E-Lens ช่วยคนตาบอดสี เห็นสีได้เสมือนจริง


1,041 ผู้ชม


อย่าเพิ่งตกใจ ถ้าวันหนึ่งคุณเกิดรู้ว่า คุณ (หรือใครบางคน) กำลังมีปัญหาทางด้านการมองเห็นสี ที่ผิดเพี้ยนไปจากคนอื่นๆ และก็ไม่ใช่เรื่องแปลก ถ้าคนคนหนึ่งเกิดตาบอดสีขึ้นมา แต่คนคนนั้นยังสามารถดำรงชีวิตได้อย่างเช่นคนปกติทั่วไป เพราะในทางการแพทย์แล้ว เขาบอกว่า ตาบอดสีเป็นเพียงอาการที่ตาของผู้ป่วย แปรผลแปรภาพสีผิดไปจากผู้อื่นที่เป็นตาปกติเท่านั้น

พื้นที่โฆษณา  
สนใจลงโฆษณา ติดต่อ โทร.0-2642-3400 ต่อ 4613

 

อย่าเพิ่งตกใจ ถ้าวันหนึ่งคุณเกิดรู้ว่า คุณ (หรือใครบางคน) กำลังมีปัญหาทางด้านการมองเห็นสี ที่ผิดเพี้ยนไปจากคนอื่นๆ และก็ไม่ใช่เรื่องแปลก ถ้าคนคนหนึ่งเกิดตาบอดสีขึ้นมา แต่คนคนนั้นยังสามารถดำรงชีวิตได้อย่างเช่นคนปกติทั่วไป เพราะในทางการแพทย์แล้ว เขาบอกว่า ตาบอดสีเป็นเพียงอาการที่ตาของผู้ป่วย แปรผลแปรภาพสีผิดไปจากผู้อื่นที่เป็นตาปกติเท่านั้น
จากผลการวิจัยที่บอกว่า ส่วนใหญ่แล้วคนตาบอดสีมักจะมีปัญหาเรื่องการแยกสีแดงและสีเขียวออกจากกัน นั่นหมายความว่า พวกเขาจะไม่สามารถเห็นสีอย่างคนปกติได้ ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีวิธีที่จะทำให้คนตาบอดสีสามารถมองเห็นสี 3 โทนสีหลัก คือแดง เขียว น้ำเงิน ได้อย่างชัดเจน
แต่ถ้าหากคุณหรือใครคนนั้นจะต้องทำงานบนหน้าจอคอมพิวเตอร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ที่ทำงานด้านกราฟิก หรือดีไซเนอร์ทั้งหลาย ที่ต้องการข้อมูลและรูปภาพจากเว็บไซต์ต่างๆ ซึ่งล้วนแล้วแต่ยากในการมองและแยกแยะสี ปัญหาเรื่องตาบอดสีก็คงจะไม่ใช่เรื่องเล็กอย่างแน่นอน ดิจิตอลไลฟ์ฉบับนี้ เราจึงมีเรื่องราวดีๆ มามอบให้คุณผู้อ่าน (ที่มีปัญหาด้านตาบอดสี) ได้รู้วิธีแก้ปัญหา ด้วยการใช้โปรแกรม อี-เลนส์ (Electronic Lens : E-Lens) ซึ่งเป็นโปรแกรมประยุกต์ที่พัฒนาขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือผู้มีปัญหาตาบอดสีในการแยะแยะสีบนหน้าจอคอมพิวเตอร์ ที่พัฒนาขึ้นด้วยภาษา Borland C++ Builder
คุณสมบัติเด่นอันแรกของโปรแกรมนี้คือ มันมีขนาดเล็กมาก เพียงแค่ 600 กิโลไบต์เท่านั้น เรียกว่าผู้ใช้งานสามารถบันทึกโปรแกรมอี-เลนส์ใส่แผ่นดิสก์ขนาด 3.5 นิ้ว และพกพาไปใช้งานกับเครื่องคอมพิวเตอร์ได้ทุกเครื่องทุกที่ทุกเวลา แต่ก่อนจะไปถึงรายละเอียดเกี่ยวกับโปรแกรมนี้ เรามาทำความรู้จักกับเจ้าของผลงานกันสักนิด
ดร.จันทร์จิรา สินทนะโยธิน

ดร.จันทร์จิรา สินทนะโยธิน
ผู้เขียนและพัฒนาโปรแกรมอี-เลนส์ชิ้นนี้ จบการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาฟิสิกส์ (เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง) จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จากนั้นก็ไปศึกษาต่อในระดับปริญญาโท สาขา Physics of Laser Communication ที่ University of Essex,U.K. ต่อด้วยระดับปริญญาเอก สาขา Physics ที่ King’s College,University of London และยังเป็นนักเรียนทุนในโครงการส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (พสวท) อีกด้วย
ดร.จันทร์จิราเริ่มงานที่ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ ในฐานะนักวิจัยในแผนกงานวิจัยอุปกรณ์การแพทย์เมื่อปี 2543 ตำแหน่งในปัจจุบันคือผู้เชี่ยวชาญด้านการประมวลผลภาพ มีหน้าที่รับผิดชอบหลักคือ การวิจัยประมวลผลภาพทางการแพทย์ เช่น ภาพจอประสาท งานด้านทันตกรรม

จุดเริ่มต้นที่ต้องพัฒนา

สำหรับที่มาที่ไปของโปรแกรมอี-เลนส์นี้ ดร.จันทร์จิราบอกว่า จริงๆ แล้วมาจากการเขียนโปรแกรมขยายภาพบนหน้าจอ เพื่อช่วยคนที่มีปัญหาด้านสายตาสั้นหรือยาวมากกว่า แต่พอทดลองทำจริงๆ กลับปรากฏว่า มันมีเรื่องของสายตาเอียงเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย
“ช่วงที่กำลังทำการศึกษาหาข้อมูลเพิ่มเติมอยู่นั้น ก็เผอิญว่ามีเพื่อนของเพื่อนคนหนึ่งซึ่งเขาตาบอดสี เขาก็ฝากถามมาว่า เป็นไปได้มั้ยที่จะเขียนโปรแกรมช่วยให้การมองเห็นของคนตาบอดสี สามารถมองเห็นสีได้เหมือนหรือใกล้เคียงกับคนปกติ ก็เลยมาลองศึกษาดูว่า คนตาบอดสีนั้นเขาเห็นภาพที่แตกต่างจากคนปกติอย่างไร แล้วก็มาจำลองภาพเพื่อที่จะได้เห็นถึงการมองของคนตาบอดสีได้เข้าใจยิ่งขึ้น
สิ่งแรกที่คิดไว้ก็คือ การหาตำแหน่งของเมาส์ หรือเคอร์เซอร์ที่เคลื่อนที่อยู่บนหน้าจอมอนิเตอร์ แล้วทำการขยายบริเวณรอบๆ ณ ตำแหน่งที่เคอร์เซอร์อยู่ จากนั้นก็กำหนดกำลังขยายขนาดต่างๆ ทีหลัง โดยจะออกแบบให้ E-Lens form มีลักษณะรูปร่างเป็นวงกลม ซึ่งโปรแกรมตัวนี้จะช่วยแยกแยะความแตกต่างของสีบนหน้าจอคอมพิวเตอร์ได้ดีขึ้นกว่าเดิม เช่น ก่อนหน้านี้ถ้าไม่สามารถแยกแยะดอกไม้ และใบไม้ที่มีความสว่างของสีแดง-เขียวใกล้เคียงกันได้ เมื่อมาใช้โปรแกรมตัวนี้ ก็จะทำให้เห็นข้อมูลเพิ่มขึ้น และรู้ว่าส่วนไหนเป็นดอกไม้ หรือส่วนไหนเป็นใบไม้ เพราะเขาจะสามารถไล่ระดับความเข้มหรือจางของสีได้”
ในส่วนของการเขียนและพัฒนาโปรแกรมตัวนี้ ดร.จันทร์จิราบอกว่า จริงๆ แล้วใช้เวลาเพียง 4-5 เดือนเท่านั้น แต่จะใช้เวลาค่อนข้างนานในขั้นตอนของการศึกษาหาข้อมูลทางการแพทย์ ทั้งในแง่ทฤษฎีและปฏิบัติ โดยทดสอบจากผู้มีปัญหาด้านตาบอดสี เพื่อเปรียบเทียบข้อมูลว่าถูกต้องตรงกันหรือไม่อย่างไร จากนั้นก็มาไล่ระดับความเข้มของสี ให้เหมาะสม ซึ่งในเวอร์ชันแรกโทนสีที่ได้ออกมามันค่อนข้างจะโอเวอร์ไปนิดหนึ่ง จึงมีการปรับแก้อัลกอริทึมในเวอร์ชัน 2 ให้สามารถไล่ระดับของสีลงได้

ใช้งานง่าย ได้ประโยชน์

สำหรับวิธีการใช้งานนั้น ก็ทำได้ง่ายๆ เพียงแค่เรียกโปรแกรมอี-เลนส์ในเครื่องหรือแผ่นที่เรามี ขึ้นมาใช้งานตามปกติ จากนั้นโปรแกรมจะแสดงพื้นที่เฉพาะขึ้นมาบางส่วน โดยจะกำหนดค่าเริ่มต้นเป็นฟังก์ชันขยายภาพเพียงอย่างเดียวให้ ซึ่งผู้ใช้สามารถปรับเปลี่ยนสถานะให้เหมาะกับคนตาบอดสีได้ (ดูภาพประกอบ)
รูปที่ 1
รูปที่ 1 เป็นฟังก์ชันการขยายภาพสำหรับผู้ที่มีปัญหาทางด้านสายตา ณ ตำแหน่งที่เมาส์เคลื่อนที่ไปด้วยกำลังขยาย x2, x4, x8 ตามลำดับ
รูปที่ 2-3
รูปที่ 2 เป็นจำลองการมองเห็นของผู้ที่ตาบอดสี และการปรับเปลี่ยนสีเพื่อช่วยคนตาบอดสี
รูปที่ 3 จะแสดงค่าสี RGB ณ ตำแหน่งที่เมาส์เคลื่อนที่ไป เพื่อใช้สื่อสารกับคนปกติ
ด้วยขั้นตอนง่ายๆ เพียงแค่นี้ ก็สามารถขจัดปัญหาเรื่องการแยกสีของคนตาบอดสีได้พอสมควร หากใครมีข้อกังขากับโปรแกรมตัวนี้ สามารถอีเมล์ไปขอโปรแกรมมาทดลองใช้ได้ฟรี ที่ [email protected] แต่เท่าที่มีผู้ทดลองนำไปใช้ ปรากฏว่า ผู้ที่ตาบอดสีสามารถมองเห็นภาพและตัวเลขได้ชัดเจนยิ่งขึ้น สำหรับคนสายตาปกติ ที่ไม่ได้ตาบอดสี แต่อยากรู้ว่า คนตาบอดสีมองเห็นภาพแตกต่างจากคนทั่วๆ ไปอย่างไร ก็สามารถทดลองใช้โปรแกรมตัวนี้ได้เช่นกัน
เมื่อถามถึงโครงการที่จะนำไปพัฒนาต่อของโปรแกรมนี้ ดร.จันทร์จิราบอกว่า การพัฒนาต่อก็น่าจะเป็นการนำระบบเสียงเข้ามาใช้ ซึ่งจะช่วยอ่านออกเสียงเมื่อลากเมาส์ไปยังจุดที่กำหนดได้ ถือเป็นฟังก์ชันเพิ่มเติมจากตัวขยายหน้าจอนั่นเอง อย่างไรก็ตาม หากมีผู้สนใจจะนำไปพัฒนาต่อ ก็สามารถติดต่อเข้ามาที่อีเมล์ข้างต้นได้เช่นกัน
 

<<.. โปรแกรมตัวนี้จะช่วยแยกแยะความแตกต่างของสีบนหน้าจอคอมพิวเตอร์ได้ดีขึ้นกว่าเดิม เช่น ก่อนหน้านี้ถ้าไม่สามารถแยกแยะดอกไม้และใบไม้ที่มีความสว่างของสีแดง-เขียวใกล้เคียงกันได้ เมื่อมาใช้โปรแกรมตัวนี้ ก็จะทำให้เห็นข้อมูลเพิ่มขึ้น และรู้ว่าส่วนไหนเป็นดอกไม้ หรือส่วนไหนเป็นใบไม้


Computer Today

ฉบับที่ 207 ปักษ์แรก กุมภาพันธ์ 2546
อ่านบทความอื่นๆ >>

อัพเดทล่าสุด