Trip นี้มีเรื่องเล่าประชุมเรื่อง “ผลิตภัณฑ์ธรรมชาติและการค้นพบยา ครั้งที่ 2” ฝ่ายวิชาการ สกว. [email protected]
สืบเนื่องจากฝ่ายวิชาการ สกว. ได้ให้การสนับสนุนชุดโครงการวิจัยพื้นฐานเชิงยุทธศาสตร์เรื่อง “สมุนไพร ยารักษาโรคและสารเสริมสุขภาพ” มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 โดยเน้นการสนับสนุนงานวิจัยด้านผลิตภัณฑ์ธรรมชาติและการวิจัยยาแผนโบราณแนวใหม่ (Modernized Traditional Medicine) การวิจัยด้านการสังเคราะห์สารที่เป็นประโยชน์ในทางอุตสาหกรรมและการแพทย์ ตลอดจนงานวิจัยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น การศึกษาด้านโมเลคิวลาร์ โมเดลลิง วิธีการทดสอบฤทธิ์ทางชีวภาพ การใช้นาโนเทคโนโลยี การศึกษาการนำส่งยา เป็นต้น |
|
จากการสร้างความร่วมมือด้านวิชาการกับประเทศจีน ทำให้มองเห็นจุดแข็ง จุดอ่อนของงานวิจัยด้านผลิตภัณฑ์ธรรมชาติและสมุนไพรไทยเพื่อนำไปสู่การพัฒนายา จุดแข็งของประเทศไทยที่เห็นได้เด่นชัดคือ ความหลากหลายทางชีวภาพในประเทศไทยที่ยังคงมีความอุดมสมบูรณ์อยู่มาก และงานวิจัยด้านการค้นหาสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพใหม่ ๆ จำเป็นที่จะต้องได้รับการสนับสนุนต่อไป ซึ่งนำไปสู่การค้นพบสารต้นแบบใหม่ ๆ และการออกฤทธิ์แนวใหม่ และถือว่าประเทศไทยยังมีโอกาสในการค้นพบสารออกฤทธิ์ที่ดีต่อไปในอนาคต หากมองในมุมของการรักษาโรคในแนวทางของแพทย์แผนจีนซึ่งอาศัยสมุนไพรเป็นหลักนั้น เนื่องจากมีการใช้ตำรับยาสมุนไพรซึ่งในสูตรยาจะมีส่วนประกอบทางเคมีมากมาย ทำให้ทราบหรือจำแนกสารออกฤทธิ์สำคัญได้ค่อนข้างยาก นักวิทยาศาสตร์จีนได้พัฒนา Traditional Chinese Medicine (TCM) เพื่อให้ทั่วโลกยอมรับและสนับสนุนสิ่งที่จีนมีอยู่ โดยใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ขั้นสูง เข้ามาช่วยในการจำแนกและสร้างความสัมพันธ์กับการออกฤทธิ์ โดยทำการศึกษาในรูปขององค์รวม คือ system biology ซึ่งเป็นการตอบสนองของสิ่งมีชีวิต เช่น การเปลี่ยนแปลงของยีนหรือ metabolic pathway และการเปลี่ยนแปลงเอนไซม์โปรตีน และอาศัยศาสตร์ของ OMICS และสารสนเทศทางเคมีหรือ chemomics เข้ามาวิเคราะห์ด้วย นับว่าจีนได้มีส่วนในการพัฒนาศาสตร์แนวใหม่ขึ้นมา จึงน่าจะเป็นโอกาสของประเทศไทยที่ต้องการพัฒนาสมุนไพรในแนวทางของ Modernized Traditional Medicine ในอนาคต สำหรับการใช้สมุนไพรเพื่อการแพทย์แผนไทยแม้ว่าจะเป็นที่ยอมรับมานานแต่ก็ยังไม่แพร่หลายมากนัก จึงมีความจำเป็นต้องนำการวิจัยพื้นฐานและเทคโนโลยีใหม่ๆ มาช่วยให้เกิดการพัฒนายาของไทย รวมทั้งสารผลิตภัณฑ์ธรรมชาติและสมุนไพรด้วย ประเด็นที่สำคัญคือ ต้องกระจายกันทำงานในทุกๆ สาขาให้มากขึ้น โดยพยายามให้เกิดเครือข่ายวิจัยร่วมกันด้วย |
|
ประเด็นที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ งานวิจัยด้านผลิตภัณฑ์ทางธรรมชาติและสมุนไพรนั้น ไทยไม่ได้ด้อยกว่าจีน แต่สิ่งสำคัญคือมีการเก็บข้อมูลน้อยกว่า และกระจัดกระจายอยู่ตามแหล่งต่าง ๆ ยากต่อการสืบค้น โดยจีนจะมีข้อมูลเกี่ยวกับสมุนไพรอยู่มากและเป็นระบบ แต่ประเทศไทยไม่มี ทำให้เราก้าวช้ากว่าจีน และการวิจัยของไทยจะใช้งานวิจัยของอาจารย์ในมหาวิทยาลัยซึ่งต้องมีหน้าที่หลายด้านทำให้มีงานวิจัยน้อย และนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาในมหาวิทยาลัยต่างจังหวัดก็มีจำนวนน้อย และสิ่งที่สำคัญคือจีนมีนักวิจัยที่มีคุณภาพและมีกำลังมาก อีกทั้งทำวิจัยในสถาบันเดียวกันและมีจุดมุ่งเน้น จุดเด่นที่แตกต่างกัน นอกจากนี้ยังได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลจีนด้วย ขณะที่ประเทศไทยได้รับการสนับสนุนน้อยมาก อีกสิ่งหนึ่งคือจีนมีการวิจัยด้านผลิตภัณฑ์ทางธรรมชาติที่เป็นระบบการเชื่อมโยงที่ดี และมีการนำไปใช้ต่อยอดในหน่วยงานที่มีความสัมพันธ์กันอย่างชัดเจน |
|
ในแง่ของงานวิจัยด้านเคมีสังเคราะห์ซึ่งถือว่าเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนายา นักวิจัยจีนส่วนใหญ่จะเน้นการสังเคราะห์แบบ total synthesis ของ natural products ซึ่งมีโครงสร้างที่ซับซ้อน และมีความเข้มแข็งมาก และมีความเป็น original ในแง่ของการพัฒนา synthetic methodology อยู่มาก และตีพิมพ์ในวารสารที่มี impact factor สูงๆ หากเปรียบเทียบกับงานชั้นนำในยุโรปจะถือว่าอยู่ในระดับแนวหน้า และศาสตราจารย์ของจีนมีอายุค่อนข้างน้อย เมื่อเทียบกับประเทศไทย งานส่วนใหญ่ที่นักวิจัยไทยสังเคราะห์นั้นไม่ค่อยซับซ้อนเท่าใดนัก จำนวนนักวิจัยที่ทำงานด้านเคมีสังเคราะห์ในประเทศไทยค่อนข้างน้อย และมีจำนวนลดลงเรื่อยๆ ซึ่งเราต้องหาสิ่งที่เป็นจุดแข็งหรือเน้นความเชี่ยวชาญของตัวเองให้ได้ แล้วจึงจะไปใช้ในการประยุกต์ต่อไป หรือถ้ายังไม่ได้ก็ต้องมีการร่วมมือกับนักวิจัยอื่นก่อน แต่สุดท้ายเราก็ต้องยืนหยัดด้วยตัวเองให้ได้ การสนับสนุนทุนวิจัยด้านสมุนไพร ยารักษาโรคและสารเสริมสุขภาพที่ผ่านมา ฝ่ายวิชาการพยายามแสวงหาความร่วมมือกับนักวิจัยและหน่วยงานชั้นนำในต่างประเทศมาโดยตลอด เพื่อเพิ่มศักยภาพของนักวิจัยไทยให้ก้าวทันศาสตร์สมัยใหม่ของโลกในปัจจุบัน สกว. จึงลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับ Natural National Science Foundation (NSFC) ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อสร้างความร่วมมือด้านการวิจัยเคมีทางยาระหว่างนักวิจัยทั้งสองประเทศ เมื่อวันที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2551 จากข้อตกลงดังกล่าวทำให้เกิดความร่วมมือที่เป็นรูปธรรม ดังนี้ |
|
1. NSFC ได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม “Chinese Thailand Joint Workshop for Natural Products and Drug Discovery” ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 14-19 กันยายน พ.ศ. 2551 ณ เมืองเฉินตู โดยมีนักวิจัยชั้นนำที่ผ่านการคัดเลือกจากมหาวิทยาลัยและสถาบันต่างๆ ของประเทศจีนและไทยเข้าร่วมประชุมฝ่ายละ 15 คน สืบเนื่องจากการประชุมในครั้งที่ 1 นี้ NSFC และ สกว. ตกลงที่จะสนับสนุนโครงการวิจัยนำร่องด้านเคมีทางยาที่เป็นความสนใจร่วมกันระหว่างนักวิจัยไทยและจีน โดย NSCF จะให้การสนับสนุนทุนวิจัยแก่นักวิจัยจีนและฝ่ายวิชาการ สกว. จะให้การสนับสนุนทุนวิจัยแก่นักวิจัยไทยภายใต้ชุดโครงการวิจัยพื้นฐานเชิงยุทธศาสตร์ “สมุนไพร ยารักษาโรคและสารเสริมสุขภาพ” โดยในปี พ.ศ. 2552 ทั้งสองฝ่ายเห็นชอบที่จะสนับสนุนโครงการนำร่องจำนวน 4 โครงการ ซึ่งความร่วมมือดังกล่าวครอบคลุมถึงการแลกเปลี่ยนความรู้และความคิดเห็นด้านวิชาการ ตลอดจนเทคโนโลยีสมัยใหม่ และการสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่เพื่อเป็นพื้นฐานความร่วมมืออันดีต่อไปในอนาคต 2. เมื่อวันที่ 25-29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552 ฝ่ายวิชาการ สกว. ได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม ครั้งที่ 2 “The Second China-Thailand Joint Workshop on Natural Products and Drug Discovery” ณ จังหวัดภูเก็ต ในการประชุมครั้งนี้จัดให้มีการนำเสนอผลงานวิจัยของนักวิจัยไทย-จีนที่ผ่านการคัดเลือกจากผู้ที่มีผลงานวิจัยอยู่ระดับแนวหน้าของประเทศฝ่ายละ 15 คน และเปิดโอกาสให้นักวิจัยรุ่นใหม่ที่มีศักยภาพได้เข้าร่วมประชุมจำนวนหนึ่งด้วย |
|
สืบเนื่องจากการประชุมครั้งที่ 2 ก่อให้เกิดความร่วมมือและมีผลงานวิจัยร่วมกันเพิ่มขึ้นดังนี้ • รศ.ดร. สุภา หารหนองบัว เมธีวิจัยอาวุโส สกว. และ Prof.Dr. Renxiang Tan จาก Nanjing University ตีพิมพ์ผลงานร่วมกันเรื่อง Chaetoglobins A and B, two unusual alkaloids from endophytic Chaetomium globosum culture, Chem. Comm. 2008, 45, 5978-5980. • จะมีการแลกเปลี่ยนนักวิจัยรุ่นใหม่เพื่อหาประสบการณ์ในการทำวิจัยระยะสั้น • อยู่ระหว่างการพัฒนาโครงการวิจัยร่วมเพิ่มเติม • อยู่ระหว่างการพัฒนางานวิจัยทางด้าน Traditional Thai Medicine เพื่อต่อยอดงานวิจัยผลิตภัณฑ์ธรรมชาติและสมุนไพรของประเทศไทย ผลจากการดำเนินงานดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าประเทศจีนถือเป็นมิตรประเทศที่สำคัญของประเทศไทย นอกจากความสัมพันธ์อันดีเยี่ยมในมิติของเชื้อชาติ วัฒนธรรม เศรษฐกิจและสังคมแล้ว ประเทศจีนถือเป็นมหามิตรที่ให้ความร่วมมือทางด้านวิชาการอันดีกับประเทศไทยด้วย ความร่วมมือดังกล่าวเปี่ยมไปด้วยไมตรีจิตและการให้เกียรติซึ่งกันและกัน หากเปรียบเทียบกันแล้วศาสตร์ทางด้านเคมีทางยาตลอดจนความพร้อมของนักวิจัยและงบประมาณของประเทศจีนรุดหน้ากว่าประเทศไทยอยู่มาก ถ้านักวิจัยไทยสามารถสร้างความร่วมมือด้านวิชาการที่ดีกับประเทศจีนบนพื้นฐานที่เป็นความสนใจร่วมกันและคำนึงถึงประโยชน์ซึ่งกันและกันแล้ว ความร่วมมือดังกล่าวกล่าวย่อมก่อประโยชน์แก่วงการวิจัยต่อไปในอนาคต |