อาชีพต้องห้าม


664 ผู้ชม


ข่าวหนุ่มอินโดนีเซียเจาะเว็บไซต์ของรัฐบาลไทยเพื่อโชว์แฟนสาวเมื่ออาทิตย์ที่แล้วทำให้ผมนึกถึง "ข้อสังเกต" ของตัวเองในวัยเด็กที่ใช้เวลาว่างนั่งวิเคราะห์ความนิยมของผู้เล่นกีฬายอดฮิตคือ "ฟุตบอล" แล้วได้ผลสรุปออกมาตรงใจผมอย่างยิ่งในวันนี้

พื้นที่โฆษณา  
สนใจลงโฆษณา ติดต่อ โทร.0-2642-3400 ต่อ 4613

ในสมัยมัธยมต้น กีฬายอดฮิตในโรงเรียนมีไม่กี่ประเภทหรอกครับ หลักๆ ก็ เทนนิส ซอฟต์บอล และแน่นอนว่าอันดับหนึ่งคือฟุตบอล ที่ผมตั้งข้อสังเกตก็คือ เพราะเหตุใดหนอที่คนเล่นฟุตบอลทุกคนต่างก็แย่งกันเป็นศูนย์หน้า หรืออย่างน้อยได้เป็นกองหน้าก็ยังดี ตรงกันข้ามกับกองหลังซึ่งใครได้ตำแหน่งนี้ไปก็มักจะห่อเหี่ยวไปทันที ยิ่งได้เป็นโกลล์หรือผู้รักษาประตูนี่ก็แทบจะเลิกเล่นไปเลย

คำตอบที่ผมได้พบในวันนั้นก็คือ ฮีโร่ของเกมนี้คือผู้ยิงประตูได้นั่นเองครับ ดูจากภาพข่าวกีฬาทุกครั้งก็จะเห็นแต่ภาพการยิงประตูได้ จะหาภาพที่กองหลังทำหน้าที่ดี หรือยอดนายประตูที่เซฟลูกไว้ได้ก็มีน้อยเต็มทน หากเปิดเทปดูสัก 100 ข่าวก็จะเห็นภาพการยิงประตูประมาณ 98 ข่าวที่เหลืออีก 2 ข่าวก็จะแบ่งกันระหว่างกองหลังกับโกลล์

ดูสัดส่วนนี้แล้วก็ไม่น่าแปลกใจที่ไม่มีใครยอมเป็นโกลล์ครับ เพราะหน้าที่นี้ "ทำดีก็เสมอตัว" และถ้าพลาดเมื่อไรก็เสียประตูเมื่อนั้น

คิดๆ ดูแล้วไม่ต่างอะไรกับหน้าที่ของ CIO ทุกวันนี้สักเท่าไรนัก เช่นเดียวกับข่าวการเจาะเว็บไซต์ของสำนักนายกรัฐมนตรีในครั้งนี้ หากไม่มีข่าวใดๆ หลุดออกมาเราก็คงไม่สนใจหน้าที่ฝ่ายไอทีในภาครัฐเป็นแน่ แต่เมื่อเป็นข่าวออกมาแล้ว รับรองได้ครับ ข่าวเชิงลบกระฉ่อนไปถึงไหนต่อไหนแน่นอน

ยังดีที่บ้านเรายังไม่มีตำแหน่ง System Security Manager เพราะถ้ามี ผมเชื่อว่าตำแหน่งนี้จะมีสถานะไม่ต่างอะไรไปจากผู้รักษาประตู คือทำดีก็เสมอตัว แต่ถ้าพลาดก็กลายเป็นเรื่องใหญ่ขึ้นมาแน่ๆ และผมเชื่อว่าตำแหน่งนี้คงหาผู้มารับผิดชอบได้ยากเย็นเต็มทน

ดาวเด่นในฝ่ายไอทีทุกวันนี้หนีไม่พ้นคนที่รับผิดชอบในด้าน Interface ที่ใกล้ชิดกับฝ่ายบริหารได้มากที่สุด โดยเฉพาะด้านการนำเสนอข้อมูล ไม่ว่าจะเป็น Enterprise Resources, Customer Relationship Database, หรือการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อแสดงผลในรูปแบบต่างๆ ไม่ต่างอะไรกับ "ศูนย์หน้า" ที่มีแต่คนแย่งกันเล่น เพราะรู้ดีว่ามีโอกาสสร้างคะแนนนิยมได้สูงที่สุด

ตรงกันข้ามกับฝ่าย Security ที่ได้แต่ก้มหน้าก้มตาหาข้อมูลต่างๆ โดยเฉพาะช่องโหว่ของระบบที่พบได้เรื่อยๆ แทบจะทุกวัน หากแก้ไขและป้องกันได้ทันก็รอดตัวไป แต่ถ้าพลาดก็ทำใจได้เลยครับว่าในวันรุ่งขึ้นต้องถูกตำหนิและรุมประณามจากทุกฝ่าย

ก็ได้แต่เห็นใจและเอาใจช่วยแผนก "ปิดทองหลังพระ" ทุกท่านครับ เพราะโลกไอทีในวันนี้นอกจากจะ "เล็กลง" คือช่องทางในการสื่อสารเปิดกว้างให้กับคนทั้งโลกได้ง่ายๆ แล้ว ยัง "เบาลง" อีกมากเพราะการค้นคว้าหาข้อมูลใหม่โดยเฉพาะช่องโหว่ต่างๆ ของระบบนั้นหากันได้ง่ายๆ ผ่านเว็บบอร์ดและเว็บไซต์ต่างๆ ที่พูดคุยกันในเรื่องนี้โดยเฉพาะตรงกันข้ามกับในอดีตที่เราต้องหาหนังสืออ่านกันเป็นตั้งๆ กว่าจะได้ความรู้มากพอเอาไปทำอะไรทำนองนี้ได้

หวังว่าผู้อ่านที่ทำหน้าที่ในส่วนนี้คงยังไม่ท้อถอยหมดกำลังใจไปเสียก่อนนะครับ เพราะผมเชื่อว่านับจากวันนี้เป็นต้นไป บทบาทของฝ่ายนี้จะมีแต่เพิ่มมากขึ้นๆ ตามความผันผวนของโลกไอทีซึ่งเราอาจต้องทำงานหนักขึ้นและหาข้อมูลมากขึ้นกว่าในอดีตหลายเท่า

อย่างน้อยๆ eWeek ก็คงช่วยผู้อ่านทุกท่านได้พอสมควร โดยเฉพาะฉบับนี้ที่เราได้แง่คิดและมุมมองที่น่าสนใจจากผู้เชี่ยวชาญหลายท่าน ลองติดตามดูได้เลยครับ


eWEEK

ฉบับที่ 16 ปักษ์หลัง มิถุนายน 2548
อ่านบทความอื่นๆ >>

อัพเดทล่าสุด