ทำดีได้ไม่ต้องเดียว ง่ายนิดเดียวกับการเป็นอาสาสมัคร


856 ผู้ชม


"ไม่ว่าจะอายุเท่าใด ฉันก็ไม่อาจพอใจที่ตัวเองได้แต่เฝ้าดูอยู่ห่างๆ ณ ซอกมุมข้างเตาไฟ ชีวิตมีความหมายให้ต้องอยู่ต่อไป คนคนหนึ่งจะต้องไม่มีวันหันหลังให้กับชีวิตไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใด"

พื้นที่โฆษณา  
สนใจลงโฆษณา ติดต่อ โทร.0-2642-3400 ต่อ 4613

เริ่มต้นฉบับนี้ด้วยคำคมของ อิลีเนอร์ รูสเวลต์ ที่เกิดขึ้นหลังกลับจากการไปเป็นอาสาสมัครที่โรงเรียนสอนคนตาบอดช่วยสอนการบ้านและติวหนังสือให้น้องๆ ขอเปลี่ยนบรรยากาศมาชักชวนคุณผู้อ่านร่วมทำความดีบ้างดีกว่านะคะ เหมือนคำขวัญยอดฮิตในตอนนี้ที่ว่า 1 คน 1 สัจจะ ทำดีได้ไม่ต้องเดี๋ยว นั่นแหละค่ะ ซึ่งครั้งนี้ดิฉันจะชวนคุณๆ ไปเป็นอาสาสมัครค่ะ แต่... อย่าเพิ่งตกใจ มันไม่ได้ลำบากยากเย็นอย่างที่ใครหลายคนกำลังคิด
คุณสมบัติง่ายๆ ของอาสาสมัครก็เพียงแค่ทำงานด้วยความสมัครใจ ประมาณว่าไม่ใช่ทำเพราะถูกบังคับหรือเป็นเพราะหน้าที่ซึ่งงานดังกล่าวเป็นงานเพื่อประโยชน์แก่ประชาชนและสังคมหรือสาธารณประโยชน์ โดยการกระทำนั้นไม่หวังผลตอบแทนเป็นเงินเพราะผลตอบแทนที่อาสาสมัครได้รับคือความสุข ความภูมิใจที่ได้ปฏิบัติงานที่เป็นประโยชน์แก่ประชาชน สังคม และประเทศชาติ เห็นมั้ยคะว่าใครๆ ก็เป็นอาสาสมัครได้
เอาละค่ะ ทราบคุณสมบัติเบื้องต้นกันแล้ว ทีนี้เราก็จะมาดูกันว่า แต่ละเว็บไซต์ต่อไปนี้ จะมีเว็บไหนที่ถูกตาต้องใจ จนทำให้คุณผู้อ่านอยากไปช่วยงานอาสาสมัครในนั้น

1

www.blind.or.th
เว็บไซต์แรกที่ดิฉันจะพาคุณๆ ไปชมก็เป็นเว็บไซต์ของมูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์นั่นเองค่ะ ปรัชญาของที่นี่คือ "Light for the Blind" ซึ่งมีความเป็นมาคือสตรีตาบอดชาวอเมริกันชื่อมิสเยเนวีฟ คอลฟิลด์ ได้ริเริ่มให้มีการศึกษาแก่คนตาบอดในประเทศไทยเมื่อหลายสิบปีก่อนจวบถึงวันนี้มูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทยฯ ได้ขยายการดำเนินงาน เพื่อให้สอดคล้องกับความจำเป็นของผู้พิการทางสายตาให้มากที่สุด โดยมี 5 หน่วยงานของมูลนิธิ ได้แก่ โรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพฯ ศูนย์พัฒนาสมรรถภาพคนตาบอด ศูนย์เทคโนโลยีการศึกษาเพื่อคนตาบอด ศูนย์ฝึกอาชีพหญิงตาบอดสามพรานและศูนย์พัฒนาอาชีพคนตาบอด
ในส่วนของโรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพนั้นอยู่ภายใต้สังกัด สำนักบริหารงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน กระทรวงศึกษาธิการ จัดตั้งขึ้นโดยมิสเยเนวีฟ คอลฟิลด์เมื่อวันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2482 ใช้ชื่อว่าโรงเรียนสอนคนตาบอด โดยใช้บ้านหลังเล็กๆ ที่ถนนคอชเช่ ศาลาแดง ซึ่งนับเป็นโรงเรียนที่สอนเด็กพิการแห่งแรกในประเทศไทยและเปลี่ยนแปลงพัฒนามาเรื่อยๆ จนเมื่อเดือนตุลาคม 2520 ได้เปลี่ยนชื่อเป็นโรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพ ซึ่งจัดเป็นโรงเรียนเอกชนการกุศลประเภทพิเศษ มีนักเรียนทั้งประจำและไปกลับ และเพื่อส่งเสริมพัฒนาการของนักเรียนจึงได้ส่งนักเรียนตาบอดเข้าเรียนร่วมกับนักเรียนตาดีในระดับมัธยมกับโรงเรียนต่างๆ เช่น สันติราษฎร์วิทยาลัย สามเสนวิทยาลัย มหามกุฎราชวิทยาลัย เป็นต้น นอกจากนี้ โรงเรียนยังได้พัฒนา ปรับปรุงและจัดหาอุปกรณ์การเรียนการสอนให้เพียงพอแก่ความต้องการ เช่น จัดหาเครื่องคอมพิวเตอร์ สปิชซินติไซเซอร์ เบรล์ดิสเพลย์ มาใช้ในการเรียนการสอนอีกด้วย
สำหรับหน้าเว็บไซต์หลังจากที่คุณคลิ้กเข้ามาจะเห็นมุมบนขวาเป็นรูปประภาคารไฟล์ .gif กะพริบวิบวับต้อนรับผู้มาเยือน เมนูด้านบนสุดคือไกด์ไลน์สำหรับนำคุณไปสู่เพจอื่นเช่น ประวัติความเป็นมาขององค์กร การบริจาค ที่ตั้ง และแผนผังเว็บไซต์ ถัดลงมาจึงเป็นลิงก์ของหน่วยงาน 5 แห่งที่อยู่ภายใต้ความดูแลของมูลนิธิฯ ดิฉันเลือกคลิ้กที่ https://www.blind.or.th/school.html ซึ่งเป็นเว็บไซต์ของโรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพฯ หน้าตาเว็บไซต์มูลนิธิฯ กับเว็บไซต์โรงเรียนไม่ค่อยแตกต่างกันเท่าไหร่นัก ติดจะเรียบๆ ไม่มีลูกเล่น แล้วยังค่อนไปทางเป็นงานเป็นการอีกต่างหาก หลังจากผ่านหน้าแรกเข้ามาก็เจอเมนูเรียงแถวหน้ากระดาน บอกถึง ประวัติความเป็นมา โครงสร้างการบริหารงาน ข้อมูลนักเรียน ปี 2547 ฝ่ายวิชาการ จำนวนนักเรียน ระเบียบการรับสมัคร ฝ่ายปกครอง เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์สำหรับผู้บกพร่องทางการเห็น ฝ่ายกิจการนักเรียน งานอาสาสมัคร ฝ่ายบริการการศึกษา เกียรติประวัติและความภาคภูมิใจ ดิฉันเลือกคลิ้กที่เพจ "งานอาสาสมัคร" ซึ่งจะบอกรายละเอียดชัดเจน และพร้อมสำหรับคนที่สนใจไปเป็นพี่เลี้ยงสอนการบ้านและติวหนังสือให้น้องๆ ดังนั้นสำหรับใครสนใจจะไปเป็นอาสาสมัครที่โรงเรียนคนตาบอดกรุงเทพ ก็สามารถหารายละเอียดเบื้องต้นจากหน้าเว็บนี้ได้เลยค่ะ สำหรับสาวๆ หนุ่มๆ ที่ห่วงสวยห่วงหล่อ.. ที่นี่ความสวยความหล่อไม่จำเป็นค่ะ เพราะสิ่งที่คุณต้องใช้คือ เสียงและความเป็นมิตร ความร่าเริง และความตั้งใจจริงของการเป็นอาสาสมัครซึ่งจำเป็นมากๆ ค่ะ แล้วคุณจะรักพวกเขาจนกลายเป็นอาสาสมัครประจำไปเลย (เหมือนที่ดิฉันหลงรักพวกเข้าแล้วนั่นเลย)

2

www.tsunamivolunteer.net
เอาล่ะค่ะ หลังจากไปอ่านหนังสือ สอนการบ้านให้น้องๆ โรงเรียนคนตาบอดฟังแล้วคราวนี้เราเคลื่อนทัพอาสาสมัครไปภาคใต้กันค่ะ ถึงแม้เหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิจะผ่านพ้นไปแล้วก็ตามหากแต่น้ำใจและความเสียสละของพี่น้องชาวไทยก็ไม่ได้หายไปกับเหตุการณ์คลื่นยักษ์นั้นเลย.... เห็นได้จากข่าวคราวความเคลื่อนไหวผ่านสื่อต่างๆ อยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ อินเทอร์เน็ต ฉบับนี้ก็เลยจะพาคุณๆ ไปชมเว็บอาสาสมัครสึกนามิที่น่าสนใจอีกเว็บหนึ่ง https://www.tsunamivolunteer.net/index1.php เว็บนี้มีหัวเรี่ยวหัวแรงเป็นเจ้าพ่ออาสาสมัครตัวจริงนั่นคือ บ.ก. ลายจุด www.bannok.com หรือ คุณสมบัติ บุญงามอนงค์ แห่งศูนย์วัฒนธรรมกระจกเงานั่นเอง ดังนั้นแล้วจึงไม่ต้องห่วงหน้าตาของเว็บไซต์ว่าจะออกมา "ราชการ" เหมือนเว็บไซต์ข้างบน สำนักงานศูนย์อาสาสึนามิ มูลนิธิกระจกเงาที่ผันตัวเองจากการเป็นครูดอย (ชั่วคราว) ตั้งอยู่ที่ตะกั่วป่า พังงาค่ะ
หลังจากคลิ้กเปิดหน้าต่างโฮมเพจก็ได้พบว่า หน้าตาของเว็บไซต์นั้นมีให้เลือกสองเวอร์ชันค่ะ คือเวอร์ชันภาษาอังกฤษซึ่งก็จะมีเนื้อหาและภาพประกอบต่างไปจากเวอร์ชันภาษาไทย โดยในเวอร์ชันภาษาอังกฤษนั้นจะเป็นไกด์ไลน์สำหรับอาสาสมัครชาวต่างชาติในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากคลื่นยักษ์สึนามิ รวมถึงบทความและกิจกรรมที่อาสาสมัครชาวต่างชาติได้มีส่วนร่วม เช่น การเป็นครูสอนหนังสือ การช่วยสร้างบ้าน และทำเฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น และเมื่อเปิดเพจอื่นไปเรื่อยๆ จึงพบว่ามีรายละเอียดแบบฟอร์มการสมัครเป็นอาสาสมัคร การบริจาค และการช่วยเหลือด้านการเงินแก่ผู้ประสบภัยด้วยค่ะ
ส่วนในเวอร์ชันภาษาไทยนั้นจะเน้นที่บทความจากประสบการณ์ของผู้ที่เป็นอาสาสมัคร เนื้อหาก็จะคล้ายคลึงกับเวอร์ชันภาษาอังกฤษผิดกันแต่ว่าในภาคภาษาไทยนี้จะมีเว็บบอร์ดสนทนาสำหรับแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและเป็นกระดานฝากข่าวคราวถึงเพื่อนพ้องน้องพี่หัวใจเดียวกัน จนเสมือนเป็นแหลางชุมนุมระหว่างชาวค่าย ลากเมาส์ถัดลงมาก็จะมีรายละเอียดบอกวิธีการเป็นอาสาสมัครของศูนย์อาสาสึนามิ มูลนิธิกระจกเงาให้พร้อมเข้าไปใช้บริการได้เลยค่ะ นอกจากนั้นแล้ว ยังมีคอลัมน์ ข่าวคราวเกี่ยวกับสึนามิจากเว็บลิงก์อื่นที่ผู้จัดทำได้สรรหามาบริการถึงที่ รวมไปถึงห้องภาพรวมของสึนามิ พังงาที่รวมเอาภาพเหตุการณ์ต่างๆ มาไว้เป็นแกลเลอรี่... เนื้อหาพอไหว
สำหรับตัวเว็บไซต์เองก็ไม่ดูเหมือนเรียบง่ายจนเกินไปถึงแม้จะไม่มีลูกเล่นอะไรมากมาย แต่ก็มีเนื้อพร้อมเพียงพอที่จะเป็นไกด์ไลน์ให้รู้สึกอยากเป็นอาสมัครขึ้นมาได้บ้างเหมือนกัน.... อันว่าเรื่องของน้ำใจแล้วนั้นไม่ว่าจะอยู่ไกลแสนไกล ลำบากเพียงไหน ถึงเมื่อคราวต้องพึ่งพาอาศัยแล้วคนไทยก็ไม่เคยทิ้งกัน... ถึงตอนนี้คุณพอตจะเลือกการเป็นอาสาสมัครที่เหมาะกับตัวเองได้หรือยังเอ่ย ?

3

www.volunteersofamerica.org
หลังจากเป็นอาสาสมัครในบ้านเราเองแล้ว คราวนี้จะพาไปท่องเว็บไซต์อาสาสมัครของเมืองนอกกันค่ะ ไปดูว่าเมืองนอกเมืองนานั้นเขามีอาสาสมัครอะไรบ้าง ตามมาเลยนะคะ https://www.volunteersofamerica.org เว็บไซต์นี้เป็นเว็บไซต์อาสาสมัครของอเมริกันค่ะ "There are no limits to caring" คือคอนเสปท์ของอาสาสมัครที่นี่ค่ะ เปิดดูเนื้อหาแล้ว ยิ่งใหญ่มากสำหรับองค์กรนี้ เพราะเป็นองค์กรที่ขึ้นตรงกับรัฐบาลซึ่งมีหน่วยงานสาขาอยู่แทบทุกมลรัฐของประเทศ และค่อนข้างครอบคลุมมากๆ ในเรื่องการให้ความช่วยเหลือทุกด้าน ไม่ว่าจะเรื่องของการไร้ที่อยู่อาศัย เรื่องของกรณีฉุกเฉินที่เกิดขึ้นฉับพลัน รวมไปถึงเด็กกำพร้า เด็กพิการ และคนยากจน ด้านสุขภาพ เรื่องปัญหาครอบครัว ฯลฯ ซึ่งแต่ละกรณีก็จะมีเจ้าหน้าที่อาสาสมัครประจำสำหรับดูแลเรื่องนั้นๆ โดยตรง คอยให้คำปรึกษา และช่วยเหลือ
มาดูหน้าตาของเว็บไซต์ ซึ่งเมื่อคลิ้กเข้ามาแล้วก็ดูธรรมดามาก มีรูปภาพประกอบเนื้อหาที่ส่วนใหญ่เป็นกิจกรรมของอาสาสมัคร หัวข้อหลักๆ ก็จะเป็น Our Service, About us, How to Help, Where we are, Public Policy, News Room เป็นต้น ถัดลงมาก็จะเป็นลิงก์ให้เปิดเพจอื่นถัดไป ซึ่งเมื่อคลิ้กแต่ละหัวข้อแล้วนอกจากรายละเอียดแต่ละหัวข้อนั้นๆ แล้วก็จะพบว่ามีลิงก์เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นลิงก์ไปสู่เว็บหน่วยงานย่อยที่อยู่ทั่วทุกหัวระแหงของประเทศซึ่งเขาอำนวยความสะดวกไว้พร้อมสรรพสำหรับพื้นที่ในการเสิร์จเอ็นจิ้นว่าคุณต้อง การความช่วยเหลือด้านใด ในมลรัฐใด ก็มีช่องให้กรอกข้อมูลพร้อมแล้วลิงก์ของรายละเอียดนั้นจะปรากฏขึ้นให้ตามไป ลิงก์เว็บนี้ค่ะ www.volunteersofamericashespeake.org ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านสตรี ตั้งอยู่ที่มลรัฐแมรีแลนด์ ซึ่งนอกจากนั้นแล้วก็จะคล้ายกับเว็บด้านอาสาสมัครโดยทั่วไปซึ่งก็มีพื้นที่สำหรับการสมัครเป็นอาสาสมัครหรือถึงแม้จะเป็นไม่ได้แต่เขาก็มีรายละเอียดสำหรับการรับบริจาคไว้พร้อมสำหรับคุณเสมอ
เป็นอย่างไรบ้างคะ ? มีความรู้สึกอยากเป็นอาสาสมัครขึ้นมาบ้างหรือยังเอ่ย ? อ๊ะ อ๊ะ คุณผู้อ่านคงอยากรู้ใช่ไหมคะ ว่าดิฉันเป็นอาสาสมัครอะไรกับเขาบ้างหรือเปล่า ? ขอตอบว่า เป็นค่ะ ดิฉันน่ะเคยเป็นทั้งอาสาสมัครสึนามิ และตอนนี้ก็เป็นอาสมัครที่โรงเรียนสอนคนตาบอดค่ะ ความสุขง่ายๆ ที่รู้สึกได้ถึงการมีคุณค่าในการมีชีวิตอยู่ของตัวเอง...แล้วคุณจะรู้ว่าแท้จริงแล้วคนเราทำอะไรได้มากว่าที่เราคิดตั้งเยอะเลย


Computer Today

ฉบับที่ 263 ปักษ์แรก มิถุนายน 2548
อ่านบทความอื่นๆ >>

อัพเดทล่าสุด