ข้อดีของยุควิกฤตเศรษฐกิจไทยที่ผ่านมา คือการพิสูจน์ฝีมือ และประสบการณ์ คัดเลือกผู้อยู่รอด ผู้ที่แข็งแกร่ง และเก่งจริงเท่านั้น
คุณเขมทัต สุคนธสิงห์ ผู้บริหารด้านเทคโนโลยี กลุ่มบริษัท ไทเกอร์มอเตอร์ไซเคิล จำกัด |
ข้อดีของยุควิกฤตเศรษฐกิจไทยที่ผ่านมา คือการพิสูจน์ฝีมือ และประสบการณ์ คัดเลือกผู้อยู่รอด ผู้ที่แข็งแกร่ง และเก่งจริงเท่านั้น
กลุ่มบริษัทไทเกอร์ มอเตอร์ไซเคิล ผู้ผลิตชิ้นส่วนรถจักรยานยนต์ ได้ทำให้คนไทยเห็นแล้วว่า ประสบการณ์และความเป็นคนไทย สามารถสร้างสรรค์เทคโนโลยีดีๆ ได้ ในวันนี้รถจักรยานยนต์ไทเกอร์ จักรยานยนต์ของคนไทย จึงเปรียบเสมือนตัวแทนของคนไทย ที่แสดงให้เห็นถึงศักยภาพและความภาคภูมิใจของคนไทย
“ถ้าถามผมว่า อะไรคือสิ่งที่ผมภูมิใจที่สุดในชีวิต ผมเป็นคนไทยคนหนึ่ง ที่รักในแผ่นดินไทย ยกย่องประวัติศาสตร์ไทย และพลังของคนไทย ไทเกอร์คืออีกหนึ่งที่ประวัติศาสตร์ไทยต้องจารึกไว้” คุณคงเคยได้ยินคำโฆษณาชิ้นนี้ ที่ทุ่มทุนได้พีท ทองเจือ มาเป็นนายแบบ ใช่แล้วครับ เรากำลังพูดถึงรถจักรยานยนต์ของคนไทย ที่คนไทยเป็นคนออกแบบเองทุกชิ้นส่วน ผลิตในประเทศไทย และยังจัดจำหน่ายในต่างประเทศอีกด้วย นั่นคือ ไทเกอร์ จักรยานยนต์ยุคใหม่ของคนไทย
ต้นกำเนิดเสือตัวใหม่ของคนไทย
eLeader ได้มีโอกาสเข้าสัมภาษณ์ผู้บริหารด้านเทคโนโลยีของกลุ่มบริษัท ไทเกอร์มอเตอร์ไซเคิล คุณเขมทัต สุคน ธสิงห์ ท่านเป็นนักบริหารที่สามารถประยุกต์เชื่อมต่อความรู้ในเชิงธุรกิจ กับประสบการณ์ในวงการเทคโนโลยีเข้ามาผนวกใช้งานได้อย่างลงตัว กลุ่มไทเกอร์มอเตอร์ไซเคิล เป็นบริษัทคนไทย ประกอบด้วยบริษัทในเครือ ได้แก่ บริษัท ไทเกอร์ มอเตอร์ จำกัด เจ้าของรถจักรยานยนต์ไทเกอร์ บริษัท มิลเลนเนี่ยม มอเตอร์ จำกัด ควบคุมดูแลโรงงานผลิตรถจักรยานยนต์ที่ได้รับรองมาตรฐานสากล ISO 9002 และบริษัท พี.ดี.เค. จำกัด ซึ่งเป็นศูนย์วิจัยและพัฒนารถจักรยานยนต์แห่งเดียวของคนไทยที่ได้รับรางวัลรับรองจากการแข่งขันรถจักรยานยนต์หลายรายการ บริษัท ไทก้า มอเตอร์เซลส์ จำกัด ผู้จัดจำหน่ายรถจักรยานยนต์ ไทเกอร์ในประเทศไทย และบริษัท ไบค์แคร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ที่ดูแลด้านผู้จัดจำหน่ายอะไหล่และศูนย์บริการคุณเขมทัตเล่าให้เราฟังถึงจุดเริ่มต้นของธุรกิจว่า “เริ่มต้นตั้งแต่ปี 2508 เราออกแบบและทำชิ้นส่วนรถจักรยานยนต์ญี่ปุ่นที่เราได้ลิขสิทธิ์มา ตั้งแต่นั้นมาเราก็สั่งสมประสบการณ์มาโดยตลอด เราได้ถือหุ้นบางส่วนของบริษัทเหล่านั้นด้วย จนปี 40 ที่เริ่มเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ ทางญี่ปุ่นก็เห็นว่าคงไปไม่รอด เนื่องจากขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยน จึงขอถอดหุ้นของเราออกหมด และเข้ามาบริหารแทนทั้งหมด เราใช้เวลากว่า 2 ปี เรียกได้ว่าเป็นช่วงที่เราตั้งหลักใหม่ ใน 2 ปีหลังเราก็เริ่มพัฒนาสินค้าใหม่เอง โดยเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เราได้ออกสินค้าซึ่งในชื่อและตราสินค้าของไทยเอง ก็คือ ไทเกอร์ ซึ่งตอนแรกเราเองก็ไม่แน่ใจว่าตลาดจะยอมรับของคนไทยหรือไม่ เพราะถ้าให้พูดถึงรถจักรยานยนต์ก็ต้องยี่ห้อของญี่ปุ่น แต่ด้วยความพยายามของเรา เราได้สร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้าจนได้เสียงตอบรับที่ดี จนถึงวันนี้ เรากล้าพูดได้ว่า คู่แข่งคงไม่สามารถตามทันได้ ไม่ใช่เพราะเราเก่ง แต่เพราะผู้บริโภคชาวไทยหันมาใช้ของไทย ที่มีคุณภาพ ในราคาที่ถูกกว่า เนื่องจากเราเป็นบริษัทที่มีแต่ประสบการณ์ ทรัพย์สินมีน้อย ผู้บริหารจึงมองว่า ทำอย่างไรจะบริหารให้มีประสิทธิภาพสูงสุด รวดเร็วที่สุด รวมทั้งการขาย รถจักรยานยนต์ ถ้าเราไม่สามารถสร้างเครือข่ายผู้แทนจำหน่าย มีผู้แทนที่ดีได้ทุกอย่างก็จบ ด้วยเหตุนี้เองคณะผู้บริหารจึงตกลงกันว่าจะทำอย่างไรเราถึงจะใช้ไอทีเป็นตัวเพิ่มผลผลิตได้ นี่จึงเป็นที่มาที่ทำให้เรานำไอทีเข้ามาใช้ในทุกส่วนของการผลิต”
สายพานการผลิตของไทเกอร์
สำหรับไทเกอร์นั้น ผลิตจากโรงงานในความรับผิดชอบของบริษัทมิลเลนเนี่ยมมอเตอร์ ซึ่งภายในโรงงานแบ่งออกได้เป็น 6 ฝ่ายสำคัญ เริ่มจากฝ่ายจัดซื้อที่จะทำหน้าที่หาแหล่งผลิตชิ้นส่วนหลายแห่งที่มีคุณภาพและควบคุมราคาให้อยู่ในต้นทุนที่วางไว้ เมื่อชิ้นส่วนที่สั่งมาถึงโรงงาน ก็จะเป็นหน้าที่ของฝ่ายควบคุมชิ้นส่วน ที่จะตรวจสอบชิ้นส่วน วัตถุดิบทุกชิ้นให้ได้ตามมาตรฐานที่กำหนด แล้วจึงส่งต่อไปยังฝ่ายผลิต เพื่อประกอบเป็นรถจักรยานยนต์ โดยจะมีวัตถุดิบบางชิ้นที่ต้องนำมาผ่านขั้นตอนการผลิตอีกทีหนึ่ง เช่น หล่อขึ้นรูป พ่นสี เชื่อม ซึ่งในส่วนนี้จะควบคุมงานโดยฝ่ายวิศวกรรม เมื่อประกอบได้รถจักรยานยนต์แล้ว จำเป็นต้องมีการควบคุม ตรวจสอบคุณภาพให้ได้มาตรฐาน เพื่อป้องกันชิ้นส่วนที่ไม่ได้มาตรฐานหลุดออกไป ซึ่งเป็นหน้าที่รับ ผิดชอบของฝ่ายรับประกันคุณภาพ หรือ Q.A. นั้นเอง แต่ที่สุดแล้วยังมีฝ่ายที่สำคัญอีกฝ่าย คือ ฝ่ายบุคคลซึ่งคอยดูแล สวัสดิการพนักงานทุกคน“เราสร้างแวลูเชน โดยการใช้ซัพพลายเออร์ หรือเวนเดอร์ที่เป็นคนไทยมากที่สุด เราสอนเขา ถ่ายทอดประสบการณ์ที่เรามีให้เขาพัฒนาชิ้นส่วนที่ดีมีคุณภาพไม่แพ้ของนอก” นอกจากนี้ คุณเขมทัตยังอธิบายขั้นตอนการทำงานให้เราฟังอีกว่า “องค์ประกอบหลักคือ บริษัทไทเกอร์ มอเตอร์ เป็นเจ้าของรถจักรยานยนต์ และอาศัยบริษัทที่มีความชำนาญมานานคือ พี.ดี.เค ซึ่งเป็นบริษัทผลิตรถแข่งของคนไทย พี.ดี.เค มีประวัติที่ดีเยอะ ได้รับรางวัลการแข่งขันหลายสนามทั่วโลก เมื่อเราบอกให้ลูกค้าฟังว่า รถไทเกอร์พัฒนาโดย พี.ดี.เค ลูกค้าก็เกิดความเชื่อมั่น ที่สำคัญเราใช้คนที่มีประสบการณ์ เพื่อนที่เคยทำตั้งแต่สมัยยังผลิตให้ญี่ปุ่นอยู่ คนที่เคยพัฒนาเหล่านี้ มาช่วยสร้างและออกแบบเพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่ดีที่สุด”
สำหรับด้านการตลาด คุณเขมทัต อธิบายว่าทำไมต้องมีบริษัทแยกขึ้นมาอีกว่า “เราตั้งบริษัท ไทก้า มอเตอร์ ขึ้นเพื่อขายจักรยานยนต์หลายยี่ห้อ เพื่อให้ผู้แทนจำหน่ายได้ประโยชน์สูงสุด ไม่ใช่ผูกติดกับไทเกอร์เพียงยี่ห้อเดียว โดยที่เรามองว่าจะใช้ไอทีให้เกิดประโยชน์ได้อย่างไร วิสัยทัศน์ของเรามองว่า เราไม่อยากเห็นร้านซ่อมจักรยานยนต์ห้องแถว ที่มีน้ำมันเลอะ เราอยากช่วยให้เขามีร้านซ่อมที่สะอาด ศูนย์ซ่อมที่ดี มีระบบการบริหารจัดการที่ง่าย มันก็จะเกิดเป็นคำถามว่า ทั้งหมดนี้จะทำได้อย่างไร ซัพพลายเชนทั้งระบบตั้งแต่ผู้ผลิตชิ้นส่วนรายเล็กไปจนถึงการสั่งซื้อของลูกค้า คำตอบคือทำได้โดยอาศัยเทคโนโลยีไอที”
แนวคิดการใช้เว็บเซอร์วิส
และเพราะคำตอบคือ การใช้เทคโนโลยีไอที อินเทอร์เน็ตเข้ามาช่วย คุณเขมทัตบอกกับเราว่า “ในอดีตเมื่อ 4-5 ปีที่แล้ว ถ้าบอกว่าเอาไอทีเป็นตัวเชื่อมระบบนั้น ก็คงเป็นไปไม่ได้ เพราะต้องใช้อุปกรณ์เน็ตเวิร์ก ต้องลงทุน ใครจะไปบอกร้านซ่อมห้องแถวให้ลงทุน ใครจะไปบอกเวนเดอร์ให้ทำเช่นนั้น แต่เมื่อสองปีที่แล้ว ผมเริ่มพัฒนาการบริการผ่านอินเทอร์เน็ต เราสร้างให้เข้าใจถึงความปลอดภัย ความรวดเร็ว ประหยัด ก็เริ่มมีคนเข้าใจมากขึ้น แต่ว่าเนื่องจากเป็นของใหม่ คนก็ไม่แน่ใจว่าปลอดภัยจริง หรือถูกต้องจริงหรือ นั้นคือสิ่งที่เราทำมานานแล้ว การใช้เว็บเซอร์วิสของเราจึงเหมือนการปลูกต้นไม้ ที่เราลดน้ำพรวนดิน จนตอนนี้มันเกิดเป็นต้นไม้และกำลังออกดอกออกผลในไม่ช้า”
ด้วยแรงผลักดันที่ต้องการให้เกิดประสิทธิภาพในการเชื่อมต่อระบบงานทั้งหมดในสานพานการผลิต จึงได้นำแนวคิดการใช้เว็บเซอร์วิสเข้ามาอิมพลีเมนต์ ซึ่งในวิสัยทัศน์ของคุณเขมทัตมีมุมมองว่า "ทั้งหมดสามารถทำให้ข้อมูลวิ่งได้ผ่านอินเทอร์เน็ต เพราะฉะนั้นทุกคนตั้งแต่เวนเดอร์ ซัพพลายเออร์ ก็มีพีซีเครื่องหนึ่งที่เข้าอินเทอร์เน็ตได้ เขาไม่ต้องพัฒนาโปรแกรมเอง เขาสามารถมาใช้โปรแกรมกลางที่เราพัฒนาโดยเว็บเซอร์วิส ไม่ต้องเจอปัญหาว่าเวนเดอร์รายหนึ่งสั่งของกับสามซัพพลายเออร์ก็คงต้องใช้สามโปรแกรม แต่ด้วยเพราะเว็บเซอร์วิส เขาก็สามารถเลือกใช้เว็บเซอร์วิสจากสามบริษัทนั้นได้ทันที โดยไม่ต้องพัฒนาให้เชื่อมต่อกันได้เลย ดังนั้นถ้าอนาคตเทคโนโลยีเว็บเซอร์วิส พัฒนาขึ้นอีกระดับหนึ่ง เกิด .NET ขึ้นมาจริงๆ เวนเดอร์รายหนึ่งจะมีห้าซัพพลายเออร์ก็ย่อมทำได้ไม่ยาก ผมเองไม่แน่ใจว่าบริษัทอื่นจะมองเห็นข้อดีตรงนี้หรือเปล่า แต่ผมเข้าใจและต้องการใช้ ผมมองว่าสามารถเชื่อมต่อตั้งแต่ผู้ผลิตชิ้นส่วนมาถึงเวนเดอร์ ถึงโรงงานผลิต จากโรงงานมาถึงผู้แทนจำหน่าย ไปถึงร้านค้า ไปถึงศูนย์บริการ หรือแม้แต่ร้านซ่อมห้องแถว ทั้งหมดทุกคนต่างมีพีซีที่เชื่อมต่อเข้าอินเทอร์เน็ตได้ มีโค้ดรหัสผ่านที่เราจัดให้ ก็สามารถทำงานได้หมด”
จากแนวคิดนี้จึงเป็นที่มาของระบบ DAS หรือ Dealer Advance System ระบบจัดการบริหารผู้แทนจำหน่าย ซึ่งจะช่วยให้งานทุกส่วนที่ผู้แทนจำหน่ายต้องทำนั้นง่ายขึ้น คุณเขมทัต บอกถึงตอนพัฒนาว่า “เราใช้บริษัทในเครือพัฒนาให้ตามแนวทางที่วางไว้ โดยใช้เทคโนโลยีของไมโครซอฟท์ ซึ่งช่วยให้คนพัฒนาทำงานได้ง่ายขึ้น และผมมองว่าคอมพิวเตอร์เป็นอุปกรณ์สำนักงานที่แทบทุกที่จะต้องมีอยู่แล้ว ดังนั้นเขาแค่เพียงต่ออินเทอร์เน็ตได้เท่านั้นพอ แต่บางกลุ่มที่ไม่มีความรู้ เราก็มีการฝึกอบรมทั้งส่วนของไอที ส่วนของการบริหารธุรกิจเมื่อนำไอทีมาใช้ด้วย”
การอิมพลีเมนต์ระบบ
เราถามคุณเขมทัต ว่าเหตุใดจึงเลือกเทคโนโลยีเว็บเซอร์วิส เข้ามาเป็นแก้ปัญหา เป็นคำตอบให้กับกลุ่มไทเกอร์ มอเตอร์ไซเคิลในวันนี้ คุณเขมทัตก็อธิบายว่า "ด้วยหลักการที่ว่า เราจะทำธุรกรรมผ่านอินเทอร์เน็ต ซึ่งต้องดูตัวแปร 4 ตัวคือ ให้มีความปลอดภัย ถูกต้อง รวดเร็ว และประหยัด เราก็เริ่มหาทูลต่างๆ มาใช้เพื่อให้ได้ตามเป้าหมาย ทำได้ไม่นานก็มีคนช่วยงานมากขึ้น การรวมหัวกันหาทางออกก็มีหลากหลายมากขึ้น เราพบว่าคำตอบของเราคือเว็บเซอร์วิส อันนี้ผมคิดมา 4 ปี ตอนเริ่มใช้อินเทอร์เน็ตกับกลุ่มของเรา ตั้งแต่ไมโครซอฟท์ยังไม่ออกแนวคิด .NET เลย ดังนั้นเรียกได้ว่าไม่ใช่ไมโคร-ซอฟท์มาขายสินค้าให้เรา หรือเราเข้าไปหาเขา แต่เป็นคนสองคนเดินมาด้วยจุดหมายปลายทางเดียวกัน มันก็ต้องเจอกัน และประเด็นคือ คนสองคนนี้พูดจากันรู้เรื่องถูกคอกันหรือเปล่า เราพบว่าเราสื่อสารกันรู้เรื่อง เราจึงเลือกไมโครซอฟท์เข้ามาช่วย โดยเราเองก็เข้าไปเป็น พาร์ตเนอร์ของไมโครซอฟท์คนหนึ่งด้วย”
ส่วนเฟสงานนั้นคุณเขมทัต บอกช่วงเวลากับเราว่า “ภายในเดือนตุลาคมเราจะเริ่มระบบส่วนกลางที่เป็นเว็บเซอร์วิส เชื่อมโยงระหว่างไทเกอร์ ผู้ผลิตกับไทก้า ผู้แทนจำหน่าย ส่วนในเดือนพฤศจิกายน เราจะเริ่มต่อส่วนเบื้องหลังกับเวนเดอร์ ซัพพลายเออร์บางรายที่มีความพร้อม คาดว่าภายในมอเตอร์โชว์หน้าเราคงจะโชว์เทคโนโลยีนี้ของเราได้ ซึ่งทั้งหมดแล้วเรียกได้ว่า เมื่อลูกค้าสั่งซื้อ คำสั่งทุกอย่างก็จะส่งต่อไปเรื่อยจนถึงผู้ผลิตชิ้นส่วนรายย่อยได้เลย ซึ่งถ้าทำดี ๆ เราอาจไม่จำเป็นต้องเก็บสต็อกสินค้าเลย ลดต้นทุนการผลิต และช่วยให้งานรวดเร็วขึ้นด้วย เรียกว่าเว็บเซอร์วิสตอบปัญหาเรื่อง Mass Customization ได้อย่างดีทีเดียว”
ในส่วนรายละเอียดนั้น เราได้ข้อมูลจากพิชัย จิ๋วราษฎร์อำนวย โปรแกรมแมเนเจอร์ที่อิมพลีเมนต์ระบบใหม่ บอกกับเราว่า “เราใช้ไมโครซอฟท์ดอทเน็ต เป็นตัวกลาง ใช้วิชวลเบสิกดอทเน็ตเป็นภาษาสำหรับพัฒนาในส่วนของโปรแกรม และใช้เอเอสพีดอทเน็ตในส่วนของเว็บแอพพลิเคชัน ซึ่งทูลเหล่านี้ ผมบอกได้เลยว่าใช้งานง่าย โมดูลของเราพัฒนาโค้ดตั้งแต่บรรทัดแรก ไม่ได้มีโค้ดอยู่แล้ว ถึงวันนี้เพียง 3 เดือน เราก็ทำระบบ DAS ใกล้เสร็จแล้ว อนาคตอันใกล้เมื่อดอทเน็ตเซิร์ฟเวอร์ออกเวอร์ชันจริงแล้ว เราก็จะเป็นที่แรกที่พร้อมและใช้งานได้ทันที”
การไปให้ถึงความสำเร็จ
จุดหลักในการไปให้ถึงความสำเร็จของธุรกิจทุกประเภทนั้น คุณเขมทัต เล่าประสบการณ์ให้ฟังว่า “ผมโชคดีที่ผมมีพื้นฐานด้านเทคโนโลยี เรียนวิศวคอมพิวเตอร์เป็นรุ่นแรกๆ สมัยปี 23 นู้น ผมทำงานทั้งประสบความสำเร็จและล้มเหลว บริหารบริษัทมาเป็น 10 บริษัท ตั้งโรงงานที่ผลิตสินค้าแตกต่างกันถึง 6 บริษัท ทำงานมา 27 ปี เรียกได้ว่ามีประสบการณ์ทั้งเชิงเทคโนโลยีและธุรกิจ จากประสบการณ์ผม ผมพูดได้เลยว่าประเด็นอยู่ที่ผู้บริหารส่วนใหญ่จะไม่สามารถนำแนวคิดทางธุรกิจ กับแนวคิดของเทคโนโลยีเข้ามาผนวกรวมกันได้ และนิสัยคนไทยด้วย สมมติคุณกำลังสอนบอกให้คนรู้จักเลข 1 ลองสังเกตดูต้องมีคนถามถึงเลข 5 และต้องมีพวกสนใจอยากรู้ถามตามมาอีกว่าเลข 5 คืออะไร นี่คือคนไทย ถ้าคุณหลงกล คุณก็จะบอกเขาว่าเลข 5 เป็นอะไร สุดท้ายแล้วฐานเขาก็จะไม่แน่น เพราะไม่รู้ว่าเลข 1 เขียนอย่างไร คนไทยไม่ได้รับการสอนตรรกะที่ดี ซึ่งจะเป็นสาเหตุที่ ทำให้การอิมพลีเมนต์ระบบงานใดๆ ไม่สำเร็จ ดังนั้นต้องใช้วิธีบังคับขู่เข็น ต้องสอนเขาบอก 1 แล้วเป็น 2 3 4 ถึงจะถึง 5 ต้องให้เขารู้ตรรกะให้ได้ อาจดูไม่ดีแต่เป็นวิธีที่ประสบความสำเร็จ”
5 ข้อคิดสำหรับผู้บริหาร
จากประสบการณ์ของคุณเขมทัต พอจะสรุปทักษะสำหรับผู้บริหารได้เป็น 5 ทักษะ คือ อันดับแรกคือ ทักษะการสื่อสารที่ต้องมีการสื่อสารที่ดี แม่นยำและถูกต้อง สองคือทักษะการหาแหล่งเทคโนโลยี ต้องรู้ว่าเทคโนโลยีอะไรจะเข้ามาช่วย ต้องรู้แหล่งที่จะหาเทคโนโลยีเหล่านั้น สามคือทักษะการแก้ปัญหา ถ้าคุณมีการสื่อสารที่ดี มีความรู้เทคโนโลยีดี คุณจะแก้ไขปัญหาที่ดีด้วย สี่คือทักษะความเชี่ยวชาญในอาชีพ อันนี้ขึ้นอยู่กับอาชีพของคุณ คุณต้องเชี่ยวชาญอย่างจริงจังในสายงานของคุณ ทักษะสุดท้ายคือ การเรียนรู้อย่างไม่จำกัด เป็นทักษะที่จำเป็นที่สุด เพราะเมื่อใดที่หยุดเรียนรู้ เมื่อนั้นคุณจะตามเทคโนโลยีไม่ทัน
สุดท้ายคุณเขมทัตเน้นให้เราว่า “ธุรกิจเหมือนจิกซอว์ คุณต้องรู้ว่าอะไรจะเชื่อมต่อกันตรงไหน อย่างเว็บเซอร์วิส ถ้าผมไม่เรียนรู้ว่าเทคโนโลยีนี้ทำอะไรได้ ผมก็จับเว็บเซอร์วิสมาเป็นจิกซอว์ตัวหนึ่งไม่ได้ ถ้าเป็นอย่างนั้นถึงวันนี้ กลุ่มไทเกอร์ก็คงไม่ประสบความสำเร็จ แต่วันนี้ผมมองจิกซอว์ออก และรู้ว่าเว็บเซอร์วิสที่ผมลงทุนปลูกลงไป อีกไม่นานก็จะออกดอกมาให้ผมชื่นชม