แอบดู Webblog ยอดฮิต


919 ผู้ชม


โลกที่ไม่เคยหยุดหมุน ทุกอย่างย่อมต้องมีพัฒนาการ แม้กระทั่งสมุดบันทึกส่วนตัวหรือที่เรียกกันติดปากว่าไดอารี่ ทุกวันนี้ยังแปลงโฉมจากกระดาษเย็บเล่ม กลายเป็นพื้นที่บนเว็บไซต์ แต่สิ่งที่แตกต่างคือเจ้าของบันทึกเหล่านี้ ใจกว้างกว่าเพราะสามารถให้คนอื่นๆที่ไม่เคยรู้จักมาก่อนสามารถเปิดอ่านได้ตามใจชอบ และยังร่วมแสดงความคิดเห็นหรือที่ศัพท์ชาวเว็บเรียกว่า ‘เมนต์’ ซึ่งก็ย่อมาจากคำว่า คอมเมนต์นั่นเอง

อย่าลืมว่า ไดอารีออนไลน์เป็นเพียงส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมการเขียนบันทึกที่เปลี่ยนไป เว็บล็อกหรือบล็อกต่างๆ จึงเป็นอีกหนึ่งเทรนด์ของการใช้งานเว็บไซต์ ที่เปิดกว้างสำหรับผู้ใช้งานอย่างไม่มีข้อจำกัด ซึ่งคำว่า Blog มาจากศัพท์คำว่า WeBlog บางคนอ่านคำ ๆ นี้ว่า We Blog บางคนอ่านว่า Web Log แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ทั้งสองคำบ่งบอกถึงความหมายเดียวกัน ว่านั่นคือบล็อก (Blog)

เอาละนะ เราจะไม่กล่าวเยิ่นเย้อให้เปลืองเวลา เดี๋ยวเรามาดูกันเลยว่ามีบล็อกไหนเป็นบล็อกยอดนิยมสำหรับคนไทยบ้าง ซึ่งจากการจัดอันดับ truehits.net พบว่า เว็บล็อกที่ได้รับความนิยมสูงสุด 3 อันดับได้แต่ www.exteen.com www.blogGang.com และ www.gotoknow.org โดยวัดจากปริมาณผู้เข้าชมและปริมาณผู้ใช้งานซึ่งแต่ละเว็บก็มีจุดเด่นและลูกเล่น ที่แตกต่างกัน เราลองมาชำแหละเว็บบล็อกยอดนิยมทั้ง 3 แห่งนี้ว่ามีข้อเด่นและข้อด้อย ต่างกันอย่างไรบ้าง จากประสบการณ์ของขาประจำเว็บบล็อกอย่างผู้เขียน เห็นควรว่าน่าจะใช้เกณฑ์การให้คะแนนดังนี้

ความยากง่ายในการใช้งาน 10 คะแนน ลูกเล่นและอุปกรณ์ในการตกแต่งบล็อก 10 คะแนน คุณสมบัติพิเศษ 10 คะแนน และข้อจำกัดในการใช้งาน จะให้เป็นคะแนนติดลบ ทั้งหมดรวม 30 คะแนน

อันดับ 1

www.exteen.com

บล็อกไทยพันธุ์แท้

เว็บบล็อกที่ได้รับความนิยมอันดับสูงสุด ดูจากจำนวนสมาชิกทั้งหมดเกือบ 8หมื่นรายชื่อ มีบันทึกเรื่องราวกว่า สี่แสนเรื่อง ซึ่งดูจากตัวเลขนี้ก็คงพอช่วยยืนยันได้ว่า เว็บล็อกแห่งนี้สมควรแล้วที่จะเป็นเว็บบล็อกยอดนิยมของคนชอบเขียน การสมัครง่ายๆ ไม่ต้องกรอกข้อมูลมากมายให้เมื่อยมือ แต่การคอนเฟิร์มล็อกอินและพาสส์เวิร์ด ไม่สามารถใช้เมล์ของไทยเมล์ได้ ซึ่งถือเป็นข้อจำกัด โดยมีพื้นที่ให้สมาชิกแต่ละคน 10 เมกะไบต์ การใช้งานสามารถอัพรูปได้โดยตรง เขียนง่ายสไตล์ Word รวมทั้งทำ Category ได้ ตั้ง Recommend ได้ แก้ไข Theme ได้อิสระ รวมทั้งTheme สำเร็จรูป ปรับแต่งความสวยงามของบล็อกได้อย่างง่ายดาย ชมกันมาซะยืดยาว ก็รับไปเต็มๆ 10 คะแนนเลยแล้วกัน

ในส่วนของลูกเล่นและอุปกรณ์ในการตกแต่งบล็อกนั้น exteen.com ดูเหมือนจะเตรียมไว้ให้สมาชีกอย่างเพียบพร้อม ทำให้บล็อกของสมาชิกที่นี่มีหน้าตาหลากหลาย ตามสไตล์ของแต่ละคน เจ้าของบล็อกสามารถเลือกได้ว่า จะให้คอมเมนต์ได้เฉพาะสมาชิก หรือบุคคลทั่วไปก็ได้ แต่ด้วยข้อจำกัดในเรื่องพื้นที่ ทำให้เครื่องไม้เครื่องมือที่มีมาให้ดูเหมือนว่าจะใช้งานได้ไม่เต็มที่มากนัก ก็รับไป 8 คะแนนก็พอ

ส่วนคุณสมบัติพิเศษนั้น ดูเหมือนจะขนมาเป็นคันรถสิบล้อเลยทีเดียว ตั้งแต่ สามารถนับจำนวนผู้ชม การเพิ่มเพื่อนเป็น favourite ได้ และระบบแจ้งเตือนคอมเมนต์ อีกทั้งสามารถอ่านบล็อกผ่าน wap บน มือถือได้ เพิ่มคำใน blacklist เพื่อไม่ให้บอตคอมเมนต์โฆษณาได้ ก็รับไปเลย 8 คะแนน

ถ้าจะให้ติ (ไม่ชม) เว็บบล็อกแห่งนี้ ก็ตรงที่ไม่มีการแบ่งหมวดหมู่หรือประเภท และการสร้างจุดเด่นเพื่อเชิญชวนให้คนเข้าไปอ่านบล็อก ซึ่งน่าจะเป็นหัวใจสำคัญที่เจ้าของบล็อกต้องการ ตรงนี้ก็เลยขอติดลบสัก 5 คะแนนแล้วกัน รวบรวมคะแนนแล้ว exteen.com รับไป 21 คะแนน


อันดับ 2

www.blogGang.com

พื้นที่ของคนช่างคิด

เว็บบล็อกที่แตกกอต่อยอดจากเว็บไซต์ประชานิยมอย่าง pantip.com ทำให้โฉมหน้าของเว็บบล็อกแห่งนี้มีหน้าตาที่ใกล้เคียงกัน ผู้ที่จะสร้าง Blog เป็นของตนเองได้ จะต้องเป็นสมาชิกเว็บไซต์ Pantip.com แต่หากคุณเป็นสมาชิกเว็บไซต์ Pantip.com สามารถ Log in สมาชิก แล้วเปิด blog ได้ทันที การใช้งานที่สะดวกง่ายดาย สามารถเขียนเรื่องราวต่างๆ ได้ด้วยการพิมพ์ข้อความแบบการสร้างกระทู้ด้วยรูปแบบที่แสนง่ายดาย ในส่วนนี้ ผู้เขียนให้ 10 คะแนน เต็ม

ส่วนลูกเล่นพิเศษสำหรับการตกแต่งบล็อกให้สวยงาม ขนมาเป็นกระบุง สามารถใส่ไฟล์เสียงได้ และทุกปี ยังมีการประกวดเว็บ Blog ยอดนิยม ใน BlogGang Popular Award แต่เพราะยังมีข้อจำกัดในเรื่องขนาดของรูปภาพที่จะนำไปแปะยังจำกัดขนาดเล็กมาก ไม่สะใจเอาซะเลยฉะนั้นก็รับไปแค่ 8 คะแนนก็แล้วกัน ส่วนคุณสมบัติพิเศษ จะโดดเด่นก็ตรงที่บล็อกจะตามเจ้าของไปทุกครั้งที่เจ้าของบล็อกเข้าไปตอบหรือตั้งกระทู้ในเว็บ pantip ทำให้คนที่สนใจแนวคิดหรือสไตล์ของคนนั้นๆ ก็สามารถเข้าชมบล็อกได้โดยที่ไม่ต้องเสาะหาให้เมื่อย เรียกสั้นๆว่าเป็นเหมือนการโปรโมตบล็อกไปในตัว ซึ่งในเว็บบล็อกรายอื่นๆ ยังไม่ตรงนี้ ก็ให้ไปเลย 6 คะแนนสำหรับจุดนี้ รวมแล้วเป็น 24 คะแนน

มาดูจุดที่ต้องปรับของเว็บบล็อกแห่งนี้ถึงแม้ว่าหน้าเว็บไม่เลอะด้วยโฆษณา แต่ดูแล้วตาลาย ไม่มีการจัดหมวดหมู่เพิ่มความน่าสนใจ การจัดเรียงบล็อกที่ติดกันเป็นพรืด เรียงแถวกันยาวเหยียด ไม่ต่างกับกระทู้ของเว็บพันทิพ ก็ขอให้ติดลบสัก 5 คะแนนแล้วกัน รวมๆแล้ว www.blogGang.com รับไป 19 คะแนน

อันดับ 3

www.gotoknow.org

คนทำงานแลกเปลี่ยนเรียนรู้

คอนเซ็ปต์ของเว็บบล็อกแห่งนี้ ด้วยการอยู่ภายใต้การสนับสนุนของสถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม (สคส.)ทำให้โฉมหน้าเว็บดูสะอาดตา เป็นระเบียบเรียบร้อย ไม่มีไอคอนต่างๆ ระเกะระกะ ทำให้ง่ายต่อการเลือกที่จะเข้าชม จุดเด่นของบล็อก GotoKnow.org อยู่ที่เจ้าของ สามารถจัดการบล็อกได้อย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็น การสร้าง แก้ไข ลบ บล็อก หรือ การสร้าง แก้ไข ลบ บันทึก หรือ การลบข้อคิดเห็นเป็นต้น อีกทั้งเขียนบันทึกได้ง่ายเหมือนใช้ไมโครซอฟท์เวิร์ด มีแถบเครื่องมือที่อธิบายวิธีการใช้อย่างง่าย ดังนั้น คะแนนในส่วนของการใช้งานผู้เขียนให้ 10 คะแนนเต็ม

สำหรับส่วนของลูกเล่นพิเศษในการตกแต่งบล็อกนั้น ไม่ต่างจากเว็บอื่นๆ มากนัก มีเครื่องไม้เครื่องมือให้ครบครัน แต่ด้วยลักษณะนิสัยของชาวบล็อกแห่งนี้ที่ค่อนข้างเป็นผู้ใหญ่วัยทำงาน จึงเน้นที่เนื้อหามากกว่าหน้าตา บล็อกของแต่ละคนเลยเรียบๆตามแพตเทิร์นเดิมที่ได้มา ดังนั้นก็รับไปแค่ 5 คะแนนพอ แต่สำหรับคุณสมบัติพิเศษและจุดเด่นของพื้นที่แห่งนี้ก็คือ เป็นแหล่งรวบรวมความรู้ทางวิชาการชั้นดี ความสามารถสร้างบล็อกได้มากกว่าหนึ่งบล็อกสำหรับผู้ใช้แต่ละคน(Multi-Blog) ขยายความ 1 Account สร้างกี่บล็อกก็ได้แต่มีเนื้อที่ให้รวม 30 MB ก็รับไป 9 คะแนนเลยแล้วกัน

บอกจุดดีไปแล้ว ทีนี้ก็มาดูจุดด้อยกันบ้าง คงต้องบอกว่าความจืดชืดของเว็บ และความซับซ้อนในการลงทะเบียน หากใครรักที่จะมีบล็อกที่นี่จริงๆ คงต้องใจเย็นสักนิด แต่สำหรับคนใจร้อนอย่างผู้เขียนแล้วดูจะหงุดหงิดกับเรื่องนี้เป็นอย่างยิ่ง ก็เลยขอติดลบให้สัก 5 คะแนนก็แล้วกัน รวมแล้ว24-5 =19 คะแนน

ถ้าถามว่าเสน่ห์ของบล็อกอยู่ที่ตรงไหน คงบอกได้ว่า มันทำให้มีการสื่อสารสองทาง ระหว่างคนเขียน กับคนอ่าน นั่นก็คือ การทิ้งคอมเมนต์ต่าง ๆ เอาไว้ เปิดโอกาสให้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกัน

ทุกวันนี้บล็อกได้กลายเป็นอีกแหล่งของข้อมูล หลายคนมีบล็อกในหลายเว็บไซต์ เรียกว่า มีสมุดบันทึกหลายเล่ม บางเล่มอาจเก็บเรื่องราวความรู้สึกส่วนตัว บางเล่มอาจเก็บข้อมูลความรู้ บางเล่มอาจเก็บภาพประทับใจจากการเดินทาง บางทีวัฒนธรรมใหม่นี้ อาจเป็นการจุดประกายให้คนไทยรักการเขียนมากขึ้นรวมทั้งรักการอ่านมากขึ้นก็เป็นได้ เพราะได้ตื่นเต้นกับแหล่งข้อมูลที่มีรูปโฉมแปลกใหม่ น่าประทับใจอย่างไม่รู้จบ


Computer Today

ฉบับที่ 307 ปักษ์แรก เมษายน 2550
อ่านบทความอื่นๆ >>

อัพเดทล่าสุด