พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตราที่ 100-107 หมวด 8 ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน


706 ผู้ชม


พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตราที่ 100-107
 
:: หมวด 8 ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน
 มาตรา 100 ให้มีคณะกรรมการความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานประกอบด้วย ปลัดกระทรวงแรงงาน และสวัสดิการสังคมเป็นประธานกรรมการ อธิบดีกรมสวัสดิการและ คุ้มครองแรงงาน ผู้แทนกรมอนามัย ผู้แทนกรมโรงงานอุตสาหกรรม ผู้แทนกรมโยธาธิการ และ ผู้แทนกรมควบคุมมลพิษ เป็นกรรมการ กับผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายลูกจ้างฝ่ายละเจ็ดคน ซึ่งรัฐมนตรี แต่งตั้งเป็นกรรมการ และข้าราชการกรมสวัสดิการและคุ้มครอง แรงงานซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งเป็นกรรมการและเลขานุการ
 มาตรา 101 คณะกรรมการความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานมีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้
 (1) เสนอความเห็นต่อรัฐมนตรีเกี่ยวกับนโยบาย แผนงาน หรือมาตรการความปลอดภัย อาชีวอนามัย และการพัฒนา สภาพแวดล้อมในการทำงานของลูกจ้าง
 (2) เสนอความเห็นต่อรัฐมนตรีในการออกกฏกระทรวง ประกาศหรือระเบียบเพื่อดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้
 (3) ให้ความเห็นแก่หน่วยงานของรัฐเกี่ยวกับการส่งเสริม ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน ของลูกจ้าง
 (4) ปฏิบัติการอื่นใดตามที่พระราชบัญญัตินี้หรือกฎหมาย อื่นบัญญัติให้เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน หรือตามที่ รัฐมนตรีมอบหมาย
 มาตรา 102 ให้นำ มาตรา 78 วรรคสอง มาตรา 80 มาตรา 81 มาตรา 82 วรรคหนึ่ง มาตรา 83 และ มาตรา 84 มาใช้บังคับกับคณะกรรมการความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน โดยอนุโลม
 มาตรา 103 ให้รัฐมนตรีมีอำนาจออกกฎกระทรวงกำหนด มาตรฐานให้นายจ้างดำเนินการในการบริหารและการจัดการด้าน ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน
 ในกรณีที่กฎกระทรวงตามวรรคหนึ่งกำหนดให้การจัดทำ เอกสารหลักฐาน หรือรายงานใดต้องมีการรับรองหรือตรวจสอบ โดยบุคคลหนึ่งบุคคลใดตามหลักเกณฑ์และวีธีการที่กำหนด กฎกระทรวงนั้นจะกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการขึ้นทะเบียนและ การเพิกถอนทะเบียน อัตราค่าธรรมเนียมการขึ้นทะเบียนไม่เกิน อัตราท้ายพระราชบัญญัตินี้ และอัตราขึ้นสูงของค่าบริการที่ บุคคลดังกล่าวจะเรียกเก็บไว้ด้วยก็ได้
 มาตรา 104 ในกรณีที่พนักงานตรวจแรงงานพบว่า นายจ้างผู้ใดฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามกฎกระทรวงที่ออกตาม มาตรา 103 ให้พนักงานตรวจแรงงานมีอำนาจออกคำสั่งเป็น หนังสือให้นายจ้างปรับปรุงสภาพแวดล้อมในการทำงาน อาคาร สถานที่ หรือจัดทำหรือแก้ไขเครื่องจักรหรืออุปกรณ์ ที่ลูกจ้างต้องใช้ในการปฏิบัติงานหรือที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติ ให้ถูกต้องหรือเหมาะสมภายในระยะเวลาที่กำหนด
 มาตรา 105 ในกรณีที่พนักงานตรวจแรงงานพบว่า สภาพ แวดล้อมในการทำงาน อาคารสถานที่ เครื่องจักรหรืออุปกรณ์ที่ ลูกจ้างใช้จะก่อให้เกิดความไม่ปลอดภัยแก่ลูกจ้างหรือนายจ้างไม่ ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานตาม มาตรา 104 เมื่อ ได้รับอนุมัติจากอธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายให้พนักงาน ตรวจแรงงานมีอำนาจสั่งให้นายจ้างหยุดการใช้เครื่องจักรหรือ อุปกรณ์ดังกล่าวทั้งหมดหรือบางส่วนเป็นการชั่วคราวได้
 ให้นายจ้างจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้างซึ่งพนักงานตรวจแรงงาน สั่งให้นายจ้างหยุดการใช้เครื่องจักรหรืออุปกรณ์ตามวรรค หนึ่งเท่ากับค่าจ้างในวันทำงานตลอดระยะเวลาที่ลูกจ้างหยุด ทำงาน ทั้งนี้ จนกว่านายจ้างจะได้ดำเนินการให้ถูกต้องตาม คำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานนั้นแล้ว
 มาตรา 106 คำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานตาม มาตรา 104 หรือ มาตรา 105 ให้อุทธรณ์ต่อคณะกรรมกา ความปลอดภัยอาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน ได้ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ทราบคำสั่ง คำวินิจฉัยของ คณะกรรมการนั้นให้เป็นที่สุด
 การอุทธรณ์ตามวรรคหนึ่งย่อมไม่เป็นการทุเลาการ ปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานเว้นแต่คณะกรรมการ ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน จะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น
 มาตรา 107 ให้นายจ้างจัดให้มีการตรวจสุขภาพของ ลูกจ้างและส่งผลการตรวจดังกล่าวแก่พนักงานตรวจแรงงาน ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง
 

อัพเดทล่าสุด