Acer Ferrari 4000 เป็นโน็ตบุ๊กในตระกูล Ferrari ยุคที่ 3 ของเอเซอร์ ซึ่งทั้งสองซีรี่ส์ก่อนหน้านี้วางตลาดได้ไม่นานก็สามารถจำหน่ายหมดอย่างรวดเร็ว และ eWEEK ได้มีโอกาสทดสอบเจ้า Ferrari 4000 ในครั้งนี้ด้วย
ดีไซน์-ฟีเจอร์ ลงตัวทุกสัดส่วน
โน้ตบุ๊กที่เราได้รับมานั้นเป็นรุ่น Ferrari 4005WLMi ที่มีจำนวนแค่ 99 เครื่องเท่านั้น ก็ยังคงเหมือนเดิมสำหรับการออกแบบรุ่นนี้ใช้โทนสีแดงดำที่เป็นสัญลักษณ์มาโดยตลอด สำหรับตัวฝาครอบมีลายดำสลับ (ตรงกับรุ่นรถ Ferrari F430 Spider) โดยมีโลโก้ของรถ Ferrari ประดับไว้ตรงกลาง
Ferrari รุ่นนี้มาพร้อมกับซีพียูจากค่าย AMD ในรุ่น ATMD Turion 64 Mobile ML-37 (รองรับการทำงานกับระบบปฎิบัติการเทคโนโลยี 64 บิต) ความเร็วที่ระดับ 2 กิกะเฮิรตซ์ ซึ่งรวมกับหน่วยความจำ DDR-RAM ขนาด 1 กิกะไบต์ ทำให้หมดห่วงไปได้ในเรื่องของความเร็วและแรงสำหรับการทำงาน รวมทั้งความจุของฮาร์ดดิสก์ขนาดใหญ่กว่า 100 กิกะไบต์ และหน้าจอขนาด 15.4 นิ้วแบบ WideScreen
ทางฝั่งการแสดงผลนั้น Acer ได้เลือกที่จะใช้การ์ดจากค่าย ATI รุ่น Mobility Radeon X700 ขนาดหน่วยความจำ 128 เมกะไบต์ สำหรับเจ้า X700 ตัวนี้อัดแน่นด้วยคุณสมบัติต่างๆ ไว้มากมายไม่ว่าจะเป็น เทคโนโลยี PCI Express ที่รับส่งข้อมูลได้อย่างรวดเร็ว เทคโนโลยี PowerPlay ที่ช่วยลดระดับการใช้งานแบตเตอรี่ เป็นต้น สามารถอ่านรายละเอียดประสิทธิภาพของ Radeon X700 ได้ที่ www.ati.com/products/MobilityRadeonx700
ออปชันที่ Acer ติดตั้งมาในตัวเครื่องรุ่นนี้นั้นล้วนแล้วแต่น่าสนใจทั้งสิ้นไม่ว่าจะเป็น พอร์ต USB, Firewire, 5-in-1 Media Card reader, DVD-RAM สามารถเขียนแผ่นได้ทั้ง CD (24x) และ DVD (3x), พอร์ต DVI, อุปกรณ์บลูทูธ ฯลฯ
Ferrari 4000 สามารถเชื่อมต่อกับเครือข่ายได้ทั้งในรูปแบบไร้สายและมีสาย โดยที่พอร์ตสำหรับเชื่อมต่อแบบมีสายจะเป็นแบบเทคโนโลยี Gigabit Ethernet หรือถ้าใช้งานแบบไร้สายก็จะมีชิป Wi-Fi (SignalUP Technology) รองรับมาตรฐาน 802.11g ที่รองรับความเร็ว 54 เมกะบิต
การทดสอบ
เราแบ่งการทดสอบออกเป็น 2 ลักษณะ ซึ่งประกอบด้วย การทดสอบจากการใช้งานของยูสเซอร์เพื่อวัดความพึงพอใจ และการทดสอบโดยการใช้โปรแกรมทางคอมพิวเตอร์
การทดสอบในส่วนแรกเป็นการใช้งานแอพพลิเคชันต่างๆ อาทิ โปรแกรมทางด้านออฟฟิศ โปรแกรมทางด้านการตกแต่งภาพ โปรแกรมทางด้านมัลติมีเดีย และอื่นๆ ซึ่งการใช้งานเป็นไปได้อย่างสมบูรณ์แบบการทำงานในโปรแกรมต่างๆ ทำได้รวดเร็วและน่าประทับใจ
ส่วนโปรแกรมทางคอมพิวเตอร์ที่เราใช้ทดสอบในครั้งนี้ได้แก่ โปรแกรม Sisoftware Sandra Lite 2005, 3Dmark 03 และ PCmark04 โดยเราทดสอบซีพียูด้วย Sisoftware ซึ่งปรากฎว่าซีพียู Turion 64 Mobile ML-37 จาก AMD สามารถทำคะแนน Dhrystone ALU ที่ 8692 MIPS และ Whetston FPU ที่ 3271 MFLOPS และ Whetstone iSSE2 ที่ 4221 MFLOPS
สำหรับ 3Dmark 03 นั้นใช้ทดสอบการทำงานของการแสดงผลซึ่ง Ferrari ทำคะแนนได้ที่ 2911 คะแนน และการทดสอบ PCmark 04 ทำคะแนนได้ที่ 3777 คะแนน ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงทีเดียว