CIO นำธงความสำเร็จสู่องค์กร


772 ผู้ชม


ผลวิจัยชี้ CIO มีบทบาทต่อความสำเร็จขององค์กรสูง นอกจากภารกิจด้านการพัฒนาควบคุมและดูแลระบบสารสนเทศในองค์กรแล้ว ยังมีบทบาทด้านการวางแผนยุทธศาสตร์ด้วย

พื้นที่โฆษณา  
สนใจลงโฆษณา ติดต่อ โทร.0-2642-3400 ต่อ 4613

จากการจัดทำวิจัยเพื่อศึกษาถึง “บทบาทของผู้บริหารระดับสูงด้านเทคโนโลยีสารสนเทศที่มีผลต่อความสำเร็จขององค์กร” ซึ่งจัดทำโดย eENTERPRISE ร่วมกับศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาผู้นำสังคม ธุรกิจ และการเมือง (ระบบการศึกษาทางไกลทางอินเทอร์เน็ต) วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต เมื่อช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมา พบว่าผู้บริหารระดับสูงด้านเทคโนโลยีสารสนเทศในองค์กร (ซีไอโอ) มีบทบาทในระดับมากในองค์กร ซึ่งนอกจากบทบาทในหน้าที่แล้วยังมีบทบาทในด้านการวางแผนยุทธ์ศาสตร์ในองค์กรอีกด้วย

โดยการทำวิจัยในครั้งนี้ใช้การวิเคราะห์จากการตอบแบบสอบถามของบรรดาซีไอโอที่อยู่ภายใต้สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และ International Academy of CIO สถาบันผู้บริหารระดับสูงด้านเทคโนโลยีสารสนเทศของภาครัฐ ในเขตกรุงเทพมหานครฯ และปริมณฑล จำนวน 364 คน ซึ่งได้ข้อสรุปเป็นค่าเฉลี่ยดังจะได้กล่าวต่อจากนี้

จากการสำรวจพบว่าเพศชาย คิดเป็นร้อยละ 84.3 มีอายุระหว่าง 31-40 ปี คิดเป็นร้อยละ 43.7 รองลงมามีอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป โดยมีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน มากกว่า 40,000 บาท คิดเป็นร้อยละ 90.9 มีอายุงานปัจจุบัน 15 ปี คิดเป็นร้อยละ 50.0 ส่วนใหญ่มีการศึกษาในระดับปริญญาโท  คิดเป็นร้อยละ 64.0 และมีประสบการณ์ทำงานมากกว่า 15 ปี คิดเป็นร้อยละ 53.6 ตามตารางประกอบ 1 (ข้อมูลผู้ตอบแบบสอบถาม)

CIO บทบาทที่มากกว่าหน้าที่หลัก

โดยการสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับบทบาทของซีไอโอต่อความสำเร็จขององค์กรนั้นพบว่า หน้าที่หลักมีผลต่อความสำเร็จต่อองค์กรอยู่ในระดับมากตามลำดับ ดังนี้ ด้านการควบคุมดูแลระบบงาน ด้านการพัฒนาระบบงาน ด้านการตระหนักถึงลูกค้าและการให้บริการ ส่วนบทบาทต่อการวางแผนยุทธศาสตร์ขององค์กรซึ่งไม่ได้เป็นหน้าที่โดยตรงแต่มีผลต่อความสำเร็จขององค์กรเป็นลำดับที่สี่ ขณะที่ด้านการพัฒนาบุคลากรนั้นมีนัยสำคัญอยู่แต่องค์กรไม่ได้ให้ความสำคัญเรื่องนี้มากนัก โดยสรุปคือองค์กรจึงควรพัฒนาบทบาทของซีไอโอเพื่อให้องค์กรมีความสำเร็จมากขึ้น

แต่อย่างไรก็ตามการสำรวจในครั้งนี้ประเด็นที่น่าสังเกตุ คือเมื่อเปรียบเทียบบทบาทกับเพศ ปรากฎว่า เพศมีผลต่อความสำเร็จในองค์กรด้านการวางแผนยุทธศาสตร์ แต่ไม่มีผลต่อด้านอื่นๆ ได้แก่ด้านการควบคุมดูแลระบบงาน ด้านการพัฒนาระบบงาน ด้านการตระหนักถึงลูกค้าและการให้บริการ และด้านการพัฒนาบุคลากร ดังนั้นอธิบายได้ว่า ในสังคมไทยเพศหญิงยังไม่เป็นที่ยอมรับอย่างชัดเจน โดยเฉพาะเรื่องที่สำคัญ โดยจะเห็นได้ว่าเพศมีผลเฉพาะด้านการวางแผนยุทธศาสตร์ซึ่งเป็นหัวใจของการดำเนินธุรกิจขององค์กร

โดยผลสำรวจดังกล่าวเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับการสำรวจบทบาทของซีไอโอในระดับอาเซียน ซึ่งพบว่า 94% ของประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายสารสนเทศ (ซีไอโอ) ในอาเซียนระบุว่า บทบาทของซีไอโอในอาเซียนมีความสำคัญเพิ่มมากขึ้นในภาคธุรกิจ โดยหากวัดความเป็นผู้นำขององค์กรจากความสามารถของบุคลากรและทักษะความเป็นผู้นำแล้ว พบว่า ยังคงตามหลังการจัดการและทักษะทางเทคโนโลยีของประเทศต่างๆ ในอาเซียน

นอกจากนี้ผลสำรวจซีไอโอในอาเซียนนั้ง ซีไอโอยังตระหนักถึงความสำคัญในการพัฒนาบทบาทของตนเองจากผู้นำทางด้านไอที ไปสู่บทบาทผู้นำทางด้านธุรกิจ ซึ่งมีความชำนาญในการบริหารจัดการ การกำหนดกลยุทธ์ และการปกครองผู้ใต้บังคับบัญชา(อ่านข้อมูลผลการสำรวจเพิ่มเติมใน โพลล์อาเซียนชี้ CIO สำคัญต่อภาคธุรกิจ)

จากผลการสำรวจบทบาทของซีไอโอต่อความสำเร็จขององค์กรของ eENTERPRISE และวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต ในครั้งนี้ ยังได้รับความเห็นจากข้อเสนอแนะต่างๆ ที่กล่าวถึงบทบาทของซีไอโอที่มีผลต่อความสำเร็จขององค์กรจากผู้ตอบแบบสอบถามอีกด้วย โดยข้อมูลระบุว่า “ซีไอโอต้องรู้เรื่องธุรกิจมากขึ้นไม่ได้เน้นเรื่องเทคนิคด้านเดียว” ขณะที่ข้อเสนอแนะของซีไอโอผู้ตอบแบบสอบถามอีกท่านกล่าวว่า “ซีไอโอเป็นหน้าที่ที่ยากมาก  ต้องอยู่เบื้องหลังความสำเร็จ ต้องรู้จักธุรกิจ และทิศทางธุรกิจ” (อ่านข้อมูลเพิ่มเติมใน ข้อชี้แนะ CIO ต้องรู้เรื่องธุรกิจ )

นอกจากนี้ในแบบสอบถามยังได้ผลในรายละเอียดเกี่ยวกับขีดความสามารถขององค์กรต่อระดับความคิดเห็นกับผลสัมฤทธิ์ ซึ่งในแบบสอบถามให้ซีไอโอแสดงความคิดเห็นใน 5 ระดับคือ 1-5 โดย 1  = ระดับน้อยที่สุด, 2 = ระดับน้อย, 3 = ระดับปานกลาง, 4 = ระดับมาก และ 5 = ระดับมากที่สุด ซึ่งผลที่ออกมาว่า การมุ่งเน้นการบริหารจัดการด้านการพัฒนาระบบไอทีให้ประหยัดพลังงานนั้นอยู่ในระดับปานกลาง แสดงความองค์กรยังไม่ได้ให้ความสำคัญด้านนี้มากนัก

เช่นเดียวกับในประเด็นการจัดการงบประมาณในด้านการวางแผนต้นทุนการใช้งานนอกระบบ (outsourcing) ยังอยู่ในระดับปานกลาง แปลว่าองค์กรไม่ได้ให้ความสำคัญด้านดังกล่าวเท่านั้น (โปรดดูรายละเอียดในตารางประกอบ 2 ข้อมูลระดับแปลผลของผู้ตอบแบบสอบถามเกี่ยวกับขีดความสามารถขององค์กร)                 

 

จากตาราง ข้อมูลระดับแปลผลของผู้ตอบแบบสอบถามเกี่ยวกับบทบาทซีไอโอในองค์กร   (ดูตารางประกอบ 3) มีนัยสำคัญด้านการพัฒนาบุคลากร ซึ่งหากองค์กรให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมให้บุคลากรสอบใบรับรองสารสนเทศด้านต่างๆ ที่สนับสนุนความเชี่ยวชาญในระบบมากขึ้น และหากมีการกำหนดเส้นทางการเติบโตในสายงานอาชีพด้วย จะช่วยยกระดับบุคลากรในสายงานไอทีนั่นเอง


ข้อชี้แนะ CIO ต้องรู้เรื่องธุรกิจ

จากข้อเสนอแนะในตอนท้ายของแบบสอบถามของการสำรวจบทบาทซีไอโอพบความคิดเห็นที่เสนอแนะในหลายด้าน ซึ่งมีส่วนที่สอดคล้องกับบทบาทซีไอโอต่อความสำเร็จขององค์กร คือซีไอโอควรมีความรู้ด้านธุรกิจควบคู่ไปกับหน้าที่หลักจะยิ่งทำให้องค์กรประสบความสำเร็จมากขึ้น ทั้งนี้ได้นำแนวคิดจากซีไอโอผู้ตอบแบบสอบถามแต่ละท่านมาถ่ายทอดดังนี้

  • ซีไอโอต้องรู้เรื่องธุรกิจมากขึ้นไม่ได้เน้นเรื่องเทคนิคด้านเดียว  รวมถึงให้ความรู้และพัฒนาคน จัดระเบียบคนทั้งด้านการใช้งาน ผลกระทบและความสามารถ สำหรับองค์กรเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องมีหลักคิดที่ดี มี framework ที่ดี  รู้ว่าอะไรควรกำหนดในระดับนโยบาย ระดับปฏิบัติ บางเรื่องต้องมีเทคโนโลยีมาช่วยในการปฏิบัติงานมีขั้นตอนในการตรวจสอบที่ทำให้มั่นใจว่าทุกคนสามารถปฏิบัติตามได้อย่างสม่ำเสมอ หากปรุงแต่งส่วนผสมให้เหมาะสมจึงจะเป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จขององค์กร รวมถึงการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง แลกเปลี่ยนและต่อยอด เพื่อลดต้นทุนและรับประกันความสำเร็จในการขับเคลื่อน
  • การสร้างความสำคัญให้องค์กรเห็นประโยชน์การใช้ไอทีอย่างต่อเนื่อง เพื่อพัฒนาองค์กรไปสู่การใช้งานระบบออนไลน์อย่างเต็มรูปแบบ
  • ซีไอโอเป็นหน้าที่ที่ยากมาก  ต้องอยู่เบื้องหลังความสำเร็จ ต้องรู้จักธุรกิจ และทิศทางธุรกิจ ตลอดจนถึง  chain  ที่เกี่ยวเชื่อมโยง  ต้องทำหน้าที่ change agent ไปพร้อมๆ กับ  ต้องเก่ง  communicate ; collaborate ;  consolidate ; connected  คน  กระบวนการ และ เทคโนโลยี ให้สอดคล้องซึ่งกันและกัน  โดยต้องมีวิวัฒนาการเปลี่ยนแปลง ปรับปรุง อยู่เสมอ ( continuous  change &  improvement )  โดยต้องสร้างและพัฒนาทายาท อย่างต่อเนื่อง ให้สู้คู่แข่ง ประเทศใกล้เคียงให้ได้
  • ควรเน้นแนวทางในการดำเนินงาน ด้านนวัตกรรมและร่วมมือกับหน่วยงานภายนอก เพื่อให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และสังคมอย่างเท่าเทียบกัน
  • ควรสร้างมาตรฐานในองค์กรให้สอดคล้องกับนโยบายและขั้นตอนการดำเนินงานด้านไอที
  • ต้องติดตามและเอาใจใส่ต่อระบบงานสารสนเทศที่ใช้งานอยู่โดยตลอด เพื่อให้เกิดการดูแลรักษาระบบโดยทีมงานอย่างเต็มที่ เพื่อให้เกิดความพึงพอใจแก่ผู้ใช้บริการ มีการติดตามวิทยาการใหม่ๆ และให้โอกาสทีมงานได้ทดสอบวิทยาการเหล่านั้น ก่อนจะพิจารณานํามาใช้จริง
  • ซีไอโอต้องกําหนดนโยบายการประยุกต์ใช้ระบบสารสนเทศ ให้กับหน่วยงานภายในองค์กรอย่างทั่วถึง ศึกษากฎระเบียบของภาครัฐที่เกี่ยวกับการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศทั้งที่มีผลบังคับใช้แล้วและที่หลังจะประกาศตามมา เพื่อนํามาปรับปรุงระบบสารสนเทศที่ดูแลอยู่ ให้มีความสามารถสอดคล้องกับกฎระเบียบต่างๆ เพื่อไม่ให้เกิดการปฏิบัติผิดกฎหมายขึ้นในองค์กร

โดยผลสำรวจชี้ให้เห็นถึงแนวคิดของซีไอโอในยุคปัจจุบันที่แตกต่างจากอดีตที่ผ่านมา ซึ่งพบว่าความเปลี่ยนแปลงในบทบาทของซีไอโอที่มากขึ้นและสำคัญขึ้นนั้น ไม่ต่างไปจากการที่องค์กรจะต้องปรับเปลี่ยนแนวคิดด้านการพัฒนาระบบไอที จากที่ในอดีตมองว่าเป็นต้นทุน แต่ในยุคนี้ต้องมองเป็นการลงทุนเพื่อพัฒนาองค์กร ทั้งนี้เนื่องจากไอทีเป็นเครื่องมือสำคัญในการดำเนินธุรกิจไปแล้ว

โพลล์อาเซียนชี้ CIO สำคัญต่อภาคธุรกิจ

การสำรวจความคิดเห็นของซีไอโอในระดับอาเซี่ยนที่กล่าวข้างต้น เกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่างสถาบันอินซีแอด (INSEAD) และไอบีเอ็มเมื่อช่วงเดือนมกราคม-พฤษภาคมที่ผ่านมา โดยได้ทำการในการสำรวจความเป็นผู้นำของซีไอโอในอาเซียนในประเทศสมาชิกอาเซียน 6 ประเทศ ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม ระบุว่า บทบาทของซีไอโอในอาเซียนมีความสำคัญเพิ่มมากขึ้นในภาคธุรกิจ

โดยด้านการจัดการความสามารถของบุคลากร ซีไอโอมองว่าบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถเป็นปัจจัยหลักในการเสริมสร้างองค์กร  ทั้งนี้ซีไอโอในอาเซียนเชื่อว่านอกเหนือจากการบริหารจัดการและดูแลพนักงานฝ่ายไอทีโดยรวมแล้ว ตนเองยังมีบทบาทในการระบุและบ่มเพาะความสามารถของบุคลากรอีกด้วย  80.4% ของผู้ตอบแบบสำรวจเห็นด้วยว่าการระบุและการพัฒนาบุคลากรฝ่ายไอทีถือเป็นส่วนสำคัญในการปฏิบัติงานในฐานะซีไอโอ 

ส่วนด้านการจัดการความเปลี่ยนแปลงและลูกค้า ซีไอโอตระหนักว่าควรมีการจัดการการเปลี่ยนแปลงในฝ่ายไอทีภายในกรอบโครงสร้างที่เหมาะสมสำหรับการบริหารองค์กรและงานไอทีอย่างโปร่งใส นอกจากนี้ ผู้บริหารระดับซีไอโอในอาเซียนยังชี้ว่า การปรับปรุงประสบการณ์และความพึงพอใจของลูกค้าทั้งภายในและภายนอกองค์กรถือเป็นหนึ่งในงานสำคัญที่สุดของซีไอโอ นอกเหนือจากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานไอทีที่มีเสถียรภาพและประหยัดค่าใช้จ่าย

ด้านการจัดการความหลากหลายนั้นบรรดาซีไอโอต่างยอมรับว่าไอทีเป็นเครื่องมือสำคัญ และยังต้องรับรู้ถึงความจำเป็นของระดับความเป็นผู้นำในเชิงคุณภาพ กล่าวคือ คุณสมบัติที่สำคัญอย่างยิ่งของผู้นำแบบ “e-leader” ในระบบเศรษฐกิจแห่งองค์ความรู้ (Knowledge Economy) ก็คือ ความเข้าใจที่ลึกซึ้งเกี่ยวกับผลกระทบของเครือข่ายสารสนเทศที่มีต่องค์กร สังคม และวัฒนธรรม

นอกจากนี้ซีไอโอในภูมิภาคอาเซียนยังมองว่าตนเองเป็นหนึ่งในผู้บริหารระดับสูงที่มีความสำคัญถึง 88.5% ขณะที่ความเข้าใจในระบบงานธุรกิจถือเป็นเรื่องดี ปัจจุบันซีไอโอจำเป็นที่จะต้องเข้าใจกระบวนการทางธุรกิจ ทั้งยังต้องสามารถกำหนดมาตรฐานและลดความยุ่งยากซับซ้อนในระบบงานดังกล่าว

ทั้งนี้ 76.7% ของผู้ตอบแบบสำรวจในระดับอาเซี่ยนระบุว่า ประสบการณ์ทางด้านการดำเนินธุรกิจถือเป็นเกณฑ์สำคัญในการรับสมัครซีไอโอในปัจจุบัน นอกจากนั้น 81.2% ยังชี้ว่า ความพร้อมทางด้านทรัพยากรถือเป็นจุดแข็งประการหนึ่งในแนวทางการพัฒนาความเป็นผู้นำ

ขณะที่ด้านความตระหนักรู้ (Awareness) โดยทั่วไปแล้ว ซีไอโอในอาเซียนตระหนักถึงความสำคัญในการพัฒนาบทบาทของตนเองจากผู้นำทางด้านไอที ไปสู่บทบาทผู้นำทางด้านธุรกิจ ซึ่งมีความชำนาญในการบริหารจัดการ การกำหนดกลยุทธ์ และการปกครองผู้ใต้บังคับบัญชา แต่กระนั้น บรรดาผู้บริหารคนอื่นๆ รวมถึงคู่ค้าและลูกค้าของบริษัท มักจะละเลยความสำคัญดังกล่าว รวมทั้งประเด็นเรื่องประโยชน์ที่จะได้รับจากการพัฒนาบทบาทนี้ เช่น การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และความสำเร็จโดยรวมขององค์กร

การที่เศรษฐกิจโลกในปัจจุบันมีวงจรการสร้างสรรค์นวัตกรรมและการผลิตที่สั้นลง ทั้งยังมีการเปลี่ยนแปลงลำดับชั้นของผู้ผลิต ผู้ขาย และผู้ซื้ออย่างต่อเนื่อง นั่นหมายความว่าองค์กรต่างๆ จำเป็นที่จะต้องตัดสินใจเรื่องที่เกี่ยวข้องภายในเวลาอันรวดเร็ว และดังนั้นจึงเพิ่มแรงกดดันให้แก่ซีไอโอมากยิ่งขึ้น  การระบุโอกาสใหม่ๆ เกี่ยวกับเทคโนโลยี ตลาด รูปแบบธุรกิจ และโครงสร้างบริษัท เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่ทุกวันในองค์กรทั่วโลกที่มีความคล่องตัวสูงและประสบความสำเร็จในการดำเนินงาน และซีไอโอก็มีบทบาทสำคัญอย่างมากในเรื่องนี้

ข้อเสนอในผลสำรวจระบุว่าวิธีหนึ่งในการพัฒนา ‘ซีไอโอที่ดี’ สำหรับภูมิภาคอาเซียนก็คือ การเสริมสร้างทักษะใหม่ๆ ให้แก่ซีไอโอ ทั้งนี้ผลการสำรวจชี้ว่า ซีไอโอในอาเซียนได้ขยายขอบเขตทักษะทางวิชาชีพและความสนใจในด้านต่างๆ ซึ่งช่วยปรับปรุงขีดความสามารถในการสื่อสารกับบุคลากรในแผนกอื่นๆ ภายในองค์กร รวมถึงคู่ค้า ลูกค้า และซัพพลายเออร์

ธันวา เลาหศิริวงศ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด ได้กล่าวสรุปถึงการสำรวจความคิดเห็นในครั้งนี้ว่า หลายๆ องค์กรจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนแปลงทัศนคติและมุมมองในเรื่องบทบาทของไอที จากเดิมที่มองว่าไอทีเป็นแหล่งที่มาของค่าใช้จ่าย แต่ในปัจจุบัน หลายๆ ฝ่ายเริ่มตระหนักว่าไอทีคือกลจักรสำคัญในการเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน ทั้งยังช่วยกระตุ้นการเติบโตของธุรกิจ ไอบีเอ็มมีประวัติที่ยาวนานในเรื่องของการประสานงานร่วมกับซีไอโอจากทั่วทุกมุมโลก เพื่อปรับเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจโดยอาศัยเทคโนโลยี และเรายังมีส่วนผลักดันบทบาทของซีไอโอให้ก้าวขึ้นสู่สถานะของผู้บริหารระดับสูงเพื่อความสำเร็จในอนาคตอีกด้วย

อัพเดทล่าสุด