คัด กับ ลอก เรื่องง่ายๆ ที่คุณไม่รู้


654 ผู้ชม


<

ย้อนไปเมื่อสมัยลุงบาบูยังนุ่งกางเกงขาสั้นอยู่ จำได้ว่ากิจกรรมตอนเช้าที่ลุงตาบูและผองเพื่อนมักทำกันก่อนเข้าแถวเคราพธงชาติ คือ การลอกการบ้าน จะว่าไปแล้วมันก็เป็นกิจกรรมที่ไม่ดี แต่นักเรียนส่วนใหญ่ก็มักผ่านประสบการณ์มาด้วยกันแทบทุกคน

พื้นที่โฆษณา  
สนใจลงโฆษณา ติดต่อ โทร.0-2642-3400 ต่อ 4613

พูดถึงเรื่อง "ลอก" แล้วถ้าจะให้คำจำกัดความคงจะหมายถึงการทำซ้ำ การเลียนแบบ ประโยชน์ข้อที่ชัดเจนสุดคงเป็นเรื่องของเวลาที่แสนจะประหยัด แต่ลุงตาบูขอแนะนำหลานๆ ว่าไม่ลอกการบ้านเลย จะเป็นการดีสุด
มาเข้าเรื่องกันดีกว่า พูดถึงเรื่องการ "ลอก" แล้วในโปรแกรมคอมพิวเตอร์ เกือบทุกโปรแกรมก็มีคำสั่งแนวนี้ให้เราได้ใช้งาน บางโปรแกรมก็อาจมีแค่คัดลอกแบบธรรมดา แต่บางโปรแกรมก็มีลูกเล่นให้เราได้เล่น
ว่าแล้วฉบับนี้ลุงตาบูเลยขอพาหลานๆ ทัวร์ Excel กันอีกสักฉบับ เรื่องที่ลุงจะขอเล่าวันนี้เป็นอีกหนึ่งคำสั่งที่ได้ชื่อว่าแสนจะพื้นฐาน แต่เชื่อไหมว่ามีคนที่รู้จักอย่างลึกซิ้งไม่มากนัก คำสั่งที่พูดถึงนี้ก็คือ "คัดลอก"
ได้ยินคำนี้ปุ๊บหลานๆ ก็คงร้อง "โถ เขารู้กันมาตั้งนานแล้วละลุง" แต่ช้าก่อน (รู้สึกว่าลุงตาบูจะพูดคำนี้บ่อยจัง) เพราะเรื่องของการ "คัดลอก" ที่ลุงตาบูจะนำเสนอวันนี้ ขอรับรองว่าจ๊าบสุดๆ
พูดถึงคำสั่ง "คัดลอก" เราจะใช้คู่กับคำสั่ง "วาง" ซึ่งหน้าที่ของคำสั่งคู่นี้ก็คือใช้สำหรับการคัดลอกจากเซลหนึ่งไปอีกเซลหนึ่ง ตามปกติแล้วเมื่อหลานๆ สั่งคัดลอกเซลใดก็ตาม โปรแกรมก็จะแสดงเส้นปะๆ วิ่งรอบๆ เซล ตราบใดที่เจ้าเส้นปะยังไม่หายไป หลานๆ ก็สามารถสั่ง Paste เพื่อวางสิ่งที่คัดลอกได้ไปเรื่อยๆ
แล้วเจ้าเส้นปะนี่มันคืออะไร? พูดกันแบบภาษาวิชาการ ลุงตาบูก็ขอเรียกมันว่า สัญลักษณ์ที่บอกว่า โปรแกรมยังเก็บต้นฉบับไว้ในคลิปบอร์ดของโปรแกรมนั่นเอง เส้นปะที่พูดถึงนี้จะหายไป เมื่อมีการกดคีย์ใดๆ บนแป้นคีย์บอร์ด ไม่เชื่อลองกดปุ่ม Esc ดูซิ
แต่หลานๆ รู้ไหมว่านอกจากการ Paste แบบธรรมดา แล้วในโปรแกรม Excel ก็ยังมีคำสั่ง "วางแบบพิเศษ" ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าพิเศษ ดังนั้นเวลาจะใช้ก็ต้องใช้กับกรณีพิเศษครับ
เพื่อให้เห็นภาพลุงตาบูขอให้หลานๆ ทำตามตัวอย่างที่ลุงตาบูจะขอยกประกอบคำอธิบาย เริ่มต้นให้หลานๆ พิมพ์ "ComputerToday" ที่เซล A1 จากนั้นก็คลิ้กที่เซล์ A1 แล้วเลือกเมนู "แก้ไข" -> "คัดลอก" แต่ถ้าใครจะขอใช้ทางลัดด้วยการคลิ้กที่ทูลบาร์ก็ได้ ไม่ผิดกติกาอะไร และเพื่อให้เกิดความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ให้หลานๆ กำหนดรูปแบบให้กับตัวอักษรให้มีฟอนต์แปลกๆ สีสันสวยงาม ตลอดจนขนาดตัวอักษรใหญ่ขึ้น หรือจะปรับความกว้างของคอลัมน์
เอาละคราวนี้ก็มาถึงนาทีระทึกใจ ให้หลานๆ คลิ้กที่เซล B5 (อันนี้เป็นตัวอย่าง ถ้าหลานๆ จะคลิ้กเซล์อื่น ลุงตาบูก็ไม่กล้าว่ากะไรครับ) จากนั้นคลิ้กเมนู "แก้ไข" -> "วางแบบพิเศษ" ก็จะปรากฏหน้าจอให้หลานๆ เลือก


เมนูแก้ไข ที่รวมเอาคำสั่งเรื่องคัดลอกไว้


หน้าจอของการสั่งวางแบบพิเศษ สำหรับตัวเลขตัวอักษร


หน้าจอของการสั่งวางแบบพิเศษ สำหรับรูปภาพ


หน้าจอของการสั่งวางแบบพิเศษ กรณีคัดลอกข้ามโปรแกรม


หน้าจอที่ปรากฏขึ้น จะถูกแบ่งกลุ่มคำสั่งออกเป็นส่วนๆ อย่างชัดเจน โดยในกรอบคำสั่งกลุ่ม "วาง" จะประกอบไปด้วยกลุ่มคำสั่งที่ใช้กำหนดลักษณะของการวาง โดยโปรแกรมจะแบ่งการวงออกเป็นส่วนๆ ได้แก่ สูตร ค่า รูปแบบ ข้อคิดเห็น การตรวจสอบความถูกต้อง ทั้งหมดยกเว้นเส้นขอบ ความกว้างคอลัมน์ สูตรและรูปแบบตัวเลข ค่าและรูปแบบตัวเลข ซึ่งถ้าไม่คิดอะไรมาก็สั่งเป็นวางทั้งหมด เพราะโปรแกรมจะสั่งวางทุกอย่างเหมือนต้นฉบับเปี๊ยบครับ แต่ถ้าหลานๆ ไม่อยากจะสั่งวางแบบทั้งหมด ก็สามารถเลือกวางเฉพาะส่วน ตัวอย่างเช่นเลือกวางแบบ "รูปแบบ" โปรแกรมก็จะคัดลอกมาเฉพาะส่วนของรูปแบบที่หลานๆ ได้สั่งกำหนดไว้ที่ต้นฉบับ
นอกจากที่หลานๆ จะคัดลอกตัวอักษรแล้ว ถ้าในต้นฉบับเป็นตัวเลขหรือสูตรคำนวณผลที่ได้ก็จะมีความแตกต่างกันไป เพื่อความเข้าใจลองพิมพ์ค่า 5 ลงที่เซล B1 พิมพ์ 7 ลงที่เซล C1 แล้วใส่สูตร =B1+C1 ลงที่เซล D1 โปรแกรมจะคำนวณคำตอบเป็น 12 ตามปกติแล้วถ้าหลานๆ คัดลอกสูตรนี้ไปที่เซลอื่นโปรแกรม ก็จะคัดลอกไปในรูปของสูตร ซึ่งแน่นอนคำตอบที่แสดงขึ้นมาก็อาจจะไม่เท่ากับ 12 ดังนั้นถ้าหลานๆ ต้องการที่จะให้เวลาที่คัดลอกแล้ววางเป็นตัวเลขคำตอบเลยก็ต้องสั่งวางแบบ "ค่า"
อีกหนึ่งกรณีสำหรับการคัดลอกตัวเลขที่ Excel สามารถทำได้คือ การวางแล้วคำนวณเพิ่มต่อไปด้วย ฟังดูเหมือนยาก แต่จริงๆ ไม่ยาก เพื่อความเข้าใจลองสร้างตารางตัวเลขต่อไปนี้ลงบนหน้าจอ
2
5
4
3
จากนั้นลองพิมพ์ตัวเลข 5 ลงในเซลว่างๆ สักที่หนึ่ง แล้วสั่งคัดลอก จากนั้นก็ไฮไลต์ตารางตัวเลข ตัวดำเนินการ จะมีตัวเลือกอยู่ 4 ตัวคือ ไม่มี บวก ลบ คูณ หาร ซึ่งแต่ละตัวก็เหมือนการคำนวณทั่วไป เช่นถ้าหลานเลือก "บวก" นั่นก็หมายความว่าโปรแกรมจะเอา 5 ซี่งเราสั่งคัดลอกไปบวกเพิ่มเข้าไปกับตัวเลขทั้งหมดที่ไฮไลต์ มีตัวเลือกเพิ่มเติมที่หลานๆ สามารถใช้ได้คือ "ข้ามเซลล์ที่ว่าง" จะหมายถึงคัดลอก แล้วให้มองข้ามเซล์ที่ว่าง ส่วน "สลับเปลี่ยนแถวกับคอลัมน์" จะใช้ในกรณีที่สั่งให้สลับข้อมูลที่คัดลอกจากเดิมที่เป็นแถว ให้กลายเป็นคอลัมน์ หรือจากคอลัมน์ให้เป็นแถว ส่วน "วางการเชื่อมโยง" จะเป็นการคัดลอกเพื่อให้ปลายทางลิงก์เชื่อมไปกับต้นฉบับ
อีกหนึ่งความลับของเรื่องการคัดลอกที่ลุงตาบูอยากพูดถึงคือ การคัดลอกรูปภาพ เวลาสั่งวางแบบพิเศษ จะได้หน้าต่างถามที่แตกต่างไปจากการคัดลอกพวกตัวเลขหรือตัวอักษร โดยรายละเอียดที่สามารถเลือกได้นั้น จะประกอบไปด้วย "วาง" ซึ่งหมายถึงวางแบบธรรมดาๆ กับ "วางการเชื่อมโยง" อันหมายถึงสั่งวางในลักษณะที่ลิงก์กับต้นฉบับ
แต่ถ้าเป็นการคัดลอกข้ามโปรแกรม เช่นคัดลอกข้อความที่พิมพ์ไว้จาก Word หน้าต่างไดอะล็อกบ็อกซ์ที่แสดงก็จะมีความแตกต่างไปอีก โดยจะมีรายละเอียดในกรอบ นอกเหนือไปจากแค่เลือกจะวางแบบธรรมดา หรือวางแบบเชื่อมโยง อาทิ วัตถุ เอกสาร รูปภาพ HTML ข้อความ Unicode ข้อความ ซึ่งทั้งหมดที่ว่านี้หลานๆ สามารถลองเปลี่ยนดู ในกรณีที่หลานๆ เลือกวางแบบเชื่อมโยงเวลาที่มีการแก้ไขข้อูลต้นฉบับที่หน้าจอ Word ที่ปลายทางของ Excel ก็จะอัพเดตเปลี่ยนตามไปด้วย
ก็ร่ายยาวเรื่องของการคัดลอกมาพอสมควร ลุงตาบูหวังว่าทั้งหมดที่เล่ามาตั้งแต่ต้น คงเป็นประโยชน์กับหลานไม่มากก็น้อย (เขียนยังกับคำนำในรายงานสมัยนุ่งกางเกงขาสั้นเลย) เอาเป็นว่าลุงตาบูขอตัวก่อน ไว้เจอกันใหม่เล่มหน้าครับ


Computer Today

ฉบับที่ 259 ปักษ์แรก เมษายน 2548
อ่านบทความอื่นๆ >>

อัพเดทล่าสุด