สุดยอดชิปกราฟิกจาก ATi
ในโลกของการ์ด 3 มิติ ที่อยู่บนพีซีเดสก์ทอปหรือคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะที่เราใช้กันอยู่นั้น ชื่อของ ATi คงจะคุ้นหูจนชินชากันไปแล้ว ซึ่ง ATi ก็เป็นหนึ่งในผู้ผิตชิปกราฟิกที่ผู้ใช้ให้ความไว้วางใจในยุคปัจจุบัน แม้แต่ไมโครซอฟท์เองก็ยังให้ความเชื่อมั่นในชิปกราฟิกจากผู้ผลิตรายนี้เช่นกัน โดยพวกเขาได้เลือกใช้ชิป ATi ตระกูล R5xx แต่เป็นรุ่นพิเศษ (ความเร็วในการทำงาน 500MHz) ที่สั่งทำขึ้นมาเพื่อใช้กับเครื่องเล่นเกม Xbox 360 ซึ่งคุณสมบัติของชิปกราฟิกรุ่นนี้ค่อนข้างพิเศษมาก คือ มีการฝังหน่วยความแบบ DRAM เอาไว้ในแพ็กเกจของชิป กราฟิกถึง 10MB เลยทีเดียว ซึ่งทำหน้าที่เป็นเหมือนกับบัฟเฟอร์ขนาดใหญ่ของชิปกราฟิก (Xbox ไม่ได้เป็นรายแรกที่ฝังหน่วยความจำขนาดใหญ่ลงไปบนชิปแพ็กเกจ แต่ทว่าเป็น Gamecube ของนินเทนโดต่างหาก ที่เป็นผู้เริ่มต้นฝังหน่วยความจำขนาด 3MB ลงบนแผงวงจรเดียวกับตัวชิปกราฟิกโพรเซสเซอร์) โดยในการทำงานจริงๆ นั้น ชิปกราฟิกจะแชร์หน่วยความจำของระบบมาใช้งานร่วมด้วย ซึ่งเป็นหน่วยความจำหลักของเครื่องขนาดความจุ 512MB ที่มีชนิดเป็น GDDR3 SDRAM ทำงานที่ความเร็วในระดับ 700MHz อันที่จริงแล้วด้วยโครงสร้างสถาปัตยกรรมนั้น ตัวชิป GPU สามารถรองรับการคำนวณของตัวเลขทางตรรกะได้พร้อมกันถึง 48 ช่องทาง เพราะว่าสเปกของมันรองรับการคำนวณตัวเลขทศนิยมได้พร้อมๆ กัน 48 ช่องทางอยู่แล้ว แต่ไมโครซอฟท์และ ATi กลับไม่ได้คิดไปไกลในระดับนั้นสำหรับประสิทธิภาพการทำงานของชิปกราฟิกของ ATi นี้ ในเรื่องการสร้างภาพโพลิกอนหรือภาพหลายเหลี่ยมนั้น สามารถทำได้ในระดับ 500 ภาพ/วินาที (เป็นการสร้างรูปสามเหลี่ยม) รองรับแสงเงาได้ 48,000 ล้านเชดเดอร์/วินาที ส่วนค่าแบนด์วิดธ์ในการติดต่อกับหน่วยความจำจะแบ่งออกเป็นสามค่าด้วยกัน คือ หากเป็นการติดต่อมาที่หน่วยความจำระบบก็จะมีค่าแบนด์วิดธ์อยู่ที่ 22.4GB/s และหากเป็นการติดต่อระหว่างหน่วยความจำของระบบกับหน่วยความจำที่ฝังตัวอยู่บนชิป จะให้ค่าแบนด์วิดธ์สูงสุดคือ 256GB/s ทั้งนี้ก็เพราะว่าหน่วยความจำที่ฝังตัวอยู่บนแพ็กเกจชิป (Embedded DRAM) จะเชื่อมต่อเข้ากับตัว GPU โดยตรง ทำให้การแลกเปลี่ยนข้อมูลกับหน่วยความจำหลักจึงทำได้อย่างรวดเร็ว และหากเป็นแบนด์วิดธ์บน FSB ของระบบก็จะมีค่าอยู่ที่ 21.6GB/s ซึ่งค่าแบนด์วิดธ์ทั้งสามนี้จะเป็นตัวบ่งบอกถึงประสิทธิภาพโดยรวมของชิปกราฟิกได้เช่นกัน ดังนั้นจะเห็นได้ว่าทางไมโครซอฟท์พยายามที่จะทำให้อัตราการส่งข้อมูลระหว่างหน่วยความจำทั้งสองกับชิปกราฟิกมีค่ามากที่สุด เพราะนั่นหมายถึงสมรรถนะการทำงานโดยรวมที่สูงขึ้น และสุดท้ายคือประสิทธิภาพรวมทั้งหมดของการคำนวณตัวเลขทศนิยม ซึ่งชิปกราฟิกจาก ATi ให้ประสิทธิภาพสูงถึง 1 teraflop เลยทีเดียว!!!
Note :
FLOP = Floating Point Operation (การจัดการกับตัวเลขทศนิยม)
TERAFLOP = Trillion Floating Point Operations per second
1 TERAFLOP = จัดการกับเลขทศนิยมได้หนึ่งล้านล้านคำสั่งต่อวินาที
จากข้อมูลตางๆ ของชิปกราฟิกที่ใช้ใน Xbox 360 นั้นคงพอจะทำให้คุณผู้อ่านทราบว่า มันมีสมรรถนะเทียบเท่าหรือสูงกว่าการ์ดจอที่ใช้อยู่บนพีซีที่เป็นรุ่นท็อปๆ ในปัจจุบันเสียอีก แบบนี้ชนะเลิศ! และด้วยความยั่วยวนของฮาร์ดแวร์ที่มีสมรรถนะสูงเทียบเท่าพีซีทั้งเครื่องนี้ เชื่อว่าพอถึงวันจำหน่ายจริง คงจะมีมือดีเอาไปแฮกระบบฮาร์ดแวร์ของ Xbox 360 เหมือนที่ทำกับ Xbox เวอร์ชันแรกมาก่อนหน้านี้ แต่ไม่แน่เหมือนกันว่าไมโครซอฟท์จะมีระบบป้องกันการแฮกมาดีมากน้อยเพียงใด...