มีคนเคยบอกว่า เสียงเพลงช่วยทำให้เราคลายเหงาได้ และก็มีคนบอกอีกเช่นเคยว่า ถ้าฟังเพลงตอนอกหัก จะรู้สึกเหมือนกับว่าแทบทุกเพลงที่ดีเจเปิดเพลงให้ฟังนั้น เพลงไหนๆ ก็โดนใจไปหมด ยังกะเขาแต่งเพลงมาเพื่อเรายังไงยังงั้นเลย (ไม่ได้เวอร์นะ)
แม้คำพูดดังกล่าวจะไม่ได้รับการยืนยันจากสถาบันไหน แต่ทว่า โดยส่วนตัวแล้วน้ำวนเห็นด้วยอย่างยิ่งกับข้อความข้างบน ไม่อย่างนั้นคงจะมีพระราชดำรัสของรัชกาลที่ 6 ที่ว่า “อันชนใดไม่มีดนตรีกาล ในสันดานเป็นคนชอบกลนัก” ออกมาให้เราได้ยินมาจนถึงทุกวันนี้หรอก ใช่มะๆ ?
พระราชดำรัสข้างต้นบ่งบอกถึงเสียงเพลงที่ฝังอยู่ในสายเลือดของคนไทยทุกยุค และแน่นอน ย่อมจะมีความเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย โดยเริ่มจากการชมการแสดงสด สู่ยุคของวิทยุและโทรทัศน์ พัฒนาไปยังยุควอล์กแมน ที่ฟังเพลงได้แม้เดินอยู่บนถนน แต่ปัจจุบัน การฟังเพลงไม่ได้มีขีดจำกัดเพียงแค่เครื่องเล่นและเครื่องรับรูปแบบเดิมๆ เท่านั้น แต่ยังพัฒนาไปอยู่บนเว็บไซต์ เพื่อให้สามารถรับฟังผ่านเครื่องคอมพิวเตอร์ทุกรูปแบบ
ไม่ว่าคุณจะคอเพลงระดับไหน เชื่อได้ว่าต้องได้เคยเปิดฟังเพลงจากสถานีวิทยุกันบ้างล่ะน่า เพราะเป็นช่องทางสำคัญหนึ่งในโปรโมตเพลงให้ตลาดได้รับรู้และสามารถเข้าถึงกลุ่มผู้ฟังได้มากกว่า อีกทั้งในยุคที่สถานีวิทยุกลายเป็นศูนย์รวมความบันเทิงและข้อมูล ธุรกิจบนคลื่นหน้าปัด ก็เติบโตขึ้นตามลำดับ เมื่อผนวกเข้ากับไลฟ์สไตล์ของคนที่เปลี่ยนไป และเทคโนโลยีที่ทันสมัย ทำให้คลื่นวิทยุกระโดดเข้าไปแจมในรูปแบบของบริการผ่านเว็บไซต์เพื่อให้สิงห์ไซเบอร์ทั้งหลายได้เสพเสียงเพลงพร้อมๆ กับที่นิ้วมือทั้งสิบพลิ้วอยู่บนแป้นคีย์บอร์ด
ปัจจุบันธุรกิจรายการวิทยุ โดยเฉพาะรายการเพลงนั้น ตกอยู่ในมือคนไม่กี่กลุ่มเท่าที่สำรวจได้พบว่า ขณะนี้มีอยู่เพียง 4 ค่ายยักษ์ใหญ่ ได้แก่ เอไทม์มีเดีย คลิ้กเรดิโอ เวอร์จิ้นเรดิโอ และสกายไฮน์เน็ตเวิร์ก ซึ่งแต่ละค่ายก็กุมรายการในสังกัดไว้คนละ 3-4 คลื่น ที่เหลือจากนี้ก็อยู่กันแบบกระจัดกระจาย ข้อดีของวิทยุออนไลน์คือ ผู้ฟังสามารถรับฟังได้โดยไม่จำกัดพื้นที่ ไม่ว่าต่างจังหวัดหรือต่างประเทศ เพียงแค่มีอินเทอร์เน็ต ก็รับบริการได้แล้ว เป็นการลดช่องว่างในการเข้าถึงสื่อวิทยุได้อย่างชะงัด
อันดับที่ 1
เป็นบริษัทในเครือแกรมมี่ เริ่มให้บริการวิทยุออนไลน์มานาน กว่า 10 ปีแล้ว ถือว่าเป็นเจ้าแรกที่ให้บริการออนไลน์โดย มีเว็บไซต์ของรายการวิทยุ เพื่อให้ผู้ฟังสามารถฟังรายวิทยุบนอินเทอร์เน็ตได้ อีกทั้งยังทำหน้าที่เป็นเว็บไซต์เอนเตอร์เทนเมนต์นำเสนอ ข่าวคราว ความเคลื่อนไหวของรายการวิทยุ ในเครือจีเอ็มเอ็ม มีเดีย รูปโฉมเน้นเอาใจ วัยรุ่นด้วยเนื้อหาสาระและ ความบันเทิงแบบเต็มรูปแบบที่อัพเดตสุดๆ ไม่ว่าจะเป็นการร่วมสนุกเพื่อลุ้นรับบัตรชมคอนเสิร์ตจากศิลปินชื่อดัง ชมบรรยากาศการ สัมภาษณ์พูดคุยของศิลปินที่คุณชื่นชอบพร้อมการแสดงมินิคอนเสิร์ตแบบสดๆ จากสตูดิโอเอไทม์ มีเดีย ผ่านระบบ ‘เรดิโอออนไลน์’ ที่เป็นการถ่ายภาพและต่อเข้ากับคอมพิวเตอร์ โดยใช้เรียลเซิร์ฟเวอร์ ซึ่งนอกจากคุณจะ สามารถชมกับแบบสดๆ แล้ว คุณยังโหลดมาเก็บไว้ดูเล่นได้อีกด้วย
เว็บไซต์แห่งนี้ โดดเด่นด้วยบริการเพื่อความบันเทิงที่มีหลากหลาย เช่น วอลล์เปเปอร์สวยๆ ภาพศิลปินนักร้องและดีเจให้ดาวน์โหลดกันฟรีๆ พร้อมชมแกลลอรีภาพคอนเสิร์ต ย้อนหลัง มีแชตรูม ที่เข้าออกแสนง่ายดายไม่มีขั้นตอนการลงทะเบียนให้ยุ่งยากให้คนคอเดียวกันได้แชตกันอย่างเมามัน
ช็อตเด็ดของเว็บเอไทม์ ก็คือ การได้เห็นหน้าดีเจแบบสดๆ ผ่าน Live Broadcasting ซึ่งถ่ายถอดผ่านเว็บแคม ถึงแม้จะมีเพียงแค่สองสถานี แต่ก็พอให้แฟนคลับของบรรดาเหล่าดีเจได้ชื่นใจ และแน่นอนว่าลิงก์เว็บไปยังสถานีในสังกัด มีให้เห็นได้ชัดเจน ส่วนหัวใจหลักคือการฟังเพลงและรายการต่างๆ ของทางสถานีนั้น คุณภาพเสียงถือว่าอยู่ในระดับที่ดีมาก เพราะตัดปัญหาเรื่องความชัดเจนของคลื่นเสียงไปได้ จะติดตรงที่ สเปกของเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ใช้งานหรือ ความเร็วอินเทอร์เน็ต ซึ่งก็เป็นปัญหาเฉพาะของผู้ใช้งาน และที่ขาดไม่ได้เลยคือการจัดอันดับเพลงยอดนิยม มาพร้อมการดาวน์โหลดริงโทน ซึ่งกลายเป็นช่องทางหนึ่งของรายได้ เพราะพื้นที่หน้าเว็บ ไม่ได้แปะโฆษณาจนเปรอะเหมือนรายอื่นๆ
นอกจากนี้ยังมีพื้นที่ ของ Music Say ซึ่งรวบรวมข่าวคราวศิลปิน และกิจกรรมของทางสถานีและ หน้าเพจของ Mobile ที่เป็นแหล่งรวบรวมการดาวน์โหลดสารพันเพลง
จัดว่าเอไทม์ทำได้ดีถึงดีมาก รวบรวมทรัพยากรที่มีอยู่นำมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และเมนูเพื่อเข้าถึงบริการนั้น ไม่มีความยุ่งยากซับซ้อน เรียกว่า ถูกใจวัยรุ่นที่นิยมความรวดเร็วเป็นที่ตั้ง
อันดับที่ 2
ค่ายยักษ์ใหญ่ที่รวบรวมของมือบริหารสถานีวิทยุรุ่นเก๋า ที่เติบโตมาจากการเป็นดีเจ จึงดูจะเข้าถึงความต้องการของผู้ฟังได้ค่อนข้างมาก ถึงแม้จะมีอายุอานามเพียง 8 ขวบ แต่สถานีในค่ายนี้ ก็เคยสร้างความสั่นสะเทือนให้กับวงการวิทยุมาแล้วด้วยการเปิดหน้าประวัติศาตร์ใหม่ของวงการด้วยการเปิดเพลงแบบไม่มีโฆษณาคั่น ตลอดชั่วโมง ปัจจุบัน มีโควต้าสถานีวิทยุในมือทั้งหมด 3 คลื่นด้วยกัน ได้แก่ คลื่นเพลงสากล 102.5 เก็ต แมกซิมั่ม คลื่นบิ๊ก 103.5 ที่เปลี่ยนชื่อคลื่นมาจาก 103.5 โมเดิร์นเลิฟเมื่อปลายปี และคลื่นเพลงนอกกระแส 104.5 แฟต เรดิโอ
สำหรับค่ายนี้ จะเน้นกิจกรรมของสถานีกับผู้ฟังต้องการสร้างแฟนคลับหรือสาวก จึงมักจะมีโปรโมชันของรางวัลที่เน้นการพบปะแบบกลุ่มเช่นพาทัวร์ต่างประเทศ ทานข้าวกับดีเจหรือดารา เว็บไซต์ของคลิ้กเรดิโอจึงมีต้องมี ตารางเวลาของดีเจแต่ละช่วงเวลาที่ชัดเจน รักใครชอบใคร ก็ดักฟังได้เลย แถมยังมีข้อมูลส่วนตัวของดีเจแต่ละคนให้ได้ทำความรู้จักอีกต่างหาก แต่ก่อนจะฟังต้องลงทะเบียนให้เค้าก่อนสักนิดนะคะ เรื่องคุณภาพเสียงและการรับฟัง ชัดเจน ยกนิ้วโป้งให้ว่ายอดเยี่ยมทีเดียว ถ้าฟังแล้วชอบเพลงไหน ก็โหวตได้เพียงแค่คลิ้กเท่านั้นไม่ต้องส่ง SMS ให้เสียเงิน
ด้านบริการอื่นๆ เช่น เว็บบอร์ด หรือบล็อก รวมไปถึงแกลอรี่ภาพกิจกรรม ก็มีไว้สนอง Need ของบรรดาสาวกทั้งหลาย ที่ดูจะแปลกตากว่าเว็บอื่นๆ คือ ไม่มีที่ให้ดาวน์โหลดริงโทนซึ่งเป็นแหล่งรายได้สำคัญ แต่ก็ไม่น่าแปลกเพราะค่ายนี้ ไม่ได้อยู่ภายใต้สังกัดค่ายเพลงใด ดังนั้น บนหน้าเว็บไซต์จึงมีโฆษณาให้เห็นได้ประปราย
อันดับที่ 3
แตกก่อต่อยอดจากธุรกิจค่ายเพลงของบีอีซีเทโร ถูกขนานนามว่าเป็นสถานีวิทยุข้ามชาติ เพราะซื้อชื่อนี้มาจากต่างประเทศและร่วมเป็นเครือข่ายหนึ่งด้วย ทำให้เว็บไซต์ของค่ายนี้ดูอินเตอร์กว่าที่อื่นๆ โดยถือโควตาสถานีไว้ในมือถึง 3 คลื่นด้วยกันได้แก่ VirginHitz95.5คลื่นนี้มีแต่เพลงฮิตVirginSoft FM 103 การันตี10 เพลงเพราะต่อเนื่อง และ EazyFM105.5 อันดับ 1 คลื่นเพลงสากล และอีก 6 รายการทั้งไทยและเทศ ซึ่งคุณภาพเสียงชัดแจ๋ว นับเป็นจุดแข็งของเวอร์จิ้นที่นักท่องเว็บมักแวะเวียนไปหา เพราะไปที่เดียวเที่ยวได้หลายอย่างแหม..สมเป็นคลื่นวิทยุอินเตอร์ซะจริงเชียว
แต่อย่าเพิ่งดีใจไป ที่นี่เขาแยกส่วนกันชัดเจน ถ้าจะฟังเพลงก็ฟังได้จากหน้าเว็บไซต์นี้เลย แต่ถ้าอยากจะรู้เรื่องราวของสถานีต่างๆ ก็ต้องเข้าไปยังลิงค์ของสถานีนั้นๆ ซึ่งหน้าตาของแต่ละเว็บไซต์ก็เป็นไปตามสไตล์ของใครของมัน อีกทั้งยังมีเรื่องราวต่างๆ แยกเป็นเอกเทศ ประหนึ่งเป็นประเทศราช
หน้าของเว็บไซต์เน้นไอคอนเคลื่อนที่ ช่วยเรียกความสนใจได้มาก อีกทั้งมีกล้องเว็บแคมให้แอบดูดีเจแต่ละสถานีแบบเรียลไทม์ได้ด้วย พื้นที่บางส่วนถูกกันออกเพื่อการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร รวมทั้งการใส่พื้นที่ให้แฟนคลับได้มีกิจกรรมผ่านVirgin VRR (Virgin Red Runner) ผ่าน VRR Team คือ ทีม Presenter นำเสนอข้อมูลของกิจกรรมร่วมกับแฟนรายการ และสาธารณชน ถือกุศโลบายในการโปรโมตที่ดีทีเดียว นอกจานี้ยังมีพื้นที่ของ PUB ZONE ซึ่งจัดไว้ให้สมาชิกได้ใช้ประโยชน์ แลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร และแกลอรี่ภาพ และสร้างบล็อกส่วนตัว
ถ้าจะให้คะแนนเว็บของเวอร์จิ้น เรดิโอ คงได้เกรด 4 แต่ไม่ทั้งหมด เพราะด้วยเป็นสถานีวิทยุข้ามชาติกระมังถึงแม้จะเริ่ดเรื่องเทคโนโลยีความทันสมัยและความหลากหลาย แต่ก็ยังละเลยหรือเข้าไม่ถึงนิสัยของคนไทย ในหลายเรื่อง เช่น เมนูต่างๆ ที่เป็นภาษาอังกฤษซะส่วนใหญ่ เป็นตัวปิดกั้นสำคัญทีเดียว
อันดับที่ 4
สถานีวิทยุที่ในเครืออาร์เอส โปรโมชัน ค่ายเพลงยักษ์อีกแห่งของไทย ที่นี่เปิดเป็นเว็บแม่แต่ไม่ใช่เว็บท่า เพื่อรองรับเข้าถึงคลื่นสถานีในเครือซึ่งมีอยู่ด้วยกันถึง 3 สถานีได้แก่88.5FMMAX (www.fmmax.com) 93 Cool FM (www.cool93.net) และ106 Life FM (www.106lifeplusfm.com ) ซึ่งแต่ละสถานีมีเว็บไซต์เป็นของตัวเอง แยกออกเป็นเอกเทศ มีเอกลักษณ์ที่ชัดเจนตามสไตล์
เข้าใจว่าที่นี่ไม่เน้นการบริการผ่านเว็บไซต์ เพราะขั้นตอนการเข้าถึงค่อนข้างยุ่งยากกว่าเว็บอื่นๆ มาก ส่วนใหญ่เป็นการให้ข้อมูลของสถานีและดีเจ มากกว่า ถึงหน้าตาเว็บอันทันสมัย ไอคอนเคลื่อนที่แบบสองมิติ จะดึงดูดผู้เข้าใช้บริการการ แต่คงเหมือนๆ กันว่า พอคลิ้กแล้วครั้งแล้วยังไม่ถึงจุดหมายปลายทาง ก็เกิดการ “ท้อแท้+ เบื่อหน่าย” ซึ่งทำให้องค์ประกอบต่างๆ ที่ทุ่มใส่เว็บ ลดความหน้าสนใจลงในบัดดล และการต้องลงทะเบียนเป็นสมาชิกก่อนจึงจะใช้บริการได้ นี่ก็เป็นข้อด้อยใหญ่หลวงของสถานีแห่งนี้
หากแต่เมื่อเข้าไปในแต่ละเว็บของแต่ละสถานีแล้วทั้งรูปแบบการให้บริการวิทยุออนไลน์และอื่นๆ เทียมหน้าเทียมตาคลื่นคู่แข่ง ไม่เสียแรงที่สังกัดค่ายเพลงดัง มีการรวบรวมข้อมูลดีเจ กิจกรรมนันทนาการ การดาวน์โหลดริงโทน แชตรูม ฯลฯ และที่สำคัญคือเป็นแหล่งโปรโมตศิลปินในสังกัดได้อย่างดี
ถ้าจะให้คะแนนจาก 10 กลุ่มของสถานีวิทยุในสังกัดนี้ รับไปแค่ 9 คงพอสมน้ำสมเนื้อ ที่ถูกตัดคะแนนก็เพราะความยุ่งยากจากการแยกชิ้นส่วน ไม่ลิงก์ถึงกันเหมือนต้องไขกุญแจหลายชั้นกว่าจะเข้าบ้านอันหรูหราได้
สรุป
ทั้งๆ ที่มีความพร้อมด้านเทคโนโลยี แต่ไม่เห็นมีเว็บไซต์ไหนสามารถนับจำนวนผู้ฟังแบบออนไลน์ได้เลย และการฟังรายการย้อนหลัง ก็ไม่ปรากฏอยู่ในเว็บใด ซึ่งรายการวิทยุนั้นนอกเหนือจากการเปิดเพลง ก็มักจะมีสารคดีและเรื่องราวดีที่เป็นความรู้ควรค่าแก่การเก็บไว้เป็นข้อมูลอ้างอิง ทั้งสองเรื่องนี้ก็สร้างความประหลาดใจได้ไม่น้อยทีเดียว
นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของสถานีวิทยุออนไลน์ที่หยิบยกมาเล่าสู่กันฟังพอเป็นกระษัย ให้เห็นภาพที่ชัดเจนขึ้นของวิวัฒนาการด้านเสียงเพลง แต่ละคลื่นก็มี ‘จุดเด่น’ และ ‘จุดขาย’ เป็นของตัวเอง อยู่ที่ว่า ‘จุด’ ที่มีของแต่ละที่จะตรงกับ ‘จุด’ ของความพอใจของคนฟังคนไหน
อย่างไรก็ตาม มันคงจะดีไม่น้อยหากบทเพลงต่างๆ ที่เราฟังกันอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันเหล่านี้ จะช่วยให้คนไทย ‘ได้รู้สำนึกถึงความเป็นไทย’ รู้จักรักสมัครสมานสามัคคี มีจิตใจที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และเชื่อมสายสัมพันธ์ของความเป็น ‘ไท’ ให้มั่นคงไว้ตราบนานเท่านาน.น.น.