐๙๘
การประชุมตั้งบริษัท ผู้เริ่มก่อการหรือผู้ถือหุ้นต้องมาประชุมร่วมกัน โดยมีกิจการที่จะประชุมกันในการตั้งบริษัทคือ จะต้องให้สัตยาบันหรือรับรองสัญญาที่ผู้เริ่มก่อการนั้น ทำเอาไว้เพื่อประโยชน์ของบริษัทและมีการเลือกกรรมการชุดแรกและผู้ชำระบัญชีด้วย
ข้อสังเกต เหตุที่ต้องให้สัตยาบันการกระทำของผู้เริ่มก่อการ เพราะมิฉะนั้นผู้เริ่มก่อการจะต้องรับผิดร่วมกันไม่จำกัดจำนวนทั้งๆ ที่เป็นกิจการซึ่งเป็นไปเพื่อประโยชน์ของบริษัท จะอ้างว่าเป็นการทำแทนบริษัทไม่ได้เพราะบริษัทยังไม่ได้จดทะเบียน หรือจะอ้างว่าเป็นตัวแทนก็ไม่ได้เพราะตัวการยังไม่มีเนื่องจากบริษัทยังไม่ได้จดทะเบียน
การเปลี่ยนแปลงข้อบังคับ หนังสือบริคณห์สนธิจะทำได้ต่อเมื่อมีมติพิเศษ และต้องนำไปจดทะเบียนต่อนายทะเบียน
ผลของการจดทะเบียนบริษัท
ห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทเมื่อได้จดทะเบียนตามกฎหมายแล้ว ก็จะมีฐานะเป็นนิติบุคคลต่างหากจากผู้เป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นทั้งหลายซึ่งรวมเข้ากันเป็นหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้น (มาตรา ๑๐๑๕)
การขอเพิกถอนการเข้าชื่อซื้อหุ้น
เมื่อบริษัทได้จดทะเบียนแล้ว ผู้เข้าชื่อซื้อหุ้นจะร้องฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนการที่ตนได้เข้าชื่อซื้อ โดยยกเหตุว่าสำคัญผิดหรือต้องข่มขู่ หรือถูกลวงล่อฉ้อฉลนั้น ไม่ได้ (มาตรา ๑๑๑๔)
ข้อสังเกต
(๑) หากบริษัทยังไม่ได้จดทะเบียน ไม่ต้องห้ามตามมาตรานี้ สามารถบอกล้างได้
(๒) ห้ามเฉพาะเรื่อโมฆียะกรรมเท่านั้น ไม่ห้ามฟ้องเรียกค่าเสียหายทางแพ่งหรือฟ้องคดีอาญา
หนี้ต่างๆ ที่เกิดขึ้นก่อนบริษัทจดทะเบียน ผู้เริ่มก่อการต้องรับผิดเป็นส่วนตัวในฐานะลูกหนี้ร่วมกันโดยไม่จำกัดจำนวน แต่เมื่อมีการประชุมตั้งบริษัทจดทะเบียน ที่ประชุมตั้งบริษัทอนุมัติหนี้ใด ให้สัตยาบันหนี้ใดก็ทำให้ผู้เริ่มก่อการพ้นจากความรับผิดในหนี้นั้น แต่ยังไม่พ้นความรับผิดจนกระทั่งบริษัทได้จดทะเบียนสมบูรณ์แล้ว ผู้เริ่มก่อการจึงจะพ้นความรับผิด แต่ถ้าที่ประชุมตั้งบริษัทไม่ได้อนุมัติ ผู้เริ่มก่อการทุกคนต้องรับผิดร่วมกันเป็นลูกหนี้ร่วมโดยไม่จำกัดจำนวนในบรรดาหนี้และค่าใช้จ่ายที่ได้กระทำไปดังกล่าวตามมาตรา ๑๑๑๓
กรณีที่ผู้เริ่มก่อการไม่ได้ทำไปในนามบริษัทแต่ระบุชื่อตัวเองลงไปในสัญญา ผู้เริ่มก่อการก็ยังคงต้องรับผิดแม้ว่าบริษัทจะจดทะเบียนนั้นและอนุมัติสัญญานั้นเข้ามาเป็นของบริษัทแล้วก็ตาม ผู้เริ่มก่อการก็ยังคงต้องรับผิดในฐานะส่วนตัวคือเป้นคู่สัญญา
หุ้นต้องชำระด้วยเงินจนเต็มมูลค่า จะไปหักหนี้กับบริษัทไม่ได้ตามมาตรา ๑๑๑๙ โดยเงินส่งใช้ค่าหุ้นคราวแรกนั้น ต้องไม่น้อยกว่าร้อยละ ๒๐ แห่งมูลค่าของหุ้นที่ตั้งไว้
การโอนหุ้น
๑. หุ้นชนิดผู้ถือ โอนได้ด้วยการส่งมอบเช่นเดียวกับตราสารเปลี่ยนมือโดยทั่วไป
๒. หุ้นชนิดระบุชื่อ โอนได้โดยทำเป็นหนังสือและลงลายมือชื่อของผู้โอนกับผู้รับโอน มีพยานคนหนึ่งเป็นอย่างน้อยลงชื่อรับรองลายมือนั้น ๆ หากฝ่าฝืนการโอนนั้นเป็นโมฆะ และต้องแถลงเลขหมายของหุ้นซึ่งโอนกันนั้นด้วย

อัพเดทล่าสุด