SimCity: Societies “เมืองสำเร็จรูปที่คุณสร้างได้”


1,264 ผู้ชม


“Simcity คือเกมตระกูลสร้าง-จัดวางผังเมืองที่ได้รับความนิยมจากเกมเมอร์ทั่วโลกมายาวนานกว่า 18 ปีเต็ม ไม่จำกัดเฉพาะสาวกพีซี แต่ยังรวมไปถึงระบบคอนโซลและเครื่องเล่นแบบพกพาอีกมากมาย (ล่าสุดคือ NDS และ Wii) นับว่านี่เป็นเวทย์มนตร์อีก 1 บทของตา Will Wright บิดา Simcity ที่เต็มไปด้วยมนต์เสน่ห์ชวนหลงใหลแบบไม่รู้ลืมจริงๆ”

พื้นที่โฆษณา  
สนใจลงโฆษณา ติดต่อ โทร.0-2642-3400 ต่อ 4613

Will Wright คือผู้อยู่เบื้องหน้า (และหลัง) ความสำเร็จของสตูดิโอ Maxis ด้วยเกม SimCity ผลงานเกมสร้างเมืองชิ้นแรกที่เขาเป็นผู้พัฒนาขึ้นมากับมือ จนเกิดกระแส “ซิม ฟีเวอร์” ตามมาติดๆ ตลอดช่วง 10 ปีให้หลัง ไม่ว่าจะเป็น Sim Tower, Sim Ants, Sim Golf หรือกระทั่ง The Sims ที่ฮิตติดใจบรรดาสาวๆ กว่าค่อนโลก

นอกจากนี้ Will ยังเป็นโปรแกรมเมอร์เต็มไปด้วยไอเดียสร้างสรรค์ไม่หยุดนิ่ง ที่ยังคงเฝ้าค้นหาความเป็นไปได้ในเรื่องของ “พัฒนาการ” “ปฏิสัมพันธ์” และ “จักรวาลอันไร้ขอบเขต” ด้วยปณิธานอันยิ่งใหญ่ในการสร้างโลกเกมให้มีชีวิต มีสังคม พัฒนาการและปฏิสัมพันธ์ไม่ต่างไปจากบนโลกแห่งความเป็นจริง ซึ่งเป็นสาเหตุให้เขาเริ่มตีจาก Simcity ก้าวไปสู่ TheSims ที่มีระบบการเล่นเจาะลึกเชิงสัมพันธ์ภาพทางสังคมที่มากกว่า นอกจากนี้ Spore ผลงานล่าสุดของ Will ยังถือเป็นสิ่งยืนยันถึงเจตนารมณ์ที่แท้จริงของเขาในการสร้างระบบ “ชีวิต” เสมือนจริงบนโลกดิจิตอลเกมอีกด้วย

 

ดังนั้น SimCity ในชื่อ Societies นี้จึงถูกเปลี่ยนมือทีมพัฒนาไปอยู่ในความดูแลของ Tilted Mill Entertainment ซึ่งผ่านงานเกมแนวสร้างอาณาจักรมาแล้วอย่างโชกโชนแทน (Children of the Nile และ Caesar IV) ไม่ใช่เพียงแค่ทีมพัฒนาเท่านั้น ทาง EA เองยังได้ปรับเปลี่ยนแนวทางของเกมไปในทิศทางใหม่เพื่อตอบรับกับเหล่าเกมเมอร์ในระดับแคชชวล (ขาจรทั่วไป) และด้วยสิ่งนี้ละครับที่กลายเป็นจุดเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของตำนาน SimCity ที่ผมจะมาเจาะลึกให้กับคุณผู้อ่านอย่างหมดเปลือกในฉบับนี้ครับ
     
“พลังงานสังคม” อาหารจานหลักที่หล่อเลี้ยงเมือง

ระบบการเล่นหลักในการบริหารเมืองภาคนี้ต่างไปจากเดิมพอสมควร ใครที่ติดตามซีรีส์นี้มานานคงจำกันได้นะครับว่าที่แล้วๆ มาการสร้างเมืองที่ดีจะต้องคอยดูแลสมดุลระหว่างภาคประชากร อุตสาหกรรม และเศรษฐกิจ ทั้ง 3 เรื่องนี้เป็นปัจจัยสำคัญ เพื่อที่เมืองจะได้สามารถเติบโตต่อไปได้แบบไม่หยุดนิ่ง

สำหรับภาค Societies จะมีปัจจัยต่างๆ เพิ่มเข้ามามีส่วนในการพัฒนาเมืองอยู่ทั้งหมด 2 ส่วนใหญ่ด้วยกัน อย่างแรกคือ “พลังงานสังคม” ซึ่งแบ่งออกเป็น 6 ประเภท คือ พลังแรงงาน ความมั่งคั่ง ความคิดสร้างสรรค์ ความศรัทธา การปกครอง และความรอบรู้ อย่างที่สองคืออัตราการจ้างงาน (ตำแหน่งงานทั้งหมดที่มีอยู่ในเมืองนั้นๆ รวมถึงจำนวนตำแหน่งงานที่ยังว่างอยู่) และจำนวนประชากร (ทั้งที่มีงานทำและว่างงาน)

พลังงานสังคมมาจากไหน? คำตอบก็คือ การสร้างสิ่งก่อสร้างต่างๆ เช่นที่อยู่อาศัย สิ่งตกแต่ง อาคารสำนักงาน และสถานบันเทิง ทั้งหมดนี้จะเกี่ยวข้องกับค่าพลังงานสังคมทั้งสิ้น อาคารบางประเภทจะให้ค่าพลังงานสังคมด้านความมั่งคั่ง 15 หน่วย เมื่อก่อตั้งมันไว้ในเมืองของคุณ ในขณะที่อาคารอีกประเภทจะต้องการค่าพลังความคิดสร้างสรรค์ 8 หน่วยในการก่อสร้าง เป็นต้น ดังนั้นคุณจึงต้องให้ความสำคัญในการตรวจสอบค่าโบนัสและความต้องการด้านพลังงานสังคมของสิ่งก่อสร้างทุกประเภทเอาไว้ให้ดี รวมถึงสะสมค่าพลังที่จำเป็นกับแนวทางพัฒนาเมืองเอาไว้ให้มากที่สุด

อัตราการจ้างงาน-จำนวนประชากร เป็นสิ่งที่สำคัญไม่ต่างกัน เพราะเมื่อคุณคิดจะสร้างอาคารประเภทสำนักงานบริการหรือสถานบันเทิงลงไป ต้องตรวจสอบก่อนว่าอาคารชนิดนั้นสามารถรองรับตำแหน่งงานหรือจำนวนผู้ใช้บริการได้มากน้อยแค่ไหน หากคุณเอาแต่สร้างที่อยู่อาศัยแต่ไม่ได้ใส่ใจกับอาคารสำนักงานมากนัก จำนวนคนตกงานก็จะมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งจะเปลี่ยนให้พลเมืองสุดรักของคุณแปลงร่างเป็นตีนแมวย่องเบา ล้วงกระเป๋า และคดีอาชญากรรมอีกสารพัด

เมืองในฝันแบบไหน กำหนดได้ตามใจคุณ

ที่ผ่านมาใน ซิมส์ซิตี้ คุณอาจเคยหวังเอาไว้ว่าอยากสร้างเมืองให้กลายเป็นมหานิคมอุตสาหกรรมที่ยิ่งใหญ่ด้วยโรงงานทันสมัยละลานตา เมืองที่เต็มไปด้วยตึกสูงเสียดฟ้า ศูนย์การค้าและการพาณิชย์ หรือบ้านไร่แสนสุข ห้อมล้อมด้วยธรรมชาติรื่นรมย์ ฟังดูก็เข้าทีดี แต่ด้วยข้อจำกัดหลายๆ ประการทำให้คุณไม่อาจสร้างอะไรที่แตกต่างมากไปกว่านั้นได้ชัดเจนนัก

เป็นเรื่องดีที่ซิมส์ซิตี้ภาคนี้มีฟังก์ชันการจัดแบ่งธีมของสิ่งก่อสร้างออกเป็นหมวดหมู่ ด้วยแคตาล็อกที่สามารถแสดงเฉพาะธีมสิ่งก่อสร้างที่อยู่ในกลุ่มเดียวกันให้เลือกสร้างได้ง่ายๆ ไม่สับสน ธีมหลักที่เกมตั้งเอาไว้ให้ (นอกเหนือจากแบบปกติ) มีอยู่ทั้งหมด 8 ธีมด้วยกัน คือ เมืองขนาดเล็ก, อุตสาหกรรม, ทุนนิยม, โรแมนติก, Fun City, นักคิด, จอมบงการ และเมืองไฮเทค

 

เมื่อคลิกเลือกธีม เมืองขนาดเล็ก ซึ่งเป็นรูปแบบเมืองที่เน้นพัฒนาด้านชนชั้นแรงงานและการเกษตร คุณจะพบว่าสิ่งก่อสร้างจำพวกตึกอาคารใหญ่โตหรูหรานั้นหายวับไปจากลิสต์รายการ กลายเป็นบ้านขนาดเล็ก โรงรีดนมวัว ที่อาสาสมัครชุมชน ร้านค้าแบบบ้านๆ ทั่วไปมาแทนที่ ข้อดีของการเลือกใช้ธีมที่มีให้ในการพัฒนาขยับขยายเมืองนอกจากจะทำให้ดูเป็นระเบียบเรียบร้อยแล้ว มันยังช่วยให้คุณไม่สับสนกับการเลือกสะสมแต้มค่าพลังงานสังคมด้วย แต่ทั้งหมดก็ขึ้นอยู่กับไอเดียของคุณเองนั่นละว่าจะผสานธีมที่มีอยู่ทั้งหมดให้ออกมาเป็นเมืองที่น่าอยู่ได้มากน้อยแค่ไหน

ระบบแบ่งโซนที่หายไป

ความเปลี่ยนแปลงอีกประการหนึ่งที่ทำให้ Societies แตกต่างออกไปจากภาคอื่นในซีรีส์ก็คือ ระบบโซนนิ่งที่ให้คุณลากเมาส์กำหนดพื้นที่เขตที่อยู่อาศัย ย่านการค้า และอุตสาหกรรมได้ล้มหายตายจากไปแล้ว... มาคราวนี้คุณสามารถคลิกเลือกสิ่งก่อสร้างแล้วจับมันวางลงไปบนพื้นที่ที่ต้องการได้ทันทีตามสไตล์เกมแนว Tycoon นั่นหมายความว่าคุณไม่ต้องใช้เวลาเฝ้ารอให้อาคารบ้านเรือนต่างๆ ค่อยๆ ผุดขึ้นมาเป็นรูปเป็นร่างอีกต่อไป หน้าที่ของคุณคือการจัดวางทุกๆ อย่างให้ลงตัวตามแบบแปลนที่ร่างไว้ในหัวเท่านั้นเอง

ปัญหาที่คุณต้องเจอไม่ใช่ระยะเวลายาวนานที่ต้องเสียไปกับการนั่งเฝ้าดูเมืองเติบโตอย่างเชื่องช้าเหมือนก่อน หากแต่เป็นการวางผังเมืองให้มีประสิทธิภาพต่างหากที่สำคัญ การวางสถานที่ทำงานเอาไว้ใกล้ๆ กับย่านพักอาศัยจะช่วยให้ชาวซิมส์สามารถเดินทางไปทำงานได้รวดเร็วขึ้นและมีเวลาเหลือพอในการพักผ่อน แน่นอนว่าสถานบันเทิงเองก็ควรจะอยู่ในที่ที่ไม่ไกลออกไปจากละแวกเดียวกันนั้นด้วย สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้ชาวซิมส์มีความสุขและขยันทำงานเพิ่มรายได้เข้าคลังของคุณจนพองโตขึ้นแบบไม่รู้เนื้อรู้ตัวเลยทีเดียว

 

ตามที่บอกไปก่อนหน้านี้ว่าระบบโซนนิ่งได้ถูกตัดทิ้งไปเรียบร้อยแล้ว แต่ก็มีสิ่งอื่นผุดขึ้นมาแทนที่ด้วยเช่นกัน นั่นคือระบบการใช้คำสั่งพิเศษเฉพาะตัวของอาคารบางประเภทที่เรียกว่า “แอ็กชัน” ซึ่งจะให้ผลที่แตกต่างกัน (มีทั้งฟรีและเสียเงิน) โดยแอ็กชันบางอย่างสามารถเรียกใช้ได้ทันทีทุกเวลา ในขณะที่บางอย่างจำเป็นต้องทำตามเงื่อนไขให้ครบเสียก่อนจึงจะเรียกใช้ได้ ยกตัวอย่างเช่น ห้องสมุดประชาชนมีปุ่ม “แอ็กชัน” สำหรับใช้เพิ่มค่าความจุในการใช้งานตามอาคารหลังที่เลือกแบบถาวร แต่คุณจะกดใช้ได้ต่อเมื่อห้องสมุดแห่งนี้มีผู้มาใช้บริการตั้งแต่ 100 คนขึ้นไปเสียก่อน เป็นต้น

ความสามารถของระบบแอ็กชันไม่ได้มีเพียงเท่านี้ คุณจำเป็นต้องใช้มันในอีกหลายๆ กรณี โดยเฉพาะกับสถานีตำรวจและสถานีดับเพลิง เนื่องจากเวลาเกิดเหตุทะเลาะวิวาท ชุมนุมม็อบ ตึกถล่ม ไฟไหม้ฯลฯ บางครั้งผู้เล่นต้องเป็นคนสั่งการให้พวกเขารุดหน้ามายังที่เกิดเหตุด้วยตัวเองเพื่อความรวดเร็ว และในจำนวนคำสั่งพิเศษทั้งหมดก็ยังมีบางอันที่ดูเหมือนไม่ค่อยมีประโยชน์แต่ใช้งานได้จริง เช่น ฮอตสปอต ที่จะบันดาลให้พื้นที่บริเวณแถบนั้นกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวสุดฮิตในชั่วขณะหนึ่ง โดยเพิ่มแรงกระตุ้นให้ชาวซิมส์แห่กันแวะเวียนไปใช้บริการสถานบันเทิงละแวกนั้นนั่นเอง
     
ความขลังที่สูญหาย จนอาจกลายเป็นเมืองร้าง...

ก่อนที่จะได้สัมผัสกับตัวเกมจริงๆ เชื่อว่าหลายคนคงรู้สึกดีใจว่า ความหวังที่จะได้เห็นการกลับมาของ ซิมส์ซิตี้ สุดยอดเกมสร้างเมืองนั้นกลายเป็นจริงแล้ว แต่ความรู้สึกนั้นกลับต้องมลายหายไปเมื่อทีมพัฒนาถูกเปลี่ยนมือ แถมรูปแบบเกมยังถูกปรับเปลี่ยนไปซะจนเราแทบจำไม่ได้ว่าครั้งหนึ่งมันเคยเป็นเกมที่ยอดเยี่ยมมากแค่ไหน

จุดดีของ SC: Societies คือ กราฟิกและสภาพแวดล้อมในเกมเต็มไปด้วยสีสันสดใสมีรูปแบบอินเทอร์เฟซที่สวยงาม  เป็นระเบียบเรียบร้อยและใช้งานได้ง่ายดายมากๆ สำหรับมือใหม่ เกมจะมีหน้าต่างคอยให้คำแนะนำซึ่งช่วยให้ผู้เล่นมือใหม่จับแนวทางของเกมได้ในเวลาอันสั้น (เช่นเดียวกับโหมดฝึกสอนที่น่าชมเชย) ระบบการใช้ค่าพลังงานสังคมก็เป็นไอเดียที่ดีอย่างหนึ่ง ส่วนกราฟิกโดยรวมนั้นถือว่ายังไม่ทิ้งห่างไปจากเดิมมากนัก ทว่าสิ่งที่เป็นปัญหาก็คือ ตัวเกมขาดความลึกในการเล่นจนเกินไป ทั้งยังทำให้ผมรู้สึกเบื่อหน่ายได้ในเวลาไม่กี่ชั่วโมงเท่านั้น เนื่องจากมันถูกลดทอนฟีเจอร์หลักๆ ที่เป็นจุดขายลงไปจนเกือบหมด

 

สิ่งที่หายไปมีตั้งแต่เรื่องยิบย่อยอย่างการวางท่อน้ำประปาใต้ดิน เสาไฟฟ้า ทางรถไฟใต้ดิน (สิ่งที่คุณทำได้คือสร้างทางขึ้น-ลงสถานีรถไฟใต้ดินเท่านั้น) ไปจนถึงเรื่องใหญ่ๆ ที่ทำให้เกมเมอร์ทั่วโลก (รวมถึงผม) ต่างพากันผิดหวัง นั่นคือ การยกเลิกระบบโซนนิ่ง เป็นเพราะแฟนเกมต่างพึงพอใจกับการคอยลุ้นว่าพื้นที่ว่างๆ ที่พวกเขาจัดสรรแบ่งส่วนเอาไว้จะถูกพัฒนาไปเป็นอย่างไร แมนชันหรูหรา อาคารขนาดใหญ่ที่ดูโอ่อ่า หรือตึกสูงเสียดฟ้าที่น่าเกรงขามกันแน่ที่จะโผล่ออกมาเรียงรายอยู่เต็มพื้นที่นั้นๆ ทั้งหมดขึ้นอยู่กับฝีมือของผู้เล่นเป็นปัจจัยสำคัญ ซึ่งกว่าจะทำได้ถึงขนาดนั้นก็ต้องอาศัยเทคนิคการหมุนเงินทุน การจัดวางผังเมืองที่ดี และความเอาใจใส่ต่อสภาพความเป็นอยู่ของชาวเมืองอย่างทั่วถึง นี่ละครับคือเสน่ห์ของ ซิมส์ซิตี้ที่แท้จริง

การที่ผู้เล่นสามารถซื้อหาอาคารสำเร็จรูปต่างๆ แล้วนำลงไปวางตามจุดที่ต้องการ (แถมอาคารที่วางลงไปไม่สามารถพัฒนาเปลี่ยนแปลงตัวเองไปตามกาลเวลาได้) อาศัยดึงดูดผู้เล่นด้วยอาคารรูปแบบใหม่ๆ ที่ต้องสะสมค่าพลังสังคมเพื่อปลดล็อกอีกจำนวนหนึ่ง ทำให้ผมรู้สึกเหมือนกับว่ากำลังเล่นเกมจัดแต่งสวนมากกว่าจะเป็นเกมสร้างมหานคร  แม้ในส่วนการเล่นจะยังต้องอาศัยการคิดคำนวณการวางพื้นที่อาศัย อาคารสำนักงาน และแหล่งบันเทิงอยู่เหมือนเดิม

แต่ก็ไม่ได้ส่งผลกระทบในการเล่นจริงมากมายนัก เช่นเดียวกับการบริหารเงินในคลังที่ง่ายจนแทบไม่มีทางเป็นไปได้ที่งบประมาณจะติดตัวแดง เพียงแค่จัดวางอาคารสำนักงานให้พอดีกับจำนวนปริมาณประชากรในเมือง พยายามเลือกทำเลที่ไม่ห่างจากย่านพักอาศัยมากนัก บรรดาประชาซิมส์จะเดินทางไปทำงานเพื่อผลิตซิโมลีน (ค่าเงินในโลกของซิมส์) ให้กับคุณอย่างสม่ำเสมอ ยิ่งพวกเขามีความสุขมาก จำนวนซิโมลีนที่จะได้รับก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้นไปอีก

 

จะว่าไประบบการเล่นของมันก็ไม่ได้เลวร้ายอะไร ถ้าไม่นับว่าเกมจะอืดขึ้นเรื่อยๆ อย่างน่าตกใจเมื่อคุณสร้างเมืองขยายออกไปได้ระยะหนึ่ง  และหากไม่อัพเดต Patch ตัวล่าสุด (https://www.actiontrip.com/files/patches/simcitysocieties.phtml) มาติดตั้งก่อนเล่นเกมละก็ คุณจะพบกับอาการเกมค้าง เกมเด้งออกไปยังหน้าจอเดสก์ทอปอยู่เป็นระยะ

โดยรวมแล้วตัวเกมนั้นไม่ค่อยเห็นความแตกต่างไปจากเกมสร้างเมืองเจ้าอื่นๆ ที่ทยอยกันออกมาในช่วงหลังๆ นี้มากนัก และยังคงสนุกสำหรับคนที่อยากออกแบบเมืองตามอุดมคติด้วยธีมมหานครทั้ง 8 แบบที่เกมมีมาให้ สิ่งผิดพลาดเพียงอย่างเดียวของมันก็คือ การใช้ชื่อ SimCity เป็นตัวชูโรงเท่านั้นเองจริงๆ ครับ

Game Degree 5.4 /10 Point
Graphic          7.0 /10 Point
Control           8.5 /10 Point

 

อัพเดทล่าสุด