10 งานเด่น สกว. ประจำปี 2552


1,147 ผู้ชม


10 งานเด่น สกว. ประจำปี 2552
10 งานเด่น สกว. ประจำปี 2552  “...ผลงานวิจัยเด่น สกว. อาจเป็นผลงานที่เกิดขึ้นจากโครงการเดี่ยว ชุดโครงการ หรือกลุ่มโครงการก็ได้ แต่จะต้องเป็นผลงานที่ประสบผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ตั้งแต่ต้น ได้นำไปใช้ประโยชน์ในรูปแบบต่างๆ ตามธรรมชาติของงานนั้น ได้แก่ การใช้ประโยชน์ทางวิชาการ การใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ เชิงสาธารณะ หรือเชิงนโยบาย และการเสริมสร้างความเข้มแข็งของคนและชุมชน และที่สำคัญมากก็คือ ได้ก่อให้เกิดผลกระทบทางบวกในวงกว้าง หรือมีศักยภาพสูงในการที่จะก่อให้เกิดผลกระทบทางบวกในวงกว้าง ซึ่งจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของวงการนั้นๆ  
นอกเหนือจากผลงานวิจัยเด่น สกว. ประจำปี 2552 ซึ่งล้วนเป็นตัวอย่างที่ดีในการสะท้อนให้เห็นศักยภาพและความสามารถของคนไทยในการศึกษาวิจัยที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริงอย่างเป็นรูปธรรม   สกว. ยังมีผลงานวิจัยในปี 2552 อีกเป็นจำนวนมาก โดยที่ผลงานจำนวนหนึ่งได้ช่วยเสริมสร้างให้ประเทศชาติพึ่งพาตนเองได้ ลดการนำเข้าทั้งเทคโนโลยี ความรู้ และผลิตภัณฑ์จากต่างประเทศ  เกิดผลกระทบที่ตามมาคือช่วยชาติประหยัดงบประมาณ อาทิ ด้านความมั่นคง การแพทย์ และสาธารณสุข  ผลงานอีกจำนวนหนึ่งได้ช่วยให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ช่วยพัฒนาระบบการเกษตร พัฒนาการศึกษา บุคลกรด้านการศึกษา และสถาบันการศึกษา พัฒนาระบบการจัดการของจังหวัดในเชิงยุทธศาสตร์และเศรษฐกิจของจังหวัด และพัฒนาท้องถิ่นให้เกิดพลังของชุมชนในการแก้ไขปัญหาต่างๆ และการใช้ความรู้ในการเสริมสร้างความเข้มแข็ง เพื่อสามารถยืนหยัดบนลำแข้งของตนเองได้....”  
ศ.ดร. สวัสดิ์ ตันตระรัตน์  
ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)

 

 

  ผลงานที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นผลงานวิจัยเด่นประจำปี 2552 ประกอบด้วยกลุ่มงานวิจัยและพัฒนา( R&D) จำนวน 4 เรื่อง กลุ่มงานวิชาการ จำนวน 3 เรื่อง งานวิจัยโครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก (คปก.) จำนวน 1 เรื่อง และกลุ่มงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น จำนวน 2 เรื่อง รวมทั้งสิ้น 10 เรื่องดังนี้
 

 
10 งานเด่น สกว. ประจำปี 2552 4 งานเด่นกลุ่มงานวิจัยและพัฒนามุ่งเน้นการนำไปใช้ประโยชน์ได้โดยตรง
10 งานเด่น สกว. ประจำปี 2552  ชีวิตคุณภาพ พริกปลอดภัย    
    
ชื่อผลงาน : การพัฒนาอาชีพและเชื่อมโยงโซ่อุปทานพริกปลอดภัยจังหวัดชัยภูมิ    
    
หัวหน้าโครงการ  อาจารย์วีระ  ภาคอุทัย  และคณะ    
    
“พริก”  พืชเกษตร  ที่สร้างรายได้ เชื่อมโยงระดับคุณภาพชีวิตตั้งแต่พื้นที่ชุมชนเล็กๆ ไปจนถึงขั้นการส่งออก สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับประเทศเป็นจำนวนไม่น้อย โดยในปัจจุบันประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกพริกไม่น้อยกว่า  474,717 ไร่ ต่อปี ซึ่งพื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเฉพาะจังหวัดนครราชสีมา ถือเป็นอันดับหนึ่ง รองลงมาคือจังหวัดชัยภูมิ ซึ่งมีพื้นที่การปลูกพริกราว 53,463 ไร่ โดยมีประเทศคู่ค้าที่สำคัญ คือ สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย อังกฤษ ฟิลิปปินส์ และญี่ปุ่น ทั้งนี้ ผลพวงจากการผลิตดังกล่าวทำให้มีเงินสะพัดในธุรกิจพริกไม่น้อยกว่า 1,000 ล้านบาทต่อปี    
    
หากเจาะลึกในด้านการปลูกพริกในจังหวัดชัยภูมิพบว่ามีเกษตรกรผู้ปลูกพริกทั้งปีกว่า 40,000 ครอบครัว  รายได้รวมกว่าปีละ 1,200 ล้านบาท โดยเป็นรายได้จากการขายพริกของเกษตรกรประมาณปีละ 900 ล้านบาท นอกจากนั้นยังก่อให้เกิดรายได้จากการรับจ้างเก็บพริก การเด็ดขั้วพริก  การคัดพริกสดและแห้ง ซึ่งคิดเป็นมูลค่าประมาณปีละ 300-500 ล้านบาท อีกทั้งยังก่อให้เกิดธุรกิจการค้าต่อเนื่อง ได้แก่ กิจกรรมห้องเย็น การค้าส่ง และการค้าปลีก ทั้งนี้ การปลูกพริกนอกจากจะทำให้ชาวบ้านมีรายได้และมีงานทำแล้ว ยังเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระดับฐานรากที่สำคัญของจังหวัดอีกด้วย ดังจะเห็นได้ว่าสายโซ่อุปทานของการผลิตพริกนั้น ประกอบด้วยส่วนต่างๆมากมาย
 

 

 โครงการ "การขยายและการพัฒนาเครือข่ายการจัดการห่วงโซ่อุปทานพริกสดปลอดภัยอำเภอเกษตรสมบูรณ์ และอำเภอจัตุรัส จังหวัดชัยภูมิ" ซึ่งมีอาจารย์วีระ  ภาคอุทัย สังกัดภาควิชาเศรษฐศาสตร์การเกษตร คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นหัวหน้าโครงการ  ดำเนินงานศึกษาเพื่อหาแนวทางเพื่อสร้างขีดความสามารถในการผลิตพริกสดในพื้นที่อำเภอเกษตรสมบูรณ์และอำเภอจัตุรัส จังหวัดชัยภูมิ  โดยการวิเคราะห์หารูปแบบการจัดการผลผลิต เครือข่าย และช่องทางตลาดที่เหมาะสม การขยายและสร้างความเชื่อมโยงระหว่างกลุ่มเครือข่ายผู้ผลิตพริกในพื้นที่ พ่อค้า และโรงงาน แปรรูป ตลอดจนสนับสนุนการถ่ายทอดเทคโนโลยีการพริกปลอดภัยภายใต้ระบบ GAP เช่น การทำน้ำหมักชีวภาพ ปุ๋ยหมักแห้ง การใช้สารเคมีที่ถูกต้อง การวางแผนการผลิตและจัดการด้านการตลาด เป็นต้น เพื่อเป็นการยกระดับผลผลิตทั้งด้านปริมาณและคุณภาพ และสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภคและตลาดทั้งในและต่างประเทศ  
การพัฒนาอาชีพและเชื่อมโยงโซ่อุปทานพริกปลอดภัยจังหวัดชัยภูมินั้น  เกิดการใช้ประโยชน์อย่างกว้างขวางในด้านต่างๆ ดังนี้
เชิงพาณิชย์  ก่อให้เกิดเครือข่ายกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกพริกปลอดภัยในจังหวัดเพิ่มขึ้นรวม 271 ราย โดยมีเกษตรกรที่ได้รับเครื่องหมายรับรองมาตรฐาน Q จำนวน 141 ราย หรือร้อยละ 52 จากจำนวนสมาชิกทั้งหมด ทำให้ความเชื่อถือในคุณภาพสินค้ามีมากขึ้น เกษตรกรผู้ผลิตพริกมีความเข้าใจความต้องการของตลาดและเห็นถึงความสำคัญในการผลิตพริกในระบบปลอดภัย ซึ่งจะเป็นผลดีต่อเกษตรกรผู้ปลูก ผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อม เกษตรกรสามารถขายพริกสด (พริกฤดูแล้ง พันธุ์ลูกผสม) ได้ราคาที่สูงกว่าพริกทั่วไปประมาณกิโลกรัมละ 3-8 บาท เกษตรกรผู้ปลูกพริกสามารถลดการใช้สารเคมีและปุ๋ยเคมีลง ทำให้พ่อค้าส่งออกพริกสดไปต่างประเทศ โดยเฉพาะตลาดแถบอเมริกา ยุโรป รวมถึงอาเซียนหลายประเทศ เริ่มสนใจพริกสด    จากจังหวัดชัยภูมิมากขึ้น ส่งผลให้มีช่องทางจัดจำหน่ายพริกมากขึ้น เกิดแรงจูงใจให้เกษตรกรหันมาปลูกพริกในระบบปลอดภัยมากขึ้น ก่อให้เกิดรายได้จากการขายพริกประมาณปีละ 500-700 ล้านบาท เกิดการจ้างแรงงานในด้านต่างๆ ตามมามูลค่า ปีละประมาณ 200-300 ล้านบาท ซึ่งส่งผลทำให้เกิดการหมุนเวียนเงินในระบบเศรษฐกิจของจังหวัดชัยภูมิเป็นอย่างมาก
 

 

10 งานเด่น สกว. ประจำปี 2552  เชิงสาธารณะ  ผลจากการดำเนินงานวิจัยของโครงการ ส่งผลให้หน่วยงานจังหวัด ได้แก่ สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดชัยภูมิ จัดทำศูนย์ข้อมูลอิเล็กโทรนิกส์ผ่านทางเว็บไซด์https://www.prikchaiyaphum.com/เพื่อเป็นช่องทางให้แก่เกษตรกร   ผู้ปลูกพริก ผู้ประกอบการ โรงงานแปรรูปพริก ตลอดจนผู้สนใจต่างๆ ในการเข้าถึง และแลกเปลี่ยนข้อมูลในด้านการผลิต    การเข้าถึงตลาด นวัตกรรม และเทคโนโลยีการแปรรูปพริก เป็นต้น ทำให้เกษตรกรเกิดการตื่นตัว และเพิ่มความมั่นใจในการหันมาปลูกพริกปลอดภัยกันมากขึ้น ปัจจุบันส่งผลให้เกิดกลุ่มเครือข่ายคลัสเตอร์พริกของจังหวัดชัยภูมิด้วย    นอกจากนี้นักวิจัยยังได้มีการประชาสัมพันธ์เผยแพร่โครงการฯ ผ่านการเป็นวิทยากร นิทรรศการ การออกสื่อทั้งสื่อสิ่งพิมพ์ โทรทัศน์ และเว็บไซต์ต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ซึ่งสามารถกระตุ้นให้เกษตรกรเข้าร่วมโครงการฯ มากขึ้น และส่งผลให้เกิดการขยายเครือข่ายสมาชิกผู้ปลูกพริกปลอดภัยในพื้นที่ต่างๆ ตามมา
เชิงนโยบาย  โครงการวิจัยได้มีส่วนทำให้พริกซึ่งเป็นพืชยุทธศาสตร์ของจังหวัดชัยภูมิที่จะผลิตเข้าสู่ระบบพริกสดปลอดภัยได้มาตรฐาน Q เร็วขึ้น ตลอดทั้งจังหวัดได้ให้ความสำคัญในการจัดสรรงบประมาณให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงานเกษตรจังหวัดจัดโรงเรียนเกษตรกรพริกสดปลอดภัยในเขตอำเภอเกษตรสมบูรณ์ อบรมเกษตรกรทุกตำบลๆ ละ 30 ราย   รวมทั้งหมด 330 ราย สำนักงานพาณิชย์จังหวัดได้รับงบประมาณสนับสนุนในเรื่องการตลาดพริก จัดตลาดกลางพริก  ทำให้ข้อมูลข่าวสารการตลาดพริกไปรวดเร็ว สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดจัดการประชาสัมพันธ์ทั้งทางโทรทัศน์และวิทยุฯ  สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดได้รับงบประมาณในการส่งเสริมการแปรรูปการเพิ่มมูลค่าพริก จึงทำให้เกิดการทำงานเชิงบูรณาการในระดับพื้นที่ โดยใช้พริกเป็นตัวอย่างในการขับเคลื่อนโดยกระบวนการมีส่วนร่วมของเกษตรกร หน่วยงานวิชาการ   โครงการวิจัย และภาคเอกชน อีกทั้งองค์การบริหารส่วนตำบลต่างๆ ได้บรรจุโครงการผลิตสินค้าเกษตรปลอดภัยในแผนงานและงบประมาณของ อบต. เช่น อบต. หนองข่า บ้านยาง และหนองบัวใหญ่ ทำให้เกิดการบูรณาการในพื้นที่โครงการวิจัยฯ ได้ช่วยในการขับเคลื่อนศักยภาพของชุมชนเข้าสู่ระบบงบประมาณของท้องถิ่น เป็นการนำงานวิจัยเข้าแก้ไขปัญหาของท้องถิ่นโดยตรงกับความต้องการของประชาชนหรือเกษตรกร และเกษตรกรสามารถพึ่งตนเองได้โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจาก อบต.    ทำให้การจัดสรรงบประมาณของท้องถิ่นมีประสิทธิภาพมากขึ้นเพราะเกิดผลประโยชน์แก่ชุมชน ชุมชนมีกระบวนการเรียนรู้และถ่ายทอดความรู้ และส่งผลให้ชุมชนเข้มแข็งในที่สุด
 

 

 ความเข้มแข็งของชุมชน  เกษตรกรในโครงการได้จัดตั้งวิสาหกิจชุมชนขึ้นจำนวน 3 กลุ่ม ในอำเภอเกษตรสมบูรณ์   อำเภอจัตุรัสจำนวน เกิดหมู่บ้านต้นแบบ ศูนย์การเรียนรู้ในชุมชนที่เป็นต้นแบบในการผลิตปลอดภัยในพื้นที่จำนวน 4 ศูนย์ วิทยากร และเกษตรกรตัวอย่างในระดับหมู่บ้าน ทั้งนี้ เกษตรกรสมาชิกได้นำองค์ความรู้การผลิตพริกปลอดภัยและการบริหารกลุ่มไปปรับใช้กับการทำการเกษตรอย่างอื่น โดยอาศัยกระบวนการเรียนรู้ การจัดการความรู้ และการถ่ายทอดความรู้ด้วยตัวของเกษตรกรเอง เช่น เกษตรกรได้เรียนรู้เรื่องการทำปุ๋ยอินทรีย์หมักแห้งจากการปลูกพริก ก็นำมาปรับใช้กับการปลูกข้าวและผักร่วมกันระหว่างชุมชนอื่นๆ โดยรวมตัวกันปลูกผักปลอดภัยเพื่อบริโภค หากเหลือก็นำไปขายในตลาดสด  และมีการวางแผนที่จะหารายได้เพิ่มขึ้นจากการขายพริก ผักปลอดภัย และผลิตภัณฑ์อื่นๆ ร่วมกันในช่วงเทศกาลต่างๆ เช่น สงกรานต์ และปีใหม่  เป็นต้น    นอกจากนี้ยังทำให้เกิดการขยายและการขับเคลื่อนเครือข่ายเกษตรกรผู้ผลิตพริกปลอดภัยในพื้นที่อย่างอัตโนมัติ รวมทั้งยังก่อให้เกิดกระบวนการกลุ่ม ระบบการบริหารกลุ่ม และการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งภาควิชาการ ภาครัฐ และภาคเอกชนในพื้นที่อย่างสม่ำเสมอ และเกิดการสร้างทีมวิจัยและระบบวิจัยเพื่อพัฒนางานในแวดวงวิชาการและการวิจัยให้กับประเทศ
ในภาพรวม นอกจากเกษตรกรจะได้ราคาพริกที่สูงขึ้นแล้ว ต้นทุนการผลิตยังลดลง และยังส่งผลให้เกษตรกรมีทักษะและขีดความสามารถในการผลิตพริกทั้งในเชิงประมาณและคุณภาพเพิ่มขึ้น ชุมชนมีรายได้ มีความมั่นคงของอาชีพ นอกเหนือไปจากการปลูกพริก และมีสุขภาพและสภาวะทางสังคมที่ดีขึ้นอันเนื่องจากจากการใช้สารเคมีลดลง รวมทั้งยังส่งผลให้เกิดการขยายฐานและการรวมกลุ่มการผลิตพริกในชุมชนมากขึ้น อันจะนำไปสู่การต่อรองราคาที่เป็นธรรมกับพ่อค้าคนกลาง ตลอดทั้งชุมชนไม่ต้องออกไปหารายได้ภายนอก จากผลลัพธ์ดังกล่าวนี้ส่งผลให้มีหน่วยงานหลายหน่วยงาน อบต. และเกษตรกรเริ่มหันมาใส่ใจกับการทำเกษตรแบบปลอดภัยมากขึ้น ทำให้จังหวัดชัยภูมิเป็นที่รู้จักว่าเป็นจังหวัดที่มีการปลูกพริกมากขึ้น เกษตรกรมีช่องทางในการจำหน่ายพริกมากขึ้น  ตลอดทั้งมีการทำงานร่วมกันทั้งระบบ ทั้งเกษตรกร หน่วยงานราชการ  หน่วยงานวิชาการ และภาคธุรกิจ เพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์ปัจจุบันของตลาดพริกในประเทศไทยที่ต้องการผลผลิตพริกเพื่อการส่งออกมากขึ้น ในระยะยาวจะส่งผลดีต่อการพึ่งพาตนเองของชุมชน การสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้ที่เกี่ยวข้องในห่วงโซ่อุปทานพริกสด และสร้างความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลกต่อไปได้ในอนาคต
 

 

10 งานเด่น สกว. ประจำปี 2552  แผนพัฒนาจังหวัด :  โมเดลบริหารราชการแนวใหม่    
    
ชื่อผลงาน : การพัฒนาระบบและกระบวนการจัดทำแผนจังหวัดบนพื้นฐานยุทธศาสตร์ข้อมูลและการมีส่วนร่วม    
    
หัวหน้าโครงการ : คุณจิริกา  นุตาลัย และคณะ    
    
จากการปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน ฉบับที่ 7 พ.ศ. 2550 ที่กำหนดให้แต่ละจังหวัดสามารถตั้งของบประมาณได้เอง โดยไม่ต้องรองการตั้งงบประมาณจากหน่วยงานส่วนกลาง ทำให้แต่ละจังหวัดต้องจัดทำแผนพัฒนาจังหวัดขึ้นเอง เพื่อเตรียมการรองรับระบบบริหารราชการแนวใหม่โดยเริ่มตั้งแต่ปีงบประมาณ 2552 เป็นต้นไป    ด้วยเหตุนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในส่วนกลาง ได้แก่ สำนักงบประมาณ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ  สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี และกระทรวงมหาดไทย  ต่างเห็นความจำเป็นที่จะต้องหาทางสนับสนุนให้แต่ละจังหวัดสามารถจัดทำแผนพัฒนาจังหวัด และแผนของบประมาณที่มีประสิทธิภาพ  ที่เน้นกระบวนการมีส่วนร่วมจากหลายภาคส่วนทั้งจากหน่วยงานท้องถิ่น ภาคประชาสังคม และภาคชุมชน  เพื่อให้เกิดข้อมูลความรู้ที่จะช่วยกำหนดทิศทางการพัฒนาจังหวัด    
    
เพื่อตอบโจทย์ข้างต้น  “โครงการวิจัยการพัฒนาระบบและกระบวนการจัดทำแผนจังหวัดบนพื้นฐานยุทธศาสตร์ข้อมูลและการมีส่วนร่วม”   จึงได้เริ่มศึกษาวิจัยในพื้นที่นำร่อง 7 จังหวัด ได้แก่ พิษณุโลก ชัยนาท ยโสธร ชัยภูมิ อุบลราชธานี นครศรีธรรมราช และสตูล   โดยเน้นศึกษาศักยภาพของทีมจังหวัดในการพัฒนาระบบแผนงบประมาณ   ศึกษากระบวนการกำหนดวาระการพัฒนาจังหวัดบนยุทธศาสตร์ข้อมูลและการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่าง ๆ   รวมถึงกระบวนการวิเคราะห์เพื่อจัดทำแผนงบประมาณจังหวัด    
    
ผลการวิจัย ทำให้เกิดข้อค้นพบที่นับเป็นการสร้างความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในการวางรูปแบบการบริหารราชการแนวใหม่หลายประการ ได้แก่  การใช้แนวคิดห่วงโซ่คุณค่า (value chain) เป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับการวางแผนพัฒนาจังหวัด การวิเคราะห์ความสัมพันธ์ของยุทธศาสตร์จังหวัดและการวิเคราะห์คำของบประมาณ  รวมถึงการวิเคราะห์จุดอ่อนและข้อจำกัดของกระบวนการจัดทำแผนงบประมาณจังหวัด ที่จะทำให้เกิดความเชื่อมโยงระหว่างยุทธศาสตร์จังหวัด กับส่วนราชการ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ส่งผลให้จังหวัดพัฒนาไปสู่วิสัยทัศน์ของจังหวัด   ได้คู่มือการจัดทำแผนงานโครงการซึ่งจะถูกบรรจุในแผนพัฒนาจังหวัด      
    
นอกจากนี้ข้อเสนอแนะจากภาคส่วนต่าง ๆ ยังสามารถใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาขีดความสามารถของทีมจังหวัด การวางกลไกและโครงสร้างการจัดทำแผนพัฒนาจังหวัดและกลุ่มจังหวัด รวมถึงได้ข้อเสนอต่อหน่วยงานส่วนกลางในการวางระบบสนับสนุนการจัดทำแผนงบประมาณของจังหวัด อาทิ การปรับปรุงโครงการอัตรากำลังของอำเภอและจังหวัด  การเชื่อมโยงข้อมูลจากงานวิจัยอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับปัจจัยการผลิตและผลผลิตในพื้นที่แต่ละจังหวัด  การเชื่อมโยงข้าราชการที่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องในกระบวนการแผนจังหวัด แต่มีจิตอาสาและมีเจตนาดีที่จะทำประโยชน์ให้แก่จังหวัด เข้ามาร่วมศึกษาเรียนรู้กระบวนการวิจัย เป็นการส่งเสริมให้เกิด Think Tank Team ในการพัฒนาแผนจังหวัด    ซึ่งนับว่าเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการออกแบบกระบวนการและขั้นตอนในการจัดทำแผนงบประมาณจังหวัดที่สอดคล้องกับเงื่อนไขสภาพที่เป็นจริง  ลดความซ้ำซ้อน  และมุ่งไปสู่การพัฒนาผลผลิตหลักของจังหวัดในอนาคต
 

 

10 งานเด่น สกว. ประจำปี 2552  UAV   ยานบินไร้คนขับ   ต้นแบบเทคโนโลยีประสานทีม        
      
ชื่อผลงาน : การวิจัยและพัฒนาอากาศยานไร้นักบิน ( Unmanned Aerial Vehicle: UAV)      
      
ผู้บริหารกลุ่มโครงการวิจัย      
พลโทหญิงพงษ์รุจี  ศิริวัฒนะ      
      
• การออกแบบและจัดสร้างโครงสร้างอากาศยาน      
หัวหน้าโครงการวิจัย  :  น.ต.ดร.ณัฐพล  นิยมไทย  และคณะ      
      
• ระบบควบคุมการบินอัตโนมัติ      
หัวหน้าโครงการวิจัย  :  น.ท.นวพันธ์  นุตคำแหง และคณะ      
      
• ระบบสื่อสารการบิน      
หัวหน้าโครงการวิจัย  :  ผศ.ดร.ทองทด วานิชศรี  และคณะ      
      
• ระบบประมวลผลการสื่อสารและอุปกรณ์การภาพ      
หัวหน้าโครงการวิจัย  :  รศ.ดร.สมชาย จิตะพันธ์กุล  และคณะ
 

 

10 งานเด่น สกว. ประจำปี 2552  “ยานบินไร้คนขับ” หรือที่เราเรียกกันสั้น ๆ ว่า UAV (Unmanned Aerial Vehicle) เป็นอากาศยานที่ไม่มีนักบินประจำการอยู่บนเครื่อง  อาศัยการบังคับระยะไกลจากภาคพื้นดินร่วมกับคอมพิวเตอร์ควบคุมการบินที่ติดตั้งอยู่บนเครื่อง  สามารถใช้งานได้ทั้งทางทหารและพลเรือน อาทิ งานข่าว งานตรวจการ การสำรวจเส้นทางเพื่อสร้างทาง  สำรวจรางรถไฟ ใช้ในกิจการโทรคมนาคม ถ่ายภาพเพื่อทำแผนที่ทางอากาศ การสำรวจทรัพยากร ไฟป่า น้ำท่วม เป็นต้น  
ปัจจุบันกองทัพไทยให้ความสำคัญกับระบบ UAV เป็นความเร่งด่วนลำดับแรก ๆ ในกระบวนยุทโธปกรณ์ที่มีความสำคัญในการเสริมสร้างกำลังกองทัพที่ต้องมีเข้าประจำการ  โดยนำเข้า UAV รุ่น searcher จากประเทศอิสราเอลมาแล้วกว่าสิบปี ประกอบด้วย UAV ตัวจริงความยาวประมาณ 7 เมตร จำนวน 4 ลำ และมีเครื่องบินฝึกอีกจำนวน 4 ลำ พร้อมทั้งระบบควบคุมการบิน ระบบติดต่อสื่อสาร และระบบประมวลผล โดยระบบทั้งหมดจะมีมูลค่าประมาณ 100 ล้านบาท
เพื่อทดแทนการนำเข้าและการสูญเสียค่าซ่อมบำรุงปีละหลายล้านบาท  ความพยายามศึกษาถึงความเป็นไปได้ในการสร้าง UAV ขึ้นใช้เองภายในประเทศจึงเกิดขึ้น โดยในขั้นต้นกำหนดให้มีสมรรถนะสอดคล้องกับความต้องการของกองพลทหารปืนใหญ่ (พล.ป.) สำหรับภารกิจตรวจการณ์ สอดแนม ค้นหาและติดตามเป้าหมาย   สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และสำนักงานวิจัยและพัฒนาการทหารกลาโหม (สวพ.กห.) จึงร่วมสนับสนุนโครงการวิจัยและพัฒนา “การวิจัยและพัฒนาอากาศยานไร้นักบิน” โดยหน่วยงานวิจัยประกอบด้วยกองพลทหารปืนใหญ่  โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า โรงเรียนนายเรือ โรงเรียนนายเรืออากาศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี  สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร    โดยใช้นักวิชาการจากสถาบันต่าง ๆ จำนวน 50 คนที่มีความรู้ความสามารถทั้งทางด้านซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ร่วมพัฒนาโครงการนี้
ผลจากการพัฒนาต้นแบบ UAVมากว่า 5 ปี  ได้สร้างนักวิจัยที่มีความรู้และประสบการณ์ในการออกแบบและสร้างระบบอากาศยานไร้นักบิน จำนวนไม่น้อยกว่า 20 คน  ได้องค์ความรู้พื้นฐานเชิงลึกที่จำเป็นสำหรับอากาศยานไร้นักบิน ได้แก่ การออกแบบและสร้างอากาศยานไร้นักบิน ระบบควบคุมการบิน ระบบการติดต่อสื่อสารการบิน ระบบการประมวลผลสัญญาณวีดิโอ ระบบการเชื่อมต่อเข้ากับระบบภูมิสารสนเทศ การออกแบบและสร้างอุปกรณ์กล้อง  รวมถึงโปรแกรมการวางแผนการบิน    นอกจากนี้ต้นแบบอากาศยานไร้นักบินทางยุทธวิธีแบบ Twin Boom ที่ออกแบบและสร้างโดยนักวิจัยและบริษัทภาคเอกชนในประเทศ ยังสามารถผลิตขายเป็นเครื่องฝึกนักบินให้กับกองพลทหารปืนใหญ่จำนวน 10 ลำและขายให้บริษัท IAI ประเทศอิสราเอล จำนวน 24 ตัว ได้รับค่าสิทธิบัตรประมาณ 1 ล้านบาท นอกจากนั้นความรู้จากโครงการวิจัยนี้ช่วยให้ทีมวิจัยมีส่วนต่อรองการจัดชั้นระบบใหม่ที่ทำให้กองทัพประหยัดเงินได้ไม่ต่ำกว่า 650 ล้านบาท
 

 

10 งานเด่น สกว. ประจำปี 2552  การพัฒนางานวิจัยและระบบบริหารจัดการงานวิจัยของกลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฏ : ให้เป็นกลไกวิชาการเพื่อการพัฒนาพื้นที่
หน่วยงานรับผิดชอบ
ที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ  และคณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยราชภัฏ 10 แห่ง
ก่อนปี 2546 อาจกล่าวได้ว่า มหาวิทยาลัยราชภัฏโดยรวมยังไม่มีระบบบริหารจัดการงานวิจัย ที่มีความชัดเจนเป็นระบบมากนัก  กลไกด้านการวิจัย คือศูนย์วิจัยมีบทบาทเป็นหน่วยธุรการงานวิจัยและทำวิจัยตามนโยบายของสถาบัน การพัฒนางานวิจัยมุ่งให้ความรู้ด้านวิธีวิทยาการวิจัย บนฐานคิดว่า อาจารย์ไม่ทำวิจัยเพราะขาดความรู้  จนกระทั่ง ในปี 2548 - 2551 ที่นับได้ว่าเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญ ในหน่วยงานของมหาวิทยาลัยราชภัฏเอง ที่ได้ตระหนักและเห็นความสำคัญในการดำเนินการเรื่องระบบการบริหารจัดการงานวิจัยอย่างเป็นระบบ
นับจากจุดเริ่มต้นในปี 2548 สกว. ในฐานะหน่วยงานให้ทุนซึ่งมีบทบาทในการสนับสนุนการสร้างผลงานวิจัย การพัฒนานักวิจัย และระบบการบริหารจัดการงานวิจัย ได้เข้ามาร่วมเป็นหน่วยงานในการให้การสนับสนุนในเรื่องดังกล่าวอย่างเต็มที่ในฐานะพี่เลี้ยง และการสนับสนุนทุนวิจัยผ่านความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยราชภัฏ จำนวน 10 แห่ง ได้แก่ มรภ.ลำปาง มรภ.อุตรดิตถ์ มรภ.กำแพงเพชร มรภ.นครราชสีมา มรภ.ศรีสะเกษ มรภ.ราชนครินทร์ มรภ.เพชรบุรี มรภ.สุราษฎร์ธานี มรภ.สงขลา และ มรภ.ธนบุรี ผ่านงานนวัตกรรมสถาบัน ซึ่งเป็นการสนับสนุนการวิจัยเพื่อพัฒนาระบบบริหารจัดการงานวิจัยของสถาบันการศึกษา ให้มีการพัฒนาที่เป็นระบบ และสร้างนักวิจัยที่มีคุณภาพ ด้วยเห็นว่า มหาวิทยาลัยราชภัฏซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาหลักในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ หากมีระบบการบริหารจัดการงานวิจัยที่ดี มีประสิทธิภาพ และการใช้งานวิจัยเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนการสอน ใช้โจทย์จริงจากพื้นที่เป็นกรณีตัวอย่างของการศึกษาเพื่อพัฒนาท้องถิ่น  ก็จะเป็นโอกาสในการเพิ่มศักยภาพ ติดอาวุธทางปัญญาและเป็นกลไกภาควิชาการเพื่อพัฒนาพื้นที่อย่างยั่งยืน  
ผลที่เกิดขึ้นจากการพัฒนาระบบบริหารจัดการงานวิจัยของมหาวิทยาลัยราชภัฏทั้งระบบ คือ  มีระบบบริหารจัดการงานวิจัย  ทั้งในเรื่องของระบบสนับสนุนการวิจัย ซึ่งมหาวิทยาลัยราชภัฏทุกแห่งปรับปรุงระบบเบิกจ่ายทุนวิจัยให้คล่องตัวกว่าเดิม รวมทั้งด้านระบบประกันคุณภาพการวิจัย ที่ทุกแห่งมีกระบวนการจัดการคุณภาพงานวิจัย โดยมีการพัฒนาโจทย์และข้อเสนอโครงการวิจัยร่วมกับภาคีในพื้นที่ มีการประเมินคุณภาพข้อเสนอโครงการวิจัย การติดตามงานวิจัย และจัดกิจกรรมเผยแพร่งานวิจัย
ซึ่งระบบต่าง ๆ เหล่านี้ก่อให้เกิดคุณูปการต่อพื้นที่หลายด้านอาทิ
 

 

10 งานเด่น สกว. ประจำปี 2552  • เกิดการปฏิรูปการเรียนรู้ของคนในท้องถิ่น  ทำให้มหาวิทยาลัยราชภัฏมีต้นทุนประสบการณ์ และกำหนดแผนยุทธศาสตร์การวิจัยที่จะขยายวงการวิจัยในกระบวนการเรียนการสอนให้กว้างขวางยิ่งขึ้น  จึงเป็นโอกาสการปฏิรูปการเรียนรู้ของผู้เรียนทั้งภาคปกติและภาคพิเศษ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบุคลากรที่กำลังทำงานในภาคส่วนต่างๆในพื้นที่  เช่น ครู ผู้บริหารโรงเรียน บุคลากรในหน่วยงานรัฐ   อบต. กลุ่มองค์กรท้องถิ่นต่างๆ ฯลฯ
• ความเข้มแข็งของการพัฒนาพื้นที่  ทำให้มหาวิทยาลัยราชภัฏมีนักวิจัยและนักจัดการงานวิจัยเพื่อพัฒนาพื้นที่เพิ่มขึ้นทั้งด้านจำนวนและประสบการณ์ รวมทั้งทำให้มีการพัฒนาระบบข้อมูลความรู้ของพื้นที่  จึงมีโอกาสที่มหาวิทยาลัยราชภัฏจะพัฒนาตนเองสู่การเป็นกลไกวิชาการเพื่อพัฒนาพื้นที่ที่เข้มแข็งได้  ขณะเดียวกัน บทบาทการเป็นหน่วยจัดการงานวิจัยของพื้นที่ของมหาวิทยาลัยราชภัฏ ก็ทำให้มีโอกาสเกิดเครือข่ายความร่วมมือทางการวิจัยเพื่อพัฒนาพื้นที่ขึ้นด้วย
• การปฏิรูปการจัดการอุดมศึกษาเพื่อพัฒนาพื้นที่   ขณะนี้มหาวิทยาลัยราชภัฏจำนวนมากกว่า  30    แห่ง ได้เริ่มต้นพัฒนากลุ่มวิจัยในประเด็นยุทธศาสตร์ที่สอดรับกับศักยภาพของพื้นที่ โดยมีเป้าหมายปลายทางสู่การพัฒนาหลักสูตรเพื่อผลิตกำลังคนให้มีอาชีพ และสามารถสร้างอาชีพในพื้นที่ได้ ซึ่งหลักสูตรดังกล่าวจะนำไปสู่การปฏิรูปการจัดการอุดมศึกษาเพื่อพัฒนาพื้นที่ต่อไป
• ความเข้มแข็งของการจัดการการศึกษาโดยท้องถิ่น  บนฐานนโยบายแห่งรัฐที่ต้องกระจายการศึกษาสู่ท้องถิ่น  จากผลการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยราชภัฏ ที่ได้สร้างกลไกความร่วมมือกับองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น  และสถานศึกษาในท้องถิ่นในการปฏิรูปการเรียนรู้  จึงเป็นโอกาสของมหาวิทยาลัยราชภัฏ ในการสร้างความร่วมมือกับองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นพัฒนาระบบการจัดการศึกษาของพื้นที่
 

 
10 งานเด่น สกว. ประจำปี 2552 4 งานเด่นกลุ่มงานวิชาการ และงานวิจัยโครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษกเป็นงานที่ก่อให้เกิดองค์ความรู้ใหม่และนำไปต่อยอดได้
10 งานเด่น สกว. ประจำปี 2552  ชุดตรวจวัดเซลล์เม็ดเลือดขาวจากเลือดไก่สำหรับผู้ติดเชื้อเอชไอวี    
    
ชื่อผลงาน :  ชุดตรวจวัดเซลล์เม็ดเลือดขาว CD4 ทีเซลล์  ในผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวี    
    
หัวหน้าโครงการ : ศ.ดร.โกวิท พัฒนาปัญญาสัตย์  และคณะ    
    
การพยากรณ์และการติดตามผลการรักษาผู้ป่วยโรคติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์นั้น ต้องมีตรวจวัดจำนวนเซลล์เม็ดเลือดขาว CD4 ซึ่งเป็นเซลล์เป้าหมายสำคัญของเชื้อเอชไอวี และการหาปริมาณเชื้อไวรัสในเลือด รวมทั้งตรวจหาภาวะการดื้อยาขอเชื้อไวรัส อย่างไรก็ตามการตรวจหาปริมาณไวรัสและการดื้อยาของเชื้อไวรัสนั้นมีค่าใช้จ่ายสูงมาก ทำให้ประเทศยากจนต่างๆ มักตรวจเฉพาะเซลล์ CD4 ด้วยเครื่องโฟลไซโตมิเตอร์ซึ่งเป็นวิธีมาตรฐาน (gold standard) เพียงวิธีเดียว    
    
การตรวจวัดจำนวนเซลล์เม็ดเลือดขาว CD4 อย่างถูกต้องแม่นยำ จำเป็นต้องใช้เม็ดพลาสติกเรืองแสงเล็ก ๆ (microbeads) จากต่างประเทศมาร่วมในการตรวจวัดจึงจะทำให้ได้คุณภาพที่ดี ผลคือทำให้ราคาการตรวจวัดจำนวนเซลล์เม็ดเลือดขาว CD4 ซึ่งใช้ microbeads นั้นมีราคาค่อนข้างแพง ห้องปฏิบัติการเกือบทุกแห่งในประเทศไทย จึงยังคงใช้วิธีซึ่งไม่ใช้ microbeads ทำให้การตรวจวัดไม่มีคุณภาพและไม่ได้มาตรฐานตามหลักสากล    
    
ศ.ดร.โกวิท พัฒนาปัญญาสัตย์ เมธีวิจัยอาวุโส สกว. สาขาวิทยาภูมิคุ้มกัน จากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล และคณะ  ได้พัฒนาการตรวจหาเม็ดเลือดขาว CD4 ทีลิมโฟไซต์ในตัวอย่างเลือดผู้ป่วย ในโครงการกลไกการทำงานที่หลากหลายของเซลล์ระบบภูมิคุ้มกันและการเกิดพยาธิสภาพในโรคติดเชื้อเอชไอวี โดยได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากฝ่ายวิชาการ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ซึ่งคณะวิจัยได้ศึกษาวิจัยและพัฒนาจนได้น้ำยา biobeads ที่สามารถเตรียมขึ้นเองได้ด้วยวิธีง่ายๆ และสามารถใช้แทน microbeads จากต่างประเทศโดยที่มีราคาถูกกว่าถึง 10 เท่า    
    
ผลการศึกษาเบื้องต้นพบว่ามีแนวโน้มความเป็นไปได้ในการที่จะผลิต biobeads ในระดับอุตสาหกรรม เนื่องจากวัสดุหลักในการผลิต biobeads คือ เซลล์ขนาดเล็ก ส่วนเครื่องมือและสารเคมีที่ใช้ในการผลิตเป็นของที่มีใช้ในห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ทั่วไปและหาซื้อได้ง่าย เช่น เครื่องปั่น ตู้เย็น หลอดทดลองขนาดต่างๆ สารทำให้เรืองแสง เป็นต้น ทั้งนี้กรรมวิธีการผลิต biobeads ไม่มีความยุ่งยากซับซ้อนและใช้เวลาไม่นาน เพียงแค่เตรียมเซลล์ขนาดเล็กในสารละลายที่คิดค้นขึ้น ทิ้งไว้เป็นเวลา 24 ชั่วโมง เมื่อครบเวลาก็นำมาวัดความเข้มข้นโดยเครื่องนับปริมาณเม็ดเลือดและวัดค่าการเรืองแสงโดยโฟลไซโตมิเตอร์ จากนั้นก็สามารถนำไปใช้งานได้ ซึ่งผลที่ได้มีความถูกต้องแม่นยำสูง และเมื่อศึกษาเปรียบเทียบกับการใช้ microbeads จากต่างประเทศ พบว่ามีความสัมพันธ์กันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ p<0.01 รวมทั้งสามารถลดความผิดพลาดและค่าแปรปรวนในการวิเคราะห์จำนวนเม็ดเลือดขาว CD4-ทีลิมโฟไซต์ อันเนื่องมาจากการไม่ใช้ microbeads ได้อีกด้วย
 

 

10 งานเด่น สกว. ประจำปี 2552  ทั้งนี้ ราคาต้นทุนในการผลิต biobeads ต่อหน่วยการตรวจวัดเม็ดเลือดขาว CD4 ที-ลิมโฟไซต์ ในเลือด 1 ตัวอย่าง มีราคาไม่เกิน 10 บาท ซึ่งราคาดังกล่าวได้รวมค่าแรง ค่าสาธารณูปโภค สารเคมี และอุปกรณ์ที่ใช้ในการผลิต เมื่อคิดจากจำนวนตัวอย่างการวัดเม็ดเลือดขาว CD4 ที-ลิมโฟไซต์ ของประเทศไทย ซึ่งแต่ละปีมีจำนวนประมาณ 300,000-350,000 ตัวอย่าง จะทำให้เสียค่าใช้จ่ายในการใช้ biobeads ในการตรวจวัดเพียง 3 ล้านบาทเท่านั้น ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่ถูกเมื่อเทียบกับการใช้ microbeads ซึ่งต้องซื้อจากต่างประเทศเป็นเงินมากถึง 40-45 ล้านบาท  
การพัฒนาชุดตรวจนี้นับว่ามีความสำคัญยิ่งต่อการบริหารจัดการทางด้านสาธารณสุข ไม่ว่าจะเป็นเรื่องค่าใช้จ่ายหรือคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยที่ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ที่มีคุณภาพ และในอนาคตอาจนำไปประยุกต์ใช้หรือจำหน่ายให้แก่ประเทศด้อยพัฒนาหรือกำลังพัฒนาอื่นๆ ซึ่งนอกจากจะสามารถนำเงินตราเข้าประเทศแล้ว ยังสามารถช่วยเหลือประเทศเหล่านั้นประหยัดเงินได้มากเช่นเดียวกัน  
อนึ่ง ทีมวิจัยได้ดำเนินการขอรับสิทธิบัตรกรรมวิธีการผลิต biobeads จากกรมทรัพย์สินทางปัญญาในประเทศไทย 2 เรื่อง ได้แก่ “กรรมวิธีการหาร้อยละเม็ดเลือดขาวลิมโฟไซต์ชนิดต่างๆ” (เลขที่คำขอ 0901001047) และ “กรรมวิธีการหาค่าสัมบูรณ์เม็ดเลือดขาวลิมโฟไซต์ชนิดต่างๆ” (เลขที่คำขอ 0901001612)
 

 

10 งานเด่น สกว. ประจำปี 2552  เทคนิคใหม่วินิจฉัยธาลัสซีเมียชนิดรุนแรงก่อนคลอดแบบครบวงจร    
    
ชื่อผลงาน :  ยุทธวิธีการควบคุมโรคธาลัสซีเมียชนิดรุนแรงก่อนคลอด    
    
หัวหน้าโครงการ : ศ.นพ.ธีระ  ทองสง และคณะ    
    
โรคธาลัสซีเมียชนิดรุนแรง ทั้งโรคธาลัสซีเมียเมเจอร์ โรคเบต้าธาลัสซีเมีย/ฮีโมโกลบินอี (beta-thal/HbE) และโรคฮีโมโกลบินบาร์ท เป็นปัญหาสำคัญของสาธารณสุขไทยที่ส่งผลลบในด้านเศรษฐศาสตร์สุขภาพของประเทศเป็นอย่างยิ่ง และจำเป็นต้องได้รับการควบคุม โดยเฉพาะด้วยวิธีก่อนคลอด ทีมเวชศาสตร์มารดาและทารก จึงได้ร่วมมือกับห้องปฏิบัติการกุมารเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทำการวิจัยค้นหาวิธีที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการประยุกต์ใช้ในการควบคุมโรคนี้ในประชากรภูมิภาคที่มีโรคชุกชุม เนื่องจากการควบคุมด้วยวิธีก่อนคลอดมีวิธีคัดกรองและวินิจฉัยที่หลากหลาย แตกต่างกันไปตามภูมิภาค ความชุก และเศรษฐานะ แต่มีข้อเสียที่ราคาแพง เทคโนโลยีซับซ้อน ไม่สามารถทำได้ในวงกว้าง    
    
ศ.นพ.ธีระ ทองสง อาจารย์ประจำภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และคณะ จึงได้รับการสนับสนุนทุนส่งเสริมกลุ่มวิจัย จากฝ่ายวิชาการ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ในการศึกษาแนวทางและทดสอบยุทธวิธีก่อนคลอดที่ดีที่สุด โดยคำนึงถึงความถูกต้องและความคุ้มทุน ราคาถูก สะดวกต่อการประยุกต์ใช้ในวงกว้าง ทั้งนี้ผลการทดสอบคัดกรองที่ได้จะเป็นข้อมูลสำคัญสำหรับการวิเคราะห์ความถูกต้องของทั้งระบบในการค้นหาโรคธาลัสซีเมีย ซึ่งเป็นรูปแบบการศึกษาที่ไม่เคยมีการทำมาก่อน และนำไปสู่ยุทธวิธีการควบคุม (เชิงนโยบาย) วิเคราะห์ความคุ้มค่า เพื่อการประยุกต์ใช้ในวงกว้าง    
    
ตัวอย่างการพัฒนายุทธวิธีในการควบคุมโรคธาลัสซีเมียชนิดรุนแรงแบบครบวงจร ได้แก่ ศึกษาวิจัยหาวิธีคัดกรองค้นหาคู่เสี่ยง (คู่สมรสที่ต่างเป็นพาหะ) ด้วยวิธีต่าง ๆ ที่ประสิทธิภาพสูง ราคาถูก ใช้ได้ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ เช่น ศึกษาประสิทธิภาพการคัดกรองด้วย osmotic fragility test (0.45% glycerine), พัฒนา HbE screen อย่างง่าย ทดสอบนวัตกรรมใหม่ๆ สำหรับพาหะแอลฟ่าธาลัสซีเมีย เป็นต้น ในการค้นหาพาหะ ศึกษาวิธีการยืนยันพาหะด้วยการตรวจระดับ HbA2 (สำหรับพาหะ beta-thal และ HbE)  และ PCR (สำหรับ alpha-thal-1 SEA type) วิจัยเทคนิคและความปลอดภัยของการวินิจฉัยก่อนคลอด โดยเฉพาะการเจาะเลือดจากสายสะดือทารก และศึกษาวิจัยการวินิจฉัยจากการตรวจเลือดทารก เป็นต้น    
    
นอกจากนี้ยังศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการวินิจฉัยโรคฮีโมโกลบินบาร์ทด้วยอัลตราซาวด์ โดยตรวจวัดการทำงานของระบบหัวใจและหลอดเลือดของทารกในครรภ์ ทั้งในแง่การเปลี่ยนแปลงทางกายภาพและสรีรวิทยาของทารกในครรภ์ ทำให้ทราบถึงลักษณะจำเพาะและมาร์คเกอร์ทางอัลตราซาวด์หลายพารามิเตอร์ ซึ่งนำมาช่วยในการวินิจฉัยให้เร็วขึ้น    
    
ศ.นพ.ธีระ กล่าวว่า ผลงานวิจัยนี้เป็นแนวทางและต้นแบบในการกำหนดเป็นนโยบายระดับชาติ เพื่อนำไปใช้ในโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทั่วประเทศ ซึ่งมีผลทำให้อุบัติการณ์ของโรคธาลัสซีเมียรายใหม่ในภูมิภาคแถบนี้ลดลงอย่างมากในปัจจุบัน เด็กรายใหม่ที่ต้องมาเติมเลือดจากโรคธาลัสซีเมียลดลงอย่างมาก และเป็นครั้งแรกในวงการสาธารณสุขไทยที่อันตรายจากภาวะทารกบวมน้ำจากโรคฮีโมโกลบินบาร์ทได้ลดลงอย่างชัดเจน ตัวอย่างเช่นภาวะนี้ได้หายไปเลยจากกลุ่มสตรีที่มาฝากครรภ์และคัดกรองที่โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ ผลดังกล่าวได้นำไปสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ลดค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูผู้เป็นโรคลงได้ในจำนวนมหาศาล นอกจากนี้ยังสามารถสร้างบุคลากรโดยเฉพาะอย่างยิ่งนักวิจัยรุ่นใหม่ เพื่อเป็นกำลังสำคัญของการวิจัยเกี่ยวกับโรคธาลัสซีเมียในประเทศไทยอีกด้วย
 

 

10 งานเด่น สกว. ประจำปี 2552  เกราะกันกระสุนน้ำหนักเบาสมรรถนะสูง
หัวหน้าโครงการ  :  รศ.ดร.ศราวุธ  ริมดุสิต   และคณะ
เสื้อเกราะแข็งน้ำหนักเบาเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการใช้งานด้านยุทโธปกรณ์ทางทหารในกองทัพไทยและความมั่นคงของประเทศ ฝ่ายวิชาการ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จึงให้การสนับสนุนทุนวิจัยแก่ รศ.ดร.ศราวุธ ริมดุสิต อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณะ ในโครงการ “การพัฒนาเกราะกันกระสุนพอลิเมอร์คอมพอสิทน้ำหนักเบาจากเมตริกประเภทเบนซอกซาซีนอัลลอยด์โดยใช้เส้นใยเสริมแรงชนิดต่างๆ” เพื่อพัฒนาเกราะกันกระสุนคอมพอสิทชั้นสูงต้นแบบให้มีระดับการป้องกันกระสุนในระดับสูงสุดของเกราะประเภทเดียวกันตามมาตรฐาน NIJ (U.S. National Institute of Justice) ซึ่งเป็นมาตรฐานเก่าแก่และแพร่หลายมากที่สุด  
คณะวิจัยได้พัฒนาเกราะพอลิเมอร์คอมพอสิทจากเมตริกชนิดพอลิเบนซอกซาซีนและพอลิเบนซอกซาซีนอัลลอยด์ โดยได้ปรับหาสัดส่วนองค์ประกอบที่เหมาะสมระหว่างเรซินดังกล่าวกับสารดัดแปร เพื่อทำเป็นตัวประสานเส้นใยเสริมแรง เช่น เส้นใยกลุ่มอะรามิดโดยควบคุมให้มีระดับการยึดเกาะกับเส้นใยที่ไม่มากหรือน้อยเกินไปทำให้ได้ระดับการป้องกันกระสุนและการทรงรูปของเกราะที่สูง โดยงานวิจัยนี้ได้ทำวิจัยร่วมกับนักวิจัยจาก MTEC ซึ่งพัฒนาส่วนที่เป็นวัสดุเซรามิกและโลหะ  
ในระยะแรกทีมวิจัยได้ลงนามความร่วมมือกับโรงงานซ่อมสร้างรถยนต์ทหาร กรมสรรพาวุธทหารบก ในการพัฒนาเกราะกันกระสุนต้นแบบ โดยทำชิ้นงานเกราะพอลิเมอร์มีพื้นที่รวมประมาณ 50 ตารางฟุต เพื่อประกอบร่วมกับเกราะจากวัสดุเซรามิก และติดตั้งบนยานพาหนะ ซึ่งได้ทำการส่งมอบรถยนต์ติดตั้งเกราะกันกระสุนให้แก่กรมสรรพาวุธสำหรับการทดสอบใช้งานจริง ตลอดจนทำการทดสอบประสิทธิภาพการขับเคลื่อนของยานพาหนะ พบว่าสามารถเพิ่มกลไกในการสลายแรงปะทะจากกระสุนปืนได้อย่างชัดเจน ทำให้เกราะคอมพอสิทที่ได้สามารถพัฒนาให้มีจำนวนชั้นความหนาไม่มากและมีระดับการป้องกันการเจาะทะลุและการทรงรูปที่สูงไว้ได้ นอกจากนี้กองเรือยุทธการ กองทัพเรือ ได้นำเกราะกันกระสุนไปติดตั้งที่รถกระบะของหน่วยงานเพื่อใช้ขนส่งกำลังพล และมีแนวโน้มนำไปใช้ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
จะเห็นได้ว่าเป็นการพัฒนาเกราะกันกระสุนจากวัสดุที่นักวิจัยไทยสามารถสังเคราะห์ได้เอง ช่วยลดทั้งค่าใช้จ่ายในการนำเข้าวัสดุเหล่านี้จากต่างประเทศได้ นอกจากนี้ในเชิงวิชาการยังถือเป็นการสร้างองค์ความรู้ที่เป็นที่ยอมรับในวารสารทางวิชาการระดับสากล โดยได้ตีพิมพ์เผยแพร่ผลงานในวารสารทางวิชาการระดับนานาชาติที่อยู่ในฐานข้อมูล SCI 5 เรื่อง และยื่นจดสิทธิบัตรอีก 2 เรื่อง ได้แก่ “เกราะกันกระสุนพอลิเมอร์คอมพอสิทจากเบนซอกซาซีน-ยูรีเทนอัลลอยด์และเส้นใยทนแรงขีปนะ” และ “เกราะกันกระสุนพอลิเมอร์คอมพอสิทเสริมแรงด้วยเส้นใยทนแรงขีปนะและเมตริกพอลิเมอร์ผสมชนิดพอลิคาร์บอเนตและพอลิอคริโลไนไตรด์ บิวตะไออีน สไตรีน โคพอลิเมอร์”
 

 

10 งานเด่น สกว. ประจำปี 2552  นอกเหนือจากผลกระทบที่สำคัญในการสร้างบุคลากรวิจัยอันจะเป็นกำลังสำคัญของชาติในสังคมฐานความรู้แล้ว ผลงานที่ได้จากโครงการวิจัยยังสามารถต่อยอดไปใช้ในการผลิตเกราะกันกระสุนที่สามารถผลิตได้ง่ายและต้นทุนการผลิตไม่มาก แต่ให้ระดับการป้องกันเทียบเท่าเกราะประเภทเดียวกันที่นำเข้าจากต่างประเทศ ดังนั้น องค์ความรู้ที่ได้จึงถือเป็นก้าวสำคัญก้าวหนึ่งที่จะนำไปสู่การผลิตวัสดุขึ้นมาใช้เองในประเทศ ทดแทนการนำเข้าจากต่างประเทศ อันจะนำไปสู่การเข้าถึงนวัตกรรมใหม่ๆ ที่ง่ายขึ้น รวมทั้งสามารถจัดหาอุปกรณ์มาใช้งานให้มีจำนวนที่เพียงพอกับบุคลากรผู้ซึ่งมีความจำเป็นต้องใช้ โดยเฉพาะในงานที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงและความปลอดภัยของประเทศ ส่งผลในการบรรเทาความสูญเสียที่อาจจะเกิดขึ้นได้
 

 

10 งานเด่น สกว. ประจำปี 2552  พลวัตทางวิวัฒนาการของข้าวในประเทศไทย
อาจารย์ที่ปรึกษา : รศ.ดร.ศันสนีย์ จำจด
นักศึกษา :  นางสาวต่อนภา  ผุสดี
  ประเทศไทยเป็นส่วนหนึ่งของศูนย์กลางความหลากหลายทางพันธุกรรมและแหล่งกำเนิดข้าว  ซึ่งมีแหล่งยีนปฐมภูมิ ประกอบด้วย ข้าวป่าสามัญ (O. rufipogon Griff.) ข้าววัชพืช (O. sativa f spontanea) และข้าวปลูก (O. sativa L.) รวมทั้งข้าวพันธุ์พื้นเมือง (landraces rice) และข้าวพันธุ์สมัยใหม่     ในระบบนิเวศเกษตรของประเทศไทยมักจะพบข้าวป่าสามัญ ข้าววัชพืช และข้าวปลูกขึ้นอยู่ในพื้นที่เดียวกัน ส่วนข้าวพันธุ์พื้นเมืองส่วนใหญ่เก็บรักษาและเพาะปลูกโดยเกษตรกรในท้องถิ่นในพื้นที่ที่ทำการเกษตรแบบดั้งเดิม ซึ่งส่วนใหญ่ปลูกเพื่อบริโภคในครัวเรือน  
งานวิจัยพลวัตทางวิวัฒนาการของข้าวในประเทศไทยจะช่วยสร้างความเข้าใจพื้นฐานเกี่ยวกับโครงสร้างและการเปลี่ยนแปลงในแหล่งยีนปฐมภูมิของข้าวในประเทศไทย เพื่อจะเป็นข้อมูลสำคัญช่วยตัดสินใจและกำหนดนโยบายในการอนุรักษ์ทั้งในสภาพธรรมชาติ (in situ) และนอกสภาพธรรมชาติ (ex situ) และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรพันธุกรรมสำคัญนี้  
ความรู้เกี่ยวกับความหลากหลายทางพันธุกรรมในเชื้อพันธุ์ข้าวพื้นเมือง ให้ความกระจ่างว่าการจัดการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางพันธุกรรมในเชื้อพันธุ์ข้าวพื้นเมืองจำเป็นต้องมองให้ลึกลงไปกว่าเชื้อพันธุ์ที่มีชื่อต่างกัน และไม่อาจเหมาว่าข้าวพื้นเมืองที่มีชื่อพันธุ์เดียวกันไม่มีความหลากหลายทางพันธุกรรม ส่วนข้าวพันธุ์พื้นเมืองที่พบว่ายังมีพันธุกรรมที่หลากหลายในแต่ละตัวอย่างเชื้อพันธุ์และแปลงนาของเกษตรกร หมายถึงคุณสมบัติทางพันธุกรรมที่มิได้หยุดนิ่งเหมือนข้าวปลูกพันธุ์สมัยใหม่ แต่หมายถึงสามารถตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติของสภาพแวดล้อมแต่ละท้องถิ่น และการจัดการคัดเลือกตามความต้องการของเกษตรกร เชื้อพันธุ์ข้าวพื้นเมืองที่ยังอยู่ในท้องถิ่นจึงเป็นทรัพยากรพันธุกรรมสำคัญที่ช่วยให้เกษตรกรสามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ ทั้งโอกาสในการตลาดและสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป ซึ่งอาจรวมถึงภาวะโลกร้อนด้วย ความเข้าใจเรื่องการเกิดข้าววัชพืชที่เกิดจากการแลกเปลี่ยนยีนระหว่างข้าวปลูกและข้าวป่า ชี้ว่าการเปลี่ยนแปลงในระบบพันธุกรรมเป็นสิ่งที่ควรเฝ้าระวังเพื่ออนุรักษ์ความหลากหลายทางพันธุกรรมในแหล่งยีนปฐมภูมินี้ต่อไปในอนาคต และเป็นพื้นฐานในการหาวิธีการป้องกันกำจัดข้าววัชพืชชนิดใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น
 

 

10 งานเด่น สกว. ประจำปี 2552  ความรู้จากงานวิจัยนี้จึงน่าจะเป็นประโยชน์ต่อการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรพันธุกรรมข้าว ในพื้นที่ปลูกข้าวทั้งโลกที่ยังมีพันธุ์พื้นเมืองที่ยังมีพันธุกรรมอันหลากหลายเหลืออยู่ รวมทั้งไทยและประเทศเพื่อนบ้านในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ยังอุดมไปด้วยข้าวป่าและข้าวพันธุ์พื้นเมืองในท้องถิ่น นอกจากนี้ยังมีประโยชน์ในการมองและเข้าใจความหลากหลายทางพันธุกรรมในพันธุ์พื้นเมือง และแหล่งพันธุกรรมของพืชเกษตรอื่นๆ นอกเหนือจากข้าว
การศึกษาความหลากหลายทางพันธุกรรมในเชื้อพันธุ์ข้าวพื้นเมืองโดยวิธีอณูพันธุศาสตร์ตามงานวิจัยนี้ เมื่อทำควบคู่กันไปกับการศึกษาความหลากหลายในลักษณะที่เป็นประโยชน์ ได้นำไปสู่การใช้ประโยชน์จากเชื้อพันธุ์ข้าว “เหมยนอง” ซึ่งเป็นพันธุ์พื้นเมืองทนบั่วของเกษตรกร โดยโครงการวิจัยแบบมีส่วนร่วมเพื่อแก้ปัญหาแมลงบั่วที่ได้ขยายพื้นที่ระบาดเนื่องจากโลกร้อนจากนาในหุบตีนเขาในภาคเหนือที่ระดับความสูง 400-500 เมตร ขึ้นไปในนาที่สูงถึงมากกว่า 1,000 เมตร ในตำบลแม่วิน อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่ นอกจากนี้ยังแสดงให้เห็นว่าเกษตรกรได้มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ทรัพยากรข้าวในสภาพธรรมชาติตามวิถีการดำรงชีวิต และนำไปสู่การวางแผนนโยบายการอนุรักษ์ทรัพยากรข้าวที่เป็นทรัพยากรที่สำคัญของประเทศไทย อันจะนำไปสู่การสร้างความเข้มแข็งให้กับประเทศไทยต่อไป
 

 
10 งานเด่น สกว. ประจำปี 2552 2 งานเด่นกลุ่มงานท้องถิ่นเป็นงานที่มุ่งสร้างและพัฒนาคนในชุมชนเป็นหลัก
10 งานเด่น สกว. ประจำปี 2552  อาชีวะเกษตร.....ทางเลือกทางรอดการเกษตรไทย
  
ชื่อผลงาน  :   รูปแบบกระบวนการเรียนรู้เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการประกอบอาชีพด้านการเกษตรวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสิงห์บุรี
หัวหน้าโครงการ :  อาจารย์เอกชัย ยุทธชัยวรกุล  และคณะ
ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา จำนวนนักศึกษาด้านการเกษตรลดลงอย่างต่อเนื่อง และผู้จบการศึกษาด้านการเกษตรส่วนมากไม่ได้ประกอบอาชีพด้านการเกษตร แต่กลับไปทำงานเป็นผู้ใช้แรงงานในโรงงานอุตสาหกรรม หรืออาชีพอื่นๆ ที่ไม่จำเป็นต้องใช้ความรู้ด้านการเกษตร ทำให้เกิดการสูญเปล่าทางการศึกษา  
นายเอกชัย ยุทธชัยวรกุล อาจารย์ประจำวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสิงห์บุรี หัวหน้าโครงการวิจัย และคณะ จึงจัดทำ “โครงการการศึกษารูปแบบและกระบวนการเรียนรู้เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการประกอบอาชีพด้านการเกษตร” เพื่อศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับความมั่นใจและทัศนคติในการประกอบอาชีพเกษตรจากผู้จบการศึกษาทั้งที่ประกอบอาชีพเกษตรและไมได้ประกอบอาชีพเกษตร และจากนักเรียน นักศึกษาปัจจุบัน ครู ผู้ปกครอง สังคม
ทีมวิจัยพบว่า ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อความมั่นใจต่อวิชาชีพเกษตรของนักศึกษาคือ ค่านิยมของผู้ปกครองและสังคม ที่คิดว่า ต้องทำงานที่มีเงินเดือนประจำ จึงจะถือว่ามั่นคง และมุมมองว่า การเรียนเกษตรไม่ต้องใช้ทักษะความรู้มากนัก คนที่เรียนเกษตรจึงถูกมองว่า เป็นคนไม่เอาถ่าน นอกจากนี้การที่สื่อมวลชนเสนอข่าวเชิงลบของการเกษตร เช่น พืชผลราคาตกต่ำ ก็มีส่วน และท้ายสุดคือ หลักสูตรและวิธีการสอนของครู ที่ไม่สร้างความเชื่อมั่นแก่นักเรียน ว่าจบแล้วออกไปประกอบอาชีพได้
ทีมวิจัยนำผลที่ได้ไปปรับหลักสูตรการเรียนรู้ โดยจัดให้มีการศึกษาดูงานกับสถานประกอบการ และออกสัมภาษณ์เกษตรกรที่ให้ความรู้ได้จริง และเป็นแบบอย่างที่สามารถทำได้จริง เพื่อให้ผู้เรียนรับรู้สถานการณ์จริง และเป็นการสร้างแรงบันดาลใจในการเรียนแก่ผู้เรียน โดยให้ปฏิบัติจริงในสิ่งที่อยากทำ ทำให้นักศึกษาปรับเปลี่ยนทัศนคติต่อวิชาชีพเกษตร โดยนักวิจัยและนักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการและไม่ได้มีเป้าหมายในการประกอบอาชีพเกษตรตัดสินใจเรียนต่อ ปวส.สาขาวิชาชีพเกษตร และนักวิจัยที่มีเป้าหมายในการประกอบอาชีพเกษตรยืนยันตัดสินใจเรียนต่อ ปวส.สาขาวิชาชีพเกษตร
 

 

10 งานเด่น สกว. ประจำปี 2552  โครงการนี้เกิดการขยายผลทั้งในระดับเครือข่ายวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีภาคกลาง ประกอบด้วยวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีเพชรบุรี วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีกาญจนบุรี และวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีศูนย์ศิลปาชีพบางไทร มีรูปธรรมเช่น การพัฒนาคุณภาพของนักศึกษา (เพชรบุรี) การพัฒนากิจกรรม (ศูนย์ศิลปาชีพบางไทร) และการพัฒนากระบวนการเรียนรู้ (กาญจนบุรี) และกำลังขยายผลไปยังวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีอื่นๆ ทั่วประเทศ  
นอกจากนี้ยังมีการขยายผลสู่ระดับสำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา และระดับนโยบายการศึกษา งานวิจัยนี้เป็นรูปธรรมสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายเป็นต้นแบบของการจัดกระบวนการเรียนรู้ที่ให้ความสำคัญในการสร้างความรู้ที่ติดตัวเด็ก  สอดคล้องกับการปฏิรูประบบการศึกษารอบ 2 ของรัฐบาล ที่มุ่งทำให้คนไทยทุกคนได้เรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างมีคุณภาพ อันจะนำไปสู่การพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่ ที่เน้นการใช้ฐานความรู้และข้อมูลในการคิดวิเคราะห์ และตัดสินใจอย่างเป็นระบบด้วยวิธีวิจัยในการประกอบอาชีพ  
ขณะนี้กำลังขยายผลสู่ระดับนโยบายการศึกษา โดยมีการนำเสนอกระบวนการเรียนรู้ผ่านการขับเคลื่อนนโยบายการปฏิรูปการศึกษา ผ่านที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี (คุณหญิงสุพัตรา มาศดิศ), รองปลัดกระทรวงมหาดไทย (คุณสมพร ใช้บางยาง), รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ จนกระทั่งคณะกรรมาธิการการศึกษา วุฒิสภา ได้ลงพื้นที่ศึกษาเรียนรู้โครงการ และได้หนังสือถึงนายกรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้เป็นโครงการนำร่องในการพัฒนาศักยภาพเกษตรกรของประเทศไทย
 

 

10 งานเด่น สกว. ประจำปี 2552  มหัศจรรย์แห่งการอ่าน
ชื่อผลงาน :  ชวนกันอ่านหนังสือให้เด็กฟัง
หัวหน้าโครงการ : นางนรรถฐิยา ผลขาว  และคณะ
จากรายงานการสำรวจโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติเมื่อเดือนกันยายนปี 2548 พบว่าประเทศไทยมีผู้ไม่อ่านหนังสือถึง 22.4 ล้านคน หรือเกือบ 40% ของประชากรทั้งประเทศ ด้วยเหตุผลว่า ชอบดูโทรทัศน์หรือฟังวิทยุมากกว่า และจากการศึกษาข้อมูลประชากร ปี 2548 จังหวัดยโสธร  พบว่ามีเด็กอายุแรกเกิดถึง 3 ปี จำนวน 12,555 คน  เฉพาะในพื้นที่ศึกษา 4 ตำบล มีเด็กอายุแรกเกิดถึง 3 ปี 250 คน  เด็กเหล่านี้ส่วนใหญ่ยังไม่ได้ไปโรงเรียน โดยยังอยู่กับพ่อแม่หรือผู้เลี้ยงดูตลอดทั้งวัน  
ทีมวิจัยซึ่งมีนางนรรถฐิยา ผลขาว (นักวิชาการสาธารณสุข ชำนาญการ) เป็นหัวหน้าโครงการ เห็นว่าเป็นเรื่องน่าเสียดายที่จะปล่อยให้เด็กในวัยที่พร้อมจะเรียนรู้ขาดโอกาสพัฒนาศักยภาพโดยการได้ฟังผู้ใหญ่อ่านหนังสือหรือเล่านิทานให้ฟัง และหากเด็กไม่ได้รับการปลูกฝังให้รักการอ่านตั้งแต่เยาว์วัย  ก็ยากที่จะแก้ไขปัญหาเด็กไม่ชอบอ่านหนังสือในภายหลัง จึงศึกษาหารูปแบบหรือวิธีการทำให้ผู้เกี่ยวข้องได้เห็นความสำคัญของเรื่องนี้ และหาวิธีส่งเสริมให้พ่อแม่อ่านหนังสือให้ลูกฟัง รวมทั้งส่งเสริมให้ครูอนุบาลและศูนย์เด็กเล็กเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดกระบวนการเรียนรู้
จากการสำรวจเบื้องต้นในพื้นที่ศึกษาที่กระจายอยู่ใน 5 อำเภอ 7 ตำบลของจังหวัดยโสธร ทีมวิจัยพบว่า เด็กแรกเกิดถึง 5 ปีดูโทรทัศน์ 83.58% ดูเฉลี่ย 2-3 ชั่วโมงต่อวัน และพ่อแม่หรือผู้ปกครองเล่านิทานให้เด็กฟังเพียง 16% เท่านั้น ส่วนสาเหตุที่เด็กๆ เข้าไม่ถึงหนังสือมีหลายสาเหตุ บางบ้านไม่มีหนังสือให้อ่าน บางบ้านพ่อแม่ไม่ทราบว่าการอ่านหนังสือให้ลูกฟังยิ่งเร็วเท่าไหร่ยิ่งดี คิดว่าเมื่อถึงเวลา ครูที่โรงเรียนก็จะสอนเอง ส่วนในโรงเรียน แม้บางแห่งพอมีหนังสือสำหรับเด็กบ้าง แต่ก็เก็บไว้มิดชิดจนเด็กเข้าไม่ถึง เพราะโรงเรียนกลัวหนังสือชำรุด
 

 

10 งานเด่น สกว. ประจำปี 2552  ทีมวิจัยได้ซื้อหนังสือสำหรับเด็กมากว่า 200 เล่ม แล้วแจกให้ผู้ปกครองนำไปอ่านให้เด็กฟังทุกวัน เวลาไหนก็ได้ แล้วนำหนังสือมาเวียนกัน ทีมวิจัยติดตามเยี่ยมบ้านทุก 1-2 เดือน ปรากฏว่า เด็กทุกคนประทับใจกับหนังสือเล่มแรกของเขามากจนไม่อยากเปลี่ยนกับใคร และเด็กๆ ส่วนใหญ่ชอบให้อ่านหนังสือเล่มเดิมซ้ำๆ จนจำเนื้อความได้ แต่ละคนจะมีหนังสือเล่มโปรดอยู่ประมาณคนละ 3-5 เรื่องที่ฟังได้วันละหลายครั้งโดยไม่เบื่อ หนังสือที่เด็กชอบเป็นพวกหนังสือภาพรูปสัตว์ รูปผลไม้ ตัวหนังสือไม่มาก สีสันสวยงาม รูปแบบน่าสนใจ เนื้อหาชวนติดตาม และใช้คำซ้ำๆ  
ผลจากการดำเนินโครงการทำให้เกิดหนอนหนังสือตัวน้อย เป็นเด็กเก่ง ดี มีสมาธิ  และมีความสุข ผู้ปกครองเกิดทัศนคติที่ดีต่อการอ่าน ทำให้ขยันอ่านหนังสือให้เด็กฟัง  ดูแลเอาใจใส่เด็กมากขึ้น เกิดสังคมแห่งการเรียนรู้ขึ้นในชุมชน นอกจากนี้ยังสร้างโอกาสให้คนชายขอบ ซึ่งมีหลายครอบครัวในโครงการที่มีฐานะค่อนข้างยากจน หรือเป็นใบ้ ก็เข้าร่วมโครงการ โดยให้คนอื่นอ่านหนังสือให้ลูกฟัง
ใน 92 ครอบครัวที่เข้าร่วมโครงการ มี 85 ครอบครัวยังอ่านหนังสือให้เด็กฟังอย่างต่อเนื่อง (92.4%) ส่วนใหญ่แม่เป็นคนอ่านให้ฟัง รองลงมาเป็นยาย ผู้ปกครองที่อ่านหนังสือให้เด็กฟังทุกวัน หรือเกือบทุกวันมี 25 ราย คิดเป็น 29.4%  ที่เหลือ 70.6% จะอ่านสัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง โดยส่วนใหญ่จะอ่านเวลากลางวันเพราะเป็นช่วงที่ว่าง ในศูนย์เด็กครูจะอ่านทุกวันตามตารางสอน
จังหวัดยโสธรกำลังวางแผนให้การอ่านเป็นวาระของจังหวัด  ในเบื้องต้นมีหลายพื้นที่สมัครเข้าร่วมโครงการ ได้แก่ สถานีอนามัย/โรงพยาบาล 34 แห่ง  อบต./เทศบาล 37 แห่ง  โรงเรียน 35 แห่ง  กศน. 2 อำเภอ  หากมีกระบวนการติดตามหนุนเสริมที่ดี จะเป็นรูปธรรมของการพัฒนาคนของจังหวัดที่ยังไม่เคยปรากฏมาก่อน
 

 
10 งานเด่น สกว. ประจำปี 2552 โล่เกียรติยศผลงานเด่น สกว. ประจำปี 2552
10 งานเด่น สกว. ประจำปี 2552   ยังคงยึดแนวคิดเดิม นั่นคือ การนำผลงานวิจัยมาเป็นวัสดุในการออกแบบและจัดทำ เพื่อให้ได้โล่ที่มีเอกลักษณ์ และสะท้อนความสามารถของนักวิจัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งโล่เกียรติยศในปีนี้ประกอบขึ้นจากผลวิจัยถึง 3 โครงการ  
 

 

10 งานเด่น สกว. ประจำปี 2552  กรอบโล่ ทำจากวัสดุทดแทนไม้ ที่ได้จากการนำเศษไม้หรือผงขี้เลื่อยไม้มาบดละเอียด แล้วขึ้นรูปร่วมกับพลาสติก PVC มีคุณสมบัติทนต่อสภาวะอากาศ ความร้อน แสงยูวี ขึ้นรูปได้ง่าย เป็นผลงานการวิจัยของ ศ. ดร.ณรงค์ฤทธิ์ สมบัติสมภพ สังกัดมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และคณะ ร่วมกับบริษัท วี.พี.วู๊ด จำกัด  ขณะนี้มีวางจำหน่ายหลากหลายรูปแบบภายใต้ชื่อการค้าว่า “คาบอแน็กซ์” ตอบสนองผู้ที่ชื่นชอบงานไม้ แต่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมได้เป็นอย่างดี  
แผ่นจารึกตัวอักษร ทำจากเงินสเตอร์ลิงที่มีความต้านทานการหมองและความเหนียวสูง ผลงานของผศ.ดร.เอกสิทธิ์  นิสารัตนพร สังกัดจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณะ ร่วมกับ บริษัท ชายน์นิ่ง โกลด์ จำกัด ซึ่งร่วมกันพัฒนาสูตรผสมทางเคมีและเทคนิคการผลิตเงินผสมอัลลอยด์และสังกะสี ทำให้ได้เนื้อเงินที่ต้านทานการหมอง และมีความเหนียวสูงขึ้น เพิ่มศักยภาพและความเข้มแข็งให้แก่อุตสาหกรรมเครื่องประดับเงินได้เป็นอย่างดี มีมูลค่าการส่งออกสูงถึงปีละ 3 หมื่นล้านบาท
กล่องบรรจุโล่  ผืนผ้าลวดลายในตัวดูสวยแปลกตา ที่ห่อหุ้มอยู่ด้านบนฝากล่องนั้น ทอขึ้นจาก “ไหมอีรี่” ไหมพันธุ์ใหม่ที่กินใบมันสำปะหลังเป็นอาหาร   สกว. สนับสนุนการสร้างองค์ความรู้ ทั้งด้านการเลี้ยงและการใช้ประโยชน์ รวมทั้งการสร้างผลิตภัณฑ์ผ้าทอมือจากเส้นใยไหมอีรี่ ซึ่งขณะนี้มียอดการสั่งซื้อจากต่างประเทศเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ยังมีผลิตภัณฑ์อื่นๆ อีกกว่า 30 ผลิตภัณฑ์ และยังเกิดเครือข่ายเกษตรกรมากกว่า 100 ราย ครอบคลุม 23 จังหวัดของประเทศ
ผลงานเหล่านี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของงานวิจัยหลายหลาก ที่ สกว.ให้การสนับสนุน ซึ่งได้สร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกรและผู้ประกอบการ โดยใช้ความรู้จากงานวิจัยในการพัฒนาและพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน
 

 
10 งานเด่น สกว. ประจำปี 2552 ประมวลภาพงานแถลงข่าวและมอบโล่เกียรติยศผลงานวิจัยเด่นประจำปี 2552
10 งานเด่น สกว. ประจำปี 2552   “วิจัยไทยคิด  เพื่อไทยเข้มแข็ง”
ศ.ดร. สวัสดิ์   ตันตระรัตน์  ผู้อำนวยการ สกว.   มอบโล่เกียรติยศผลงานวิจัยเด่น สกว. ประจำปี 2552 แก่นักวิจัยและภาคีที่ร่วมทำงาน เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2553 ณ โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิล์ด  โดยในปี 2552 คณะกรรมการได้คัดเลือกผลงานวิจัยเด่น สกว. จำนวนทั้งสิ้น 10 ผลงาน   และภายหลังการรับมอบโล่จากผู้อำนวยการ สกว. แล้ว ทางสื่อมวลชนได้ซักถาม และสัมภาษณ์นักวิจัยตามซุ้มผลงานวิจัยต่าง ๆ ....
 

 


 


 แหล่งที่มา :  ประชาคมวิจัย ฉบับที่ 88

อัพเดทล่าสุด