ฤาจะถึงวันอวสานของร้าน CD


790 ผู้ชม


ในที่สุดหลังจาก 15 ปีร้าน Mister CD บนถนน Berwick Street ย่าน Soho ก็เป็นร้านสุดท้ายที่ปิดตัวลง นับเป็นเหยื่อรายล่าสุดที่ต้องปิดตัวลงเพราะการดาวน์โหลดเพลง การช้อปปิ้งทางอินเตอร์เน็ต และการแข่งขันลดราคา CD

พื้นที่โฆษณา  
สนใจลงโฆษณา ติดต่อ โทร.0-2642-3400 ต่อ 4613

"ผมแค่รอให้มีทนายความติดต่อมาเรื่องสัญญาเช่าร้าน เราคงเปิดได้อีกสักเดือนหนึ่ง แต่จากนั้นเราคงไม่สามารถดำเนินกิจการต่อได้แล้ว" David Killington เจ้าของร้านกล่าว

การปิดตัวของร้าน Mister CD นับเป็นอีกหน้าหนึ่งของประวัติศาสตร์การเปลี่ยนแปลงของธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเพลงโดยเฉพาะกับร้านขาย CD ในเมืองลอนดอน ในย่าน Berwick Street เป็นย่านที่นักสะสมแผ่นเสียงทั่วโลกเคยเดินทางมาเพื่อหาแผ่นไวนีลในร้านแผ่นเสียงมือสอง ถนนแห่งนี้ได้ชื่อว่าเป็นสวรรค์ของแฟนเพลงถึงขนาดที่เคยลงไว้บนปกอัลบั้มขายดีอันดับหนึ่งของสหราชอาณาจักรอย่าง (What's The Story) Morning Glory ของ Oasis มาแล้ว

แต่ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา ร้านย่านนี้ปิดตัวไป 4 ร้านแล้ว "คนที่อายุเกิน 35 ปียังคงซื้อแผ่น CD อยู่ แต่กับกลุ่มที่อายุน้อยกว่านี้ไม่มีใครซื้อแล้ว" Mr Killington สิ่งที่เกิดขึ้นในวงการ CD ก็เหมือนกับการเปลี่ยนแปลงในวงการถ่ายภาพ ที่คนมักคิดว่าต้องจ่ายค่าอัดภาพทำไม ในเมื่อพิมพ์เองที่บ้านได้ และทำไมต้องซื้อ CD ในเมื่อคุณสามารถเบิร์นแผ่นเองที่บ้านได้ 

ส่วน Reckless Records มีสองสาขาบนถนน Berwick Street เช่นเดียวกับอีกสองสาขาใน Islington และ Camden กิจการก็แย่ลงๆ จนกระทั่งอาจจะปิดกิจการในเดือนมกราคมที่ผ่านมา Zafar Chowdhry ใช้เวลา 18 ปีทำงานให้กับ Reckless ในฐานะของผู้เชี่ยวชาญเพลงโซลและเพลงแดนซ์ เขากล่าวว่ายอดขายเริ่มตกลงตั้งแต่ 11 September 2001

"ยุคของการขายเพลงผ่านดิจิตัลเริ่มส่งผลกระทบต่อเรา รวมทั้ง eBay ด้วย แทนที่คนจะมาซื้อ CD พวกเขาซื้อผ่านอินเตอร์เน็ตหรือดาวน์โหลด การแข็งค่าของเงินปอนด์ก็ส่งผลให้เป็นเช่นนั้น เราเคยมีนักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่นมาเป็นลูกค้าแต่แล้วนักท่องเที่ยวก็หายไป Hip hop เคยเป็นเพลงสุดฮิต ที่สามารถขายได้ตลอดเวลา แต่ปัจจุบันแผ่นที่เคยขายที่ราคา 20 ปอนด์เหลือเพียงแค่ 3 ถึง 4 ปอนด์เท่านั้น อีกทั้งคนที่เติบโตมากับการซื้อแผ่นก็มีอายุมากขึ้น การให้ความสำคัญกับการใช้เงินก็เปลี่ยนไปหรือไม่ก็มีแผ่นเสียงที่ต้องการเก็บสะสมครบหมดแล้ว ส่วนคนรุ่นใหม่ไม่สนใจการสะสมแผ่นเพลงโซล แจ๊ซ หรือแจ๊ซฟังค์แล้ว”
 
โปรโมชันไม่ช่วยอะไร

การเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมเพลงส่งผลต่อตลาดแผ่นมือสองด้วยเช่นกัน ตัวแทนจำหน่ายหลายรายใช้ประโยชน์จากแผ่นโปรโมชันที่มีนักข่าวและดีเจมาขายให้ร้าน ทั้งที่มีประกาศว่า "ห้ามจำหน่าย” (Not For Resale) ปั้มอยู่ที่ปกแผ่นทุกแผ่น แต่ทุกวันนี้บริษัทแผ่นเสียงได้ยกเลิกการแจกแผ่นดังกล่าวแล้วและใช้วิธีให้ไฟล์ MP3 แทน

Chowdhry กล่าวว่า "ปกติบริษัทแผ่นเสียงจะมีวงที่บริษัทมีแผนจะผลักดัน ซึ่งจะมีของโปรโมชันจำนวนมากที่กระจายให้กับดีเจและร้านขายแผ่นเสียง แต่เดี๋ยวนี้แผ่นประเภทนี้ไม่มีอีกแล้ว เพราะบริษัทเห็นว่ายิ่งแจกแผ่นมากเท่าไรก็ยิ่งทำให้ยอดขายลดลง เมื่อก่อนดีเจหลายคนขายแผ่นประเภทนี้ให้เราก่อนที่แผ่นจริงจะวางตลาดเดือนถึงสองเดือน ซึ่งจะมีลูกค้าอเมริกันและอิตาเลียนเข้ามาหาและส่งกลับบ้าน หรือลูกค้าสวิสเซอร์แลนด์ที่เข้ามาที่ร้านทุกวันอังคาร หลายๆ ครั้งเราทำเงินจากลูกค้าเหล่านี้ได้ถึง 300-400 ปอนด์ แต่พักหลังเขาซื้อแค่ 20 ปอนด์หรือไม่ซื้อเลย เพราะไม่มีสินค้าในกลุ่มนั้นอีกแล้ว "

ไม่เพียงแต่ร้านขาย CD ในย่าน Berwick Street ต้องปิดตัวลง แต่รวมถึงการปิดตัวของร้าน CD ในย่านอื่นๆ ด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น Steve's Sounds ในย่าน Newport Court ที่เคยขายดีกว่าร้านอื่นจนกระทั่งซูเปอร์มาร์เก็ตเริ่มทำสงครามราคาตอบโต้ และแรงกดดันของค่าเช่าที่สูงขึ้น

 

แต่ขณะเดียวกันในย่านชานเมือง ธุรกิจร้านขายแผ่นเสียงกลับมีสภาพธุรกิจที่ดีกว่า เช่น ร้าน Beanos ของ David Lashmar ที่ได้นำแนวความคิดใหม่ที่เรียกว่า Beanos Marketplace เข้ามาใช้ โดยให้พื้นที่ชั้นหนึ่งและสองที่จัดให้เป็นตลาดแลกเปลี่ยนขนาดเล็กสำหรับผู้ซื้อผู้ขายแผ่น ขณะเดียวกันการจำหน่ายแผ่นภายในร้านก็มุ่งเน้นแผ่นที่เป็นที่สนใจของนักสะสมวางเต็มพื้นที่ชั้นหนึ่ง

"เราพยายามปรับธุรกิจให้เหมาะกับสถานการณ์ ปัจจุบันยอดขาย CD ของเราลดลงมากในช่วง 18 เดือนที่ผ่านมา เพราะตลาดดาวน์โหลด แต่ยอดแผ่นเก่ากลับเพิ่มขึ้นอีกครั้ง เราขายแผ่นไวนิล แผ่นสะสมหายาก และก็ขายที่ราคาต่ำกว่าที่เคยเป็นมา” Lashmar กล่าว

“ผมกังวลเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับธุรกิจในย่าน Berwick Street เพราะผมเคยใช้มันเป็นตัวชี้วัดธุรกิจแผ่นเสียง แต่ตอนนี้มันกลับกำลังย่ำแย่ และผมไม่อยากจะทำให้ข้อผิดพลาดใดๆ ที่เคยเกิดขึ้นในย่านนั้นเกิดขึ้นกับเรา”

แม้จะเห็นได้ชัดเจนว่าคงเป็นเรื่องยากที่จะทำให้สภาพธุรกิจขายแผ่น CD ดีเหมือนเดิม David Killington เจ้าของ Mister CD แนะนำอย่างขำๆ ว่าตัวแทนจำหน่ายควรจะได้รับการคุ้มครองเช่นเดียวกับอาคารเก่าที่ได้รับการขึ้นทะเบียน "เพราะเมื่อไหร่ที่เราเลิกกิจการไปจะไม่มีร้านแบบเราเกิดใหม่ขึ้นมาแทนที่อีกเลย”


Business.com

ฉบับที่ 223 กันยายน 2550
อ่านบทความอื่นๆ >>

อัพเดทล่าสุด