การเมืองท้องถิ่นแถบลุ่มทะเลสาบสงขลา


969 ผู้ชม



การเมืองท้องถิ่นแถบลุ่มทะเลสาบสงขลา  การเมืองท้องถิ่นแถบลุ่มทะเลสาบสงขลา
การเมืองท้องถิ่นแถบลุ่มทะเลสาบสงขลา  สารูป  ฤทธิ์ชู
นักวิชาการอิสระ

บทความนี้ มุ่งเน้นบทสรุปของการเมืองท้องถิ่นแถบลุ่มทะเลสาบสงขลาในอดีต สู่ปรากฏการณ์ทางการเมืองในปัจจุบัน ส่วนใหญ่มาจากผลงานวิจัยเรื่อง “การเมืองท้องถิ่นบริเวณลุ่มทะเลสาบสงขลา พ.ศ. 2439 – 2534” (2546)   ซึ่งปรับเป็นหนังสือ เรื่อง “100 ปีการเมืองท้องถิ่นลุ่มทะเลสาบสงขลา ประวัติศาสตร์ฐานที่มั่นแห่ง        พรรคการเมืองในภาคใต้” (2552) โดยกระบวนการวิจัยแสวงหาความรู้ควบคู่การวิจัยเชิงปฏิบัติการ เพื่อยกระดับ     การเรียนรู้ของสังคม ซึ่งสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ให้การสนับสนุนภายใต้การทำงานของชุดโครงการประวัติศาสตร์ท้องถิ่นภาคใต้บริเวณลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา
 

 
การเมืองท้องถิ่นแถบลุ่มทะเลสาบสงขลา  กระบวนการเรียนรู้
การเมืองท้องถิ่นแถบลุ่มทะเลสาบสงขลา  วัตถุประสงค์ของงานวิจัยดังกล่าวกำหนดไว้  4  ประการ  ดังนี้
1. เพื่อศึกษาถึงวิวัฒนาการทางการเมืองท้องถิ่นบริเวณลุ่มทะเลสาบสงขลาในช่วงสมัยใหม่ ตั้งแต่   รัฐไทยจัดตั้งมลฑลนครศรีธรรมราชขึ้นใน พ.ศ. 2439 จนถึง พ.ศ. 2534 เมื่อผู้แทนพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ภาคใต้ ประกาศยุติการต่อสู้ด้วยอาวุธอย่างเป็นทางการที่จังหวัดพัทลุง  
2. เพื่อวิเคราะห์ถึงเบื้องหลังทางการเมืองท้องถิ่นบริเวณลุ่มทะเลสาบสงขลาในสมัยใหม่ พ.ศ. 2439 – 2534 โดยดึงเอาปัจจัยทางสังคมวัฒนธรรมและเศรษฐกิจเข้าไปประกอบพิจารณาอย่างใกล้ชิด  
3. เพื่อวิเคราะห์ถึงผลกระทบจากการเมืองท้องถิ่นของบริเวณดังกล่าวใน พ.ศ. 2439 – 2534 ที่มีต่อชุมชนและท้องถิ่นอย่างแท้จริง  ซึ่งจะนำไปสู่ความเข้าใจวิถีชีวิตของประชาชนได้ว่า อดีตที่ผ่านมานั้น เป็นเงื่อนไขหรือเป็นตัวกำหนดปรากฏการณ์ในปัจจุบันอย่างไร
4. เพื่อส่งเสริมและสร้างบรรยากาศการมีส่วนร่วมในการทำความเข้าใจชุมชนท้องถิ่นของตนเอง   ในมิติประวัติศาสตร์
 

 

 วิธีการศึกษา ใช้วิธีการทางประวัติศาสตร์ที่ให้ความสำคัญกับ “เส้นเวลา” กล่าวคือ เน้นในเรื่องของเวลา สถานที่ และพฤติกรรมของมนุษย์ มาอธิบายความเปลี่ยนแปลงของสังคม รวมถึงอธิบายถึงอิทธิพลและพลังของเวลา สถานที่และเหตุการณ์ ที่ทำให้การกระทำมีความแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่และแต่ละเวลา โดยอิงวิธีการเชิงสังคมมานุษยวิทยาและสังคมวิทยาที่มุ่งศึกษาโครงสร้างของสังคม อีกทั้งพลังต่าง ๆ ในสังคมวัฒนธรรมควบคู่กับการศึกษาชุมชนอื่น ๆ ในการจัดการเรียนการสอนวิชาหลักฐานประวัติศาสตร์ในประเทศไทย ให้กับนักเรียน           ชั้นมัธยมศึกษาปีที่  5  โรงเรียนสตรีพัทลุง สถานที่ทำงานของผู้วิจัย ต่อมาผู้วิจัยได้มีโอกาสทำงานในตำแหน่งนักวิจัยปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการวิทยาลัยภูมิปัญญาชุมชน มหาวิทยาลัยทักษิณ และยังมีโอกาสทำงานวิจัยของท้องถิ่นภาคใต้อย่างต่อเนื่อง ร่วมกับนักวิชาการต่าง ๆ นักพัฒนา ครู ชาวบ้าน ตลอดจนนักการเมืองท้องถิ่น และ ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์พัทลุง บทความนี้ จึงมีกระบวนการเรียนรู้ที่เป็นการแสวงหาความรู้ควบคู่การวิจัยเชิงปฏิบัติการ        อย่างต่อเนื่อง ครอบคลุมและเข้มข้นมากขึ้น
ผลของกระบวนการเรียนรู้เหล่านั้น ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่เป็นการสร้างสรรค์ ทั้งในกลุ่มคณะ    วิจัยที่ได้เข้าไปเปลี่ยนแปลง และกลุ่มชุมชนท้องถิ่นผู้ต้องถูกทำให้เปลี่ยนแปลง จัดเป็นกระบวนการเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ ทั้งนี้ เพราะต่างได้เรียนรู้ตัวเอง ได้เห็นตัวเอง เกิดปัญญาจนมีความมั่นใจจะก้าวเดินต่อไปอย่างไม่ไขว้เขว และสามารถใช้ชีวิตอย่างมีความสุขมากขึ้น แต่ก็มองเห็นปัญหาและก้าวสู่กระบวนการมีส่วนร่วมในสังคมเพื่ออนาคตที่ดีกว่า
 

 
การเมืองท้องถิ่นแถบลุ่มทะเลสาบสงขลา  บทสรุปของอดีตสู่ปรากฏการณ์ในปัจจุบัน
การเมืองท้องถิ่นแถบลุ่มทะเลสาบสงขลา  บทสรุปของการเมืองท้องถิ่นแถบลุ่มทะเลสาบสงขลาในอดีตสู่ปรากฏการณ์ทางการเมืองในปัจจุบันนั้น ผู้วิจัยมองถึงการเมืองท้องถิ่นแถบนี้ผ่านองค์รวมของความสัมพันธ์เชิงอำนาจ ระหว่างคนกับคน คนกับธรรมชาติ และคนกับสิ่งนอกเหนือธรรมชาติ จากอดีตสู่ปัจจุบัน จนแลเห็นการเมืองด้วยความพยายามทำความเข้าใจวิถีชีวิต   ของผู้คนในสังคม  
จากการสืบค้นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ไปถึงการวิพากษ์หลักฐานและข้อสนเทศ ทั้งที่เป็นและ     ไม่เป็นลายลักษณ์อักษร แล้วประมวลผลด้วยวิธีการทางประวัติศาสตร์ อิงวิธีการเชิงสังคมมานุษยวิทยาและสังคมวิทยานั้น พอจะแบ่ง “เส้นเวลา”  การเมืองท้องถิ่นแถบลุ่มทะเลสาบสงขลาอย่างกว้าง ๆ  ได้เป็น 3 เส้น คือ เส้นเวลาสมัยเก่า  เส้นเวลาสมัยใหม่ และเส้นเวลาสมัยปัจจุบัน
เส้นเวลาสมัยเก่า ก่อน พ.ศ. 2439 เป็นสมัยที่แถบลุ่มทะเลสาบสงขลายังเป็นอีกระบบหนึ่ง ลักษณะทางกายภาพยังแยกออกจากกันเป็น 2 ส่วน คือ เป็นเกาะกับเป็นอ่าวขนาดใหญ่ของผืนแผ่นดินใหญ่ตอนกลางของคาบสมุทรมลายู มีเทือกเขาบรรทัดเป็นแหล่งต้นน้ำที่ปันน้ำลงสู่ทะเลทั้งฝั่งอ่าวไทยและฝั่งอันดามัน นอกเหนือจากอยู่ในเส้นทางเดินเรือเลียบชายฝั่งคาบสมุทรแล้ว ยังมีเส้นทางลัดข้ามคาบสมุทรของชาวโลกตะวันออกและชาวโลกตะวันตกมาตั้งแต่ประมาณ 2,000 ปีที่แล้ว  ต่อมากลายเป็นรอยต่อของศาสนาพุทธกับศาสนาอิสลาม เป็นร่องรอยของเมืองพัทลุงก่อนการเติบโตของเมืองสงขลา วัฒนธรรมทางการเมืองเป็นความสัมพันธ์ในระบบเครือญาติ – เครือข่าย ด้วยการรับปรับเปลี่ยนให้เข้ากับบริบททางการค้าชายฝั่งและเกษตรกรรมในเชิงประโยชน์นิยม แต่ก็ยังเน้นย้ำคุณธรรมอยู่เสมอ เนื่องจากรากเหง้าของสังคมวัฒนธรรมมักเป็นชุมชนย่อย ปกครองกันเองเป็นกลุ่ม  ๆ ไป รวมตัวกันเป็นกลุ่มใหญ่ได้ไม่นานก็จะแตกเป็นกลุ่มย่อยอีก การรวมตัวเป็นกลุ่มใหญ่ได้ต้องเป็นไปในระบบเครือญาติ – เครือข่ายแบบดอง  - เกลอ  ที่มีผลประโยชน์พึ่งพิงในลักษณะต่างตอบแทนที่เห็นว่าเป็นผลประโยชน์ร่วมกันในการจัดการทรัพยากรกันเอง และต้องมีผู้นำที่มีบารมียิ่งใหญ่จริง ๆ เป็นแกนนำ แต่ก็จะไม่ยอมรับระบบที่สร้างขึ้นโดยแกนกลางหรือส่วนกลางมากนัก หากระบบนั้นทำให้ขาดอิสระในการปกครองตามวิถีที่แต่ละกลุ่มเลือกเอง เหล่านี้คือ ต้นทุนทางสังคมวัฒนธรรมของแถบนี้ ในขณะที่ลักษณะทางกายภาพเป็นต้นทุนทางธรรมชาติที่มั่งคั่งด้วยทรัพยากรธรรมชาติ รัฐไทยก็เพียรพยายามขยายอิทธิพลลงมาเป็นระยะ ๆ
 

 

การเมืองท้องถิ่นแถบลุ่มทะเลสาบสงขลา  เส้นเวลาสมัยใหม่ ตั้งแต่ พ.ศ. 2439 – 2534 เป็นระยะเวลาที่ลักษณะทางกายภาพของสมัยเก่าเปลี่ยนแปลงเป็นแถบลุ่มทะเลสาบสงขลา ซึ่งเป็นอีกระบบหนึ่ง มีชุมชนตั้งแต่แถบต้นน้ำลงไปจนถึงแถบกลางน้ำและแถบปลายน้ำ ชุมชนเหล่านี้ดั้งเดิมต่างมั่งคั่งด้วยทรัพยากรธรรมชาติ เรียกตัวเองว่า “ชาวนา” ที่มีการผลิตเชิงซ้อนในลักษณะทำไร่ ทำนา  ทำสวน ทำปลา โดยถือเอาทะเลสาบ ที่ดิน ป่าเขา เป็นสิทธิของชุมชน เมื่อรัฐไทยสมัยใหม่พยายามเข้ามาบริหารจัดการด้วยการใช้กระบวนการทางกฎหมาย และทางการศึกษาตะวันตก เป็นผลให้ชุมชนท้องถิ่นเริ่มมีความผูกพันกับส่วนกลาง และเริ่มมีความรู้สึกว่า ตนเป็นส่วนหนึ่งของรัฐประชาชาติไทย ก็เท่ากับรัฐพยายามดึงผู้คนออกจากชุมชนท้องถิ่น กลายพันธุ์เป็นพันธุ์ใหม่ โดยเฉพาะกลุ่มที่เป็นข้าราชการมักวางตนเป็น “นาย” แทนรัฐ  อาศัยกำนันและผู้ใหญ่บ้านเป็นลูกมือ ทั้ง ๆ ที่เป็นคนในชุมชนท้องถิ่น แต่ความเป็นกลไกรัฐต้องมองแบบรัฐจึงจะก้าวหน้า มักมองว่าการผูกดอง – ผูกเกลอเป็นขบวนการของโจร  และใช้โจรปราบโจร ชุมโจร  อีกทั้งผลักดันให้ชาวนาหลบหนีไปรวมตัวกันกับกลุ่มชาวนาที่มีปฏิกิริยาต่อเงินรัชชูปการกลายเป็นขบวนการของชาวนา ในนามโจร ชุมโจร ซึ่งต่อมามีหลากหลายกลุ่มขึ้น ในขณะที่กลุ่มชาวนาก็มองว่า การผูกดอง – ผูกเกลอเป็นวัฒนธรรมของชุมชน เพื่อปกป้องคุ้มครองชุมชน เมื่อต่างมีมุมมองที่แตกต่างกันภายใต้การครอบงำของระบบทุน ก็ยอมต้องการกำไรจากชัยชนะ ทุนเดิมคือ เครือญาติ  - เครือข่าย ต่างรู้เขารู้เรา วิธีการเอาชนะก็ย่อมต้องมีอะไร ๆ เหนือกว่า ขบวนการชาวนา     จึงเติบโตเร็วและแข็งกร้าวขึ้นตามลำดับ แรงกดดันจากกลไกรัฐและกระแสทุน การต่อสู้ การไม่ยอมคนย่อมเกิดขึ้นทั้งฝ่ายกลไกรัฐและขบวนการชาวนา และนำไปสู่การเอาชนะกันอย่างรุนแรงในกรณีของ “ถังแดงพัทลุง”  ที่ฝ่ายกลไกรัฐกระทำต่อผู้คนในขบวนการชาวนาผู้ถูกข้อหาเป็นผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย
 

 

 เส้นเวลาสมัยปัจจุบัน ตั้งแต่หลัง พ.ศ. 2534 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน อาจจะเรียกได้ว่า                   “หลังสมัยใหม่” ภายหลังการประกาศยุติการต่อสู้ด้วยอาวุธอย่างสิ้นเชิงและเป็นทางการ ณ ศาลากลางจังหวัดพัทลุง เมื่อวันที่  28  ธันวาคม 2534 ขบวนการชาวนาในนามพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ภาคใต้ ได้แตกแยกกันเป็นอย่างน้อย 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่เห็นด้วยกับกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับการประกาศยุติการต่อสู้ด้วยอาวุธในแนวทางนั้น และกลุ่มเหล่านั้นต่างกลายเป็นขุมกำลังของสงครามระหว่างสีของกลุ่ม “เหลือง” และ “แดง” ในสมัยปัจจุบันขณะที่พรรคประชาธิปัตย์เป็นแกนนำในรัฐบาล  โดยมีฐานที่มั่นสำคัญอยู่ในภาคใต้ นั่นหมายถึง การเกิดขึ้นของความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างเครือญาติ – เครือข่ายแบบดอง – เกลอ เชิงประโยชน์นิยมในสมัยเก่า ยังสามารถดำรงอยู่ได้ในสมัยใหม่ด้วยความเป็นนักเลงของคนชายขอบตามพื้นที่ภูมิศาสตร์และพื้นที่วัฒนธรรมแถบลุ่มทะเลสาบสงขลาในรูปแบบของขบวนการชาวนา และในสมัยปัจจุบันที่คลี่คลายเป็นสงครามช่วงชิงการนำ นอกจากระหว่าง “เหลือง” กับ “แดง” แล้ว ยังมีการช่วงชิงการนำของคนชายขอบด้วยกันเอง ทั้งภายในกลุ่ม “เหลือง” และ “แดง” ซึ่งผู้แสดงนำมักเป็นคนที่มี   พื้นเพเป็นคนปักษ์ใต้ ดังนั้นช่องว่างระหว่างคนชายขอบเหล่านั้นคือ ผู้คนส่วนใหญ่ของสังคมไทยที่ได้รับผลกระทบ
 

 

การเมืองท้องถิ่นแถบลุ่มทะเลสาบสงขลา  ประเด็นปัญหามีอยู่ว่า รัฐบาลควรจะดำเนินการต่อไปอย่างไรจึงจะเกิดสันติภาพ ความยุติธรรม และความยั่งยืน เพราะความเป็นคนชายขอบนั้น เป็นความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่เคลื่อนไหวไปมาระหว่างอำนาจศูนย์กลางที่ผลักดันให้คนไปอยู่ชายขอบ กับการต่อต้านอำนาจนั้นพร้อม ๆ กันไปด้วย  ทั้งนี้เกิดจากความพยายามที่จะกำหนดสถานการณ์ให้ตัวเอง เพื่อดำรงอยู่ในฐานะเป็นมนุษย์ และไม่ต้องตกอยู่เป็นผู้ถูกกระทำฝ่ายเดียว แสดงว่า ความเป็นชายขอบเกิดขึ้นได้สองทาง ทิศทางหนึ่งเกิดจากการถูกกีดดัน ถูกลดอำนาจหรือถูกเบียดขับ ย่อมดิ้นรนต่อสู้เพื่อสร้างอัตลักษณ์ของตนเองขึ้นมาต่อรองกับสังคม และอีกทิศทางหนึ่งความเป็นชายขอบเกิดจากการถูกดึงให้เข้าร่วมในกระบวนการที่มีลักษณะขัดแย้งกันเอง โดยยิ่งเข้าร่วมยิ่งแปลกแยก ดังปรากฏการณ์ล่าสุด เมื่อวันที่  17  สิงหาคม 2552 นั้น ที่นำโดยหัวหอกเชิงรุกของกลุ่ม “แดง” ผู้มีพื้นเพแถบลุ่มทะเลสาบสงขลา ได้ยื่นเรื่องถวายฏีกาขอพระราชทานอภัยโทษให้ พ.ต.ท.ทักษิณ  ชินวัตร
 

 

การเมืองท้องถิ่นแถบลุ่มทะเลสาบสงขลา  อย่างไรก็ดี การกีดกันและการมีส่วนร่วมซ้อนกันอยู่ มิติความสัมพันธ์เชิงอำนาจมักเป็นความสัมพันธ์ที่เลื่อนไหลและไม่เป็นเส้นตรงแนวเดียวอยู่เสมอ อัตลักษณ์  “เหลือง”  กับ “แดง” ในบางครั้งก็แสดงออกมาเป็นสถานภาพทางสังคม แต่ในบางกรณีก็มีลักษณะของวาทกรรมการช่วงชิงการนำ ดังนั้น มิติการสร้างความหมายของ   ทั้งคู่กรณีนั้นมีความซับซ้อนมากกว่าที่เห็นตามภาพที่ปรากฏ เพราะมนุษย์ยังมีมิติด้านอารมณ์   มีวัฒนธรรม               ที่ซ้อนทับกันอยู่มากมาย การเมืองเป็นเรื่องของความสัมพันธ์เชิงอำนาจ ที่หมายถึง ความสัมพันธ์ที่เกี่ยวข้องกับการกีดกัน การครอบงำ อีกทั้งการขัดแย้งและการดิ้นรนต่อสู้ที่มีทั้งซ้อนทับและขัดแย้งกันด้วยเสมอ
 

 

 แหล่งที่มา :  ประชาคมวิจัย ฉบับที่ 87

อัพเดทล่าสุด