สร้างแบ็กอัพเซิร์ฟเวอร์


766 ผู้ชม


สร้างแบ็กอัพเซิร์ฟเวอร์

ระดับความยาก : ปานกลาง (3)

อย่างที่เราพร่ำบอกอยู่เสมอว่าการแบ็กอัพนั้นเป็นเรื่องสำคัญ และนี่ถือเป็นงานหลักอันดับต้นๆ ของฝ่ายไอทีในองค์กรใหญ่ๆ แต่กับธุรกิจขนาดเล็ก เรื่องนี้กลับถูกมองข้ามไป ทั้งๆ ที่ข้อมูลในเชิงธุรกิจไม่ว่าจะเป็นของบริษัทขนาดไหน ก็มีความสำคัญทั้งนั้น และแน่นอนว่าถ้าสูญหายไป คุณและธุรกิจของคุณเดือดร้อนแน่

สาเหตุที่ธุรกิจขนาดเล็กมักไม่ใส่ใจกับเรื่องของการแบ็กอัพ หลักๆ น่าจะมาจากความไม่สะดวกในทางปฏิบัติ เพราะอาจต้องให้พนักงานแบ็กอัพกันเอง และส่วนใหญ่แล้ว ทางเลือกที่มีคงหนีไม่พ้นการแบ็กอัพใส่แผ่นออปติคัลดิสก์อย่างซีดีหรือดีวีดี ซึ่งก็จะมีปัญหาในเรื่องของการจัดเก็บให้เป็นระบบระเบียบตามมา จึงน่าจะเป็นการดีกว่า ถ้าคุณจะนำเครื่องเก่าปลดระวางแล้ว มาสร้างเป็นแบ็กอัพเซิร์ฟเวอร์ เพื่อใช้เป็นศูนย์กลางของการแบ็กอัพในออฟฟิศ

แบ็กอัพเซิร์ฟเวอร์ไม่ได้ต้องการประสิทธิภาพในการประมวลผลมากนัก เครื่องที่ใช้เพนเทียมทรีและมีหน่วยความจำ 256 เมกะไบต์ก็เพียงพอที่จะรองรับงานของเซิร์ฟเวอร์นี้ได้เล้ว คุณจึงสามารถใช้เครื่องเก่าที่เตรียมโละมาทำแบ็กอัพเซิร์ฟเวอร์ได้อย่างสบาย แต่ที่แบ็กอัพเซิร์ฟเวอร์ต้องการมากก็คือพื้นที่จัดเก็บข้อมูล และนั่นหมายถึงคุณต้องซื้อฮาร์ดดิสก์ขนาดใหญ่มาติดตั้งเพิ่ม และอาจต้องติดตั้งหลายตัว ขึ้นอยู่กับขนาดของงานแบ็กอัพในออฟฟิศคุณ (ถ้าติดตั้งภายในเครื่องแล้วไม่พอ คุณอาจใช้ฮาร์ดดิสก์แบบเอ็กซ์เทอร์นอลที่ต่อผ่านทางยูเอสบีมาเสริมเพื่อเพิ่มความจุได้)

แน่นอนว่าเครื่องเก่าของคุณควรที่จะมีการ์ดเน็ตเวิร์กติดตั้งอยู่แล้ว และก็ต่อเข้ากับเครือข่ายภายในออฟฟิศ งานลำดับต่อไปของคุณก็คือ มองหาโปรแกรมแบ็กอัพที่ให้คุณตั้งตารางเวลาสำหรับแบ็กอัพทั้งแบบฟูลและ incremental (เฉพาะส่วนที่เปลี่ยนแปลง) ผ่านทางแลนได้ ซึ่งก็ไม่ได้เป็นเรื่องยากอะไร เพราะมีวางขายอยู่มากมายหลายตัว แต่ถ้าคุณไม่อยากลงทุนอะไรเพิ่มเติมมากไปกว่านี้ ก็อาจต้องหันไปพึ่งบริการของฟรีแวร์อย่างเช่น Backup Server 6.2 (https://www.backuptoserver.com/) ซึ่งให้คุณใช้ได้ฟรี แต่ก็แน่นอนว่าคงไม่ดีหรือสะดวกเท่ากับซอฟต์แวร์แบ็กอัพที่คุณต้องจ่ายเงินซื้อ

หลังจากที่แบ็กอัพเซิร์ฟเวอร์ของคุณแบ็กอัพแบบฟูลในครั้งแรกเสร็จสิ้น (ซึ่งมักจะใช้เวลานานมาก) และพร้อมสำหรับการแบ็กอัพตามตารางเวลาที่คุณกำหนดไว้แล้ว คุณสามารถยกเครื่องลงไปวางใต้โต๊ะ หรือวางแอบไว้ที่มุมใดมุมหนึ่ง เพื่อไม่เกะกะพื้นที่ทำงานในออฟฟิศของคุณ และก็ปล่อยให้เครื่องทำงานไป 
       

สร้างแบ็กอัพเซิร์ฟเวอร์


       อย่ารอให้หายนะมาเยือนก่อนจึงคิดถึงเรื่องของการแบ็กอัพ เพราะถึงตอนนั้นก็สายไปเสียแล้ว
      
      
ทำซูเปอร์ไฟร์วอลล์

ระดับความยาก : ปานกลาง (3)

แม้ว่าคุณจะเปิดการทำงานของวินโดวส์ไฟร์วอลล์ในทุกเครื่อง และเราเตอร์ของคุณสนับสนุน NAT (Network Address Translation) รวมไปถึง SPI (Stateful Packet Inspection) แต่การป้องกันเพียงแค่นี้ไม่ได้ช่วยอะไรคุณมากเท่าไร เพราะคุณก็ยังเสี่ยงต่อการโดนไวรัสโจมตี หรือโดนสปายแวร์เข้ามาล้วงข้อมูลสำคัญออกไปอยู่ดี

แน่นอนว่าการหาชุดรักษาความปลอดภัยอย่าง ZoneAlarm Pro (ราคาประมาณ 1,400 บาท) มาใช้ ถือเป็นเรื่องที่ดี แต่คุณก็ต้องซื้อมาติดตั้งทุกเครื่องที่มีอยู่ในบริษัท และนั่นหมายถึงค่าใช้จ่ายจำนวนไม่น้อย ซึ่งอาจหนักหนาเกินไปสำหรับออฟฟิศขนาดเล็ก การนำเครื่องเก่าที่ไม่ได้ใช้งานแล้วของคุณมาทำเป็นไฟร์วอลล์แบบฮาร์ดแวร์ จึงน่าจะเป็นทางเลือกที่เข้าท่ากว่า เพราะนี่หมายถึงคุณจะมีกำแพงด่านหน้าที่ช่วยปกป้องทั้งเครือข่าย

สำหรับบริษัทที่ต้องการประหยัดให้ถึงที่สุด ก็อาจต้องมองไปที่ไฟร์วอลล์ดิสทริบิวชันบนแพลตฟอร์มของลินุกซ์ ซึ่งมีให้คุณเลือกไปใช้ได้ฟรีมากมาย ที่เราสนใจและอยากแนะนำก็คือ SmoothWall Express (https://www.smoothwall.org/) เพราะมีความต้องการขั้นต่ำของระบบไม่มาก แต่ทำอะไรได้มากมายหลายอย่าง ขอแค่เครื่องเก่าของคุณใช้ตัวประมวลผลเพนเทียม มีแรม 64 เมกะไบต์ ฮาร์ดดิสก์ขนาด 40 กิกะไบต์ และมีไดรฟ์ซีดี ก็สามารถใช้งานไฟร์วอลล์ดิสทริบิวต์นี้ได้แล้ว จะมีที่พิเศษก็ตรงที่คุณต้องติดตั้งการ์ดเน็ตเวิร์กลงในเครื่อง 2 ตัวเท่านั้น

ที่ดีอีกอย่างของ SmoothWall ก็คือ คุณไม่จำเป็นต้องรู้เรื่องเกี่ยวกับลินุกซ์เลยก็ได้ เพราะที่คุณต้องทำก็แค่ดาวน์โหลดไฟล์ติดตั้ง สร้างซีดีสำหรับบูต จากนั้นก็ติดตั้งตัวแอพพลิเคชันซึ่งจะมีโอเอสรวมอยู่ในตัว แล้วก็ทำตามไปทีละขั้นตอนที่ปรากฏขึ้นมา ซึ่งเข้าใจได้ง่ายและช่วยในการคอนฟิกให้อีกต่างหาก เพียงเท่านี้คุณก็จะได้ไฟร์วอลล์ ‘Smoothie’ ซึ่งมีคุณสมบัติการทำงานมากมาย ไม่ว่าจะเป็นคุณสมบัติพื้นฐานอย่าง NAT หรือ SPI รวมไปถึงการบล็อกไอพีแอดเดรสที่น่าสงสัย ทำพอร์ตฟอร์เวิร์ดดิ้ง เซตอัพ VPN ไปจนถึงการซิงก์เข้ากับ Network Time Protocol Server

คุณยังสามารถสั่งให้ ‘Smoothie’ ทำหน้าที่เป็นพร็อกซี่เซิร์ฟเวอร์และ DHCP เซิร์ฟเวอร์ได้ในตัว รวมไปถึงคอนฟิกให้รัน Snort ซึ่งเป็นยูทิลิตี้โอเพ่นซอร์สยอดนิยมสำหรับการตรวจจับการบุกรุก ได้อีกด้วย 
      

1. สร้างแผ่นบูต : เช่นเดียวกับลินุกซ์ดิสทริบิวต์ชันส่วนใหญ่ SmoothWall (ที่เราใช้คือ SmoothWall Express เบต้าเวอร์ชันล่าสุด) ให้คุณดาวน์โหลดไปใช้ได้ฟรี โดยจะอยู่ในรูปของไฟล์ ISO ซึ่งคุณต้องเบิร์นใส่แผ่นซีดีก่อน
      

2. ติดตั้งซอฟต์แวร์ : ในการติดตั้ง SmoothWall คุณต้องลงลินุกซ์ก่อน และนั่นหมายถึงข้อมูลทั้งหมดที่มีอยู่ในเครื่องจะหายไป ที่เราชอบก็คือดิสทริบิวชันนี้จะช่วยแนะนำคุณผ่านขั้นตอนต่างๆ ในแบบที่เข้าใจได้ง่าย ชนิดที่คุณแทบไม่จำเป็นต้องรู้เรื่องเกี่ยวกับลินุกซ์มาก่อนเลยก็สามารถติดตั้งได้
      
      
ใช้ให้คุ้มค่าที่สุด

ระดับความยาก : ง่าย (1)

เครื่องเก่าของคุณอาจรันวิสต้าไม่ไหว หรือช้าเกินไปที่จะใช้เรนเดอร์งานใน Adobe Photoshop แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเครื่องเหล่านั้นจะทำอะไรไม่ได้แล้ว เพราะสำหรับงานพื้นๆ ทั่วไปในออฟฟิศอย่างเช่นเวิร์ดโพรเซสซิง อีเมล์ หรือท่องเว็บ ซึ่งไม่ได้ต้องการพลังขับเคลื่อนจากซีพียูสูงมากนัก พีซีที่ออกวางขายเมื่อหลายปีที่แล้วยังสามารถรับมือกับงานเหล่านี้ได้อย่างสบาย

คุณอาจเก็บเครื่องเหล่านี้ไว้ใช้เป็นเครื่องสำรองในกรณีที่เครื่องซึ่งพนักงานใช้อยู่ประจำมีปัญหา เพราะอย่างน้อยพนักงานของคุณก็ยังสามารถทำงานทั่วๆ ไปได้ หรือถ้าคุณรับพนักงานเข้ามาใหม่ซึ่งยังมีหน้าที่รับผิดชอบอะไรไม่มากนัก คุณก็อาจนำพีซีเหล่านี้ไปใช้ จะได้ไม่ต้องลงทุนซื้อเครื่องใหม่

วิธีง่ายๆ ที่สามารถทำให้พีซีเครื่องเก่าของคุณกลับมาดูน่าใช้งานอีกครั้งก็คือ การเปลี่ยนจอ CRT ที่เก่าและภาพค่อนข้างมัวแล้ว ไปเป็นจอแอลซีดีขนาด 17 นิ้ว ซึ่งทุกวันนี้ขายอยู่ที่ประมาณ 5 พันบาทเท่านั้น บวกกับการทำความสะอาดเคส ซื้อคีย์บอร์ดและเมาส์ใหม่ เพียงเท่านี้พนักงานของคุณจะรู้สึกเหมือนได้เครื่องใหม่มาใช้งาน และถ้าจะให้ดียิ่งขึ้น คุณอาจจ่ายเพิ่มอีกสักนิดเพื่อเลือกซื้อเป็นจอแบบไวด์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าพนักงานของคุณต้องง่วนอยู่กับสเปรดชีตใหญ่ๆ อยู่เป็นประจำ 
       
      
บริจาคสร้างแบ็กอัพเซิร์ฟเวอร์

ระดับความยาก : ง่าย (1)

ถ้าคุณทำตามแนวคิดที่เราแนะนำ รวมไปถึงนำไปใช้งานในรูปแบบอื่นๆ แล้ว ก็ยังคงเหลือเครื่องส่วนหนึ่งที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์อยู่ดี อย่าตั้งทิ้งให้หยากไย่ขึ้นเฉยๆ เพราะยังมีคนอื่นที่ใช้ประโยชน์ได้ ชัดเจนที่สุดก็คือนักเรียนในโรงเรียนที่อยู่แถวออฟฟิศคุณ หรือไม่ก็ยังมีมูลนิธิอีกมากมายที่รอรับบริจาคจากคุณอยู่ เช่น มูลนิธิวัดสวนแก้ว (027215602-4 ต่อ 116 – 118) หรือโครงการบริจาคคอมพิวเตอร์เพื่อน้องชนบทโดยมูลนิธิกระจกเงา (026427991-2 ต่อ 17) เป็นต้น

ถ้าคุณพอมีเวลา เว็บไซต์ของศูนย์รับบริจาคออนไลน์ (www.thaigiving.org/register_approve.php) ซึ่งมีรายชื่อของสถานศึกษาในชนบท รวมไปถึงวัด ชมรม หน่วยงาน และสมาคมต่างๆ ที่ต้องการคอมพิวเตอร์มือสองเหล่านี้ไปใช้งาน ก็น่าจะเป็นอีกทางเลือกที่ดี ที่เปิดโอกาสให้คุณได้บริจาคอย่างที่คุณต้องการ              
      
รีไซเคิล

ระดับความยาก : ง่าย (1)

ถ้าในท้ายที่สุดแล้ว เครื่องของคุณเก่าเก็บเกินกว่าที่ใครจะนำไปใช้ประโยชน์ได้ การรีไซเคิลก็น่าจะเป็นทางออกสุดท้ายของคุณ ไม่ใช่ตั้งทิ้งไว้เฉยๆ ในห้องเก็บของ หรือว่านำไปกองทิ้งรวมกับขยะปกติ ซึ่งนั่นเท่ากับเป็นการไม่รับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างสิ้นเชิง

ถ้าคุณคิดจะซื้อเครื่องใหม่ ลองสอบถามไปยังตัวแทนจำหน่าย เพราะในปัจจุบันมีบริษัทผู้ผลิตหลายรายที่มีนโยบายรับเครื่องเก่ากลับมารีไซเคิล และก็จะลดราคาของเครื่องใหม่ที่คุณจะซื้อให้เล็กน้อย หรือถ้าต้องการทิ้งจริงๆ ในประเทศที่เจริญแล้วจะมีศูนย์รีไซเคิล ให้คุณนำเครื่องไปทิ้งได้ แต่สำหรับในบ้านเรา อย่างดีที่สุดก็คงจะเป็นการทิ้งใส่ถังรีไซเคิล ซึ่งล่าสุดทางกทม. เพิ่งติดตั้งไป 119 จุดทั่วกรุงเทพฯ

ประเด็นสำคัญอย่างหนึ่งไม่ว่าคุณจะบริจาคหรือรีไซเคิลก็คือ ให้แน่ใจว่าคุณได้เก็บกวาดข้อมูลของบริษัทออกจากเครื่องจนเกลี้ยงแล้ว ถ้าข้อมูลของคุณมีความสำคัญมาก และแค่ฟอร์แมตฮาร์ดดิสก์ยังไม่สร้างความอุ่นใจให้กับคุณ (เพราะยังมีทูลที่สามารถกู้ข้อมูลกลับมาได้ไม่ยาก) ก็อาจต้องหายูทิลิตี้ฟรีอย่าง BCWipe (https://www.jetico.com/) หรือ Sure Delete (https://www.wizard-industries.com/) มากวาดล้างฮาร์ดดิสก์ชนิดที่ไม่สามารถกู้อะไรกลับมาได้อีก เท่านี้คุณก็ปล่อยเครื่องเก่าของคุณออกจากบริษัทไปได้อย่างหมดห่วงแล้ว

       
       อย่าลืมเก็บกวาดข้อมูลของคุณให้เรียบก่อนที่จะบริจาคหรือรีไซเคิล งานนี้ทูลอย่าง BCWipe สามารถช่วยคุณได้เป็นอย่างดี

PC Magazine

ฉบับที่ 106 พฤศจิกายน 2550
อ่านบทความอื่นๆ >>

อัพเดทล่าสุด