ทำอะไรได้บ้าง
ผมว่าผู้อ่านหลายคนที่เห็นผมขึ้นหัวตรงนี้ คงมีคำถามในใจว่านึกยังไงถึงเปิดประเด็นตรงนี้ขึ้นมา เพราะยังไงไดรฟ์ซีดีอาร์ดับบลิวก็มีหน้าที่เพียงแค่ใช้เขียนแผ่นซีดีเท่านั้น คำตอบคือใช่ ไดรฟ์ซีดีอาร์ดับบลิวมีหน้าที่เพียงแค่เขียนและอ่านแผ่นซีดีอาร์และซีดีอาร์ดับบลิวเท่านั้น แต่การประยุกต์ใช้งานและรูปแบบการเขียนในแบบต่างๆ นั้นเอง ที่ทำให้เราสามารถใช้ไดรฟ์ซีดีอาร์ดับบลิวในการทำงานที่แตกต่างกันออกไปมากกว่าที่เราคาดเอาไว้มากทีเดียว
- แบ็กอัพไฟล์บนเครื่อง
อันนี้คงเป็นงานหลักของแหล่งเก็บข้อมูลโดยทั่วไป การใช้ซีดีอาร์เป็นแหล่งเก็บข้อมูลหรือแบ็กอัพข้อมูลบนเครื่องนั้นเป็นเรื่องที่ทุกคนคงรู้กันดี บ่อยครั้งที่เรามักไม่รู้ว่าจะเก็บโปรแกรมนั้น โปรแกรมนี้เอาไว้ที่ไหน สุดท้ายแล้วก็ต้องเอาขึ้นบนซีดีรอม หรือบรรดานักสะสมภาพที่มีภาพจากอินเทอร์เน็ตหรือจากอีเมล์ทุกวัน คงจะหนีไม้พ้นต้องเก็บลงบนซีดีสักวันหนึ่ง
สำหรับการแบ็กอัพข้อมูลบนแผ่นซีดีนั้น เท่าที่เคยเห็นมามักจะใช้กันอยู่ 2 แบบคือก๊อบปี้กันตรงๆ ไปไว้บนแผ่นซีดี เผื่อว่าวันดีคืนดีเครื่องเกิดรวนขึ้นมาจะได้อุ่นใจว่า มีไฟล์งานเก็บเอาไว้ในแผ่นซีดีแล้ว แต่ถึงอย่างไรก็ยังมีอีกวิธีที่ใช้เขียนแผ่นซีดีเพื่อแบ็กอัพข้อมูล นั่นก็คือการใช้ซอฟต์แวร์แบ็กอัพข้อมูลเป็นตัวจัดการทั้งหมด ซึ่งจะดีกว่าตรงที่ถ้านำไปใช้ในบริษัทที่ต้องแบ็กอัพข้อมูลกันทุกวัน ถ้ามีข้อมูลที่ต้องแบ็กอัพ หลายร้อยเมกะไบต์ แล้วต้องแบ็กอัพทุกวัน ก็คงเปลืองแผ่นซีดีอาร์ไม่น้อยทีเดียว แต่ซอฟต์แวร์แบ็กอัพส่วนใหญ่จะมีฟีเจอร์การแบ็กอัพแบบ Increment ที่ต้องการแบ็กอัพทั้งหมดเพียงครั้งเดียว จากนั้นทุกวันก็เพียงแค่แบ็กอัพส่วนที่เพิ่มเติมขึ้นมาเท่านั้น จะทำให้ประหยัดเวลาและจำนวนแผ่นได้มากกว่า โดยปกติแล้วมักจะแบ็กอัพแบบเต็มกันอาทิตย์ละครั้ง แล้วทุกเย็นก็จะแบ็กอัพแบบ Increment แทน
- เก็บไฟล์พรีเซนเทชัน
คนที่ต้องทำงานพรีเซนเทชันหรืองานแต่งภาพบ่อยๆ คงทราบดีว่าพอทำงานจริงแล้ว ไฟล์งานทั้งหมดมันจะกินเนื้อที่นับร้อยเมกะไบต์ทีเดียว ครั้นจะเก็บไว้ในเครื่องก็คงไม่ได้แน่ สุดท้ายแล้วก็หนีไม่พ้นแผ่นซีดีรอม
- เซฟไฟล์จากอินเทอร์เน็ต
ทำไมต้องเป็นไฟล์จากอินเทอร์เน็ต สาเหตุเพราะว่าบรรดาคอดาวน์โหลดมักจะชอบดาวน์โหลดของเล่นใหม่ๆ จากเว็บโน้นเว็บนี้ รวมไปถึงไดรเวอร์ต่างๆ มาเก็บไว้ ซึ่งดูแล้วไม่ค่อยเป็นระเบียบมากนัก แต่ที่แย่ไปกว่านั้นก็คือ เมื่อเวลาผ่านไปจะรู้ว่าเราอาจจะดาวน์โหลดข้อมูลมามากหลายร้อยเมกะไบต์ทีเดียว จะลบก็เสียดายเวลาที่นั่งดาวน์โหลดกันมา ทางออกก็หนีไม่พ้นต้องเอาขึ้นบนซีดีเช่นเคย ยิ่งไปกว่านั้นสำหรับไดรเวอร์เมื่อเวลาผ่านไปไดรเวอร์ตัวเก่าที่เคยดาวน์โหลดมาก็หมดความหมายไปโดยปริยายเช่นกัน
- ทำแผ่นภาพดิจิตอล
คงคุ้นเคยกับคำว่า Photo-CD นะครับ ฟีเจอร์นี้สื่อแบบอื่นคงทำให้เราไม่ได้แน่นอน และถึงจะทำได้ก็คงมีน้อยคนที่คิดจะทำ เพราะว่าเรามักจะเก็บรูปภาพไว้ในสื่อที่ค่อนข้างถาวร ถ้าหากต้องการบันทึกภาพจากกล้องดิจิตอลเก็บเอาไว้โดยที่ไม่ต้องพิมพ์ออกมาก็คงจะต้องโอนเข้ามาไว้ในคอมพิวเตอร์ จากนั้นแล้วก็ต้องนำไปเก็บเอาไว้อีกต่อหนึ่ง ซึ่งถ้าจะหาสื่อที่เหมาะสมกว่าซีดีอาร์ก็คงไม่มีแล้ว เพราะเราคงไม่ลบภาพนั้นทิ้งไปแน่นอน และแผ่นซีดีอาร์ยังมีราคาถูกกว่าอีกด้วย
- บันทึกเพลง
อย่างที่ผมพูดไปแล้วในตอนต้นว่าเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้หลายๆ คนซื้อไดรฟ์ซีดีอาร์ดับบลิวไปใช้งานกันเลยก็ว่าได้ ตรงนี้คงเห็นได้ชัดเลยว่า สื่อแบบอื่นๆ ไม่สามารถรองรับการทำงานนี้ได้อย่างแน่นอน ซึ่งหากลองเทียบดูแล้ว การนำไปเขียนแผ่นเพลงเพื่อใช้ในรถยนต์หรือฟังในบ้านนั้น นอกจากจะทำให้เราเลือกเพลงได้ตรงตามสไตล์แล้วยังไม่เกี่ยงอีกด้วยว่าเพลงนั้นจะเป็นเพลงเก่าเพลงใหม่ ค่ายใหญ่ค่ายเล็ก ภาษาไทยหรือภาษาอังกฤษ สำคัญเพียงแค่เราชอบก็พอ
นอกจากประโยชน์ในการบันทึกเพลงแล้ว การบันทึกเพื่อทำเป็นบันทึกเรื่องราวแบบดิจิตอลก็ทำได้เช่นกัน ถ้าหากต้องบันทึกเสียงพูดจากห้องเรียน หรืองานสำคัญๆ รวมไปถึงโอกาสพิเศษที่เป็นความทรงจำดีๆ เอาไว้ การที่เราบันทึกเป็นแค่เทปคาสเซตนั้นดูเหมือนจะเป็นอดีตไปเสียแล้ว เพราะว่านอกจากที่เราจะบันทึกเสียงเป็นดิจิตอลด้วยเครื่องบันทึกแบบดิจิตอลได้แล้ว เมื่อ ย้ายมาเก็บในคอมพิวเตอร์ ก็ยังสามารถตัดต่อ แก้ไขได้อย่างอิสระ โดยใช้เพียงโปรแกรมตัดต่อเสียงง่ายๆ จากนั้นก็แค่บันทึกลงบนแผ่นซีดีเช่นเดียวกับการบันทึกเพลง เท่านี้ความทรงจำดีๆ ก็จะอยู่บนแผ่นนั้นตลอดไป
- แชร์วิดีโอ
การนำไปใช้เพื่อแชร์ไฟล์วิดีโอก็คงไม่ต่างจากไฟล์เพลงเท่าใดนัก เพียงแต่เราต้องมีอุปกรณ์พิเศษมากกว่าเท่านั้น แต่สุดท้ายแล้วก็ยังสามารถส่งภาพ สื่อความหมายต่างๆ ไปให้ผู้รับได้เช่นเดิม หรือจะบันทึกความทรงจำดีๆ จากกล้องวิดีโอดิจิตอลเก็บเอาไว้บนแผ่นซีดีได้อีกด้วย
- ถ่ายโอนข้อมูลจำนวนมากๆ
ในการทำงานจริง บางครั้งเราจำเป็นต้องถือข้อมูลจำนวนมากไปมาจากเครื่องหนึ่งไปอีกเครื่องหนึ่ง ถ้าหากคอมพิวเตอร์ทั้งสองเครื่องอยู่บนเน็ตเวิร์กวงเดียวกันก็ไม่น่าเป็นปัญหาอะไรนัก แต่ถ้าต้องถืองานจากบ้านไปที่ทำงาน คงต้องคิดหนักทีเดียวว่าจะถือไปได้อย่างไร ยิ่งถ้าหากเป็นข้อมูลจำนวนมากๆ การเขียนลงบนแผ่นซีดีเป็นทางออกที่ค่อนข้างดีทางหนึ่ง ส่วนทางออกที่ดีอีกอย่างก็คือถอดฮาร์ดดิสก์แล้วถือฮาร์ดดิสก์ไปแทน ซึ่งก็คงต้องรื้อกันยกใหญ่ แต่ถ้าหากมีการติดตั้ง Rack เอาไว้แล้วก็จะสะดวกขึ้น แต่ถึงอย่างไรก็ยังไม่เหมือนกับการถือแผ่นซีดีเพราะหากมีการตกหล่น โดนกระแทก หรือโดนน้ำ ก็คงเกิดความเสียหายอย่างแน่นอน แต่สำหรับแผ่นซีดีนั้นจะโดนกระแทกหรือตกพื้นอย่างไรก็ไม่มีปัญหาต่างๆ ตามมา
- การเลือกไดรฟ์ซีดีอาร์ดับบลิว
ในส่วนการเลือกไดรฟ์ที่เหมาะจะนำมาใช้งานนั้น จากข้อมูลที่ผมเข้าไปดู ทั้งจากที่ผ่านตามมาร้านค้าในพันธุ์ทิพย์และรวมถึงข้อมูลจากแหล่งอื่นๆ นั้น คงกล่าวได้เลยว่าแต่ละรุ่น แต่ละยี่ห้อมีข้อแตกต่างกันอยู่บ้างแต่ก็ไม่มากนัก ฟีเจอร์ที่เด่นออกไปเลยของไดรฟ์แต่ละยี่ห้อหรือแต่ละรุ่นก็ไม่มีให้เห็นชัดเจน จะมีก็เพียงฟีเจอร์หลักๆ ธรรมดาที่เห็นกันอยู่เป็นประจำ
แต่ถึงอย่างไรอย่าลืมว่าการออกแบบโครงสร้างของไดรฟ์ของละยี่ห้อนั้นก็มีผลเช่นเดียวกัน อย่างไดรฟ์ยี่ห้อหนึ่งที่ผมเคยใช้อยู่ก่อน (ไดรฟ์อ่าน) จะมีอาการเสียคล้ายๆ กันทั้งในรุ่นเดียวกันและรุ่นที่มีความเร็วสูงกว่าคือกลไกการดึงแผ่นเข้าไปจะมีปัญหาหรือดึงแผ่นเข้าไปแล้วตรวจหาแผ่นไม่เจอบ้าง ซึ่งไม่ใช่ว่าไดรฟ์ที่ผมใช้จะเป็นเพียงเครื่องเดียว แต่ในรุ่นนี้เท่าที่พบมา มักจะเจอปัญหานี้อยู่เสมอ เหตุนี้ทำให้ความเชื่อถือในชื่อผลิตภัณฑ์นั้นลดลงตามไปด้วย แล้วเมื่อเร็วๆ นี้ก็มีโอกาสทดสอบไดรฟ์ซีดีอาร์ดับบลิวยี่ห้อนี้เช่นกัน พบว่าผู้ที่เอาไปใช้ก็เจอปัญหาคล้ายๆ กัน ก็เลยพอสรุปได้ว่า น่าจะเกิดจากกลไกของตัวไดรฟ์เอง นอกจากกลไกแล้วสเปกของไดรฟ์ซีดีอาร์ดับบลิวที่เป็นจุดในการตัดสินยังมีอีกหลายส่วนด้วยกัน
- ความเร็วในการอ่านและเขียน เพราะแน่นอนว่าความเร็วในการอ่านและเขียนเป็นปัจจัยสำคัญในการทำงานของตัวไดรฟ์เอง ไม่ต่างจากที่เราใช้ความเร็วเป็นตัวตัดสินในการเลือกซื้อซีพียูของเครื่องคอมพิวเตอร์ ไดรฟ์ที่มีความเร็วในการเขียนมากย่อมได้เปรียบในการทำงานมากกว่า ส่วนความเร็วในการอ่านก็เช่นเดียวกัน ถ้าเร็วมากก็ยิ่งดี แต่ส่วนใหญ่แล้วไม่จำเป็นเท่าใดนัก เพราะว่าผู้ที่ซื้อไดรฟ์ซีดีอาร์ดับบลิวไปใช้งานมักจะมีไดรฟ์ซีดีรอมติดตั้งอยู่แล้ว การอ่านข้อมูลในแผ่นซีดีรอมนั้นก็จึงสามารถเลี่ยงมาใช้ไดรฟ์ซีดีรอมได้เช่นกัน
- บัฟเฟอร์ ตรงจุดนี้เป็นส่วนสำคัญมากทีเดียว เท่าที่เห็นในตอนนี้ไดรฟ์ที่มีขายกันอยู่นั้นมีบัฟเฟอร์ตั้งแต่ 2, 4 และ 8 เมกะไบต์ ยิ่งถ้าหากไดรฟ์มีบัฟเฟอร์มากก็ยิ่งทำให้โอกาสเกิดความเสียหายเนื่องจากการเขียนข้อมูลลงบนแผ่นลดลงไปด้วยเช่นกัน และยังทำให้สามารถทำงานที่ความเร็วสูงได้โดยที่ไม่ต้องกังวลใจอีกด้วย เพราะถ้าไดรฟ์ทำงานที่ความเร็วสูงขึ้น ข้อมูลที่ส่งไปให้ตัวไดรฟ์ก็ต้องมากขึ้นไปด้วย และสิ่งที่ต้องเพิ่มตามขึ้นมาก็คือขนาดของบัฟเฟอร์นี้เอง
บัญหา Buffer Underrun นั้นก็เกิดขึ้นเนื่องจากข้อมูลในบัฟเฟอร์เหลือไม่เพียงพอให้ไดรฟ์ดึงไปเขียนลงบนแผ่นนั่นเอง ดังนั้นถ้าหากว่ามีบัฟเฟอร์ขนาดใหญ่ขึ้นก็จะเปิดโอกาสให้เกิด Buffer Underrun ได้น้อยด้วยไปด้วย
เทคโนโลยีตรวจสอบการเขียน ที่ได้ยินชื่อบ่อยที่สุดก็คงจะเป็น BURN-Proof จากค่าย Sanyo นั่นเอง ส่วนอีก 2 เจ้าที่ไม่เชื่อมั่นฝีมือคนอื่นและเร่งพัฒนาเทคโนโลยีของตนเองก็คือ Ricoh ที่พัฒนา Justlink ขึ้นมา ส่วน Hewlett-Packard ก็พัฒนาจนเกิดเทคโนโลยี Waste-Proof write strategy ซึ่งทั้ง 3 เทคโนโลยีนี้ต่างก็ถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อจุดมุ่งหมายเดียวกัน ก็คือป้องกันความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นในขณะเขียนข้อมูลลงในแผ่นซีดี โดยจะพยายามป้องกันไม่ให้เกิด Buffer Underrun หรือจะว่าไปแล้วก็คือตัวไดรฟ์สามารถแก้ไขปัญหาได้เมื่อเกิด Buffer Underrun ขึ้นซึ่งจะไม่ส่งผลต่อการเขียนข้อมูลทำให้ลดปริมาณการสูญเสียแผ่นซีดีไปได้มากทีเดียว
- แฟลชรอม ฟีเจอร์นี้มีให้เฉพาะไดรฟ์บางรุ่นเท่านั้น จะคล้ายๆ กับเมนบอร์ดที่สามารถอัพเกรดไบออสเป็นรุ่นใหม่ได้ ทำให้มีความสามารถเพิ่มมากขึ้นกว่าตอนที่ซื้อมา สำหรับไดรฟ์ซีดีอาร์ดับบลิวก็เช่นกันที่สามารถเขียนข้อมูลใหม่ลงไปแทนที่ได้ หากว่าไดรฟ์ตัวนั้นมีแฟลชรอมติดตั้งเอาไว้ ซึ่งนอกจากจะพัฒนาซอฟต์แวร์ของตัวไดรฟ์ให้ทันสมัยขึ้นแล้ว ในบางรุ่นยังสามารถใช้อัพเกรดตัวเองให้มีความเร็วในการทำงานสูงขึ้นได้อีกด้วย
ในส่วนของซอฟต์แวร์นั้นค่อนข้างจะมีหลากหลายขึ้นอยู่กับความต้องการว่าจะใช้งานแบบใดเป็นหลัก ที่มักจะเห็นคุ้นตากันเสมอก็คือ Adaptec Easy CD Creator ซึ่งเป็นเหมือนซอฟต์แวร์คู่ใจของทุกคนที่มีไดรฟ์ซีดีอาร์ดับบลิวอยู่แล้ว เพราะไม่ว่าจะเป็นการเขียนข้อมูลหรือเพลง รวมไปถึงแผ่นแบบพิเศษอื่นๆ โปรแกรมนี้ก็ทำได้เช่นกัน แต่โปรแกรมค่อนข้างใหญ่ไปสักนิด นอกจากนี้ก็มี Win on CD กับ NeroBurn อีก 2 โปรแกรมที่ได้รับความนิยมอย่างมากไม่แพ้กันทีเดียว ซึ่งถ้ามองกันที่ซอฟต์แวร์แล้ว ลูกเล่นต่างๆ ของแต่ละโปรแกรมค่อนข้างจะแตกต่างกันออกไปไม่น้อย แต่พื้นฐานการออกแบบแล้วกว่าครึ่งเหมือนกัน ส่วนที่แตกต่างมักจะอยู่ที่อินเทอร์เฟซของโปรแกรมที่ทำให้เกิดลูกเล่นและความสะดวกในการใช้งานเพิ่มขึ้นมานั่นเอง
- Burn-Proof
ไหนๆ ก็กล่าวถึงสเปกของไดรฟ์ซีดีอาร์ดับบลิวกันไปแล้ว และผมก็ได้เกริ่นนำในส่วนของ BURN-Proof ไปบ้างแล้วเช่นกัน ครั้นจะไม่พูดถึง BURN-Proof เลยก็เหมือนจะขาดอะไรบางอย่างไป สำหรับเทคโนโลยี BURN-Proof ของ Sanyo นั้นออกแบบมาเพื่อจุดประสงค์ในการป้องกันปัญหาที่เกิดจาก Buffer Underrun ในขณะเขียนข้อมูลลงบนแผ่นซีดี (BURN-Proof = Buffer Under run Proof) โดยที่เทคโนโลยีนี้จะมาในรูปของฮาร์ดแวร์และเฟิร์มแวร์ทำงานร่วมกันโดยอาศัยการสั่งงานผ่านชุดควบคุมที่อยู่ภายในตัวไดรฟ์ หมายความว่าเราคงจะหาซอฟต์แวร์ที่สนับสนุน BURN-Proof โดยตรงไม่ได้อย่างแน่นอน เพราะถึงซอฟต์แวร์สนับสนุนแต่ถ้าตัวไดรฟ์ไม่มีความสามารถนี้อยู่ก็คงไม่สามารถทำงานได้เช่นกัน
ถ้าหากจะมองไปแล้วเทคโนโลยี BURN-Proof นี้มีความสำคัญมากทีเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับไดรฟ์ที่มีความเร็วในการเขียนสูงมากขึ้น ถ้าไดรฟ์มีความเร็ว 12x แล้วไม่สนับสนุน BURN-Proof มั่นใจได้เลยว่าแผ่นซีดีกล่องหนึ่งคงเขียนแล้วใช้งานได้ไม่ถึงครึ่งแน่นอน แต่ถ้าผมจะกล่าวอย่างนี้แล้วหลายคนคงมีคำถามค้างอยู่ว่าแล้วทำไมถึงมันใช้ไม่ได้ล่ะ โดยปกติแล้วเครื่องคอมพิวเตอร์จะมีความสามารถในการส่งข้อมูลได้เร็วมากกว่าที่ไดรฟ์ซีดีอาร์ดับบลิวต้องการอยู่แล้ว ซึ่งดูๆ ไปก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร สมมติว่าเราต้องการเขียนซีดีที่ความเร็ว 12x เครื่องคอมพิวเตอร์ต้องส่งข้อมูลให้กับตัวไดรฟ์ได้อย่างน้อยที่สุด 2352x75x12 หรือประมาณ 2 เมกะไบต์ (1 บล็อกข้อมูลจะมีขนาดประมาณ 2352 ไบต์ และในเวลา 1 วินาทีจะเท่ากับ 75 บล็อก) ในความเป็นจริงแล้วเครื่องคอมพิวเตอร์จะไม่สามารถส่งข้อมูลที่ความเร็วคงที่ตลอดเวลา ขึ้นอยู่กับภาระที่เครื่องต้องทำ ถ้ามีงานที่ต้องทำมากๆ เช่น คำนวณหนักๆ จากแอพพลิเคชันอื่น หรือเล่นเพลง mp3 อยู่ละก็ ในบางช่วงเครื่องคอมพิวเตอร์ไม่สามารถส่งข้อมูลออกมาได้ทัน ทำให้บัฟเฟอร์ที่มีอยู่ในตัวไดรฟ์นั้นขาดไป และถ้าขาดไปจนกระทั่งไม่มีบัฟเฟอร์เหลืออยู่เลยก็จะเกิด Buffer Under Run Error ขึ้นมา
ในทางทฤษฎีถ้าหากเป็นไปได้ระบบที่ดีที่สุดควรจะมีบัฟเฟอร์อยู่ประมาณ 650 เมกะไบต์ เท่ากับขนาดความจุของแผ่นเพื่อที่จะก๊อบปี้ข้อมูลทั้งหมดลงในบัฟเฟอร์ของไดรฟ์ได้เลย แต่คงไม่มีใครทำเช่นนั้น ไดรฟ์ที่ขายอยู่ในตลาดนั้นจะมีบัฟเฟอร์ในช่วง 2, 4 และ 8 เมกะไบต์เท่านั้น การทำงานของ BURN-Proof นั้นจะเริ่มต้นจากเมื่อเราสั่งให้มีการบันทึกลงบนแผ่นซีดี ไดรฟ์จะมอนิเตอร์บัฟเฟอร์เอาไว้ตลอดเวลาด้วยไมโครคอนโทรลเลอร์ที่อยู่ภายใน จากนั้นเมื่อเกิดปัญหาขึ้นกับบัฟเฟอร์จนอาจจะทำให้เกิด Buffer Under Run ขึ้นมาไดรฟ์จะสั่งงานให้หยุดโดยที่ยังจำตำแหน่งสุดท้ายก่อนจะอยู่เอาไว้ด้วย ในขณะเดียวกันเมื่อหยุดทำงานชั่วคราวแล้วไดรฟ์ก็ยังคงรับข้อมูลจากเครื่องคอมพิวเตอร์ต่อไป แล้วเตรียมพร้อมที่จะทำงานต่อจากจุดที่หยุดเอาไว้
จากนั้นเมื่อทุกอย่างพร้อมไดรฟ์จะเปรียบเทียบข้อมูลที่บันทึกเอาไว้แล้วกับข้อมูลที่อยู่ในบัฟเฟอร์และซิงโครไนซ์ข้อมูลเข้าด้วยกันทำให้ไดรฟ์สามารถเขียนข้อมูลต่อได้อย่างไม่มีปัญหา
ด้วยเทคโนโลยี BURN-Proof นี้จะส่งผลตามมาให้กับผู้ใช้อย่างแรกก็คือ ทำให้แผ่นซีดีเสียหายน้อยลงเนื่องจากมีระบบช่วยป้องกันการเสียหายเอาไว้แล้ว นอกจากนั้นยังทำให้สามารถทำงานอื่นไปพร้อมๆ กันได้โดยไม่ต้องกังวลอีกต่อไป หากเปรียบเทียบกับเมื่อก่อนที่หากต้องเขียนซีดีแล้วจะไม่สามารถทำงานอื่นๆ บนเครื่องได้เลย แต่ BURN-Proof ทำให้งานที่ค้างอยู่นั้นไม่สะดุดในขณะเขียนข้อมูลลงบนซีดี สุดท้ายที่อาจจะคาดไม่ถึงก็คือ ทำให้เครื่องคอมพิวเตอร์ประสิทธิภาพต่ำก็ยังคงสามารถใช้ร่วมกับไดรฟ์ความเร็วสูงๆ ได้เช่นกัน โดยที่ถ้าคอมพิวเตอร์ส่งข้อมูลได้ช้ามากจริงๆ ไดรฟ์ก็จะมีความเร็วเทียบได้กับความเร็วในการส่งข้อมูลของคอมพิวเตอร์เช่นกัน
นอกจากเทคโนโลยี BURN-Proof แล้วยังมีเทคโนโลยี Waste-proof write strategy จาก Hewlett Packard และ Justlink จาก Ricoh
ก้าวถัดไปของแหล่งเก็บข้อมูล
ในวันนี้เราคงต้องยอมรับแล้วว่า แหล่งเก็บข้อมูลสำรองของคอมพิวเตอร์นั้น คงจะตกไปอยู่ที่ไดรฟ์ซีดีอาร์ดับบลิวแน่นอน เพราะว่าทั้งมีประสิทธิภาพที่ค่อนข้างสูงแล้ว ยังมีราคาถูกลงมากอีกด้วย แต่จากแนวทางการพัฒนานั้นทางเดินหลักในการมุ่งเน้นการพัฒนายังอยู่ที่ความเร็วในการทำงาน ถึงแม้ว่าในตอนนี้จะมีไดรฟ์ความเร็ว 12x , 16x และ 20x ออกมาแล้วก็ตาม แต่ไดรฟ์ 12x กับ 20x นั้นมีความเร็วต่างกันไม่ถึงเท่าตัว และยิ่งถ้าพัฒนาความเร็วขึ้นไปอีกก็คงจะพบกับทางตันที่ขีดจำกัดของความเร็ว ซึ่งเป็นขอบเขตอย่างหนึ่งของเทคโนโลยี แต่จุดที่ต้องก้าวไปพร้อมๆ กันก็คือเทคโนโลยีป้องกันความเสียหายอย่าง BURN-Proof หรือ Justlink ที่ต้องพัฒนาควบคู่กันไป
และคาดว่าเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องการก็คือแนวคิดในการทำดีดีอาร์ ออกมาแทนที่ เพราะสุดท้ายแล้ว ถึงอย่างไรเราทุกคนคงไม่อยากปิดขอบเขตของตัวเองเอาไว้ที่ความจุ 650 เมกะไบต์ อย่างแน่นอน